มดลูกหย่อนอันตรายไหม คุณแม่ควรรับมือยังไง เมื่อมดลูกหย่อน

มดลูกหย่อน อันตรายไหม พร้อมวิธีดูแลตัวเองเมื่อมดลูกต่ำ

29.08.2024

ผู้หญิงหลายคนต้องเผชิญหรือทนทุกข์ทรมานกับภาวะมดลูกหย่อน คุณแม่คือหนึ่งในนั้นหรือเปล่า? ปกติแล้วอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน เช่น กระเพาะปัสสาวะ มดลูก จะมีกลุ่มกล้ามเนื้อคอยยึดพยุงไว้อยู่ เมื่อกล้ามเนื้อเหล่านี้อ่อนแอลงอวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานอาจห้อยย้อยลงมาทางช่องคลอด ทำให้คุณแม่เกิดอาการไม่สบายตัวตามมา บางคนอาจเกิดอาการปวดท้องร่วมด้วย แล้วอาการ “ภาวะมดลูกหย่อน” คืออะไร มีอาการแบบไหน มาดูวิธีสังเกตภาวะมดลูกหย่อนด้วยตัวเองง่าย ๆ กัน

headphones

PLAYING: มดลูกหย่อน อันตรายไหม พร้อมวิธีดูแลตัวเองเมื่อมดลูกต่ำ

อ่าน 6 นาที

 

สรุป

  • มดลูกหย่อน (Vaginal prolapse) เป็นภาวะที่มดลูกหย่อนเลื่อนลงต่ำมาอยู่บริเวณช่องคลอด สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงที่มีอายุมาก ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้ที่เคยผ่านการผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน ผู้ที่เคยผ่านการคลอดลูกหลายครั้ง หรือผู้ที่ยกของหนักบ่อย ๆ
  • อาการมดลูกหย่อนจะแสดงอาการแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของอาการ เช่น อาการปัสสาวะไม่สุด กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท้องผูกเรื้อรัง เดินไม่สะดวก มีเลือดออกจากช่องคลอด เป็นต้น
  • ภาวะมดลูกหย่อนสามารถป้องกันได้โดยการบริหารอุ้งเชิงกรานให้แข็งแรง ทั้งยังสามารถป้องกันได้ด้วยการออกกำลังกาย งดการสูบบุหรี่ ไม่เบ่งอุจจาระแรง ไม่ยกของหนัก และพยายามรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้มากจนเกินไป

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

มดลูกหย่อน คืออะไร

มดลูกหย่อน (Vaginal prolapse) หรือ มดลูกต่ำ (Pelvic Organ Prolapse) คือ ภาวะที่มดลูกหย่อนเลื่อนลงต่ำมาอยู่บริเวณช่องคลอด เกิดจากกล้ามเนื้อที่อยู่ระหว่างกระดูกก้นกบกับกระดูกหัวหน่าวที่คอยยึดให้มดลูกที่อยู่ในอุ้งเชิงกรานถูกทำลายไป เสื่อมสภาพลง หรืออ่อนแอลง ทำให้มดลูกเลื่อนลงหรือหย่อนคล้อยลงมายังบริเวณช่องคลอด ไม่เพียงแค่นั้น อาการมดลูกหย่อนยังส่งผลต่อกระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ให้เลื่อนต่ำลงมาอีกด้วย

 

มดลูกหย่อน เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมดลูกหย่อนคล้อย หรือมดลูกต่ำลง คือ

  • การคลอดลูกหลายครั้ง: คุณแม่ที่คลอดลูกหลายครั้ง หรือมีภาวะคลอดลูกลำบาก หรือคุณแม่ที่คลอดทารกที่มีขนาดตัวที่ใหญ่มักมีภาวะที่เสี่ยงต่อการเกิดมดลูกหย่อนคล้อยได้
  • น้ำหนักที่มากเกินไป: ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมากที่มาจากภาวะโรคอ้วน หรือผู้ที่มีเนื้องอกในมดลูก หรือซีสต์ในรังไข่ อาจเกิดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะมดลูกย่อนคล้อยได้ง่ายเนื่องจากน้ำหนักที่คอยถ่วงกล้ามเนื้อให้ตึงมากขึ้น มดลูกจึงมีโอกาสเคลื่อนตัวต่ำลงมา
  • อายุที่มากขึ้น หรืออยู่ในวัยหมดระดู: เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนมักเป็นช่วงที่เข้าสู่วัยทอง ซึ่งเป็นช่วงที่กล้ามเนื้อเริ่มเสื่อมสภาพลง ฮอร์โมนน้อยลง จนทำให้ผู้หญิงหลายคนมีภาวะมดลูกลดต่ำลง
  • การยกของหนัก: เนื่องจากการออกแรงยกของหนักมาก ๆ และยกเป็นประจำ อาจส่งผลต่ออวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกรานได้ และนำไปสู่ภาวะมดลูกหย่อนในที่สุด
  • เคยผ่านการผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกรานมาก่อน: สำหรับผู้ที่ผ่านการผ่าตัดมดลูก กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นอวัยวะที่อยู่ในบริเวณอุ้งเชิงกรานทั้งสิ้น จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะมดลูกหย่อนได้ง่ายขึ้น

 

ภาวะมดลูกหย่อน มักจะเกิดขึ้นกับใคร

ภาวะมดลูกหย่อน สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีประวัติ ดังนี้

1. ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน

เนื่องจากผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้นมักเกิดการอ่อนแอของกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่ยึดมดลูก รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนบางชนิดที่ทำให้เนื้อเยื่อสลายตัวไป

 

2. คุณแม่ที่ผ่านการคลอดธรรมชาติ

คลอดลูกด้วยวิธีธรรมชาติ หลายครั้ง อาจทำให้กล้ามเนื้อและเอ็นรอบมดลูกเสื่อมตัวลง มดลูกของคุณแม่จึงเลื่อนตัวต่ำลงไปยังบริเวณช่องคลอด

 

3. คุณแม่ที่คลอดลูกน้อยน้ำหนักมากกว่า 4 กิโลกรัม

คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ลูกน้อยน้ำหนักตัวมากอาจทำให้กล้ามเนื้อรอบมดลูกเสื่อมสภาพลง เมื่อคุณแม่คลอดลูกน้อยที่มีน้ำหนักตัวมากกว่า 4 กิโลกรัม จึงเกิดภาวะมดลูกหย่อนได้

 

4. ผู้ที่มีอาการไอเรื้อรัง ท้องผูกเรื้อรังและยกของหนักบ่อย

ภาวะมดลูกหย่อน สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ที่มีอาการไอบ่อย ๆ หรือเบ่งขณะขับถ่ายบ่อย ๆ รวมถึงการยกของหนักที่ต้องออกแรงมาก ๆ เนื่องจากการกระทำเหล่านี้จะทำให้เกิดแรงกดทับที่บริเวณอุ้งเชิงกรานซ้ำ ๆ จนส่งผลให้มดลูกหย่อนคล้อยได้ง่าย

 

5. ผู้ที่มีความผิดปกติของเนื้อเยื่อและผู้ที่เป็นกล้ามเนื้ออ่อนแอโดยกำเนิด

ผู้ที่มีประวัติเกี่ยวกับความผิดปกติของเนื้อเยื่อและเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแอมาตั้งแต่เกิดจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะมดลูกหย่อนได้มากกว่าผู้อื่น

 

อาการมดลูกหย่อนในผู้หญิงเป็นแบบไหน

อาการมดลูกหย่อนจะแสดงอาการแตกต่างกันไปตามความรุนแรงของอาการ ในผู้หญิงบางคนอาจไม่แสดงอาการมดลูกหย่อนเลย แต่สำหรับบางคนอาจมีอาการให้เห็น ดังนี้

  • มดลูก หรือเนื้อเยื่อโผล่ออกมาจากช่องคลอด
  • มีตกขาวหรือเลือดออกจากช่องคลอด
  • มีอาการเจ็บ หรือรู้สึกไม่สบายเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • ปัสสาวะขัด ปัสสาวะเล็ด หรือปัสสาวะไม่สุด
  • คนท้องมีอาการท้องผูก
  • เดินไม่สะดวก
  • เวลานั่งแล้วเหมือนนั่งทับลูกบอลขนาดเล็ก

 

ภาวะมดลูกหย่อน ถ่ายทอดทางพันธุกรรมไหม

ภาวะมดลูกหย่อน สามารถเกิดภายในครอบครัวที่มีประวัติภาวะมดลูกหย่อน และเกิดได้กับผู้หญิงที่มีอายุมากขึ้น หรือผู้ที่เคยผ่านการผ่าตัดบริเวณอุ้งเชิงกราน และผ่านการคลอดลูกแบบธรรมชาติหลายครั้ง หรือยกของหนักมาก่อน

 

ความรุนแรงของภาวะมดลูกหย่อน

ระดับความรุนแรงของภาวะมดลูกหย่อนมีด้วยกัน 4 ระดับ ได้แก่

  • ระดับที่ 1: มดลูกหย่อนมาที่บริเวณด้านบนช่องคลอดครึ่งหนึ่ง
  • ระดับที่ 2: มดลูกหย่อนมาใกล้ปากช่องคลอด
  • ระดับที่ 3: มดลูกหย่อนออกมานอกช่องคลอด
  • ระดับที่ 4: มดลูกหย่อนออกมานอกช่องคลอดทั้งหมด เนื่องจากกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเสื่อมสภาพ

 

มดลูกหย่อนอันตรายไหม รักษาให้หายขาดได้หรือเปล่า

ภาวะมดลูกหย่อนไม่ใช่ภาวะอันตรายแต่อาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัวได้ เพราะอาการของภาวะนี้ได้แก่ ปัสสาวะไม่สุด กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ท้องผูกเรื้อรัง เดินไม่สะดวก และมีเลือดออกจากช่องคลอด แต่สามารถรักษาได้จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้คุณหมอตรวจประเมินอาการร่วมกับการตรวจภายในจะได้ทำการรักษาตามระดับความรุนแรงของอาการมดลูกหย่อนได้ การรักษาภาวะมดลูกหย่อนสามารถทำได้ทั้งวิธีการผ่าตัดและไม่ต้องผ่าตัด

 

หลังจากคุณแม่ได้รับการรักษาแล้วอาการจะดีขึ้นแต่อาจไม่ช่วยให้หายขาด เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดมดลูกหย่อนซ้ำได้ คุณแม่จึงต้องหลีกเลี่ยงการเกร็งกล้ามเนื้อโดยไม่จำเป็น เช่น ไม่ยกของหนัก ทานอาหารที่มีไฟเบอร์สูงเพื่อป้องกันอาการท้องผูก งดสูบบุหรี่เพื่อลดการไอเรื้อรัง

 

วิธีป้องกันมดลูกหย่อน ทำได้ด้วยตัวเอง

ภาวะมดลูกหย่อนสามารถป้องกันได้ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ คือ

  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์: หากคุณแม่ไม่อยากให้เกิดภาวะมดลูกหย่อนคล้อยต้องพยายามควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป โดยคุณแม่ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์พร้อมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนักบ่อย ๆ: การยกของหนักที่ต้องออกแรงมาก ๆ ถ้าเลี่ยงได้ควรเลี่ยงไปเลย เพื่อป้องกันการเกิดภาวะมดลูกหย่อนในอนาคต
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ: การออกกำลังกายไม่ได้ช่วยแค่การป้องกันมดลูกหย่อนเท่านั้นแต่ยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพที่ดี ทำให้ร่างกายแข็งแรง กระฉับกระเฉงได้ดีอีกด้วย
  • งดสูบบุหรี่: การสูบบุหรี่อาจก่อให้เกิดอาการไอเรื้อรังตามมา เมื่อเกิดอาการไอมาก ๆ ยิ่งส่งผลต่อกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานได้
  • ระมัดระวังเรื่องท้องผูก: เมื่อมีอาการท้องผูกจะทำให้เราใช้แรงเบ่งในการขับถ่ายที่มากขึ้นจนส่งผลให้เกิดการเกร็งบริเวณกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดภาวะมดลูกหย่อน

 

มดลูกหย่อนป้องกันได้ด้วยการบริหารอุ้งเชิงกราน

 

มดลูกหย่อน ป้องกันได้ด้วยการบริหารอุ้งเชิงกราน

การบริหารอุ้งเชิงกรานให้แข็งแรง สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการขมิบเป็นประจำ โดยการขมิบเกร็งกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานค้างไว้ 5 วินาที แล้วคลายกล้ามเนื้อ 5 วินาที ทำสลับกันแบบนี้ 4-5 ครั้ง หลังจากนั้น อาจจะเพิ่มระยะเวลาการขมิบเป็น 10 วินาทีก็ได้ และสามารถเพิ่มจำนวนครั้งให้มากขึ้นเท่าที่สามารถทำได้ หรือตามที่สะดวกเพื่อกระตุ้นให้อุ้งเชิงกรานกระชับมากขึ้น

 

สมุนไพร ช่วยป้องกันภาวะมดลูกหย่อนได้ไหม

ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาเพียงพอที่ชี้ชัดว่าสมุนไพรบางชนิดทานแล้วช่วยป้องกันภาวะมดลูกหย่อนได้ อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ซื้อยาสมุนไพรมาทานเอง และควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอก่อนทุกครั้ง เนื่องจากภาวะมดลูกหย่อนมีความรุนแรงหลายระดับจึงจำเป็นต้องให้คุณหมอตรวจวินิจฉัยและทำการรักษาได้ตรงจุดและแม่นยำที่สุด

 

ดังนั้นหากคุณแม่มีอาการคล้ายจะเป็นภาวะมดลูกหย่อนอย่านิ่งนอนใจ ควรรีบไปโรงพยาบาลพบแพทย์ อย่าปล่อยไว้นาน เนื่องจากสุขภาพของคุณแม่เป็นเรื่องสำคัญหากปล่อยไว้นานอาการต่าง ๆ จะยิ่งแย่ลง และคุณแม่จะใช้ชีวิตได้ลำบาก ไม่สบายตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการดูแลลูกน้อยและการพักผ่อนได้

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. ภาวะมดลูกหย่อน ควรดูแลตัวเองอย่างไร?, โรงพยาบาลบางปะกอก
  2. มดลูกหย่อน, โรงพยาบาลเมดพาร์ค
  3. อาการแบบไหน? บอกว่า 'อุ้งเชิงกราน' เริ่มหย่อน, โรงพยาบาลพญาไท
  4. ภาวะการหย่อนตัวของอวัยวะในอุ้งเชิงกราน, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
  5. อยากมีมดลูกแข็งแรง ต้องดูแลวิธีนี้, โรงพยาบาลเปาโล
  6. ภาวะมดลูกหย่อนในมุมมองแพทย์แผนจีน, การประชุมวิชาการระดับชาติ วิทยาลัยนครราชสีมา ครั้งที่ 6 ประจำปี พ.ศ.2562
  7. Demystifying pelvic organ prolapse, The University of Chicago Medicine

อ้างอิง ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2567
 

บทความแนะนำ

คุณแม่ปวดท้องน้อยหลังคลอด อันตรายหรือไม่ ควรรับมืออย่างไรบ้าง

คุณแม่ปวดท้องน้อยหลังคลอด อันตรายไหม แม่มือใหม่รับมืออย่างไรดี

อาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ อันตรายไหม เกิดจากอะไรได้บ้าง คุณแม่ปวดหน่วงท้องน้อยและมีอาการปวดท้องขณะตั้งครรภ์อ่อน ๆ จะสังเกตได้อย่างไรบ้าง

BPD คืออะไร ทำไมคุณแม่ท้องต้องให้ความสำคัญก่อนไปอัลตราซาวด์

BPD คืออะไร ทำไมคุณแม่ท้องต้องให้ความสำคัญก่อนไปอัลตราซาวด์

BPD คือ การวัดขนาดกะโหลกศีรษะของทารกในครรภ์ ช่วยให้แพทย์ประเมินพัฒนาการของทารกได้ BPD คืออะไร ทำไมคุณแม่ควรศึกษาก่อนไปอัลตราซาวด์ท้อง ไปดูกัน

ลูกไม่ดิ้นแต่โก่งตัว ลูกดิ้นน้อยลง อันตรายไหม สังเกตได้อย่างไร

ลูกไม่ดิ้นแต่โก่งตัว ลูกดิ้นน้อยลง อันตรายไหม สังเกตได้อย่างไร

ลูกไม่ดิ้นแต่โก่งตัว ลูกดิ้นน้อยลง อันตรายไหม คุณแม่สังเกตได้อย่างไร สัญญาณอะไรที่บอกว่าลูกไม่ดิ้นแต่โก่งตัว ลูกดิ้นน้อยลงอันตรายและอาการแบบไหนที่ควรรีบไปพบแพทย์

เริ่มฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี มีขั้นตอนอะไรที่คุณแม่มือใหม่ต้องทำบ้าง

คุณแม่มือใหม่เริ่มฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี มีขั้นตอนอะไรที่ต้องรู้บ้าง

ฝากครรภ์ตอนไหนดีที่สุด การฝากครรภ์มีประโยชน์อย่างไร ทำไมคุณแม่ต้องรีบไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด ไปดูข้อดีของการฝากครรภ์กับคุณหมอที่คุณแม่ควรรู้กัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก