นอนท่าไหนมดลูกเข้าอู่เร็ว อยากให้มดลูกเข้าอู่เร็วคุณแม่ต้องทำยังไง

นอนท่าไหนมดลูกเข้าอู่เร็ว อยากให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ต้องทำยังไง

21.08.2024

หลังคลอดนอนท่าไหนมดลูกเข้าอู่เร็ว ช่วงหลังคลอดมดลูกที่ขยายใหญ่ในระหว่างตั้งครรภ์ จะใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ ในการค่อย ๆ หดตัวเล็กลง จนเท่าขนาดปกติ เพื่อกลับเข้าสู่อุ้งเชิงกราน หรือที่เรียกว่า “มดลูกเข้าอู่” ทั้งนี้ในช่วงที่มดลูกเข้าอู่ ขณะที่คุณแม่ให้นมลูกจะรู้สึกว่าปวดมดลูกเบา ๆ อาการปวดมดลูกมาจากมดลูกมีการบีบตัวขึ้น ซึ่งถือเป็นอาการปกติ และยังช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้นด้วย

headphones

PLAYING: นอนท่าไหนมดลูกเข้าอู่เร็ว อยากให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ต้องทำยังไง

อ่าน 6 นาที

 

สรุป

  • หลังคลอดมดลูกจะเกิดการหดรัดตัวขึ้น หรือที่เรียกว่าเข้าอู่ จะรู้สึกปวดหน่วงตรงบริเวณท้องน้อย มดลูกจะใช้เวลา 4-6 สัปดาห์เพื่อกลับเข้าอู่
  • การนอนคว่ำหลังคลอด 20 นาที 3 ครั้งต่อวัน (เช้า กลางวัน เย็น) จะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว
  • การอยู่ไฟ เป็นการปรับสมดุลให้กับธาตุทั้ง 4 ในร่างกาย คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ช่วยกระตุ้นให้มดลูกเข้าอู่ และช่วยขับน้ำคาวปลา ช่วยกระตุ้นให้เลือดในร่างกายไหลเวียนได้ดี

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

หลังคลอดคุณแม่หลายท่านอาจกำลังสงสัยกันอยู่ว่ามดลูกที่ขยายใหญ่ของตัวเองนี้ จะค่อย ๆ ลดลงจนกลับมามีขนาดเป็นปกติเหมือนก่อนตั้งครรภ์ และสามารถกลับเข้าอู่ หรืออุ้งเชิงกรานได้นั้น ต้องใช้เวลานานแค่ไหน รวมถึงท่านอนหลังคลอด คุณแม่ต้องนอนท่าไหนมดลูกถึงจะเข้าอู่เร็วขึ้น บทความนี้จะมาไขข้อสงสัยเหล่านี้ พร้อมแนะนำวิธีการดูแลตัวเองหลังคลอดอย่างถูกต้อง เพื่อให้ร่างกายของคุณแม่สามารถฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

 

มดลูกเข้าอู่เป็นยังไง จะรู้ได้ยังไงว่ามดลูกเข้าอู่แล้ว

ช่วงตั้งครรภ์มดลูกจะขยายใหญ่ขึ้นไปตามพัฒนาการการเจริญเติบโตของทารก ซึ่งพอหลังคลอดแล้วมดลูกที่มีขนาดใหญ่นั้นก็จะค่อย ๆ ลดขนาดเล็กลง ยอดมดลูกจะอยู่ที่ระดับสะดือ และจะเกิดการหดรัดตัวของมดลูกขึ้น หรือที่เรียกว่าเข้าอู่ คุณแม่จะรู้สึกว่าปวดหน่วงตรงบริเวณท้องน้อย เจ็บเล็กน้อย ซึ่งโดยปกติแล้วมดลูกจะใช้เวลา 5-6 สัปดาห์เพื่อกลับเข้าอู่ ทั้งนี้แพทย์จะนัดคุณแม่เพื่อมาตรวจร่างกายหลังคลอด โดยจะมีการตรวจภายในเพื่อดูว่ามดลูกเข้าอู่เรียบร้อยดีแล้วหรือยัง

 

มดลูกเข้าอู่ ใช้เวลานานไหม

1. คลอดเอง

คุณแม่ที่คลอดลูกด้วยการคลอดเองแบบธรรมชาติ ในช่วงตั้งครรภ์มดลูกจะขยายใหญ่ขึ้น และพอคลอดลูกออกมาแล้ว มดลูกของคุณแม่ก็จะมีการลดขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ จนมีขนาดเท่าปกติเหมือนเดิม และกลับเข้าสู่ตำแหน่งอุ้งเชิงกราน ที่เรียกว่ามดลูกเข้าอู่ โดยจะใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์หลังคลอด หากคุณแม่มีอาการปวดมดลูกมาก ให้ปรึกษาแพทย์ ทานยาแก้ปวดตามที่แพทย์สั่ง

 

2. ผ่าคลอด

คุณแม่ที่คลอดลูกด้วยวิธีการผ่าคลอด หลังจากผ่าคลอดลูกออกมาแล้ว มดลูกของคุณแม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นตอนช่วงตั้งครรภ์ ก็จะค่อย ๆ ลดขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ จนมีขนาดเท่าปกติใกล้เคียงเหมือนก่อนตั้งครรภ์ โดยจะใช้เวลาในการกลับเข้าอู่ประมาณ 6 สัปดาห์หลังผ่าคลอด

 

อยากให้มดลูกเข้าอู่เร็ว การให้นมลูกเอง ก็ช่วยได้นะ

 

อยากให้มดลูกเข้าอู่เร็ว การให้นมลูกช่วยแม่ได้

คุณแม่หลังคลอดที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ข้อดีคือขณะที่คุณแม่ให้ลูกกินนม ร่างกายจะมีการหลั่งฮอร์โมนออกซิโตซิน (Oxytocin) ที่ช่วยให้มดลูกมีการหดรัดตัวได้ดีมากขึ้น ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว และยังช่วยในการขับน้ำคาวปลา รวมถึงลดการเกิดอาการตกเลือดหลังคลอดได้อีกด้วยค่ะ

 

คุณแม่หลังคลอด นอนท่าไหนมดลูกเข้าอู่เร็ว

นอนท่าไหนมดลูกเข้าอู่เร็ว คำแนะนำจากแพทย์ที่ช่วยให้มดลูกของคุณแม่เข้าอู่เร็ว สามารถทำได้ด้วยการจัดท่านอนให้อยู่ในท่านอนคว่ำ โดยให้ใช้หมอนหนุนตรงช่วงบริเวณท้องน้อยให้สูงขึ้นเล็กน้อย และให้นอนคว่ำนานประมาณ 20 นาที ในช่วงเช้า กลางวัน และเย็น ท่านอนคว่ำนี้นอกจากจะช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วแล้ว ก็ยังช่วยให้น้ำคาวปลาไหลเวียนออกมาได้ดีอีกด้วยค่ะ

 

วิธีให้มดลูกเข้าอู่เร็วด้วยวิธีธรรมชาติ

การฟื้นฟูร่างกายเพื่อช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วหลังคลอด คุณแม่สามารถทำได้อย่างปลอดภัยตามที่แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญแนะนำด้วยวิธีธรรมชาติ

1. การอยู่ไฟ

การอยู่ไฟสำหรับคุณแม่หลังคลอด ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย สามารถช่วยให้ 4 ธาตุในร่างกาย คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ กลับมาสมดุลเป็นปกติ ซึ่งประโยชน์ของการอยู่ไฟในคุณแม่หลังคลอด จะช่วยให้มดลูกเข้าอู่ ช่วยขับน้ำคาวปลา ช่วยกระตุ้นให้เลือดในร่างกายไหลเวียนได้ดี เป็นต้น การอยู่ไฟจะมีทั้งการอบตัวด้วยสมุนไพร และนวดประคบสมุนไพร

  • อบตัวด้วยสมุนไพร หรือที่เรียกว่าการเข้ากระโจม ซึ่งคุณแม่จะได้รับความร้อนจากไอน้ำสมุนไพร ซึ่งจะไปกระตุ้นการไหลเวียนเลือดในร่างกาย ช่วยขับน้ำคาวปลา ลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นต้น
  • นวดประคบสมุนไพร การนวดประคบสมุนไพรอุ่น ๆ จะช่วยกระตุ้นให้เลือดในร่างกายไหลเวียนเลือดได้ดี ช่วยลดอาการบวม ลดอาการปวดเมื่อย และลดอาการคัดตึงเต้านม เป็นต้น

 

2. บริหารร่างกายหลังคลอด

สามารถช่วยให้มดลูกเข้าอู่ได้เร็ว ด้วยการบริหารกล้ามเนื้อหน้าท้อง ให้คุณแม่นอนในท่านอนหงายชันเข่าขึ้นทั้ง 2 ข้าง จากนั้นกดหลังเบา ๆ ให้แนบติดกับพื้นแล้วขมิบก้น แขม่วท้อง คุณแม่ยกก้นขึ้นมา แล้วเกร็งค้าง นับ 1-10 นับครบแล้วให้วางก้นลงช้า ๆ ทำซ้ำ 10 ครั้ง

 

3. ดื่มน้ำเยอะ ๆ

เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด คุณแม่สามารถรับประทานอาหารที่มีรสร้อน และดื่มน้ำอุ่น ๆ ให้ได้ 2-3 ลิตรต่อวัน เพื่อช่วยให้ร่างกายกลับสู่ภาวะสมดุลได้เร็ว

 

ทำไมการอยู่ไฟ ถึงไม่เหมาะกับคุณแม่ผ่าคลอด

หากคุณแม่คลอดลูกด้วยวิธีการผ่าคลอด จะไม่สามารถอยู่ไฟได้เร็วเหมือนกับคุณแม่คลอดธรรมชาติที่สามารถอยู่ไฟได้ใน 7-10 วันหลังคลอด เนื่องจากแผลผ่าคลอดยังไม่แห้งสนิท ดังนั้นการอยู่ไฟในคุณแม่ผ่าคลอด ควรต้องรอให้แผลผ่าคลอดแห้งสนิทดีหลังจากการผ่าตัดได้ 30-45 วัน แล้วค่อยอยู่ไฟนะคะ

 

คุณแม่มดลูกเข้าอู่ช้ากว่าปกติ ควรปรึกษาแพทย์ไหม

ปกติหลังคลอดลูกแล้ว มดลูกจะมีการหดรัดตัว และลดขนาดเล็กลง เพื่อกลับเข้าสู่อุ้งเชิงกราน หรือเข้าอู่ จะใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ แต่หากมดลูกไม่เข้าอู่ตามปกติ (Uterine Subinvolution) และมีเลือดออก คุณแม่ควรรีบไปโรงพยาบาลพบแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำ และรักษาทันที

 

ทั้งนี้ระยะเวลาที่มดลูกเข้าอู่ของคุณแม่แต่ละท่านอาจแตกต่างกัน คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับคำแนะนำที่เหมาะสม รวมทั้งการดูแลฟื้นฟูร่างกายหลังคลอดให้กลับมาแข็งแรงได้เร็ว เพื่อที่ร่างกายจะได้ผลิตน้ำนมแม่สำหรับลูกน้อยได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอสำหรับเลี้ยงลูกน้อย เพราะในน้ำนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด รวมทั้งยังมีจุลินทรีย์สุขภาพ บีแล็กทิส (B. lactis) หนึ่งในจุลินทรีย์สุขภาพในกลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และยังเป็นโพรไบโอติก ที่สามารถส่งต่อเพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยได้อีกด้วย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. การดูแลตัวเองหลังคลอดที่คุณแม่ต้องรู้, โรงพยาบาลเปาโล
  2. ปวดมดลูกหลังคลอด...อันตรายไหม อาการแบบไหนควรรีบพบแพทย์, โรงพยาบาลพญาไท
  3. การปฏิบัติตนหลังคลอดบุตร, โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
  4. การตรวจร่างกายหลังคลอด...สำคัญอย่างไร, คณะแพทยศาตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. คำถามยอดฮิตที่คุณแม่ผ่าคลอดอยากรู้, โรงพยาบาลศิครินทร์
  6. เลี้ยงลูกน้อยด้วยนมแม่...ดียังไง...ทำยังไงให้มีน้ำนม, โรงพยาบาลพญาไท
  7. 10 ความเชื่อ...จริง และ ไม่จริง กับคุณแม่หลังคลอด, โรงพยาบาลขอนแก่น ราม
  8. Uterus Involution, Cleveland Clinic
  9. การบริหารร่างกายภายหลังคลอด, ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  10. ประโยชน์ของการดูแลมารดาหลังคลอด, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล
  11. การออกกำลังกายหลังคลอด, สภากาชาดไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
  12. ภาวะตกเลือดหลังคลอดที่คุณแม่ควรรู้…หลังจากกลับไปบ้าน, โรงพยาบาลพญาไท 3

อ้างอิง ณ วันที่ 19 กรกฎาคม 2567 
 

บทความแนะนำ

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนพฤศจิกายน 2567 วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนพฤศจิกายน 2567 วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนพฤศจิกายน 2567 วันมงคล วันดี สำหรับคุณแม่ใกล้คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนพฤศจิกายน 2567 มีวันไหนมงคล เวลาดี เหมาะสำหรับคุณแม่ใกล้คลอดบ้าง ไปดูกัน

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนตุลาคม 2567 วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนตุลาคม 2567 วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนตุลาคม 2567 วันมงคล วันดี สำหรับคุณแม่ใกล้คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนตุลาคม 2567 มีวันไหนมงคล เวลาดี เหมาะสำหรับคุณแม่ใกล้คลอดบ้าง ไปดูกัน

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนกันยายน 2567 วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนกันยายน 2567 วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนกันยายน 2567 วันมงคล วันดี สำหรับคุณแม่ใกล้คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนกันยายน 2567 มีวันไหนมงคล เวลาดี เหมาะสำหรับคุณแม่ใกล้คลอดบ้าง ไปดูกัน

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนสิงหาคม 2567 วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนสิงหาคม 2567 วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก

ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนสิงหาคม 2567 วันมงคล วันดี สำหรับคุณแม่ใกล้คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด เดือนสิงหาคม 2567 มีวันไหนมงคล เวลาดี เหมาะสำหรับคุณแม่ใกล้คลอดบ้าง ไปดูกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก