กิจกรรมพัฒนาสมอง วิธีพัฒนาสมองเด็ก 2 ขวบ ให้ลูกสมองไว
การเล่น คือ หนึ่งในวิธีพัฒนาสมองลูก เพราะเป็นกิจกรรมที่พัฒนาสมอง เสริมสร้างจินตนาการ ช่วยในการเรียนรู้ ส่งเสริมประสาทสัมผัสต่างๆ การเล่นอย่างเหมาะสมตามช่วยวัยจะช่วยในด้านความสร้างสรรค์ พร้อมไปกับการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ของเด็กได้ดีที่สุด โดยเฉพาะช่วงวัย 2 ปีแรก เป็นช่วงเวลาทองสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก เด็กวัยนี้จะเรียนรู้ได้เร็วมากในทุกด้าน ซึ่งการเล่นจะช่วยให้เด็กได้พบความสามารถใหม่ ๆ และขีดจำกัดของตนเอง นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสให้คุณพ่อคุณแม่ได้ช่วยกันเริ่มเสริมสร้างพัฒนาการของสมองและสังเกตพรสวรรค์ลูกในด้านต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดด้วย
สรุป
- ลูกน้อยวัย 2 ปี เป็นวัยที่ใช้พลังอย่างเต็มที่ ทั้งการเดิน กระโดด วิ่ง ปีนป่าย มีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ รวมถึงมีพัฒนาการทางด้านสมองและอารมณ์อย่างรวดเร็ว เป็นช่วงเวลาทองสำหรับการเรียนรู้ของเด็ก
- การเล่น คือหนึ่งในวิธีพัฒนาสมองของเด็ก ไม่เพียงแต่ให้ความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาทักษะรอบด้าน และช่วยให้เด็กได้พบความสามารถใหม่ ๆ และขีดจำกัดของตนเอง
- หากคุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกน้อยออกมาเล่นนอกบ้าน จะเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระ โดยใช้ร่างกายและสติปัญญาควบคู่กัน นำไปสู่การสร้างเสริมประสบการณ์ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ในโลกกว้าง
1. พัฒนาการตามวัย ของเด็ก 1-4 ปีแรก ที่แม่มือใหม่ควรรู้
เพราะการเล่นคืองานของเด็ก และการเล่นของเด็กไม่ใช่แค่การเล่นเพียงเท่านั้น แต่คือการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ และสร้างความสุขได้อย่างแท้จริง การเล่นจึงช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็กในทุกด้าน ทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กวัยแรกเกิด – 5 ปี ที่สมองของเด็กในช่วงวัยนี้จะทำงานสูงสุดขณะเล่น ด้วยเป็นภาวะที่สมองพร้อมเรียนรู้ ไม่ตึงเครียด มีภาวะตื่นตัว และมีแรงจูงใจ
ในช่วงวัย 1-4 ปีแรก ลูกน้อยจะมีการเล่นที่แตกต่างกันไป คุณพ่อคุณแม่ควรรู้เพื่อเสริมพัฒนาการที่ดีให้กับลูกน้อยได้ เริ่มจากการส่งเสริมพัฒนาการตามวัย เด็กวัย 1-2 ปี ที่จะมีการเล่น 2 ลักษณะด้วยกัน คือ การเล่นตามลำพัง (Solitary Play) และการเล่นแบบสังเกตการณ์ (Spectator/Onlooker Behavior) และในวัย 3-4 ปีที่รู้จักการเล่นแบบต่างคนต่างเล่น (Parallel Play) และ เล่นร่วมกับคนอื่น (Associative Play)
1. การเล่นตามลำพัง (Solitary Play)
เด็กวัยนี้มักชอบหยิบจับสิ่งของ นำสิ่งของเข้าปากเพื่อรับรู้รสชาติ หรือเล่นต่อบล็อก เล่นดิน เล่นทราย เล่นน้ำ อย่างไรก็ตาม แม้เด็กวัยนี้จะชอบเล่นตามลำพัง แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณพ่อคุณแม่จะเล่นด้วยไม่ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม คุณพ่อคุณแม่ควรเล่นกับลูกน้อย โดยการชวน พูด คุย หยอกล้อ หยิบ ยื่น เพราะนอกจากจะเป็นการกระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการตามวัย ทางร่างกาย อารมณ์ และการรับรู้ของลูกแล้ว เด็กยังได้เรียนรู้พัฒนาการด้านภาษาจากผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี
การเล่นในช่วงวัยนี้ ควรเน้นให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ (Free Play) ให้เด็กเลือกกิจกรรมที่จะทำขึ้นมาเอง ไม่ได้ถูกบังคับ ไม่ได้มีกำหนดรูปแบบหรือวิธีการเล่นที่ตายตัว โดยคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรชี้นำ เพราะจะทำให้เด็กหมดความสนุก
2. การเล่นแบบสังเกตการณ์ (Spectator/Onlooker Behavior)
เนื่องจากช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยที่เด็กให้ความสำคัญกับการสังเกตสิ่งที่อยู่รอบตัว โดยเฉพาะการดูเด็กคนอื่น ๆ ที่อยู่รอบตัว คุณพ่อคุณแม่ควรสนับสนุนหรือเปิดโอกาสให้ลูกได้เข้าไปเล่นร่วมกับเด็กอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการตามวัย ทางด้านอารมณ์และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กบางคนอาจจะไม่กล้าพูดคุย การส่งเสริมพัฒนาการตามวัยให้เด็กได้เล่นกับเด็กต่างวัยและต่างเพศ จะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมาก
3. เล่นแบบต่างคนต่างเล่น (Parallel Play)
ในช่วงวัยมากกว่า 2 ปี ลูกน้อยจะเริ่มมีการเล่นแบบต่างคนต่างเล่น (Parallel Play) โดยเป็นการเล่นอย่างอิสระ คือหลังจากที่ลูกอาจไปสังเกตการณ์จากเด็กคนอื่นแล้ว และนำกระบวนการเล่นมาเล่นเอง เช่น สังเกตเห็นเด็กคนอื่นเล่นต่อบล็อกเป็นหุ่นยนต์ หลังจากสังเกตและเข้าใจแล้ว จึงมาเล่นตามลำพังและไม่ไปแทรกแซงการเล่นหรือขอคนอื่นเล่นด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรสอดแทรกให้เด็กรู้จักการแบ่งปัน และการแบ่งเวลาการเล่นให้ดี ให้รู้ว่าเวลานี้คือเวลาเล่น เวลานี้คือเวลากิน เวลานี้คือเวลานอน
4. เล่นร่วมกับคนอื่น (Associative Play)
ในช่วงวัย 3-4 ปี ลูกจะรู้จักเล่นร่วมกับคนอื่น (Associative Play) โดยอาจมีการเล่นกับอุปกรณ์คนละชิ้น แต่จะชอบการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่นๆ ส่วนใหญ่จะเล่นเป็นกลุ่มเล็ก 2-3 คน เด็กอาจมีการเล่นแบบขอสลับอุปกรณ์ หรือใช้สถานที่หรือของเล่นที่ใช้ในการเล่นด้วยกัน เช่น เล่นม้าหมุน แต่อาจยังไม่สามารถเล่นตามกฎกติกาได้มากนัก การเล่นแบบนี้จะทำให้เด็กรู้จักแบ่งปัน รู้จักรอคอย รู้จักแก้ปัญหา และยังเป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาอีกด้วย คุณพ่อคุณแม่ควรถือโอกาสนี้ในการสอดแทรกเรื่องการรอคอย การเข้าแถว การเข้าคิว ซึ่งเป็นการฝึกวินัยไปด้วยในตัว
กิจกรรมพัฒนาสมองเด็ก 2 ขวบ กิจกรรมพัฒนาสมองให้ลูกสมองไว
ลูกน้อยวัย 2 ปี เป็นวัยที่ใช้พลังอย่างเต็มที่ ทั้งการเดิน กระโดด วิ่ง ปีนป่าย มีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดเล็กและมัดใหญ่ รวมถึงมีพัฒนาการทางด้านสมองและอารมณ์อย่างรวดเร็ว โดยมีคำกล่าวที่ว่า การพัฒนาสมองในระยะแรกนี้จะส่งผลสืบเนื่องยาวนานไปตลอดชีวิต วัยนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญในการส่งเสริมการเรียนรู้ สำรวจสิ่งใหม่ๆ เพิ่มความมั่นใจและเตรียมพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน
โดยกิจกรรมเล่นเพื่อพัฒนาสมองเด็ก 2 ขวบ เพื่อพัฒนาสมอง มีดังนี้
1. เกมล่าหาสมบัติ
กิจกรรมนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกน้อยมาสำรวจโลกรอบบริเวณบ้าน เพื่อให้ได้สัมผัสอากาศ และธรรมชาติ ช่วงเวลาที่ดีคือ เช้า หรือบ่ายที่แดดร่ม ให้ลูกได้ใช้มือลองสัมผัสกับหญ้า ต้นไม้ ดิน ทราย ใบไม้แห้ง และเพิ่มความสนุกด้วยการนำของเล่น เช่น ไข่พลาสติก รถคันเล็ก หรืออุปกรณ์ที่หาได้ง่าย เช่น ขวดน้ำ กล่องนมล้างสะอาด โดยที่นำไปซ่อนตามจุดต่างๆ แล้วให้ลูกช่วยหามาให้ครบ โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยบอกใบ้ทักษะที่ลูกได้เรียนรู้ คือ การสำรวจและสังเกตสิ่งต่าง ๆ รอบตัว รวมไปถึงการเก็บของเล่นให้ครบตามจำนวนที่คุณพ่อคุณแม่บอก
2. เกมตีฟองตามจินตนาการ
การเล่นน้ำเล่นฟองเป็นของคู่กับเด็กๆ อยู่แล้ว ช่วงเวลาอาบน้ำให้คุณแม่ผสมสบู่เด็กลงในอ่าง แล้วตีให้เป็นฟองลูกโป่ง ให้ลูกน้อยได้เป่าเล่น หรือปั้นฟองให้เป็นรูปร่างตามจินตนาการ เช่น รูปทรงกลม หรือนำฟองกลมมาต่อกันเป็นตุ๊กตาหิมะ หรือคุณแม่จะใช้ช่วงเวลาในการซักผ้า ที่ให้ลูกน้อยได้มาเล่นและมาช่วยงานได้ โดยใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าเด็กผสมน้ำ และตีฟองให้มากขึ้นเป็นพิเศษ ทักษะที่ลูกได้เรียนรู้ คือ การจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ได้ลองสัมผัสฟองที่บางเบา ได้ทดลองทำรูปทรงต่างๆ จากการปั้นฟอง รวมไปถึงการสอนเรื่องการทำงานบ้าน ซักผ้าอีกด้วย
3. เกมตักไข่แสนสนุก
เกมง่ายๆ ที่เล่นได้ที่บ้าน โดยคุณแม่เตรียมหาไข่พลาสติกลูกเล็กหลากสีสัน หรืออาจเป็นลูกบอลลูกเล็ก หรือฝาขวดน้ำดื่มหลายสีก็ได้เช่นกัน จากนั้นให้เตรียมกะละมังใส่น้ำสะอาดลงไป พร้อมเทอุปกรณ์ที่เตรียมไว้ลงในน้ำ จากนั้นหาช้อนตัก และแก้วพลาสติกให้เท่ากับจำนวนสีของไข่หรืออุปกรณ์ที่นำมาเล่น แล้วให้ลูกน้อยตักใส่แยกตามสีต่างๆ
ทักษะที่ลูกได้เรียนรู้ คือ การได้สมาธิจดจ่อ รวมไปถึงการพัฒนาสติปัญญาผ่านการแยกสี การนับจำนวน และการพัฒนาด้านภาษา โดยเป็นการเรียนรู้คำศัพท์เรื่องสีสันต่างๆ รวมไปถึงกล้ามเนื้อมัดเล็ก สามารถใช้นิ้วและแขนได้ดีขึ้น รวมถึงการมองเห็นด้วย
4. เกมจดจำสี
สีสันมีอยู่ในชีวิตประจำวันและรอบตัวของลูกน้อย คุณแม่อาจเตรียมกระดาษแผ่นใหญ่และสีชอล์ก สีเทียนให้ลูกน้อย ให้ลูกได้ใช้สีต่างๆ ที่เหมือนกับสีสันรอบตัว เช่น ต้นไม้ พื้น ของเล่น ระบายไปบนกระดาษ หรือหากรอบบ้านมีพื้นที่ คุณแม่อาจเตรียมชอล์กหลากสี ให้ลูกน้อยได้ลากเส้นลงบนพื้นลานจอดรถ ทางเดินเข้าบ้าน แผ่นปูนในสนามหญ้า โดยใช้ชอล์กสีต่างๆ วาดเล่นบนพื้นกว้าง แล้วให้ลูกน้อยได้เดิน กระโดดไปตามเส้นสายที่ตัวเองได้วาดและระบาย พร้อมไปกับการเรียกชื่อสีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษได้
ทักษะที่ลูกได้เรียนรู้ คือ การฝึกจดจำและจับคู่ความสัมพันธ์ของสีและสิ่งของได้ รวมไปถึงการพัฒนาจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์จากการวาดภาพ รวมไปถึงการพัฒนาด้านภาษาในการเรียนรู้และจดจำคำศัพท์ของสีในภาษาต่างๆ นอกจากนี้การที่ได้ใช้มือระบายสีเป็นการฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก ส่วนการที่ลูกน้อยได้กระโดดเล่นเป็นการใช้พลังงาน กระตุ้นการออกกำลังกาย ฝึกการทรงตัวที่ดี และมีพัฒนาการของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ด้วย
5. เดินเล่นกับครอบครัว
การเดินเล่นเป็นการออกกำลังกายง่าย ๆ ทำให้ครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุข การได้เดินออกมานอกบ้านเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศ และช่วยให้ลูกน้อยได้สำรวจโลกกว้างมากยิ่งขึ้น คุณพ่อคุณแม่อาจทำให้การเดินเล่นเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ด้วยการชี้ให้ลูกน้อยสังเกตสิ่งรอบตัว เช่น นับจำนวนนกที่บินบนท้องฟ้า สังเกตสีสันและลักษณะที่แตกต่างกันของดอกไม้หลากสีสัน ฟังเสียงร้องของนกและเสียงเห่าของสุนัข หรือจินตนาการรูปทรงเมฆบนท้องฟ้าว่าเหมือนกับอะไร
ทักษะที่ลูกได้เรียนรู้ คือ การกระตุ้นให้ลูกน้อยสังเกตและสนใจสิ่งรอบตัว ความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตมากขึ้น รวมถึงส่งเสริมจินตนาการผ่านการพูดคุย ชวนคิดแบบไม่มีถูกผิด รวมถึงการเล่นของเล่นเสริมพัฒนาการเด็กที่มีส่วนช่วยในการพัฒนาด้านภาษาและการสื่อสาร รวมถึงการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ รอบตัวได้มากยิ่งขึ้น
6. เล่นกับทราย
คุณพ่อคุณแม่ลองหากระบะทรายสำหรับเด็กมาให้ลูกน้อย หรือถ้ามีโอกาสก็พาไปเล่นที่สนามเด็กเล่น หรือไปทะเล เพื่อสัมผัสทรายจริงๆ ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่แปลกใหม่ เพิ่มการเล่นทรายให้สนุกด้วยการนำของเล่นชิ้นเล็กชิ้นน้อยไปฝังไว้ใต้ทราย ให้ลูกน้อยได้ลองขุดค้นสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา
ทักษะที่ลูกได้เรียนรู้ คือ การกระตุ้นประสาทสัมผัสต่างๆ ให้ลูกน้อยได้เรียนรู้โลกกว้าง สองมือที่ได้จับทราย ขุดค้นหาชองเล่นในทรายเป็นการกระตุ้นระบบประสาทในร่างกายพร้อมสมองไปด้วยกัน ฝึกการทำงานประสานกันระหว่างกล้ามเนื้อมือและสายตา นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมจินตนาการให้เด็กได้คิดสร้างสรรค์อย่างไม่รู้จบ
7. เล่นบทบาทสมมติ
เด็กวัย 2 ปี มีความช่างสงสัย ชอบเฝ้าดู และเลียนแบบ การเล่นบทบาทสมมติจึงเป็นการเล่นที่ดีที่สุดในการเพิ่มพลังจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ อาจเริ่มจากเกมง่าย ๆ เช่น ให้ลูกเลียนท่าทางของสัตว์ต่าง ๆ ที่ลูกน้อยรู้จัก ไม่ว่าจะเป็น ทำหน้าเหมือนหมู ร้องแบบไก่ วิ่งแบบเป็ด หรือจะเป็นการทำท่าอาบน้ำ ป้อนข้าวให้ตุ๊กตา หรือพูดคุยเล่นเป็นหมอกับคนไข้ อ้างอิงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
ทักษะที่ลูกได้เรียนรู้ คือ การเล่นบทบาทสมมติช่วยกระตุ้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ไปพร้อมกับความสนุกสนาน ผ่อนคลาย นอกจากนี้ ลูกจะได้ซึมซับและเข้าใจโลกกว้างได้มากขึ้น รวมไปถึงการพัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม สามารถสื่อสารความคิดความต้องการออกมาได้
8. ชวนทำงานบ้าน
งานบ้านที่คุณพ่อคุณแม่ต้องทำเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็น จัดเก็บของเล่น จัดเก็บที่นอน ซักผ้า ล้างจาน กวาดบ้าน ถูพื้น ทิ้งขยะ ล้างรถ ก็สามารถชวนให้ลูกน้อยเข้าไปมีส่วนร่วมได้ เพราะวัยนี้เป็นวัยที่เริ่มอยากช่วย และชอบเลียนแบบคุณพ่อคุณแม่ การที่ลูกได้เห็น และได้เข้ามาช่วยทำเล็กๆ น้อยตามแบบพ่อแม่ จะเป็นโอกาสให้ได้พูดคุย พร้อมไปกับการสอนให้รู้จักงานบ้าน และหน้าที่รับผิดชอบที่ทุกคนในบ้านทำร่วมกัน ให้ลูกได้รู้สึกสนุกพร้อมไปกับการได้รับคำชม และภูมิใจที่ได้ทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จได้ร่วมกับคุณพ่อคุณแม่
ทักษะที่ลูกได้เรียนรู้ คือ ทักษะการควบคุมตนเอง และจัดระเบียบตนเอง โดยค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะจัดการดูแลชีวิต และสิ่งของเครื่องใช้ของตัวเอง พัฒนาทักษะที่จำเป็นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเติบโต นอกจากนี้การทำงานบ้านต่างๆ ยังเป็นการขยับกล้ามเนื้อ และประสานการทำงานระหว่างกล้ามเนื้อมือกับตาได้ดียิ่งขึ้น
ที่สำคัญคือ เมื่อลูกน้อยได้ช่วยทำงานบ้านได้จนเสร็จ และทำได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ ก็จะช่วยให้เกิดการรับรู้ถึงความสามารถของตนเอง และความรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง
ประโยชน์ของการเล่นกลางแจ้ง (Outdoor Play) สำหรับเด็ก
จากกิจกรรมเล่นต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่สามารถพาลูกน้อยออกมาเล่นนอกบ้านได้ ก็ได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระ โดยใช้ร่างกายและสติปัญญาควบคู่กัน นำไปสู่การสร้างเสริมประสบการณ์ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ในโลกกว้าง
1. ด้านร่างกาย
การเล่นกลางแจ้งส่งเสริมให้เด็กมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ออกกำลังกาย เป็นการกระตุ้นการออกกำลังกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่อย่างเต็มที่ ซึ่งมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตอย่างแข็งแรง พร้อมไปกับการฝึกการทรงตัว เสริมความคล่องแคล่วว่องไว การได้ออกมาสัมผัสธรรมชาติ สูดอากาศสดชื่น และได้รับแสงแดดอ่อน จะช่วยให้ได้เรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัส ผ่านประสบการณ์จริง พร้อมไปกับการที่มีสุขภาพดี
2. ด้านอารมณ์
กิจกรรมกลางแจ้งเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระ ท่ามกลางบรรยากาศที่แปลกใหม่ ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย มีอารมณ์ดี สดใส ได้ชื่นชมความสวยงามของสิ่งรอบตัว ตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของวัยนี้ ทำให้เกิดการพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ และได้ฝึกการถ่ายทอดถึงอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้อีกด้วย
3. ด้านสติปัญญา
เด็กจะได้สำรวจ สังเกต และเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรวมถึงสถานการณ์รอบตัวแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา ลูกน้อยจะได้ลองฝึกการคิดและวิเคราะห์จากการที่ได้เล่นอย่างอิสระ โดยไม่มีของเล่นที่มาปิดกรอบการเล่นแบบในบ้าน รวมถึงเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้พบกับสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยบ้างเล็กน้อย เพื่อให้ได้เรียนรู้ในการระมัดระวังตัวเอง เช่น เจอกับมดบนสนามหญ้าก็รู้ว่าไม่ควรเข้าไปใกล้ให้โดนกัด หรือถ้าวิ่งบนพื้นถนนแล้วหกล้ม ก็จะรู้สึกเจ็บกว่าการล้มบนพื้นนุ่มบนเบาะในบ้านหรือที่โรงเรียน
4. ด้านสังคม
การเล่นกลางแจ้งอาจเป็นการฝึกทักษะการเข้าสังคม ให้ลูกน้อยได้สังเกตการเล่นจากเด็กคนอื่น นั่งเล่นกับเด็กคนอื่นได้ แม้จะต่างคนต่างเล่นอยู่ นอกจากนี้ ยังเป็นการให้จะรู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดียิ่งขึ้น โดยเรียนรู้ที่จะปฏิสัมพันธ์ อาจเป็นการเริ่มพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ขณะที่เล่นได้ และรู้จักแสดงความรู้สึกและความต้องการของตนเอง ซึ่งทักษะด้านสังคมนี้จะเป็นพื้นฐานในการใช้ชีวิตต่อไป
การเล่นของเด็กไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมเพื่อความสนุกหรือผ่อนคลายเท่านั้น แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ได้พัฒนาทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และสังคม เรียกว่าเป็นการฝึกทักษะชีวิตรอบด้าน และเป็นการเตรียมประสบการณ์เพื่อให้เติบโตอย่างมีความสุข
อ้างอิง
- "การเล่น 6 แบบ" สัมพันธ์กับ "พัฒนาสมองเด็ก", กรุงเทพธุรกิจ
- EF ฝึกทักษะสมองพัฒนาสมาธิเด็ก, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- พัฒนาสมองของลูกน้อย ด้วยการเล่นให้เหมาะกับช่วงวัย, โรงพยาบาลพญาไท
- 2-7 ขวบ ช่วงเวลาทองของ(สมอง)เด็ก, TKPark
- คู่มือข้อแนะนำกิจกรรมทางกายและการจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายของเด็กสำหรับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย, Unicef
- 21 learning activities for babies and toddlers, UNICEF Parenting
อ้างอิง ณ วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566