สะดือทารกมีเลือดออกอันตรายไหม สะดือเด็กทารกเลือดออกทำยังไงดี
การดูแลทารกแรกเกิดเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เนื่องจากอวัยวะและระบบต่าง ๆ ในร่างกายยังไม่สมบูรณ์คุณแม่จึงต้องระมัดระวังและหมั่นดูแลรักษาความสะอาดร่างกายของลูกน้อยอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ขั้วสะดือ” ของเด็กแรกคลอด หากคุณแม่ทำความสะอาดไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรคจนเกิดการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางสายสะดือได้ แล้วถ้าสะดือทารกมีเลือดออกล่ะ แบบนี้อันตรายไหม? อยู่ ๆ บริเวณสะดือของลูกเลือดออกควรทำอย่างไร เรามาดูคำแนะนำกันดีกว่า
PLAYING: สะดือทารกมีเลือดออกอันตรายไหม สะดือเด็กทารกเลือดออกทำยังไงดี
สรุป
- สะดือทารกมีเลือดออก เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากขั้วสะดือของลูกน้อยหลุด หลังจากนั้น 2-3 วัน สะดือของลูกน้อยจะค่อย ๆ ดีขึ้น ส่วนใหญ่แล้วสะดือของทารกจะแห้งภายในระยะเวลาประมาณ 7 วัน
- หลังจากที่สะดือหลุดและมีเลือดออกซึมอยู่ให้คุณแม่ทำความสะอาดบริเวณรอบ ๆ สะดือ ด้วยการนำสำลีที่สะอาดมาเช็ดเลือดและกดเบา ๆ เพื่อให้เลือดหยุด
- เช็ดทำความสะอาดสะดือและรอบสะดือโดยใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ให้สะอาดจนกว่าสะดือจะแห้งสนิท ระหว่างนี้ไม่ควรใช้แป้งโรยบริเวณสะดือเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และหลีกเลี่ยงการสวมใส่ผ้าอ้อมบริเวณสะดือเพื่อไม่ให้เกิดการเสียดสีบริเวณสะดือของลูกน้อย
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- สะดือทารกมีเลือดออก เพราะอะไร
- สะดือทารกแรกเกิดจะหลุดไปเองตอนไหน
- สะดือทารกที่หลุดแล้วเป็นแบบไหน
- สะดือลูกหลุดช้า ผิดปกติไหม
- วิธีทำความสะอาดสะดือทารกมีเลือดออก
- สะดือเด็กทารกเลือดออก ดูแลลูกอย่างไรให้ถูกวิธี
- ทำความสะอาดสะดือลูกด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์
- สะดือทารกมีเลือดออกแบบไหน ต้องไปพบแพทย์
สะดือทารกมีเลือดออก เพราะอะไร
สะดือทารกมีเลือดออก เป็นเรื่องที่คุณแม่สามารถพบเจอได้ เพราะว่าหลังจากขั้วสะดือหลุดแล้วอาจมีหยดเลือดบนผ้าอ้อมของลูกน้อย เบื้องต้นคุณแม่ไม่ต้องตกใจให้เช็ดทำความสะอาดบริเวณสะดือลูกน้อยจนแห้ง หลังจากนั้น 2-3 วัน สะดือของลูกน้อยจะค่อย ๆ ดีขึ้น แต่ถ้าคุณแม่เห็นว่าบริเวณสะดือลูกน้อยมีเลือดออกมาก เลือดยังไหลซึมอยู่ตลอดเวลาให้รีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ คุณหมอจะได้ทำการวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างทันท่วงที
สะดือทารกแรกเกิดจะหลุดไปเองตอนไหน
ขั้วสะดือทารกแรกเกิดที่คุณหมอผูกสายสะดือไว้หลังคลอด จะค่อย ๆ แห้งและหลุดไปภายใน 7-30 วันหลังคลอด แล้วแต่ขนาดของสายสะดือทารก ในระหว่างที่คุณแม่รอให้ขั้วสายสะดือหลุดนั้นควรหมั่นทำความสะอาดสะดือทารกอย่างเหมาะสมอยู่เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อเข้าสู่ร่างกาย
สะดือทารกที่หลุดแล้วเป็นแบบไหน
สายสะดือทารกใกล้หลุด จะมีสีดำ พอสายสะดือหลุดแล้วคุณแม่อาจจะเห็นว่ามีเลือดซึมหรือมีของเหลวซึมอยู่บริเวณสะดือ ช่วงเวลานี้คุณแม่ควรหมั่นทำความสะอาดบริเวณสะดืออย่างเหมาะสมจนกว่าจะแห้งสนิทดี และอย่าโรยแป้งที่บริเวณสะดือลูกน้อยเด็ดขาด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วสะดือของทารกจะแห้งภายในระยะเวลาประมาณ 7 วัน หากหลังจาก 7 วันแล้วสะดือของลูกน้อยยังไม่แห้ง แนะนำให้คุณแม่พาลูกน้อยไปพบคุณหมอ
สะดือลูกหลุดช้า ผิดปกติไหม
ขั้วสะดือของทารกแต่ละคนใช้เวลาในการหลุดที่แตกต่างกันตามขนาดของสะดือทารก โดยปกติแล้วจะใช้เวลาหลุดประมาณ 7-30 วัน ในเด็กบางคนอาจจะหลุดก่อนหรือหลุดช้ากว่านี้ก็ได้
วิธีทำความสะอาดสะดือทารกมีเลือดออก
หลังจากสะดือหลุดแล้วคุณแม่อาจจะเห็นว่าบริเวณสะดือทารกมีเลือดออกอยู่เล็กน้อย คุณแม่สามารถทำความสะอาดบริเวณรอบ ๆ สะดือของลูกน้อยได้โดยการนำสำลีที่สะอาดมาเช็ดเลือดและกดเบา ๆ เพื่อให้เลือดหยุด หากมีคราบเลือดหรือของเหลวอยู่ให้นำสำลีไปชุบกับน้ำอุ่นสะอาดแล้วซับเบา ๆ ให้คราบที่สกปรกหลุดออกไป จากนั้นเช็ดทำความสะอาดสะดือและรอบสะดือโดยใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ให้สะอาดจนกว่าสะดือจะแห้งสนิท
สะดือเด็กทารกเลือดออก ดูแลลูกอย่างไรให้ถูกวิธี
- หมั่นเช็ดสะดือให้แห้งอยู่เสมอ: คุณแม่ควรหมั่นเช็ดทำความสะอาดสะดือของลูกน้อยให้แห้งทุกครั้งหลังอาบน้ำ หรือเปียกน้ำ หรือเปื้อนอุจจาระ ปัสสาวะ
- ไม่ควรใช้แป้งโรยบริเวณสะดือ: หลังจากคุณแม่ทำความสะอาดสะดือทารกที่มีเลือดออกเรียบร้อยแล้ว ห้ามโรยแป้งหรือยาผงบริเวณสะดือลูกน้อยเด็ดขาด เพื่อความสะอาดของสะดือทารก
- ไม่ควรใส่ผ้าอ้อม หรือกางเกงที่รัดบริเวณสะดือ: คุณแม่ควรระวังไม่สวมผ้าอ้อมทับสะดือลูกน้อย หรือใส่กางเกงรัดสะดือเพราะอาจทำให้เกิดเลือดออกมากขึ้นจากการเสียดสีบริเวณสะดือของลูกน้อย
ทำความสะอาดสะดือลูกด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์
สามารถทำความสะอาดสะดือลูกน้อยด้วยการเช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสะดือทารกที่ยังแห้งไม่สนิทหรือยังมีเลือดซึมอยู่จำเป็นต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดการสะสมของสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรคที่อาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อบริเวณสะดือได้ ดังนั้น คุณแม่ควรใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ เช็ดทำความสะอาดสะดือและบริเวณผิวหนังรอบ ๆ สะดือของลูกน้อยด้วยทุกครั้ง
สะดือทารกมีเลือดออกแบบไหน ต้องไปพบแพทย์
ในระหว่างที่คุณแม่ดูแลลูกน้อยและพบว่าสะดือทารกมีเลือดออก คุณแม่ควรสังเกตอาการลูกน้อยว่าพบอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่ หากลูกน้อยมีสัญญาณเหล่านี้ให้คุณแม่พาลูกน้อยไปพบคุณหมอ
- มีเลือดออกมากกว่าปกติ: เมื่อขั้วสะดือของลูกน้อยหลุดจะมีเลือดซึมออกมาเป็นปกติเว้นแต่ว่าเลือดไหลออกมาเป็นจำนวนมาก คุณแม่ต้องรีบพาลูกน้อยไปพบคุณหมอทันที
- มีไข้สูง: หากสะดือทารกมีเลือดออก พร้อมกับลูกน้อยมีอาการไม่สบาย ตัวร้อนและมีไข้สูง ร่วมด้วย เป็นอาการผิดปกติที่ต้องพาไปพบคุณหมอทันที
- ลูกร้องไห้หนัก เมื่อสัมผัสบริเวณท้องหรือสะดือ: ทารกแรกเกิดเป็นวัยที่ยังสื่อสารกับพ่อแม่ไม่ได้ ดังนั้น คุณแม่ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมและรอบ ๆ สะดือของลูกน้อยว่าผิดปกติไปจากเดิมไหม หากสะดือทารกมีเลือดออกผิดปกติ มีรอยแดง พอคุณแม่ไปสัมผัสแล้วลูกร้องไห้งอแงให้รีบพาไปพบคุณหมอทันที
- สะดือมีลักษณะผิดปกติ: บวม แดง หรือเป็นหนอง ผิวหนังบริเวณรอบ ๆ สะดือของทารกถ้าคุณแม่ทำความสะอาดได้ไม่ดีพออาจทำให้สะดือของลูกน้อยเกิดอาการบวม แดง หรือมีหนองซึ่งเป็นลักษณะของการติดเชื้อได้
- สะดือมีกลิ่นเหม็น: เมื่อสะดือของลูกน้อยมีเลือดออกและเกิดการติดเชื้ออาจส่งกลิ่นเหม็น พร้อมกับมีรอยแดงรอบ ๆ สะดือด้วย ซึ่งเป็นสัญญาณอันตรายที่คุณแม่ควรรีบพาลูกน้อยไปหาคุณหมอ
สะดือทารกหลังคลอดจะยังมีขั้วสะดือติดอยู่ คุณแม่ต้องหมั่นทำความสะอาดเป็นประจำ เช่น เช็ดทำความสะอาดให้แห้ง ทำความสะอาดด้วยการใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อป้องกันเกิดการอักเสบติดเชื้อบริเวณสายสะดือ และหลังจากขั้วสะดือหลุดแล้ว คุณแม่อาจเห็นเลือดซึมออกมาซึ่งเป็นอาการที่สามารถพบได้ แต่ถ้าคุณแม่ซับเลือดแล้วเลือดไม่หยุดไหลหรือหลายวันแล้วยังมีเลือดซึมอยู่ มีรอยแดง บวม เป็นหนองบริเวณสะดือ หรือมีไข้ร่วมด้วย ให้รีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- สายสะดือทารก สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน พร้อมวิธีทำความสะอาด
- กลากน้ำนม เกิดจากอะไร โรคผิวหนังในเด็ก พร้อมวิธีดูแลเกลื้อนน้ำนม
- ลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน อันตรายไหม พ่อแม่รับมืออย่างไรดี
- วิธีห่อตัวทารกที่ถูกต้อง ให้ลูกน้อยสบายตัว เหมือนอยู่ในท้องแม่
- โรคซางในเด็กเล็กมีจริงไหม เกิดจากอะไร ดูแลและป้องกันได้หรือเปล่า
- ลูกหัวแบน ทารกหัวแบน คุณแม่ทำอย่างไรได้บ้าง พร้อมวิธีแก้ไขเบื้องต้น
- วิธีบรรเทาอาการไอของลูกน้อย เมื่อลูกไอไม่หยุด พร้อมวิธีดูแลและป้องกัน
- จุกหลอก ดีกับลูกน้อยจริงไหม จุกนมหลอก ข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง
- วิธีลดไข้ทารกแรกเกิด อาการทารกเป็นไข้ ทารกตัวร้อน พร้อมวิธีวัดไข้
- นิทานเด็กทารกสำคัญกับลูกไหม คุณแม่ควรอ่านเรื่องอะไรให้ลูกน้อยฟังดี
อ้างอิง:
- การดูแลขั้วสะดือทารก, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
- การดูแลสายสะดือ, Family Health Service (FHS) Department of Health
- คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลทารก, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
- สะดือเด็กทารกทำความสะอาดอย่างไรให้ปลอดภัย ?, โรงพยาบาลศิครินทร์
- “ลักษณะทั่วไปของทารกแรกเกิด” สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้..เพื่อดูความผิดปกติ, โรงพยาบาลพญาไท
- Caring for your baby's umbilical cord stump and belly button, Children's Health Queensland
อ้างอิง ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2567