พัฒนาการเด็กทารกแรกเกิด - 1 ปี พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย
พัฒนาการทารกในแต่ละช่วงวัย คือ กระบวนการการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย พฤติกรรม ความสามารถในการปรับตัว ซึ่งทารกในแต่ละเดือนมีความแตกต่างกันไป และเด็กแต่ละคนมีการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบ่งออกเป็นพัฒนาการที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา พัฒนาการด้านความเข้าใจและภาษา และพัฒนาการด้านการช่วยเหลือตนเองและปรับตัวเข้าสังคม
PLAYING: พัฒนาการเด็กทารกแรกเกิด - 1 ปี พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย
สรุป
- พัฒนาการทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึงขวบปีแรก มีพัฒนาการควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตของร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ทารกมีพัฒนาการด้านสติปัญญาการเรียนรู้ การสื่อสาร และการปรับตัวกับพ่อแม่ผู้ปกครองได้ดีขึ้นตามช่วงวัย
- น้ำหนักและส่วนสูงของทารก ปัจจัยด้านเชื้อชาติมีผลต่อรูปร่างของทารก น้ำหนักและส่วนสูง แต่สิ่งสำคัญการเจริญเติบโตของร่างกายสมวัยขึ้นอยู่กับการใส่ใจดูแลสุขภาพจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ได้รับสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ มีกิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการ ได้ออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
- กิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการของทารก มีส่วนสำคัญที่จะกระตุ้นให้ทารกเติบโตสมวัย กิจกรรมมีหลากหลายช่วยพัฒนาทักษะสมอง ทักษะการเคลื่อนไหว เช่น อ่านนิทาน เล่นจ๊ะเอ๋ ร้องเพลง กระโดดโลดเต้น เป็นต้น
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- พัฒนาการทารก อายุ 2 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
- พัฒนาการทารก อายุ 3 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
- พัฒนาการทารก อายุ 4 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
- พัฒนาการทารก อายุ 5 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
- พัฒนาการทารก อายุ 6 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
- พัฒนาการทารก อายุ 7 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
- พัฒนาการทารก อายุ 8 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
- พัฒนาการทารก อายุ 9 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
- พัฒนาการทารก อายุ 10 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
- พัฒนาการทารก อายุ 11 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
- พัฒนาการทารก อายุ 1 ขวบ ทำอะไรได้บ้าง
- น้ำหนักและส่วนสูง ของเด็กแต่ละช่วงวัย
- กิจกรรมเสริมพัฒนาการเด็กทารก ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรพลาด
ทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 เดือน เป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่และลูกกำลังปรับตัวเข้าหากัน ทารกในวัยนี้ยังเล็กมาก พัฒนาการยังไม่พัฒนามากเท่าที่ควร ยังคงกิน นอน ขับถ่าย ร้องไห้ การเคลื่อนไหวจะเป็นการโต้ตอบปฏิกิริยาตอบสนองกับสิ่งเร้าโดยอัตโนมัติ เช่น เมื่อมีเสียงดังทารกน้อยจะสะดุ้งตื่นลืมตา เมื่อลูบแก้มทารกจะขยับศีรษะ การมองเห็นของทารกหรือสายตาของทารก สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ ๆ เช่น ใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่ ส่งเสียงร้องหรือร้องไห้ เพื่อสื่อสารความต้องการ เช่น ร้องเพราะผ้าอ้อมเปียกชื้นรู้สึกไม่สบายตัว หิวนม เป็นต้น
พัฒนาการทารก อายุ 2 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
ทารกอายุ 2 เดือน ในเดือนนี้คุณพ่อคุณแม่จะได้เห็นรอยยิ้มที่เบิกบานอารมณ์ดีของลูกกันแล้วค่ะ นอนหลับสนิทในช่วงกลางคืนได้นานขึ้นกว่าเดือนแรกที่ตื่นทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง ถ้าหากทารกน้อยนอนกลางวันไม่นาน กลางคืนจะทำให้หลับได้ยาวนานขึ้น ด้านการเคลื่อนไหว ทารกสามารถนอนคว่ำและชันคอได้ถึง 45 องศา ขยับแขนขาได้ทั้งสองข้างได้ดีพอ ๆ กัน เอามือเข้าปากตัวเองได้ ส่งเสียงอ้อแอ้โต้ตอบพ่อแม่ได้ มองตามสิ่งต่าง ๆ ได้รอบด้านมากขึ้น
พัฒนาการทารก อายุ 3 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
ทารกอายุ 3 เดือน มีการเจริญเติบโตขึ้นมากจาก 2 เดือนแรก คุณพ่อคุณแม่จะเห็นพัฒนาการของทารกได้ชัดเจนขึ้น ยิ้มเก่ง แสดงสีหน้าท่าทางมากขึ้น ส่งเสียงอ้อแอ้โต้ตอบกับคุณพ่อคุณแม่ กระดูกคอเริ่มแข็งขึ้น ทำให้ศีรษะไม่สั่นไปมา เอามือกำของเล่น กำสิ่งของได้ บางคนเริ่มพลิกตัวได้ นอนหลับกลางคืนได้ยาวนานขึ้น นอนกล่อมตัวเองให้หลับได้ หรือที่เรียกว่า Self-soothing
พัฒนาการทารก อายุ 4 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
ทารกอายุ 4 เดือน ทารกในช่วงวัยนี้ เติบโตแข็งแรงขึ้นมาก ทารกในวัยนี้สามารถสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ได้มากขึ้น สามารถสื่อสารได้ว่ากำลังเศร้าหรือมีความสุข เริ่มออกเสียงเจื้อยแจ้วและเลียนเสียงได้ หัวเราะเสียงดังขึ้น สามารถหันศีรษะตามเสียงเรียกได้ แสดงความสนใจเมื่อมีคนมาพูดคุยด้วย พัฒนาการกล้ามเนื้อมือแข็งแรงขึ้น คว้าและเขย่าของเล่นได้ หยิบของใส่ปาก สายตาและการมองเห็นสามารถมองตามสิ่งของได้ มองเห็นเฉดสีต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น ทารกจดจ่อกับสิ่งที่สนใจได้นานขึ้น พลิกคว่ำพลิกหงายได้เอง
พัฒนาการทารก อายุ 5 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
ทารกอายุ 5 เดือน ในวัยนี้ทารกจะเริ่มสื่อสาร แสดงอารมณ์ความรู้สึกกับคุณพ่อคุณแม่ได้มากขึ้น เริ่มเลียนเสียงต่าง ๆ ที่ได้ยิน หันตามเสียงเรียกได้ สนใจเสียงรอบข้าง เลียนแบบทำท่า จุ๊บปาก เบะปากได้ ในช่วงนี้พัฒนาการกระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น สามารถเอื้อมมือไปหยิบของด้วยตนเองในขณะที่กำลังนอนหงายอยู่ พลิกคว่ำพลิกหงายได้คล่องแคล่ว มองเห็นสีได้มากขึ้น ชัดเจนขึ้น สนใจสิ่งรอบตัวอยากรู้อยากเห็น แสดงอารมณ์เมื่อถูกขัดใจ หรือแสดงอารมณ์เมื่อพึงพอใจ
พัฒนาการทารก อายุ 6 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
ทารกอายุ 6 เดือน เดือนนี้เป็นเดือนแรกที่ทารกน้อยจะได้รับประทานอาหารตามวัยแล้ว อาหารตามวัยที่ให้ทารกควรมีเนื้อค่อนข้างละเอียด เพื่อสะดวกในการกลืน แต่ไม่ควรปั่นจนละเอียดเกินไป เพราะทารกจะไม่ได้ฝึกฝนการเคี้ยวและฝึกกลืน พัฒนาการทางร่างกายและการเคลื่อนไหว พลิกตัวซ้ายขวาได้ เริ่มนั่งตัวตรงได้มากขึ้น แต่ยังต้องประคอง จดจำใบหน้าคนที่คุ้นเคยได้ ชอบเล่นกับคนในครอบครัว ออกเสียงบาบา ดาดา มามา เพื่อเรียกคุณพ่อคุณแม่ ส่งเสียงดังเวลามีความสุข และส่งเสียงเวลาโมโหหรือไม่พอใจได้ เอื้อมมือหยิบของเล่น หยิบสิ่งของได้ ย้ายของจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่งได้
พัฒนาการทารก อายุ 7 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
ทารกอายุ 7 เดือน วัยนี้จำชื่อของตนเองได้แล้ว พอได้ยินเสียงเรียกชื่อจะหันตามเสียงเรียกทันที เริ่มคลานไปคลานมาได้คล่องแคล่ว คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองต้องระมัดระวังการพลัดตก นั่งได้นานขึ้น เอี้ยวตัวได้ หมุนตัวกลับไปหยิบของและหันกลับมานั่งตามเดิมได้ ทารกบางคนยืนเกาะได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ส่งเสียงป๊อ แอ้ แม ได้ สนใจ จดจ่อ มองตามภาพในหนังสือได้
พัฒนาการทารก อายุ 8 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
ทารกอายุ 8 เดือน ในช่วงนี้ทารกน้อยจดจำคุณพ่อคุณแม่ และติดคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น ไปไหนมาไหนมักจะร้องตาม พัฒนาการด้านร่างกาย เริ่มยืนเกาะได้เอง กล้ามเนื้อมือแข็งแรงขึ้นทำให้หยิบจับแก้วได้เอง ชอบนำสิ่งของใกล้ตัวไม่ว่าจะขนม ของเล่น ใส่ปาก เป็นนักสำรวจตัวน้อย เริ่มตั้งแต่สำรวจตนเองด้วยการมองมือตนเอง ขยับมือ สนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ชอบสัมผัสด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ตามช่วงวัย
พัฒนาการทารก อายุ 9 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
ทารกอายุ 9 เดือน เรียกว่าในวัยนี้คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มเห็นพัฒนาการที่เรียกว่า “ตั้งไข่” กันแล้วสำหรับทารกบางคน เริ่มทำท่าลุกยืนด้วยตนเอง เพราะกล้ามเนื้อ กระดูกขาแข็งแรง สามารถเกาะและเดินไปได้ประมาณ 4-5 ก้าว ใช้นิ้วมือหยิบของชิ้นเล็ก ๆ ได้ นำของสองชิ้นมาเคาะกันได้ ใช้นิ้วมือพลิกเปลี่ยนหน้าหนังสือได้ พัฒนาการด้านภาษา พูดคำพยางค์เดียวได้ชัดเจนขึ้น รู้จักปฏิเสธส่ายหน้า หันหน้าหนีหากไม่ชอบ ไม่พอใจ ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ตบมือ โบกมือบ๊ายบาย
พัฒนาการทารก อายุ 10 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
ทารกอายุ 10 เดือน ในวัยนี้บางคนยืนได้เองแล้ว เริ่มก้าวเดินแต่ยังต้องให้คุณพ่อคุณแม่จูงมือเดิน หรือเกาะเดินอยู่ เป็นช่วงวัยซนวัยแห่งการค้นหา รื้อค้นข้าวของเพราะความอยากรู้อยากเห็น ทำนิ้วมือจีบหยิบของชิ้นเล็ก ๆ ได้ เช่น เศษขนม ลูกปัด กระดุม ซึ่งต้องระมัดระวังอย่างมากหากหยิบของชิ้นเล็กเข้าปากอาจเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้การเลือกของเล่นเน้นที่ความปลอดภัย สามารถหยิบจับได้ง่ายถนัดมือ เช่น รถลากของเล่น ตุ๊กตาหุ่นมือ ตุ๊กตาล้มลุก บล็อกตัวต่อที่มีขนาดชิ้นใหญ่
พัฒนาการทารก อายุ 11 เดือน ทำอะไรได้บ้าง
ทารกอายุ 11 เดือน เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ อยากรู้อยากลอง สนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว การเคลื่อนไวร่างกายคล่องแคล่วว่องไว ชอบการชี้นิ้วไปยังสิ่งที่ต้องการหรือสิ่งที่สนใจ หยิบจับของได้แน่นขึ้น มั่นคงขึ้น เริ่มพูดได้บ้างแล้ว ชอบเลียนเสียงพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด รู้ความหมายของคำมากขึ้น ทำให้สื่อสารเข้าใจได้มากขึ้น เข้าใจขั้นตอนการแต่งตัว เช่น ใส่กางเกง สวมเสื้อ
พัฒนาการทารก อายุ 1 ขวบ ทำอะไรได้บ้าง
ทารกอายุ 12 เดือนหรือทารกอายุ 1 ขวบ สำหรับทารกขวบปีแรก เป็นวัยที่คุณพ่อคุณแม่เฝ้ารอ เพราะเท่ากับลูกน้อยเจริญเติบโตไปอีกขั้นแล้วจากวัยเด็กทารกน้อยเข้าสู่วัยเด็กเล็ก วัยนี้สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองมากขึ้น แต่ยังต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด กล้ามเนื้อ กระดูกแข็งแรง ทำให้การใช้มือหยิบจับสิ่งของทำได้สะดวก รวดเร็ว เช่น หยิบของเข้า-ออกจากภาชนะได้ ยืนเองได้ไม่ต้องช่วยพยุง เดินได้ด้วยตนเอง พูดได้เป็นคำมากขึ้น แสดงความรักกับคุณพ่อคุณแม่และคนใกล้ชิด เช่น กอด หอม จุ๊บ ขีดเส้นในกระดาษได้
น้ำหนักและส่วนสูง ของเด็กแต่ละช่วงวัย
1. เด็กอายุ 3 เดือน
พัฒนาการด้านร่างกาย ส่วนสูงและน้ำหนักของทารก
- เพศชาย อายุ 3 เดือน น้ำหนัก 6.4 กิโลกรัม ส่วนสูง 61.4 เซนติเมตร
- เพศหญิง อายุ 3 เดือน น้ำหนัก 5.9 กิโลกรัม ส่วนสูง 59.8 เซนติเมตร
2. เด็กอายุ 6 เดือน
พัฒนาการด้านร่างกาย ส่วนสูงและน้ำหนักของทารก
- เพศชาย อายุ 6 เดือน น้ำหนัก 7.9 กิโลกรัม ส่วนสูง 67.6 เซนติเมตร
- เพศหญิง อายุ 6 เดือน น้ำหนัก 7.3 กิโลกรัม ส่วนสูง 65.7 เซนติเมตร
3. เด็กอายุ 1 ปี
พัฒนาการด้านร่างกาย ส่วนสูงและน้ำหนักของทารก
- เพศชาย อายุ 1 ปี น้ำหนัก 9.6 กิโลกรัม ส่วนสูง 75.7 เซนติเมตร
- เพศหญิง อายุ 1 ปี น้ำหนัก 8.9 กิโลกรัม ส่วนสูง 74.0 เซนติเมตร
กิจกรรมเสริมพัฒนาการเด็กทารก ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรพลาด
1. สำหรับเด็กแรกเกิดถึง 5 เดือน
ของเล่นเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมกับช่วงวัยแรกเกิดถึง 5 เดือน เป็นของเล่นที่เน้นพัฒนาการและระบบประสาทสัมผัส ดังนี้
- ของเล่นกระตุ้นและส่งเสริมการมองเห็น เช่น โมบายล์สีสันสดใส หรือโมบายล์ที่มีลักษณะบางเบาพลิ้วไหว มีการเคลื่อนไหว เคลื่อนที่
- ของเล่นกระตุ้นและส่งเสริมการฟังเสียง สามารถเคาะ เขย่า แล้วเกิดเสียงกรุ๊งกริ๊ง หรือเสียงดนตรีไพเราะ
- ของเล่นกระตุ้นและส่งเสริมการใช้ปากและใช้มือ ช่วงวัย 4-5 เดือน เป็นช่วงวัยที่เริ่มสนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทารกสามารถใช้นิ้วมือและใช้ปาก ได้มากขึ้น ดังนั้น ของเล่นเน้นที่ความปลอดภัย และความสะอาด เช่น ตุ๊กตาผ้าที่ไม่มีกระดุมหรือลูกปัด บล็อกต่อขนาดชิ้นใหญ่ ๆ
2. สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 1 ปี
ของเล่นเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมกับช่วงวัย 6 เดือนถึง 1 ปี เป็นของเล่นที่เน้นพัฒนาการด้านระบบประสาทสัมผัสที่ซับซ้อนมากขึ้น พัฒนาทักษะทั้งด้านการเคลื่อนไหว และทักษะด้านภาษา
- ของเล่นกระตุ้นและส่งเสริมให้เด็กรู้จักผิวสัมผัสประเภทต่าง ๆ เช่น ลูกบอลผิวเรียบ ลูกบอลผิวขรุขระ
- ของเล่นกระตุ้นและส่งเสริมให้เด็กใช้กล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวให้แข็งแรงขึ้น เช่น รถลากจูง ของเล่นที่กลิ้งได้ บล็อกไม้หรือบล็อกพลาสติกที่ต่อให้สูงขึ้น หรือของเล่นที่หยิบเข้า-ออกจากภาชนะได้
- ของเล่นกระตุ้นและส่งเสริมสติปัญญาและการใช้ภาษา เช่น หนังสือภาพสัตว์ ภาพผลไม้สีสันสดใส อาจเป็นหนังสือนิทานลอยน้ำ หรือเป็นนิทานกระดาษแข็ง ๆ สามารถพลิกไปมาได้ หนังสือนิทานช่วยกระตุ้นการใช้ภาษาและฝึกจินตนาการได้อย่างดี
โภชนาการที่เหมาะสมของเด็กแต่ละวัย
อาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ขวบปี ดังนี้
- แรกเกิดถึง 6 เดือน นมแม่ คือ อาหารหลักที่สำคัญที่สุดสำหรับทารกในช่วงวัยนี้ นมแม่มีสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอสำหรับทารก สำหรับทารกในวัย 6 เดือนขึ้นไป เป็นวัยที่เริ่มอาหารตามวัยที่ควบคู่กับนมแม่ อาหารตามวัยไม่ควรปรุงแต่งรสชาติใด ๆ ทั้งสิ้น และมีเนื้อสัมผัสที่เหมาะสมกับช่วงวัยเพื่อให้ทารกได้ฝึกเคี้ยวและฝึกกลืน
- ทารก 7-8 เดือน เริ่มรับประทานอาหารตามวัยควบคู่ไปกับนมแม่ โดยมีอาหารตามวัย 1- 2 มื้อต่อวัน เสริมเนื้อสัตว์ ไข่ ลงไป บดหยาบ ๆ เพื่อฝึกเคี้ยวและกลืน
- ทารก 9-12 เดือน ในวัยนี้ร่างกายเจริญเติบโต อาหารตามวัย ปรับเป็นอาหารหลัก 3 มื้อ อาหารควรมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ ไข่ ผัก และผลไม้ อาหารจะมีความหยาบขึ้นตามช่วงวัย เพราะเริ่มมีฟันสำหรับบดเคี้ยว ผัก ผลไม้นิ่ม ๆ หั่นชิ้นเล็ก ๆ ขนาดที่เคี้ยวได้สะดวก ฝึกกล้ามเนื้อช่องปาก การบดเคี้ยว การกลืนอาหาร และยังได้รับสารอาหารครบถ้วนด้วย
เด็กทารกในช่วงวัยแรกเกิดถึง 6 เดือน ควรได้กินนมแม่อย่างเดียว และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้นควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสม เพราะนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม ที่มีประโยชน์สำหรับทารกน้อย เช่น สฟิงโกไมอีลิน เป็นสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสมอง ช่วยเสริมสร้างสมองให้ทารกหลังคลอด
บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย
- พัฒนาการเด็ก 1 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 2 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 3 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 4 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 5 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 6 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 7 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 8 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 9 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 10 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 11 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
อ้างอิง:
- พัฒนาการลูกน้อยตามวัย, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณย์
- พัฒนาการเด็ก อายุ 2 เดือน, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
- นิทราวิทยาในเด็ก (Sleep Science in Children), ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- เช็คพัฒนาการเจ้าตัวน้อยวัยแรกเกิด, โรงพยาบาลนนทเวช
- พัฒนาการเด็ก อายุ 5 เดือน, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
- อาหารที่เหมาะสมตามวัย ตั้งแต่วัยแรกเกิด - 5 ปี, โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
- พัฒนาการเด็ก อายุ 7 เดือน, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
- พัฒนาการเด็ก อายุ 8 เดือน, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
- พัฒนาการของเด็กตามช่วงวัย, โรงพยาบาลเปาโล
- พัฒนาการเด็กแรกเกิด - 1 ปี และวิธีเสริมพัฒนาการเด็ก ที่พ่อแม่ต้องรู้, โรงพยาบาลพริ๊นซ์ สุวรรณภูมิ
- น้ำหนักทารก และส่วนสูง ตามช่วงอายุ, hellokhunmor
- เรื่องควรรู้เกี่ยวกับน้ำหนักเด็ก, pobpad
- เลือก “ของเล่น” เป็น “ของขวัญ” ช่วยเสริมพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย, โรงพยาบาลสมิติเวช
- อาหารที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- ตารางพัฒนาการเด็กปฐมวัย, โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์
อ้างอิง ณ วันที่ 17 มกราคม 2567