พัฒนาการทารกแรกเกิด - 1 ปี พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย

พัฒนาการเด็กทารกแรกเกิด - 1 ปี พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย

05.03.2024

พัฒนาการทารกในแต่ละช่วงวัย คือ กระบวนการการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย พฤติกรรม ความสามารถในการปรับตัว ซึ่งทารกในแต่ละเดือนมีความแตกต่างกันไป และเด็กแต่ละคนมีการเรียนรู้ที่ไม่เหมือนกัน ไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแบ่งออกเป็นพัฒนาการที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา พัฒนาการด้านความเข้าใจและภาษา และพัฒนาการด้านการช่วยเหลือตนเองและปรับตัวเข้าสังคม

headphones

PLAYING: พัฒนาการเด็กทารกแรกเกิด - 1 ปี พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการตามช่วงวัย

อ่าน 14 นาที

สรุป

  • พัฒนาการทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึงขวบปีแรก มีพัฒนาการควบคู่ไปกับการเจริญเติบโตของร่างกาย ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กและกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ทารกมีพัฒนาการด้านสติปัญญาการเรียนรู้ การสื่อสาร และการปรับตัวกับพ่อแม่ผู้ปกครองได้ดีขึ้นตามช่วงวัย
  • น้ำหนักและส่วนสูงของทารก ปัจจัยด้านเชื้อชาติมีผลต่อรูปร่างของทารก น้ำหนักและส่วนสูง แต่สิ่งสำคัญการเจริญเติบโตของร่างกายสมวัยขึ้นอยู่กับการใส่ใจดูแลสุขภาพจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ได้รับสารอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ มีกิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการ ได้ออกกำลังกายเพื่อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
  • กิจกรรมเสริมสร้างพัฒนาการของทารก มีส่วนสำคัญที่จะกระตุ้นให้ทารกเติบโตสมวัย กิจกรรมมีหลากหลายช่วยพัฒนาทักษะสมอง ทักษะการเคลื่อนไหว เช่น อ่านนิทาน เล่นจ๊ะเอ๋ ร้องเพลง กระโดดโลดเต้น เป็นต้น

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ทารกตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 เดือน เป็นช่วงเวลาสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่และลูกกำลังปรับตัวเข้าหากัน ทารกในวัยนี้ยังเล็กมาก พัฒนาการยังไม่พัฒนามากเท่าที่ควร ยังคงกิน นอน ขับถ่าย ร้องไห้ การเคลื่อนไหวจะเป็นการโต้ตอบปฏิกิริยาตอบสนองกับสิ่งเร้าโดยอัตโนมัติ เช่น เมื่อมีเสียงดังทารกน้อยจะสะดุ้งตื่นลืมตา เมื่อลูบแก้มทารกจะขยับศีรษะ การมองเห็นของทารกหรือสายตาของทารก สามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ ๆ เช่น ใบหน้าของคุณพ่อคุณแม่ ส่งเสียงร้องหรือร้องไห้ เพื่อสื่อสารความต้องการ เช่น ร้องเพราะผ้าอ้อมเปียกชื้นรู้สึกไม่สบายตัว หิวนม เป็นต้น

 

พัฒนาการทารก อายุ 2 เดือน ทำอะไรได้บ้าง

ทารกอายุ 2 เดือน ในเดือนนี้คุณพ่อคุณแม่จะได้เห็นรอยยิ้มที่เบิกบานอารมณ์ดีของลูกกันแล้วค่ะ นอนหลับสนิทในช่วงกลางคืนได้นานขึ้นกว่าเดือนแรกที่ตื่นทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง ถ้าหากทารกน้อยนอนกลางวันไม่นาน กลางคืนจะทำให้หลับได้ยาวนานขึ้น ด้านการเคลื่อนไหว ทารกสามารถนอนคว่ำและชันคอได้ถึง 45 องศา ขยับแขนขาได้ทั้งสองข้างได้ดีพอ ๆ กัน เอามือเข้าปากตัวเองได้ ส่งเสียงอ้อแอ้โต้ตอบพ่อแม่ได้ มองตามสิ่งต่าง ๆ ได้รอบด้านมากขึ้น

 

พัฒนาการทารก อายุ 3 เดือน ทำอะไรได้บ้าง

ทารกอายุ 3 เดือน มีการเจริญเติบโตขึ้นมากจาก 2 เดือนแรก คุณพ่อคุณแม่จะเห็นพัฒนาการของทารกได้ชัดเจนขึ้น ยิ้มเก่ง แสดงสีหน้าท่าทางมากขึ้น  ส่งเสียงอ้อแอ้โต้ตอบกับคุณพ่อคุณแม่ กระดูกคอเริ่มแข็งขึ้น ทำให้ศีรษะไม่สั่นไปมา เอามือกำของเล่น กำสิ่งของได้ บางคนเริ่มพลิกตัวได้ นอนหลับกลางคืนได้ยาวนานขึ้น นอนกล่อมตัวเองให้หลับได้ หรือที่เรียกว่า Self-soothing

 

พัฒนาการทารก อายุ 4 เดือน ทำอะไรได้บ้าง

ทารกอายุ 4 เดือน ทารกในช่วงวัยนี้ เติบโตแข็งแรงขึ้นมาก ทารกในวัยนี้สามารถสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ได้มากขึ้น สามารถสื่อสารได้ว่ากำลังเศร้าหรือมีความสุข เริ่มออกเสียงเจื้อยแจ้วและเลียนเสียงได้  หัวเราะเสียงดังขึ้น สามารถหันศีรษะตามเสียงเรียกได้ แสดงความสนใจเมื่อมีคนมาพูดคุยด้วย พัฒนาการกล้ามเนื้อมือแข็งแรงขึ้น คว้าและเขย่าของเล่นได้ หยิบของใส่ปาก สายตาและการมองเห็นสามารถมองตามสิ่งของได้ มองเห็นเฉดสีต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น ทารกจดจ่อกับสิ่งที่สนใจได้นานขึ้น พลิกคว่ำพลิกหงายได้เอง

 

พัฒนาการทารก อายุ 5 เดือน ทำอะไรได้บ้าง

ทารกอายุ 5 เดือน ในวัยนี้ทารกจะเริ่มสื่อสาร แสดงอารมณ์ความรู้สึกกับคุณพ่อคุณแม่ได้มากขึ้น เริ่มเลียนเสียงต่าง ๆ ที่ได้ยิน หันตามเสียงเรียกได้ สนใจเสียงรอบข้าง เลียนแบบทำท่า จุ๊บปาก เบะปากได้  ในช่วงนี้พัฒนาการกระดูกและกล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น สามารถเอื้อมมือไปหยิบของด้วยตนเองในขณะที่กำลังนอนหงายอยู่ พลิกคว่ำพลิกหงายได้คล่องแคล่ว มองเห็นสีได้มากขึ้น ชัดเจนขึ้น สนใจสิ่งรอบตัวอยากรู้อยากเห็น แสดงอารมณ์เมื่อถูกขัดใจ หรือแสดงอารมณ์เมื่อพึงพอใจ

 

พัฒนาการทารก อายุ 6 เดือน ทำอะไรได้บ้าง

ทารกอายุ 6 เดือน เดือนนี้เป็นเดือนแรกที่ทารกน้อยจะได้รับประทานอาหารตามวัยแล้ว อาหารตามวัยที่ให้ทารกควรมีเนื้อค่อนข้างละเอียด เพื่อสะดวกในการกลืน แต่ไม่ควรปั่นจนละเอียดเกินไป เพราะทารกจะไม่ได้ฝึกฝนการเคี้ยวและฝึกกลืน พัฒนาการทางร่างกายและการเคลื่อนไหว พลิกตัวซ้ายขวาได้ เริ่มนั่งตัวตรงได้มากขึ้น แต่ยังต้องประคอง จดจำใบหน้าคนที่คุ้นเคยได้ ชอบเล่นกับคนในครอบครัว ออกเสียงบาบา ดาดา มามา เพื่อเรียกคุณพ่อคุณแม่ ส่งเสียงดังเวลามีความสุข และส่งเสียงเวลาโมโหหรือไม่พอใจได้ เอื้อมมือหยิบของเล่น หยิบสิ่งของได้ ย้ายของจากมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่งได้

 

พัฒนาการทารก อายุ 7 เดือน ทำอะไรได้บ้าง

ทารกอายุ 7 เดือน วัยนี้จำชื่อของตนเองได้แล้ว พอได้ยินเสียงเรียกชื่อจะหันตามเสียงเรียกทันที เริ่มคลานไปคลานมาได้คล่องแคล่ว คุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครองต้องระมัดระวังการพลัดตก นั่งได้นานขึ้น เอี้ยวตัวได้ หมุนตัวกลับไปหยิบของและหันกลับมานั่งตามเดิมได้ ทารกบางคนยืนเกาะได้ในระยะเวลาสั้น ๆ ส่งเสียงป๊อ แอ้ แม ได้ สนใจ จดจ่อ มองตามภาพในหนังสือได้

 

พัฒนาการทารก อายุ 8 เดือน ทำอะไรได้บ้าง

ทารกอายุ 8 เดือน ในช่วงนี้ทารกน้อยจดจำคุณพ่อคุณแม่ และติดคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น ไปไหนมาไหนมักจะร้องตาม พัฒนาการด้านร่างกาย เริ่มยืนเกาะได้เอง กล้ามเนื้อมือแข็งแรงขึ้นทำให้หยิบจับแก้วได้เอง ชอบนำสิ่งของใกล้ตัวไม่ว่าจะขนม ของเล่น ใส่ปาก เป็นนักสำรวจตัวน้อย เริ่มตั้งแต่สำรวจตนเองด้วยการมองมือตนเอง ขยับมือ สนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ชอบสัมผัสด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ตามช่วงวัย

 

พัฒนาการทารก อายุ 9 เดือน ทำอะไรได้บ้าง

ทารกอายุ 9 เดือน เรียกว่าในวัยนี้คุณพ่อคุณแม่จะเริ่มเห็นพัฒนาการที่เรียกว่า “ตั้งไข่” กันแล้วสำหรับทารกบางคน เริ่มทำท่าลุกยืนด้วยตนเอง เพราะกล้ามเนื้อ กระดูกขาแข็งแรง สามารถเกาะและเดินไปได้ประมาณ 4-5 ก้าว ใช้นิ้วมือหยิบของชิ้นเล็ก ๆ ได้ นำของสองชิ้นมาเคาะกันได้ ใช้นิ้วมือพลิกเปลี่ยนหน้าหนังสือได้ พัฒนาการด้านภาษา พูดคำพยางค์เดียวได้ชัดเจนขึ้น รู้จักปฏิเสธส่ายหน้า หันหน้าหนีหากไม่ชอบ ไม่พอใจ ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ตบมือ โบกมือบ๊ายบาย

 

พัฒนาการทารก อายุ 10 เดือน ทำอะไรได้บ้าง

ทารกอายุ 10 เดือน ในวัยนี้บางคนยืนได้เองแล้ว เริ่มก้าวเดินแต่ยังต้องให้คุณพ่อคุณแม่จูงมือเดิน หรือเกาะเดินอยู่ เป็นช่วงวัยซนวัยแห่งการค้นหา รื้อค้นข้าวของเพราะความอยากรู้อยากเห็น ทำนิ้วมือจีบหยิบของชิ้นเล็ก ๆ ได้ เช่น เศษขนม ลูกปัด กระดุม ซึ่งต้องระมัดระวังอย่างมากหากหยิบของชิ้นเล็กเข้าปากอาจเกิดอันตรายได้ นอกจากนี้การเลือกของเล่นเน้นที่ความปลอดภัย สามารถหยิบจับได้ง่ายถนัดมือ เช่น รถลากของเล่น ตุ๊กตาหุ่นมือ ตุ๊กตาล้มลุก บล็อกตัวต่อที่มีขนาดชิ้นใหญ่

 

พัฒนาการทารก อายุ 11 เดือน ทำอะไรได้บ้าง

ทารกอายุ 11 เดือน เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ อยากรู้อยากลอง สนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว การเคลื่อนไวร่างกายคล่องแคล่วว่องไว ชอบการชี้นิ้วไปยังสิ่งที่ต้องการหรือสิ่งที่สนใจ หยิบจับของได้แน่นขึ้น มั่นคงขึ้น เริ่มพูดได้บ้างแล้ว ชอบเลียนเสียงพ่อแม่หรือคนใกล้ชิด รู้ความหมายของคำมากขึ้น ทำให้สื่อสารเข้าใจได้มากขึ้น เข้าใจขั้นตอนการแต่งตัว เช่น ใส่กางเกง สวมเสื้อ

 

พัฒนาการทารก อายุ 1 ขวบ ทำอะไรได้บ้าง

ทารกอายุ 12 เดือนหรือทารกอายุ 1 ขวบ สำหรับทารกขวบปีแรก เป็นวัยที่คุณพ่อคุณแม่เฝ้ารอ เพราะเท่ากับลูกน้อยเจริญเติบโตไปอีกขั้นแล้วจากวัยเด็กทารกน้อยเข้าสู่วัยเด็กเล็ก วัยนี้สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองมากขึ้น แต่ยังต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด กล้ามเนื้อ กระดูกแข็งแรง ทำให้การใช้มือหยิบจับสิ่งของทำได้สะดวก รวดเร็ว เช่น หยิบของเข้า-ออกจากภาชนะได้ ยืนเองได้ไม่ต้องช่วยพยุง เดินได้ด้วยตนเอง พูดได้เป็นคำมากขึ้น แสดงความรักกับคุณพ่อคุณแม่และคนใกล้ชิด เช่น กอด หอม จุ๊บ ขีดเส้นในกระดาษได้

 

น้ำหนักและส่วนสูง ของเด็กแต่ละช่วงวัย

1. เด็กอายุ 3 เดือน

พัฒนาการด้านร่างกาย ส่วนสูงและน้ำหนักของทารก

  • เพศชาย อายุ 3 เดือน น้ำหนัก 6.4 กิโลกรัม ส่วนสูง 61.4 เซนติเมตร
  • เพศหญิง อายุ 3 เดือน น้ำหนัก 5.9 กิโลกรัม ส่วนสูง 59.8 เซนติเมตร

 

2. เด็กอายุ 6 เดือน

พัฒนาการด้านร่างกาย ส่วนสูงและน้ำหนักของทารก

  • เพศชาย อายุ 6 เดือน น้ำหนัก 7.9 กิโลกรัม ส่วนสูง 67.6 เซนติเมตร
  • เพศหญิง อายุ 6 เดือน น้ำหนัก 7.3 กิโลกรัม ส่วนสูง 65.7 เซนติเมตร

 

3. เด็กอายุ 1 ปี

พัฒนาการด้านร่างกาย ส่วนสูงและน้ำหนักของทารก

  • เพศชาย อายุ 1 ปี น้ำหนัก 9.6 กิโลกรัม ส่วนสูง 75.7 เซนติเมตร
  • เพศหญิง อายุ 1 ปี  น้ำหนัก 8.9 กิโลกรัม ส่วนสูง 74.0 เซนติเมตร

 

กิจกรรมเสริมพัฒนาการเด็กทารก ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรพลาด

 

กิจกรรมเสริมพัฒนาการเด็กทารก ที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรพลาด

1. สำหรับเด็กแรกเกิดถึง 5 เดือน

ของเล่นเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมกับช่วงวัยแรกเกิดถึง 5 เดือน เป็นของเล่นที่เน้นพัฒนาการและระบบประสาทสัมผัส ดังนี้

  • ของเล่นกระตุ้นและส่งเสริมการมองเห็น เช่น โมบายล์สีสันสดใส หรือโมบายล์ที่มีลักษณะบางเบาพลิ้วไหว มีการเคลื่อนไหว เคลื่อนที่
  • ของเล่นกระตุ้นและส่งเสริมการฟังเสียง สามารถเคาะ เขย่า แล้วเกิดเสียงกรุ๊งกริ๊ง หรือเสียงดนตรีไพเราะ
  • ของเล่นกระตุ้นและส่งเสริมการใช้ปากและใช้มือ ช่วงวัย 4-5 เดือน เป็นช่วงวัยที่เริ่มสนใจสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทารกสามารถใช้นิ้วมือและใช้ปาก ได้มากขึ้น ดังนั้น ของเล่นเน้นที่ความปลอดภัย และความสะอาด เช่น ตุ๊กตาผ้าที่ไม่มีกระดุมหรือลูกปัด บล็อกต่อขนาดชิ้นใหญ่ ๆ

 

2. สำหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 1 ปี

ของเล่นเสริมพัฒนาการที่เหมาะสมกับช่วงวัย 6 เดือนถึง 1 ปี เป็นของเล่นที่เน้นพัฒนาการด้านระบบประสาทสัมผัสที่ซับซ้อนมากขึ้น พัฒนาทักษะทั้งด้านการเคลื่อนไหว และทักษะด้านภาษา

  • ของเล่นกระตุ้นและส่งเสริมให้เด็กรู้จักผิวสัมผัสประเภทต่าง ๆ เช่น ลูกบอลผิวเรียบ ลูกบอลผิวขรุขระ
  • ของเล่นกระตุ้นและส่งเสริมให้เด็กใช้กล้ามเนื้อและการเคลื่อนไหวให้แข็งแรงขึ้น เช่น รถลากจูง ของเล่นที่กลิ้งได้ บล็อกไม้หรือบล็อกพลาสติกที่ต่อให้สูงขึ้น หรือของเล่นที่หยิบเข้า-ออกจากภาชนะได้
  • ของเล่นกระตุ้นและส่งเสริมสติปัญญาและการใช้ภาษา เช่น หนังสือภาพสัตว์ ภาพผลไม้สีสันสดใส อาจเป็นหนังสือนิทานลอยน้ำ หรือเป็นนิทานกระดาษแข็ง ๆ สามารถพลิกไปมาได้ หนังสือนิทานช่วยกระตุ้นการใช้ภาษาและฝึกจินตนาการได้อย่างดี

 

โภชนาการที่เหมาะสมของเด็กแต่ละวัย

อาหารที่เหมาะสมสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัยตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 1 ขวบปี ดังนี้

  • แรกเกิดถึง 6 เดือน นมแม่ คือ อาหารหลักที่สำคัญที่สุดสำหรับทารกในช่วงวัยนี้ นมแม่มีสารอาหารครบถ้วนและเพียงพอสำหรับทารก สำหรับทารกในวัย 6 เดือนขึ้นไป เป็นวัยที่เริ่มอาหารตามวัยที่ควบคู่กับนมแม่ อาหารตามวัยไม่ควรปรุงแต่งรสชาติใด ๆ ทั้งสิ้น และมีเนื้อสัมผัสที่เหมาะสมกับช่วงวัยเพื่อให้ทารกได้ฝึกเคี้ยวและฝึกกลืน
  • ทารก 7-8 เดือน เริ่มรับประทานอาหารตามวัยควบคู่ไปกับนมแม่ โดยมีอาหารตามวัย 1- 2 มื้อต่อวัน เสริมเนื้อสัตว์ ไข่ ลงไป บดหยาบ ๆ เพื่อฝึกเคี้ยวและกลืน
  • ทารก 9-12 เดือน ในวัยนี้ร่างกายเจริญเติบโต อาหารตามวัย ปรับเป็นอาหารหลัก 3 มื้อ  อาหารควรมีส่วนผสมของเนื้อสัตว์ ไข่ ผัก และผลไม้ อาหารจะมีความหยาบขึ้นตามช่วงวัย เพราะเริ่มมีฟันสำหรับบดเคี้ยว ผัก ผลไม้นิ่ม ๆ หั่นชิ้นเล็ก ๆ ขนาดที่เคี้ยวได้สะดวก ฝึกกล้ามเนื้อช่องปาก การบดเคี้ยว การกลืนอาหาร และยังได้รับสารอาหารครบถ้วนด้วย

 

เด็กทารกในช่วงวัยแรกเกิดถึง 6 เดือน ควรได้กินนมแม่อย่างเดียว และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้นควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสม เพราะนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม ที่มีประโยชน์สำหรับทารกน้อย เช่น สฟิงโกไมอีลิน เป็นสารอาหารที่สำคัญและจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของสมอง ช่วยเสริมสร้างสมองให้ทารกหลังคลอด

 

บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย

 

 

อ้างอิง:

  1. พัฒนาการลูกน้อยตามวัย, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณย์
  2. พัฒนาการเด็ก อายุ 2 เดือน, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
  3. นิทราวิทยาในเด็ก (Sleep Science in Children), ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  4. เช็คพัฒนาการเจ้าตัวน้อยวัยแรกเกิด, โรงพยาบาลนนทเวช
  5. พัฒนาการเด็ก อายุ 5 เดือน, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
  6. อาหารที่เหมาะสมตามวัย ตั้งแต่วัยแรกเกิด - 5 ปี, โรงพยาบาล บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์
  7. พัฒนาการเด็ก อายุ 7 เดือน, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
  8. พัฒนาการเด็ก อายุ 8 เดือน, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
  9. พัฒนาการของเด็กตามช่วงวัย, โรงพยาบาลเปาโล
  10. พัฒนาการเด็กแรกเกิด - 1 ปี และวิธีเสริมพัฒนาการเด็ก ที่พ่อแม่ต้องรู้, โรงพยาบาลพริ๊นซ์ สุวรรณภูมิ
  11. น้ำหนักทารก และส่วนสูง ตามช่วงอายุ, hellokhunmor
  12. เรื่องควรรู้เกี่ยวกับน้ำหนักเด็ก, pobpad
  13. เลือก “ของเล่น” เป็น “ของขวัญ” ช่วยเสริมพัฒนาการของเด็กแต่ละวัย, โรงพยาบาลสมิติเวช
  14. อาหารที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  15. ตารางพัฒนาการเด็กปฐมวัย, โรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์


อ้างอิง ณ วันที่ 17 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

รวมแคปชั่นแม่ลูกอ่อน แคปชั่นแม่ลูกอ่อน เอาใจคนเห่อลูก

รวมแคปชั่นแม่ลูกอ่อน แคปชั่นแม่ลูกอ่อน เอาใจคนเห่อลูก

แคปชั่นแม่ลูก แคปชั่นแม่ลูกอ่อน สำหรับคุณแม่มือใหม่ที่เห่อลูกแรกเกิด เอาไว้ไปโพสต์อวดลงโซเชียล เก็บไว้เป็นความประทับใจ กลับมาอ่านกี่ครั้งก็ยังซึ้งเหมือนเดิม

วิธีห่อตัวทารก การห่อตัวทารกให้ลูกสบายตัว คล้ายอยู่ในท้องแม่

วิธีห่อตัวทารกที่ถูกต้อง ให้ลูกน้อยสบายตัว เหมือนอยู่ในท้องแม่

รวมวิธีห่อตัวทารกที่ถูกต้อง สำหรับคุณแม่มือใหม่ ให้ลูกน้อยรู้สึกสบายตัว หลับง่าย ลดการสะดุ้งตื่นเหมือนอยู่ในท้องแม่ จะมีวิธีห่อตัวทารกแบบไหนบ้าง ไปดูกัน

วิธีจับลูกเรอ ท่าอุ้มเรอเมื่อลูกไม่เรอ ช่วยให้ลูกสบายท้อง หลังอิ่มนม

วิธีจับลูกเรอ ท่าอุ้มเรอเมื่อลูกไม่เรอ ช่วยให้ลูกสบายท้องหลังอิ่มนม

วิธีจับลูกเรอ ท่าอุ้มเรอ เมื่อลูกไม่เรอสำหรับลูกน้อย ช่วยป้องกันอาการแหวะนม ไปดูวิธีจับลูกเรอและท่าอุ้มเรอที่ช่วยให้ลูกเรอง่ายและท้องไม่อืดหลังกินนม

เด็กร้องไห้ไม่หยุด ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมือ

เด็กร้องไห้ไม่หยุด ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมือ

เด็กร้องไห้ไม่หยุด ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุและร้องไห้บ่อย เกิดจากอะไรได้บ้าง คุณแม่มีวิธีสังเกตลูกน้อยอย่างไร เมื่อลูกร้องไห้ไม่หยุด ไปดูวิธีรับมือเด็กร้องไห้กัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก