โกนผมไฟให้ลูก ใช้อะไรบ้าง พิธีโกนผมไฟ มีขั้นตอนอย่างไร
โกนผมไฟ ให้ทารกหลังคลอด พิธีกรรมแบบไทยที่สืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น แม้ว่ายุคสมัยนี้จะมีไม่มากแล้ว แต่บางครอบครัวก็ยังสืบสานและยังทำพิธีนี้กันอยู่ ด้วยความเชื่อในการรับขวัญทารกแรกคลอดที่เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของบ้าน มีญาติผู้ใหญ่ คนใกล้ตัวที่เคารพนับถือมาอวยพร เสริมสิริมงคลให้กับลูกน้อย ให้อยู่ดีมีสุข เติบโตเลี้ยงง่าย พิธีโกนผมไฟนี้จะมีขั้นตอน และพิธีที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่
สรุป
- โกนผมไฟ เป็น พิธีกรรม ความเชื่อที่สืบทอดกันมาตั้งแต่โบราณนานมา เป็นการรับขวัญ และอวยพรให้ทารกที่คลอดออกมาให้พบเจอแต่สิ่งดี ๆ อีกทั้งยังเชื่อว่า การโกนเอาผมที่อยู่ในท้องแม่ตลอด 9 เดือน ที่มีคราบไขมันนั้น เป็นการทำความสะอาดให้หนังศีรษะ ให้มีผมงอกใหม่มาดกดำ
- โกนผมไฟ ยังนิยมทำกันอยู่ แม้จะไม่มากเท่ากับในสมัยโบราณแล้วก็ตาม พิธีโกนผมไฟในแต่ละภูมิภาค พื้นที่จะมีการเตรียมของ หรือขั้นตอนที่แตกต่างกันออกไป
- โกนผมไฟ เป็นพิธีกรรมตามความเชื่อมาตั้งแต่โบราณ บางครอบครัวอาจไม่นิยมทำพิธีนี้แล้วก็ไม่ได้ส่งผลเสียกับทารก และครอบครัวแต่อย่างใด
- หลังโกนผมไฟเสร็จแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลหนังศีรษะทารก ไม่ปล่อยให้ศีรษะทารกแห้ง หรือเย็นจนเกินไป
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- โกนผมไฟ คือพิธีอะไร
- โกนผมไฟให้ลูก ก่อนหรือหลังอายุ 1 เดือนได้ไหม
- ไม่ทำพิธีโกนผมไฟให้ลูก จะเป็นอะไรไหม
- ทำไมต้องหาฤกษ์โกนผมไฟให้ลูก
- พิธีโกนผมไฟ ต้องนิมนต์พระกี่รูป
- โกนผมไฟใช้อะไรบ้าง เตรียมได้เองไม่ยาก
- ขั้นตอนการโกนผมไฟให้ลูกน้อย
- เคล็ดลับดูแลผมและหนังศีรษะให้ทารก หลังโกนผมไฟ
โกนผมไฟ คือพิธีอะไร
การโกนผมไฟ หรือที่เรียกว่าทำขวัญเดือน เป็นพิธีกรรมที่สืบทอดกันมาแต่โบราณกาล เชื่อกันว่า เมื่อเด็กคลอดออกมา เข้ามาอยู่กับครอบครัวได้ครบ 1 เดือน เด็กนั้นแข็งแรงปลอดภัยแล้ว ก็จะทำพิธีโกนผมไฟและทำขวัญเดือน และยังเป็นการโกนผมเอาผมที่ติดตัวมาตั้งแต่ในครรภ์ เพราะคนโบราณเชื่อว่าผมที่ติดมากับครรภ์แม่นั้นไม่สะอาด มีทั้งคราบไขมัน สิ่งปฏิกูลต่าง ๆ จะได้เอาสิ่งสกปรกออกให้หมด เพื่อผมที่ได้งอกใหม่จะได้สะอาดแข็งแรง ในบางพื้นที่ อาจมีการเหลือผมไว้หย่อมเล็ก ๆ กลางกระหม่อม เพื่อป้องกันความเย็นสัมผัสกระหม่อมของทารก เพราะกระหม่อมทารกนั้นบาง อาจไม่สบายได้ง่าย
โกนผมไฟให้ลูก ก่อนหรือหลังอายุ 1 เดือนได้ไหม
ตามพิธีกรรมที่ยึดถือกันมาในสมัยก่อนนั้น การโกนผมไฟ จะทำเมื่อทารกอายุคลอดออกมาครบ 1 เดือน เหมือนเป็นการทำขวัญว่าทารกน้อยได้อยู่รอดปลอดภัยมาเป็นสมาชิกในบ้าน เป็นคนโดยสมบูรณ์แล้ว แต่ในยุคสมัยนี้ที่เปลี่ยนไป การโกนผมไฟลูกอายุครบ 1 เดือน นั้นอาจยังมีอยู่ แต่ไม่ได้ทุกบ้านที่จะทำ อยู่ที่ความสะดวก ของแต่ละครอบครัวมากกว่า
ไม่ทำพิธีโกนผมไฟให้ลูก จะเป็นอะไรไหม
ในความเชื่อพิธีกรรมโกนผมไฟนี้ ทำเพื่อ รับขวัญทารกที่อยู่รอดปลอดภัยมาจนครบ 1 เดือน และเพื่อชำระล้าง เอาเส้นผมที่อยู่ในครรภ์ออกไปจากตัวเด็ก มีการนิมนต์พระสงฆ์มาขลิบผม และเจริญพระพุทธมนต์ ประกอบพิธีเพื่อความสิริมงคล มีญาติพี่น้อง ปู่ย่าตายาย อวยพรให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ทำให้ครอบครัวอุ่นใจว่าได้ประกอบพิธีกรรมให้ทารกอย่างสมบูรณ์ และมีความเชื่อว่าจะเติบโตอย่างแข็งแรง ไม่เจ็บไม่ไข้ หากบางครอบครัวไม่สะดวกที่จะทำพิธีโกนผมไฟให้ลูก ก็ไม่ได้ส่งผลอันตรายใด ๆ ต่อสุขภาพของทารก หรือส่งผลเสียให้กับครอบครัว เพราะเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมาเท่านั้น
ทำไมต้องหาฤกษ์โกนผมไฟให้ลูก
การหาฤกษ์ หาวันดีในการประกอบพิธีกรรมนั้น ในโบราณรุ่นปู่ย่า ไม่ว่าจะกระทำพิธีอะไร ก็จะหาวันดี วันที่เหมาะในการประกอบพิธีกรรมเสมอ เชื่อว่าเป็นมงคลแก่งาน และคนที่ประกอบงานนั้น ๆ
พิธีโกนผมไฟ ต้องนิมนต์พระกี่รูป
พิธีโกนผมไฟในสมัยก่อน นิยมนิมนต์พระสงฆ์ 5 รูป หรือ 9 รูป หรือตามศรัทธา
โกนผมไฟใช้อะไรบ้าง เตรียมได้เองไม่ยาก
- กรรไกร ใบมีดโกน
- ใบบัว หรือใบบอน
- พานสำหรับรองใบบัว
- สายสิญจน์
- สังข์สำหรับใส่น้ำพระพุทธมนต์
- กระแจะเจิม หรือแป้งเจิม
ขั้นตอนการโกนผมไฟให้ลูกน้อย
- หาฤกษ์งามยามดีในการโกนผมไฟ โดยเอาวัน เดือน ปี เกิดลูก หาวันที่ดีที่เหมาะกับลูก
- นิมนต์พระสงฆ์ 5 รูป หรือ 9 รูป
- เชิญญาติผู้ใหญ่ ญาติพี่น้อง เพื่อมาขลิบผมไฟ รับขวัญหลาน
- เมื่อถึงวันทำพิธี พ่อแม่ของเด็ก จุดเทียนหน้าพระพุทธรูป
- นำสายสิญจน์ล้อมตัวเด็กไว้ นิมนต์พระผู้ใหญ่ทำพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ด้วยสังข์ที่เตรียมไว้ รดน้ำมนต์ที่ศีรษะ และขลิบ ผม เจิมหน้าผากด้วยกระแจะหรือแป้ง ผูกข้อมือ พระสงฆ์ทุกรูปสวดชยันโต 3 จบ
- เส้นผมที่ขลิบแล้วให้วางบนใบบัว
- เมื่อพระผู้ใหญ่ขลิบผม ผูกข้อมือให้เด็กแล้ว ให้ญาติผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ และญาติ ๆ (ตามลำดับอาวุโส) ขลิบผมให้พร รับขวัญกับเด็กเพื่อความสิริมงคล
- นำเส้นผมไปลอยที่แม่น้ำ แล้วอวยพรให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ให้ผู้ใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญในการใช้มีดโกน มาโกนผมที่เหลือให้หมดจด
- พระสงฆ์สวดอนุโมทนา พ่อแม่กรวดน้ำ เป็นอันเสร็จพิธี
เคล็ดลับดูแลผมและหนังศีรษะให้ทารก หลังโกนผมไฟ
1. ใช้แชมพูสูตรอ่อนโยน
สำหรับเด็กแรกเกิด เลือกแชมพูสูตรอ่อนโยนต่อหนังศีรษะ ผลิตจากส่วนผสมธรรมชาติเป็นหลัก ไม่ใส่น้ำหอม ไม่เติมสี เป็นแชมพูสำหรับเด็กทารกโดยเฉพาะ
2. จับศีรษะลูกอย่างเบามือ
เมื่อโกนผมไฟแล้ว จะมองเห็นกระหม่อมของทารกเต้นตุบ ๆ ที่ยังปิดไม่สนิทได้ชัดเจนขึ้น หากมีความจำเป็นต้องจับต้องศีรษะลูก ไม่ควรวิตกกังวล ควรจับอย่างเบามือ กระหม่อมของทารกส่วนหลังจะปิดเมื่อ 6 เดือน กระหม่อมส่วนหน้านั้นจะปิดเมื่ออายุ 1 ปี 6 เดือน ถึง 2 ปี
3. ไม่ปล่อยให้ศีรษะแห้ง และเย็นจนเกินไป
หากพบว่ามีหนังศีรษะที่คราบไขมันเหมือนรังแค ไม่ควรแกะเกา ควรใช้ น้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ทาเบา ๆ แล้วทิ้งไว้ 5-10 นาที แล้วล้างออกด้วยแชมพูสำหรับทารก
การโกนผมไฟ แม้เป็นพิธีกรรมที่ยึดปฏิบัติมานาน แต่ไม่ได้มีกฎตายตัวหรือบังคับว่าต้องทำ ขึ้นอยู่กับความเชื่อ ความสะดวกของแต่ละบุคคล พิธีโกนผมไฟนี้จะมีขั้นตอนที่แตกต่างออกไป ขึ้นอยู่กับความเชื่อในพื้นที่นั้น ๆ บางบ้านมีขั้นตอนง่าย ๆ ทำกันเองในหมู่ญาติ โดยไม่มีการนิมนต์พระ หรือบางบ้านก็พาทารกน้อยไปทำพิธีที่วัดขึ้นอยู่ที่ความสะดวก ไม่ว่าพิธีโกนผมไฟจะแตกต่างกันไป แต่ก็ล้วนมาจากพื้นฐานความรัก อยากเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้กับทารกที่เป็นสมาชิกใหม่ของบ้าน
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม
- สฟิงโกไมอีลิน คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อสมองของลูกน้อย
- DHA สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย
- 2’-FL คืออะไร ? รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- โพรไบโอติกส์ (Probiotics) จุลินทรีย์ที่พบได้ในนมแม่ มีประโยชน์กับลูก
- พรีไบโอติกส์ มีส่วนช่วยพัฒนาสมองในเด็กทารก
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- เทคนิคเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สุดยอดสารอาหารจากแม่สู่ลูก
- เพิ่มน้ำนมคุณแม่ ด้วยการกระตุ้นน้ำนม จากธรรมชาติ ดีกับคุณแม่และลูก
- นมแม่อยู่ได้กี่ชม น้ำนมแม่เก็บได้นานแค่ไหน เก็บรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี
- อาการทารกหิวนม สัญญาณจากลูกน้อย ที่คุณแม่สังเกตเองได้
- เด็กแรกเกิดกินนมกี่ออนซ์ ถึงจะดีที่สุด ปริมาณเท่าไหร่ถึงเรียกว่าพอดี
- วิธีจับลูกเรอ ท่าอุ้มเรอช่วยให้ลูกสบายท้อง หลังลูกอิ่มนม
- คัดเต้านมทำยังไงดี คัดเต้ากี่วันหาย พร้อมวิธีบรรเทาอาการนมคัด
- เจ็บหัวนม หัวนมแตก อาการเจ็บหัวนม ต้องรักษาอย่างไร ให้นมลูกต่อได้ไหม
อ้างอิง:
- พิธีการไว้จุก และโกนจุกของเด็กไทย, กองวรรณกรรมประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร
- พิธีชีวิต, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ฤกษ์งาม ยามดี, การปกครองท้องถิ่น
- เคลียร์ปัญหา…อาการแพ้ยาสระผม & สบู่ของลูกน้อย, โรงพยาบาลเปาโล
- 5 ผื่นแพ้ของลูกน้อย พบบ่อย...แต่รับมือได้, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงดูทารก, โรงพยาบาลกรุงเทพ
อ้างอิง ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567