ลูกมีน้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุด ลูกเป็นหวัดน้ำมูกไหลไม่หายสักที

น้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุด ลูกเป็นหวัดน้ำมูกไหลไม่หายสักที

10.05.2024

ลูกมีน้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุด ทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความกังวลใจกันมาก ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจถึงการมีน้ำมูกของลูก เบื้องต้นต้องทราบก่อนว่ามีน้ำมูกเพราะอะไร เพื่อที่จะได้รับการดูแลเบื้องต้นและรับการรักษาจากแพทย์ได้ตรงกับโรคที่เป็นต่อไป โดยปกติคุณพ่อคุณแม่จะเข้าใจกันว่าการที่ลูกมีน้ำมูกก็เพราะเป็นหวัด ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการที่ลูกมีน้ำมูกสามารถบอกได้อีกหลายโรคที่อาจกำลังป่วยอยู่ก็ได้

headphones

PLAYING: น้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุด ลูกเป็นหวัดน้ำมูกไหลไม่หายสักที

อ่าน 7 นาที

 

สรุป

  • น้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุดอาจเกิดจากจมูกเกิดการระคายเคือง ที่มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล กลิ่น ควัน ฝุ่น รวมทั้งการอักเสบของไซนัส และภูมิแพ้
  • ลูกมีน้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุด อาจมาจากการป่วยด้วยโรค เช่น ไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ โรคจมูกอักเสบ และโรคไซนัสอักเสบ
  • ลูกมีน้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุด อาจมาจากโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ทำให้มีน้ำมูกใส ๆ ไหลออกมามากจนสามารถทำให้มีน้ำมูกไหลลงคอ

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

สาเหตุของการเกิดน้ำมูก

  • ในทางการแพทย์อธิบายถึงการเกิด “น้ำมูก” ขึ้นนั้นมาจากการที่เยื่อบุของระบบทางเดินหายใจ และเยื่อบุของระบบทางเดินอาหารบางส่วนภายในร่างกาย เช่น จมูก ไซนัส โพรงหลังจมูก ช่องปาก ช่องคอ หลอดลม และกล่องเสียง จะมีต่อมเพื่อสร้างน้ำมูก เมือก และเสมหะขึ้นมา เพื่อปกป้องอวัยวะที่อยู่ภายใต้เยื่อบุทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร ให้มีความปลอดภัยจากสารระคายเคือง หรือสารพิษ
  • สารก่อภูมิแพ้ (เช่น ละอองเกสร ไรฝุ่น), ฝุ่น, เชื้อโรค ฯลฯ ที่ลอยมาปะปนกับอากาศเข้ามาติดอยู่ในลมหายใจ จะถูกน้ำมูกในระบบทางเดินหายใจ คอยดักจับป้องกันไว้อย่างดี โดยน้ำมูกจะมีสารต่อต้านเชื้อโรค เช่น เอนไซม์ และแอนติบอดี ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อ
  • เวลาที่มีน้ำมูกไหล อาจเกิดเพราะจมูกเกิดการระคายเคือง ที่มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล กลิ่น ควัน ฝุ่น รวมทั้งการอักเสบของไซนัส และภูมิแพ้ เป็นต้น

 

ลูกน้อยมีน้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุด เป็นอะไรได้บ้าง

การที่ลูกน้อยมีน้ำมูกบอกให้ทราบถึงโรคที่กำลังป่วยอยู่ได้หลายโรค

อาการหวัดธรรมดา (Common Cold)

  • สาเหตุ: เกิดจากระบบทางเดินหายใจเกิดการติดเชื้อไวรัส
  • อาการ: มีน้ำมูกไหล อาจมีไข้ต่ำ มีการไอ และจาม

 

โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

  • สาเหตุ: เกิดจากระบบทางเดินหายใจเกิดการติดเชื้อไวรัส
  • อาการ: มีน้ำมูกไหล มีไข้สูง มีอาการอาเจียน ท้องเสีย และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ

 

โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือแพ้อากาศ (Allergic rhinitis)

  • สาเหตุ: เกิดจากเยื่อบุจมูกได้รับสารก่อภูมิแพ้
  • อาการ: มีน้ำมูกไหล คันจมูก คันเพดาน และมีการจาม

 

โรคไซนัสอักเสบ (Acute sinusitis)

  • สาเหตุ: เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา
  • อาการ: มีน้ำมูกมากจนไหลลงคอ คันจมูก และไอ บางครั้งลมหายใจมีกลิ่นเหม็น

 

สีของน้ำมูกบ่งบอกถึงอะไร

ลูกมีน้ำมูกไหล คุณพ่อคุณแม่ควรต้องสังเกตสีของน้ำมูกที่ออกมาจากจมูกลูกด้วย เพราะแต่ละสีมีสาเหตุที่เกิดต่างกัน ได้แก่

1. น้ำมูกสีขาวขุ่น

สาเหตุ: มาจากการที่โพรงจมูกมีน้ำมูกขังมาเป็นเวลาหลายวัน จากเยื่อบุจมูกที่บวม น้ำมูกที่ไหลออกมาจะมีสีขาวขุ่น เหนียวและหนา

 

2. น้ำมูกสีใส

สาเหตุ: อาจเกิดขึ้นได้จากหวัด เยื่อบุจมูกอักเสบ หรือมาจากการติดเชื้อขึ้นในระบบทางเดินหายใจ

 

3. น้ำมูกสีเขียว

สาเหตุ: ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย อย่างเม็ดเลือดขาว กำลังทำงานเพื่อต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งน้ำมูกสีเขียว เกิดจากการติดเชื้อขึ้นภายในโพรงจมูก หรือไซนัสอักเสบ

 

4. น้ำมูกสีเหลือง

สาเหตุ: มาจากด้านในโพรงจมูก หรือไซนัส มีการติดเชื้อแบคทีเรีย ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็จะส่งเซลล์เม็ดเลือดขาวออกมาต่อต้านและทำลายเชื้อแบคทีเรีย เซลล์เม็ดเลือดขาว กับเชื้อแบคทีเรียที่ตายแล้ว จะมีทั้งเมือกและหนอง จนทำให้น้ำมูกมีสีเหลือง

 

5. น้ำมูกสีแดง

สาเหตุ: มาจากการระคายเคือง หรือเกิดการบาดเจ็บขึ้นที่จมูก จนทำให้เส้นเลือดในโพรงจมูกแตก

 

6. น้ำมูกสีเทา

สาเหตุ: เนื่องจากเป็นริดสีดวงจมูก ที่เกิดจากเยื่อบุจมูก หรือไซนัสมีอาการบวมมากจนเกิดเป็นก้อนอยู่ด้านในโพรงจมูก

 

ลูกเป็นหวัดน้ำมูกไหลไม่หายสักที อันตรายไหม

หลังจากลูกเป็นหวัดมีน้ำมูกไหลได้ 3-4 วัน อาการหวัดมักจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนหายเป็นปกติ แต่หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีอาการหวัดเป็นนานมากกว่า 10 วันขึ้นไป แนะนำให้พาไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดและได้รับการรักษาในทันที เนื่องจากการเป็นไข้หวัดเรื้อรังนานอาจมีภาวะแทรกซ้อนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ได้แก่

  • โรคหูน้ำหนวก
  • โรคไซนัสอักเสบ
  • โรคปอดอักเสบ
  • โรคภูมิแพ้จมูก

 

ลูกมีน้ำมูกแต่ไม่มีไข้ แบบไหนคือโรคภูมิแพ้

 

ลูกมีน้ำมูกแต่ไม่มีไข้ แบบไหนคือโรคภูมิแพ้

หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกมีน้ำมูกแต่ไม่มีอาการของการเป็นไข้ อาจเป็นไปได้ว่าลูกมีภาวะของโรคภูมิแพ้จมูก สำหรับอาการของโรคภูมิแพ้จมูก (Allergic rhinitis) เด็กที่ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้จมูกมักมีอาการเกิดของโรคที่เดี๋ยวหายไป เดี๋ยวเป็นขึ้นมาใหม่สลับกันไปมา โดยจะมีอาการแตกต่างจากโรคหวัด ดังนี้

โรคภูมิแพ้จมูก

  • มีน้ำมูกใส
  • มีคันจมูก คัดจมูก และจาม
  • ไม่มีไข้

 

โรคหวัด

  • มีน้ำมูกใส
  • อาจมีไข้ต่ำ ๆ และปวดศีรษะเล็กน้อยขึ้นได้
  • ไอมีเสมหะ และเจ็บคอ
  • จาม และเสียงแหบ

 

ปัจจัยที่ส่งผลทำให้ลูกเป็นโรคภูมิแพ้จมูก

  • กรรมพันธุ์จากพ่อแม่
  • สารก่อภูมิแพ้ที่บ้าน เช่น รังแคหรือขนสัตว์เลี้ยง ฝุ่น ควันบุหรี่ เป็นต้น
  • สารก่อภูมิแพ้นอกบ้าน เช่น เกสรดอกไม้ ฝุ่น ควันต่าง ๆ เป็นต้น
  • ตั้งแต่แรกเกิดไม่ได้กินนมแม่ โดยทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว ทารกจะไม่ได้รับโปรตีนจากนมวัว ซึ่งเป็นโปรตีนที่สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของทารก และทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ดังนั้นทารกที่กินนมแม่ จึงมีอัตราการเกิดโรคภูมิแพ้น้อยกว่า

 

ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากโรคภูมิแพ้จมูก

  • ไซนัสอักเสบ
  • หูชั้นกลางอักเสบ
  • นอนกรน

 

วิธีล้างจมูกอย่างถูกวิธี

  1. คุณแม่ล้างมือให้สะอาด
  2. เทน้ำเกลือลงในถ้วยใส่น้ำเกลือที่สะอาด
  3. ใช้กระบอกฉีดขนาด 5-10 ซีซี ดูดน้ำเกลือประมาณ 5-10 มิลลิลิตร
  4. จัดให้ลูกอยู่ในท่าโน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย
  5. ให้ลูกกลั้นหายใจ ก้มหน้า และอ้าปาก
  6. จากนั้นคุณแม่ค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือเข้าในรูจมูกลูกทีละข้าง โดยให้น้ำเกลือไหลผ่านเข้าโพรงจมูกของข้างที่สอดกระบอกฉีด จะต้องให้น้ำเกลือไหลผ่านออกมาทางรูจมูกของอีกข้าง
  7. เปลี่ยนสลับมาฉีดน้ำเกลือเข้าจมูกอีกข้าง วิธีการทำเหมือนกับล้างจมูกข้างก่อนหน้า

 

วิธีป้องกันลูกน้อย เวลาที่ลูกมีน้ำมูกไหลเป็นน้ำใส ๆ ไม่หยุด

  1. เพื่อช่วยให้ลูกหายใจได้สะดวก ช่วยลดอาการคัดแน่นจมูกขณะนอน ในเด็กเล็ก แนะนำคุณแม่จัดให้ลูกนอนในท่าตะแคง ส่วนในเด็กโตให้นอนหนุนหมอนสูงขึ้นเล็กน้อย
  2. จัดห้องนอนให้อากาศถ่ายเท หากหน้าต่างติดมุ้งลวดกันยุง อาจเปิดหน้าต่างบานกระจกออกเพื่อให้อากาศภายในห้องนอนถ่ายเทได้ดีขึ้น และปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อให้อุณหภูมิอุ่นขึ้น
  3. งดพาออกไปเล่นนอกบ้านชั่วคราว เพื่อให้ลูกดีขึ้นจากการมีน้ำมูกและการไอ ควรงดพาลูกออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เช่น การออกกำลังกาย
  4. ดูแลบำรุงร่างกายลูกให้แข็งแรงขึ้น ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ แนะนำให้รับประทานอาหารรสชาติอ่อน ๆ มากกว่าอาหารรสจัด
  5. ให้ลูกดื่มน้ำอุ่นบ่อย ๆ หรือน้ำอุณหภูมิห้องธรรมดา การดื่มน้ำอุ่นจะช่วยให้อาการไข้และอาการไอบรรเทาลง
  6. ล้างจมูกอย่างถูกวิธี การล้างจมูกจะช่วยให้หายใจได้โล่งขึ้น คุณพ่อคุณแม่สามารถล้างจมูกลูกด้วยน้ำเกลือ ตามคำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์

 

ลูกมีน้ำมูกแบบไหน ต้องรีบพบแพทย์

หากลูกมีน้ำมูกนาน 1-2 สัปดาห์ และมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย แนะนำให้พาไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเป็นอาการของไข้หวัดใหญ่ไม่ควรปล่อยอาการไว้นานเพราะเสี่ยงต่อการเกิดปอดอักเสบได้

  1. มีไข้สูง เป็นไข้นานร่วมสัปดาห์
  2. คัดจมูก มีน้ำมูกใส
  3. ปวดศีรษะ
  4. ไอหนัก
  5. ท้องเสีย
  6. เบื่ออาหาร
  7. ปวดกล้ามเนื้อ

 

เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้จากหวัด เช่น โรคไซนัสอักเสบ โรคภูมิแพ้จมูก ฯลฯ คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตหากลูกมีน้ำมูกใส ๆ ไหลมากกว่า 3-4 วันขึ้นไปแล้วยังไม่หาย ควรพาลูกไปพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างทันท่วงที และเพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายของลูกน้อยให้แข็งแรงตั้งแต่แรกเกิด ช่วยลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยต่าง ๆ แนะนำคุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การที่ลูกกินนมแม่จะช่วยเสริมพัฒนาการสมองการเรียนรู้ และช่วยปกป้องร่างกายของลูกจากการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ นมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด มีสารอาหารสำคัญอย่างสฟิงโกไมอีลินและดีเอชเอ ที่เป็นสารอาหารเพื่อพัฒนาสมองให้มีการเรียนรู้ได้เร็ว และมีจุลินทรีย์สุขภาพหลายสายพันธุ์ เช่น B. lactis ที่ช่วยกระตุ้นสร้างภูมิคุ้มกันในลำไส้ให้แข็งแรง

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

 

 

อ้างอิง:

  1. ทายสุขภาพจากสีน้ำมูก, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. น้ำมูกบอกความผิดปกติของร่างกายได้นะ, โรงพยาบาลเปาโล
  3. ภาวะน้ำมูกไหลมาก เกิดจากอะไร รักษาได้หรือไม่, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. ไข้หวัดในเด็กอย่าปล่อยให้เรื้อรัง, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณย์
  5. ไข้หวัดใหญ่ Vs ไข้หวัดธรรมดา ต่างกันอย่างไร?, โรงพยาบาลพิษณุโลก
  6. โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้, โรงพยาบาลศิครินทร์
  7. โรคระบบทางเดินหายใจในเด็กที่ควรต้องรู้, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  8. COVID-19 VS ไข้หวัดใหญ่ อาการต่างกันอย่างไร?, โรงพยาบาลขอนแก่น ราม
  9. โรคภูมิแพ้จมูกในเด็ก (Allergic rhinitis), โรงพยาบาลเวชธานี
  10. ลูกเป็นหวัดบ่อยดูแลอย่างไรให้ถูกวิธี, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  11. ล้างจมูกเด็กด้วยน้ำเกลืออย่างถูกวิธี บรรเทาหวัด ขจัดเชื้อโรค, โรงพยาบาลพญาไท
  12. ไข้หวัดใหญ่ โรคควรระวังของเด็กในช่วงฤดูฝน, โรงพยาบาลสมิติเวช
  13. การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ภายในชั่วโมงแรกหลังคลอด: อะไรเวิร์ก อะไรไม่เวิร์ก?, UNICEF
  14. ภูมิแพ้ VS ไข้หวัด VS ไข้หวัดใหญ่ VS โควิด-19 แยกให้เป็นไม่ตื่นตระหนก, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  15. สร้างภูมิคุ้มกันลูกน้อยด้วย ‘นมแม่’, สถาบันราชานุกูล กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข

อ้างอิง ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2567
 

บทความแนะนำ

กระหม่อมทารกปิดเมื่อไหร่ ทารกแรกเกิดกระหม่อมหลังปิดกี่เดือน

กระหม่อมทารกปิดเมื่อไหร่ ทารกแรกเกิดกระหม่อมหลังปิดกี่เดือน

กระหม่อมทารก คืออะไร เด็กทารกแรกเกิดกระหม่อมหลังปิดกี่เดือน กระหม่อมทารกบุ๋ม อันตรายไหม คุณแม่ควรดูแลลูกน้อยอย่างไรให้ปลอดภัย พร้อมวิธีสังเกตกระหม่อมทารก

เด็กทารกผิวลอกปกติไหม พร้อมวิธีดูแลเด็กทารกผิวลอก

เด็กทารกผิวลอกปกติไหม พร้อมวิธีดูแลเด็กทารกผิวลอก

เด็กทารกผิวลอกปกติไหม ทารกผิวลอก เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง เด็กทารกผิวลอกสามารถหายเองได้ไหม ผิวทารกลอกแบบไหนอันตราย พร้อมวิธีดูแลผิวเด็กทารกให้ปลอดภัย

เด็กนอนกัดฟัน เกิดจากอะไร ลูกนอนกัดฟัน อันตรายกับสุขภาพฟันไหม

เด็กนอนกัดฟัน เกิดจากอะไร ลูกนอนกัดฟัน อันตรายกับสุขภาพฟันไหม

เด็กนอนกัดฟัน เกิดจากอะไร ลูกนอนกัดฟันทุกคืน อันตรายต่อสุขภาพฟันของลูกน้อยไหม ลูกนอนกัดฟันบ่อย คุณแม่ดูแลลูกน้อยยังไงดี พร้อมวิธีป้องกันที่คุณแม่ควรรู้

ทารกแรกเกิดควรใส่เสื้อผ้าแบบไหน เลือกเสื้อผ้าเด็กทารกยังไงดี

ทารกแรกเกิดควรใส่เสื้อผ้าแบบไหน เลือกเสื้อผ้าเด็กทารกยังไงดี

ทารกแรกเกิดควรใส่เสื้อผ้าแบบไหน การเลือกเสื้อผ้าให้ทารกแรกเกิดสำคัญอย่างไร เลือกเสื้อผ้าแบบไหนให้ลูกรู้สึกสบายตัวและปลอดภัยกับผิวของเด็กทารก ไปดูกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก