แจ้งเกิดภายในกี่วัน เอกสารแจ้งเกิดมีอะไรบ้าง รวมทุกคำตอบที่ควรรู้
เมื่อถึงเวลาใกล้คลอด คุณพ่อคุณแม่ป้ายแดงเริ่มรู้สึกตื่นเต้นรอเวลาที่จะเจอหน้าลูกน้อยกันแล้ว นอกจากคุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มเตรียมเก็บกระเป๋า สิ่งของเครื่องใช้ รวมถึงเอกสารจำเป็นต่าง ๆ ที่พร้อมต้องใช้ ไม่ว่าจะเป็นของคุณพ่อคุณแม่ หรือเอกสารที่ต้องใช้สำหรับการแจ้งเกิดหรือสูติบัตรของเจ้าตัวน้อย ต้องใช้อะไรบ้าง ควรแจ้งเกิดภายในกี่วัน เรื่องสำคัญที่พ่อแม่ควรรู้
PLAYING: แจ้งเกิดภายในกี่วัน เอกสารแจ้งเกิดมีอะไรบ้าง รวมทุกคำตอบที่ควรรู้
สรุป
- คุณพ่อคุณแม่ควรเตรียมหลักฐานเอกสารแจ้งเกิดให้พร้อม และควรแจ้งเกิดลูกตามที่กฎหมายกำหนดภายใน 15 วันนับแต่วันที่ลูกเกิด
- สามารถไปติดต่อยื่นหลักฐานการแจ้งเกิดได้ที่สำนักงานเขต หรือสำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นในพื้นที่นั่น ๆ ที่เด็กเกิด
- กรณีแจ้งเกิดช้ากว่ากำหนด จะมีการเปรียบเทียบค่าปรับไม่เกิน 1,000 พันบาท
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- แจ้งเกิดภายในกี่วัน แจ้งเกิดช้าจะโดนปรับไหม ต้องทำอย่างไร?
- กรณีที่คุณพ่อคุณแม่มาแจ้งเกิดลูกเกินกำหนด
- การแจ้งเกิดต้องไปทำที่ไหน
- เช็กลิสต์เอกสารแจ้งเกิด ควรเตรียมไว้ตั้งแต่ก่อนคลอด
- เอกสารแจ้งเกิดสำหรับลูกน้อย
- ของใช้จำเป็นสำหรับคุณแม่
- ของใช้จำเป็นสำหรับคุณพ่อหรือคนเฝ้าไข้
- ขั้นตอนการแจ้งเกิด ฉบับเข้าใจง่าย
- เอกสารแจ้งเกิดที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้
- ขั้นตอนการติดต่อ
- การแจ้งเกิดทำทางออนไลน์ได้ไหม ต้องแจ้งเกิดภายในกี่วัน?
- ใครเป็นผู้ไปทำเรื่องแจ้งเกิดได้บ้าง
นอกจากการเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการคลอดแล้ว เรื่องที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่อาจจะยังไม่รู้นอกจากการเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นใส่กระเป๋าไปโรงพยาบาลแล้ว ควรที่จะเตรียมเอกสารต่าง ๆ และศึกษาข้อมูลเพื่อใช้สำหรับการแจ้งเกิดเจ้าตัวน้อยกันด้วย
แจ้งเกิดภายในกี่วัน แจ้งเกิดช้าจะโดนปรับไหม ต้องทำอย่างไร?
การแจ้งเกิดในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดนั้นคือภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ลูกเกิด ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทตามสถานที่แรกเกิด ได้แก่ โรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน เกิดภายในบ้าน และเกิดภายนอกบ้าน ซึ่งแต่ละสถานที่ที่ทารกเกิดนั้นจะมีระยะเวลาที่ใช้แจ้งเกิด และขั้นตอนการแจ้งเกิด แตกต่างกัน ดังนี้
ทารกที่เกิดในสถานพยาบาลในประเทศไทยทั้งของรัฐและเอกชน
เช่น โรงพยาบาล สถานบริการสาธารณสุข เป็นต้น สถานพยาบาลนั้น ๆ จะออกหนังสือรับรองการเกิด หรือ ท.ร.1/1 ให้ และให้พ่อแม่หรือเจ้าบ้านไปแจ้งเกิดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น โดยไม่ต้องผ่านกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน เพื่อออกสูติบัตรสำหรับผู้ไปแจ้งเกิด
โดยมีระยะเวลาแจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันเกิด
ในกรณีที่แจ้งเกิดช้าเกินกำหนด นายทะเบียนจะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากพยานเอกสารต่าง ๆ และพยานบุคคล ได้แก่ พ่อ แม่ ผู้ทำคลอด หรือผู้รู้เห็นการเกิด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงหลักฐานอื่น ๆ (ถ้ามี) หากนายทะเบียนพิจารณาแล้วว่าเด็กเกิดในประเทศไทยจริง ก็จะออกสูติบัตรให้แก่ผู้แจ้งเกิด ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 90 วัน
ทารกที่เกิดภายในอาคารหรือบ้านที่มีบ้านเลขที่ พ่อหรือแม่ หรือเจ้าบ้าน
สามารถไปแจ้งเกิดต่อกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน หรือนายทะเบียนประจำหมู่บ้านที่เด็กเกิด เพื่อออกหลักฐานรับแจ้งการเกิด หรือ ท.ร.1/1 ตอนหน้าให้ จากนั้นจึงนำเอกสารพร้อมพยานที่รู้เห็นการเกิดของเด็ก ไปแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นเพื่อดำเนินการออกสูติบัตรให้
โดยมีระยะเวลาแจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันเกิด
ในกรณีที่แจ้งเกิดช้าเกินกำหนด นายทะเบียนจะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากพยานเอกสารต่าง ๆ และพยานบุคคล ได้แก่ พ่อ แม่ ผู้ทำคลอด หรือผู้รู้เห็นการเกิด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงหลักฐานอื่น ๆ (ถ้ามี) หากนายทะเบียนพิจารณาแล้วว่าเด็กเกิดในประเทศไทยจริง ก็จะออกสูติบัตรให้แก่ผู้แจ้งเกิด ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 90 วัน
ทารกที่เกิดภายนอกบ้าน ไม่มีอาคารหรือเลขที่บ้าน
เช่น บนรถแท็กซี่ ป้ายรถเมล์ ศาลา เป็นต้น พ่อหรือแม่สามารถไปแจ้งเกิดต่อกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน หรือนายทะเบียนประจำหมู่บ้านที่เด็กเกิดได้ จากนั้นออกหลักฐานรับแจ้งการเกิด หรือ ท.ร.1/1 ตอนหน้าให้แล้วจึงนำเอกสารพร้อมพยานที่รู้เห็นการเกิดของเด็ก ไปแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นเพื่อดำเนินการออกสูติบัตรให้
โดยมีระยะเวลาแจ้งเกิดภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันเกิด ยกเว้นกรณีมีเหตุจำเป็นสามารถแจ้งภายหลังได้แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันเกิด
ในกรณีที่แจ้งเกิดช้าเกินกำหนด นายทะเบียนจะทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากพยานเอกสารต่าง ๆ และพยานบุคคล ได้แก่ พ่อ แม่ ผู้ทำคลอด หรือผู้รู้เห็นการเกิด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวมถึงหลักฐานอื่น ๆ (ถ้ามี) หากนายทะเบียนพิจารณาแล้วว่าเด็กเกิดในประเทศไทยจริง ก็จะออกสูติบัตรให้แก่ผู้แจ้งเกิด ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 90 วัน
หมายเหตุ:
- การพิจารณาการได้สัญชาติของเด็ก กรณีที่แม่เป็นคนต่างด้าวและพ่อเป็นคนไทย ต้องดำเนินการสอบสวนพยานบุคคลเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่าพ่อเป็นบุคคลสัญชาติไทย โดยใช้เวลา 1 วัน
- กรณีการแจ้งมีความน่าสงสัยว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีข้อผิดจากความเป็นจริง นายทะเบียนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยสอบสวนจากพยานบุคคล พยานแวดล้อม และพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน
- กรณีที่มีความซับซ้อนหรือข้อสงสัยในแนวทางปฏิบัติ ข้อกฎหมาย หรือการตรวจสอบเอกสารสำคัญต้องดำเนินการหารือ โดยส่งผ่านสำนักทะเบียนจังหวัด เพื่อส่งมายังสำนักทะเบียนกลาง (ภายใน 30 วันนับจากวันที่รับเรื่อง) และใช้เวลาดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน
- ในกรณีที่ไม่มีหนังสือรับรองการเกิดมายื่น คุณพ่อคุณแม่หรือผู้แจ้งเกิดอาจใช้ผลตรวจทางวิทยาศาสตร์ เช่น การตรวจสารพันธุกรรมหรือ DNA มีการตรวจพิสูจน์จากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือเพื่อพิสูจน์ความเป็นพ่อแม่ลูก
กรณีที่คุณพ่อคุณแม่มาแจ้งเกิดลูกเกินกำหนด
ช้ากว่า 15 วันตามกฎหมายดังกล่าว จะต้องระวางโทษค่าปรับไม่เกิน 1,000 พันบาท และต้องนำเอกสารมายื่นดังนี้
- สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
- บัตรประจำตัวประชาชนของคุณพ่อคุณแม่ หรือบัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้ง (ถ้ามี)
- พยานบุคคลที่ให้การรับรอง และบัตรประจำตัวประชาชน
- รูปถ่ายของบุคคลที่มาขอแจ้งการเกิด 1 รูป (กรณีที่มีอายุเกิน 7 ปีบริบูรณ์)
- หนังสือรับรองการเกิดจากโรงพยาบาล (ถ้ามี)
โดยจะต้องนำเอกสารและหลักฐานมาติดต่อกับนายทะเบียนท้องที่ที่เด็กเกิด หลังจากตรวจสอบหลักฐานและเปรียบเทียบค่าปรับแล้ว นายทะเบียนจะสอบถามคุณพ่อคุณแม่หรือผู้แจ้งถึงสาเหตุที่ไม่แจ้งเกิดลูกตามกำหนด หากคุณพ่อคุณแม่ไม่อาจมาให้ถ้อยคำในการสอบสวน ไม่ว่ากรณีใด นายทะเบียนจะทำการบันทึกสาเหตุดังกล่าวไว้ จากนั้นจะพิจารณาอนุมัติออกสูติบัตร และเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามลำดับ
การแจ้งเกิดต้องไปทำที่ไหน
หากลูกเกิดในสถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลส่วนใหญ่ จะทำการออกหนังสือรับรองการเกิดให้ จากนั้นคุณพ่อคุณแม่สามารถนำหลักฐานเอกสารต่าง ๆ ไปยื่นในพื้นที่สำนักงานเขตที่เด็กเกิด ในต่างจังหวัดสามารถยื่นได้ที่สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นในพื้นที่ที่เด็กเกิดเช่นกัน เพื่อดำเนินการออกสูติบัตรให้ต่อไป
เช็กลิสต์เอกสารแจ้งเกิด ควรเตรียมไว้ตั้งแต่ก่อนคลอด
ก่อนถึงวันกำหนดคลอดนอกจากคุณพ่อคุณแม่กำลังเตรียมตัวที่จะได้เห็นลูกน้อยในอีกไม่กี่วันแล้ว อย่าลืมที่จะจัดกระเป๋าเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ในช่วงเวลาพักฟื้นตัวหลังคลอดที่โรงพยาบาลประมาณ 3-4 วัน และเอกสารต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการแจ้งเกิดเจ้าตัวน้อยด้วย ต้องเตรียมอะไรไปบ้างมาเช็กกัน
เอกสารแจ้งเกิดสำหรับลูกน้อย
- สำเนาบัตรประชาชน คุณพ่อและคุณแม่ จำนวน 1 ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้าน คุณพ่อและคุณแม่ จำนวน 1 ชุด
- ในกรณีทะเบียนบ้านเล่มจริงหากคุณพ่อหรือคุณแม่ไม่ได้เป็นเจ้าบ้าน จะต้องแนบเอกสารเพิ่มเติม ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าบ้าน จำนวน 1 ชุด เซ็นชื่อพร้อมระบุว่า “ข้าพเจ้ายินยอมให้ ด.ช./ด.ญ ย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านเลขที่ ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็น”
- สำเนาใบทะเบียนสมรส (ถ้ามี) จำนวน 1 ชุด
- สำเนาใบเปลี่ยนชื่อของคุณพ่อหรือคุณแม่ (ถ้ามี) จำนวน 1 ชุด
- สำเนาพาสปอร์ต ในกรณีที่คุณพ่อหรือคุณแม่เป็นชาวต่างชาติ
ของใช้จำเป็นสำหรับคุณแม่
- เอกสารสำคัญสำหรับใช้เป็นหลักฐานเพื่อให้โรงพยาบาลดำเนินการแจ้งเกิดลูก รวมถึงสมุดฝากครรภ์ ใบนัดแพทย์ หรือเอกสารอื่น ๆ ที่คุณหมอแจ้งให้เตรียมมาในวันคลอด
- ของใช้ส่วนตัวต่าง ๆ เช่น ชุดเสื้อผ้า เสื้อชั้นในสำหรับใส่วันกลับบ้าน อุปกรณ์ทำความสะอาดผิวพรรณบำรุงผิว
- ผ้าคลุมสำหรับให้นมลูก ผ้าห่มสำหรับใช้ห่อตัวทารกให้อุ่นขณะออกจากโรงพยาบาล หรือหมวก ถุงมือ และถุงเท้า เป็นต้น
ของใช้จำเป็นสำหรับคุณพ่อหรือคนเฝ้าไข้
- เอกสารสำคัญ เช่น สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน เพื่อใช้ในการแจ้งเกิดลูก
- ของใช้ส่วนตัวต่าง ๆ เสื้อผ้า สำหรับการนอนค้างเฝ้าคุณแม่ที่โรงพยาบาล ประมาณ 2-3 ชุด
ขั้นตอนการแจ้งเกิด ฉบับเข้าใจง่าย
เมื่อคุณพ่อคุณแม่เตรียมเอกสารเพื่อเตรียมแจ้งเกิดสำหรับลูกน้อยแล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้อีกหนึ่งเรื่องคือ การตั้งชื่อลูกน้อยสำหรับการแจ้งชื่อคนเกิดให้ถูกต้องตามหลักการตั้งชื่อ พร้อมกับขั้นตอนการแจ้งเกิด ดังนี้
1. กรณีแจ้งเกิดในโรงพยาบาล
สถานพยาบาลหรือโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทำหน้าที่ออกหนังสือรับรองแจ้งเกิด (ท.ร.1/1)
2. การแจ้งการเกิด กรณีเกิดในบ้าน และเกิดนอกบ้าน
คุณพ่อคุณแม่หรือเจ้าบ้าน สามารถไปแจ้งเกิดต่อกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน เพื่อรับใบรับแจ้งการเกิด (ท.ร.1/1 ตอนหน้า)
เอกสารแจ้งเกิดที่คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้
- สำเนาบัตรประจำประชาชนของพ่อและแม่ 1 ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้านหรือสำเนาทะเบียนประวัติของพ่อและแม่ 1 ชุด
- สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านที่เป็นฉบับจริง 1 ฉบับ
- หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร. 1/1) ที่โรงพยาบาลหรือสถานพยาบาลที่เด็กเกิดเป็นผู้ออกให้ ฉบับจริง 1 ฉบับ
- ใบรับแจ้งการเกิด ( ท.ร. 1 ตอนหน้า) ที่แจ้งเกิดกับกำนันหรือผู้ใหญ่บ้าน ฉบับจริง 1 ฉบับ
- หนังสือมอบฉันทะ ในกรณีที่มอบให้บุคคลอื่นเป็นผู้แจ้งเกิดเด็กแทนคุณพ่อคุณแม่ ฉบับจริง 1 ฉบับ รวมทั้งสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและบัตรประชาชนตัวจริงและสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจด้วย
หมายเหตุ:
- กรณีพ่อหรือแม่เป็นชาวต่างชาติต้องแสดงพาสปอร์ตหรือเอกสารที่ทางราชการออกให้
ขั้นตอนการติดต่อ
เมื่อคุณพ่อคุณแม่ได้รับเอกสารรับรองการแจ้งเกิดของลูกแล้ว สามารถนำเอกสารและหลักฐานไปยื่นแจ้งเกิดภายใน 15 วัน (ยกเว้นกรณีเด็กที่เกิดนอกบ้าน ในกรณีที่ไม่อาจแจ้งตามกำหนดได้ สามารถแจ้งภายหลังได้ไม่เกิน 30 วัน นับแต่วันที่เกิด ได้ที่
- กรุงเทพฯ และปริมาณฑล: สำนักงานเขตพื้นที่ที่เด็กเกิด
- ต่างจังหวัด: สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น
จากนั้นนายทะเบียนจะทำการตรวจสอบหลักฐานกับทะเบียนบ้าน เพื่อลงรายการในสูติบัตรแล้วเพิ่มชื่อเด็กลงในทะเบียนบ้านและสำเนาทะเบียนบ้าน แล้วมอบสูติบัตรตอนที่ 1 และสำเนาทะเบียนบ้านคืนให้กับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้แจ้ง
การแจ้งเกิดทำทางออนไลน์ได้ไหม ต้องแจ้งเกิดภายในกี่วัน?
การแจ้งเกิดลูกยังไม่สามารถทำการแจ้งเกิดทางออนไลน์ได้ หลังทารกเกิดคุณพ่อคุณแม่สามารถนำเอกสารและหลักฐานไปยื่นแจ้งเกิดภายใน 15 วันได้ที่สำนักงานเขต สำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นพื้นที่ที่เด็กเกิด
ใครเป็นผู้ไปทำเรื่องแจ้งเกิดได้บ้าง
ผู้ที่สามารถแจ้งเกิดเด็ก ได้แก่ คุณพ่อ คุณแม่ หรือเจ้าบ้านที่เด็กเกิด หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากพ่อแม่ หรือเจ้าบ้าน ที่มีใบมอบฉันทะมาทำการแจ้งเกิดเด็ก โดยมีระยะเวลา 15 วัน นับจากวันที่เด็กเกิด
จะเห็นได้ว่าการเตรียมเอกสารที่จำเป็นต่าง ๆ ก่อนคลอดก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรจัดเตรียมไว้ก่อนไปโรงพยาบาลล่วงหน้าเพื่อจะไม่ได้ฉุกละหุก รวมถึงสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็นด้วย หากคุณแม่มีข้อสงสัยอื่น ๆ ว่าต้องใช้อะไรเพิ่มเติมอีกบ้างก็สามารถสอบถามไปยังโรงพยาบาลที่คุณแม่เข้ารับการคลอดได้
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- บล็อกหลังผ่าคลอด คืออะไร เรื่องที่คุณแม่ต้องรู้ เกี่ยวกับการบล็อกหลัง
- ผ่าคลอด กี่สัปดาห์ ท้องกี่สัปดาห์คลอด ถึงปลอดภัยสำหรับลูกน้อย
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- คุณแม่ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง ผ่าคลอดมีลูกได้กี่คน ผ่าคลอดบ่อยอันตรายไหม
- ออกกําลังกายหลังคลอด สำหรับคุณแม่หลังผ่าคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- คู่มือจดทะเบียนการเกิดและกระบวนการพัฒนาสิทธิในสัญชาติไทย, unicef
- การรับแจ้งการเกิด กรณีเกิดในบ้าน และเกิดนอกบ้าน, กรมการปกครอง
- การเกิด, สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง
- เช็คลิสต์ สำหรับคุณแม่ใกล้คลอดต้องจัดเตรียมอะไรบ้าง, โรงพยาบาลนครธน
- การแจ้งเกิด, โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
- เช็คลิสต์ของเตรียมคลอด สิ่งที่ต้องเตรียมไปโรงพยาบาลเมื่อคลอดลูก, pobpad
อ้างอิง ณ วันที่ 17 มกราคม 2567