สายสะดือทารก สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน พร้อมวิธีทำความสะอาด

สายสะดือทารก สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน พร้อมวิธีทำความสะอาด

01.04.2024

ในทารกแรกเกิดนั้น คุณแม่จะสังเกตเห็นว่าลูกน้อยมีสายสะดือติดตัวมาด้วย ซึ่งมาจากการที่คุณหมอได้ตัดและผูกสายสะดือหลังทารกคลอดออกมา และเนื่องจากผิวหนังรอบ ๆ สะดือของทารกนั้นค่อนข้างเปราะบาง การดูแลสายสะดือทารกแรกเกิดจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่คุณแม่มือใหม่ควรดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ทารกเกิดอาการสะดืออักเสบหรือติดเชื้อและเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมาได้

headphones

PLAYING: สายสะดือทารก สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน พร้อมวิธีทำความสะอาด

อ่าน 7 นาที

 

สรุป

  • ขั้วสะดือของทารกจะหลุดออกไปเองประมาณวันที่ 7-10 วันภายหลังคลอด แต่บางรายอาจจะหลุดก่อนหรือหลังกว่านี้ก็ได้ ไม่ส่งผลอันตรายใด ๆ
  • ความสำคัญของสะดือเป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างสะดือลูกน้อยกับรกของคุณแม่ภายในครรภ์
  • หลังสายสะดือหลุดโดยทั่วไปสะดือของทารกแรกเกิดจะแห้งสนิทและไม่มีกลิ่นเหม็น สะดือสกปรกหรือทำความสะอาดไม่ดี ก็อาจทำให้สะดือลูกน้อยเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้ง่าย
  • ควรเช็ดทำความสะอาดสะดือทารกด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ทุกครั้งหลังอาบน้ำให้ทารกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ทารกในวัยแรกเกิดถึง 1 เดือน นับเป็นช่วงระยะที่มีความสำคัญ การดูแลทารกแรกเกิด ในช่วงนี้คุณแม่จำเป็นต้องใส่ใจและใกล้ชิดเป็นพิเศษ เนื่องจากทารกกำลังปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมภายนอกครรภ์แม่ ทารกหลังคลอดจะมีสายสะดือที่คุณหมอทำการตัดและผูกสายสะดือเอาไว้ สายสะดือมีความสำคัญต่อร่างกายลูกน้อยอย่างไร สายสะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน รวมทั้งวิธีการดูแลความสะอาดสะดือทารกต้องทำอย่างไร เรื่องที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้

 

สะดือทารกหลังคลอด เป็นแบบไหน

สายสะดือทารกแรกเกิดในช่วงแรกจะมีสีขาวขุ่นและมีเส้นเลือดดำแห้งอยู่ในสายสะดือ เมื่อสายสะดือใกล้หลุดจะมีลักษณะเหี่ยวแห้งและจะหลุดไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์ ในระหว่างที่สายสะดือยังไม่หลุด คุณแม่สามารถสังเกตสายสะดือและบริเวณโคนสะดือของลูกน้อยได้ด้วยการจับสายสะดือขึ้นตั้งตรงหมุนซ้ายหรือขวา หมุนด้านหน้าหรือหลังอย่างเบา ๆ และทำความสะอาดดูแลรักษาบริเวณสะดือของทารกให้แห้ง เพราะหากสะดือสกปรกหรือทำความสะอาดไม่ดี ก็อาจทำให้สะดือลูกน้อยเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้ง่าย โดยสังเกตได้จากอาการบวมแดงรอบสะดือ สะดือมีกลิ่นเหม็น หรือมีหนอง ถ้าพบอาการดังกล่าวคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปหาคุณหมอเพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอาการทันที

 

ความสำคัญของสายสะดือทารก

สะดือของทารกเป็นส่วนที่เชื่อมต่อระหว่างสะดือลูกน้อยกับรกของคุณแม่ภายในครรภ์ ทำหน้าที่เชื่อมโยงการไหลเวียนของเลือด และส่งผ่านเลือดของแม่ไปสู่ลูก รวมทั้งเป็นเส้นทางลำเลียงออกซิเจนและสารอาหารต่าง ๆ ที่คุณแม่รับประทานเข้าสู่ร่างกายลูกน้อย ในสายสะดือทารกจะประกอบไปด้วยเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดง ซึ่งสามารถเป็นเส้นทางของเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ รวมถึงบริเวณผิวหนังรอบสะดือของทารกค่อนข้างเปราะบาง ในร่างกายของทารกแรกเกิดหากยังมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคไม่ดีพอ สะดือทารกไม่สะอาด ก็อาจส่งผลทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยหรือติดเชื้อได้ง่าย

 

ขั้วสะดือจะหลุดออกไปเอง ภายในกี่วัน?

ตามปกติแล้วหลังคุณแม่พาทารกกลับบ้าน ขั้วสะดือของทารกจะหลุดออกไปเองประมาณวันที่ 7-10 วันภายหลังคลอด แต่บางรายอาจจะหลุดก่อนหรือหลังกว่านี้ก็ได้ ไม่ส่งผลอันตรายใด ๆ หากคุณแม่สังเกตเห็นว่าสายสะดือของลูกหลุดแล้ว สามารถเช็ดทำความสะอาดสะดือทารกในช่วงนี้ด้วยการใช้แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ไปอย่างน้อยประมาณ 1 สัปดาห์ จนสะดือแห้งสนิท

 

โดยทั่วไปสะดือของทารกแรกเกิดจะแห้งสนิทและไม่มีกลิ่นเหม็น กรณีที่พบว่าขั้วสะดือยังไม่แห้งหรือมีติ่งเนื้อที่ขั้วสะดือ ไม่ควรโรยแป้งทาตัวหรือยาผงชนิดอื่น ๆ ที่สะดือทารก ควรนำลูกน้อยไปพบคุณหมอเพื่อปรึกษาและได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม

 

คอยสังเกตให้ดี สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน

เวลาทำความสะอาดร่างกายของลูกน้อย คุณแม่หมั่นคอยสังเกตสายสะดือทารกให้ดีว่าจะหลุดไปตอนไหน ซึ่งลักษณะสายสะดือทารกเมื่อใกล้หลุดจากขาวขุ่นในช่วงแรก ๆ จะค่อย ๆ แห้ง และเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและสีดำในที่สุด หรือในทารกบางรายอาจจะมีเลือดออกเมื่อสายสะดือใกล้หลุด แต่ถ้าสะดือมีเลือดออกมาก มีอาการบวมแดงรอบสะดือ มีหนอง หรือสะดือส่งกลิ่นเหม็น อาจสงสัยได้ว่าสะดือทารกมีอาการติดเชื้อ ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที

 

สะดือทารกมีเลือดออก เป็นเพราะอะไร อันตรายไหม

ในร่างกายของทารกแรกเกิดที่เพิ่งจะออกจากครรภ์แม่ไม่นาน เมื่อมาเจอกับสภาวะภายนอกที่เปลี่ยนไปจากครรภ์แม่และภูมิต้านทานของทารกยังไม่เต็มที่ จึงมีโอกาสที่ทารกจะเจ็บป่วยและเกิดโรคได้ง่าย ระยะนี้คุณแม่จึงควรดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด รวมถึงสายสะดือทารกและบริเวณผิวหนังรอบสะดือทารกที่ค่อนข้างเปราะบาง หากดูแลหรือทำความสะอาดสะดือลูกน้อยไม่ดีพอ ก็มีโอกาสติดเชื้อหรือเกิดความผิดปกติบริเวณสะดือทารกได้ เช่น อาการสะดืออักเสบ ที่มักพบได้บ่อยในทารกแรกเกิด ส่งผลให้บริเวณรอบ ๆ สะดือมีอาการบวมแดง สะดือแฉะ หรือสะดืออักเสบเรื้อรัง

 

โดยมีลักษณะเป็นเนื้อแดง ๆ หรือเป็นก้อนกลางสะดือ สะดือจะแฉะอยู่ตลอดเวลา และอาจมีเลือดปนออกมาเล็กน้อย ทั้งนี้หากทารกมีอาการบวมแดงรอบสะดือ เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นอาการผิดปกติของสะดือลูกน้อย ควรรีบพาไปหาคุณหมอเพื่อวินิจฉัยและรักษาอาการได้ทันที

 

สะดือทารกมีเลือดออก เป็นเพราะอะไร อันตรายไหม

 

วิธีดูแลทำความสะอาดสะดือให้ลูกน้อย

คุณแม่สามารถอาบน้ำให้ลูกน้อยได้ทุกวัน แม้สายสะดือทารกยังไม่หลุด ยกเว้นในกรณีสะดือแฉะหรือมีกลิ่นเหม็น ควรระมัดระวังไม่ให้สะดือทารกโดนน้ำ หลังจากคุณแม่อาบน้ำและเช็ดตัวทารกให้แห้ง สิ่งสำคัญที่ลืมไม่ได้ก็คือการทำความสะอาดสะดือทารก เพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมมของสิ่งสกปรกหรือเชื้อโรค ด้วยขั้นตอนดูแลและทำความสะอาดสะดือให้ลูกน้อย ดังนี้

  • คุณพ่อคุณแม่ควรล้างมือให้สะอาดก่อนทำความสะอาดสะดือให้ทารก
  • เช็ดทำความสะอาดบริเวณสายสะดือด้วยสำลีก้อนชุบแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยเช็ดตั้งแต่โคนสะดือบริเวณที่สะดือติดกับผิวหน้าท้องขึ้นมาถึงปลายสะดือให้ครบทุกด้านจนสะอาด
  • เช็ดทำความสะอาดบริเวณซอกโคนสะดือด้วยคัตตอนบัต (Cotton bud) ชุบแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ โดยจับสายสะดือเอียงด้านซ้ายและขวา และเช็ดทีละข้างไปในทิศทางเดียวกัน เช็ดจากด้านในไปด้านนอก และควรเปลี่ยนคัตตอนบัตอันใหม่เช็ดสะดือทารกจนกว่าจะสะอาด
  • เช็ดทำความสะอาดบริเวณรอบสะดือด้วยสำลีก้อนชุบแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ บีบให้หมาดและเช็ดหมุนวนรอบสะดือไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคบริเวณผิวหนังรอบสะดือ

 

การเช็ดทำความสะอาดสะดือทารกด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ควรเช็ดทุกครั้งหลังอาบน้ำให้ทารกอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าสายสะดือทารกจะหลุดและโคนสะดือแห้ง หรือกรณีที่สะดือทารกมีเลือดออก เปื้อนคราบเลือด หรือสะดือแฉะ ก็สามารถนำแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ชุบสำลีมาเช็ดเบา ๆ เพื่อทำความสะอาดสะดือได้ แต่หากสะดือมีลักษณะผิดปกติ เช่น บวมแดง คุณแม่ควรรีบพาลูกน้อยไปพบเเพทย์ อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่สังเกตว่าลูกน้อยร้องไห้ขณะกำลังเช็ดทำความสะอาดสะดือด้วยแอลกอฮอล์ อย่าเพิ่งตกใจ อาจเป็นผลมาจากความเย็นของน้ำยาแอลกอฮอล์ที่ส่งผลให้ผิวหนังทารกรู้สึกเย็นหรือตึงบริเวณรอบสะดือ คุณแม่ควรรีบทำความสะอาดสะดือให้เร็วขึ้นใช้เวลาให้สั้นที่สุด เพื่อช่วยให้ทารกหยุดร้องไห้


ทำไมจึงไม่ควรโรยแป้งที่บริเวณสะดือของลูก

หลังอาบน้ำและเช็ดทำความสะอาดสะดือทุกครั้ง คุณแม่สามารถใช้ผ้าอ้อมนุ่งให้ลูกน้อยต่ำกว่าระดับสะดือเพื่อให้ลูกรู้สึกสบายตัวและป้องกันการระคายเคืองบริเวณสะดือ ไม่ควรใช้แป้งหรือยาผงโรยสะดือทารก เนื่องจากอาจจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อโรค ที่จะส่งผลให้สะดือทารกติดเชื้อและอักเสบ การงดใช้แป้งทาตัวหรือโรยบริเวณสะดือในช่วงนี้จะทำให้ลูกน้อยมีความปลอดภัย

 

ทั้งนี้การใช้แป้งเด็กกับทารกในช่วงนี้ หากลูกน้อยสูดดมละอองแป้งเข้าไปบ่อยครั้ง เกิดการสะสมอยู่ภายในปอดก็อาจส่งผลต่ออาการผิดปกติต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น

  • ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ โดยเฉพาะทารกที่มีอาการของโรคทางเดินหายใจ เช่น ทารกที่คลอดก่อนกำหนด หรือเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลอันตรายร้ายแรงต่อปอดของลูกน้อย
  • ส่งผลให้เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ น้ำมูกไหล คัดจมูก ทำให้ลูกน้อยจามได้ตลอดเวลา
  • ทำให้มีปัญหาเรื่องระบบการหายใจ ไอเรื้อรัง หรืออาการหืดหอบ
  • ทารกมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปอดอักเสบและส่งผลทำให้เสียชีวิตได้

 

ทารกหลังคลอดเป็นระยะที่ลูกน้อยกำลังมีการปรับตัวจากสภาวะแวดล้อมภายนอกครรภ์แม่ ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำงานของระบบหายใจและหลอดเลือด เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทารกในช่วงนี้จึงต้องการการดูแลอย่างเป็นพิเศษ

 

สายสะดือทารกไม่หลุดสักที นานแค่ไหนควรไปพบแพทย์

โดยปกติแล้วสายสะดือทารกจะหลุดไปเองภายหลังคลอดประมาณ 2-4 สัปดาห์ หรืออาจหลุดก่อนหรือหลังจากนี้ก็ได้ สาเหตุส่วนหนึ่งที่สายสะดือลูกน้อยยังไม่หลุดเป็นเพราะคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ไม่กล้าที่จะเช็ดทำความสะอาดสะดือลูกน้อย กลัวลูกเจ็บ กังวลเมื่อลูกร้องไห้ จึงมีส่วนทำให้สะดือทารกไม่หลุดสักทีด้วย นอกจากนี้การทำความสะอาดสะดือทารกหลังอาบน้ำทุกครั้งจะมีส่วนช่วยป้องกันต่อการติดเชื้อและการอักเสบของสะดือด้วย

 

สังเกตสะดือทารก อาการแบบไหนบ่งบอกว่าติดเชื้อ

โดยปกติแล้วหลังจากที่สายสะดือทารกหลุด อาจมีน้ำหรือเลือดซึมออกมาเล็กน้อย ถือว่าเป็นภาวะที่ปกติหลังขั้วสะดือทารกหลุด แต่หากสังเกตว่า ลูกมีอาการดังต่อไปนี้

  1. มีไข้สูงร่วมด้วย
  2. ลูกร้องไห้งอแงเมื่อถูกแตะที่สะดือ ไม่สบายตัว
  3. มีอาการบวมแดง หรือมีรอยแดงที่ฐานสะดือ
  4. สะดือมีกลิ่นเหม็น
  5. มีเลือดไหลออกมาเยอะ
  6. มีน้ำหนอง

 

หากพบว่าสะดือของลูกน้อยมีอาการติดเชื้อและมีอาการดังกล่าวร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนิ่งนอนใจและพาลูกน้อยมาพบแพทย์โดยด่วนที่สุด และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสะดือทารกอักเสบหรือติดเชื้อ คุณพ่อคุณแม่ควรเช็ดทำความสะอาดสะดือด้วยสำลีก้อนหรือสำลีก้านชุบแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ และเช็ดสะดือให้แห้งทุกครั้งหลังอาบน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อมให้ลูกน้อยด้วยการนุ่งต่ำกว่าสะดือและสายสะดือ ป้องกันกรณีที่ผ้าอ้อมที่เปียกชื้นไม่ให้โดนสะดือทารก ใส่เสื้อผ้าที่สวมสบายให้ลูกน้อย เช่น ผ้าฝ้ายที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติเพื่อลดการเกิดการเสียดสีระคายเคืองบริเวณสะดือ และไม่ควรโรยแป้งหรือทาครีมเพิ่มความชุ่มชื่นใด ๆ ในสะดือทารก

 

การดูแลความสะอาดร่างกายและสะดือของลูกน้อย เป็นหนึ่งในเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจดูแลอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมที่จะรับมือหากพบอาการผิดปกติ นอกจากนี้การดูแลทารกแรกเกิดยังมีเรื่องที่ต้องเอาใจใส่อย่างมากมาย อาทิเช่น การดูแลสุขภาพร่างกาย โภชนาการอาหาร  การให้ลูกน้อยได้นอนพักผ่อนอย่างเพียงพอ การดูแลระบบขับถ่าย สถานที่และสิ่งแวดล้อมรอบตัวทารก รวมถึงการดูแลทางด้านจิตใจที่ให้ได้รับความอบอุ่นจากคุณพ่อคุณแม่ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เมื่อลูกน้อยได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ก็จะส่งผลดีต่อการเติบโต แข็งแรง อารมณ์ดี ฉลาดสมวัยของลูกน้อยได้ค่ะ

 


บทความแนะนำสำหรับคุณแม่

 

 

อ้างอิง:

  1. สะดือเด็กทารกทำความสะอาดอย่างไรให้ปลอดภัย?, โรงพยาบาลศิครินทร์
  2. คำแนะนำเรื่องการเช็ดสะดือ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  3. “ลักษณะทั่วไปของทารกแรกเกิด” สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้..เพื่อดูความผิดปกติ, โรงพยาบาลพญาไท
  4. ตัดสายสะดือช้าลงเพื่อสุขภาพที่ดีของทารก, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลราธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลทารก, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
  6. Umbilicus and abdominal wall abnormalities, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  7. ทารกรู้สึกเจ็บปวดเป็นด้วยเหรอ?, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
  8. ทาแป้งฝุ่นให้ลูกน้อยให้ระวัง “ภูมิแพ้ ปอดอักเสบ และมะเร็งรังไข่”, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  9. แป้งเด็ก ปลอดภัยต่อลูกน้อยหรือไม่?, พบแพทย์
  10. การดูแลทารกแรกเกิด, โรงพยาบาลยันฮี
  11. การดูแลสะดือเด็กและการขับถ่าย, โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
  12. สะดือเหม็น ทำอย่างไรและมีอะไรเป็นสาเหตุ, พบแพทย์

อ้างอิง ณ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567

บทความแนะนำ

พัฒนาการลูกน้อย อายุ 9-10 เดือน

พัฒนาการลูกน้อย อายุ 9-10 เดือน วิธีกระตุ้นพัฒนาการเด็ก

พัฒนาการลูกน้อยอายุ 9-10 เดือน มีอะไรที่คุณแม่ควรรู้บ้าง อาหารแบบไหน ที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กทารกอายุ 9-10 เดือน พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยตามช่วงวัย

พัฒนาการลูกน้อยอายุ 8-9 เดือน

พัฒนาการลูกน้อย 8-9 เดือน ลูกน้อยมีพัฒนาการอย่างไร

พัฒนาการลูกน้อยอายุ 8-9 เดือน มีอะไรที่คุณแม่ควรรู้บ้าง อาหารแบบไหน ที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กทารกอายุ8-9 เดือน พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยตามช่วงวัย 

พัฒนาการลูกน้อย อายุ 7-8 เดือน

พัฒนาการลูกน้อย อายุ 7-8 เดือน วิธีกระตุ้นพัฒนาการลูก

พัฒนาการลูกน้อยอายุ 7-8 เดือน มีอะไรที่คุณแม่ควรรู้บ้าง อาหารแบบไหน ที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กทารกอายุ 7-8 เดือน พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยตามช่วงวัย

พัฒนาการลูกน้อย อายุ 6- 7 เดือน

พัฒนาการลูกน้อย อายุ 6-7 เดือน พัฒนาสมองและการสื่อสาร

พัฒนาการลูกน้อยอายุ 6-7 เดือน มีอะไรที่คุณแม่ควรรู้บ้าง อาหารแบบไหน ที่เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็กทารกอายุ 6-7 เดือน พร้อมวิธีกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยตามช่วงวัย

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก