วิธีการเลี้ยงลูกให้อารมณ์ดี ให้ลูกเติบโตอย่างมีความสุข

วิธีการเลี้ยงลูกให้อารมณ์ดี ให้ลูกเติบโตอย่างมีความสุข

29.08.2024

การเลี้ยงลูกให้อารมณ์ดี มีความสุข หรือการสร้างรอยยิ้มให้แก่ลูกนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของการมีพัฒนาการทางด้านสติปัญญาและอารมณ์ที่ดี ทั้งช่วยสนับสนุนในเรื่องของสมองและจิตใจ รวมถึงร่างกายที่แข็งแรง หากลูกเกิดอารมณ์ไม่ดี หรือหงุดหงิดง่าย ก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการต่าง ๆ ในทางตรงกันข้ามได้เช่นกัน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรศึกษาหาข้อมูลในการรับมือถึงวิธีการเลี้ยงลูกที่ถูกต้องและเหมาะสมตามช่วงวัย โดยไม่ลืมความรักความอบอุ่นในครอบครัว ซึ่งจะเป็นตัวแปรหลักในการหล่อหลอมให้เด็กเติบโตได้อย่างมีความมั่นคงแข็งแรง พร้อมรับมือกับการปรับตัวและดำรงชีวิตในสังคมได้เป็นอย่างดี

headphones

PLAYING: วิธีการเลี้ยงลูกให้อารมณ์ดี ให้ลูกเติบโตอย่างมีความสุข

อ่าน 7 นาที

 

สรุป

  • การเลี้ยงลูกให้อารมณ์ดี และมีความสุข เป็นจุดเริ่มต้นของการมีพัฒนาการทางด้านสติปัญญาและอารมณ์ที่ดี ทั้งช่วยสนับสนุนในเรื่องของสมองและจิตใจ รวมถึงร่างกายที่แข็งแรง
  • วิธีเลี้ยงลูกให้มีสติปัญญาที่ดี มีปัจจัยสำคัญ 3 อย่าง คือ พันธุกรรม โภชนาการหรืออาหารการกินที่ดี และสิ่งแวดล้อมรอบตัวของลูก ซึ่งการเลี้ยงลูกให้อารมณ์ดีและมีความสุขนั้น ควรเริ่มต้นจากครอบครัวที่มีความอบอุ่น
  • เคล็ดลับที่จะทำให้ลูกอารมณ์ดี เช่น การฟังเพลง หรือเล่นดนตรีบ่อย ๆ การเล่นกีฬา อ่านหนังสือหรือเล่านิทานให้ลูกฟัง รวมถึงสอนให้ลูกเห็นคุณค่าในตัวเองและผู้อื่น

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ


การเลี้ยงลูกให้อารมณ์ดี ควรเป็นแบบไหน

  1. คุณพ่อคุณแม่ ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก เพราะการที่พ่อแม่มีความเครียด หรือความวิตกกังวล อาจเผลอแสดงพฤติกรรมที่รุนแรงต่อลูกได้ และคงไม่สามารถเลี้ยงลูกให้อารมณ์ดีได้อย่างแน่นอน ซึ่งล้วนส่งผลเสียต่อเด็กมากมาย ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรมีการปรึกษาหารือร่วมกัน ให้กำลังใจต่อกัน ทบทวนพฤติกรรมต่าง ๆ ที่แสดงออกต่อลูก และมีแนวทางเลี้ยงลูกให้เป็นทิศทางเดียวกัน หลีกเลี่ยงการทะเลาะกันต่อหน้าลูก และอย่าลืมหาเวลาพักผ่อนเติมความสุขให้แก่ตนเองบ้าง
  2. คุณพ่อคุณแม่ควรมีเวลาให้ลูก หมั่นทำกิจกรรมร่วมกันกับลูกในวันหยุดพักผ่อน เพื่อเพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว และแสดงออกถึงความรักด้วยการโอบกอด พูดชื่นชมอย่างสม่ำเสมอ
  3. ดูความต้องการของลูกเป็นหลัก ไม่ควรยัดเยียดจนเกินไป เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น และพร้อมรับฟังทุกครั้ง อย่าเร่งหรือกดดันเด็กมากจนเกินไป ควรเน้นพัฒนาการให้เหมาะสมตามวัย

 

วิธีเลี้ยงลูกให้อารมณ์ดี คุณพ่อคุณแม่ทำได้จริงไหม

การเลี้ยงลูกให้อารมณ์ดีและมีความสุขนั้น ควรเริ่มต้นจากครอบครัวที่มีความอบอุ่น คุณแม่ที่มีความสุขตั้งแต่ขณะตั้งครรภ์ เพราะจากข้อมูลการวิจัยจะพบว่าเมื่อคุณแม่มีความสุขจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินส์ (Endorphin) ซึ่งจะส่งผ่านสายสะดือไปให้ลูกน้อยในครรภ์ส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านสมอง (IQ) และอารมณ์ (EQ) ที่ดีของลูกได้


การเลี้ยงลูกให้มีสติปัญญาที่ดี มีความเฉลียวฉลาด มีปัจจัยสำคัญ 3 อย่าง คือ พันธุกรรม โภชนาการหรืออาหารการกินที่ดี และสิ่งแวดล้อมรอบตัวของลูกน้อย ซึ่งหากตัดเรื่องของพันธุกรรมออกไป เพราะคุณพ่อคุณแม่ไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ ในส่วนของเรื่องอาหารการกินของลูกหรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง

 

วิธีเลี้ยงลูกให้อารมณ์ดี ควรเริ่มทำในช่วงวัยไหน

การส่งเสริมพัฒนาการทางสมองของเด็ก คุณพ่อคุณแม่สามารถศึกษาและทำได้ตั้งแต่ตั้งครรภ์ เนื่องจากระหว่างที่เด็กอยู่ในครรภ์ เซลล์สมองก็จะมีการเจริญเติบโตไปพร้อมกับเซลล์อื่น ๆ ในร่างกาย และเนื้อสมองกับเส้นใยประสาทในร่างกายจะเชื่อมประสานกันเป็นข่ายเส้นใยประสาท ตั้งแต่ลูกอายุได้เพียง 8 สัปดาห์ และพัฒนาต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 2 ปี และพัฒนาการของสมองจะค่อย ๆ ลดลงหลังจากช่วงอายุดังกล่าว จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการกระตุ้นพัฒนาการทางสมองและสติปัญญาของลูกน้อย

 

ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ลูกหงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย

ความพร้อมของอายุ ร่างกาย จิตใจ และสภาพแวดล้อม ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กแสดงอารมณ์ความโกรธของตนเอง เมื่อเด็กไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จได้ด้วยตนเอง หรือถูกขัดใจไม่ให้ทำในสิ่งที่ต้องการทำ เด็กจะเกิดอารมณ์และแสดงออกมาว่าหงุดหงิด โกรธ และแสดงความก้าวร้าวที่รุนแรงออกมา โดยลักษณะที่แสดงออก รวมถึงพฤติกรรมความรุนแรงนี้ จะขึ้นอยู่กับอายุและช่วงวัยของลูกด้วย ซึ่งโดยทั่วไป มีสาเหตุดังนี้

  1. การเรียกร้องความสนใจตามช่วงวัย ในบางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมที่ลูกแสดงออกเป็นการเรียกร้องความสนใจ หรือพัฒนาการของระบบประสาทที่ทำให้เกิดการตอบสนองที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลต่อการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ทางที่ดีคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกน้อยไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการแก้ไขอย่างถูกวิธี
  2. นอนไม่พอ เนื่องจากเป็นข้อจำกัดทางร่างกาย ทำให้เด็กรู้สึกหงุดหงิดได้ รวมถึงเมื่อเด็กรู้สึกเหนื่อย หรืออ่อนเพลียจากการนอนไม่พอ หรือความเจ็บป่วย ทำให้รู้สึกไม่สบายตัว
  3. หิว ด้วยวัยของเด็กที่ยังไม่สามารถจัดการหรือควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ ได้ดีนัก จึงทำให้ลูกมีความหงุดหงิดเมื่อหิวได้ง่าย

 

ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ลูกหงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย

 

คุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่สำคัญในการรับมือและจัดการกับอารมณ์ของลูก สามารถยับยั้งการแสดงออกที่รุนแรง สอนให้ลูกรู้จักควบคุมความหงุดหงิด โดยอาจหากิจกรรมอะไรให้ลูกเบี่ยงเบนความสนใจ ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องไม่โมโหตามลูก เพราะจะเป็นการกระตุ้นพฤติกรรมที่รุนแรงขึ้น และควรรอให้เด็กสงบสติอารมณ์ก่อน ห้ามลงโทษโดยทันที แต่ควรอธิบายด้วยเหตุและผล ในส่วนของการกำหนดกฎเกณฑ์เงื่อนไขต่าง ๆ กับลูกต้องมีความหนักแน่นชัดเจน ไม่เปลี่ยนไปมา และมีเวลาให้กับลูกอย่างเพียงพอ

 

วิธีการเลี้ยงลูกน้อยให้อารมณ์ดี คุณแม่ทำตามได้ง่าย

1. ให้ลูกฟังเพลง เล่นดนตรีบ่อย ๆ

เพราะเสียงดนตรีมีความสามารถในการทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย และอารมณ์ดีได้ อีกทั้งเสียงตัวโน้ตสูงต่ำ จะช่วยกระตุ้นสมองในการคิดวิเคราะห์ และพัฒนาการทางด้านภาษา

 

2. เล่นกีฬากับลูก

นอกจากจะทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยในเรื่องของสภาพจิตใจและอารมณ์ที่ดีของลูก ลดการเกิดภาวะเครียดในเด็กได้

 

3. หมั่นอ่านหนังสือให้ลูกฟัง

คุณพ่อคุณแม่สามารถอ่านหนังสือด้วยน้ำเสียงที่สนุกสนานเพิ่มความน่าสนใจ และแทรกคำถามชวนพูดคุยกับลูกบ่อย ๆ ซึ่งเป็นกิจกรรมในครอบครัวที่เพิ่มการสื่อสารและทำร่วมกันได้เป็นอย่างดี

 

4. เล่านิทานก่อนนอน

การอ่านนิทานให้ลูกฟัง เป็นการเพิ่มจินตนาการให้แก่เด็ก ๆ ทำให้เด็กสนใจ ซักถาม และคิดตามเรื่องราวของนิทาน การฟังนิทานยังเป็นการส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสติปัญญาและอารมณ์ได้อีกด้วย

 

5. สอนให้ลูกเห็นคุณค่าในตัวเองและผู้อื่น

เมื่อลูกโตขึ้นจะส่งผลให้มีวิธีการทางความคิดและการใช้ชีวิตในสังคมได้เป็นอย่างดี เด็กบางคนอาจด้อยค่าตนเองไป ทำให้เกิดลักษณะที่ไม่มีความมั่นใจ รู้สึกไร้ค่า ชอบเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น

 

6. ฝึกให้ลูกมีความรับผิดชอบในชีวิตประจำวัน

ด้วยการกำหนดตารางเวลาในแต่ละวันว่าลูกต้องทำอะไรบ้าง ให้รู้จักรับผิดชอบของใช้ส่วนตัวเมื่อไปโรงเรียน และรู้จักการประหยัดอดออมเงิน เก็บข้าวของที่เล่นให้เป็นระเบียบเรียบร้อย

 

7. หมั่นพูดคุยกับลูกด้วยอารมณ์แจ่มใส

เพราะเมื่อลูกรับรู้ได้ว่าพ่อแม่อารมณ์ดี มักจะแสดงออกถึงอารมณ์ที่ดีของเด็กเองด้วย

 

กิจกรรมที่ช่วยให้ลูกน้อยอารมณ์ดีได้ทุกวัน

การที่คุณพ่อคุณแม่มีความกังวลในเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ การรับเชื้อโรคต่าง ๆ จากภายนอก และให้เด็กอยู่แต่ในบ้าน ยอมให้สนใจแต่หน้าจอ แท็บเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือทั้งวัน อาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการ ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงอารมณ์ด้วย ดังนั้นจึงควรหากิจกรรมที่ทำให้เด็กมีอารมณ์ที่ดี ส่งเสริมพัฒนาการด้านต่าง ๆ โดยมีสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง ดังนี้

  1. เริ่มต้นจากคุณพ่อคุณแม่ต้องมีกฎกติกา หรือจำกัดระยะเวลาในการอยู่กับหน้าจอ ให้เด็กเรียนรู้ที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือกฎระเบียบ
  2. มุ่งเน้นกิจกรรมทางกาย ให้เด็กได้ขยับร่างกาย หรือออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ให้มีสุขภาพที่ดี เช่น ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน วิ่งเล่น ปีนป่าย เป็นต้น
  3. หากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกับผู้อื่น หรือมีการพูดคุยกันในครอบครัวมากขึ้น เช่น การถามตอบ การเล่านิทาน ก็จะเป็นการฝึกให้เด็กอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้เป็นอย่างดี
  4. ให้เด็กมีกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด ความกังวล เช่น การวาดรูป การร้องเพลง เป็นต้น

 

คุณพ่อคุณแม่ทุกคนล้วนอยากเลี้ยงลูกให้มีความสุข มีพัฒนาการที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิต แต่ความคาดหวัง บางครั้งอาจเป็นสิ่งกดดันคุณพ่อคุณแม่หรือกับลูกมากจนเกินไป จนเกิดความวิตกกังวล ภาวะเครียด และนำไปสู่การแสดงออกพฤติกรรมที่รุนแรงต่อลูกได้ ดังนั้น การที่คุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกมีความสุข ต้องมาจากการเลี้ยงดูที่เกิดจากความรักความอบอุ่นและความเข้าใจ รวมถึงมาจากพ่อแม่ที่มีความสุข ซึ่งจะส่งผลให้ลูกมีอารมณ์ดีและมีความสุขได้

 

บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย

 

 

อ้างอิง:

  1. เลี้ยงลูกอย่างไรให้โตขึ้นอารมณ์ดีมีเหตุผล, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  2. อยากกระตุ้นให้ลูกฉลาดตั้งแต่อยู่ในท้อง, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  3. อย่าปล่อยให้เด็กโมโหร้ายคุมความโกรธไม่ได้, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  4. ลูกเอาแต่ใจ เรียกร้องความสนใจ หรือระบบประสาทรับความรู้สึกบกพร่อง, โรงพยาบาลมนารมย์
  5. การร้องอาละวาด ส่วนหนึ่งของพัฒนาการที่พ่อแม่ต้องเข้าใจ, โรงพยาบาลเวชธานี
  6. เลี้ยงลูกวัยกำลัง “จำ”...ทำยังไงให้ฉลาด, โรงพยาบาลพญาไท
  7. งานวิจัยยืนยันการวิ่งเล่นออกกำลังกายทำให้เด็กมีความสุขเพิ่มขึ้น, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  8. เสริมสร้างความรู้สึกเห็นคุณค่าในตนเอง, โรงพยาบาลมนารมย์
  9. 7 วิธีสอนเด็กให้รู้หน้าที่ มีความรับผิดชอบ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  10. 4 วิธี เปลี่ยนเด็กให้อารมณ์ดี ไม่หงุดหงิดง่าย, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
  11. แนวคิดการเลี้ยงดูด้วยวิธีทางบวก, สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต
  12. 10 วิธี ช่วยให้ลูกวัยประถมรักการอ่าน, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  13. เสริมพัฒนาการลูก ด้วยการเล่านิทาน, โรงพยาบาลบางปะกอก

อ้างอิง ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2567
 

บทความแนะนำ

ลูกถ่ายวันละ 3-4 ครั้งปกติไหม ลูกถ่ายกะปริบกะปรอย อันตรายหรือเปล่า

ลูกถ่ายวันละ 3-4 ครั้งปกติไหม ลูกถ่ายกะปริบกะปรอย อันตรายหรือเปล่า

ลูกถ่ายวันละ 3-4 ครั้งปกติไหม หากลูกถ่ายกะปริบกะปรอยบ่อย ๆ ทุกวัน อันตรายกับลูกน้อยหรือเปล่า อาการถ่ายบ่อยของลูกแบบไหนที่คุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์

เปลี่ยนชื่อลูกทำยังไง เปลี่ยนชื่อลูกในสูติบัตร มีขั้นตอนอย่างไร

เปลี่ยนชื่อลูกทำยังไง เปลี่ยนชื่อลูกในสูติบัตร มีขั้นตอนอย่างไร

อยากเปลี่ยนชื่อลูกทำยังไง เปลี่ยนชื่อลูกในสูติบัตรต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง มีขั้นตอนการเปลี่ยนชื่อลูกยังไง ไปดูเอกสารที่ต้องเตรียมและขั้นตอนการเปลี่ยนชื่อกัน

ลูกหายใจครืดคราดแต่ไม่มีน้ำมูก เป็นเพราะอะไร เป็นสัญญาณอันตรายไหม

ลูกหายใจครืดคราดแต่ไม่มีน้ำมูก เกิดจากอะไร อันตรายกับลูกน้อยไหม

อาการลูกหายใจครืดคราดแต่ไม่มีน้ำมูก เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของลูกน้อยให้ดี เมื่อลูกหายใจครืดคราดแต่ไม่มีน้ำมูก

ลูกบิดตัวบ่อยหลับไม่สนิท เป็นเพราะอะไร คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลแบบไหน

ลูกบิดตัวบ่อยหลับไม่สนิท เป็นเพราะอะไร คุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลแบบไหน

ลูกบิดตัวบ่อยหลับไม่สนิท ทารกนอนหลับไม่สนิทบิดตัวไปมา เกิดจากสาเหตุอะไร ปัญหาที่สร้างความกังวลใจให้คุณพ่อคุณแม่ ลูกบิดตัวบ่อยหลับไม่สนิท อันตรายหรือเปล่า ไปดูกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก