11 วิธีการเลี้ยงทารกแรกเกิด - 1 เดือน ที่พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้

วิธีการเลี้ยงทารกแรกเกิด - 1 เดือน ที่พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้

25.03.2024

สิ่งสำคัญสำหรับการดูแลทารกแรกเกิดจนถึง 1 เดือน มี 2 หัวข้อหลัก ๆ ที่คุณพ่อและคุณแม่มือใหม่ควรรู้คือ การดูแลทางด้านร่างกาย เช่น การดูแลเรื่องโภชนาการที่เหมาะสมตามวัยของทารก การให้ทารกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ การดูแลความสะอาด และการดูแลสุขภาพร่างกายให้อบอุ่นแข็งแรง ต่อมาคือการดูแลทางด้านสุขภาพจิตของทารก เช่น การให้ความรักความอบอุ่นแก่ทารก ซึ่งจะช่วยให้ทารกมีพื้นฐานด้านจิตใจที่ดีและส่งผลให้ทารกเป็นคนที่มีจิตใจดีเมื่อเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ต่อไป

headphones

PLAYING: วิธีการเลี้ยงทารกแรกเกิด - 1 เดือน ที่พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้

อ่าน 7 นาที

 

สรุป

  • การเลี้ยงทารกแรกเกิด - 1 เดือน คือ การดูแลทางด้านร่างกาย และการดูแลด้านสุขภาพจิต คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลควบคู่กันไป ไม่มากและไม่น้อยเกินไปข้อใดข้อหนึ่ง เพื่อการเจริญเติบโตอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ของทารก
  • การดูแลทารกวัยแรกเกิด ทางด้านร่างกาย ประกอบไปด้วย การให้ทารกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ ในสถานที่ที่สะอาด อากาศถ่ายเทสะดวกและปลอดภัย เรื่องโภชนาการอาหาร การดูแลระบบขับถ่ายของทารก การดูแลความสะอาดร่างกาย การดูแลสุขภาพร่างกายให้อบอุ่นแข็งแรง และการดูแลเรื่องระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น
  • การดูแลทารกวัยแรกเกิดทางด้านจิตใจ ประกอบไปด้วย การให้ความรักความอบอุ่นจากคุณพ่อและคุณแม่ เพื่อเป็นรากฐานสำคัญทางด้านจิตใจที่ดีให้แก่ทารก

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

1. การเลี้ยงทารกแรกเกิด – 1 เดือน สำคัญมากแค่ไหน

ทารกวัยแรกเกิดถึง 1 เดือน เป็นช่วงการเจริญเติบโตที่สำคัญที่สุด เนื่องจากเป็นช่วงแห่งการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมจากในครรภ์ของคุณแม่สู่สภาพแวดล้อมภายนอก จึงต้องมีการปรับตัวอย่างมากเพื่อให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ภายนอกครรภ์คุณแม่ ทั้งยังเป็นช่วงเวลาในการสร้างรากฐานการพัฒนานิสัยและบุคลิกภาพในอนาคต คุณแม่จึงจำเป็นต้องดูแลเอาใจใส่เป็นพิเศษ เพื่อให้ทารกมีพัฒนาการที่สมบูรณ์แข็งแรง ทั้งทางร่างกายและทางจิตใจมากที่สุด

 

2. จริงไหม? หลังคลอด ต้องให้นมลูกทันที

หลังจากทารกคลอด คุณแม่ควรให้ทารกดูดนมแม่ทันที หรือภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด เพื่อเป็นการสร้างสายใยความรัก ความอบอุ่นและความผูกพันแก่ทารก คุณแม่จะได้เรียนรู้ความต้องการและมีความเข้าอกเข้าใจทารกมากยิ่งขึ้น อีกทั้งทารกจะได้คุ้นเคยกับการดูดนมแม่อีกด้วย

 

การเลี้ยงทารกแรกเกิด – 1 เดือน สำคัญมากแค่ไหน

 

3. ประโยชน์ของน้ำนมแม่ ดีกับทารกแรกเกิดมากแค่ไหน

ในน้ำนมแม่จะมีสารอาหารที่มีประโยชน์กับทารกแรกเกิดกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน ทั้งมีโพรไบโอติกส์ซึ่งช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของแบคทีเรียดีที่ช่วยย่อยในลำไส้ของทารก มีสารที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันโรคบนผิวหนังของทารก และมีกรดไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งมีความสำคัญกับการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อประสาทและจอประสาทตาของทารก

 

4. ท่าจับเรอที่ถูกต้อง หนึ่งในวิธีเลี้ยงลูกแรกเกิดที่ต้องทำ

คุณแม่ควรจับลูกเรอด้วยท่าอุ้มเรอที่ถูกต้อง เพื่อช่วยลดอาการท้องอืดและป้องกันการแหวะนมได้ โดยเริ่มจากคุณแม่ปูผ้าอ้อมบนบ่า และจับทารกอุ้มพาดบ่าหันหน้าเข้าหาตัวคุณแม่ ให้ตัวของทารกแนบกับหน้าอกของคุณแม่ ประคองศีรษะทารก และวางคางของทารกไว้บนไหล่ที่มีผ้าอ้อมพาดอยู่ แล้วใช้มืออีกข้างลูบหลังของทารกเบา ๆ ส่วนอีกท่าจะเป็นท่านั่งบนตัก

 

โดยคุณแม่พันผ้าอ้อมเอาไว้ที่ด้านหน้าของทารกเพื่อกันทารกแหวะนม แล้วจับทารกนั่งตักและเอนไปด้านหน้าเล็กน้อย ใช้มือข้างหนึ่งประคองศีรษะกับตัวของทารกไว้ และให้นิ้วชี้และนิ้วโป้งของคุณแม่อยู่ที่คางและหน้าอกของทารก แล้วค่อย ๆ ลูบหลังลูกเบา ๆ คุณแม่สามารถเลือกใช้ท่าจับเรอตามความเหมาะสมและความถนัดของคุณแม่ได้เช่นกัน

 

5. เคล็ดลับในการอาบน้ำให้ทารกแรกเกิด

  • ใช้น้ำอุณหภูมิห้อง น้ำที่ใช้อาบน้ำให้ทารก ควรเป็นน้ำอุ่นกำลังดีหรือที่อุณหภูมิห้อง ระวังอย่าใช้น้ำที่อุ่นเกินไป เพราะจะทำให้ผิวของทารกแห้งได้
  • อาบน้ำตอนที่อุณหภูมิแวดล้อมอบอุ่น ควรอาบน้ำทารกในที่อุณหภูมิห้อง (หากอยู่ในห้องแอร์ ควรปิดแอร์ก่อน) แต่หากมีอุณหภูมิสูงกว่านี้ หลังอาบน้ำควรให้ทารกดื่มน้ำเพื่อชดเชยการกระหายน้ำ และหากอยู่ในห้องแอร์ ควรปิดแอร์ก่อนที่จะอาบน้ำให้แก่ทารก
  • อย่าลืมทำความสะอาดสะดือให้ลูก สามารถทำความสะอาดสะดือให้ทารกได้ทันทีหลังคลอด โดยไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด เริ่มจากหลังอาบน้ำทารกเสร็จ ให้เช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ โดยเช็ดที่สายสะดือและขั้วสะดือ เพราะถ้าไม่ทำความสะอาดสะดือให้ทารก อาจก่อให้เกิดการสะสมของสิ่งสกปรกแล้วทารกอาจเกิดการติดเชื้อที่สะดือได้
  • ไม่จำเป็นต้องใช้ครีมอาบน้ำหรือแชมพู สามารถใช้สบู่อาบน้ำได้แต่ควรเป็นสบู่เหลวที่อ่อนโยนกับผิวของทารก ไม่ควรใช้สบู่ก้อนเพราะจะทำให้ผิวของทารกแห้งได้ และควรใช้สบู่เหลวสูตรอ่อนโยนที่สามารถใช้ได้ทั้งสระผมและอาบน้ำในแบบเดียวกัน
  • ไม่ควรอาบน้ำให้ลูกนานเกินไป ไม่ควรอาบน้ำทารกเกิน 5-7 นาที เพราะจะทำให้ผิวทารกแห้งเนื่องจากแช่น้ำนานเกินไป

 

การเลี้ยงทารกแรกเกิด – 1 เดือน เคล็ดลับในการอาบน้ำให้ทารกแรกเกิด

 

6. การอุ้มทารก ต้องอุ้มให้ถูกวิธี

การอุ้มทารกในท่าปกติสามารถทำได้โดยให้คุณแม่อุ้มทารกตะแคงเข้าหาตัว ให้ท้ายทอยของทารกอยู่บนข้อพับแขนของคุณแม่ วางแขนไปตามลำตัวของทารก อีกมืออุ้มช้อนก้นและช่วงขา ลำตัวของทารกแนบชิดกับลำตัวของแม่ โดยให้ศีรษะ คอ และลำตัว อยู่ในแนวเดียวกัน จึงถือว่าเป็นการอุ้มทารกที่ถูกต้อง

 

7. การเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เด็กแรกเกิด ทำได้ไม่ยาก

เริ่มจากให้คุณพ่อหรือคุณแม่ล้างมือให้สะอาดเพื่อป้องกันเชื้อโรค ต่อมาทำการเช็ดบริเวณก้นของทารกให้สะอาดแล้วจึงทำการเปลี่ยนแพมเพิสผืนใหม่และเช็กความเรียบร้อยของแพมเพิส ดึงขอบขาของแพมเพิสให้ดี ไม่ให้ม้วนหรือบิดงอ ซึ่งจะทำให้เกิดการรั่วซึมได้ และคุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการผื่นผ้าอ้อม ซึ่งอาจเกิดจากการระคายเคืองของผิวทารก ถ้าพบอาการผื่นผ้าอ้อมควรรีบเปลี่ยนยี่ห้อแพมเพิสทันที แต่หากอาการระคายเคืองไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ทันที

 

8. ทำไมต้องห่อตัวให้ทารก

การห่อตัวทารกในช่วงแรกเกิดมีประโยชน์หลายอย่างด้วยกัน เช่น ช่วยให้ทารกนอนหลับได้ง่ายและหลับลึก ช่วยกระชับแขนและขา ช่วยลดอาการสะดุ้งตกใจจากเสียงดังและการสั่นสะเทือน อีกทั้งยังช่วยรักษาอุณหภูมิร่างกายของทารกในกรณีอากาศเย็น และลดการสูญเสียความร้อนของร่างกายของทารกได้อีกด้วย

 

9. ทารกควรนอนเวลาไหนบ้าง นอนวันละกี่ชั่วโมง?

ทารกแรกเกิดส่วนใหญ่จะมีระยะเวลาช่วงนอนหลับอยู่ที่ประมาณ 8-18 ชั่วโมงต่อวัน ถือเป็นเรื่องปกติสำหรับทารกวัยนี้

 

10. อย่าลืมให้ความสำคัญกับวัคซีน ในการดูแลทารกแรกเกิด

วัคซีนสำหรับเด็ก มีความสำคัญอย่างมากแก่ทารก โดยวัคซีนจะกระตุ้นร่างกายของทารกให้สร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคต่าง ๆ เมื่อทารกได้รับวัคซีนแล้ว จะทำให้โอกาสป่วยเป็นโรคติดต่อต่าง ๆ ลดลงอย่างมาก ทารกจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และพร้อมสำหรับการเจริญเติบโตและมีพัฒนาการอย่างสมวัยต่อไป

 

11. ความผิดปกติระหว่างการเลี้ยงทารกแรกเกิดถึง 1 เดือน หากเจอต้องรีบไปพบแพทย์

  • ถ่ายเหลว มีมูกเลือดปน หากทารกมีการถ่ายเหลวหรืออุจจาระมีมูกเลือดปน คุณพ่อคุณแม่ควรรีบทำความสะอาดที่ก้นและอวัยวะสืบพันธุ์ของทารก และทำการเปลี่ยนผ้าอ้อมทุกครั้งหลังทารกถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ควรพาทารกไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายโดยทันที และหมั่นสังเกตอุจจาระและปัสสาวะของทารกเป็นระยะ ๆ เพื่อประเมินสุขภาพของทารกต่อไป
  • นอนหลับนานผิดปกติ ทารกในวัยแรกเกิดไม่ควรนอนเกิน 1-2 ชั่วโมงของแต่ละรอบ หากทารกมีการนอนหลับนานกว่าปกติอาจมาจากทารกกินอิ่ม แต่หากทารกมีอาการนอนหลับนานกว่าปกติบ่อยครั้ง ควรพาไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อไป
  • ตัวเย็น หากทารกมีอาการตัวเย็น ซีดหรือคล้ำ หรือมีอาการซึม ไม่ดูดนม หายใจเร็ว คุณพ่อคุณแม่ควรปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม ไม่เย็นจนเกินไป และห่อตัวทารกด้วยผ้าหนา ๆ แล้วรีบพาทารกไปพบแพทย์ทันที
  • ซึม ไม่ยอมกินนม หากทารกมีอาการซึมและไม่ยอมกินนม อาจเกิดจากทารกป่วยไม่สบายได้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาทารกไปพบแพทย์โดยทันที
  • ตัวเหลือง จากทารกหลังคลอด 2-3 วัน และมักจะหายเองได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ โดยทารกแรกเกิดทุกรายจะได้รับการตรวจอาการตัวเหลืองทางผิวหนังก่อนกลับบ้าน หากแพทย์พบว่ามีอาการตัวเหลืองมากผิดปกติ จำเป็นต้องรับการรักษาโดยวิธีการส่องไฟทันที เพราะหากทารกมีอาการตัวเหลืองมากเกินไปเป็นเวลานาน อาจเป็นอันตรายต่อสมอง ส่งผลทำให้เกิดสมองพิการได้

 

ทารกแรกเกิดจนถึง 1 เดือน เป็นช่วงที่มีการปรับตัวอย่างมากจากสภาพแวดล้อมในครรภ์ของคุณแม่ มายังสภาพแวดล้อมภายนอกที่แตกต่างจากเดิม จึงเป็นช่วงที่ทารกต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด คุณพ่อและคุณแม่ให้ความสำคัญสำหรับกับการดูแลทารกในช่วงนี้เป็นพิเศษ เพื่อการเจริญเติบโตที่แข็งแรงและมีพัฒนาการที่สมบูรณ์สมวัยต่อไป

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม

 

 

อ้างอิง:

  • การดูแลทารกแรกเกิด, โรงพยาบาลยันฮี
  • 8 วิธีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  • 11 เหตุผลที่ลูกควรกินนมแม่, โรงพยาบาลพญาไท
  • คุณแม่อย่าเผลอ…อย่าลืมให้ลูกเรอหลังกินนม, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
  • 8 เทคนิคอาบน้ำและดูแลผิวทารกแรกเกิดให้ถูกวิธี, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  • คำแนะนำเรื่องการอาบน้ำเด็ก, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  • สะดือเด็กทารกทำความสะอาดอย่างไรให้ปลอดภัย?, โรงพยาบาลศิครินทร์
  • ทารกแรกเกิดมีอาการแบบนี้ รีบพามาพบคุณหมอด่วน!, โรงพยาบาลศิครินทร์
  • เปลี่ยนแพมเพิส ให้รวดเร็วและปลอดภัย คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ก็ทำได้, hellokhunmor
  • ห่อตัวทารกอย่างไร ให้ปลอดภัยจากฮีทสโตรก, โรงพยาบาลรวมแพทย์ฉะเชิงเทรา
  • การนอนของทารก ที่เหมาะสม และวิธีช่วยให้ทารกหลับง่ายขึ้น, hellokhunmor
  • ลูกน้อยแข็งแรง ด้วยการรับวัคซีนพื้นฐานตั้งแต่แรกเกิด - 1 ปี, โรงพยาบาลนครธน
  • การนอนของทารก ที่เหมาะสม และวิธีช่วยให้ทารกหลับง่ายขึ้น, hellokhunmor
  • ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

อ้างอิง ณ วันที่ 26 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

Overfeeding คืออะไร ให้ลูกกินนมเยอะเกินไป อันตรายแค่ไหน

Overfeeding คืออะไร ให้ลูกกินนมเยอะเกินไป อันตรายแค่ไหน

Overfeeding คืออะไร คุณแม่ให้ลูกกินนมเยอะเกินไป จะเป็นอันตรายกับลูกน้อยไหม ลูกน้อยจะมีอาการอย่างไร เมื่อให้นมลูกเยอะเกิน พร้อมวิธีให้นมลูกน้อยที่ถูกต้อง

แม่หลังคลอดกินผลไม้อะไรได้บ้าง ผลไม้ชนิดไหนช่วยฟื้นฟูร่างกาย ดีต่อสุขภาพ

แม่หลังคลอดกินผลไม้อะไรได้บ้าง ผลไม้ชนิดไหนช่วยฟื้นฟูร่างกาย

แม่หลังคลอดกินผลไม้อะไรได้บ้าง ผลไม้ชนิดไหนช่วยให้ร่างกายของคุณแม่แข็งแรงและกระตุ้นน้ำนมให้ไหลดี มีคุณภาพ ช่วยให้สารอาหารส่งถึงลูกโดยตรง ไปดูกัน

ไขบนหัวทารก เกิดจากอะไร คุณแม่ดูแลไขที่หัวทารกได้อย่างไรบ้าง

ไขบนหัวทารก เกิดจากอะไร คุณแม่ดูแลไขที่หัวทารกได้อย่างไรบ้าง

ไขบนหัวทารก เกิดจากสาเหตุอะไร ไขที่หัวทารกอันตรายไหมกับลูกน้อยไหม ไขที่หัวทารกกี่วันถึงหายไป ต้องพาลูกน้อยไปพบแพทย์ไหม พร้อมวิธีดูแลและทำความสะอาดไขบนหัวลูก

อารมณ์คนท้องแปรปรวน เกิดจากอะไร คุณพ่อมือใหม่รับมือยังไงดี

อารมณ์คนท้องแปรปรวน เกิดจากอะไร คุณพ่อมือใหม่รับมือยังไงดี

อารมณ์คนท้องแปรปรวน คนท้องมีอารมณ์ขึ้น ๆ ลง ๆ เกิดจากสาเหตุอะไร คุณแม่ท้องอารมณ์แปรปรวนบ่อย ส่งผลกระทบกับลูกในครรภ์ไหม พร้อมวิธีรับมือเมื่อคนท้องอารมณ์แปรปรวน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก