อารมณ์คนท้องแปรปรวน เกิดจากอะไร คุณพ่อมือใหม่รับมือยังไงดี
คนท้องอารมณ์แปรปรวน ทำความเข้าใจอารมณ์คนท้อง คนรอบข้างควรรับมืออย่างไร และหาทางป้องกันรับมือได้อย่างถูกวิธี หากคนท้องอารมณ์แปรปรวนมากขึ้น มีอาการทางอารมณ์ที่รุนแรงขึ้น จนตนเองและคนรอบข้างควบคุมไม่ได้ และส่งผลต่อการใช้ชีวิต คุณแม่ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อขอคำปรึกษาและรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะอาจเป็นสัญญาณของอาการป่วยทางจิตที่รุนแรงมากขึ้น
สรุป
- การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ระหว่างตั้งครรภ์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามปกติกับคนท้อง ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงในระหว่างการตั้งครรภ์ ความวิตกกังวล หรือความเครียด เสียความมั่นใจในตัวเอง และ เหนื่อยล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น
- คนท้องอารมณ์แปรปรวน ควรเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงกับสภาวะทางอารมณ์ที่จะเกิดขึ้น ระหว่างตั้งครรภ์อย่างถูกวิธีและเหมาะสม เช่น พูดคุย ระบายกับคนที่ไว้ใจได้ ทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ ฝึกทำสมาธิ พักผ่อนให้เพียงพอ
- อารมณ์ที่แปรปรวนของคนท้อง สามารถส่งต่อไปสู่ลูกในท้องได้ คนท้องอารมณ์แปรปรวน หรือเครียดมาก ๆ ทำให้การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ช้า เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด หรือ อาจทำให้แท้งได้ตั้งแต่อายุครรภ์น้อย ๆ เมื่อคลอดแล้วจะส่งผลให้ทารกงอแง อ่อนไหว ขี้โมโห เป็นเด็กเลี้ยงยาก
- คนท้องอารมณ์แปรปรวน ควรรับมือกับสภาวะอารมณ์ของตัวเองอย่างถูกวิธี ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนมีอาการรุนแรง จนกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน หรือกระทบความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หากสงสัยว่ามีภาวะอารมณ์แปรปรวน ควรรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับคำแนะนำในการรับมือกับอารมณ์คนท้องแปรปรวน อย่างถูกต้องเหมาะสม
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- อารมณ์คนท้องแปรปรวน เกิดจากอะไร
- คนท้องอารมณ์แปรปรวน ทำยังไงดี
- คนท้องอารมณ์แปรปรวน คนรอบข้างควรรับมือแบบนี้
- อารมณ์คนท้องส่งผลถึงลูกไหม
- อารมณ์คนท้องแบบนี้ เสี่ยงเป็นซึมเศร้าได้
- อารมณ์คนท้องแปรปรวน จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ไหม
อารมณ์คนท้องแปรปรวน เกิดจากอะไร
การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ระหว่างตั้งครรภ์ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามปกติกับคนท้องหลาย ๆ คน ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่มักจะพบได้บ่อยระหว่างตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อาจเป็นเพราะเหนื่อยล้า หรือหงุดหงิดใจ ไม่สามารถอธิบายได้ว่ารู้สึกอย่างไร อารมณ์คนท้องขึ้น ๆ ลง ๆ มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ได้แก่
1. ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง
ในระหว่างการตั้งครรภ์ จะมีการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมน เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ฮอร์โมนที่สูงขึ้นนี้จะส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์ มีสภาวะที่ไม่มั่นคงทางอารมณ์ ทำให้มีอารมณ์แปรปรวน ร้องไห้ง่าย หงุดหงิดได้ง่าย เมื่อร่างกายปรับตัวเข้ากับระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปแล้ว อาการต่าง ๆ มักจะหายไปเอง ในคนท้องบางคน อาจมีสภาวะไม่มั่นคงทางอารมณ์นี้ตลอดการตั้งครรภ์
2. ความวิตกกังวลหรือความเครียดของคุณแม่
การพบเจอความเปลี่ยนแปลงขณะตั้งครรภ์ อาจทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นได้ ไม่ว่าจะกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น กังวลกับอนาคต สุขภาพลูกในครรภ์ การเงิน การรักษาพยาบาล ความเครียดความวิตกกังวลเหล่านี้ จะส่งผลทำให้อารมณ์แปรปรวนเพิ่มขึ้น
3. คุณแม่เสียความมั่นใจในตัวเอง
เมื่อเกิดการตั้งครรภ์คุณแม่บางคนอาจรู้สึกไม่สบายทางร่างกาย เมื่อร่างกายนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้น เช่น อาการแพ้ท้อง อาการปวดหลัง ปวดเมื่อยตามร่างกาย สภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปจากเดิม สิ่งเหล่านี้ทำให้ส่งผลต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของคุณแม่ตั้งครรภ์ ทำให้รบกวนอารมณ์ปกติ ส่งผลให้เกิดความเครียดได้
4. พักผ่อนไม่เพียงพอ เหนื่อยล้า
คุณแม่ตั้งครรภ์บางคนอาจพบเจอกับปัญหาการนอนหลังระหว่างตั้งครรภ์ ทำให้นอนหลับยาก นอนไม่พอ ซึ่งการนอนไม่มีประสิทธิภาพนี้ จะส่งผลกระทบต่อสภาวะทางอารมณ์ของคุณแม่ตั้งครรภ์ ทำให้อารมณ์เพิ่มสูงขึ้น ควบคุมอารมณ์ได้ยาก
คนท้องอารมณ์แปรปรวน ทำยังไงดี
การตั้งครรภ์ย่อมมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่อาจพบเจอได้ คุณแม่ควรเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง กับสภาวะทางอารมณ์ที่จะเกิดขึ้นระหว่างตั้งครรภ์อย่างถูกวิธีและเหมาะสม เช่น
1. ระบายกับคนที่ไว้ใจ
หาโอกาสพูดคุย ระบายความรู้สึกกับคนในครอบครัว คนรัก หรือเพื่อนที่ใกล้ชิด เพื่อพูดคุยระบายความรู้สึก เพื่อไม่ให้เกิดความเครียด หรือเกิดความวิตกกังวล
2. กินอาหารที่ชอบ
การกินเป็นวิธีธรรมชาติที่ยอดเยี่ยมในการช่วยปรับอารมณ์ การทานอาหารสำหรับคนท้องที่สดใหม่ หลากหลายและดีต่อสุขภาพ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป จะช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรงและมีสุขภาพจิตที่ดี ช่วยเพิ่มความมั่นคงทางอารมณ์ สามารถจัดการกับความรู้สึก และรับมือกับอารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้น
3. ทำกิจกรรมที่ชอบ
ร้องเพลง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ให้เวลากับสุขภาพจิตของตัวเอง จะช่วยผ่อนคลายอารมณ์ได้ดี ช่วยลดความเครียด และอารมณ์แปรปรวนได้
5. ฝึกโยคะคนท้อง
ออกกำลังกายเบา ๆ เพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น โยคะ การออกกำลังกายจะทำให้จิตใจมีสมาธิ เมื่อออกกำลังกายต่อเนื่องราว 20 นาที ร่างกายจะหลั่งสารแห่งความสุข (เอ็นโดรฟินส์) ขึ้นในสมอง ช่วยให้ผ่อนคลายความเครียด รู้สึกสบายใจ ช่วยให้มีความสุข
6. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรนอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง การนอนหลับพักผ่อนอย่างเต็มที่ จะส่งผลดีต่อสุขภาพ และสภาวะทางอารมณ์ จัดการกับอารมณ์ได้ดีขึ้น
7. ฝึกทำสมาธิ
การนั่งทำสมาธิจะส่งผลดีต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ ทำให้จิตใจสงบ ส่งผลให้ทารกในครรภ์ได้รับความสงบ ช่วยส่งผลดีต่อสมองและจิตใจได้
คนท้องอารมณ์แปรปรวน คนรอบข้างควรรับมือแบบนี้
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ ความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและอารมณ์ก็มักจะเปลี่ยนแปลงไป คุณพ่อและคนรอบข้างจึงควรเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ของคุณแม่ และหาทางป้องกันรับมือไว้อย่างถูกวิธี เช่น
เข้าใจอารมณ์คนท้อง
คุณแม่ตั้งครรภ์ มักจะมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ได้ง่าย โดยเฉพาะช่วงระยะ 4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ทำให้คุณแม่เกิดอาการเหวี่ยงโดยไม่มีสาเหตุ คุณพ่อควรทำความเข้าใจอารมณ์ของคุณแม่ เพื่อช่วยให้ทั้งคุณพ่อและคุณแม่สามารถปรับตัวเข้าหากันได้อย่างมีความสุข
พูดคุยด้วยเหตุผล ทำความเข้าใจร่วมกัน
คุณแม่ตั้งครรภ์อาจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางฮอร์โมนที่ส่งผลต่อร่างกายและอารมณ์ ทำให้อารมณ์แปรปรวน วิตกกังวล คุณพ่อควรพูดคุยด้วยเหตุผล รับฟังด้วยความใส่ใจ ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับคุณแม่ พยายามทำความเข้าใจแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยความประนีประนอม
ไม่ต่อว่ากัน คอยให้กำลังใจคุณแม่
คุณพ่อควรเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ จิตใจ และสรีระของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ ค่อย ๆ พูดปลอบโยน ให้กำลังใจ พยายามพูดคุยในลักษณะที่อธิบายมุมมองของตัวเอง แทนที่จะพูดตำหนิ หรือกล่าวโทษกันและกัน
ชวนไปทำกิจกรรมที่คุณแม่ชอบ
ชวนคุณแม่ไปทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ และทำกิจกรรมนั้นพร้อม ๆ กัน รวมไปถึงการพาคุณแม่ไปฝากครรภ์ ไปพบแพทย์ตามนัดพร้อมคุณแม่ในทุก ๆ เดือน
ช่วยแบ่งเบาภาระให้คุณแม่
คุณพ่อควรช่วยคุณแม่ทำงานบ้าน แบ่งเบาภาระในบ้าน เพื่อให้คุณแม่ได้มีโอกาสได้พักผ่อน ไม่ควรให้คุณแม่ยกของหนักเกินไป ช่วยแบ่งเบาภาระของคุณแม่ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ชวนพูดคุยเรื่องลูก ทำความคุ้นเคยกับลูกในท้อง
ชวนคุณแม่พูดคุยเกี่ยวรูปแบบการเลี้ยงลูก หากคุณพ่อคุณแม่มีรูปแบบการเลี้ยงลูกที่แตกต่างกัน ควรหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน พูดคุยอย่างประนีประนอม รวมถึงทำความคุ้นเคยกับลูกในท้อง หรือจัดหาของใช้ให้ลูกน้อย จะทำให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้น และเห็นว่าคุณพ่อนั้นมีส่วนร่วมมากขึ้น
อารมณ์คนท้องส่งผลถึงลูกไหม
อารมณ์ของคนท้องสามารถส่งต่อจากแม่สู่ทารกในครรภ์ได้ หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีอารมณ์แปรปรวน หรือเครียดมาก ๆ อาจทำให้แท้งได้ตั้งแต่อายุครรภ์น้อย ๆ รวมไปถึง ทำให้การเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ช้า เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด เมื่อคลอดแล้วจะส่งผลให้ทารกงอแง อ่อนไหว ขี้โมโห เป็นเด็กเลี้ยงยาก ไวต่อการกระตุ้น ทำให้เด็กมีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสังคมในอนาคต
อารมณ์คนท้องแบบนี้ เสี่ยงเป็นซึมเศร้าได้
เมื่อคนท้องมีสภาวะแปรปรวนทางอารมณ์ เครียดง่าย เครียดสะสมเป็นเวลานาน ภาวะความเครียดอาจกลายเป็นภาวะซึมเศร้าได้ คุณแม่ควรสังเกตตัวเองให้ดี หากมีอาการเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้า ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป ซึ่งอาการเสี่ยงเป็นซึมเศร้า เช่น
- ซึม ไม่ยอมพูดคุยกับใคร มีอารมณ์เศร้าเกือบทุกวัน
- ไม่ค่อยกินข้าว ทานอาหารได้น้อย มีปัญหาในการทานอาหาร
- ร้องไห้บ่อย อยากร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล
- มีความวิตกกังวล หดหู่ รู้สึกเศร้าหมองตลอดเวลา
- อ่อนเพลียตลอดเวลา ไม่มีเรี่ยวแรง นอนไม่หลับ หรือหลับมากเกินไป
- รู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า รู้สึกผิด กังวลว่าจะเป็นแม่ที่ดีได้หรือเปล่า จะเลี้ยงลูกได้ไหม
- เบื่อหน่าย ไม่อยากทำอะไร กิจกรรมที่เคยชอบ เคยทำ ไม่สนุกเหมือนเดิม
- มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย คิดถึงเรื่องตายอยู่ตลอด
อารมณ์คนท้องแปรปรวน จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ไหม
คนท้องอารมณ์แปรปรวน ควรได้รับคำแนะนำในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และรับมือจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสมจากแพทย์ เพราะหากปล่อยให้เกิดภาวะอารมณ์แปรวปรวนไปนาน ๆ อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และเสี่ยงทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า ดังนั้น เมื่อคุณแม่มีอาการอารมณ์แปรปรวน ควรรีบพบแพทย์เพื่อปรึกษาพูดคุย และรับคำแนะนำในการปรับพฤติกรรม เตรียมพร้อมรับมือจัดการกับอารมณ์ของตนเองได้อย่างถูกวิธี เพื่อให้อาการดีขึ้น ผ่อนคลายขึ้น ลดภาวะซึมเศร้า และลดความเสี่ยงที่จะกลายเป็นปัญหาทางจิต
ปัญหาสภาวะทางอารมณ์ของคนท้อง อารมณ์แปรปรวนที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์นี้ แม้เป็นภาวะที่พบได้ แต่ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาจทำให้สะสมจนกลายเป็นภาวะที่รุนแรง จนส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรือส่งผลกระทบในชีวิตประจำวัน หากสงสัยว่ามีภาวะอารมณ์แปรปรวน คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย และรับคำแนะนำ ในการรับมือกับอารมณ์คนท้องแปรปรวนอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- อาการคนแพ้ท้องครั้งแรก พร้อมวิธีรับมืออาการแพ้ท้อง
- อาการมโนว่าท้อง กังวลไปเองว่าท้อง พร้อมวิธีเช็กอาการตัวเอง
- คนท้องฉี่สีอะไร สีปัสสาวะคนท้องบอกอะไรคุณแม่ได้บ้าง
- อาการคันของคนท้อง เกิดจากอะไร พร้อมวิธีแก้คันท้องคนท้อง
- ท้องกระตุกเหมือนลูกดิ้น อาการท้องกระตุก บอกอะไรคุณแม่ได้บ้าง
- อารมณ์คนท้องขึ้น ๆ ลงๆ รับมืออารมณ์คนท้องระยะแรกยังไงดี
- คนท้องไอบ่อย ไอขณะตั้งครรภ์ อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า
- การทำหมันหญิงอันตรายไหม ทำหมันหลังคลอดทันทีได้หรือเปล่า
- ทําหมันเจ็บไหม ผู้หญิงผ่าคลอดทำหมันกี่วันหาย เตรียมตัวแบบไหนดี
- อาการหมันหลุดเป็นอย่างไร ทำหมันแต่ยังท้อง เป็นไปได้แค่ไหน
- ผ่าคลอดประกันสังคมจ่ายเท่าไหร่ คุณพ่อคุณแม่มีสิทธิเบิกอะไรบ้าง
อ้างอิง:
- Pregnancy Emotions, American Pregnancy Association
- Emotions during pregnancy, NCT
- อารมณ์คนท้อง และวิธีรับมืออารมณ์แปรปรวนตอนท้อง, HelloKhunmor
- ออกกำลังกาย คลายเครียด, กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
- 6 วิธีลดความเครียด ของคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลบางปะกอก
- คุณพ่อมือใหม่กับการดูแลภรรยาตั้งครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
- ความเครียดของคุณแม่ตั้งครรภ์..สามารถส่งต่อจากแม่สู่ลูกได้นะ!, โรงพยาบาลพญาไท
- ภาวะซึมเศร้าระหว่างตั้งครรภ์ กับสัญญาณเตือนที่คุณแม่ควรรู้, HelloKhunmor
- ความผิดปกติทางจิตเวชในหญิงตั้งครรภ์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- อารมณ์แปรปรวน (Mood swings), Pobpad
- First trimester: tips for dads to be | Pregnancy articles & support, NCT
- Hey Dads! Here Are 8 Ways To Get Involved, healthhub.sg
- Feelings, relationships and pregnancy, Pregnancy Birth and Baby Australia Government Department of Health and Aged Care
อ้างอิง ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2567