ผื่นส่าไข้ คืออะไร วิธีสังเกตส่าไข้ในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้

ผื่นส่าไข้ คืออะไร เป็นผื่นส่าไข้กี่วันหาย พร้อมวิธีสังเกตอาการ

11.09.2024

ส่าไข้ คืออะไร? พ่อแม่หลายคนอาจไม่เคยได้ยินหรือรู้จักกับโรคนี้มาก่อนจนกระทั่งลูกป่วย โรคส่าไข้มีอาการคล้ายกับไข้หวัด มักทำให้ลูกน้อยตัวร้อน มีไข้ แถมยังมีตุ่มออกผื่นที่คล้ายกับโรคอีสุกอีใสอีก โรคส่าไข้เกิดจากอะไร ทำไมถึงเป็นโรคยอดฮิตในเด็ก โรคส่าไข้ในเด็กรุนแรงแค่ไหน และมีวิธีดูแลลูกน้อยอย่างไรเมื่อเป็นไข้ เรามาหาคำตอบกันเลย 

headphones

PLAYING: ผื่นส่าไข้ คืออะไร เป็นผื่นส่าไข้กี่วันหาย พร้อมวิธีสังเกตอาการ

อ่าน 6 นาที


สรุป

  • โรคส่าไข้ หรือไข้ผื่นกุหลาบ เกิดจากเชื้อไวรัสมักเกิดขึ้นกับเด็กวัย 6 เดือน จนถึง 2 ปี ที่มักคลุกคลีหรือเล่นด้วยกัน ทำให้ลูกน้อยมีน้ำมูกไหล มีผื่นหรือตุ่มแดงขึ้น กำลังมีไข้หรือหายจากไข้แล้วก็ได้ โดยผื่นส่าไข้จะหายไปเองภายใน 3-4 วัน
  • โรคส่าไข้ ไม่ใช่โรคผิวหนังแต่เป็นโรคในกลุ่มไข้ออกผื่น เป็นโรคที่เด็กหายได้เอง อาการไม่รุนแรง หากลูกน้อยไม่มีไข้ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องให้ลูกน้อยกินยาใด ๆ เพียงให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ และให้ลูกนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นและหายไปในที่สุด
  • หากลูกน้อยมีอาการตัวร้อน มีไข้ ให้คุณแม่สังเกตอาการอื่นร่วมด้วย เช่น เบื่ออาหาร ท้องเสียหลายครั้งต่อวัน หายใจลำบาก หรือชักเกร็ง ให้รีบพาลูกไปพบแพทย์ทันที

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

โรคส่าไข้ในเด็ก คืออะไร

ส่าไข้ หรือไข้ผื่นกุหลาบ (Roseola Infatum) คืออาการที่เด็กมีตุ่มแดง ๆ ขึ้นตามตัวหลังจากมีไข้หรือมีไข้อยู่ อาการจะคล้ายกับการเป็นหัด หรืออีสุกอีใส โรคนี้พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ลักษณะอาการ คือ เหมือนจะมีไข้พร้อมกับมีตุ่มแดง ๆ ขึ้นตามลำตัวด้วย คุณแม่สามารถดูแลลูกน้อยเหมือนกับวิธีดูแลเมื่อลูกเป็นไข้ เพราะปกติแล้วอาการจะหายไปเองภายใน 3-4 วัน หากเด็กไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ส่าไข้ในเด็ก หากลูกน้อยหายแล้วจะไม่กลับมาเป็นซ้ำอีก โดยสาเหตุของการเกิดส่าไข้หรือผื่นกุหลาบมาจากเชื้อไวรัส ซึ่งเด็กอาจได้รับจากการหายใจ หรือได้รับละอองเสมหะจากการจามรดกัน หรือมาจากการสัมผัสของเล่นของเด็กที่ป่วย ส่าไข้ในเด็ก มักเกิดขึ้นกับเด็กวัย 6 เดือน จนถึง 2 ปี

 

อาการของส่าไข้ในเด็ก จะทำให้ลูกน้อยมีน้ำมูกไหล เจ็บคอคล้ายอาการของไข้หวัด ในเด็กบางรายอาจรู้สึกเบื่ออาหาร มีผื่นหรือตุ่มแดงขึ้นบริเวณลำตัวแล้วลามไปยังบริเวณแขนและขาของลูกน้อยหลังจากลูกน้อยมีไข้ หรือกำลังมีไข้สูงอยู่ โดยเฉพาะใน 2 วันแรก และผื่นส่าไข้จะหายไปเองภายใน 3-4 วัน

 

โรคส่าไข้ คือโรคผิวหนังหรือไม่

โรคส่าไข้ หรือไข้ผื่นกุหลาบ ไม่ใช่โรคผิวหนังแต่เป็นโรคในกลุ่มไข้ออกผื่น คือมีไข้พร้อมกับมีตุ่มแดง ๆ ขึ้นตามตัวเช่นเดียวกับโรคอีสุกอีใส งูสวัด โรคหัด โรคหัดเยอรมัน โรคอีดำอีแดง โรคมือเท้าปาก โรคฟิฟท์ หรืออีริทีมา อินเฟกทิโอซัม โรคคาวาซากิ และโรคไข้เลือดออก

 

ผื่นส่าไข้ในเด็ก ลูกน้อยหายเองได้ไหม

ส่าไข้ในเด็ก เป็นโรคที่เด็กหายเองได้ หากลูกน้อยไม่มีไข้ คุณแม่ไม่จำเป็นต้องให้ลูกน้อยกินยาใด ๆ เนื่องจากเป็นระยะที่เด็กกำลังจะหายป่วยแล้ว ในกรณีที่เด็กมีไข้สูงแนะนำให้คุณแม่พาลูกน้อยไปพบแพทย์ พร้อมทั้งดูแลลูกน้อยด้วยการให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ พยายามเช็ดตัวให้ลูกจนกว่าไข้จะลดลง และให้ลูกน้อยกินยาลดไข้ตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่แนะนำให้คุณแม่ซื้อยามาให้ลูกกินเอง เพราะอาจทำให้ลูกเสี่ยงอันตรายยิ่งขึ้น

 

ผื่นส่าไข้ในเด็กหรือไข้ผื่นกุหลาบ ต้องดูแลอย่างไร

ส่าไข้ในเด็ก อาจทำให้ลูกน้อยเกิดอาการไข้สูงเฉียบพลันได้ คุณแม่ควรดูแลลูกน้อย ดังนี้

  • หากลูกน้อยตัวร้อนและมีไข้สูง แนะนำให้พาลูกไปพบแพทย์ หมั่นเช็ดตัวเพื่อลดอาการตัวร้อน โดยการเช็ดตัวเบา ๆ เพื่อไม่ให้ตุ่มผื่นเกิดการอักเสบ และให้ลูกกินยาลดไข้ตามคำแนะนำของแพทย์ทุก 4-6 ชั่วโมง
  • หากลูกน้อยมีผื่นขึ้นตามตัว หลังจากหายไข้ คุณแม่ควรให้ลูกดื่มน้ำมาก ๆ ให้ลูกนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่จำเป็นต้องทาแป้งหรือทายาลดอาการผื่น เนื่องจากเป็นผื่นที่ไม่ทำให้เกิดอาการคัน และมักจะหายไปเองภายใน 3 วัน

 

ส่าไข้ คืออะไร ผื่นส่าไข้ในเด็ก ที่พ่อแม่ต้องรู้

 

โรคส่าไข้ในเด็ก คุณพ่อคุณแม่ป้องกันได้ไหม

ส่าไข้ในเด็กป้องกันได้ยาก เนื่องจากโรคนี้เป็นโรคติดต่อผ่านทางการหายใจและการสัมผัสสิ่งของร่วมกับผู้อื่น หากคุณแม่ให้ลูกน้อยไปคลุกคลีกับเด็กที่ป่วย อาจทำให้เกิดโอกาสติดส่าไข้ได้ง่าย อีกทั้งโรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันแต่อย่างใด แต่คุณแม่สามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคส่าไข้ในเด็กได้ คือ ระมัดระวังไม่ให้ลูกไปคลุกคลีกับเด็กที่มีอาการป่วย เมื่อลูกมีอาการป่วยให้แยกเด็กออกจากเด็กคนอื่น ๆ เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค และควรเช็ดทำความสะอาดของเล่นของลูกน้อยเป็นประจำ

ผื่นส่าไข้ในเด็ก อาการร่วมแบบไหนที่พ่อแม่ควรระวัง

แม้ว่าผื่นส่าไข้ในเด็กเป็นโรคที่หายเองได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องระวังอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อย คือ

  • ท้องเสียหลายครั้งต่อวัน: หากลูกน้อยมีอาการท้องเสียร่วมด้วย หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน คุณแม่ต้องสังเกตว่าลูกเป็นบ่อยไหม เพราะถ้าปล่อยไว้นานอาจทำให้ร่างกายลูกน้อยขาดน้ำได้
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง: หากลูกมีไข้ตัวร้อน พร้อมมีอาการซึม อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง ควรพาลูกไปพบหมอให้เร็วที่สุด
  • ไม่ยอมกินน้ำและอาหาร: เมื่อลูกน้อยไม่อยากทานข้าว หรือทานข้าวได้น้อย และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายที่คุณแม่ควรพาลูกไปพบหมอ
  • หายใจลำบาก: เมื่อลูกไอมากจนทำให้เกิดภาวะหายใจลำบาก เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรระวัง และควรรีบพาลูกน้อยไปพบหมอทันที
  • ชักเกร็ง: อาการชักเกร็งมักมาจากอาการไข้สูงในเด็ก การปล่อยให้ลูกชักนาน ๆ อาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยได้

 

ผื่นส่าไข้ต่างกับผื่นอีสุกอีใสอย่างไร

ผื่นส่าไข้ กับอีสุกอีใส มีลักษณะอาการที่คล้ายกัน โดยจะมีความแตกต่างกันตรงที่ผื่นส่าไข้จะมีผื่นขึ้นบริเวณหน้าก่อนแล้วค่อยลามไปยังลำตัว อีกทั้งตุ่มผื่นจะไม่มีอาการคัน และไม่ทิ้งร่องรอยเมื่อผื่นหายแล้ว ส่วนโรคอีสุกอีใส (Varicella or chickenpox) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสอีกชนิดหนึ่ง ทำให้เด็กมีไข้ ปวดเมื่อย เบื่ออาหารคล้ายกับส่าไข้ หลังจากนั้นจะเกิดเป็นตุ่มนูนแดง มีอาการคัน แล้วกลายเป็นตุ่มใส ก่อนจะพัฒนาไปเป็นตุ่มมีหนอง และตุ่มจะแตกออกเป็นสะเก็ดแห้ง อาจทิ้งรอยแผลเป็นหรือรอยดำให้เห็นบ้าง

 

โรคส่าไข้ในเด็ก แม้ว่าเป็นโรคที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกันแต่ถือว่าเป็นโรคที่ไม่รุนแรง เมื่อเด็กเป็นแล้วมักจะไม่เป็นซ้ำอีก ทำให้คุณแม่หายห่วงได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามโรคยอดฮิตในเด็กไม่ได้มีเพียงโรคส่าไข้เพียงโรคเดียว แต่ยังมีอีกหลายโรคที่เกิดขึ้นได้ง่ายในเด็ก คุณแม่จึงควรป้องกันลูกน้อยด้วยการให้ลูกรักษาสุขภาพ ล้างมือบ่อย ๆ และไม่คลุกคลีกับเด็กที่ป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกน้อยติดเชื้อโรคจากการติดต่อ รวมถึงให้ลูกน้อยทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และดื่มนมสำหรับเด็ก เป็นประจำเพื่อให้ร่างกายของลูกน้อยแข็งแรงตามวัย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 

 

อ้างอิง:

  1. ส่าไข้คืออะไร มีวิธีการดูแลอย่างไร, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. โรคส่าไข้ในเด็ก, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
  3. ชนิดของไข้ออกผื่น, มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน

อ้างอิง ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2567
 

บทความแนะนำ

วิธีห่อตัวทารก การห่อตัวทารกให้ลูกสบายตัว คล้ายอยู่ในท้องแม่

วิธีห่อตัวทารกที่ถูกต้อง ให้ลูกน้อยสบายตัว เหมือนอยู่ในท้องแม่

รวมวิธีห่อตัวทารกที่ถูกต้อง สำหรับคุณแม่มือใหม่ ให้ลูกน้อยรู้สึกสบายตัว หลับง่าย ลดการสะดุ้งตื่นเหมือนอยู่ในท้องแม่ จะมีวิธีห่อตัวทารกแบบไหนบ้าง ไปดูกัน

วิธีจับลูกเรอ ท่าอุ้มเรอเมื่อลูกไม่เรอ ช่วยให้ลูกสบายท้อง หลังอิ่มนม

วิธีจับลูกเรอ ท่าอุ้มเรอเมื่อลูกไม่เรอ ช่วยให้ลูกสบายท้องหลังอิ่มนม

วิธีจับลูกเรอ ท่าอุ้มเรอ เมื่อลูกไม่เรอสำหรับลูกน้อย ช่วยป้องกันอาการแหวะนม ไปดูวิธีจับลูกเรอและท่าอุ้มเรอที่ช่วยให้ลูกเรอง่ายและท้องไม่อืดหลังกินนม

เด็กร้องไห้ไม่หยุด ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมือ

เด็กร้องไห้ไม่หยุด ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมือ

เด็กร้องไห้ไม่หยุด ลูกร้องไห้ไม่มีสาเหตุและร้องไห้บ่อย เกิดจากอะไรได้บ้าง คุณแม่มีวิธีสังเกตลูกน้อยอย่างไร เมื่อลูกร้องไห้ไม่หยุด ไปดูวิธีรับมือเด็กร้องไห้กัน

พัฒนาการด้านอารมณ์เด็กแต่ละช่วงวัย พร้อมกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการลูก

พัฒนาการด้านอารมณ์เด็กแต่ละช่วงวัย พร้อมกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาการลูก

พัฒนาการด้านอารมณ์ของลูกในแต่ละช่วงวัย เป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะส่งผลต่อการตัดสินใจ การเข้าสังคม การแสดงออกและการใช้ชีวิตประจำวันของลูก

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก