ผ่าคลอดเบ่งอุจจาระได้ไหม ท้องผูกหลังผ่าคลอด คุณแม่ทำยังไงดี

ผ่าคลอดเบ่งอุจจาระได้ไหม ท้องผูกหลังผ่าคลอด คุณแม่ทำยังไงดี

21.08.2024

อาการหลังคลอดของคุณแม่ เกิดจากภาวะที่ร่างกายกำลังฟื้นฟูกลับเข้าสู่สภาวะปกติเหมือนก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งอวัยวะต่าง ๆ ต้องใช้ระยะเวลาในการกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และลำไส้ถือเป็นอวัยวะหนึ่งที่ต้องใช้เวลาในการปรับตัว ในช่วงแรกหลังคลอด ลำไส้จะยังขยับหรือเคลื่อนไหวได้ไม่ดีนัก จึงส่งผลต่อกระบวนการย่อยอาหาร รวมไปถึงการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ ขยับร่างกายน้อยอาจเนื่องมาจากการเจ็บแผลผ่าคลอด ทำให้คุณแม่หลังคลอดส่วนใหญ่ พบปัญหาอาการท้องผูกตามมาด้วย

headphones

PLAYING: ผ่าคลอดเบ่งอุจจาระได้ไหม ท้องผูกหลังผ่าคลอด คุณแม่ทำยังไงดี

อ่าน 5 นาที

 

สรุป

  • ปัญหาอาการท้องผูก เกิดขึ้นได้จากอาการเจ็บแผลผ่าคลอดอาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่อยากเบ่งอุจจาระ ซึ่งส่งผลต่ออาการท้องผูกจนถึงภาวะริดสีดวงตามมา
  • คุณแม่ผ่าคลอดสามารถเบ่งอุจจาระเบา ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นระบบขับถ่ายให้ดียิ่งขึ้น และควรทำเป็นประจำสม่ำเสมอถึงแม้จะไม่มีอาการปวดอุจจาระ เพื่อจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติ
  • วิธีรับมือเมื่อเกิดอาการท้องผูกหลังผ่าคลอด คือ การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายเบา ๆ ทั้งหมดนี้จะช่วยกระตุ้นระบบขับถ่ายให้ดีขึ้น

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ท้องผูกหลังผ่าคลอด ถือว่าเป็นเรื่องผิดปกติไหม

หลังจากการผ่าคลอดลูกแล้ว ปัญหาหนึ่งที่คุณแม่สามารถพบได้ในช่วงหลังคลอด คือ ปัญหาอาการท้องผูก เนื่องจากอาการเจ็บแผลผ่าคลอดอาจทำให้คุณแม่รู้สึกไม่อยากเบ่งอุจจาระ ซึ่งส่งผลต่ออาการท้องผูกจนถึงภาวะริดสีดวงตามมาหลังจากนั้น คุณแม่จึงควรรับประทานอาหารคุณแม่หลังคลอดที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่าง ๆ และดื่มน้ำให้มากเพียงพอ เพื่อช่วยให้คุณแม่ขับถ่ายได้ดีมากขึ้น ซึ่งหากเมื่อผ่านไปสักพักแล้วอาการท้องผูกยังไม่ดีขึ้น คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป

 

หลังผ่าคลอดท้องผูก เกิดจากอะไรได้บ้าง

สาเหตุที่คุณแม่หลังผ่าตัดคลอดอาจเกิดอาการท้องผูกได้นั้น อาจเนื่องมาจากการปรับตัวของร่างกายที่กำลังจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ รวมถึงการพักผ่อนไม่เพียงพอ การดื่มน้ำน้อย ขาดการขยับร่างกายหรือออกกำลังกาย ทั้งหมดนี้อาจส่งผลต่อการขับถ่าย และทำให้เกิดอาการท้องผูกสำหรับคุณแม่หลังคลอดได้

 

คุณแม่ผ่าคลอดเบ่งอุจจาระได้ไหม

ภายหลังคลอดลูก จะเป็นช่วงที่ร่างกายพยายามฟื้นฟูอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งการเบ่งอุจจาระเบา ๆ ถือเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยคุณแม่หลังผ่าคลอดในการกระตุ้นระบบขับถ่ายให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งคุณแม่ควรทำเป็นประจำสม่ำเสมอถึงแม้จะไม่มีอาการปวดอุจจาระก็ตาม เพื่อจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายกลับสู่ภาวะปกติ และหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่ออาการท้องผูกหรือริดสีดวง

 

ท้องผูกหลังผ่าคลอด ส่งผลกระทบอะไรกับคุณแม่บ้าง

  1. ความเครียด ความกังวล จากการที่คุณแม่จะรู้สึกไม่สบายตัวซึ่งอาจส่งผลต่อการพักผ่อนไม่เพียงพอด้วย ยิ่งทำให้อาการท้องผูกรุนแรงขึ้นได้
  2. เจ็บแผล แผลปริ เนื่องจากภาวะท้องผูก ส่งผลให้คุณแม่ต้องออกแรงเบ่งอุจจาระจนอาจทำให้เจ็บบริเวณแผลหรือแผลผ่าคลอดมีเลือดออกอักเสบข้างในได้ ดังนั้น ในช่วงแรกควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงเยอะ เพราะอาจส่งผลต่อบริเวณแผลผ่าคลอด ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ที่แผลผ่าคลอดชั้นนอกจะเริ่มสมานตัว และแผลผ่าคลอดชั้นในจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 2-4 สัปดาห์ ในการรักษาแผลผ่าคลอดจะปิดสนิทดี
  3. ริดสีดวง อาจเกิดขึ้นได้หากมีอาการท้องผูกเป็นระยะเวลานาน และออกแรงเบ่งขณะขับถ่ายมาก รวมถึงการนั่งขับถ่ายเป็นเวลานาน บางครั้งคุณแม่อาจติดการเล่นโทรศัพท์หรืออ่านหนังสือขณะขับถ่าย ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจจะส่งผลให้ริดสีดวงมีขนาดใหญ่ขึ้นได้

 

ผ่าคลอดแล้วท้องผูก กลัวเบ่งแล้วแผลปริ ทำไงดี

คุณแม่หลังคลอดควรพยายามขับถ่ายให้ถูกวิธี ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ พักผ่อนนอนหลับอย่างมีคุณภาพ ขยับร่างกาย ปรับเปลี่ยนท่าทาง ลุกนั่ง ยืน เดิน สลับกับนอนบ้าง เพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้มากขึ้น รวมถึงรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง จะช่วยให้อาการท้องผูกดีขึ้น โดยระหว่างอุจจาระสามารถเบ่งเบา ๆ ได้ และพยายามขับถ่ายให้เป็นกิจวัตร เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจทำให้แผลผ่าคลอดปริได้

 

ท้องผูกหลังผ่าคลอด อาจทำให้คุณแม่เป็นริดสีดวงได้

ริดสีดวง คือ กลุ่มหลอดเลือดบริเวณเยื่อบุทวารหนักมีการโป่งพอง จะมีอาการคล้ายมีติ่งยื่นออกจากทวารหนัก ซึ่งอาการนี้บางครั้งอาจจะพบได้ตั้งแต่ช่วงตั้งครรภ์จนถึงหลังคลอดในช่วงระยะแรก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ และระบบเลือดไหลเวียนไม่ดี ทำให้เลือดไปเลี้ยงริดสีดวงมากขึ้น ซึ่งอาการริดสีดวงที่พบได้หลังคลอด อาจทำให้ขณะอุจจาระมีอาการปวดทวารหนัก มีเลือดปนในอุจจาระ มีก้อนตรงทวารหนักจนสามารถคลำได้ หากคุณแม่มีอาการไม่มาก สามารถดูแลด้วยการด้วยการดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 2-3 ลิตร ร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีกากใยสูงเพิ่มขึ้น แต่หากอาการเจ็บปวดหนักมากขึ้น ควรรีบปรึกษาคุณหมอต่อไป

 

วิธีรับมือเมื่อคุณแม่ท้องผูกหลังคลอด

 

วิธีรับมือเมื่อคุณแม่ท้องผูกหลังคลอด

  • ออกกำลังกายหลังคลอด หรือทำกิจกรรมเบา ๆ หมั่นขยับร่างกาย เปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ ทำให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหว
  • รับประทานอาหารที่มีกากใย ไฟเบอร์สูง ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดีขึ้น และกระตุ้นระบบย่อยอาหาร
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว ช่วยทำให้อุจจาระนิ่มขึ้น และขับถ่ายง่ายขึ้น

 

ท้องผูกหลังคลอด คุณแม่กินยาระบายได้ไหม

หากปัญหาท้องผูกหลังคลอดสร้างความกังวลใจเป็นอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอและไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง ซึ่งคุณหมอจะให้การรักษาอย่างถูกวิธีที่สุด

 

ท้องผูกหลังผ่าคลอดแบบไหน ควรรีบไปพบแพทย์

โดยทั่วไปแล้ว อาการท้องผูกหลังผ่าคลอดจะดีขึ้นตามลำดับจนกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ โดยหากคุณแม่ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ รับประทานอาหารที่มีกากใยมากขึ้น ก็จะช่วยแก้ปัญหาท้องผูกได้ดียิ่งขึ้น แต่หากหลังคลอดไปสักพักนึงแล้ว อาการท้องผูกยังไม่หายไป หรือมีอาการท้องผูกมากกว่า 4 วัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรักษาอาการให้ดีขึ้นอย่างถูกวิธีและปลอดภัยต่อการให้นมลูกด้วยค่ะ

 

ภาวะท้องผูกหลังผ่าคลอด ถือเป็นปัญหากวนใจของคุณแม่หลาย ๆ ท่าน ดังนั้น คุณแม่ต้องเตรียมรับมือ และศึกษาวิธีช่วยแก้ปัญหาอาการท้องผูก ทั้งการดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายเบา ๆ หลีกเลี่ยงการเบ่งอุจจาระอย่างรุนแรง เพราะหากปล่อยให้อาการท้องผูกเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดริดสีดวงได้ เมื่อปฏิบัติตามข้อแนะนำเหล่านี้แล้ว อาการท้องผูกหลังคลอดยังไม่ดีขึ้นหรือเป็นติดต่อกันยาวนาน ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด

 

 

อ้างอิง:

  1. ภาวะหลังคลอด ที่คุณแม่ควรทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือ, โรงพยาบาลนครธน
  2. ท้องผูกหลังคลอด สาเหตุ และวิธีการรักษา, Hellokhunmor
  3. ถาม - ตอบข้อสงสัยเรื่องริดสีดวง, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  4. 8 เคล็ดลับดูแลแผลผ่าคลอดให้แผลสวย หายไว ฟื้นตัวเร็ว, โรงพยาบาลวิมุต

อ้างอิง ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2567
 

บทความแนะนำ

สังเกตภูมิแพ้ในเด็ก อาการภูมิแพ้อากาศ พร้อมวิธีให้ลูกห่างจากอาการแพ้

สังเกตภูมิแพ้ในเด็ก อาการภูมิแพ้อากาศ พร้อมวิธีให้ลูกห่างจากอาการแพ้

ภูมิแพ้ในเด็กหรือเด็กแก้อากาศในวัยบอบบางเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ได้ง่าย พ่อแม่สามารถรับมือและคัดกรองความเสี่ยงให้ลูกห่างจากอาการแพ้อากาศ พร้อมเสริมสร้างเกราะคุ้มกัน

อาการภูมิแพ้ในเด็ก คืออะไร เด็กเป็นภูมิแพ้ คุณแม่ป้องกันได้แค่ไหน

อาการภูมิแพ้ในเด็ก คืออะไร เด็กเป็นภูมิแพ้ คุณแม่ป้องกันได้แค่ไหน

ภูมิแพ้ในเด็ก คืออะไร เด็กเป็นภูมิแพ้ เกิดจากหลายปัจจัยอะไรบ้าง คุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการภูมิแพ้ในเด็กของลูกน้อย พร้อมวิธีป้องกันและหลีกเลี่ยงสารกระตุ้นภูมิแพ้

อาการภูมิแพ้ในเด็ก สาเหตุ อาการ พร้อมวิธีดูแลรักษาภูมิแพ้ในเด็ก

โรคภูมิแพ้ในเด็ก อาการ สาเหตุ พร้อมวิธีดูแลอาการภูมิแพ้ในเด็ก

ทำความรู้จักโรคภูมิแพ้ในเด็ก สาเหตุ อาการ และ 3 ข้อควรรู้เกี่ยวกับอาการภูมิแพ้ในเด็กที่เกิดขึ้นกับลูก ภูมิแพ้ในเด็กเกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลลูกน้อยเบื้องต้น

รู้ทันโรคภูมิแพ้ในเด็ก เด็กแพ้ฝุ่น ภูมิแพ้อาหาร ที่แม่ป้องกันได้

รู้ทันโรคภูมิแพ้ในเด็ก เด็กแพ้ฝุ่น ภูมิแพ้อาหาร ที่แม่ป้องกันได้

โรคภูมิแพ้ในเด็ก เกิดจากอะไร ลูกเป็นภูมิแพ้ฝุ่น ขนสัตว์หรือเด็กแพ้อาหาร คุณแม่ควรสังเกตสารก่อภูมิแพ้ในเด็ก พร้อมวิธีป้องกันอาการเด็กแพ้ฝุ่นและเด็กแพ้อาหาร

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก