ผ่าคลอดโรงพยาบาลรัฐดีไหม แพงหรือเปล่า แล้วคุณแม่ใช้สิทธิอะไรได้บ้าง

ผ่าคลอดโรงพยาบาลรัฐดีไหม คุณแม่ใช้สิทธิอะไรได้บ้าง

12.04.2024

เมื่อคุณแม่อุ้มท้องมานานถึง 9 เดือนแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะคลอดเสียที แต่การคลอดนั้นอาจจะเป็นการคลอดธรรมชาติหรือผ่าคลอด ก็ได้ โดยแพทย์จะประเมินความจำเป็นเพื่อแนะนำวิธีการคลอดที่เหมาะสมให้กับคุณแม่ ซึ่งหากคลอดธรรมชาติก็จะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และคุณแม่ฟื้นฟูร่างกายได้รวดเร็วหลังคลอดด้วย แต่การผ่าคลอดเองก็เป็นตัวเลือกที่คุณหมอจะเลือกให้ในกรณีมีความจำเป็นทางการแพทย์ เช่น เด็กอยู่ในท่าก้นหรือไม่กลับหัว หรือเสี่ยงอาจมีปัญหาในการคลอด คุณหมอจึงอาจจะแนะนำให้ผ่าคลอด ซึ่งปัจจุบันมีความปลอดภัยมากขึ้นกว่าในสมัยก่อน แต่ก็ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าด้วย

headphones

PLAYING: ผ่าคลอดโรงพยาบาลรัฐดีไหม คุณแม่ใช้สิทธิอะไรได้บ้าง

อ่าน 6 นาที

 

สรุป

  • ในการคลอด ไม่ว่าจะเป็นการคลอดเองตามธรรมชาติและหรือผ่าคลอด แพทย์จะประเมินการคลอดตามความสมควร ซึ่งการผ่าคลอดย่อมมีค่าใช้จ่ายมากกว่าคลอดธรรมชาติ และการคลอดในโรงพยาบาลรัฐอาจจะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งแม้ตามมาตรฐานการแพทย์แล้วคนไข้จะได้รับบริการเทียบเท่ากัน ปลอดภัยเท่ากันก็ตาม แต่โรงพยาบาลเอกชนก็อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามการบริการต่าง ๆ ที่เพิ่มจากปกติ
  • การผ่าคลอดในโรงพยาบาลรัฐนั้นมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ก็ขอให้สอบถามกับทางโรงพยาบาลเพื่อรับทราบรายการค่าใช้จ่ายโดยคร่าว ๆ และสามารถรับทราบสิทธิต่าง ๆ ได้อีกด้วย ทั้งสิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสิทธิประกันสังคมอีกด้วย
  • สิทธิอื่น ๆ เช่น ประกันชีวิต หรือประกันโรคต่าง ๆ ขอให้สอบถามข้อมูลจากโรงพยาบาลจะดีที่สุด

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

การคลอดมีวิธีไหนบ้าง และค่าผ่าคลอดโรงพยาบาลรัฐประมาณเท่าไร

การคลอดในโรงพยาบาลนั้น มี 2 วิธี คือคลอดออกทางช่องคลอด หรือเรียกว่าคลอดตามธรรมชาติ กับการผ่าคลอดออกมาทางหน้าท้อง ซึ่งการคลอดตามธรรมชาติ คุณแม่จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว และต้องอยู่โรงพยาบาลเพียงไม่กี่วันก็สามารถออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว ส่วนผ่าคลอดนั้นนอกจากจะทิ้งแผลผ่าคลอด ไว้แล้ว ยังเสี่ยงที่จะมีอาการแทรกซ้อนระหว่างการคลอด ซึ่งแม้การผ่าคลอดยุคปัจจุบันจะปลอดภัยมากแล้วก็ตาม แต่คุณหมอมักจะเลือกใช้วิธีผ่าคลอดเมื่อไม่มีทางเลือกอื่น หรือหากปล่อยไว้จะเป็นอันตรายกับลูกและแม่มากกว่า แม้ว่าในปัจจุบัน คุณแม่ที่ร่างกายแข็งแรง สามารถทำคลอดตามธรรมชาติได้ แต่ก็มีหลายเหตุผลที่คุณแม่หลาย ๆ ท่านขอเลือกผ่าคลอดมากกว่าจะคลอดธรรมชาติ เช่น คุณแม่ตัวเล็กไม่มีแรงเบ่ง คุณแม่กลัวเจ็บ หรือทรมาณจากการเบ่งคลอด จึงขอทางเลือกอื่นดีกว่า ซึ่งจะอยู่ที่ดุลพินิจของแพทย์เจ้าของไข้จะเลือกวิธีใดที่เหมาะสม

 

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการผ่าคลอดของแต่ละโรงพยาบาลจะแตกต่างกันออกไปตามแต่โรงพยาบาล โดยในหัวข้อนี้จะขอนำข้อมูลจากโรงพยาบาลกลาง สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานครมาเป็นตัวอย่างค่าใช้จ่ายผ่าคลอด ของโรงพยาบาลรัฐ โดยค่าใช้จ่ายทั้งสองวิธีนั้น ยังไม่รวมค่าให้ออกซิเจน ค่าตรวจเลือด ค่าตรวจทางธนาคารเลือด ค่ายา และค่าน้ำเกลือด้วย

  • คลอดธรรมชาติ การคลอดธรรมชาติ โดยไม่มีโรคแทรกซ้อน ค่าใช้จ่ายจะอยู่ประมาณ 5,500-6,000 บาท หรือหากต้องใช้เครื่องช่วยคลอดเพิ่ม ก็จะอยู่ที่ 6,350 บาท
  • ผ่าคลอด โดยไม่มีโรคแทรกซ้อน ค่าใช้จ่ายประมาณ 15,000-20,000 บาท

 

ผ่าคลอดโรงพยาบาลรัฐ ตั้งแต่ช่วงฝากครรภ์ จะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง

ค่าใช้จ่ายในการคลอดของแต่ละโรงพยาบาล ก็จะแตกต่างกันไป บางโรงพยาบาลอาจจะรวมทุกค่าใช้จ่ายเป็นราคาเดียวเสร็จสรรพ หรือบางโรงพยาบาลจะแยกค่ายา ค่าหัตถการ ค่าห้องพักออกจากกัน ขอให้สอบถามกับทางโรงพยาบาล โดยแนะนำให้เป็นโรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ไว้ตั้งแต่แรกจะดีที่สุด เนื่องจากโรงพยาบาลและคุณหมอมีข้อมูลการฝากครรภ์และข้อมูลคนไข้เยอะและละเอียด ซึ่งช่วยให้ทำคลอดได้ปลอดภัยกว่า โดยในหัวข้อนี้ได้นำข้อมูลมากจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ดังนี้

  • ค่าฝากครรภ์ โดยรวมตลอดค่าฝากครรภ์คุณแม่ จะประมาณ 5,000 บาท ราคานี้ไม่รวมการตรวจพิเศษอื่น ๆ
  • ค่าตรวจครรภ์ ครั้งละ 100 บาท โดยตรวจประมาณ 8-10 ครั้ง
  • ค่ายาและวัคซีน โดยเป็นค่ายาและวิตามินบำรุงและวัคซีนที่จำเป็น ประมาณ 1,800 บาท
  • ค่าอัลตราซาวด์ ครั้งละ 500 บาท ตรวจตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์

 

ผ่าคลอดที่โรงพยาบาลรัฐและโรงบาลเอกชนแตกต่างกันมากหรือไม่

 

หากต้องการผ่าคลอดโรงพยาบาลเอกชนล่ะ ราคาประมาณเท่าไหร่

หากครอบครัวหรือคุณแม่ต้องการที่จะผ่าคลอดโรงพยาบาลเอกชน ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นตามแต่ละโรงพยาบาลกำหนด ซึ่งโดยประมาณ อาจมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 40,000 บาทขึ้นไป แต่ราคามักจะรวมบริการอื่นและค่าห้องพักฟื้นไว้แล้วในราคานี้ ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียด แนะนำให้สอบถามกับทางโรงพยาบาลจะได้ข้อมูลที่ถูกต้อง แม่นยำกว่า ในหัวนี้ยกตัวอย่าง Package บริการผ่าคลอดของโรงพยาบาลพญาไท โดยจะมีค่าใช้จ่ายโดยรวมประมาณ 48,000-53,000 บาท

 

ผ่าคลอดโรงพยาบาลรัฐ ควรเตรียมตัวอย่างไร และต้องเตรียมค่าใช้จ่ายเท่าไหร่บ้าง

ควรเตรียมตัวเหมือนกับการคลอดทั่วไป คือของใช้เตรียมคลอด และเตรียมสัมภาระจำเป็น เช่น เสื้อผ้า ของใช้เด็กอ่อน ผ้าอ้อม เสื้อผ้าเด็กอ่อน เอกสารประจำตัวคุณแม่ เอกสารฝากครรภ์รวมถึงประวัติผู้ป่วย ควรเตรียมทุกอย่างไว้ล่วงหน้า ถ้าหากจำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล จะได้เดินทางได้ทันที รวดเร็ว และควรเตรียมค่าใช้จ่ายตั้งแต่ค่าฝากครรภ์จนถึงค่าผ่าคลอดและค่าห้องพักโดยใช้ข้อมูลจากโรงพยาบาลรามาธิบดี ดังนี้

  • ค่าฝากครรภ์ ประมาณ 5,000 บาท ตลอดการฝากครรภ์
  • ค่าผ่าคลอด ประมาณ 25,000-40,000 บาท
  • ค่าห้องพักฟื้น ประมาณวันละ 2,360 บาท โดยจะพักฟื้นประมาณ 4-5 วัน

 

ค่าผ่าคลอด โรงพยาบาลเอกชน ต่างจากโรงพยาบาลรัฐมากหรือไม่

ค่าการผ่าคลอด ระหว่างในโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน ต้องมีราคาต่างกันอย่างแน่นอน เพราะโรงพยาบาลเอกชนจำเป็นต้องมีค่าบริการเพิ่มเติมจากค่าใช้จ่ายทั่วไปอีกด้วย จะขออนุญาตยกตัวอย่างค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าผ่าคลอดจากโรงพยาบาลกลาง ประมาณ 15,000 บาท และโรงพยาบาลพญาไท ประมาณ 20,000-40,000 บาท ซึ่งจะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลเอกชนจะมีค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าผ่าคลอดสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ ตั้งแต่ประมาณ 5,000-25,000 บาท เป็นต้นไป

 

ผ่าคลอดโรงพยาบาลรัฐ ใช้สิทธิบัตรทองได้หรือไม่ รวมสิทธิประกันสังคม

สิทธิบัตรทอง หรือชื่อเต็มคือสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถเข้ารับบริการฝากครรภ์ ไปจนคลอดบุตรได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะคลอดเองตามธรรมชาติหรือว่าผ่าคลอด แต่หากเป็นการเลือกผ่าคลอดเองนอกเหนือจากที่แพทย์วินิจฉัยว่ามีความจำเป็น จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการผ่าคลอดเอง สิทธิประกันสังคมก็สามารถใช้ได้เช่นกัน แต่จะให้ผู้เข้ารับการบริการสำรองจ่ายค่าผ่าคลอดไปก่อน แล้วจึงนำเอกสารค่าใช้จ่ายไปขอเบิกคืนจากสำนักงานประกันสังคมต่อไป

 

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่กังวลกับวันคลอดที่ใกล้จะมาถึงหรือเริ่มมีอาการใกล้คลอด แล้ว แต่ยังไม่มั่นใจว่าการคลอดจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่บ้าง ขอแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ สอบถามกับทางแพทย์ที่ฝากครรภ์แต่เนิ่น ๆ เพราะจะได้เตรียมตัว เตรียมร่างกาย และค่าใช้จ่าย นอกจากจะลดภาวะความเครียด ลดความวิตกกังวลให้คุณแม่แล้ว ทางคุณพ่อเองก็จะได้ไม่กดดันกับภาระที่คาดไม่ถึง เนื่องจากได้รับข้อมูลมาแล้วล่วงหน้าหลายเดือน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการคลอดตามธรรมชาติหรือผ่าคลอด หรือจะเลือกคลอดโรงพยาบาลใด ก็ขอให้สอบถามข้อมูลอย่างละเอียดกับทางโรงพยาบาล เพื่อสวัสดิภาพของคุณแม่และลูกน้อยที่สมบูรณ์ แข็งแรง

 

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. โปรแกรมสุขภาพของโรงพยาบาลกลาง, Healthserv
  2. แพ็กเกจคลอดเหมาจ่าย คลอดอุ่นใจ, โรงพยาบาลพญาไท
  3. จะคลอดธรรมชาติ หรือ ผ่าคลอด ดีนะ?, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. การเข้ารับบริการฝากครรภ์และการคลอด, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  5. “หญิงไทยตั้งครรภ์ทุกสิทธิ” มีสิทธิ “ฝากครรภ์คุณภาพ” กับกองทุนบัตรทอง, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  6. สิทธิประกันสังคมสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลเพชรเวช

อ้างอิง ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567

บทความแนะนำ

อาการก่อนเมนส์มากับท้อง ต่างกันยังไง ทำไมถึงมีอาการคล้ายกัน

อาการก่อนเมนส์มากับท้องต่างกันยังไง ทำไมถึงมีอาการคล้ายกัน

อาการก่อนเมนส์มากับท้องต่างกันยังไง ทำไมถึงมีความคล้ายกันและมักแยกกันไม่ออก ไปดูความแตกต่างอาการก่อนเมนส์มากับท้อง เพื่อสังเกตอาการเบื้องต้น

โครโมโซม คืออะไร การคัดกรองโครโมโซมทารกในครรภ์ บอกอะไรบ้าง

โครโมโซม คืออะไร การคัดกรองโครโมโซมทารกในครรภ์ บอกอะไรบ้าง

โครโมโซม คืออะไร โครโมโซม มีกี่คู่ ทำความรู้จัก โครโมโซม และวิธีการตรวจโครโมโซมทารกในครรภ์ เพื่อเช็กความผิดปกติของทารก พร้อมวิธีตรวจคัดกรองโครโมโซมอย่างละเอียด

คนท้องติดโควิด คนท้องเป็นโควิดอันตรายไหม พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

คนท้องติดโควิด คนท้องเป็นโควิดอันตรายไหม พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

คนท้องติดโควิด ทารกในครรภ์จะเป็นอันตรายไหม คนท้องเป็นโควิดฉีดวัคซีนและให้นมลูกได้หรือไม่ คนท้องติดโควิด ควรดูแลตัวเองอย่างไร ไปดูวิธีดูแลตัวเองเมื่อติดโควิดกัน

จุกหลอก ดีกับลูกน้อยจริงไหม จุกนมหลอก ข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง

จุกหลอก ดีกับลูกน้อยจริงไหม จุกนมหลอก ข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง

จุกหลอกใช้ได้ตอนไหน จุกหลอกหรือจุกนมหลอกช่วยเบี่ยงเบนความสนใจและป้องกันลูกน้อยดูดนิ้วตัวเองได้จริงหรือไม่ ไปดูข้อดีและข้อเสียของจุกหลอกที่คุณแม่ควรรู้ไว้กัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก