คนท้องติดโควิด เป็นโควิดตอนท้อง อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า
ในช่วงที่โควิด-19 กำลังแพร่ระบาด คุณแม่ตั้งครรภ์ควรดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัดเพื่อป้องกันการรับเชื้อโควิด เนื่องจากคนท้องติดโควิดหรือคนท้องเป็นโควิด จะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนทั่วไป เสี่ยงต่อการเสียชีวิต และมีโอกาสส่งต่อเชื้อไปยังลูกในท้องอีกด้วยโดยเฉพาะคุณแม่ที่อายุครรภ์มาก คุณแม่จึงควรทราบวิธีดูแลตัวเองและลูกในท้องอย่างถูกต้อง
PLAYING: คนท้องติดโควิด เป็นโควิดตอนท้อง อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า
สรุป
- คนท้องเป็นโควิดมีโอกาสจะมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไป และมีโอกาสแพร่เชื้อไปสู่ลูกในท้องได้ รวมถึงเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดด้วย
- คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ เมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ควรเว้นระยะห่างจากวัคซีนอื่นอย่างน้อย 2 สัปดาห์
- คุณแม่เป็นโควิดสามารถให้นมลูกได้ตามปกติ เนื่องจากเชื้อโควิดไม่สามารถแพร่ผ่านทางน้ำนมแม่ไปสู่ลูกน้อยในครรภ์ได้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- คนท้องติดโควิด มีผลต่อสุขภาพและทารกในครรภ์อย่างไร
- แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 ระหว่างตั้งครรภ์
- คุณแม่ป่วยเป็น โควิด-19 ให้นมลูกได้ไหม
- โควิด-19 ไม่สามารถติดต่อผ่านทางน้ำนมแม่ไปสู่ทารกได้
- ข้อปฏิบัติในการให้นมทารกจากเต้า
- ข้อปฏิบัติกรณีคุณแม่ปั๊มนม
- คุณแม่ตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม
คุณแม่ท้องเป็น 1 ใน 6 กลุ่มเปราะบาง มีความเสี่ยงรุนแรงกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า โดยเฉพาะคุณแม่ตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 ถือเป็นระยะอันตราย เนื่องจากมดลูกมีขนาดใหญ่ ทำให้ปอดคุณแม่ขยายตัวไม่ดี หากติดเชื้อ อาจพบอาการรุนแรง มีโอกาสเกิดภาวะปอดอักเสบได้สูง เมื่อคุณแม่มีภาวะปอดอักเสบ จะทำให้ลูกน้อยในครรภ์ได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า คนท้องติดเชื้อโควิด มีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าคนทั่วไปถึง 2.5 เท่า และคุณแม่ท้องที่ติดเชื้อโควิด มีโอกาสส่งต่อเชื้อไปยังลูกในท้อง 2-5 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนั้น ข้อมูลอื่นยังบ่งชี้ว่ามีโอกาสคลอดก่อนกำหนดสูงถึง 15.1 เปอร์เซ็นต์
คนท้องติดโควิด มีผลต่อสุขภาพและทารกในครรภ์อย่างไร
อันตรายเมื่อคุณแม่ท้องติดโควิด คนท้องติดโควิด เสี่ยงต่อสุขภาพและลูกน้อยในครรภ์ ดังนี้
1. เชื้อโควิดส่งต่อจากแม่สู่ลูก
เมื่อคนท้องเป็นโควิดมีโอกาสที่ลูกในท้องจะติดเชื้อโควิดจากแม่ 2-5 เปอร์เซ็นต์ โดยคุณแม่ใกล้คลอดมีโอกาสส่งต่อเชื้อไปยังลูกน้อยมากกว่าคุณแม่ที่มีอายุครรภ์น้อย
2. ทารกคลอดก่อนกำหนด
มีรายงานการคลอดก่อนกำหนดในคุณแม่ท้องที่ติดโควิด และทารกที่คลอดก่อนกำหนดมักมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ แต่ยังไม่มีงานวิจัยที่พบว่าคนท้องมีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าคนทั่วไป
3. การแท้งลูก ทารกพิการในครรภ์ ทารกเสียชีวิตในครรภ์
งานวิจัยทั่วโลกยังไม่พบว่า คนท้องที่ติดโควิด มีความเสี่ยงมากกว่าคนท้องทั่วไป
แนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 ระหว่างตั้งครรภ์
คุณแม่ท้องสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยต้องมีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ (3 เดือน) ขึ้นไป และไม่ควรฉีดพร้อมกับวัคซีนอื่น ๆ ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังพบว่า ทารกบางรายมีภูมิต้านทานโควิดตั้งแต่เกิด หลังจากที่คุณแม่ได้รับการฉีดวัคซีนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ที่คุณแม่ฝากครรภ์ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด
คุณแม่ป่วยเป็น โควิด-19 ให้นมลูกได้ไหม
เนื่องจาก ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่แน่ชัดว่า เชื้อไวรัสโควิดสามารถติดต่อผ่านทางน้ำนมได้ ดังนั้น คุณแม่ที่เป็นโควิด หรือสงสัยว่าเป็นโควิด สามารถให้นมลูกได้ โดยใส่หน้ากากอนามัยและรักษาความสะอาดของมือเพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย ในกรณีคุณแม่มีความจำเป็นที่ต้องได้รับยาเพื่อการรักษา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการให้นมบุตร
โควิด-19 ไม่สามารถติดต่อผ่านทางน้ำนมแม่ไปสู่ทารกได้
ยังไม่มีรายงานว่า เชื้อโควิดสามารถติดต่อผ่านทางน้ำนมแม่ไปสู่ทารกได้ คุณแม่สามารถให้นมลูกได้ตามปกติ ทั้งคุณแม่กลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มที่ติดเชื้อโควิด โดยให้ปฏิบัติตามคำนำแนะนำอย่างเคร่งครัด
ข้อปฏิบัติในการให้นมทารกจากเต้า
คุณแม่ควรใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ทั้งก่อนและหลังให้นมลูก ควรอาบน้ำและเช็ดทำความสะอาดเต้านมและหัวนมก่อนทุกครั้ง ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนและหลังสัมผัสลูก หลีกเลี่ยงการไอ จาม และการหอมลูก
ข้อปฏิบัติกรณีคุณแม่ปั๊มนม
คุณแม่ควรใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาขณะการปั๊มนม ล้างมือด้วยน้ำและสบู่ทุกครั้งก่อนและหลังปั๊มนม ทำความสะอาดขวดนมและเครื่องปั๊มนมทุกครั้งหลังใช้งาน เก็บขวดนมในถุง และฆ่าเชื้อภายนอกถุงด้วยแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ ก่อนเก็บรักษาทุกครั้ง
คุณแม่ตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ ฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม
คุณแม่ตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้ ยกเว้นกรณีมีข้อห้าม เช่น มีอาการแพ้รุนแรงจากการฉีดครั้งแรก โดยอายุครรภ์ที่แนะนำคือช่วง 3 เดือนขึ้นไป หรือ 12 สัปดาห์ขึ้นไป และควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนโควิดร่วมกับวัคซีนชนิดอื่น ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 สัปดาห์ รวมถึง คุณแม่หลังคลอดที่กำลังให้นมลูก ก็สามารถฉีดวัคซีนโควิดได้เช่นเดียวกัน
คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัดในการดูแลร่างกายตัวเองและลูกน้อยให้แข็งแรงปลอดภัย เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดเมื่ออายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงดูแลจิตใจให้ผ่อนคลาย ไม่ควรเครียดหรือวิตกกังวลจนเกินไป หากคุณแม่ตั้งครรภ์ติดโควิด คนท้องเป็นโควิด ควรเข้ารับการรักษา เพื่ออยู่ในการดูแลของแพทย์โดยเร็วที่สุด
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- น้ำคร่ำ คืออะไร น้ำคร่ำรั่ว อาการแบบไหน สัญญาณใกล้คลอดที่ต้องรับมือ
- อาการท้องแข็งบ่อย ลูกโก่งตัวบ่อย อันตรายหรือไม่ ทำไมคุณแม่ต้องรู้
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ อันตรายไหม ส่งผลกระทบกับคุณแม่และลูกในท้องอย่างไร
- เลือดล้างหน้าเด็กสีอะไร เลือดล้างหน้าเด็กสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์
- ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง คืออะไร อันตรายไหม สำหรับแม่ตั้งครรภ์
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- อาหารคนท้องไตรมาสแรก โภชนาการที่สำคัญสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมืออาการซึมเศร้าหลังคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- โควิดในหญิงตั้งครรภ์ อันตรายต่อทารกหรือไม่? มีวิธีดูแลตัวเองอย่างไรในสถาการณ์โควิด-19, โรงพยาบาล พีเอ็มจี
- คุณแม่ตั้งครรภ์ ดูแลตัวเองยังไงช่วงโควิด-19, โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์แนชั่นแนล อ้อมน้อย
- อันตรายแค่ไหนเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ป่วย COVID-19, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- ข้อควรรู้! สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ควรดูแลตัวเองอย่างไร?, โรงพยาบาลศิครินทร์
อ้างอิง ณ วันที่ 27 มกราคม 2567