จุกหลอก ดีกับลูกจริงไหม จุกนมหลอก มีข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง
จุกหลอก หรือจุกนมหลอก สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่ยังลังเลจุกหลอก จำเป็นไหม มีประโยชน์และปลอดภัยกับลูกน้อยหรือมีข้อดีข้อเสียอย่างไร หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจก่อนใช้ก็สามารถเลือกได้ว่าจะใช้จุกนมหลอกให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อลูกน้อยได้อย่างไร
สรุป
- หากคุณแม่จำเป็นต้องใช้จุกหลอก ควรเริ่มใช้ได้หลังลูกอายุ 3-4 สัปดาห์ หลังลูกคุ้นเคยจากการดูดนมแม่แล้ว
- คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้ทารกใช้จุกหลอกจนเกินอายุ 6 เดือนหรือไม่ควรให้เด็กที่อายุเกิน 4 ปีใช้จุกนมหลอก เพราะจะทำให้ลูกติดจุกหลอกจนไม่ยอมเข้าเต้ากินนมแม่และเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา
- การใช้จุกหลอกอาจจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับทารกในการดูด แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่การตัดสินใจให้ลูกได้ใช้จุกนมหลอกนั้นอาจเป็นเรื่องที่ต้องชั่งใจ เพราะในช่วงวัยแรกเกิดจนถึง 6 เดือนนั้นการให้ลูกได้ดูดนมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- จุกหลอก จุกนมหลอก มีไว้เพื่ออะไร
- จุกหลอกที่ดีกับลูกน้อย ควรเป็นแบบไหน
- จุกนมหลอก มีข้อดีอะไรบ้าง
- รวมข้อเสียของจุกนมหลอก
- ควรให้ลูกเริ่มใช้จุกหลอกตอนไหนดี
- วิธีใช้จุกหลอกที่ถูกต้อง ปลอดภัยต่อลูกน้อย
- ควรให้ลูกเลิกใช้จุกนมหลอกเมื่อไหร่
- เคล็ดลับให้ลูกเลิกใช้จุกนมหลอกแบบง่าย ๆ
จุกนมหลอก สามารถนำมาเป็นตัวช่วยเพื่อป้องกันการดูดนิ้วหรือการหยิบจับสิ่งของใกล้มือมาเข้าปากในเวลาที่คุณแม่ไม่ได้อยู่ใกล้ ๆ ลูกน้อย แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ที่ยังลังเล จุกหลอก จำเป็นมั้ย ใช้อย่างไรจะไม่เกิดผลเสียและปลอดภัยต่อลูกน้อย พิจารณาก่อนเลือกใช้ว่ามีข้อดีและข้อเสียอย่างไร มาหาคำตอบกันค่ะ
จุกหลอก จุกนมหลอก มีเพื่อทำอะไร
จุกหลอกหรือจุกนมหลอก เป็นวัสดุที่ผลิตจากยางหรือซิลิโคน มีหลายขนาดให้คุณแม่เลือกใช้ขึ้นอยู่กับอายุของลูก การใช้จุกหลอกนั้นควรเริ่มให้ลูกใช้หลังอายุ 3-4 สัปดาห์ มีส่วนช่วยเพื่อป้องกันลูกดูดนิ้ว ซึ่งอาจเป็นพฤติกรรมที่ลูกน้อยติดตัวมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ตั้งแต่อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ และในช่วงวัยทารกได้ อีกทั้งพัฒนาการของเด็กในช่วงวัยนี้จะเริ่มไขว่คว้าจับสิ่งของใกล้ตัวมาเข้าปาก
การใช้จุกหลอกจึงเป็นตัวช่วยเพื่อป้องกันสิ่งของที่ลูกอาจนำเข้าปากที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อลูกน้อยได้ ทั้งนี้หัวจุกหลอกจะคล้ายกับหัวนมของคุณแม่เวลาที่ทารกดูดจุกนมหลอกจึงทำให้ลูกน้อยรู้สึกคุ้นเคย อุ่นใจ รู้สึกสงบและผ่อนคลาย จึงช่วยทำให้ลูกน้อยลดอาการงอแง หยุดร้องไห้ และหลับได้ง่ายขึ้น
จุกหลอกที่ดีกับลูกน้อย ควรเป็นแบบไหน
หากคุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องใช้จุกนมหลอก สิ่งที่คำนึงเป็นอันดับต้น ๆ คือการเลือกใช้จุกหลอกที่ปลอดภัยจากสาร BPA ซึ่งเป็นสารเคมีอันตรายหากเข้าสู่ร่างกายก็จะส่งผลอันตรายต่อทารกได้ และสังเกตจุกหลอกควรจะมีรูระบายอากาศเพื่อให้อากาศผ่านขณะดูดและลดการสะสมเชื้อโรค ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงสายจุกหลอก เพราะอาจทำให้สายไปพันคอเด็กเกิดอันตรายโดยไม่รู้ตัวได้ หรือหากเป็นไปได้การหลีกเลี่ยงการใช้จุกนมหลอกกับลูกน้อย ก็จะส่งผลดีต่อพัฒนาการเจ้าตัวน้อยวัยช่วงแรกเกิดได้
จุกนมหลอก มีข้อดีอะไรบ้าง
การใช้จุกหลอกควรเริ่มใช้ได้หลังลูกอายุ 3-4 สัปดาห์ หลังลูกคุ้นเคยจากการดูดนมแม่แล้ว หากคุณแม่จำเป็นต้องใช้จุกหลอก อาจมีประโยชน์ต่อลูกน้อย
1. ช่วยทำให้ลูกอารมณ์ดี รู้สึกสงบและผ่อนคลาย
การดูดถือเป็นสัญชาตญาณหนึ่งของทารก การใช้จุกหลอกให้ลูกดูดก็เป็นตัวช่วยที่ทำให้เจ้าตัวน้อยอารมณ์ดีได้ ทำให้ลูกได้ฝึกควบคุมอารมณ์ในช่วงเวลาที่กำลังงอแงลงได้
2. ช่วยทำให้ลูกนอนหลับได้ง่ายและนานขึ้น
การใช้จุกหลอกสำหรับลูกน้อยที่มีปัญหาในการนอนจะช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายทำให้นอนหลับได้นานขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการนอนหลับเวลากลางคืน เมื่อลูกน้อยหลับสนิทร่างกายและสมองได้พักผ่อนเต็มที่ ร่างกายจะมีการผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ขึ้นมา ซึ่งมีส่วนช่วยให้ร่างกายได้เจริญเติบโตสมวัย สร้างภูมิต้านทาน และพัฒนาการด้านสมอง รวมถึงช่วยกระตุ้นการสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ให้แข็งแรง
3. เป็นตัวช่วยเบี่ยงเบนความสนใจ
ในกรณีที่คุณพ่อคุณแม่พาลูกน้อยไปหาหมอตามนัดเพื่อทำการตรวจหรือฉีดวัคซีน หรือการพาไปเที่ยวเปลี่ยนสถานที่ใหม่ ๆ ในบรรยากาศที่ไม่คุ้นเคย อาจทำให้เจ้าตัวน้อยร้องงอแง การใช้จุกนมหลอกสามารถเป็นตัวช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของเจ้าตัวน้อยได้ จะทำให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายลดความกังวลลง รวมถึงสามารถใช้จุกหลอกในขณะที่คุณพ่อคุณแม่พาลูกน้อยขึ้นเครื่อง นอกจากจะทำให้ลูกรู้สึกสงบผ่อนคลาย ในขณะที่เครื่องกำลังขึ้นการใช้จุกนมหลอกยังช่วยปรับระดับความดันภายในหู ลดอาการหูอื้อระหว่างที่เครื่องกำลังขึ้นได้
4. ช่วยป้องกันลูกน้อยหยิบของเข้าปาก
ในช่วงพัฒนาการ 4-6 เดือนของเจ้าตัวน้อยเริ่มที่จะใช้มือไขว่คว้า หรือเอื้อมหยิบจับและคว้าสิ่งของมือเดียวได้แล้ว ของที่วางอยู่ใกล้ตัวลูกอาจจะนำมาเข้าปาก สิ่งของที่ลูกจับอาจจะสกปรกและมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค ทำให้ลูกน้อยได้รับเชื้อโรคและอาจเกิดการเจ็บป่วยไม่สบายได้
5. ช่วยป้องกันลูกดูดนิ้วไม่อยากให้ติดเป็นนิสัย
สำหรับทารกและเด็กเล็กนั้น การดูดนิ้วถือเป็นพัฒนาการตามวัยโดยธรรมชาติของทารก ซึ่งทารกบางคนอาจดูดนิ้วมาตั้งแต่ในท้องแม่ที่ทำให้ลูกน้อยรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย การดูดนิ้วจึงถือว่าเป็นพฤติกรรมปกติของทารกแรกเกิดจนถึง 2 ขวบ และจะหยุดดูดนิ้วได้เองภายใน 2-4 ขวบ แต่หากลูกติดดูดนิ้วเป็นเวลานานก็จะส่งผลเสียต่อรูปฟัน การให้ลูกใช้จุกหลอกนั้นอาจช่วยป้องกันลูกดูดนิ้วและสอนลูกให้เลิกใช้จุกง่ายกว่า แต่หากปล่อยให้ลูกใช้จุกนมหลอกเป็นเวลานานก็อาจส่งผลเสียได้เหมือนกับการดูดนิ้วเช่นกัน
6. ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไหลตายในทารก หรือ SIDS
โดยทั่วไปอาจเกิดขึ้นได้กับทารกตั้งแต่วัย 1 เดือนถึง 1 ขวบ และเกิดขึ้นกับทารกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือนประมาณร้อยละ 90 ซึ่งจะพบว่าทารกจะมีอาการหยุดหายใจขณะหลับและไม่ตื่นขึ้นมาหายใจอีก สาเหตุอาจเกิดได้หลายปัจจัย เช่น การให้ทารกนอนคว่ำ เกิดจากการกดทับขณะนอนร่วมกับพ่อแม่บนที่นอนเดียวกัน หรืออาจมีวัตถุสิ่งของหรือผ้าไปอุดทางเดินหายใจขณะนอนหลับ จนทำให้ลูกหายใจไม่ออก เป็นต้น
การใช้จุกนมหลอกให้ลูกดูดในขณะที่นอนหลับจะมีส่วนช่วยให้ทารกหายใจได้สม่ำเสมอ นอนหลับสบายขึ้น นอกจากนี้ควรให้ทารกนอนท่าหงายหรือนอนตะแคงเพื่อให้ลูกน้อยหายใจได้สะดวกสบายกว่าท่านอนคว่ำ เบาะหรือที่นอนของลูกน้อยควรแข็งแรงไม่อ่อนยวบ ไม่วางตุ๊กตาหรือของเล่นบนที่นอนใกล้ตัวลูก ไม่ใช้ผ้าห่มหนา ๆ ห่มตัว เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดทางเดินหายใจระหว่างหลับของลูกน้อยและช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค SIDS
รวมข้อเสียของจุกนมหลอก
การใช้จุกหลอกอาจจะมีประโยชน์สำหรับคุณแม่ที่มีความจำเป็นต้องให้ลูกน้อยใช้จุกนมหลอก แต่ในขณะเดียวกันหากใช้จุกหลอกกับลูกน้อยนานเกินไป ก็อาจพบข้อเสียได้ เช่น
ติดจุกนมหลอกไม่เข้าเต้า
หนึ่งในปัญหาลูกไม่เอาเต้า คือการที่คุณแม่ให้ลูกใช้จุกหลอกเร็วเกินไป ทำให้ลูกน้อยเกิดภาวะสับสนหัวนม คือการสับสนระหว่างการดูดนมแม่กับการดูดจุกนมหลอก ที่มีวิธีการดูดแตกต่างกัน โดยการดูดนมแม่นั้นทารกจะต้องใช้ลิ้นและขยับกรามเพื่อออกแรงดูดน้ำนมจากเต้าแม่ แต่การดูดจุกนมนั้นง่ายและทำให้ลูกปฏิเสธนมแม่ หันไปติดจุกหลอกหรือติดการดูดนมจากขวดมากกว่า หากคุณแม่จำเป็นต้องใช้จุกนมหลอกควรเริ่มหลังจากให้ลูกน้อยดูดเต้าไปก่อนอย่างน้อย 3-4 สัปดาห์
ติดจุกหลอกจนฟันผิดรูป
หากปล่อยให้ลูกใช้จุกหลอกนานเกินไปหรือใช้จนถึงช่วงที่ลูกฟันขึ้น อายุมากกว่า 2 ปีขึ้นไป อาจทำให้เกิดปัญหาในช่องปากตามมาได้ เช่น ส่งผลเสียต่อการเรียงตัวของฟัน ทำให้ฟันน้ำนมขึ้นผิดรูป ฟันหน้าบนและล่างไม่สบกันทำให้ใช้ฟันกัดเพื่อตัดอาหารไม่สะดวก ฟันเหยิน เป็นต้น
ติดจุกหลอกจนงอแง
ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่ใช้จุกนมหลอกเพื่อลดอาการงอแงของลูกน้อย และทำให้ลูกหลับได้นานขึ้น แต่หากลูกติดจุกหลอกมากเกินไป เมื่อไม่ได้ดูดหรือจุกนมหลอกหลุดออกจากปาก ก็อาจทำให้เจ้าตัวน้อยเกิดอาการงอแงส่งเสียงรบกวนได้โดยเฉพาะในช่วงเวลากลางคืน
ติดจุกหลอกเสี่ยงติดเชื้อ
การใช้จุกนมหลอกสำหรับลูกน้อยหากไม่ทำความสะอาดอย่างเหมาะสม หรือขณะลูกดูดจุกหลอกแล้วหล่นใส่พื้น หยิบขึ้นมาเข้าปากก่อนทำความสะอาด จุกนมหลอกจึงกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคส่งผลให้ลูกน้อยมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดหูชั้นกลางอักเสบได้ ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถป้องกันได้โดยให้ลูกน้อยฝึกเลิกใช้จุกนมหลอกได้ตั้งแต่อายุไม่เกิน 6 เดือนถึง 1 ปีขึ้นไป
ควรให้ลูกเริ่มใช้จุกหลอกตอนไหนดี
หากคุณพ่อคุณแม่มีความจำเป็นที่จะต้องให้ลูกน้อยใช้จุกหลอก ควรให้ลูกเริ่มใช้หลังจากลูกคุ้นเคยกับการดูดนมจากเต้าแม่ก่อน หรือในช่วง 1 เดือนแรกหลังคลอดเพื่อไม่ให้ลูกเกิดภาวะสับสนหัวนมและติดจุกจนไม่ยอมเข้าเต้ากินนมแม่ ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรให้ทารกใช้จุกหลอกจนเกินอายุ 6 เดือนหรือไม่ควรให้เด็กที่อายุเกิน 4 ปีใช้จุกนมหลอก เพราะอาจทำให้ลูกติดจุกหลอกจนทำให้ส่งผลเสียต่อรูปฟันผิดลักษณะได้
วิธีใช้จุกหลอกที่ถูกต้อง ปลอดภัยต่อลูกน้อย
หากคุณแม่จำเป็นต้องใช้จุกหลอกกับลูกน้อย ควรพิจารณาว่าใช้อย่างไรจะปลอดภัยต่อลูกน้อย โดยสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เช่น
- ไม่ควรใช้จุกหลอกร่วมกับเด็กคนอื่น การสลับจุกนมหลอกกันใช้หรือการให้ลูกใช้จุกนมหลอกของเด็กคนอื่นจะส่งผลให้เกิดการติดเชื้อโรคร่วมกันได้ง่าย
- ควรเปลี่ยนจุกหลอกอันใหม่ทุกเดือน เพื่อความสะอาดและมีอนามัยที่ดีต่อลูกน้อย
- ควรเลือกจุกหลอกที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย และเลือกขนาดของจุกหลอกให้เหมาะกับปากของลูกน้อยเพื่อให้ลูกน้อยได้ดูดอย่างกระชับพอดี ไม่เล็กหรือมีขนาดใหญ่เกินไป
- หมั่นทำความสะอาดและฆ่าเชื้อจุกหลอกสม่ำเสมอ ทำความสะอาดจุกนมหลอกด้วยการใช้สบู่สำหรับล้างผลิตภัณฑ์เด็กอ่อนและใช้น้ำร้อนล้างเพื่อฆ่าเชื้อโรค
ควรให้ลูกเลิกใช้จุกนมหลอกเมื่อไหร่
หากเป็นไปได้คุณพ่อคุณแม่ควรให้เจ้าตัวน้อยฝึกเลิกการดูดจุกหลอกตั้งแต่หลังอายุ 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งโดยทั่วไปเด็กส่วนใหญ่ในวัย 2-4 ปี ก็จะเลิกการดูดจุกไปเอง แต่หากลูกมีอาการติดจุกหลอกไม่ยอมเลิก คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อขอรับคำแนะนำและหาแนวทางรักษาที่เหมาะสมต่อไป
เคล็ดลับให้ลูกเลิกใช้จุกนมหลอกแบบง่าย ๆ
การดูดจุกหลอกอาจจะทำให้ลูกน้อยรู้สึกพอใจและผ่อนคลาย แต่เมื่อถึงเวลาคุณพ่อคุณแม่ควรหยุดการใช้จุกหลอก เพื่อป้องกันการติดจุกที่อาจส่งผลให้เกิดปัญหาภายในช่องปากและพัฒนาการของลูกตามมาได้ ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกได้เลิกการใช้จุกหลอกตั้งแต่อายุยังน้อยหรือหลัง 6 เดือน โดยวิธีเลิกใช้จุกหลอกกับลูกแบบง่าย ๆ เช่น
- ใช้ของเล่นเบี่ยงเบนความสนใจ พัฒนาการของเด็กช่วงวัย 4-6 เดือน สามารถใช้มือคว้าจับสิ่งของได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจหาของเล่นมาให้ลูกใช้มือจับแทนจุกนมหลอก อาจเป็นของเล่นเสริมทักษะที่ช่วยเสริมพัฒนาการตามวัยและทำให้เจ้าตัวน้อยสนุกจนลืมสนใจจุกหลอกลงได้
- ใช้วิธีเล่านิทานให้ลูกฟัง คุณพ่อคุณแม่อาจจะแต่งนิทานโดยใช้จินตนาการจากโครงเรื่องที่คุ้นเคยมาเล่าเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากความต้องการดูดจุกหลอก
- ตัดปลายจุกหลอกทีละน้อย วิธีนี้เป็นการค่อย ๆ ลดจำนวนการใช้จุกหลอกลง โดยทุกครั้งที่ลูกงอแงอยากดูดจุกหลอก คุณพ่อคุณแม่ค่อย ๆ ตัดปลายจุกหลอกทีละนิด เพื่อให้ลูกค่อย ๆ รู้สึกว่าการดูดจุกหลอกไม่ดีเหมือนเดิม ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนลดจำนวนจุกนมหลอกลง จนลูกไม่รู้สึกต้องการดูดจุกหลอกอีกต่อไป วิธีแบบค่อยเป็นค่อยไปจะช่วยให้ลูกได้ปรับอารมณ์และจิตใจต่อการเลิกใช้จุกหลอกลงได้อย่างนุ่มนวล
- ให้ลูกได้กินนมจากเต้าแทนการดูดจุกหลอก ทุกครั้งที่ลูกมีอาการงอแงร้องไห้ต้องการจะดูดจุกหลอก หากคุณแม่ต้องการให้ลูกเลิกใช้จุกนมหลอก การให้ลูกเข้าเต้าดูดนมคุณแม่แทนจะช่วยให้ทารกรู้สึกอบอุ่นเมื่ออยู่ในอ้อมกอดและหยุดงอแงลงได้ ทั้งนี้คุณแม่ควรใจแข็ง ไม่ให้ลูกกลับไปใช้จุกหลอกอีกครั้ง เพราะการเลิกครั้งต่อไปอาจจะยากขึ้นกว่าเดิมก็เป็นได้
ถึงแม้ว่าการใช้จุกหลอกอาจจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับทารกในการดูด แต่สำหรับคุณพ่อคุณแม่การตัดสินใจให้ลูกได้ใช้จุกนมหลอกนั้นอาจเป็นเรื่องที่ต้องชั่งใจ เพราะในช่วงวัยแรกเกิดจนถึง 6 เดือนนั้น การให้ลูกได้ดูดนมแม่เป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย การให้ลูกน้อยได้กินนมจากเต้าคุณแม่นั้นทำให้ลูกน้อยได้รับความอบอุ่นและเกิดผลดีทางด้านจิตใจ ทำให้ลูกอารมณ์ดี และยังส่งผลดีต่อสุขภาพ สร้างภูมิต้านทานโรค ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองให้ลูกน้อยเฉลียวฉลาด เรียนรู้ไว เพราะในนมแม่มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายและสมองมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน เป็นต้น หากจำเป็นที่จะต้องใช้จุกหลอกกับเจ้าตัวน้อยก็อย่าปล่อยให้ลูกใช้นานเกินไปนะคะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ให้นม
- 2’-FL คืออะไร ? รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- เทคนิคเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สุดยอดสารอาหารจากแม่สู่ลูก
- เพิ่มน้ำนมคุณแม่ ด้วยการกระตุ้นน้ำนม จากธรรมชาติ ดีกับคุณแม่และลูก
- นมแม่อยู่ได้กี่ชม น้ำนมแม่เก็บได้นานแค่ไหน เก็บรักษาอย่างไรให้ถูกวิธี
- อาการทารกหิวนม สัญญาณจากลูกน้อย ที่คุณแม่สังเกตเองได้
- เด็กแรกเกิดกินนมกี่ออนซ์ ถึงจะดีที่สุด ปริมาณเท่าไหร่ถึงเรียกว่าพอดี
- วิธีจับลูกเรอ ท่าอุ้มเรอช่วยให้ลูกสบายท้อง หลังลูกอิ่มนม
- คัดเต้านมทำยังไงดี คัดเต้ากี่วันหาย พร้อมวิธีบรรเทาอาการนมคัด
- เจ็บหัวนม หัวนมแตก อาการเจ็บหัวนม ต้องรักษาอย่างไร ให้นมลูกต่อได้ไหม
- ทารกไม่ยอมนอน ลูกงอแงไม่ยอมนอนไม่มีสาเหตุ พร้อมวิธีรับมือ
- อาการทารกหิวนม สัญญาณจากลูกน้อย ที่คุณแม่สังเกตเองได้
- วิธีชงนมที่ถูกต้อง พร้อมขั้นตอนการเตรียมน้ำชงนม สำหรับแม่มือใหม่
อ้างอิง:
- จุกหลอก ดีต่อลูกน้อยหรือไม่, พบแพทย์
- การดูดนิ้ว (Thumb-sucking), กรมสุขภาพจิต สถาบันราชานุกูล
- จุกหลอก ข้อดี ข้อเสียในการใช้งานที่ควรรู้, hellokhunmor
- ลูกนอนดึก มีความเสี่ยง ความสูงไม่ถึงเกณฑ์ และพัฒนาการไม่ตามวัย, โรงพยาบาลบางปะกอก
- เช็กพัฒนาการเจ้าตัวน้อยวัยแรกเกิด, โรงพยาบาลนนทเวช
- ลูกชอบดูดนิ้วทำอย่างไรดี, โรงพยาบาลเด็กสินแพทย์
- โรคไหลตายในทารก!! ภัยเงียบที่ไม่เคยมองข้าม, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
- 8 วิธีเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้สำเร็จ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- เลิกจุกนมหลอกให้ลูก คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่างไร, hellokhunmor
- สารพัดข้อดีของนมแม่, โรงพยาบาลเปาโล
- เด็กเอาของเข้าปาก ความเสี่ยงต่อสุขภาพ และวิธีรับมือที่ควรรู้, hellokhunmor
อ้างอิง ณ วันที่ 25 มกราคม 2567