เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม จำเป็นไหม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง
เจาะน้ำคร่ำคืออะไร เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม จำเป็นไหม มีความเสี่ยงอะไรบ้าง? การตรวจเจาะน้ำคร่ำในยุคสมัยนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องน่าวิตกกังวล หรือเสี่ยงอันตรายแต่อย่างใด หากแต่เป็นการช่วยคัดกรองโรคทางพันธุกรรม และความเสี่ยงดาวน์ซินโดรม ที่จะเกิดกับทารกในครรภ์ เพื่อให้สูติแพทย์ได้ช่วยวางแผนการแก้ไข และวางแผนการรักษาได้อย่างทันท่วงที
สรุป
- เจาะน้ำคร่ำ คือ การตรวจคัดกรองในขณะตั้งครรภ์ เพื่อเอาน้ำคร่ำไปตรวจวิเคราะห์หาโครโมโซมของทารกในครรภ์ ตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ เพื่อวางแผนการแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
- การเจาะน้ำคร่ำเป็นวิธีการตรวจที่ปลอดภัย แต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์ท่านใดมีความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนอันตรายต่าง ๆ สูติแพทย์จะไม่แนะนำให้รับการเจาะน้ำคร่ำ
- อายุครรภ์ที่เหมาะสมกับการเจาะน้ำคร่ำ คือ ช่วงอายุครรภ์ประมาณ 16-20 สัปดาห์ เป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำคร่ำมากเพียงพอ เหมาะสำหรับการตรวจ คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ควรเจาะน้ำคร่ำ จะมีอายุ 35 ปีขึ้นไป นับจนถึงวันคลอด เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่ลูกจะมีอาการดาวน์ซินโดรม
- สูติแพทย์จะใช้เวลาเจาะน้ำคร่ำประมาณ 45 นาที เมื่อเจาะน้ำคร่ำเสร็จแล้ว สูติแพทย์จะให้นอนพักประมาณ 30 นาที แล้วอนุญาตให้กลับบ้านได้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร
- เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม คุณแม่จะรู้สึกยังไง
- คุณแม่ต้องอายุครรภ์เท่าไหร่ ถึงควรเจาะน้ำคร่ำ
- เจาะน้ำคร่ำมีความเสี่ยงเรื่องไหนบ้าง
- เจาะน้ำคร่ำใช้เวลาทำนานไหม
- ข้อดีของการเจาะน้ำคร่ำ คืออะไร
- การเตรียมตัวก่อนไปเจาะน้ำคร่ำ
- เจาะน้ำคร่ำ รอผลนานกี่วัน
- เจาะน้ำคร่ำ แพงไหม มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร
การเจาะน้ำคร่ำ คือ การตรวจคัดกรองในขณะตั้งครรภ์ วิธีการเจาะน้ำคร่ำนี้ สูติแพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กแทงจากบริเวณหน้าท้องของคุณแม่ ผ่านเข้าไปในถุงน้ำคร่ำของทารกในครรภ์ เพื่อดูดเอาน้ำคร่ำไปตรวจวิเคราะห์ หาโครโมโซมของทารกในครรภ์ ในน้ำคร่ำจะมีเซลล์ของทารกอยู่ด้วย สูติแพทย์จะนำน้ำคร่ำที่มีเซลล์ของทารกไปตรวจวิเคราะห์โรคบางอย่าง โรคทางพันธุกรรมของทารกตั้งแต่อยู่ในท้อง การตรวจน้ำคร่ำนี้ สามารถตรวจหาความผิดปกติของทารกในครรภ์ เพื่อวางแผนการแก้ไขได้อย่างทันท่วงที การเจาะน้ำคร่ำเป็นวิธีการตรวจที่ปลอดภัย แต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์ท่านใดมีความเสี่ยงหรือมีภาวะแทรกซ้อนอันตรายต่าง ๆ สูติแพทย์จะไม่แนะนำให้รับการเจาะน้ำคร่ำ น้ำคร่ำ เป็นเกราะป้องกันการกระทบกระเทือน ป้องกันอันตรายต่อทารก และยังป้องกันไม่ให้เกิดการถูกกดทับของสายสะดือจากตัวทารก น้ำคร่ำส่งเสริมการเจริญเติบโตของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของปอดทารก การกลืนน้ำคร่ำของทารกนั้น ช่วยส่งเสริมการเจริญของระบบทางเดินอาหารให้กับทารก เมื่อมีอายุครรภ์ 10 สัปดาห์ น้ำคร่ำจะมีปริมาตร 30 ซีซี อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ น้ำคร่ำจะเพิ่มปริมาณเป็น 200 ซีซี และเมื่ออายุครรภ์เข้าสู่กลางไตรมาสสุดท้ายก่อนคลอด ปริมาณน้ำคร่ำจะอยู่ที่ 800 ซีซี และจะค่อย ๆ ลดลง
เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม คุณแม่จะรู้สึกยังไง
เจาะน้ำคร่ำเจ็บไหม จะรู้สึกยังไง การเจาะน้ำคร่ำนั้นจะส่งผลให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกเจ็บเล็กน้อยเหมือนถูกเข็มแทง เพราะการเจาะน้ำคร่ำจะคล้าย ๆ กับการเจาะเลือด จะมีความเจ็บประมาณ 23 วินาที เมื่อเข็มแทงผ่านหน้าท้องไปแล้วความเจ็บจะค่อย ๆ หายไป สูติแพทย์จะดูดน้ำคร่ำออก แล้วให้คุณแม่ตั้งครรภ์นอนพักแล้วค่อยกลับบ้าน
คุณแม่ต้องอายุครรภ์เท่าไหร่ ถึงควรเจาะน้ำคร่ำ
อายุครรภ์ที่เหมาะสมกับการเจาะน้ำคร่ำ คือ ช่วงอายุครรภ์ประมาณ 16-20 สัปดาห์ เป็นช่วงที่มีปริมาณน้ำคร่ำมากเพียงพอ เหมาะสำหรับการตรวจ โดยแพทย์จะเก็บน้ำคร่ำไปตรวจประมาณ 20 ซีซี น้ำคร่ำที่ลดลงชั่วคราว ไม่ได้ส่งผลอันตราย หรือมีผลกระทบใด ๆ ต่อทารกในครรภ์ น้ำคร่ำจะค่อย ๆ สร้างขึ้นมาใหม่แทนที่น้ำคร่ำที่ลดลง ภายในเวลา 24 ชั่วโมง คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ควรรับการเจาะน้ำคร่ำ คือคุณแม่ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป นับจนถึงวันคลอด เพราะมีโอกาสเสี่ยงที่ลูกจะมีอาการดาวน์ซินโดรม ซึ่งกลุ่มคุณแม่ที่ควรเข้ารับการเจาะน้ำคร่ำ มีดังนี้
- มีความเสี่ยงที่ทารกในครรภ์จะเป็นธาลัสซีเมีย
- เมื่อคุณหมอพบความผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น อวัยวะผิดปกติ
- คุณแม่ที่เคยมีประวัติคลอดลูกพิการมาแต่กำเนิดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีความผิดปกติของโครโมโซม ซึ่งอาจมีโอกาสเกิดซ้ำในครรภ์อื่น ๆ
- คุณแม่ที่เคยคลอดลูกที่มีอาการดาวน์ซินโดรม ซึ่งอาจมีโอกาสที่ลูกจะเป็นดาวน์ซินโดรมซ้ำในครรภ์อื่น ๆ
- สมาชิกในครอบครัวมีประวัติโรคทางพันธุกรรม
- คุณแม่ คุณพ่อ ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการมีบุตรเป็นโรคทางพันธุกรรม
- คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป นับวันจนถึงกำหนดคลอด เมื่ออายุมากขึ้นก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น อายุ 35-39 ปี มีความเสี่ยง 0.9 เปอร์เซ็นต์, อายุ 40-41 ปี มีความเสี่ยง 4.9 เปอร์เซ็นต์, อายุ 42-43 ปี มีความเสี่ยง 8.0 เปอร์เซ็นต์, อายุ 44-47 ปี มีความเสี่ยง 105 เปอร์เซ็นต์
- คุณแม่ที่มีความเสี่ยงทารกในครรภ์มีความผิดปกติทางโครโมโซม หรือคุณแม่ที่ผ่านการคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมด้วยวิธีอื่นแล้วมีผลเป็นบวก
- คุณแม่ คุณพ่อ หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง มีความผิดปกติของการจัดโครงสร้างของโครโมโซม
- คุณแม่ตั้งครรภ์ มีบุตรที่มีภาวะท่อประสาทปิดไม่สนิท
เจาะน้ำคร่ำมีความเสี่ยงเรื่องไหนบ้าง
การเจาะน้ำคร่ำมีความเสี่ยงเกิดขึ้นได้จากการเจาะ เพราะอาจทำให้มีน้ำคร่ำรั่ว มีเลือดออกตอนเจาะน้ำคร่ำ หรือภาวะแท้ง การเจาะน้ำคร่ำ ไม่จำเป็นต้องเจาะให้กับคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน แต่จะเลือกคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง ที่มีอายุมาก หรืออาจสงสัยว่าจะเป็นโรคต่าง ๆ
การเจาะน้ำคร่ำเป็นวิธีการตรวจที่ปลอดภัย แต่ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนที่เสี่ยง พบได้จากการเจาะน้ำคร่ำ คือ
- ถุงน้ำคร่ำรั่ว ถุงน้ำคร่ำอักเสบติดเชื้อ มักจะเกิดขึ้นหลังจากเจาะน้ำคร่ำภายใน 24-48 ชั่วโมง
- การเจาะน้ำคร่ำอาจมีความเสี่ยงที่จะแท้งลูกได้ 0.3-0.5 เปอร์เซ็นต์
- ติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำ
- ติดเชื้อในกระแสเลือด
- มีเลือดออกขณะที่เจาะน้ำคร่ำ
- มีเลือดออกจากการฉีกขาดของรก
- คลอดทารกก่อนกำหนด
- หากมีเลือดของคุณแม่ปนกับน้ำคร่ำในการตรวจ อาจมีการแปลผลผิดพลาด
เจาะน้ำคร่ำใช้เวลาทำนานไหม
กระบวนในการเจาะน้ำคร่ำคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น ใช้เวลาประมาณ 45 นาที ซึ่งจะใช้เวลามากในการอัลตราซาวด์ ผ่านทางหน้าท้อง เพราะสูติแพทย์จะทำการอัลตราซาวด์อย่างละเอียด ก่อนที่จะลงมือเจาะน้ำคร่ำ เมื่อเจาะน้ำคร่ำเสร็จแล้ว สูติแพทย์จะให้นอนพักประมาณ 30 นาที แล้วจึงอนุญาตให้คุณแม่ตั้งครรภ์กลับบ้านได้
ข้อดีของการเจาะน้ำคร่ำ คืออะไร
การตรวจเจาะน้ำคร่ำ เป็นการตรวจคัดกรองปัญหาในการตั้งครรภ์ หากคุณแม่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์มาก่อน การเจาะน้ำคร่ำนั้น ยังเป็นการตรวจดูความเสี่ยงอื่น ๆ และความแข็งแรงของครรภ์ นอกจากนั้นแล้ว ข้อดีของการเจาะน้ำคร่ำ ยังช่วยให้สูติแพทย์ระบุความผิดปกติเกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรม เป็นการช่วยวางแผนครอบครัวให้คู่สามีภรรยาได้อย่างถูกวิธีเหมาะสม และหากเกิดความผิดปกติทางโครโมโซม หรือโรคพันธุกรรมเกิดขึ้น ก็จะได้รับการรักษา รับมืออย่างทันท่วงที เช่น กลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม โรคธาลัสซีเมีย
การเตรียมตัวก่อนไปเจาะน้ำคร่ำ
ก่อนทำการเจาะน้ำคร่ำ คุณพ่อคุณแม่จะได้รับคำอธิบาย ความรู้เกี่ยวกับการเจาะน้ำคร่ำจากสูติแพทย์ เพื่อเป็นการประกอบการตัดสินใจ การเจาะน้ำคร่ำไม่จำเป็นต้องงดอาหาร หรืองดน้ำ ก่อนการตรวจ คุณแม่ตั้งครรภ์สามารถเจาะตรวจน้ำคร่ำได้ทันที
เจาะน้ำคร่ำ รอผลนานกี่วัน
การเจาะน้ำคร่ำ จะใช้เวลารอผลทั้งหมดประมาณ 3 สัปดาห์ ผลการตรวจที่ได้รับจะมีความแม่นยำถึง 99 เปอร์เซ็นต์ การเจาะน้ำคร่ำนั้น สูติแพทย์จะดูดน้ำคร่ำออกมา ผ่านทางหน้าท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์ และส่งไปเพาะเลี้ยงเซลล์ให้ห้องปฏิบัติการ เพื่อทำการตรวจหายีนที่ผิดปกติ และศึกษาจำนวน และรูปร่างของโครโมโซม
เจาะน้ำคร่ำ แพงไหม มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
เจาะน้ำคร่ำ ตรวจวินิจฉัย คัดกรองความผิดปกติของโครโมโซม มีราคาในการเจาะน้ำคร่ำ ประมาณ 8,500-11,000 บาท ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานรักษาพยาบาลในแต่ละเขต แต่ละจังหวัด
การเจาะน้ำคร่ำ เพื่อตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซม หรือโรคพันธุกรรมนั้น มีข้อดีหลายอย่างในการช่วยให้สูติแพทย์สามารถตรวจพบ และวางแผนแก้ไขความผิดปกติ ที่เกิดขึ้นกับคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ คุณแม่ตั้งครรภ์ ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาสูติแพทย์ที่ฝากครรภ์ เพื่อเข้ารับการตรวจเจาะน้ำคร่ำ ตรวจคัดกรองความผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- โปรแกรม Womb development ตามติด 9 เดือนในครรภ์ของลูกน้อยพร้อมบทความพัฒนาการต่าง ๆ
- ตกขาวแบบไหนท้อง ตกขาวคนท้องแบบไหนมั่นใจว่าตั้งครรภ์
- น้ำคร่ำ คืออะไร น้ำคร่ำรั่ว อาการแบบไหน สัญญาณใกล้คลอดที่ต้องรู้
- น้ำคาวปลา คืออะไร พร้อมวิธีดูแลตัวเอง ขับน้ำคาวปลาหลังคลอด
- การปฏิสนธิ คืออะไร พร้อมวิธีเตรียมความพร้อมสำหรับคนอยากมีลูก
- มูกเลือดออกทางช่องคลอด คืออะไร มีมูกออกทางช่องคลอดปกติไหม
- อาการเจ็บท้องคลอด เจ็บท้องคลอดแบบไหนควรไปหาหมอ
- อาการคนท้องฉี่สีอะไร สีปัสสาวะคนท้อง บ่งบอกสุขภาพคนท้องยังไงบ้าง
- อาการหมันหลุดเป็นอย่างไร ทำหมันแล้วแต่ยังท้อง เป็นไปได้แค่ไหน
- คุณแม่ปวดท้องข้างขวา บอกอะไรบ้าง ปวดท้องแบบไหนต้องไปหาหมอ
- คุณแม่ปวดท้องข้างซ้าย บอกอะไรได้บ้าง ปวดท้องแบบไหนต้องไปหาหมอ
อ้างอิง:
- น้ำคร่ำ (Amniotic fluid), คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- Polyhydramnios ภาวะน้ำคร่ำมาก, โรงพยาบาลสมิติเวช
- เจาะน้ำคร่ำ คืออะไร ทำไมต้องเจาะ, โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย
- การเจาะตรวจน้ำคร่ำเพื่อการวินิจฉัยก่อนคลอด, โรงพยาบาลศิครินทร์
- การเจาะน้ำคร่ำตรวจวินิจฉัยพันธุกรรม, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
- การเจาะน้ำคร่ำ, โรงพยาบาลเอกชัย
- การเจาะน้ำคร่ำในสตรีตั้งครรภ์ (AMNIOCENTESIS), โรงพยาบาลวิภาราม
- การเจาะน้ำคร่ำตรวจวินิจฉัยพันธุกรรม, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
- แพ็กเกจเจาะน้ำคร่ำ, โรงพยาบาลลาดพร้าว
- แพ็กเกจเจาะน้ำคร่ำ, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- Package เจาะน้ำคร่ำ ตรวจวินิจฉัยครรภ์, โรงพยาบาลบางปะกอก 8
- แพ็กเกจฝากครรภ์ โรงพยาบาลลานนา สิทธิประกันสังคม, โรงพยาบาลลานนา
อ้างอิง ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง