อาการท้องลด หนึ่งในสัญญาณเตือนคุณแม่ใกล้คลอด

อาการท้องลด หนึ่งในสัญญาณเตือนคุณแม่ใกล้คลอด

25.10.2024

“ท้องลดแล้วใกล้คลอดแน่เลย!” คุณแม่หลายคนคงเคยได้ยินประโยคนี้บ่อย ๆ “ท้องลด” เป็นอาการที่เกิดขึ้นก่อนคลอดเพียงไม่กี่สัปดาห์เมื่อใกล้ถึงกำหนดคลอด สำหรับคุณแม่มือใหม่ การสังเกตอาการต่าง ๆ ในช่วงใกล้คลอดอาจทำให้เกิดความกังวลใจเป็นอย่างมาก บทความนี้จะพาคุณแม่ไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการท้องลด รวมถึงสัญญาณเตือนอื่น ๆ ที่บ่งบอกว่าคุณแม่กำลังจะได้พบกับลูกน้อยแล้ว เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการคลอดอย่างราบรื่น

headphones

PLAYING: อาการท้องลด หนึ่งในสัญญาณเตือนคุณแม่ใกล้คลอด

อ่าน 5 นาที

 

สรุป

  • ท้องลด เป็นอาการแรกของการเข้าสู่ระยะการคลอด เมื่อใกล้คลอดประมาณ 2-3 สัปดาห์ ท้องของคุณแม่จะเริ่มลดลง เนื่องจากศีรษะของลูกน้อยเคลื่อนลงมาอยู่ในอุ้งเชิงกราน ซึ่งทำให้ยอดมดลูกลดต่ำลงมา
  • ท้องลด คุณแม่สามารถสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายได้จาก ยอดมดลูกลดต่ำลง ไม่อึดอัด หายใจคล่องขึ้น รู้สึกปวดหน่วง ปัสสาวะบ่อย และเท้าบวม

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ท้องลดขณะตั้งครรภ์ คืออะไร

ท้องลด คือสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณแม่ใกล้ถึงกำหนดคลอดแล้ว โดยปกติขนาดท้องของคุณแม่จะค่อย ๆ โตขึ้นตามพัฒนาการการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ตลอดระยะเวลาตั้งครรภ์ แต่เมื่อใกล้คลอดประมาณ 2-3 สัปดาห์ ท้องของคุณแม่จะเริ่มลดลง เนื่องจากศีรษะของลูกน้อยเคลื่อนลงมาอยู่ในอุ้งเชิงกราน ซึ่งทำให้ยอดมดลูกลดต่ำลงมา อาการท้องลดถือเป็นอาการแรกที่จะเข้าสู่ระยะการคลอด

 

อาการท้องลด เป็นแบบไหน

คุณแม่ตั้งครรภ์ครั้งแรกอาจสงสัยว่าอาการท้องลดเป็นแบบไหน จะรู้สึกอะไรหรือเปล่าเวลาที่ท้องลดลง คุณแม่สามารถเช็กอาการท้องลดที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้

1. ยอดมดลูกลดต่ำลง

ความสูงของยอดมดลูกลดต่ำลงมา เนื่องจากศีรษะของทารกเคลื่อนเข้าไปอยู่ในอุ้งเชิงกรานของคุณแม่

 

2. หายใจคล่องขึ้น

ความสูงของยอดมดลูกที่ลดลง ทำให้ขนาดท้องเล็กลง คุณแม่จะรู้สึกโล่งสบาย ไม่อึดอัด หายใจได้สะดวกคล่องขึ้น

 

3. ปัสสาวะบ่อยขึ้น

ศีรษะของทารกที่เคลื่อนต่ำลงเข้าไปในอุ้งเชิงกรานจะไปกดเบียดกระเพาะปัสสาวะ จนทำให้คุณแม่รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยมากขึ้น

 

4. รู้สึกปวดหน่วง

ศีรษะของทารกจะไปกดทับบริเวณเส้นประสาทในอุ้งเชิงกราน และมดลูกไปกดทับเส้นเลือดดำ ทำให้คุณแม่รู้สึกปวดหน่วงในอุ้งเชิงกราน

 

5. เท้าบวม

ศีรษะของทารกและมดลูกที่ไปกดทับเส้นเลือดดำ และเส้นประสาทในอุ้งเชิงกราน ทำให้คนท้องเท้าบวม ขาทั้งสองข้างเกิดเป็นตะคริวบ่อย และมีความลำบากเวลาลุกนั่ง

 

ท้องลด จะเกิดขึ้นในเดือนไหน

ท้องลดเป็นอาการแรกของการเข้าสู่ระยะการคลอด ที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน 9 ช่วงไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ นับจากอายุครรภ์คุณแม่ 37 สัปดาห์เป็นต้นไป

 

ท้องลด คือสัญญาณใกล้คลอดจริงไหม

ท้องลด เป็นอาการแรกของการเข้าสู่ระยะการคลอด จึงถือว่าเป็นสัญญาณอาการใกล้คลอด แล้ว เนื่องจากทารกกลับศีรษะค่อย ๆ เคลื่อนตัวเข้าไปอยู่ในอุ้งเชิงกราน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดที่จะเกิดขึ้นอีกไม่กี่สัปดาห์ในเดือนสุดท้ายไตรมาส 3 ของการตั้งครรภ์

 

 

ท้องลด กับ ท้องแข็ง ต่างกันไหม

ท้องลด กับ ท้องแข็ง เป็นสัญญาณอาการก่อนคลอดเมื่อเข้าสู่ระยะสุดท้ายของการตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีอาการแสดงที่ต่างกัน สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • ท้องลด เป็นอาการที่ทารกกลับศีรษะเข้าสู่อุ้งเชิงกราน ยอดมดลูกจะลดต่ำลง ขนาดท้องจะเล็กลงคุณแม่จะหายใจคล่องขึ้น และจะมีอาการปวดหน่วงในอุ้งเชิงกราน ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • ท้องแข็ง ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ เป็นอาการของการเจ็บท้องเตือน เนื่องมาจากมดลูกขยายตัวและเคลื่อนต่ำลงมา มดลูกจะเริ่มบีบตัวทำให้คุณแม่รู้สึกว่าท้องแข็งเกร็งขึ้นมา บริเวณหน้าท้องคลำแล้วรู้สึกเป็นก้อนแข็ง การบีบตัวของมดลูกจะไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ อาการท้องแข็งส่วนใหญ่จะเริ่มเป็นตอนอายุครรภ์ 8 เดือน

 

สัญญาณใกล้คลอดที่คุณแม่ควรรู้

การตั้งครรภ์ครั้งแรกของคุณแม่มือใหม่ อาจจำเป็นต้องรู้สัญญาณเตือนอาการใกล้คลอดของร่างกาย เพื่อให้คุณแม่เตรียมตัวพร้อมไปคลอดกันได้อย่างราบรื่นและปลอดภัย สัญญาณใกล้คลอดที่คุณแม่ควรรู้ มีดังนี้

1. ช่องคลอดมีมูกเลือด

คุณแม่เมื่อถึงเวลาใกล้คลอด จะสังเกตได้ว่าที่ช่องคลอดมีมูกเลือด นั่นก็เป็นเพราะว่าตรงบริเวณปากมดลูกเริ่มเปิดและขยาย จึงทำให้เส้นเลือดตรงบริเวณปากมดลูกมีการแตก ส่งผลทำให้มีมูกเลือดไหลออกมานั่นเอง แต่หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์

 

2. น้ำเดิน

เมื่อถึงเวลาใกล้คลอด มดลูกจะมีการบีบตัวหดเล็กลง เพื่อให้ศีรษะของทารกให้เคลื่อนลงสู่อุ้งเชิงกราน ทำให้มีอาการน้ำเดิน ลักษณะเป็นน้ำใส ๆ คล้ายปัสสาวะ ไม่มีกลิ่น จะค่อย ๆ ซึมไหลออกมาทางช่องคลอดหรือไหลพรวดออกมาเลยก็ได้ หากคุณแม่มีอาการน้ำเดิน ควรเตรียมตัวไปโรงพยาบาล เพราะอาจจะคลอดภายใน 12 ชั่วโมง

 

3. เจ็บท้องคลอด

คุณแม่จะเริ่มรู้สึกเจ็บตรงส่วนบนของมดลูก จากนั้นจะเจ็บร้าวลงไปตรงด้านล่างของท้อง เจ็บจนท้องแข็งตึงขึ้นมา อาการเจ็บจะถี่ เจ็บสม่ำเสมอเริ่มจากทุกครึ่งชั่วโมง และขยับมาเจ็บทุก 10-15 นาที ช่องคลอดมีมูกเลือดออกมากขึ้น แนะนำให้คุณแม่ไปโรงพยาบาลทันที

 

อย่างไรก็ตามการที่ท้องลดลง ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่จะต้องคลอดทันที อาจจะยังใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ดังนั้น คุณแม่ควรเตรียมตัวให้พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ โดยสังเกตอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องแข็ง มีน้ำเดิน หรือมีมูกเลือดออกทางช่องคลอด หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปโรงพยาบาลทันที เพื่อคุณหมอจะได้ตรวจและเตรียมตัวสำหรับการคลอดอย่างปลอดภัย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด

 

 

อ้างอิง:

  1. 6สัญญาณเตือนการใกล้คลอด ที่คุณแม่ควรรู้, โรงพยาบาลบางปะกอก 3
  2. เตรียมความพร้อมก่อนคลอดเจ้าตัวเล็ก, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  3. อาการเมื่อคุณแม่ใกล้คลอด, ศูนย์ศรีพัฒน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  4. เจ็บท้องถี่รุนแรง มีมูกเลือด น้ำเดิน สัญญาณใกล้คลอด, โรงพยาบาลนครธน

อ้างอิง ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2567
 

บทความแนะนำ

อยากมีลูก อยากท้อง ทำยังไงดี พร้อมวิธีเตรียมความพร้อมให้มีลูกง่าย

อยากมีลูก อยากท้อง ทำยังไงดี พร้อมวิธีเตรียมความพร้อมให้มีลูกง่าย

อยากมีลูก อยากท้อง แต่ไม่มีสักที อาการแบบนี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ คุณแม่มือใหม่อยากมีลูก อยากท้อง ต้องเตรียมตัวอย่างไร เพื่อให้มีลูกง่ายขึ้น ไปดูกัน

การนับลูกดิ้น ลูกดิ้นตอนกี่เดือน สัญญาณที่บ่งบอกถึงสุขภาพลูกน้อย

ลูกดิ้นตอนกี่เดือน การนับลูกดิ้น ลูกดิ้นแบบไหนอันตราย

ลูกดิ้นตอนกี่เดือน ลูกดิ้นแบบไหนอันตราย ลูกไม่ดิ้นบ่งบอกถึงอะไรได้บ้างสำหรับคุณแม่ช่วงตั้งครรภ์ ไปดูสัญญาณเตือนเมื่อลูกไม่ดิ้นและการนับลูกดิ้นกัน

อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 4 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 4 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

อายุครรภ์ 4 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 4 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง ลูกในครรภ์ตัวใหญ่แค่ไหน สัญญาณอะไรที่บอกว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ 4 สัปดาห์แล้ว พร้อมวิธีดูแลครรภ์

ท้อง 1 สัปดาห์ ตรวจเจอไหม อาการคนท้อง 1 สัปดาห์ ที่คุณแม่ต้องรู้

ท้อง 1 สัปดาห์ ตรวจเจอไหม อาการคนท้อง 1 สัปดาห์ ที่คุณแม่ต้องรู้

คุณแม่ท้อง 1 สัปดาห์ ตรวจเจอไหม อาการคนท้อง 1 สัปดาห์ เป็นอย่างไร สัญญาณเตือนคนท้องแบบไหน ที่บอกให้รู้ว่าแม่ท้อง 1 สัปดาห์แล้ว พร้อมวิธีดูแลครรภ์

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก