ลูกดิ้นตอนกี่เดือน การนับลูกดิ้นครั้งแรก สำหรับคุณแม่ท้อง
การนับลูกดิ้นเป็นกิจกรรมที่ง่ายแต่มีความสำคัญ เป็นกิจกรรมที่คุณแม่ควรจัดเวลาและทำเป็นกิจวัตร ช่วยให้คุณแม่ได้สังเกตลูกน้อยอยู่เรื่อย ๆ และช่วยเพิ่มความมั่นใจว่าเขาจะปลอดภัย โดยคุณหมอเองก็จะขอความร่วมมือจากคุณแม่ เพราะคุณแม่คือคนที่รู้สึกได้ชัดเจนที่สุดถึงทุกจังหวะการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในท่าต่าง ๆ
สรุป
- การนับลูกดิ้นเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้ติดตามดูแลสุขภาพของลูกน้อยได้ เพราะในครรภ์ก็มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ
- วิธีการนับลูกดิ้นหลัก ๆ 3 วิธี คือเฝ้านับจำนวนครั้งเคลื่อนไหวจนครบจำนวน 10 ครั้งในแต่ละวัน หรือนับเวลาที่เขาเพิ่งมีการเคลื่อนไหวไปและรอนับเวลาอีกครั้งโดยมีเกณฑ์ความสม่ำเสมอ หรือนับเวลา 15 นาทีต่อวันในการสังเกตรูปแบบการเคลื่อนไหว สามารถเลือกหนึ่งวิธีหรือใช้หลายวิธีร่วมกันก็ได้
- การเคลื่อนไหวของลูกน้อยจะชัดเจนขึ้นสำหรับคุณแม่ โดยทั่วไปในสัปดาห์ที่ 18 ถึง 20 แต่ก็มีคุณแม่บางท่านรู้สึกได้เร็วกว่านั้น ไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติที่จะรู้สึกได้ถึงลูกน้อยเร็วกว่าคนอื่นหรือช้ากว่าคนอื่น
- ลูกดิ้นแรงมาก ถ้ารูปแบบไม่ผิดปกติ ไม่เป็นอันตราย ถือว่าเป็นเรื่องดี เป็นกิจกรรมของเขาที่ส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาการของเขาเอง
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- การนับลูกดิ้น คุณแม่นับแบบไหนได้บ้าง
- เมื่อลูกดิ้น คุณแม่จะรู้สึกแบบไหน
- ลูกดิ้นตอนกี่เดือน ลูกดิ้นคุณแม่รู้สึกอย่างไร
- ลักษณะลูกดิ้นในครรภ์ แบบไหนปลอดภัย แบบไหนอันตราย
- ลูกดิ้นมาก ดิ้นแรง อันตรายไหม
- การนับลูกดิ้น ทำแบบไหนได้บ้าง
- วิธีสื่อสารกับลูกน้อย เมื่อลูกดิ้น
การนับลูกดิ้น คุณแม่นับแบบไหนได้บ้าง
- การนับจำนวนการดิ้นของทารกในครรภ์สามารถบอกถึงสุขภาพ หรือความผิดปกติของลูกน้อยได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คุณหมอต้องให้คุณแม่นับ
- หากคุณแม่พบว่าลูกน้อยดิ้นน้อยลง อาจเป็นสัญญาณว่าน้องอาจเกิดภาวะขาดออกซิเจนและอยู่ในอันตราย อาจเกิดจากน้ำคร่ำน้อยหรือสายสะดือผูกเป็นปม ลูกน้อยในท้องคุณแม่จะดิ้นน้อยลงถ้ามีปัญหาสุขภาพ มักพบว่าหยุดดิ้นเป็นเวลา 12-48 ชั่วโมงก่อนที่จะเสียชีวิต
- แนะนำให้นับลูกดิ้นวันละ 1-2 ครั้ง ช่วงเช้าหรือช่วงเย็น หรือช่วงหนึ่งช่วงใดของวันที่คุณแม่สะดวก
เมื่อลูกดิ้น คุณแม่จะรู้สึกแบบไหน
เมื่อคุณแม่รู้ตัวว่าตั้งท้อง คุณแม่อาจจะรอคอยการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในท้อง และพอรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของลูกจริง ๆ ก็พัฒนาความผูกพันขึ้นมา รูปแบบการเชื่อมโยงถึงกันระหว่างคุณแม่และลูกน้อยตลอดหลายเดือนแม้ว่ายังไม่ได้เจอหน้ากันจริง ๆ ถือเป็นเรื่องมหัศจรรย์ แต่ทางกายภาพ คุณแม่รู้สึกแบบไหนกันบ้าง มาลองฟังข้อมูลจากคุณแม่ที่ผ่านการตั้งครรภ์มาแล้ว โดยมีลักษณะดังนี้
- รู้สึกเหมือนมีแก๊สในท้อง
- รู้สึกเหมือนถูกปลาตอด ท้องกระตุกเบา ๆ
- รู้สึกจั๊กจี้อยู่ภายใน
- รู้สึกเหมือนมีฟองอากาศผุดขึ้นหรือเป็นฟอง
- รู้สึกเหมือนถูกทิ่ม ๆ กระตุ้นเบา ๆ จากภายใน
ลูกดิ้นตอนกี่เดือน ลูกดิ้นคุณแม่รู้สึกอย่างไร
ไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ (1-12 สัปดาห์)
คุณแม่มักจะยังไม่รู้สึกถึงการเคลื่อนของลูกน้อย เป็นช่วงที่อาจจะสงสัยอยู่บ่อย ๆ ว่าลูกทำอะไรอยู่นะ และอาจจะคิดไปว่าลูกไม่ได้เคลื่อนไหว แต่จริง ๆ ต้องบอกว่าลูกน้อยของคุณแม่ยังมีขนาดตัวที่เล็กมาก จนยากจะสังเกตเห็นการเคลื่อนไหวได้ แต่ประมาณ 10 สัปดาห์ เมื่อใช้อัลตราซาวด์จะพบว่าลูกน้อยขยับได้ แต่คุณแม่จะยังไม่รู้สึกอะไรเลย
- อายุครรภ์ 9 สัปดาห์ น้องหาวและเหยียดตัวได้ แต่ว่าเห็นได้ด้วยการอัลตราซาวด์
- อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ มีการพัฒนาการ แขนขาเคลื่อนไหว แต่คุณแม่มักยังไม่รู้สึกถึง
- อายุครรภ์ 11 สัปดาห์ ลูกน้อยอ้าปากได้ และดูดนิ้วได้เอง
ไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ (14-27 สัปดาห์)
ช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 18 ถึง 20 เป็นไปได้ที่จะรู้สึกได้ถึงการเคลื่อนไหว เป็นการขยับตัวในลักษณะที่คล้ายกับมีการกระพือปีก และบางทีก็เป็นจังหวะซึ่งน่าจะเพราะว่าลูกน้อยสะอึก ไม่ต้องเป็นห่วง ไม่มีประเด็นที่ต้องกังวล
- อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ ลูกน้อยกลืนน้ำคร่ำ
- อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ มีการขยับแขนและขา ลูกน้อยจะทั้งเตะและกระทุ้ง และอาจตอบสนองต่อการสัมผัสได้
- อายุครรภ์ 14-20 สัปดาห์ เป็นช่วงที่คุณแม่จะเริ่มรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวของลูกน้อยในท้องได้ชัดเจนขึ้น เพราะด้วยขนาดลูกน้อยที่เติบโตขึ้น และความไวในการรับสัมผัสของกล้ามเนื้อหน้าท้องคุณแม่ที่ผ่อนคลายขึ้น ทั้งนี้คุณแม่แต่ละคนจะรับรู้ถึงการเคลื่อนไหว การดิ้นของลูกน้อยครั้งแรกเร็ว หรือช้าไม่เท่ากัน คุณแม่ส่วนใหญ่จะเริ่มรู้สึกถึงการเคลื่อนไหว การดิ้นของลูกในท้องแบบชัดเจน ในช่วงประมาณอายุครรภ์ 18-20 สัปดาห์
- อายุครรภ์ 21-27 สัปดาห์ คุณแม่จะรู้สึกได้ตลอด ลูกน้อยขยับ ม้วนตัว จัดท่าทางแขนขา แรงของลูกจะเพิ่มมากขึ้นด้วย เพราะพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อที่มากขึ้น รวมไปถึงพื้นที่ในมดลูกที่มีจำกัด
ไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ (28-36 สัปดาห์)
เป็นช่วงที่ลูกน้อยทำท่านั้นท่านี้ได้ พร้อมจะขยับขาซอยสับขาไปมา สามารถกลับตัวได้ พุงของคุณแม่จะเห็นเป็นคลื่นการเคลื่อนไหว เดี๋ยวขยับกระเพื่อมขึ้น เดี๋ยวขยับหดตัวลง
ลักษณะลูกดิ้นในครรภ์ แบบไหนปลอดภัย แบบไหนอันตราย
- ลูกน้อยไม่เคลื่อนไหว จริง ๆ อาจเป็นเพราะกำลังหลับอยู่
- โดยปกติแล้วลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่จะมีตารางเวลาของตัวเอง มีช่วงที่ตื่นแล้วคึก หรือช่วงที่หลับ ด้วยความที่ลูกอยู่ในครรภ์ ใกล้ชิดกับคุณแม่ คุณแม่สามารถรู้สึกถึงการขยับ รู้เวลาดิ้นของลูกในครรภ์ได้ โดยทั่วไปพบว่าทารกน้อยในครรภ์บางคน อาจมีการเคลื่อนไหวน้อยกว่าทารกในครรภ์คนอื่น ๆ ลูกในครรภ์ของคุณแม่แต่ละคนอาจมีการเคลื่อนไหว ที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่ต้องกังวล
- สัญญาณอันตราย กรณีรู้สึกว่าเคลื่อนไหวเป็นปกติ แต่แล้วจู่ ๆ ก็ไม่รับรู้ว่าเคลื่อนไหว หรือรับรู้ได้แบบนาน ๆ ครั้ง ลองนับดูแล้วน้อยกว่า 10 ครั้งในสองชั่วโมง คุณแม่ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อพบคุณหมอโดยด่วน
ลูกดิ้นมาก ดิ้นแรง อันตรายไหม
ลูกดิ้นแบบไหนอันตราย ดิ้นเบา หรือดิ้นแรงบอกถึงอันตรายได้ไหม มีคำตอบให้คุณแม่ตรงนี้
- การดิ้นหรือเคลื่อนไหวเป็นกิจวัตรประจำวัน คล้ายการออกกำลังกายของลูก การทำบ่อยมีผลดีกับการเสริมสร้างพัฒนากล้ามเนื้อและกระดูก
- ในช่วงไตรมาสที่ 3 คุณแม่จะรู้สึกถึงลูกน้อยทุกวัน และ บางครั้งเค้าออกแรงเยอะด้วย มีงานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าลูกน้อยของคุณแม่สามารถออกแรงอัดน้ำหนักได้มากถึง 11 ปอนด์ (หรือราว 5 กิโลกรัม) ในช่วงอายุครรภ์ 30 สัปดาห์
- การดิ้นรุนแรงที่อันตราย และสื่อว่าลูกมีปัญหาสุขภาพ คือการเคลื่อนไหวที่ต่างจากรูปแบบปกติที่คุณแม่คุ้นเคย ถ้าสงสัยหรือไม่สบายใจ คุณแม่รีบติดต่อคุณหมอหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านหรือที่ฝากครรภ์ไว้ได้ทันทีเพื่อเข้ารับการตรวจครรภ์ เพื่อจะให้แน่ใจและสบายใจว่าทุกอย่างเรียบร้อยดี
การนับลูกดิ้น ทำแบบไหนได้บ้าง
การนับลูกดิ้น จะนับในช่วงเวลาเดียวกันของทุกวัน โดยเลือกช่วงที่สังเกตว่าเขาเคลื่อนไหวมากที่สุด อาจจะเป็นช่วงหลังรับประทานอาหาร หรือช่วงดึก ลูกน้อยของคุณแม่แต่ละคนก็จะมีช่วงเวลาของเขาไม่เหมือนกัน ในการนับลูกดิ้นจะมีเทคนิค 3 รูปแบบ แนะนำเพื่อให้คุณแม่ลองนำไปใช้ดู ดังนี้
1. นับทีละ 10 ลูกเตะ
รูปแบบการนับนี้ คุณแม่ควรนั่งเงียบ ๆ หรือนอนตะแคงซ้าย วางมือบนท้อง ลองดูว่าภายใน 2 ชั่วโมง ลูกเตะได้ถึง 10 ครั้งหรือไม่ หากไม่ถึง คุณแม่อย่าเพิ่งกังวลมากเกินไป แต่สามารถติดต่อคุณหมอเพื่อขอคำแนะนำและตรวจเพิ่มเติม การเตะนี้จริง ๆ แล้วก็คือนับรวมการเคลื่อนไหวแบบกระทุ้งศอก การกระแทกเข่า และแบบอื่น ๆ ด้วย คือถ้ารู้สึกได้เรานับเป็น 1 ลูกเตะ
2. นับหาความสม่ำเสมอ
จดจำครั้งสุดท้ายที่ลูกน้อยขยับ แล้วคุณแม่ก็ดูว่าไม่ขยับอยู่นานแค่ไหน ปกติแล้วลูกในท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์อาจจะนอนหลับไปถึง 90 นาที แต่ไม่ถึง 2 ชั่วโมง (120 นาที) คอยสังเกตหาความสม่ำเสมอ ถ้าพบความผิดปกติให้รีบไปพบคุณหมอ
3. การเจริญสติ
เหมือนกับการตั้งสมาธิจดจ่อ กำหนดเวลา 15 นาที ทุกวัน สังเกตการเคลื่อนไหวว่าแรงไหม ทำอะไร เช่น เหยียดตัว นอนเฉย ๆ หรือคู้ตัว ใช้ความรู้สึกเพื่อคาดเดาการเคลื่อนไหว การให้เวลาเช่นนี้จะทำให้คุ้นเคยกับรูปแบบการเคลื่อนไหวส่วนตัวของลูกรัก แล้วถ้ามีความรู้สึกเหมือนบางอย่างในรูปแบบการเคลื่อนไหวแปลก ๆ คุณแม่ก็รีบไปพบคุณหมอ
วิธีสื่อสารกับลูกน้อย เมื่อลูกดิ้น
- ดื่มน้ำผลไม้ น้ำหวาน น้ำเย็นชื่นใจ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลจะเพิ่มน้ำตาลในเลือดและเป็นไปได้ที่จะปลุกให้ลูกน้อยของคุณร่าเริง ออกแรงแขนขาและตัวเคลื่อนไหว เหมาะให้คุณแม่สื่อสารตอบโต้ด้วย (ทั้งนี้ในกรณีที่คุณแม่มีความจำเป็นต้องควบคุมน้ำตาลระหว่างตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการดังกล่าวก่อน)
- เปิดเพลงสบาย ๆ เพราะเสียงเพลงทำให้ลูกน้อยผ่อนคลาย และจะคุ้นกับท่วงทำนองที่คุณแม่ชอบ
- พูดคุยกับลูกเยอะ ๆ ลูกน้อยจะได้ยินเสียงของคุณแม่และพัฒนาความคุ้นเคยกับเสียงของคุณแม่
การนับลูกดิ้นไม่เพียงสำคัญในลักษณะเป็นการติดตามการพัฒนาการทารกในครรภ์ 1- 40 สัปดาห์ และความปลอดภัยของลูกน้อยในท้องของคุณแม่ แต่ยังเสริมสร้างความผูกพันทางอารมณ์ระหว่างคุณแม่และลูกน้อยด้วย ช่วยให้คุณแม่มั่นใจว่าทุกวันลูกน้อยอยู่ดีมีสุข ช่วงเวลาดี ๆ ของคุณแม่จากการเฝ้าสังเกตการเคลื่อนไหว คุณแม่สามารถนำไปเล่าให้ลูกฟังในอนาคตได้ ทำให้ลูกน้อยเมื่อเติบใหญ่จะยิ่งรู้ว่าคุณแม่รักและห่วงใยเขามาก ความรักของคุณแม่เป็นเรื่องน่าซาบซึ้งและมหัศจรรย์ตั้งแต่ลูกอยู่ในครรภ์
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- บล็อกหลังผ่าคลอด คืออะไร เรื่องที่คุณแม่ต้องรู้ เกี่ยวกับการบล็อกหลัง
- ผ่าคลอด กี่สัปดาห์ ท้องกี่สัปดาห์คลอด ถึงปลอดภัยสำหรับลูกน้อย
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- คุณแม่ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง ผ่าคลอดมีลูกได้กี่คน ผ่าคลอดบ่อยอันตรายไหม
- ออกกําลังกายหลังคลอด สำหรับคุณแม่หลังผ่าคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- นับลูกดิ้นอย่างไร...ให้รู้ว่าทารกปลอดภัยนะ, โรงพยาบาลพญาไท
- How do baby flutters feel?, Medical News Today
- Fetal Movements in Pregnancy, News-Medical
- Feeling Your Baby Kick, WebMD
- When Can You Feel Your Baby Move and Kick?, What to Expect
- How to do kick counts, BabyCenter
- How to Do Kick Counts, What to Expect
- Womb Tunes: Music Your Baby Will Love, Healthline
- คุณแม่รู้ไหม ลูกดิ้น..บอกอะไรได้มากกว่าที่คิด, โรงพยาบาลเปาโล
อ้างอิง ณ วันที่ 14 มีนาคม 2567