คนท้องท้องอืด แก้ยังไงดี พร้อมเมนูอาหารแก้ท้องอืดสำหรับคนท้อง

คนท้องท้องอืด ไม่สบายท้อง แก้ยังไงดี พร้อมเมนูอาหารแก้ท้องอืด

31.03.2024

คนท้องท้องอืด หนึ่งในอาการไม่สบายที่สามารถเกิดขึ้นได้ขณะตั้งครรภ์ อาจจะมองดูว่าอาการท้องอืดเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่หากเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อาจไม่ใช่เรื่องเล็ก เพราะความกังวลจากอาการทำให้คุณแม่พะวงถึงลูกน้อยในครรภ์ แต่โดยทั่วไปแล้วอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย อาจเกิดได้ในทุกไตรมาสระหว่างตั้งครรภ์ หากมีอาการท้องอืดแบบไม่รุนแรง คุณแม่ท้องก็สามารถรับมือและดูแลสุขภาพได้ง่าย ๆ

headphones

PLAYING: คนท้องท้องอืด ไม่สบายท้อง แก้ยังไงดี พร้อมเมนูอาหารแก้ท้องอืด

อ่าน 9 นาที

สรุป

  • อาการท้องอืดสามารถเกิดขึ้นได้ในขณะตั้งครรภ์ ที่ส่งผลให้รู้สึกอาหารไม่ย่อย แน่นท้อง จุกเสียด ปวดท้อง หรือแสบร้อนกลางอก เนื่องจากมีแก๊สหรือลมอยู่ในกระเพาะอาหารมากไป
  • อาการคนท้องท้องอืดสามารถเกิดขึ้นตั้งแต่ในไตรมาสแรก โดยเฉพาะไตรมาสที่ 3 ที่อาจทำให้คุณแม่มีอาการท้องอืดได้บ่อยมากขึ้น เนื่องจากลูกน้อยในท้องมีการเจริญเติบโตขึ้น ทำให้มดลูกขยายใหญ่และไปกดทับกับอวัยวะรอบข้าง
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายขณะตั้งครรภ์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คุณแม่รู้สึกท้องอืดได้บ่อยครั้ง
  • อาการท้องอืดที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์โดยทั่วไป คุณแม่ท้องสามารถดูแลสุขภาพได้ง่าย ๆ เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับประทานอาหาร ก็จะช่วยบรรเทาอาการท้องอืดได้และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เมื่อคุณแม่เริ่มตั้งครรภ์ จากร่างกายที่แข็งแรงหรือไม่ค่อยมีอาการอะไรเกิดขึ้น อาจต้องเจอกับอาการสารพัด รวมถึงอาการ คนท้องท้องอืด เมื่อมีอาการท้องอืดแล้วต้องดูแลตัวเองแบบไหน ท้องอืดตั้งครรภ์ส่งผลกระทบอะไรกับลูกน้อยในท้องหรือไม่ เพื่อให้คุณแม่คลายกังวล มาทำความเข้าใจเพื่อพร้อมรับมือกับอาการท้องอืดในขณะตั้งครรภ์กันค่ะ

 

คนท้องท้องอืด ผิดปกติไหม?

โดยปกติแล้วอาการท้องอืดสามารถเกิดขึ้นได้ในขณะตั้งครรภ์ ที่ส่งผลให้รู้สึกเหมือนท้องอืด อาหารไม่ย่อย แน่นท้อง จุกเสียด ปวดท้อง หรือแสบร้อนกลางอก เนื่องจากมีแก๊สหรือลมอยู่ในกระเพาะอาหารมากไป การระบายลมในช่องท้องไม่ดี จนทำให้เรอหรือผายลมออกมาได้ด้วย อาการของคนท้องท้องอืด อาหารไม่ย่อย หากแต่คุณแม่ไม่อยากเจอกับอาการท้องอืดสามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน หลีกเลี่ยงความวิตกกังวลหรือลดความเครียด อาการท้องอืดก็สามารถดีขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้งได้

 

คนท้องไตรมาสแรก ท้องอืดเพราะอะไร

อาการคนท้องท้องอืด อาหารไม่ย่อย สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ อาจเกิดขึ้นได้จากทั้งปัจจัยภายในร่างกายและปัจจัยภายนอก เช่น

  • มีลมหรือแก๊สอยู่ในกระเพาะอาหารที่มากเกินไป
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น กินมากเกินไป กินเร็วเกินไป การพูดคุยระหว่างรับประทานอาหาร จนทำให้ลมเข้าไปในกระเพาะมาก การเคี้ยวอาหารไม่ละเอียด หรือการรับประทานผิดเวลา เป็นต้น
  • ดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือน้ำอัดลมที่บรรจุแก๊ส
  • มีความเครียด ความวิตกกังวล ในช่วงตั้งครรภ์
  • การก้มตัวบ่อยเกินไป
  • มีอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด เป็นประจำตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
  • การรับประทานอาหารบางชนิดอาจส่งผลให้คนท้องท้องอืดได้
  • เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนและฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายขณะตั้งครรภ์ มีส่วนทำให้การทำงานของระบบการย่อยอาหารช้าลง
  • อาหารไม่ย่อยเกิดจากความผิดปกติของระบบการย่อยอาหาร ที่เกิดขึ้นได้จากภายในกระเพาะอาหารและในส่วนของลำไส้ เกิดจากการดูดซึมอาหารไม่หมด หรือเกิดจากระบบทางเดินอาหารบีบตัวผิดปกติ

 

คนท้องไตรมาสสุดท้าย ท้องอืดเพราะอะไร

อาการท้องอืด อาจเกิดขึ้นได้บ่อยครั้งเมื่อคุณแม่เข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 เนื่องจากพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์เริ่มมีการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวแล้ว โดยเฉพาะตั้งแต่อายุครรภ์ 29 สัปดาห์      ที่อาจทำให้คุณแม่มีอาการท้องอืดได้บ่อยมากขึ้น เนื่องจากพัฒนาการของลูกน้อยในท้องมีการเจริญเติบโตขึ้น ทำให้มดลูกขยายใหญ่และไปกดทับกับอวัยวะรอบข้าง

 

คนท้องท้องอืด มีอาการอะไรบ้าง

สัญญาณที่บ่งบอกอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย อาทิเช่น

  • อาหารไม่ย่อย หรือแน่นท้อง เนื่องจากเกิดลมในกระเพาะจำนวนมาก
  • มีอาการแสบร้อนกลางอก
  • มีกรดไหลย้อน
  • รู้สึกอยากอาเจียน
  • เรอหรือผายลม
  • รู้สึกอิ่มเร็วกว่าปกติทั้งที่เพิ่งเริ่มรับประทาน
  • ปวดหัว วิงเวียนศีรษะ
  • อึดอัดในช่องท้องส่วนบน อาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
  • มีอาการจุกเสียดยอดอก เป็นผลมาจากมดลูกขยายใหญ่ขึ้นและไปเบียดกดทับกระเพาะอาหาร ทำให้ได้รับอาหารน้อยลง ระบบย่อยอาหารช้าลง ท้องอืด อีกทั้งเกิดการคลายตัวของกล้ามเนื้อหูรูดบริเวณหลอดอาหารส่วนล่างที่ทำให้น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลย้อนกลับมายังหลอดอาหารจึงเกิดอาการจุกเสียดขึ้นได้

 

อาการท้องอืดที่เกิดขึ้นในขณะตั้งครรภ์โดยทั่วไปที่เกิดจากมีลมหรือแก๊สในกระเพาะอาหารเยอะ คุณแม่ท้องสามารถดูแลสุขภาพได้ง่าย ๆ อย่างไรก็ตาม ภาวะท้องอืดอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น โรคลำไส้แปรปรวน โรคกระเพาะอาหาร ภาวะท้องผูกเรื้อรัง เป็นต้น หากคุณแม่รู้สึกว่าท้องอืดแล้วมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น เสียดแสบร้อนกลางอกรุนแรง และมีอาการมือ เท้า หรือใบหน้าบวมขึ้นเฉียบพลัน เจ็บซี่โครงอย่างรุนแรง ตาพร่ามัว หรือปวดหัวมาก อาจเป็นสัญญาณของการเกิดอาการครรภ์เป็นพิษ  หากพบเจออาการเหล่านี้ร่วมด้วย เช่น อาเจียนเป็นเลือด ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดท้องรุนแรง ถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นเลือด ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการทันที

 

ท้องอืดขณะตั้งครรภ์ วิธีแก้มีอะไรบ้าง

 

ท้องอืดขณะตั้งครรภ์ วิธีแก้มีอะไรบ้าง

ในขณะตั้งครรภ์ถ้าคุณแม่ท้องต้องเจอกับอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย ที่เกิดจากสาเหตุไม่รุนแรง คุณแม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองง่าย ๆ ด้วยวิธีนี้

  1. เคี้ยวอาหารช้า ๆ และเคี้ยวให้ละเอียด ไม่ควรรับประทานอาหารคำใหญ่และกินเร็วเกินไป รวมถึงหลีกเลี่ยงการพูดคุยในขณะรับประทานด้วย
  2. ทานอาหารแต่ละมื้อให้น้อยลง แบ่งเป็นหลาย ๆ มื้อต่อวัน โดยแบ่งปริมาณอาหารจาก 3 มื้อหลัก มาแบ่งย่อยเป็นมื้อเล็ก ๆ หลายมื้อแทน และไม่ควรรับประทานอาหารครั้งละมากเกินไป หรือเลือกรับประทานอาหารที่ย่อยง่ายเมื่อมีอาการท้องอืด รวมถึงการดื่มน้ำ ไม่ควรดื่มน้ำในปริมาณมาก ๆ ในมื้อเดียว แต่ควรดื่มหรือจิบน้ำให้ได้ตลอดทั้งวัน
  3. เดินเบา ๆ ยืดเส้นยืดสายหลังรับประทานอาหาร ควรนั่งพักประมาณ 10-15 นาที จากนั้นค่อย ๆ ลุกเดินขยับร่างกายเพื่อช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบย่อยอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการนั่งนาน ๆ หรือนั่งหลังตรงเพื่อลดแรงกดทับที่ช่องท้อง และไม่ควรเอนตัวนอนทันทีหลังมื้ออาหาร
  4. รับประทานอาหารให้ตรงเวลา และหากเป็นไปได้ควรเลือกเวลารับประทานอาหารเย็น หรือไม่ควรรรับประทานอาหาร อย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
  5. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ปรับพฤติกรรมการกินด้วยการหลีกเลี่ยงอาหารที่เผ็ดจัด หวานจัด หรืออาหารประเภทที่มีไขมันสูง ของทอด
  6. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มโซดา แอลกอฮอล์ คาเฟอีน เครื่องดื่มเหล่านี้หากคุณแม่เลือกจะบริโภคในปริมาณที่มากเกินไป ก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพครรภ์คุณแม่ซึ่งส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในท้องด้วย การหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ คาเฟอีน  หรือโซดาและน้ำอัดลม ที่มีแก๊สจะช่วยป้องกันการเกิดแก๊สในกระเพาะอาหาร อาการอาหารไม่ย่อย และช่วยลดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดมาตัวเล็ก มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ หรือภาวะมีปัญหาทางสมองของทารก
  7. งดอาหารหมักดอง ควรรับประทานอาหารที่สะอาด ถูกสุขอนามัย อาหารที่ปรุงสุก และหลีกเลี่ยงอาหารที่คุณแม่รับประทานเข้าไปแล้วก่อให้เกิดอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย
  8. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลฟรุกโตส หรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาล เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้ท้องอืดได้
  9. งดการสูบบุหรี่ นอกจากจะส่งผลต่ออาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย และเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระเพาะ การสูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพครรภ์ของคุณแม่แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อลูกน้อย มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแท้ง โรคไหลตายในเด็ก หรือภาวะคลอดก่อนกำหนด
  10. ออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ระบบย่อยอาหาร และระบบขับถ่าย ช่วยคุณแม่ป้องกันอาการท้องอืดในขณะตั้งครรภ์ โดยคุณแม่สามารถเลือกกิจกรรมในการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน การว่ายน้ำ โยคะคนท้อง
  11. หลีกเลี่ยงความเครียด หากิจกรรมที่ชอบทำเพื่อคลายความเครียด เช่น การนั่งสมาธิ อ่านหนังสือ ฟังเพลง เป็นต้น

 

หากคุณแม่มีวินัยในการปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร และดูแลเอาใจใส่ในสุขภาพ ก็จะมีส่วนช่วยลดแก๊สในกระเพาะอาหาร และบรรเทาหรือป้องกันภาวะท้องอืด อาหารไม่ย่อย รวมถึงส่งผลดีต่อสุขภาพครรภ์ของคุณแม่ และช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการอยู่เสมอ หากอาการท้องอืดไม่ดีขึ้น หรือเป็นเรื้อรัง เกิดภาวะรุนแรง หรือโรคลำไส้แปรปรวน อันเกิดจากระบบการทำงานของลำไส้ผิดปกติมีการบีบรัดตัวมากไปส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง จากที่คุณแม่เคยเป็นอยู่แล้วเกิดอาการแย่ลงระหว่างตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสมทันที

 

เมนูอาหารแก้ท้องอืดสำหรับคนท้อง ทำทานเองได้ง่าย ๆ

อาการท้องอืดส่งผลทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์จากที่อึดอัดเพราะขนาดของหน้าท้องที่ขยายขึ้นอยู่แล้ว เกิดความรู้สึกไม่สบายท้อง แน่นท้อง จุกเสียด เสมือนมีลมอยู่ในท้องเป็นจำนวนมาก จนอาจทำให้ต้องเรอหรือผายลมออกมา การเลือกรับประทานอาหารในขณะตั้งครรภ์จึงเป็นเรื่องที่คุณแม่ให้ความสำคัญไม่น้อย และอาหารบางชนิดก็สามารถเป็นเมนูอาหารแก้ท้องอืดสำหรับคุณแม่ท้องที่สามารถเลือกรับประทานง่าย ๆ เช่น

1. น้ำขิง

ในขิงจะมีเอนไซน์ที่ช่วยย่อยสลายโปรตีน ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของลำไส้ และช่วยให้การทำงานในระบบย่อยอาหารมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยขับลม แก้จุกเสียด หากคนท้องท้องอืด การจิบน้ำขิงก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยเบาเทาอาการได้

 

2. โยเกิร์ตผลไม้สด

ในโยเกิร์ตมีโพรไบโอติกส์ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดดีที่มีประโยชน์ต่อลำไส้ มีส่วนช่วยในกระบวนการย่อยอาหาร และช่วยให้ระบบทางเดินอาหารแข็งแรง จึงมีส่วนช่วยบรรเทาอาการท้องอืดลงได้ คุณแม่สามารถทำโยเกิร์ตผลไม้สดแก้ท้องอืดเองได้ ด้วยการเลือกโยเกิร์ตสูตรไม่มีน้ำตาล และเพิ่มคุณประโยชน์จากผลไม้ที่ช่วยแก้ท้องอืด เช่น

  • อะโวคาโด ในอะโวคาโดมีสารอาหารที่ช่วยเพิ่มแบคทีเรียและจุลินทรีย์ชนิดดีในลำไส้ ซึ่งมีส่วนช่วยต่อระบบย่อยอาหารให้ดีขึ้น ช่วยบรรเทาอาการคนท้องท้องอืด อาหารไม่ย่อย แน่นท้อง
  • กล้วย เป็นผลไม้ที่มีเส้นใยสูงซึ่งช่วยกวาดล้างไขมันในลำไส้ และให้ประโยชน์ทั้งเกลือแร่และวิตามินต่าง ๆ การรับประทานกล้วยก่อนอาหารในตอนเช้าจะมีส่วนช่วยให้ลำไส้ทำงานคล่อง
  • แอปเปิ้ล มีสารแพคตินที่ช่วยกระตุ้นแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ลำไส้ช่วยย่อยอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระรวมทั้งวิตามินต่าง ๆ ที่ดีต่อระบบการทำงานของอวัยวะภายในทั้งลำไส้ กระเพาะอาหาร รวมถึงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย

 

3. ข้าวผัดแซลมอนใส่ควินัว

ในควินัวอุดมไปด้วยสารอาหารหลากชนิดที่ให้โปรตีนสูงแต่มีไขมันต่ำ และยังมีเส้นใยอาหารที่ส่งผลดีต่อการทำงานของลำไส้และระบบขับถ่าย นอกจากข้าวผัดแซลมอนใส่ควินัว คุณแม่สามารถนำควินัวเป็นส่วนผสมเพื่อสร้างสรรค์เมนูต่าง ๆ และเสริมคุณค่าทางอาหารเพิ่มขึ้นได้ เช่น ผัดผักต่าง ๆ กับควินัว สลัดผักต่าง ๆ คู่กับควินัว เป็นต้น อย่างไรก็ตามสำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรเลือกรับประทานควินัวในปริมาณที่เหมาะสม และในปลาแซลมอนมีสารโอเมก้า 3 รวมถึงไอโอดีนที่มีความสำคัญต่อระบบประสาท มีส่วนช่วยในการบำรุงเซลล์สมอง กระตุ้นสมอง และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพความจำของลูกน้อยได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งคุณแม่สามารถเลือกรับประทานปลาชนิดอื่นที่มีสารโอเมก้า 3 เช่น ปลาทู ปลาแมคเคอเรล ปลาสลิด เป็นต้น รับประทานอาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง สลับกับเมนูอื่น ๆ เพิ่มความหลากหลายในโภชนาการที่ดีในแต่ละวัน ไม่ทำให้คุณแม่รู้สึกเบื่ออาหาร ทั้งนี้การรับประทานปลา หรือเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ ควรจะปรุงสุกและไม่ควรทานอาหารดิบ

 

เมนูอาหารแก้ท้องอืด ควรมีส่วนประกอบไปด้วยใยอาหารสูง มีโพรไบโอติกส์ และมีน้ำเป็นส่วนประกอบ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกระบวนการย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร คุณแม่ท้องควรจะเลือกรับประทานอาหารแต่ละมื้อในปริมาณที่เหมาะสมและพอดี ก็จะมีส่วนช่วยบรรเทาอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อยลงได้ 


อย่างไรก็ตามอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อยนั้น หากคุณแม่ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานดูแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบคุณหมอเพื่อวินิจฉัยอาการ เพื่อให้คุณแม่ตั้งครรภ์มีสุขภาพที่แข็งแรงและมีความสุขตลอดระยะการตั้งครรภ์นี้ค่ะ

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 


อ้างอิง:

  1. คนท้องอาหารไม่ย่อย อาการ สาเหตุ และการรักษา, hellokhunmor
  2. อาการท้องอืดของคนท้องเกิดจากอะไร และรักษาได้อย่างไร, hellokhunmor
  3. ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องเสียบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เสี่ยงระบบย่อยอาหารพัง !, โรงพยาบาลนครธน
  4. ท้องอืดเป็นสัญญาณของโรคอะไรได้บ้าง, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
  5. ท้องอืด, พบแพทย์
  6. 7 อาหารแก้ท้องอืด ช่วยขับลมในกระเพาะอาหาร, พบแพทย์
  7. ผักผลไม้เป็นมิตรต่อลำไส้, โรงพยาบาลพรินซ์ สุวรรณภูมิ
  8. ควินัว ประโยชน์เต็มเมล็ดกับคุณสมบัติต้านโรค, พบแพทย์
  9. โภชนาการสำหรับแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลเปาโล
  10. รู้ทัน “ลำไส้แปรปรวน” ตัวการทำชีวิตปรวนแปร, โรงพยาบาลศิครินทร์
  11. เมนูอาหารคุณแม่ บำรุงสมองลูกในครรภ์, โรงพยาบาลบางปะกอก

อ้างอิง ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567

บทความแนะนำ

ท้องแฝดเกิดจากอะไร คุณแม่ตั้งท้องแฝดอันตรายจริงไหม

ท้องแฝดเกิดจากอะไร คุณแม่ตั้งท้องแฝดอันตรายจริงไหม

คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องแฝดยากไหม เกิดจากอะไร ตั้งครรภ์ท้องแฝดสี่ยงอันตรายจริงหรือเปล่า ลูกแฝดเกิดจากอะไรได้บ้าง พร้อมวิธีเตรียมตัวมีลูกแฝดสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

ทำกิ๊ฟ คืออะไร การทำกิ๊ฟ GIFT ต่างจากการทำเด็กหลอดแก้วไหม

ทำกิ๊ฟ คืออะไร การทำกิ๊ฟ GIFT ต่างจากการทำเด็กหลอดแก้วไหม

การทำกิ๊ฟ คืออะไร คุณแม่มีลูกยากอยากทำกิ๊ฟ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง การทำกิ๊ฟมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ค่าใช้จ่ายแพงไหม ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมตัวอย่างไร

อยากได้ลูกชายทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกชาย

อยากได้ลูกชายทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกชาย

อยากได้ลูกชาย ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ทำยังไงได้บ้าง อยากมีลูกชายด้วยวิธีธรรมชาติทำได้จริงไหม พร้อมวิธีคำนวณวันตกไข่ นับวันตกไข่ ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์

หลังคลอด 1 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม เริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่

หลังคลอด 1 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม เริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่

หลังคลอด 1 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม คุณแม่หลังคลอดมีเพศสัมพันธ์เลยทันทีจะเป็นอันตรายหรือเปล่า มีเพศสัมพันธ์ตอนไหนปลอดภัยกับคุณแม่ที่สุด ไปดูกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก