คนท้องกินถั่วต้มได้ไหม เท่าไหร่ถึงพอดี อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า
คนท้องกินถั่วต้มได้ไหม คุณแม่หลายคนมีความเชื่อว่าการกินถั่วตอนท้องอาจทำให้ลูกน้อยเกิดอาการแพ้ถั่วได้ ความจริงแล้วถั่วมีประโยชน์มากกว่าที่คุณแม่คิด เพราะช่วยลดความดันโลหิตสูง และยังมีโฟเลตที่ส่งผลดีต่อพัฒนาการของทารกน้อยในครรภ์ด้วย หากคุณแม่มีเรื่องกังวลใจ และอยากรู้ว่าคนท้องควรกินถั่วต้มในปริมาณเท่าไหร่ต่อวัน สามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้
สรุป
- คนท้องกินถั่วต้มได้ ไม่เป็นอันตรายต่อลูกน้อยในท้อง และไม่ทำให้ทารกเสี่ยงต่อการแพ้ถั่วหลังคลอด แต่การกินถั่วต้มในขณะตั้งครรภ์ อาจช่วยลดโอกาสการเกิดอาการแพ้ถั่วในเด็กได้
- ถั่วเป็นแหล่งของสารอาหารจำพวกโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไฟเบอร์ วิตามิน และแร่ธาตุที่ดี รวมถึงใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ จึงช่วยลดอาการท้องผูกของคนท้องได้ดี ช่วยลดความดันโลหิต ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้
- คนท้องควรกินถั่วต้มอย่างถั่วลิงสงได้ครั้งละไม่เกิน 1 ฝ่ามือ ส่วนถั่วแดง ถั่วดำต้ม สามารถกินได้วันละ 1/2 ถ้วยตวง ในขณะที่ถั่วแระญี่ปุ่น หรือถั่วลันเตา คนท้องสามารถกินได้วันละ ½-1 ถ้วยตวง
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- คนท้องกินถั่วต้มได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า
- ประโยชน์ของถั่วต้ม สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- คนท้องกินถั่วต้มได้ไหม กินเท่าไหร่ ถึงพอดี
- แม่ท้องกินถั่วต้มได้ไหม กินเยอะไป ทำให้ลูกในท้องแพ้ถั่วจริงไหม
- คนท้องกินถั่วต้มบ่อย เสี่ยงแท้งและคลอดก่อนกำหนดจริงไหม
- วิธีเลือกกินถั่วต้ม สำหรับคุณแม่ท้อง
คนท้องกินถั่วต้มได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า
คนท้องสามารถกินถั่วต้มได้ เพราะถั่วมีโภชนาการสูงทั้งโปรตีน ใยอาหารสูง วิตามิน และแร่ธาตุหลายชนิดที่เหมาะสำหรับคนท้อง ช่วยลดอาการคลื่นไส้และอาการแพ้ท้อง ได้ดี นอกจากนี้ในถั่วบางชนิดยังมีกรดโฟลิก ที่ช่วยลดโอกาสการเกิดความบกพร่องของไขสันหลังในทารก และยังช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงให้นำพาออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายคุณแม่ และส่งต่อออกซิเจนไปยังลูกน้อยในท้องอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม คนท้องไม่ควรกินถั่วลิสงมากเกินไปแต่ควรกินให้พอดีโดยเฉพาะถั่วลิสง เนื่องจากในถั่วลิสงอาจมีอันตรายแฝงอยู่ เช่น อะฟลาทอกซิน และไฮโดรคาร์บอนโพลีไซคลิกอะโรมาติก ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายต่อคนท้องได้ อีกทั้งการกินถั่วลิสงต้มมากเกินไปอาจทำให้คนท้องเสี่ยงต่อการเกิดไขมัน และคอลเลสเตอรอสในเลือดสูงได้
ประโยชน์ของถั่วต้ม สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
ถั่ว เป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยสารอาหารอย่างโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุหลากหลายชนิด มีไขมันต่ำ ที่มีประโยชน์สำหรับคนท้อง ได้แก่
1. ดีต่อระบบขับถ่าย
ในถั่วอุดมไปด้วยใยอาหารที่ไม่ละลายน้ำ จึงช่วยลดปัญหาอาการท้องผูกในคนท้องได้ดี นอกจากนี้ยังช่วยเติมพลังงานให้กับแบคทีเรียที่ดีในระบบย่อยอาหาร ทำให้ระบบย่อยอาหารของคุณแม่ทำงานได้ดียิ่งขึ้น
2. ต่อต้านอนุมูลอิสระ
ถั่วมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันไม่ให้เซลล์เกิดความเสียหาย อีกทั้งยังสามารถช่วยป้องกันโรคเรื้อรังได้ด้วย
3. มีน้ำตาลน้อย
การทานถั่วลิสงต้ม ช่วยให้คนท้องได้รับพลังงานสูง ผู้ที่ป่วยเป็นเบาหวานทานได้เพราะมีน้ำตาลน้อย แต่คุณแม่ไม่ควรทานถั่วลิสงมากเกินไปเพราะอาจทำให้ได้รับไขมันเพิ่ม และมีคอเรสเตอรอลในเลือดสูงขึ้นอีกด้วย
4. ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็ง
ถั่วเป็นแหล่งของไฟโตนิวเทรียนต์ (Phytonutrients) ที่ดี เป็นสารอาหารที่พบได้จากพืชที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยให้ร่างกายทำงานปกติ ถั่วต้มบางชนิดอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งได้ เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คนท้องควรระมัดระวังการกินถั่วลิสงต้ม โดยเฉพาะบริเวณที่มีจุดดำ ๆ บริเวณเปลือกถั่ว เพราะอาจทำให้คุณแม่ได้รับสารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนมากับเมล็ดถั่วได้
คนท้องกินถั่วต้มได้ไหม กินเท่าไหร่ ถึงพอดี
คนท้องสามารถทานถั่วต้มได้ในปริมาณที่กำหนดต่อครั้งหรือต่อวัน เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และลูกน้อยในท้อง โดยปริมาณที่คนท้องควรทานต่อวันมีดังนี้
1. ถั่วเปลือกแข็งต้ม
ถั่วต้มอย่างถั่วลิสงต้มได้ในปริมาณ 30 กรัม หรือประมาณ 1 ฝ่ามือต่อครั้ง โดยสามารถทานสลับกับเมล็ดถั่วเปลือกแข็งอื่น ๆ หรือเนยถั่วได้
2. ถั่วเมล็ดแห้งต้ม
ในกรณีที่เป็นถั่วเมล็ดแห้งต้มอย่างถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วแดง คุณแม่สามารถทานถั่วต้มสุกได้ในปริมาณ ½ ถ้วยตวง
3. ถั่วฝักอ่อนต้ม
ส่วนถั่วฝักอ่อน เช่น ถั่วแระญี่ปุ่น หรือถั่วลันเตา คุณแม่สามารถนำไปประกอบอาหารรูปแบบต้มได้ในปริมาณ ½ -1 ถ้วยตวง พร้อมกับทานอาหารชนิดอื่น ๆ ที่หลากหลาย เพื่อให้คุณแม่และลูกน้อยในท้องได้รับสารอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน
แม่ท้องกินถั่วต้มได้ไหม กินเยอะไป ทำให้ลูกในท้องแพ้ถั่วจริงไหม
คำตอบคือไม่จริง ปัจจุบันมีหลักฐานทางการแพทย์ไม่เพียงพอ ที่บ่งบอกว่าคนท้องกินถั่ว หรือถั่วต้มทำให้ลูกในท้องเสี่ยงต่อการแพ้ถั่ว คนท้องสามารถกินถั่วในระหว่างตั้งครรภ์ได้ในปริมาณที่เหมาะสม เพราะในถั่วลิงสงต้มเป็นแหล่งของโปรตีนและโฟเลตชั้นดี กินแล้วดีต่อลูกน้อยในท้อง คุณแม่จึงไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการกินถั่วต้มตอนท้อง อีกทั้ง การกินถั่วต้มหรือถั่วลิงสงของคนท้องที่ไม่เคยมีปะวัติแพ้ถั่วลิสง หรือพืชตระกูลถั่วมาก่อน อาจทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดอาการแพ้ถั่วในเด็กลดลงได้ เพราะการกินถั่วหรือพืชตระกูลถั่วนั้น จะช่วยให้ร่างกายของทารกค่อย ๆ สร้างภูมิคุ้มกันต่อถั่วขึ้นมานั่นเอง ในกรณีที่คุณแม่หรือครอบครัวมีประวัติแพ้ถั่ว ไม่แนะนำให้กินถั่วในระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในท้องได้
คนท้องกินถั่วต้มบ่อย เสี่ยงแท้งและคลอดก่อนกำหนดจริงไหม
คนท้องสามารถกินถั่วต้มบ่อย ๆ ได้ตามปริมาณที่กำหนด ไม่ทำให้คนท้องเสี่ยงแท้งหรือเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด แต่ควรระมัดระวังในการกินถั่วลิสงต้ม เนื่องจากในถั่วลิสงต้มอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อรา หรือสารก่อมะเร็งได้ เพราะในถั่วลิสงมักมีการปะปนของสารพิษชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “อะฟลาท็อกซิน” เมื่อสารนี้เข้าไปสะสมในร่างกายของคุณแม่มาก ๆ อาจทำให้เกิดการชัก หายใจลำบาก ตับถูกทำลาย หัวใจและสมองมีอาการบวม และเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งตับด้วย ส่วนทารกในครรภ์เมื่อได้รับสารอะฟลาท็อกซินเข้าไป อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารกและพัฒนาการของลูกน้อยในครรภ์ได้
หากคุณแม่ต้องการกินถั่วต้มบ่อย ๆ ควรเลือกครั้งละ 1 ฝ่ามือ โดยเลือกถั่วลิสงต้มที่มีความสดใหม่ ไม่มีกลิ่นเหม็น และต้องไม่มีจุดดำบนเปลือกถั่ว เพราะสารอะฟลาท็อกซินนี้ทนความร้อนได้สูงถึง 260 องศาเซลเซียส หากคุณแม่นำถั่วลิสงที่มีสารนี้มาต้ม ความร้อนปกติอาจไม่สามารถทำลายสารนี้ได้ จึงเป็นอันตรายต่อคุณแม่และลูกน้อยในท้อง
วิธีเลือกกินถั่วต้ม สำหรับคุณแม่ท้อง
เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่ และพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยในท้อง คุณแม่ควรเลือกกินถั่วต้มตามคำแนะนำ ดังต่อไปนี้
1. เลือกถั่วต้มที่สะอาด ไม่มีเชื้อรา
คุณแม่ควรเลือกถั่วที่สดใหม่ อยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐาน เมื่อสำรวจดูแล้วต้องไม่มีกลิ่นอับ ส่งกลิ่นเหม็น หรือมีเชื้อราปะปนมาด้วย ก่อนจะนำไปต้มหรือทำอาหารควรล้างให้สะอาด และไม่ควรกินถั่วลิสงต้มหรือคั่วที่มีจุดดำ ๆ บนเปลือกเด็ดขาด
2. ไม่ควรเก็บถั่วต้มไว้นานเกินไป
ทางที่ดีคุณแม่ควรเลือกกินถั่วต้มที่ผ่านการปรุงสุกใหม่จะดีกว่า เพราะการกินถั่วต้มที่ทิ้งไว้นานเกินไป อาจเกิดการสะสมของเชื้อราและเชื้อโรคได้
ถั่วต้มมีคุณประโยชน์มากมาย กินแล้วดีต่อสุขภาพร่างกายของคนท้อง และดีต่อพัฒนาการของลูกน้อยในท้องด้วย หากคุณแม่ต้องกินถั่วต้มในกรณีที่เป็นถั่วลิสง ควรเลือกถั่วที่สะอาดสดใหม่ ไม่มีจุดดำหรือเชื้อราบนเปลือกถั่ว เพราะอาจมีสารก่อมะเร็งได้ และควรกินถั่วลิงสงต้มมากเกินไป ควรกินแต่พอดีครั้งละไม่เกิน 1 ฝ่ามือ ส่วนถั่วเมล็ดแห้งคุณแม่ควรเลือกถั่วที่บรรจุในห่อที่ได้มาตรฐาน ไม่ขาด ไม่ชำรุด และควรล้างให้สะอาดก่อนนำมาทำเป็นอาหารทุกครั้ง
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- 12 เมนูอาหารคนท้อง คนท้องกินอะไรได้บ้าง ดีต่อสุขภาพครรภ์
- ผ่าคลอดกินข้าวเหนียวได้ไหม แผลจะหายช้าหรือเปล่า
- คนท้องกินชาเย็นได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า
- คนท้องกินโซดาได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า
- คนท้องกินทุเรียนได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า
- คนท้องกินโกโก้ได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า
- คนท้องกินน้ำมะพร้าวได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า
- คนท้องกินสับปะรดได้ไหม อันตรายกับลูกในครรภ์หรือเปล่า
- คนท้องกินหน่อไม้ได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า
- คนท้องกินชาเขียวได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า
อ้างอิง:
- 5 Snack Foods to Eat While Pregnant, Johns Hopkins medicine
- Legumes, WebMD
- ความปลอดภัยของอาหารระหว่างตั้งครรภ์, New South Wales Food Authority (government Australia)
- Is It OK to Eat Peanuts When You're Pregnant?, WebMD
- Peanut Allergies, UPMC Children's Hospital of Pittsburgh
- เลือกกิน “ถั่ว” ให้ถูก ดีต่อสุขภาพแน่นอน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- อะฟลาทอกซิน (Aflatoxin), สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.)
- ความร้าย ร้าย ของอะฟลาทอกซิน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- Seasonal and gestation stage associated differences in aflatoxin exposure in pregnant Gambian women, University of Greenwich
- ระวัง "อะฟลาท็อกซิน" สารพิษก่อมะเร็งร้ายแรงในอาหารแห้ง, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- ประโยชน์และโทษของถั่วลิสง กินยังไงให้ได้สุขภาพดี?, หมอดี
อ้างอิง ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง