เวียนหัวคลื่นไส้พะอืดพะอม อาการแบบนี้ใช่อาการแพ้ท้องหรือเปล่า

เวียนหัวคลื่นไส้พะอืดพะอม ปวดหัวคลื่นไส้ ใช่อาการแพ้ท้องไหม

16.02.2024

เมื่อตั้งครรภ์คุณแม่ส่วนใหญ่ต้องเจอกับอาการแพ้ท้อง (Morning sickness) ซึ่งจะทำให้ไม่สบายตัวรู้สึกเวียนหัวคลื่นไส้พะอืดพะอม อาการแพ้ท้องจะเริ่มในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรกประมาณอายุครรภ์ 4-6 สัปดาห์ไปจนถึงอายุครรภ์ 14 สัปดาห์ อาการแพ้ท้องจะค่อย ๆ ดีขึ้นจนคุณแม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

headphones

PLAYING: เวียนหัวคลื่นไส้พะอืดพะอม ปวดหัวคลื่นไส้ ใช่อาการแพ้ท้องไหม

อ่าน 6 นาที

 

สรุป

  • เวียนหัวคลื่นไส้พะอืดพะอม อาการแพ้ท้อง จะเริ่มเป็นในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ที่อายุครรภ์ 4-6 สัปดาห์ และอาการแพ้ท้องจะทุเลาลงหลังอายุครรภ์ได้ 14 สัปดาห์
  • ฮอร์โมน Beta-hCG ส่งผลทำให้เกิดอาการเวียนหัวคลื่นไส้พะอืดพะอม
  • อาการแพ้ท้องสามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างตั้งครรภ์ไตรมาสแรกได้ถึง 3 ระดับ โดยระดับที่สอง และระดับสาม คุณแม่ตั้งครรภ์จำเป็นต้องพบแพทย์ทันที

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เมื่อเริ่มตั้งครรภ์ระดับฮอร์โมนในร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะฮอร์โมน Beta-hCG (Beta Subunit-Human Chorionic Gonadotropin) จะมีระดับที่สูงขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์ 1-3 เดือนไตรมาสแรก ฮอร์โมน hCG เป็นสาเหตุที่ทำให้คุณแม่มีอาการเวียนหัวคลื่นไส้พะอืดพะอม อยากอาเจียน สำหรับฮอร์โมน hCG จะค่อย ๆ ปรับระดับลงหลังจากอายุครรภ์ผ่านไตรมาสแรกไปแล้ว และการที่ระดับฮอร์โมน hCG สูงขึ้นขณะตั้งครรภ์ยังบอกถึงสุขภาพลูกน้อยในครรภ์ว่ามีความแข็งแรงอีกด้วย

 

อาการแพ้ท้อง อาการเวียนหัวคลื่นไส้เกิดจากอะไร

ท้องนี้แพ้ท้องหนัก! อาการแพ้ท้อง (Morning sickness) ที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ มีปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอาการแพ้ท้องได้ดังนี้

  • กลไกของร่างกาย: ในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ร่างกายจะมีปฏิกิริยาต่อต้านอาหารที่เข้าสู่ร่างกาย เพื่อป้องกันให้ทารกมีความปลอดภัย อาการแพ้ท้องระยะแรก จึงเกิดขึ้นในช่วงนี้เนื่องจากในช่วง 1-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ทารกอยู่ในช่วงที่กำลังมีการก่อร่างสร้างอวัยวะต่าง ๆ ให้ครบ และหลังจากผ่านไตรมาสแรกไป ทารกก็จะสร้างอวัยวะสำคัญจนเสร็จเกือบทั้งหมด พร้อมกันนี้ก็จะส่งผลให้อาการแพ้ท้องของคุณแม่ค่อย ๆ ดีขึ้นตามไปด้วย
  • ฮอร์โมน hCG: ขณะตั้งครรภ์รกจะมีการสร้างฮอร์โมน hCG (Human Chorionic Gonadotrophin) ขึ้นในร่างกาย หากเนื้อรกมีมากก็จะยิ่งสร้างให้มีฮอร์โมน hCG ออกมาในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดอาการแพ้ท้องในคุณแม่ตั้งครรภ์

 

คุณแม่ตั้งครรภ์ จะเริ่มมีอาการแพ้ท้องตอนไหน

อาการแพ้ท้องเกิดขึ้นได้ทั้งวัน หรืออาจเป็นเฉพาะช่วงเช้า หรือช่วงบ่ายก็ได้เช่นกัน ในคุณแม่ตั้งครรภ์จะเริ่มมีอาการเวียนหัวคลื่นไส้พะอืดพะอมรู้สึกอยากอาเจียน เมื่ออายุครรภ์เข้า 6 สัปดาห์ ของการตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก อาการแพ้ท้องพบว่าเป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงที่สูงขึ้นของระดับฮอร์โมน hCG (Human Chorionic Gonadotropin) ในร่างกาย แพ้ท้องคือสัญญาณของการตั้งครรภ์ที่ไม่เป็นอันตราย และเป็นอาการปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน

 

อาการแพ้ท้องสุดทรมานนี้ จะหายไปเมื่อไร?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอาการแพ้ท้องที่เกิดขึ้นในคุณแม่ตั้งครรภ์นั้นทำให้การใช้ชีวิตประจำวันในช่วง 1-3 เดือนของการตั้งครรภ์นั้นมีความยากลำบาก เพราะคุณแม่จะรู้สึกเหม็นกลิ่น เวียนหัวคลื่นไส้พะอืดพะอม ซึ่งอาการแพ้ท้องที่เกิดขึ้นในอายุครรภ์ไตรมาสแรกนี้ คุณแม่จะมีอาการแพ้ท้องเบาลงและค่อย ๆ ดีขึ้นหลังจากอายุครรภ์ได้ 14 สัปดาห์

 

รวมอาการแพ้ท้อง ที่คุณแม่ต้องเตรียมตัวรับมือ

  1. เวียนหัว: คุณแม่จะมีอาการเวียนหัว เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและความดันในร่างกาย จึงส่งผลทำให้คุณแม่เวียนหัวขึ้นมา
  2. คลื่นไส้พะอืดพะอม อาเจียน: เป็นเพราะระดับฮอร์โมน hCG ที่สร้างขึ้นจากรกมีปริมาณสูงขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์
  3. รู้สึกเหนื่อยง่าย ง่วงนอน: เป็นเพราะฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนในร่างกายที่ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะสำคัญอย่างหัวใจ ปอด และไต มีการทำงานหนักมากขึ้น เพื่อช่วยปกป้องดูแลตัวอ่อนที่อยู่ในครรภ์ให้มีความสมบูรณ์
  4. หงุดหงิดง่าย อารมณ์แปรปรวน: เป็นเพราะความไม่สมดุลของระดับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นในร่างกาย
  5. ไวต่อกลิ่น: เป็นเพราะฮอร์โมนเอสโตรเจนมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น
  6. เบื่ออาหาร: คุณแม่ยังคงรับประทานอาหารได้ แต่ทานได้น้อยลง เนื่องจากเริ่มเหม็นกลิ่นอาหาร
  7. อยากรับประทานอาหารเมนูแปลกใหม่ ที่ปกติไม่ได้ชอบทาน: คุณแม่จะมีอาการอยากอาหารที่เปลี่ยนไป อะไรที่ไม่ชอบกินก็จะอยากกิน เช่น อยากอาหารที่มีรสชาติเปรี้ยว เป็นต้น

 

อาการแพ้ท้อง แบ่งเป็น 3 ระดับ

อาการแพ้ท้อง (Morning sickness) จะแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ เพื่อให้คุณแม่สังเกตตัวเองเมื่อมีอาการแพ้ท้องขึ้นมา

1. มีอาการไม่หนัก

คุณแม่ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ ถึงแม้ว่าจะมีอาการคลื่นไส้เวียนหัวอยู่บ้างแต่ก็ไม่มาก บางครั้งมีการอาเจียนร่วมด้วยแต่ไม่รุนแรง และคุณแม่สามารถรับประทานอาหารได้

 

2. มีอาการแพ้ท้องระดับปานกลาง

คุณแม่รู้สึกไม่สบายตัวมาก ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เป็นปกติ นอนพักผ่อนตื่นขึ้นมาก็ยังไม่ดีขึ้นจากอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไม่รู้สึกอยากดื่มน้ำและรับประทานอาหารไม่ได้ แนะนำว่าให้สังเกตดูสีปัสสาวะหากมีสีเข้มมาก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

 

3. มีอาการแพ้ท้องรุนแรงระดับ HG

เป็นอาการแพ้ท้องขั้นสูงสุดที่ทางการแพทย์จัดให้อยู่ในระดับ Hyperemesis Gravidarum (HG) คุณแม่จะไม่สามารถดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารได้ และมีการอาเจียนตลอดเวลาจนทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำและสารอาหาร หากคุณแม่พบว่าตัวเองมีอาการแพ้ท้องในระดับ HG ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

 

ใครบ้างที่เสี่ยงมีอาการแพ้ท้องระดับ 3

  • มีประวัติทางสุขภาพของตั้งครรภ์ มีภาวะของไมเกรน
  • มีประวัติทางสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ เช่น เมารถ เมาเรือ เมาเครื่องบิน
  • มีประวัติมีอาการแพ้ท้องรุนแรงในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน
  • มีประวัติคนในครอบครัวตั้งครรภ์มีอาการแพ้ท้อง

 

วิธีบรรเทาอาการแพ้ท้องสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

อาการแพ้ท้องเกิดขึ้นได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ ดังนั้นเพื่อให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายและบรรเทาลงจากอาการแพ้ท้องสามารถปฏิบัติตามได้ดังนี้

  • ช่วงเช้า: หลังตื่นนอนตอนเช้า ไม่ควรปล่อยให้ท้องว่าง แนะนำให้กินเป็นแครกเกอร์ ขนมปังปิ้งกรอบ ๆ (ไม่ต้องทาเนย หรือแยม) หรือกินเป็นพวกซีเรียล เป็นต้น
  • ช่วงระหว่างวัน: จิบเครื่องสุขภาพก่อนหรือหลังอาหารประมาณครึ่งชั่วโมง และไม่ควรนอนงีบหลับหลังจากอิ่มมื้อกลางวัน เพราะจะยิ่งทำให้เกิดอาการเวียนหัวคลื่นไส้พะอืดพะอม
  • ช่วงเย็น: รับประทานอาหารสำหรับคนท้อง ที่รสชาติไม่จัด หลีกเลี่ยงอาหารกลิ่นแรง กลิ่นฉุน อาหารมัน ๆ เลี่ยน ๆ เพื่อจะได้ไม่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน แพ้ท้องขึ้น

 

วิธีป้องกันคุณแม่แพ้ท้องคลื่นไส้พะอืดพะอม

  1. จิบน้ำอุ่นระหว่างวัน
  2. ดื่มน้ำขิงเป็นประจำ
  3. ทานผลไม้สด หรือดื่มน้ำผลไม้ที่มีรสชาติหวานอมเปรี้ยว
  4. นั่งสมาธิ เพื่อช่วยปรับสมดุลภายในร่างกาย
  5. ออกกำลังกายด้วยการเดินช้า ๆ จะช่วยคลายจากอาการจุกเสียด เลือดลมไหลเวียนดีขึ้น
  6. รับประทานวิตามินและยาบำรุงครรภ์ตามที่แพทย์จัดให้
  7. บูสต์ร่างกายจากความอ่อนเพลียที่เกิดจากอาการแพ้ท้อง ด้วยการนอนหลับพักผ่อน และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี มีความสะอาดสดชื่น

 

ช่วงอายุครรภ์ 1-3 เดือนแรกเป็นช่วงเวลาที่ตัวอ่อนกำลังก่อร่างและสร้างอวัยวะต่าง ๆ ดังนั้นเพื่อความสมบูรณ์ของทารกในครรภ์ คุณแม่ควรรับประทานวิตามินและยาบำรุงครรภ์ตามที่แพทย์จัดให้หลังมื้ออาหารทุกครั้ง รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีโฟลิกสูง

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. อาการแพ้ท้องกับคุณแม่ตั้งครรภ์…เรื่องกวนใจที่แก้ได้!!, โรงพยาบาลเปาโล
  2. เคล็ด(ไม่)ลับสำหรับคนอยากมีลูก, โรงพยาบาลสมิติเวช
  3. 7 อาการป่วนตอนท้อง ตอนที่ 1, คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  4. วิธีรับมืออาการแพ้ท้อง ที่คุณแม่มือใหม่ต้องรู้, โรงพยาบาลบางปะกอก
  5. อาการคนท้องเดือนแรก สัญญาณเริ่มต้นกำลังครรภ์, โรงพยาบาลศิครินทร์
  6. สัญญานอันตรายที่แม่ตั้งครรภ์ต้องรีบไปพบแพทย์ : พบหมอรามาฯ, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
  7. อาการแพ้ท้องแบ่งเป็น 3 ระดับ, โรงพยาบาลเปาโล
  8. สูติศาสตร์ล้านนา, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อ้างอิง ณ วันที่ 5 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

อาการก่อนเมนส์มากับท้อง ต่างกันยังไง ทำไมถึงมีอาการคล้ายกัน

อาการก่อนเมนส์มากับท้องต่างกันยังไง ทำไมถึงมีอาการคล้ายกัน

อาการก่อนเมนส์มากับท้องต่างกันยังไง ทำไมถึงมีความคล้ายกันและมักแยกกันไม่ออก ไปดูความแตกต่างอาการก่อนเมนส์มากับท้อง เพื่อสังเกตอาการเบื้องต้น

โครโมโซม คืออะไร การคัดกรองโครโมโซมทารกในครรภ์ บอกอะไรบ้าง

โครโมโซม คืออะไร การคัดกรองโครโมโซมทารกในครรภ์ บอกอะไรบ้าง

โครโมโซม คืออะไร โครโมโซม มีกี่คู่ ทำความรู้จัก โครโมโซม และวิธีการตรวจโครโมโซมทารกในครรภ์ เพื่อเช็กความผิดปกติของทารก พร้อมวิธีตรวจคัดกรองโครโมโซมอย่างละเอียด

คนท้องติดโควิด คนท้องเป็นโควิดอันตรายไหม พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

คนท้องติดโควิด คนท้องเป็นโควิดอันตรายไหม พร้อมวิธีดูแลตัวเอง

คนท้องติดโควิด ทารกในครรภ์จะเป็นอันตรายไหม คนท้องเป็นโควิดฉีดวัคซีนและให้นมลูกได้หรือไม่ คนท้องติดโควิด ควรดูแลตัวเองอย่างไร ไปดูวิธีดูแลตัวเองเมื่อติดโควิดกัน

จุกหลอก ดีกับลูกน้อยจริงไหม จุกนมหลอก ข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง

จุกหลอก ดีกับลูกน้อยจริงไหม จุกนมหลอก ข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง

จุกหลอกใช้ได้ตอนไหน จุกหลอกหรือจุกนมหลอกช่วยเบี่ยงเบนความสนใจและป้องกันลูกน้อยดูดนิ้วตัวเองได้จริงหรือไม่ ไปดูข้อดีและข้อเสียของจุกหลอกที่คุณแม่ควรรู้ไว้กัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก