เบิกค่าคลอดประกันสังคมได้เท่าไหร่ คุณแม่ท้องมีสิทธิเบิกอะไรได้บ้าง

เบิกค่าคลอดประกันสังคมได้เท่าไหร่ คุณแม่ท้องเบิกอะไรได้บ้าง

01.04.2024

สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ รู้หรือไม่ว่าการใช้สิทธิประกันสังคมจะช่วยให้ทั้งคุณแม่และคุณพ่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการมีลูกได้มากขึ้น ซึ่งคุณแม่มือใหม่หลายท่านที่มีสิทธิประกันสังคมอาจจะยังไม่ทราบว่าสามารถใช้สิทธิขอเบิกค่าคลอดได้ และต้องทำอย่างไร วันนี้เราเลยรวบรวมข้อมูล ข้อสงสัย เกี่ยวกับสิทธิประกันสังคมของคุณแม่ตั้งครรภ์มาไว้ให้ จะมีสิทธิอะไรบ้างไปดูกัน

headphones

PLAYING: เบิกค่าคลอดประกันสังคมได้เท่าไหร่ คุณแม่ท้องเบิกอะไรได้บ้าง

อ่าน 6 นาที

 

สรุป

  • การที่คุณแม่ทราบถึงสิทธิค่าคลอดประกันสังคมที่จะได้รับ ทำให้สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้
  • นอกจากเรื่องการดูแลตนเองและลูกในครรภ์ คุณแม่ควรรู้เรื่องสิทธิประกันสังคมของหญิงตั้งครรภ์ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนเอง
  • คุณแม่สามารถเบิกค่าฝากครรภ์กับประกันสังคมได้ทั้งหมด 1,500 บาท โดยขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของคุณแม่
  • ประกันสังคมจะจ่ายค่าคลอดบุตรให้กับคุณแม่แบบเหมาจ่าย 15,000 บาท ต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง แต่คุณแม่ต้องจ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายในช่วงเวลา 15 เดือนก่อนคลอดบุตร
  • ค่าคลอดประกันสังคมสามารถยื่นได้ภายในเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่คลอดบุตร แต่หากเกินระยะเวลาที่กำหนด ก็ยังสามารถยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนได้ แต่ต้องแสดงเหตุผลที่ไม่สามารถยื่นเรื่องภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ และรอการพิจารณาอีกครั้ง

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

เบิกค่าคลอดประกันสังคม สิทธิที่คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้

ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมในการดูแลตนเองและลูกน้อยในครรภ์แล้ว สิ่งที่จะตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น ดังนั้นหากคุณแม่ท่านใดที่มีสิทธิประกันสังคมจึงควรทราบถึงสิทธิประโยชน์ที่ตนเองจะได้รับ เพื่อช่วยในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย โดยนอกเหนือจากค่าคลอดแล้ว ยังสามารถเบิกค่าฝากครรภ์ เงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร ค่าชดเชย กรณีแท้งบุตร รวมทั้งเงินสงเคราะห์เพื่อเลี้ยงดูบุตรได้อีกด้วย

 

คุณแม่จะเบิกค่าฝากครรภ์ได้เท่าไหร่

คุณแม่สามารถเบิกค่าฝากครรภ์กับประกันสังคมได้ทั้งหมด 1,500 บาท โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

  1. อายุครรภ์ ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 500 บาท
  2. อายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 300 บาท
  3. อายุครรภ์ 20-28 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 300 บาท
  4. อายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 200 บาท
  5. อายุครรภ์ 32-40 สัปดาห์ จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 200 บาท

 

ค่าคลอดบุตรประกันสังคม เบิกได้เท่าไหร่

คุณแม่จะได้รับเงินค่าคลอดบุตรจากประกันสังคม โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

  • ทางประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แบบเหมาจ่ายในอัตรา 15,000 บาท ต่อการคลอดบุตรหนึ่งครั้ง แต่คุณแม่ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนคลอดบุตร
  • คุณแม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ในการหยุดงานเพื่อคลอดบุตร โดยเหมาจ่ายในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วัน แต่สำหรับการใช้สิทธิบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตรนี้
  • หากทั้งคุณพ่อและคุณแม่เป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ให้ใช้สิทธิในการเบิกค่าคลอดบุตรฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง โดยสามารถเบิกได้ไม่จำกัดจำนวนบุตร และจำนวนครั้ง

 

ค่าชดเชย กรณีแท้งบุตร สามารถเบิกได้เหมือนกัน

ในกรณีที่คุณแม่แท้งบุตร ยังสามารถเบิกค่าชดเชยได้เช่นเดียวกัน โดยเงินที่เบิกได้จะเป็นในส่วนของวงเงินค่าคลอดบุตร และเงินสงเคราะห์การหยุดงาน แต่จะไม่ได้วงเงินสงเคราะห์เพื่อเลี้ยงดูบุตร ซึ่งการเบิกค่าชดเชยมีเงื่อนไขดังนี้

  • คุณแม่ต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน ภายใน 15 เดือน ก่อนเดือนคลอดบุตร
  • คุณแม่จะต้องมีอายุครรภ์ไม่น้อยกว่า 28 สัปดาห์

 

เบิกค่าคลอดประกันสังคม ใช้เอกสารอะไรบ้าง

 

เบิกค่าคลอดประกันสังคม ใช้เอกสารอะไรบ้าง

ในการเบิกค่าคลอดประกันสังคม คุณแม่จะต้องใช้เอกสารดังต่อไปนี้

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 (สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.sso.go.th/wpr/) กรอกข้อความครบถ้วน พร้อมลงลายมือชื่อผู้ยื่นคำขอ
  • สำเนาสูติบัตรบุตร 1 ชุด (กรณีคลอดบุตรแฝดให้แนบสำเนาสูติบัตรของคู่แฝดด้วย)
  • หากคุณพ่อเป็นผู้ยื่นขอเบิกสิทธิ ให้แนบสำเนาทะเบียนสมรสมาด้วย กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนมาแทน
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรก ซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ยื่นคำขอ มีธนาคาร ดังนี้ พร้อมเพย์ที่ลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน, ธนาคารกรุงไทย, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, ธนาคารทหารไทยธนชาติ, ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย 

 

 ผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งสถานที่ยื่นเรื่อง

 

ฝากครรภ์ประกันสังคม มีขั้นตอนอะไรบ้าง

สำหรับการฝากครรภ์ประกันสังคม มีเอกสารที่ต้องเตรียม ดังนี้

  • แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทน สปส. 2-01 (สามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://www.sso.go.th/wpr/)
  • ใบเสร็จจากสถานพยาบาลที่เข้ารับการฝากครรภ์
  • ใบรับรองแพทย์ หรือสำเนาสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก
  • บัตรประชาชนตัวจริง
  • สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารหน้าแรก
  • หากคุณพ่อเป็นผู้ยื่นขอเบิกสิทธิ ให้แนบสำเนาทะเบียนสมรสมาด้วย กรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรสให้แนบหนังสือรับรองของผู้ประกันตนมาแทน

 

สามารถนำเอกสารไปยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมตามสาขาที่สะดวกทั่วประเทศ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) แต่หากไม่สะดวกสามารถทำหนังสือมอบอำนาจให้ตัวแทนดำเนินการให้ ส่งไปรษณีย์ให้สำนักงานประกันสังคม หรือดำเนินการทางออนไลน์ก็ได้

 

เบิกค่าคลอดประกันสังคม ทำได้ตอนไหน

การเบิกค่าคลอดประกันสังคม สามารถยื่นได้ภายในเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่คลอดบุตร โดยสามารถยื่นได้ที่สำนักงานประกันสังคมตามสาขาที่สะดวกทั่วประเทศ (ยกเว้นสำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) หรือยื่นผ่านเว็บไซต์ http://www.sso.go.th/

 

เบิกค่าคลอดประกันสังคม ทำได้ตอนไหน

 

เบิกค่าคลอดประกันสังคม ทำผ่านช่องทางออนไลน์ได้แล้ว

หากใครไม่สะดวกไปยื่นเอกสารที่สำนักงานประกันสังคมด้วยตนเอง ก็สามารถยื่นผ่านช่องทางออนไลน์ได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้

  • เข้าสู่เว็บไซต์ https://www.sso.go.th/wpr/
  • เข้าสู่ระบบ / สมัครสมาชิก
  • เลือก “ระบบ e-Self Service”
  • เลือก “ขอรับประโยชน์ทดแทนกองทุน”
  • เลือก “คลอดบุตร”
  • เลือก “ค่าคลอดบุตร”
  • กรอกข้อมูล เลือกสำนักงานประกันสังคมที่สะดวกติดต่อ และอัปโหลดเอกสารให้เรียบร้อย

 

ยื่นเบิกค่าคลอดประกันสังคม ช้าสุดได้ถึงเมื่อไหร่

ค่าคลอดประกันสามารถยื่นได้ภายในเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่คลอดบุตร แต่หากเกินระยะเวลาที่กำหนด ก็ยังสามารถยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนได้ แต่ต้องแสดงเหตุผลที่ไม่สามารถยื่นเรื่องภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ และรอการพิจารณาอีกครั้ง

 

หากคุณแม่ที่มีสิทธิประกันสังคมทราบว่าตนเองจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไร สามารถเบิกอะไรได้บ้าง รวมทั้งทราบถึงขั้นตอน วิธีการ สถานที่ ระยะเวลา และช่องทางในการดำเนินการ ก็จะทำให้ไม่เสียโอกาส และสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. คุณแม่ตั้งครรภ์ มีสิทธิเบิกประกันสังคม อะไรได้บ้าง?, โรงพยาบาลบางปะกอก
  2. คุณแม่เบิกค่าฝากครรภ์กับประกันสังคมได้ทั้งหมดกี่บาท, สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
  3. กรณีคลอดบุตร, สำนักงานประกันสังคม
  4. คนท้องเบิกประกันสังคมได้กี่บาท ? เบิกอะไรได้บ้าง ? (2564), รักษ์นรีคลินิก
  5. คุณพ่อมือใหม่สิทธิประกันสังคม ม.33 และ ม.39 เบิกค่าคลอดบุตรได้ จริงหรือ?, Anti-Fake News Center Thailand
  6. ว่าที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง, สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
  7. ขอรับประโยชน์ทดแทน, สำนักงานประกันสังคม
  8. ว่าที่คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง, สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน - Social Security Office

อ้างอิง ณ วันที่ 28 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

คนท้องกินโยเกิร์ตได้ไหม ควรกินแบบไหน อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินโยเกิร์ตได้ไหม ควรกินแบบไหน อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินโยเกิร์ตได้ไหม คุณแม่ท้องอยากกินโยเกิร์ต เพื่อบำรุงสุขภาพครรภ์ โยเกิร์ตดีกับลูกในท้องหรือเปล่า กินเท่าไหร่ถึงพอดีและปลอดภัยกับคุณแม่และลูกในครรภ์

คนท้องกินสลัดผักได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินสลัดผักได้ไหม อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องกินสลัดผักได้ไหม กินผักสดบ่อย จะอันตรายกับลูกในครรภ์ไหม ประโยชน์ของผักสลัดมีอะไรบ้าง ผักประเภทไหนที่คนท้องควรเลี่ยง ไปดูกันว่าคนท้องกินผักอะไรได้บ้าง

คนท้องทาเล็บได้ไหม ทาเล็บบ่อย อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องทาเล็บได้ไหม ทาเล็บบ่อย อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า

คนท้องทาเล็บได้ไหม คุณแม่ท้องทาเล็บบ่อย จะเป็นอันตรายกับลูกหรือเปล่า สารเคมีในน้ำยาทาเล็บ ส่งผลอะไรกับคุณแม่และลูกในท้องบ้าง อยากทำเล็บต้องระวังอะไร

แผลฝีเย็บไม่ติดกัน แผลสมานไม่สนิท เกิดจากอะไร

แผลฝีเย็บไม่ติดกัน แผลสมานไม่สนิท เกิดจากอะไร

แผลฝีเย็บไม่ติดกัน เกิดจากอะไรได้บ้าง คุณแม่แผลเย็บหลังคลอดไม่ติด แผลจะอักเสบไหม อันตรายกับคุณแม่หลังคลอดหรือเปล่า พร้อมวิธีดูแลแผลฝีเย็บไม่ติดกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก