รก คืออะไร หน้าที่ของรกมีอะไรบ้าง รกผิดปกติ อันตรายกับคุณแม่แค่ไหน

รก คืออะไร หน้าที่ของรกมีอะไรบ้าง รกผิดปกติ อันตรายกับคุณแม่แค่ไหน

21.10.2024

เคยสงสัยไหมว่าตลอด 9 เดือนในครรภ์ ลูกน้อยได้รับอาหารและออกซิเจนอย่างไร? คำตอบอยู่ที่ "รก" อวัยวะมหัศจรรย์ที่เชื่อมโยงแม่และลูกน้อยเข้าด้วยกัน รกทำหน้าที่แลกเปลี่ยน สารอาหารและออกซิเจนให้ลูกน้อยเติบโตอย่างแข็งแรง พร้อมทั้งกำจัดของเสียออกไปจากร่างกายของลูกน้อยอีกด้วย มาไขคำตอบอย่างละเอียดกันว่า รก คืออะไร และเรียนรู้ความสำคัญของรกอวัยวะเล็ก ๆ ที่มีความสำคัญต่อชีวิตใหม่น้อย ๆ ในครรภ์ของคุณแม่

headphones

PLAYING: รก คืออะไร หน้าที่ของรกมีอะไรบ้าง รกผิดปกติ อันตรายกับคุณแม่แค่ไหน

อ่าน 6 นาที

สรุป

  • รก คืออะไร รก เป็นส่วนหนึ่งของทารกในครรภ์ รกจะอยู่นอกตัวเด็กทารกและอยู่ติดกับผนังด้านในมดลูก การตั้งครรภ์จะดำเนินไปได้อย่างปลอดภัย ต้องอาศัยฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นจากรกมาใช้ในการควบคุมการตั้งครรภ์
  • รก ทำหน้าที่ในการส่งผ่านสารอาหาร ออกซิเจน กำจัดของเสีย สร้างฮอร์โมน และป้องกันอันตราย ให้กับทารกในครรภ์

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

รก คืออะไร สำคัญกับการตั้งครรภ์แค่ไหน

รก คือ เซลล์โทรโฟบลาสท์ (Trophoblast) ของบลาสโตซิสที่เกิดจากการผสมกันของอสุจิและไข่จนปฏิสนธิขึ้นและค่อย ๆ เคลื่อนย้ายมาจนถึงมดลูกที่เป็นระยะบลาสโตซิส (Blastocyst) จากนั้นบลาสโตซิสจะยึดกับเนื้อเยื่อของมดลูกแล้วเจริญไปเป็นรก (Placenta) รก เป็นส่วนหนึ่งของทารกในครรภ์ รกจะอยู่นอกตัวเด็กทารกและอยู่ติดกับผนังด้านในมดลูก ช่วยให้การตั้งครรภ์จะดำเนินไปได้อย่างปลอดภัยตลอด 9 เดือน และต้องอาศัยฮอร์โมนหลายตัวที่ผลิตขึ้นจากรกมาใช้ในการควบคุมการตั้งครรภ์

 

หน้าที่ของรก ที่สำคัญต่อลูกในครรภ์

อยากรู้ว่ารกทำหน้าที่อะไรบ้างและสำคัญต่อลูกน้อยอย่างไร มาไขข้อสงสัยหน้าที่ของรกไปพร้อมกัน

1. ลำเลียงอาหารให้ทารก

ระหว่างตั้งครรภ์รกเป็นเสมือนอวัยวะส่วนหนึ่งของคนท้อง โดยจะมีสายสะดือเป็นตัวกลางเชื่อมกันระหว่างรกกับทารก เมื่อแม่รับประทานอาหารเข้าสู่ร่างกาย รกจะทำหน้าที่ลำเลียงอาหารที่ได้รับมาจากร่างกายของแม่ส่งต่อไปให้กับทารกในครรภ์

 

2. ป้องกันอันตราย

รก ทำหน้าที่ป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคบางชนิดไม่ให้เข้าสู่ทารก โดยรกจะส่งต่อภูมิคุ้มกันโรคจากแม่ไปให้กับทารกในครรภ์ในรูปแบบของ Gamma Globulin

 

3. กรองของเสีย

รก ทำหน้าที่ช่วยในการขับถ่ายและกรองของเสียจากทารกในครรภ์ ที่เกิดจากการเผาผลาญแทนไตให้กับทารก

 

4. ช่วยระบบหายใจ

รก ทำหน้าที่ช่วยระบบหายใจของทารกในครรภ์ โดยจะทำหน้าที่ในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนกับคาร์บอนไดออกไซด์แทนปอด

 

5. สร้างฮอร์โมน

รก ทำหน้าที่เป็นต่อมไร้ท่อในมดลูก โดยจะผลิตฮอร์โมนที่สำคัญเพื่อใช้ในการควบคุมการตั้งครรภ์ ได้แก่ ฮอร์โมนอีสโทรเจน ฮอร์โมน โพรเจสเทอโรน และฮอร์โมนฮิวแมนคอริโอนิกโกนาโดโทรฟิน

 

หน้าที่ของรก ที่สำคัญต่อลูกในครรภ์

 

รกมีน้ำหนักเท่าไหร่

รกจะมีน้ำหนัก 470 กรัม หรือประมาณ 1/6 ของน้ำหนักตัวทารก ซึ่งเป็นลักษณะของรกปกติที่คลอดจากทารกครบกำหนด รกจะมีรูปทรงกลมหรือรี มีเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 22 เซนติเมตร และความหนาของรกจะอยู่ที่ 2-4 เซนติเมตร

 

รกมีความผิดปกติ เกิดจากอะไรได้บ้าง

รก คืออะไร รกเกิดความผิดปกติได้ไหม รกคืออวัยวะส่วนหนึ่งของทารกที่เกิดขึ้นมาขณะตั้งครรภ์ รก ประกอบด้วย สายสะดือ(Umbilical cord) เยื่อหุ้มรก(placental membrane) และเนื้อรก(parenchyma) รกจะทำหน้าที่ส่งผ่านเลือด สารอาหาร อากาศหายใจ และสารคัดหลั่งต่าง ๆ ระหว่างคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ และรกก็สามารถที่จะเกิดความผิดปกติขึ้นได้ ดังนี้

1. รกเกาะต่ำ

รกเกาะต่ำ (Placenta Previa) เป็นภาวะของรกที่ไปปิดขวางหรือคลุมบางส่วนหรืออาจจะทั้งหมดของปากมดลูก ภาวะรกเกาะต่ำ สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงอายุครรภ์ปลายไตรมาสที่ 2 ถึงต้นอายุครรภ์ไตรมาสที่ 3 อาการที่สังเกตได้คือช่องคลอดมีเลือดสีแดงสดไหลออกมา และอาจจะมีอาการปวดเจ็บแปลบ ๆ จากการบีบตัวของมดลูก แต่ในคนท้องบางรายอาจจะมีแค่เลือดไหลเท่านั้น

 

2. รกเสื่อมสภาพ

รกเสื่อมสภาพ (Placental Insufficiency) เกิดจากรกมีการเจริญเติบโตผิดปกติ หรืออาจเกิดจากการได้รับความเสียหาย รกเสื่อมสภาพมักเกิดขึ้นกับคุณแม่ท้องที่มีภาวะโรคเบาหวาน และครรภ์เป็นพิษ สำหรับรกที่เสื่อมสภาพ จะทำให้ไม่สามารถส่งอาหารและออกซิเจนให้กับลูกน้อยในครรภ์อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อคลอดออกมา ลูกจะมีน้ำหนักตัวน้อย หรือในคุณแม่ท้องบางรายอาจมีการคลอดยาก อาการรกเสื่อมไม่ได้มีอาการแสดงความผิดปกติใด ๆ ต่อมารดา

 

3. รกเกาะแน่น

รกเกาะแน่น (Placenta Accreta) เป็นภาวะที่รกมีการเจริญลึกเข้าไปในเยื่อผนังมดลูกมากผิดปกติ คุณแม่ท้องที่มีรกเกาะแน่นอาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะรกติดหลังคลอด ซึ่งจะมีอาการเลือดออกมากถึงขั้นเสียชีวิตได้ สำหรับรกเกาะแน่นที่เกิดขึ้นขณะตั้งครรภ์ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ให้คุณแม่ทราบ

 

4. รกลอกตัวก่อนกำหนด

รกลอกตัวก่อนกำหนด (Placental Abruption) เกิดจากคุณแม่ได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงตรงบริเวณหน้าท้อง สาเหตุอาจมาจาก มีภาวะน้ำเดินอย่างรวดเร็ว หรือได้รับอุบัติเหตุทางรถยนต์ เป็นต้น ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนดมักพบในอายุครรภ์ไตรมาสสุดท้าย อาการแสดงที่เกิดขึ้น ได้แก่ มดลูกบีบตัวตลอดเวลา ปวดท้อง และเลือดออกทางช่องคลอด

 

รกมีความผิดปกติ คุณแม่จะรู้ได้ยังไง

ขณะตั้งครรภ์คุณแม่สามารถทราบได้ว่ารกปกติ หรือรกผิดปกติ ได้จากการที่แพทย์ตรวจอัลตราซาวด์ดูพัฒนาการทารกในครรภ์ในทุกเดือน ซึ่งหากพบความผิดปกติของรก แพทย์จะช่วยวางแผนดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบแก่คุณแม่และลูกน้อยในครรภ์

 

ดูแลตัวเองให้ดี ช่วยป้องกันภาวะรกผิดปกติได้

การใส่ใจดูแลร่างกายขณะตั้งครรภ์อย่างดี ช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพครรภ์แข็งแรง และเพื่อป้องกันภาวะรกผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ คุณแม่ควรพบแพทย์ตามนัดตรวจ ติดตามสุขภาพและพัฒนาการครรภ์ในทุกเดือน และระหว่างที่ตั้งครรภ์คุณแม่สามารถดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ดังนี้

  1. กินสารอาหารให้ครบ ขณะตั้งครรภ์ให้คุณแม่เลือกรับประทานอาหารสำหรับคนท้อง ที่มีประโยชน์ ให้สารอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่
  2. นอนหลับให้เพียงพอ ในคุณแม่ตั้งครรภ์ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ นอนให้ได้อย่างน้อย 8-14 ชั่วโมง
  3. หลีกเลี่ยงความเครียด เพื่อไม่ให้กระทบกับลูกน้อยในครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่ควรทำจิตใจให้สบาย ปล่อยวางจากเรื่องเครียดทุกอย่าง
  4. ออกกำลังกายเบา ๆ การออกกำลังกายช่วยให้มีสุขภาพดี แต่สำหรับคุณแม่ท้อง ควรปรึกษาขอคำแนะนำจากแพทย์ที่ดูแลครรภ์คุณแม่ ถึงการออกกำลังกายที่เหมาะสมและปลอดภัยกับคุณแม่
  5. ไม่ทำงานหนัก การเคลื่อนไหวร่างกายที่มากเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อลูกน้อยในครรภ์ได้ ในช่วงตั้งครรภ์คุณแม่ไม่ควรทำงานหนัก และควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  6. หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ หากระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่มีเลือดออกจากช่องคลอด มีอาการมดลูกบีบตัว หรือปวดท้อง แนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที

 

พอจะทราบกันแล้วว่า รก คืออะไร และมีความสำคัญอย่างไรกับลูกน้อยในครรภ์ ดังนั้น คุณแม่จึงควรใส่ใจอย่างมากกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงในช่วงตั้งครรภ์ เพื่อให้รกสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ลูกน้อยในครรภ์มีความแข็งแรงสมบูรณ์ที่สุด และหลังคลอดแนะนำให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะนมแม่ มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน ซึ่งช่วยในการพัฒนาสมอง สติปัญญา และการเจริญเติบโตของลูกให้สมวัย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด

 


อ้างอิง:

  1. รกและฮอร์โมนจากรก (placenta), สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. เรื่องการตั้งครรภ์, คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษณ์ธานี
  3. ความผิดปกติของรก (Placental Abnormalities), แพทย์หญิงณัฐกานต์ รุ่งตรานนท์ สูติศาสตร์ล้านนา คณะแพทยศาสตร์
  4. ความผิดปกติของรก (Placental abnormalities), นายแพทย์ปกรณ์ จักษุวัชร รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเฟื่องลดา ทองประเสริฐ สูติศาสตร์ล้านนา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  5. ภาวะรกเกาะต่ำในคุณแม่ตั้งครรภ์ อันตรายแค่ไหนนะ?, โรงพยาบาลพญาไท
  6. ภาวะรกเสื่อม (Placental Insufficiency), POBPAD
  7. “ภาวะครรภ์เสี่ยง” เรื่องควรรู้ของคุณแม่ตั้งท้อง, โรงพยาบาลพญาไท
  8. ภาวะรกเกาะแน่น (Placenta Accreta), POBPAD
  9. ภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด Placental Abruption, โรงพยาบาลสมิติเวช
  10. 6 วิธีดูแลตัวเองในระหว่างตั้งครรภ์, โรงพยาบาลบางปะกอก 3
  11. อันตรายของภาวะรกเกาะต่ำ พร้อมแนวทางการรักษา, โรงพยาบาลสินแพทย์
  12. เทคนิคคุณแม่ดูแลครรภ์ 9 เดือนอย่างมีคุณภาพ, โรงพยาบาลกรุงเทพ

อ้างอิง ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2567

บทความแนะนำ

ท้องแฝดเกิดจากอะไร คุณแม่ตั้งท้องแฝดอันตรายจริงไหม

ท้องแฝดเกิดจากอะไร คุณแม่ตั้งท้องแฝดอันตรายจริงไหม

คุณแม่ตั้งครรภ์ท้องแฝดยากไหม เกิดจากอะไร ตั้งครรภ์ท้องแฝดสี่ยงอันตรายจริงหรือเปล่า ลูกแฝดเกิดจากอะไรได้บ้าง พร้อมวิธีเตรียมตัวมีลูกแฝดสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

ทำกิ๊ฟ คืออะไร การทำกิ๊ฟ GIFT ต่างจากการทำเด็กหลอดแก้วไหม

ทำกิ๊ฟ คืออะไร การทำกิ๊ฟ GIFT ต่างจากการทำเด็กหลอดแก้วไหม

การทำกิ๊ฟ คืออะไร คุณแม่มีลูกยากอยากทำกิ๊ฟ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง การทำกิ๊ฟมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ค่าใช้จ่ายแพงไหม ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมตัวอย่างไร

อยากได้ลูกชายทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกชาย

อยากได้ลูกชายทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกชาย

อยากได้ลูกชาย ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ทำยังไงได้บ้าง อยากมีลูกชายด้วยวิธีธรรมชาติทำได้จริงไหม พร้อมวิธีคำนวณวันตกไข่ นับวันตกไข่ ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์

หลังคลอด 1 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม เริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่

หลังคลอด 1 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม เริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่

หลังคลอด 1 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม คุณแม่หลังคลอดมีเพศสัมพันธ์เลยทันทีจะเป็นอันตรายหรือเปล่า มีเพศสัมพันธ์ตอนไหนปลอดภัยกับคุณแม่ที่สุด ไปดูกัน

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก