อาการภูมิแพ้ในเด็ก สาเหตุ อาการ พร้อมวิธีดูแลรักษาภูมิแพ้ในเด็ก

ภูมิแพ้ในเด็กเล็ก พร้อมวิธีดูแลลูก เมื่อเด็กเป็นภูมิแพ้

09.05.2024

โรคภูมิแพ้ในเด็ก เป็นโรคที่พบได้ในเด็กตั้งแต่อายุไม่กี่เดือนจนถึงเด็กโต มักเกิดขึ้นกับเด็กที่มีความเสี่ยงต่อโรคภูมิ แพ้ เช่น คนในครอบครัวมีประวัติเป็นภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้ว ซึ่งโรคภูมิแพ้ในเด็กมีหลายอาการ เริ่มตั้งแต่อาการแพ้นมในวัยทารก อาการภูมิแพ้บนผิวหนังในช่วงอายุ 3-4 เดือน อาการแพ้อาหารในเด็กเล็กที่อยู่ในช่วงวัย เริ่มทานอาหารตามวัย หากพ่อแม่พบว่าลูกเป็นภูมิแพ้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและแนวทางการรักษา อย่างถูกต้อง

headphones

PLAYING: ภูมิแพ้ในเด็กเล็ก พร้อมวิธีดูแลลูก เมื่อเด็กเป็นภูมิแพ้

อ่าน 13 นาที

 

สรุป

  • อาการของโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยในทารกหรือเด็กเล็ก ได้แก่ อาการคันตา มีน้ำตาไหล จาม หอบหืด คัน ผิวหนังอักเสบ หรือลมพิษ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ในเด็ก เพื่อปกป้องและดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคภูมิแพ้ได้อย่างเหมาะสม
  • ปัจจุบันโรคภูมิแพ้ในเด็กหรือในผู้ใหญ่ยังไม่มีวิธีที่รักษาให้อาการของโรคภูมิแพ้หายขาดได้ ภายใต้การดูแลของแพทย์จะช่วยควบคุมอาการโรคภูมิแพ้ได้ดีในระดับหนึ่ง โดยหากไม่ได้รับการรักษาให้ดีขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจของลูก
  • การได้รับนมแม่จึงช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ได้ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมที่แข็งแกร่งให้กับร่างกายลูก เพราะโปรตีนในนมแม่บางส่วน ได้ถูกย่อยให้มีขนาดเล็กลง หรือที่เรียกว่า โปรตีนที่ผ่านการย่อยบางส่วน [PHP (Partially Hydrolyzed Proteins)] ซึ่งง่ายต่อการดูดซึมเข้าร่างกายของลูกน้อย และมีพรีไบโอติกช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อต่าง ๆ รวมถึงโพรไบโอติก ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

สิ่งแวดล้อม พันธุกรรม ปัจจัยที่ส่งผลให้ลูกเป็นภูมิแพ้

โรคภูมิแพ้ เกิดจากหลายสาเหตุด้วยกัน และมีอัตราการเกิดภูมิแพ้ที่แตกต่างกัน ซึ่งโรคภูมิแพ้ที่พบบ่อยในเด็ก เช่น แพ้อาหาร ผื่นแพ้ผิวหนัง โรคหืด และโรคจมูกอักเสบ โดยมีปัจจัยการเกิดโรคภูมิแพ้ในเด็ก ดังต่อไปนี้

1. มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว

หรือกรรมพันธุ์ โดยพ่อหรือแม่ หรือทั้งพ่อและแม่มีประวัติภูมิแพ้อัตราเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น

2. สิ่งแวดล้อมโดยรอบสามารถก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ในเด็กได้

เนื่องจากสารก่อภูมิแพ้มีอยู่ทั้งในอากาศ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ควันบุหรี่ ควันจากการ เผาไหม้ ไรฝุ่น ขนสัตว์ และในอาหาร เช่น นมวัว แป้งสาลี อาหารทะเล ไข่แดง และถั่วเหลือง เป็นต้น โดยอาการแพ้มีได้หลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของสารก่อภูมิแพ้ และลักษณะจำเพาะของแต่ละบุคคล

3. พฤติกรรมการทานอาหาร

การทานอาหารของคุณแม่ อาจส่งผลต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ของลูกได้ได้ เนื่องจากเด็กมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคภูมิแพ้ได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์คุณแม่แล้วโดยมีสาเหตุมาจาก

  • คุณแม่ทานอาหารกลุ่มเสี่ยงมากกว่าปกติในช่วงตั้งครรภ์ หากคุณแม่ทานนมวัวมากกว่าปกติ อาจทำให้โปรตีนนมวัว ไปกระตุ้นให้ทารกเกิดอาการแพ้ขึ้นได้ หรือการที่คุณแม่ทานอาหาร จำพวกชีส เค้ก พิซซ่า ซึ่งมีส่วนประกอบของนมวัวแป้งสาลี และ ไข่ ซึ่งส่วนผสมประเภทนี้จัดว่าเป็นอาหารกลุ่มเสี่ยงที่อาจทำให้ลูกน้อยเกิดอาการแพ้ อย่างไรก็ตามแนะนำให้คุณแม่ทานอาหารให้ ครบถ้วน หลากหลาย เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการใน แต่ละวัน
  • แม่ให้นมทานอาหารกลุ่มเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการแพ้ เมื่อคุณแม่ทานอาหารกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มให้ลูกน้อยเกิดอาการแพ้ เช่น นมวัวและผลิตภัณฑ์จากนม ไข่ ถั่วเหลือง ถั่วลิลง แป้งสาลี และอาหารทะเล ให้สังเกตว่าทารกมีอาการแพ้หรือไม่ เช่น มีผื่นขึ้น กระสับกระส่าย อาเจียนและท้องเสีย ควรรีบพาไปพบแพทย์ และควรหยุดอาหารที่ก่อให้อาการแพ้
     

 

5 โรคภูมิแพ้ในเด็ก ที่อาจพบได้ในเด็กเล็ก

1. ภูมิแพ้อาหาร (Food Allergy)

ภูมิแพ้อาหารในเด็ก เป็นอาการที่ไม่พึงประสงค์ที่ร่างกายแสดงออกมาหลังจากทานอาหาร โดยเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันจำเพาะเจาะจง และสามารถเกิดซ้ำได้หากได้รับอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ และมักจะเกิดขึ้นกับคนที่มีแนวโน้มเป็นภูมิแพ้อยู่ก่อนแล้ว

ดังนั้น การเริ่มให้อาหารทารก หรือเปลี่ยนอาหารให้กับเด็กเล็กต้องค่อยๆ เริ่มให้ลูกลองทานทีละน้อยเป็นอย่าง ๆ และควรเว้นระยะเวลา ก่อนจะเปลี่ยนให้ลูกน้อยลองอาหารชนิดอื่น จากนั้นคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากลูกน้อยมีอาการแพ้อาหาร เช่น เกิดผื่นขึ้นบริเวณผิวหนัง ตาบวม คัดจมูก อาเจียน ท้องเสีย มีเสียงหวีดในลำคอ หรือหายใจไม่ออก เป็นต้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อหาแนวทางในการรักษาและป้องกันอาการโรคภูมิแพ้ในอนาคต

2. แพ้โปรตีนนมวัว (Cow milk protein allergy: CMPA)

ลูกแพ้นมวัว เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นหลังทานนมวัว เกิดจากการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อสารก่อภูมิแพ้ในโปรตีนนมวัว พบมากในทารก เนื่องจากระบบทางเดินอาหารของทารกไม่สมบูรณ์ ทำให้ย่อยโปรตีนได้ไม่ดี อีกทั้งเยื่อบุลำไส้ยังยอมให้โมเลกุลของโปรตีนซึม เข้าไปยังกระแสเลือด จนกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อโปรตีนในนมวัว ทำให้เกิดอาการแพ้

โดยอาการแพ้โปรตีนนมวัวที่มักพบ ได้แก่ ลูกท้องเสีย ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาเจียน ไม่ยอมกินนม คัดจมูก หายใจไม่สะดวก มีผื่นขึ้นตามตัวหลังจากทานนม และมักจะเกิดขึ้นกับเด็กเล็กในช่วงขวบปีแรก แต่จะเริ่มแสดงอาการให้เห็นหลังจากคุณแม่หลังคลอดลูกน้อยได้ประมาณ 2-3 เดือน เมื่อเด็กได้รับนมวัวเข้าไป

3. ภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic eczema dermatitis)

ผื่นแพ้ในเด็ก เป็นโรคภูมิแพ้อีกชนิดที่พบมากในเด็กเล็ก มีลักษณะอาการผื่นแดงคันขึ้นบนแก้ม ผื่นขึ้นหน้าทารก ลำคอ แขน ขา เหมือนกันทั้ง 2 ข้างของร่างกาย มักเริ่มแสดงอาการเมื่อเด็กอายุ 3-4 เดือน และอาจอยู่ไปจนถึงอายุ 4-5 ขวบ

โดยผื่นจะมีสีแดงจัดและอาจมีน้ำเหลืองไหลเยิ้มเวลาที่ผื่นลุกลามรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งผื่นในลักษณะนี้ในบางคนจะมีอาการกำเริบ เวลาอากาศแห้ง บางรายอาจมีอาการแพ้ไรฝุ่น อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของผื่นจะค่อย ๆ ลดลงเมื่อโตขึ้น และมักพบในเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่มีคนมีประวัติโรคภูมิแพ้ที่มีประวัติภูมิแพ้

4. ภูมิแพ้อากาศ (Allergic Rhinitis)

จะปรากฏชัดขึ้นเมื่อเด็กมีอายุประมาณ 2-5 ขวบ มีลักษณะอาการคล้ายหวัด คันจมูก จามหลายครั้งในตอนเช้าเกือบทุกเดือน บางคนอาจมีไซนัสอักเสบเรื้อรังและมีอาการคันตาร่วมด้วย นอกจากนี้ อาจมีอาการหายใจลำบาก เสียงดัง นอนหลับไม่สนิท และอาจมีอาการหยุดหายใจหากเกิดอาการแพ้นาน ๆ รวมถึงผลกระทบต่อหัวใจและปอดในระยะยาว

5. โรคหอบหืด (Asthma)

เป็นโรคภูมิแพ้อีกกลุ่มที่เกิดขึ้นภายหลังจากการรับสารก่อภูมิแพ้เข้าไป ทำให้เกิดการระคายเคืองเข้าไปภายในหลอดลม ในเด็กบางคนอาจมีอาการมากขึ้นหลังจากเป็นหวัด ทำให้เกิดอาการหอบ เหนื่อย หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด มีรอยบุ๋มตรงคอหรือชายโครงเวลาที่หายใจ

 

การรับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการของคุณแม่ ทั้งในระหว่างตั้งครรภ์และหลังคลอด ช่วยให้แม่มีปริมาณน้ำนมที่เพียงพอ หลังการคลอดบุตร การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นสิ่งที่สุดสำหรับทารก เนื่องจาก นมแม่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงสุด และช่วยปกป้องลูกน้อยจากภาวะเจ็บป่วยต่าง ๆหลังจาก 6 เดือน สามารถเริ่มให้อาหารเสริมตามวัยที่มีคุณค่าโภชนาการเพียงพอร่วมกับนมแม่จนครบ 2 ปีหรือนานกว่านั้น

 

วิธีดูแลและป้องกันลูกน้อยจากโรคภูมิแพ้

หากลูกน้อยมีอาการภูมิแพ้คุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและวินิจฉัย พร้อมทั้งแนวทางการรักษา ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตัว ดังนี้

  1. สำหรับคุณแม่ที่ต้องให้นมลูก ควรให้ลูกดื่มนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน ในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้ ควรปรึกษาแพทย์ 
  2. เมื่อลูกน้อยอายุ 6 เดือนขึ้นไป คุณแม่สามารถให้ลูกน้อยเริ่มทานอาหารเสริมตามวัยได้ แต่ควรเริ่มทีละ 1 มื้อ ในปริมาณที่น้อย ๆ และเริ่มทีละชนิดก่อน เพื่อดูว่าลูกมีอาการแพ้หรือไม่
  3. การทานอาหารของลูกน้อย ในกรณีที่ต้องการเริ่มให้ลูกทานอาหารกลุ่มเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการแพ้ได้บ่อย เช่น ถั่วเหลือง แป้งสาลี ควรเริ่มหลังจากอายุ 6 เดือน 
  4. ลูกมีอาการแพ้นมวัว หากลูกมีอาการแพ้นมวัว ควรหยุดอาหารหรือผลิตภัณฑ์จากนมวัวทันที และปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้
  5. ทำความสะอาดภายในบ้าน พยายามดูแลทำความสะอาดภายในตัวบ้านโดยเฉพาะห้องนอนเป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ภายในบ้านจากไรฝุ่น ขนสัตว์เลี้ยง เชื้อรา หรือซากแมลงสาบ
  6. สารเคมีอาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ ระวังอย่าให้ลูกน้อยได้รับสารก่อภูมิแพ้จากควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสีย ควันไฟ หรือฝุ่นละอองจากแหล่งต่างๆ เพราะจะทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ระบบทางเดินหายใจได้
  7. ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ในกรณีที่คุณแม่ต้องการทาครีมบำรุงผิวให้กับลูกสามารถทำได้ แต่ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสารเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก่ผิวหนังที่ปราศจากส่วนผสมของน้ำหอม รวมถึงผลิตภัณฑ์จำพวก นม ข้าว แป้งสาลี เป็นต้นเพราะอาจทำให้เด็กเกิดอาการแพ้ได้

 

นมแม่ ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ในเด็กได้

นมแม่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อย เพราะมีเคซีนโปรตีน เวย์โปรตีน รวมถึงอิมมูโนโกลบูลิน (Ig) ไลโซไซม์ แลคโตเฟอร์ริน รวมถึงสารอื่น ๆ ที่ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และต่อต้านสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกายได้ โดยในระยะหัวน้ำนม (Colostrums) จะพบเวย์โปรตีนในปริมาณที่สูงมาก คิดเป็นสัดส่วนเวย์โปรตีน:เคซีนโปรตีน เท่ากับ 90:10 หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดลง พอถึงระยะระยะน้ำนมแม่ (Mature Milk) สัดส่วนเวย์โปรตีน: เคซี โปรตีน จะมีสัดส่วน เท่ากับ 60:40

เคซีนโปรตีนเมื่อถูกกรดในกระเพาะอาหารจะจับตัวเป็นก้อน ในขณะที่เวย์โปรตีนสามารถละลายได้ดี ทำให้ถูกดูดซึมและนำไปใช้ได้ง่าย ทั้งยังมีไลโซไซม์ แลคโตเฟอร์ริน และ Ig รวมถึงจุลินทรีย์สุขภาพหลายชนิด เช่น โพรไบโอติกกลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียม และแลคโตบาซิลลัสจึงช่วยลดโอกาสการเกิดโรคภูมิแพ้และลดอาการแพ้ลงได้จะมีสัดส่วน เท่ากับ 60:40

ในขณะที่ครอบครัวที่มีประวัติภูมิแพ้ เด็กควรทานนมแม่เพียงอย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือน และทานอย่างต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 2 ปี หรือนานกว่า ในกรณีที่คุณแม่ไม่สามารถให้นมลูกได้อาจต้องขอคำปรึกษาจากแพทย์สำหรับแนวทางการป้องกันโรคภูมิแพ้ในเด็กควบคู่ไปกับการส่งเสริมสุขภาพของลูกน้อยให้เหมาะสมกับวัย

 

เสริมภูมิคุ้มกันด้วยจุลินทรีย์สุขภาพ

ทารก จะได้รับจุลินทรีย์สุขภาพหรือที่เรียกว่าโพรไบโอติก (Probiotic) ผ่านทางช่องคลอดของคุณแม่ หลังจากนั้นจะได้รับผ่านน้ำนมแม่ และผ่านทางอาหารเมื่อโตขึ้น ในช่วงที่ทารกกินนมแม่จะได้รับโพรไบโอติก ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) และ บิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ การอักเสบ การเกิดผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง ภูมิแพ้อากาศ และลดความเสี่ยงต่อการแพ้อาหารลงได้

นอกจากนี้ในนมแม่ยังมีบิฟิโดแบคทีเรียม แล็กทิส (B. lactis) ที่ช่วยส่งเสิรมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันลดโอกาสการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ และลดโอกาสการเกิดผื่นแพ้ได้ ลูกเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่ คุณแม่สังเกตได้จากการแสดงอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น ผื่นแดงน้ำมูกไหล จาม ไอเรื้อรัง หรือ มีอาการท้องเสีย อาเจียน เป็นต้น หลังจากทานอาหารกลุ่มเสี่ยงหรือนม หรือมีการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้อย่างฝุ่น หรือขนสัตว์อยู่บ่อย ๆ

หากลูกมีอาการแพ้ คุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิแพ้ เพื่อขอรับคำแนะนำในการรักษาอาการแพ้ให้ดีขึ้น ควบคู่กับการปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการแพ้

 

ภูมิแพ้ในเด็ก รู้ก่อนแพ้ แม่ป้องกันได้

คันตา มีน้ำตาไหล จาม หอบหืด คัน ผิวหนังอักเสบ ลมพิษ อาการของโรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยในทารกหรือเด็กเล็ก คุณพ่อคุณแม่หลายท่านอาจคิดว่าเพราะลูกยังเล็กจึงเป็นโรคภูมิแพ้ เมื่อโตขึ้นไปอาการของโรคอาจจะหายไปเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วภูมิแพ้ในเด็ก เรื่องไม่เล็กอย่างที่คิดนะคะ คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่จึงควรใส่ใจ และทำความเข้าใจถึง 3 ข้อเท็จจริงของโรคภูมิแพ้ในเด็ก เพื่อปกป้องและดูแลลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคภูมิแพ้ได้อย่างเหมาะสม

 

อาการภูมิแพ้ในเด็ก รู้ก่อนแพ้ แม่ป้องกันได้

 

ข้อควรรู้เกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ในเด็ก

1. โรคภูมิแพ้ รักษาให้ดีขึ้น แต่ไม่หายขาด

ในปัจจุบันโรคภูมิแพ้ในเด็กหรือในผู้ใหญ่ยังไม่มีวิธีที่รักษาให้อาการของโรคภูมิแพ้หายขาดได้ แต่แพทย์สามารถช่วยควบคุมอาการโรคภูมิแพ้ได้ดีในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ อาการแพ้ก็อาจจะกลับมาอีกได้ถ้าไม่ได้ปฎิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ สรุปก็คือยาช่วยบรรเทาอาการแต่ไม่ได้หายขาด

 

2. โรคภูมิแพ้ตัวการขัดขวางพัฒนาการลูกน้อย

โรคภูมิแพ้บางชนิด อาจจะดูไม่รุนแรง และสามารถรับมือได้ง่าย แต่หากไม่ได้รับการรักษาให้ดีขึ้น ก็อาจทำให้ลูกน้อยที่ปกติร่าเริงแจ่มใส กลายเป็นเด็กขี้หงุดหงิด งอแงง่าย เก็บตัว ไม่กล้าออกไปสัมผัสโลกกว้าง อีกทั้งอาจทำให้ลูกน้อยสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง และไม่กล้าคบหาสมาคมกับเด็กคนอื่น ๆ และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านร่างกายและจิตใจของลูกอีกด้วย

 

3. ภูมิแพ้ในเด็กปล่อยไว้อันตรายถึงชีวิต

แม้จะฟังดูน่ากลัว แต่คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องรู้ว่า ปฏิกิริยาของอาการของโรคภูมิแพ้ในเด็กมีหลายระดับ ตั้งแต่ความรุนแรงเพียงเล็กน้อย เช่น ผื่นคัน จาม ไอ แค่เพียงให้รู้สึกรำคาญ ไปจนถึงอาการแพ้ขั้นรุนแรงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้ด้วย ขึ้นอยู่กับว่า อาการภูมิแพ้ในเด็กนั้นมีระดับความรุนแรงมากแค่ไหน อาการโรคภูมิแพ้ระดับรุนแรงสูงมีชื่อว่า “แอนาฟิแล็กซิส” (Anaphylaxis) เพราะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต และมีผลต่อระบบต่าง ๆ ทั่วร่างกาย มักเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่วินาที หรือไม่กี่นาทีหลังจากสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งการเกิดแอนาฟิแล็กซิสอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที สาเหตุของการเกิดแอนาฟิแล็กซิสส่วนใหญ่มาจากอาหาร แมลงสัตว์กัดต่อย การแพ้ยา และอาการที่พบเมื่อเกิดแอนาฟิแล็กซิส

  • อาการบวมที่ช่องคอและปาก
  • กลืนหรือพูดลำบาก
  • ทารกไอ หายใจลำบาก จากอาการหลอดลมตีบ หรืออาการบวมที่ช่องคอ
  • เกิดลมพิษที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
  • ผิวหนังทารกมีผื่นแดงทั้งตัว
  • ปวดเกร็งที่ท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน
  • รู้สึกอ่อนแรงลงทันที (เนื่องจากความดันเลือดลดลง)

 

คุณแม่รับมืออย่างไร เมื่อลูกเป็นโรคภูมิแพ้

อันที่จริงโรคภูมิแพ้ในเด็กหรือในวัยผู้ใหญ่สามารถป้องกัน หรือลดอาการภูมิแพ้ได้ ซึ่งจะได้ผลดีที่สุดหากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยคุณสามารถประเมินเบื้องต้นได้ ดังนี้

ประวัติครอบครัวมีความสำคัญมากในการประเมินความเสี่ยงโรคภูมิแพ้ สิ่งแรกที่ควรพิจารณาคือ ประวัติของพ่อแม่ การใช้เครื่องมือประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรคภูมิแพ้ สามารถช่วยป้องกันหรือวิเคราะห์ความเสี่ยงเบื้องต้นของการเกิดโรคภูมิแพ้ได้

 

 

ตารางประเมินความเสี่ยงอาการภูมิแพ้ในเด็ก

 

' นมแม่ ' มีสารอาหารกว่า 200 ชนิด และยังมีคุณสมบัติเป็น Hypo-Allergenic หรือ H.A. ที่ช่วยลดความเสี่ยงของโรคภูมิแพ้ได้ เพราะ

  • โปรตีนบางส่วนในนมแม่ เป็นโปรตีนที่ผ่านการย่อยมาบางส่วน หรือที่เรียกว่า PHP (Partially Hydrolyzed Proteins ) ซึ่งง่ายต่อการดูดซึมเข้าร่างกายของลูกน้อย และมีเวย์โปรตีนสูงซึ่งย่อยง่าย จึงทำให้ดูดซึมได้ดีกว่า เนื่องจากลูกในช่วง 6 เดือนแรก เยื่อบุทางเดินอาหารยังไม่แข็งแรง รวมถึงน้ำย่อยอาหารยังมีไม่มาก และสารภูมิคุ้มกันที่จะคอยดักจับสิ่งแปลกปลอมยังมีไม่มากพออีกด้วย ดังนั้นการได้รับนมแม่จึงช่วยป้องกันโรคภูมิแพ้ได้ รวมทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมที่แข็งแกร่งให้กับร่างกายลูกด้วยค่ะ
  • โปรตีนนมแม่เป็นชนิดที่ไม่แปลกปลอม มักไม่ก่อให้เกิดการแพ้ เมื่อลูกกินนมแม่ก็จะทำให้ได้รับโปรตีนชนิดดี ย่อยง่าย และมีสารภูมิคุ้มกันไปสู่ลำไส้ เปรียบเหมือนเป็นการสร้างเกราะป้องกันลำไส้ให้กับลูกน้อยเพื่อลดอาการแพ้ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้
  • นอกจากนี้ยังพบว่าในนมแม่มีพรีไบโอติกโอลิโกแซคคาไรด์ใยอาหารหลักที่สำคัญ ที่ช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการติดเชื้อต่าง ๆ ซึ่งโอลิโกแซคคาไรด ประกอบด้วยใยอาหารหลากหลายชนิด ซึ่ง 5 ใยอาหารหลัก (5 Oligosaccharide หรือ 5 HMO เช่น 2’FL, DFL, LNT, 6’SL และ 3’SL) ช่วยเรื่องระบบภูมิคุ้มกันในเด็กเล็ก ซึ่งเป็นพรีไบโอติกส์ชนิดที่พบมากในนมแม่ และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์หลายสายพันธุ์ หรือโพรไบโอติก เช่น B. lactis (บีแล็กทิส) ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงของการเกิดภูมิแพ้ โดยสังเกตได้จากทารกที่ได้รับนมแม่จะมีการเกิดภูมิแพ้น้อยกว่า และมีภูมิคุ้มกันที่ดีกว่า

 

ดังนั้นหากในครอบครัวมีประวัติภูมิแพ้ ควรให้นมแม่อย่างน้อยที่สุด 6 เดือนหรือนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือควรปรึกษากุมารแพทย์เพื่อการดูแลที่เหมาะสมต่อไป ระมัดระวังหรือหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดภูมิแพ้หรืออาการแพ้อาหารในเด็ก เช่น แป้งสาลี ถั่ว ไข่ และอาหารทะเล โดยให้รับประทานอาหารเหล่านี้ทีละชนิดติดต่อกันสัก 2-3 วัน แล้วคอยสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นให้รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อหาแนวทางในการรักษาและป้องกันอาการโรคภูมิแพ้ต่อไป

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 

เอกสารอ้างอิง

  1. วรวิชญ์ เหลืองเวชการ. จะสังเกตได้อย่างไรว่า ลูกเป็นภูมิแพ้. โรงพยาบาลเจ้าพระยา
  2. จรุงจิตร์ งามไพบูลย์. โรคแพ้นมวัว (Cow Milk Protein Allergy). ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่ง
    ประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
  3. โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
  4. โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
  5. กุลพรภัสร์ เบญญาจิราพัชร์, ภาวะแพ้อาหารคืออะไร?. โรงพยาบาลสินแพทย์
  6. ศวิตา จิวจินดา. อาหารทางการแพทย์สำหรับผู้ป่ายโรคแพ้โปรตีนนมวัว. ภาควิชาอาหารเคมี คณะ
    เภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล: กรุงเทพฯ
  7. วราลี ผดุงพรรค. รู้ได้อย่างไรว่าลูกแพ้นมวัว. โรงพยาบาลนครธน
  8. พญ.สิริรักษ์ กาญจนธีระพงค์. โรคภูมิแพ้ในเด็ก. ศูนย์สุขภาพเด็ก (Children’s Health Center) โรง
    พยาบาลนวเวช
  9. มณีรัตน์ ภูวนันท์. การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. โภชนาการลูกรัก สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต
  10. ผศ.พญ.มณีรัตน์ ภูวนันท์. สารอาหารในนมแม่ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่. ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
    คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  11. F.Lara-Villoslada, M.OlivaresJ.Xaus. The Balance Between Caseins and Whey Proteins in
    Cow's Milk Determines its Allergenicity. Journal of Dairy Science. 2005; 88(5):1654-1660
  12. จินตกร คูวัฒนสุชาติ. โพรไบโอติกส์คืออะไร?. วารสารทันตจุฬาฯ 2550;30 
  13. อรวรรณ ละอองคำ โพรไบโอติก: จุลินทรีย์คัดสรรเพื่อสุขภาพ 2562;49(4):29-38

อ้างอิง ณ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564
 

บทความแนะนำ

เด็กทารกนอนอ้าปาก ลูกนอนหายใจทางปาก อันตรายไหม

เด็กทารกนอนอ้าปาก ลูกนอนหายใจทางปาก อันตรายไหม

เด็กทารกนอนอ้าปากปกติไหม ลูกนอนหายใจทางปาก เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง คุณแม่ควรสังเกตอาการลูกน้อยอย่างไร เมื่อเด็กทารกนอนอ้าปากบ่อย พร้อมวิธีดูแลลูกน้อย

ลิ้นลูกเป็นฝ้าขาว คุณแม่ดูแลลูกลิ้นขาวอย่างไรให้ถูกวิธี

ลิ้นลูกเป็นฝ้าขาว คุณแม่ดูแลลูกลิ้นขาวอย่างไรให้ถูกวิธี

ลิ้นลูกเป็นฝ้าขาว เกิดจากอะไร ลูกลิ้นขาวผิดปกติไหม อาการลิ้นลูกเป็นฝ้าขาว คือเชื้อราในปากเด็กหรือเปล่า พร้อมวิธีดูแลลูกน้อย เมื่อลิ้นลูกเป็นฝ้าขาว

เด็กกัดเล็บตัวเองปกติไหม เสี่ยงติดเชื้อหรือเปล่า

เด็กกัดเล็บตัวเองปกติไหม เสี่ยงติดเชื้อหรือเปล่า

เด็กกัดเล็บตัวเอง เกิดจากอะไร ลูกน้อยกัดเล็บตัวเองบ่อย จะเสี่ยงติดเชื้อในปากหรือเปล่า คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกน้อยอย่างไร เมื่อรู้ว่าเด็กชอบกัดเล็บตัวเอง

สิวทารกแรกเกิด เป็นแบบไหน พร้อมวิธีดูแลทารกเป็นสิวที่หน้า

สิวทารกแรกเกิด เป็นแบบไหน พร้อมวิธีดูแลทารกเป็นสิวที่หน้า

สิวทารกเป็นยังไง เกิดจากอะไร สิวทารกแรกเกิดอันตรายไหม จะหายเองได้หรือเปล่า หรือว่าต้องทายาอะไรให้หายเร็ว คุณแม่ต้องดูแลลูกน้อยอย่างไร มีอะไรต้องระวังเป็นพิเศษไหม

ทารกจามบ่อยผิดปกติไหม ลูกจามบ่อย เป็นภูมิแพ้หรือเปล่า

ทารกจามบ่อยผิดปกติไหม ลูกจามบ่อย เป็นภูมิแพ้หรือเปล่า

เด็กทารกจามบ่อย เกิดจากอะไร ลูกจามบ่อยปกติไหม อาการแบบนี้ คือสัญญาณของภูมิแพ้ในเด็กหรือเปล่า คุณแม่ควรสังเกตอาการลูกน้อยอย่างไร เมื่อทารกจามบ่อยขึ้น

วิธีฝึกลูกนอนยาว ฝึกลูกนอนเอง ช่วยให้หลับสบายตลอดคืน

วิธีฝึกลูกนอนยาว ฝึกลูกนอนเอง ช่วยให้หลับสบายตลอดคืน

รวมวิธีฝึกลูกนอนยาว สอนลูกน้อยให้นอนหลับเองได้ ช่วยให้ลูกหลับสนิทตลอดคืน พร้อมเสริมพัฒนาการทางร่างกายและสมอง ช่วยเพิ่มเวลาพักผ่อนให้คุณพ่อคุณแม่

ขี้เทาทารก คืออะไร ภาวะอุจจาระแรกของทารก ที่พ่อแม่ควรรู้

ขี้เทาทารก คืออะไร ภาวะอุจจาระแรกของทารก ที่พ่อแม่ควรรู้

ขี้เทาทารก คืออะไร อุจจาระแรกของทารกหลังคลอดสำคัญไหม หากลูกกินขี้เทาทารกเข้าไปจะเป็นอันตรายกับลูกหรือเปล่า พร้อมวิธีสังเกตขี้เทาทารก ที่คุณแม่มือใหม่ควรรู้

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก