อาหารเด็ก 9 เดือน เมนูอาหารเด็ก 9 เดือน เสริมโภชนาการลูกรัก
ทารกอายุ 9 เดือนเริ่มมีฟันน้ำนมขึ้น คุณแม่ควรให้ลูกกินอาหารที่ช่วยบริหารเหงือกและฟันลูกน้อย พร้อมเรียนรู้ตารางโภชนาการอาหารเด็ก 9 เดือน ที่ถูกต้องและเหมาะสม คุณแม่ควรเริ่มให้เป็นอาหารที่บริหารเหงือกของลูกน้อย เพื่อให้ลูกน้อยได้ออกแรงบดเคี้ยวมากขึ้น แต่ยังแนะนำให้กินนมแม่ เพื่อรับสารอาหารกว่า 200 ชนิด และนมแม่ยังมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์อีกหลายสายพันธุ์ เช่น LPR โพรไบโอติก ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของทารก โดยเฉพาะในด้านภูมิคุ้มกัน
เมื่ออายุเข้าสู่เดือนที่ 9 ของเจ้าตัวน้อยแล้วนะคะ ช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่จะเห็นถึงพัฒนาการเด็ก 9 เดือน ของลูกมากขึ้น ลูกจะเริ่มคลานได้คล่องขึ้น สามารถคลานไปทั่วบริเวณได้ หรือเด็กบางคนอาจจะเริ่มพยายามเกาะจับเพื่อยืนขึ้นได้ กล้ามเนื้อมัดเล็กเริ่มทำงานได้ดีขึ้น สามารถใช้มือเริ่มจับสิ่งของ หรือของเล่นชิ้นเล็กๆ ได้ และที่สำคัญช่วงนี้ฟันซี่แรกของเจ้าตัวน้อยอาจงอกขึ้นมาพ้นเหงือก
ซึ่งฟันซี่แรกของลูกแต่ละคนนั้นขึ้นในช่วงที่แตกต่างกัน เมื่อฟันขึ้นถือเป็นสัญญาณบอกว่า ลูกพร้อมรับอาหารตามวัยได้หลากหลายมากขึ้นแล้วนะคะ มาดูกันดีกว่าว่า เมื่อลูกฟันขึ้น ชอบที่กัดๆ เคี้ยวๆ อาหารตามวัยสำหรับลูกอายุ 9 เดือน คุณแม่ควรเตรียมอะไรให้ลูกบ้าง
โภชนาการอาหารเด็ก 9 เดือน
เด็กวัยนี้จะเริ่มมีพัฒนาการที่มากขึ้น ลูกเริ่มอยากเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ด้วยตนเอง อยู่ไม่นิ่ง ทำให้ลูกต้องการสารอาหารและพลังงานที่มากขึ้นตามไปด้วย บรรดาคุณแม่ก็คงเริ่มสงสัยแล้วใช่ไหมคะว่า จะเตรียมอะไรให้ลูกรับประทานดีนะ เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารและพลังงานที่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้สมองเพื่อเรียนรู้ รวมถึงใช้กล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ ในการเคลื่อนไหว เพื่อให้เพียงพอต่อการเจริญเติบโตในแต่ละวัน ข้อมูลจากกรมอนามัย สำนักโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในการเลือกอาหารให้ครบ 5 หมู่ สำหรับเด็ก 9 เดือน คุณแม่ควรให้ลูกกินอาหารวันละ 3 มื้อ ควบคู่ไปกับนมแม่ และเตรียมอาหารตามวัยที่มีลักษณะหยาบขึ้น เพื่อให้ลูกหยิบจับอาหารขึ้นมากินเอง และรู้สึกเพลิดเพลินกับการกินอาหาร รวมทั้งยังได้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แถมยังได้ฝึกบริหารเหงือกและฟันน้ำนมของลูกอีกด้วย
ลูก 9 เดือนกินอะไรได้บ้างนะ?
เพื่อเป็นการฝึกการเรียนรู้ การใช้กล้ามเนื้อในการฝึกเคี้ยวและกลืน พร้อมทักษะต่างๆ ให้ลูกไปในตัว จึงควรเลือกอาหารที่เริ่มมีเนื้อสัมผัสที่หยาบขึ้น ควรเป็นอาหารนิ่ม ชิ้นเล็ก ๆ ขนาดพอดีคำ ซึ่งยังคงเน้นอาหารครบ 5 หมู่ ปรุงสุก และหลากหลาย มาดูกันนะคะว่ามีอะไรบ้าง
1. ผักและผลไม้ ซูเปอร์กากใยและวิตามิน
เมนูอาหารเด็ก 9 เดือน ควรเป็นผักผลไม้ที่คละสีสัน ให้ลูกได้เรียนรู้รสชาติ ได้รับสารอาหารที่หลากหลาย เนื้อสัมผัสควรมีทั้งบดละเอียด และเนื้อสัมผัสหยาบสลับกัน จะเป็นการกระตุ้นทั้งพัฒนาการการเคี้ยวและการกลืน แต่คุณแม่ต้องไม่ลืมว่า ฟันของลูกยังไม่แข็งแรง อาหารที่มีเนื้อสัมผัสหยาบจึงยังคงต้องมีความอ่อนนุ่มอยู่ด้วย ผักผลไม้ที่แนะนำ ควรเป็นผักที่สามารถถือกินเองได้และผลไม้เนื้อนิ่ม เช่น แตงกวา ฟักทอง แครอทต้ม อะโวคาโด สตรอว์เบอร์รี กล้วย มะละกอ เป็นต้น
2. ธัญพืช สุดยอดพลังงาน ช่วยขับถ่ายคล่อง
อีกหนึ่งสารอาหารสำหรับเด็ก 9 เดือน ที่ขาดไม่ได้ เพราะอุดมด้วยคาร์โบไฮเดรตที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย มีกากใยกระตุ้นการขับถ่าย มีวิตามินบีบำรุงสมอง และแร่ธาตุอื่นๆ อีกหลายชนิด โดยธัญพืชที่แนะนำ คือข้าวกล้องหรือข้าวซ้อมมือ ลูกเดือย ข้าวฟ่าง ข้าวบาร์เลต์ ข้าวโอ๊ต มันเทศ เป็นต้น แม้ลูกจะมีฟันช่วยขบเคี้ยวได้แล้ว อย่างไรก็ตามคุณแม่ยังควรต้มให้เปื่อยนุ่ม แต่ไม่จำเป็นต้องบดหรือปั่นจนละเอียด
3. โปรตีนจากเนื้อสัตว์ ช่วยซ่อมแซม และสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง
โปรตีนนับเป็นสารอาหารเด็ก 9 เดือน ที่จำเป็นอีกหนึ่งอย่าง เพราะนอกจากจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ แล้ว ยังช่วยในการเจริญเติบโต เสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูกของลูกให้แข็งแรงด้วย อาหารที่มีโปรตีนสูงแต่อ่อนนุ่ม ได้แก่ ไข่ ตับ เต้าหู้อ่อน ปลา เป็นต้น
4. แคลเซียม สร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง
แคลเซียม คือแร่ธาตุที่เป็นสารอาหารที่ช่วยเพิ่มความหนาแน่นในการสร้างกระดูก และฟันให้แข็งแรง ช่วยให้ลูกมีความสูงเพิ่มขึ้น อาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นม โยเกิร์ต ชีส กุ้งแห้ง ปลาตัวเล็กตัวน้อย ผักคะน้า ผักกาดเขียว เป็นต้น
ตารางอาหารเด็ก 9 เดือน
เมื่อคุณแม่ทราบแล้วว่าลูก 9 เดือนกินอะไรได้บ้าง เราก็มีตารางอาหารเด็ก 9 เดือน มาแนะนำให้คุณแม่กัน ซึ่งเป็นตารางอาหารเด็ก 9 เดือน ที่ทางกรมอนามัย สำนักโภชนาการ ได้แนะนำเอาไว้ ดังนี้
มื้ออาหารเช้า หรือ มื้อกลางวัน หรือ มื้ออาหารเย็น | มื้อว่างช่วงบ่าย |
ตัวอย่างที่ 1 ข้าวสวยหุงนิ่มๆ บดหยาบ 4 ช้อนกินข้าว + ไข่ต้มสุกครึ่งฟอง + ตำลึงสุกหั่นชิ้นเล็ก 1 ช้อนครึ่งกินข้าว + น้ำมันพืชครึ่งช้อนชา | มะละกอสุก 4 ชิ้น หั่นชิ้นพอดีคำ |
ตัวอย่างที่ 2 ข้าวสวยหุงนิ่มๆ บดหยาบ 4 ช้อนกินข้าว + ตับสุกหั่นชิ้นเล็ก 1 ช้อนครึ่งกินข้าว + ผักกาดเขียวสุกหั่นชิ้นเล็ก 1 ช้อนครึ่งกินข้าว + น้ำมันพืชครึ่งช้อนชา | มะม่วงสุก 4 ชิ้น หั่นชิ้นพอดีคำ |
ตัวอย่างที่ 3 ข้าวสวยหุงนิ่มๆ บดหยาบ 4 ช้อนกินข้าว + ปลาสุกหั่นชิ้นเล็ก 1 ช้อนกินข้าว + แครอทต้มสุกหั่นชิ้นเล็ก 1 ช้อนครึ่งกินข้าว + น้ำมันพืชครึ่งช้อนชา | กล้วยน้ำว้าสุก 1 ผล หั่นชิ้นพอดีคำ |
เมนูอาหารเด็ก 9 เดือน เสริมโภชนาการ
เมนูที่ 1: โจ๊กหมูใส่ตับ
วัตถุดิบ
- ข้าวสวยหุงนิ่ม 4 ช้อนกินข้าว
- เนื้อหมูบดละเอียด ½ ช้อนกินข้าว
- ตับหมูหั่นชิ้นเล็กบางๆ ½ ช้อนกินข้าว
- ตำลึง ½ ช้อนกินข้าว
- แครอท 1 ช้อนกินข้าว
- น้ำซุป 5-7 ช้อนกินข้าว
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
วิธีทำ
- ตั้งน้ำซุปให้เดือด ใส่หมูบดและตับชิ้นเล็กลงไปต้มให้สุก
- บดข้าวให้ละเอียด ใส่รวมกับตำลึงและแครอทลงในหม้อ ต้มจนนิ่มแล้วปิดไฟ และราดน้ำมันพืช
เมนูที่ 2: ข้าวกล้องไข่แดงผักรวม
วัตถุดิบ
- ข้าวกล้องหุงนิ่ม 4 ช้อนกินข้าว
- ไข่แดงต้มสุก 1 ช้อนกินข้าว
- ฟักทองต้ม ½ ช้อนกินข้าว
- แครอทต้ม 1 ช้อนกินข้าว
- น้ำซุป 5 ช้อนกินข้าว
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
วิธีทำ
- ใช้ข้าวกล้องหุงนิ่ม ยีไข่แดงต้มคลุกรวมกัน
- นำฟักทองและแครอทหั่นชิ้นเล็กต้มเปื่อย ผสมรวมกับน้ำซุป และราดน้ำมันพืช
เมนูที่ 3: ไข่ตุ๋นผักสามสหาย
วัตถุดิบ
- ไข่ไก่ 1 ฟอง
- ฟักทองต้ม ½ ช้อนกินข้าว
- แครอทต้ม ½ ช้อนกินข้าว
- บรอกโคลี ½ ช้อนกินข้าว
- น้ำซุป 5 ช้อนกินข้าว
วิธีทำ
- ตีไข่ไก่กับน้ำซุปให้เข้ากัน แล้วกรองด้วยกระชอน
- นำแครอทหั่นเต๋าเล็ก ฟักทองหั่นเต๋าเล็ก และบรอกโคลีสับละเอียดใส่ในไข่ไก่และน้ำซุป นำไปนึ่งไฟอ่อนจนสุก
- พร้อมเสิร์ฟ รับประทานกับข้าวสวยหุงนิ่ม
เมนูที่ 4: ข้าวบดปลาทูฟักทอง
วัตถุดิบ
- ข้าวกล้องหุงนิ่ม 4 ช้อนกินข้าว
- ปลาทูต้มสุก 1 ช้อนกินข้าว
- ฟักทองต้ม 1 ½ ช้อนกินข้าว
- น้ำซุป 5 ช้อนกินข้าว
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
วิธีทำ
- ใช้ข้าวกล้องหุงนิ่ม ใส่ปลาทูต้มสุกยีเนื้อปลาคลุกรวมกัน
- นำฟักทองหั่นชิ้นเล็กต้มเปื่อย ผสมรวมกับน้ำซุป และราดน้ำมันพืช
เมนูที่ 5: แกงจืดเต้าหู้หมูสับ
วัตถุดิบ
- หมูสันในบด ½ ช้อนกินข้าว
- เต้าหู้ไข่อนามัย ½ ช้อนกินข้าว
- ผักกาดขาว 1 ½ ช้อนกินข้าว
- น้ำซุป 5-7 ช้อนกินข้าว
วิธีทำ
- ต้มน้ำซุปให้เดือด ใส่หมูบดต้มจนสุก
- นำผักกาดขาวต้มใส่ลงไปน้ำซุปต้มจนนิ่ม และใส่เต้าหู้ไข่อนามัยหั่นเต๋าเล็ก ปิดไฟ รับประทานพร้อมข้าวสวยหริอข้าวกล้องหุงนิ่ม
เมนูที่ 6: ข้าวผัดผักสามสี
วัตถุดิบ
- ข้าวกล้องหุงนิ่ม 4 ช้อนกินข้าว
- ไข่แดงดิบ 1 ช้อนกินข้าว
- ข้าวโพดอ่อนนึ่ง ½ ช้อนกินข้าว
- แครอทนึ่ง ½ ช้อนกินข้าว
- บรอกโคลีนึ่ง ½ ช้อนกินข้าว
- น้ำซุป 3 ช้อนกินข้าว
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
วิธีทำ
- ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืช ใส่ไข่แดงดิบลงไปผัดจนสุก แล้วใส่ข้าวกล้องหุงนิ่ม
- นำข้าวโพดอ่อน แครอท บรอกโคลีหั่นชิ้นเล็กนึ่งจนสุก และใส่ลงไปผัดกับข้าว เติมน้ำซุปเล็กน้อย ผัดให้เข้ากัน
เมนูที่ 7: โจ๊กอะโวคาโดตับไก่
วัตถุดิบ
- ข้าวสวยหุงนิ่ม 4 ช้อนกินข้าว
- ตับไก่ต้ม 1 ช้อนกินข้าว
- อะโวคาโดบดหยาบ 1 ช้อนกินข้าว
- แครอทนึ่ง ½ ช้อนกินข้าว
- น้ำซุป 5 ช้อนกินข้าว
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
วิธีทำ
- ตั้งกระทะใส่น้ำมันพืช ใส่ตับไก่ลงไปผัดจนสุก
- ต้มน้ำซุปจนเดือด ใส่ข้าวสวยหุงนิ่มบดละเอียด กับอะโวคาโดบดกับแครอท ใส่ตับที่ผัดสุกแล้วต้มจนนิ่มเข้ากัน
เมนูที่ 8: ซุปมะกะโรนีฟักสองสหาย
วัตถุดิบ
- มะกะโรนีสำหรับเด็กต้มนิ่ม 4 ช้อนกินข้าว
- เนื้อไก่บดต้ม 1 ช้อนกินข้าว
- ฟักเขียวนึ่ง 1 ช้อนกินข้าว
- ฟักทองนึ่ง ½ ช้อนกินข้าว
- น้ำซุป 5 ช้อนกินข้าว
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
วิธีทำ
- ตั้งน้ำซุปให้เดือด ใส่เนื้อไก่บดลงไปต้มให้สุก
- นำฟักเขียวและฟักทองหั่นเป็นชิ้นเล็กต้มลงในซุป และใส่มะกะโรนีลงไปต้มจนนิ่มแล้วปิดไฟ และราดน้ำมันพืช
เมนูที่ 9: ข้าวบดปลาช่อนตำลึง
วัตถุดิบ
- ข้าวสวยหุงนิ่ม 4 ช้อนกินข้าว
- ปลาช่อนต้มสุก 1 ช้อนกินข้าว
- ตำลึงนึ่ง 1 ½ ช้อนกินข้าว
- น้ำซุป 5 ช้อนกินข้าว
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
วิธีทำ
- ใช้ข้าวสวยหุงนิ่ม ใส่ปลาช่อนต้มสุกยีเนื้อปลาคลุกรวมกัน
- นำตำลึงนึ่งจนนิ่ม ผสมรวมกับน้ำซุป และราดน้ำมันพืช
เมนูที่ 10: มันบดคุณหนู
วัตถุดิบ
- มันเทศต้มสุกบดละเอียด 4 ช้อนกินข้าว
- ถั่วลันเตานึ่ง 1 ช้อนกินข้าว
- แครอทนึ่ง ½ ช้อนกินข้าว
- นมที่เด็กดื่มประจำ 1 ช้อนกินข้าว
- น้ำซุป 4 ช้อนกินข้าว
- เนยจืดละลาย ½ ช้อนชา
วิธีทำ
- ใส่เนยลงในกระทะ ผัดมันเทศต้มสุก ถัวลันเตาและแครอท จนเข้ากัน
- เติมนมและน้ำซุปต้มจนเดือด ปิดไฟ และนำไปปั่นจนละเอียดเข้ากัน อาจเสิร์ฟเป็นก้อนปั้นกลมเล็กๆ ได้ค่ะ
เมนูที่ 11: ไข่ม้วนไก่สับ
วัตถุดิบ
- ไข่ไก่ 1 ฟอง
- เนื้อไก่สับต้มสุก 1 ช้อนกินข้าว
- มะเขือเทศหั่นเล็กนึ่ง ½ ช้อนกินข้าว
- ข้าวโพดอ่อนหั่นเล็กนึ่ง ½ ช้อนกินข้าว
- แครอทหั่นเต๋าเล็กนึ่ง ½ ช้อนกินข้าว
- น้ำซุป 3 ช้อนกินข้าว
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
วิธีทำ
- ตีไข่ให้เข้ากัน ใส่น้ำมันลงกระทะและเทไข่ลงไปบนกระทะ จากนั้นพักใส่จานไว้
- ผัดเนื้อไก่สับ มะเขือเทศ ข้าวโพดอ่อน แครอท ใส่น้ำซุป ต้มจนนิ่ม แล้วพักจนเย็น
- ใส่เนื้อไก่ที่ผัดเข้ากับผักต่างๆ ลงบนไข่ที่เตรียมไว้ ม้วนเป็นแท่ง และนำไปนึ่งให้นิ่มขึ้น ก่อนเสิร์ฟตัดเป็นชิ้นให้เด็กหยิบง่ายขึ้น
เมนูที่ 12: พาสต้าพอร์คบอล
วัตถุดิบ
- พาสต้าสำหรับเด็กต้มนิ่ม 4 ช้อนกินข้าว
- เนื้อหมูบด 1 ช้อนกินข้าว
- มะเขือเทศสับ 1 ช้อนกินข้าว
- แครอท ½ ช้อนกินข้าว
- น้ำซุป 5 ช้อนกินข้าว
- เนยจืดละลาย ½ ช้อนชา
วิธีทำ
- นำหมูบดผสมกับแครอทหั่นชิ้นเล็ก ปั้นเป็นก้อนกลมเล็กๆ ทำพอร์คบอล
- ใส่เนยจืดลงในกระทะ แล้วใส่พอร์คบอลลงไปจนสุก ใส่จานพักไว้
- ผัดมะเขือเทศสับกับน้ำซุปจนเละ ใส่เส้นพาสต้าต้มสุกลงไปคลุกให้เข้ากัน ตักใส่จานเสิร์ฟพร้อมพอร์คบอล
อย่างไรก็ตามการได้รับสารอาหารตามโภชนาการที่ดีและจัดกิจกรรมกระตุ้นให้ลูกได้เล่นและเรียนรู้อย่างเหมาะสม ทำให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่ดีทั้งร่างกาย จิตใจ และสมอง สามารถเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ได้ดีขึ้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการเลือกโภชนาการที่เหมาะสมให้กับลูก ควรให้ลูกน้อยได้รับอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ เลือกอาหารที่มีคุณค่าครบ 5 หมู่ และหลากหลาย อย่างเช่น อาหารเสริมธัญพืช สูตรผสมข้าวสาลี ปลาและผักโขม หรือ อาหารเสริมธาตุเหล็กทารก ธัญพืช สูตรข้าวบดไก่ และแครอท ที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับเด็ก 8-12 เดือน มีธาตุเหล็กสูง แคลเซียมสูง เน้นโปรตีน ดีเอชเอ วิตามิน และเกลือแร่ หลากหลายชนิด รสชาติอร่อย รับประทานง่าย เน้นสัมผัสของอาหารออกแบบเพื่อพัฒนาการของเด็ก 9 เดือน โดยเฉพาะสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย เสริมสร้างการเจริญเติบโต เหมาะเป็นเมนูอาหารเด็ก 9 เดือน ช่วยบำรุงให้ร่างกายเจริญเติบโตสมวัย มีพัฒนาการที่ดี พร้อมเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากโภชนาการที่ดีแล้ว คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมให้ลูกน้อยดื่มนมทุกวัน และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอด้วยนะคะ
*** หมายเหตุ - ควรปรึกษาแพทย์หากคุณและครอบครัวมีประวัติโรคภูมิแพ้ การแพ้อาหาร โรค Celiac Disease หรือสงสัยว่าลูกน้อยมีปัญหาเรื่องการกิน เช่น ภาวะลิ้นติด หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ ***
บทความแนะนำอาหารเสริมตามวัยสำหรับลูกน้อย
- อาหารเด็ก 10 เดือน เมนูอาหารเด็ก 10 เดือน เสริมพัฒนาการลูกน้อย
- อาหารเด็ก 11 เดือน เมนูอาหารเด็ก 11 เดือน บำรุงสมองลูกน้อย
- รวมเมนูอาหารเด็ก 1 ขวบ สำหรับลูกน้อย คุณแม่ทำตามง่ายและถูกหลักโภชนาการ
- รวมเมนูอาหารเด็กทารก 6-12 เดือน คุณแม่ทำตามง่าย เหมาะสำหรับลูกน้อย
- อาหารมื้อแรกของลูก ข้าวมื้อแรกของลูกตามช่วงวัย เริ่มกินเมื่อไหร่ดี
บทความที่เกี่ยวข้อง