ลูกไม่กินข้าว ลูกกินข้าวยากทำไงดี พร้อมวิธีแก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าว
ลูกกินข้าวยาก ลูกเบื่ออาหาร เป็นปัญหาโลกแตกที่หลายบ้านกำลังเผชิญ คุณแม่กลุ้มใจเหลือเกิน ลองมาสารพัดเมนูที่เขาว่า ทำแล้วลูกชอบ อร่อยและมีประโยชน์ ก็ไม่สำเร็จ หลอกล่อสารพัดวิธีก็ไม่ได้ผล กลัวลูกตัวเล็ก ขาดสารอาหาร ทำยังไงดี วันนี้เราจะชวนคุณพ่อคุณแม่มาค้นหาสาเหตุที่ทำให้ลูกกินข้าวยาก และวิธีแก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าวแบบละมุนละม่อม ไม่บังคับลูกจนเกินไป
สรุป
- ลูกไม่กินข้าว อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ช่วงวัยต่อต้าน เบื่อเมนูเดิม ๆ ติดขนมขบเคี้ยว น้ำหวาน หรือบรรยากาศในการกินข้าวที่ไม่ดี
- ลูกไม่กินข้าว ไม่ควรแก้ปัญหาด้วยการบังคับ หรือการดุลูก เพราะจะเป็นการสร้างทัศนคติที่ไม่ดีต่อการกินให้กับลูก
- หากลูกไม่กินข้าวและเริ่มมีอาหารหงุดหงิด ซึมเศร้า ไม่ร่าเริง ผิวแห้งซีด น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นสัญญาณว่า ลูกเริ่มขาดสารอาหาร
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ลูกไม่กินข้าว ลูกกินข้าวยาก เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
- การดุลูก ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาลูกไม่กินข้าว ลูกกินข้าวยาก
- ลูกกินข้าวยาก ส่งผลต่อภาวะขาดสารอาหาร
- วิธีแก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าว แบบค่อยเป็นค่อยไป
- ลูกไม่กินข้าว คุณแม่ไม่ควรให้ขนมหรือของเล่น
- ลูกเบื่ออาหาร คุณแม่สามารถลองตกแต่งจานอาหารให้มีสีสันมากขึ้น
ลูกไม่กินข้าว ลูกกินข้าวยาก เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
ปัญหาลูกไม่กินข้าว ลูกกินข้าวยาก ลูกเบื่ออาหาร เกิดได้จากหลายสาเหตุ พร้อมวิธีแก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าวที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้
1. ลูกน้อยอยู่ในช่วงวัยกำลังต่อต้าน
ลูกจะเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยกำลังต่อต้านเมื่อมีอายุได้ 18-24 เดือน เป็นวัยที่เริ่มช่วยเหลือตัวเองได้ และกำลังพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง เมื่อเขากำลังสนใจสิ่งอื่น ๆ มากกว่าการกินข้าว เช่น การเล่นของเล่น เขาก็อาจจะปฏิเสธ คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ว่า เด็กวัยนี้จะชอบพูดคำว่า “ไม่” สาเหตุหนึ่งก็มาจากช่วงวัย ที่ลูกกำลังทดสอบว่าเขามีความสามารถต่อต้านพ่อแม่ได้นั่นเอง
2. ลูกน้อยเบื่ออาหารเมนูเดิม ๆ
บางครั้งคุณแม่เห็นลูกชอบกินอาหารบางชนิด และกินได้เยอะทุกครั้งที่คุณแม่ทำให้ คุณแม่จึงทำเมนูเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ให้ลูก แต่เมื่อลูกกินเมนูซ้ำไปนาน ๆ ก็อาจเกิดอาการเบื่ออาหารชนิดนั้นขึ้นมาได้เช่นกัน
3. ลูกน้อยติดขนมขบเคี้ยว ติดน้ำหวาน
หากลูกได้ลองกินขนมขบเคี้ยวที่มีการปรุงรส หรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน อาจทำให้ติดใจในรสชาติใหม่มากกว่ารสชาติเดิม หรือเนื้อสัมผัสเดิม ๆ จากอาหารที่คุณแม่เคยป้อน จึงเลือกกินแต่ของที่ชอบ ซึ่งหากปล่อยให้ลูกเลือกกินแต่อาหารไม่มีประโยชน์ และไม่ยอมกินข้าวบ่อย ๆ อาจเสี่ยงต่อภาวะขาดสารอาหาร ทำให้ลูกตัวเล็ก น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ และสุขภาพไม่ดี
4. บรรยากาศในการกินข้าวไม่ดีเท่าที่ควร
บางบ้านมีความจู้จี้จุกจิกกับการรับประทานอาหารของลูกมากเกินไป เช่น ต้องรีบกิน อย่ามัวแต่อมข้าว ต้องเคี้ยวให้ละเอียดเดี๋ยวติดคอ ต้องกินเยอะ ๆ จะได้ตัวโตแข็งแรง การที่ลูกถูกกำกับ หรือถูกบังคับมากจนเกินไป ทำให้บรรยากาศไม่ดี จึงอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ลูกไม่อยากกินข้าว ลูกกินข้าวยาก
การดุลูก ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาลูกไม่กินข้าว
เมื่อเห็นว่าลูกกินข้าวได้น้อย พ่อแม่มักกังวลว่าลูกจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จึงมักใช้วิธีที่ผิด เช่น บังคับ ดุว่า ทำโทษ ทำให้ลูกมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการกิน ยิ่งทำให้ลูกมีพฤติกรรมต่อต้าน เช่น ปฏิเสธอาหาร อมข้าว บ้วนอาหารทิ้ง กินไปเล่นไป บางรายถึงขั้นอาเจียน ยิ่งพ่อแม่เห็นลูกทำพฤติกรรมเช่นนี้ ก็ยิ่งเกิดความเครียดกังวล ยิ่งทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น
ลูกกินข้าวยาก ส่งผลต่อภาวะขาดสารอาหาร
เด็กในวัยกำลังเจริญเติบโต ต้องการได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน เพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงและเจริญเติบโต หากลูกกินข้าวยาก หรือเลือกกินแต่อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ อาจส่งผลต่อภาวะขาดสารอาหารได้ เมื่อร่างกายรับสารอาหารไม่เพียงพอ ส่งผลให้ลูกน้ำหนักน้อยตัวเล็ก ภูมิต้านทานต่ำ ทำให้เกิดการติดเชื้อต่าง ๆ ได้ง่าย ยิ่งไปกว่านั้นยังส่งผลกระทบต่อพัฒนาการด้านอื่น ๆ เช่น พัฒนาการด้านสติปัญญา และการเรียนรู้ของเด็ก
คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของลูกว่า ลูกเริ่มขาดสารอาหาร หรือทารกขาดธาตุเหล็กหรือไม่ หากลูกยังแข็งแรง เจริญเติบโตตามเกณฑ์ ร่าเริง วิ่งเล่นได้ตามปกติ แสดงว่าลูกยังแข็งแรง ก็อาจไม่น่าเป็นห่วงมากนัก แต่หากลูกเริ่มมีอาการหงุดหงิด ซึมเศร้า ไม่ร่าเริง ผิวแห้งซีด เหี่ยวย่น น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ ตาเหลือง กระสับกระส่าย พูดช้าลง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ผมบางขาดง่าย สัญญาณเหล่านี้ก็อาจเป็นอาการเริ่มต้นของภาวะขาดสารอาหารได้
วิธีแก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าว แบบค่อยเป็นค่อยไป
ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าว สามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องบังคับ หรือให้รางวัลติดสินบนลูก มาดูกันว่า คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้เทคนิคใดได้บ้าง
- ให้ลูกกินอาหารด้วยตัวเอง เมื่อลูกโตพอที่จะหยิบอาหารเข้าปากได้เอง ควรให้ลูกหยิบอาหารกินเอง ได้ช่วยเหลือตัวเอง ไม่ควรป้อนเพื่อบังคับให้ลูกกินอาหารได้เยอะ ๆ การที่ลูกรู้สึกว่าสามารถกินข้าวเองได้ สามารถช่วยเพิ่มความอยากอาหารให้ลูกได้
- ทำให้การกินเป็นเรื่องสนุก แทนที่จะเคี่ยวเข็ญให้ลูกกินข้าว ลองพูดคุยสนุกสนาน เพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีร่วมกัน ให้ลูกได้เพลิดเพลินกับการกิน แบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่กดดัน
- กำจัดสิ่งรบกวนอื่น ๆ ในเวลามื้ออาหาร ไม่ควรมีสิ่งเร้าอื่น ๆ ที่สามารถเบี่ยงเบนความสนใจของลูกไปจากจานอาหารตรงหน้า ควรปิดทีวี การ์ตูน ไม่เล่นมือถือ เก็บของเล่น ให้พ้นจากสายตา เพื่อให้ลูกจดจ่อกับการกินมากขึ้น
- เสิร์ฟอาหารให้น้อยกว่าความต้องการเล็กน้อย เป็นเทคนิคที่ช่วยให้ลูกกินอาหารได้หมดจาน และรู้สึกว่าตัวเองทำสำเร็จ รวมทั้งกระตุ้นให้ลูกอยากขอเติมอาหารอีกด้วย
- อย่าให้ลูกอิ่มก่อนมื้ออาหาร คุณพ่อคุณแม่ควรจำกัดการกินนม หรือของว่างระหว่างมื้อ เพื่อให้ลูกรู้สึกหิวเล็กน้อยก่อนมื้ออาหาร จะช่วยเพิ่มความอยากอาหารในมื้อหลักได้ และไม่แนะนำให้ลูกกินอาหารที่จะทำให้อิ่มไว แต่ไม่ได้ประโยชน์ และยังอาจนำไปสู่โรคอ้วน เช่น น้ำหวาน ขนมหวาน และของทอดต่าง ๆ ก่อนมื้ออาหาร
- ชมเข้าไว้ เมื่อลูกยอมกินอาหารหรือชิมอาหารใหม่ ๆ หรือมีพฤติกรรมในการกินที่ดี ให้คุณพ่อคุณแม่รีบชมลูกทันที ให้ลูกรู้ว่านี่คือพฤติกรรมที่เหมาะสม และพ่อแม่อยากเห็นลูกทำพฤติกรรมแบบนี้อีก ในขณะเดียวกัน เมื่อลูกได้รับคำชม ก็จะมีแนวโน้มทำพฤติกรรมที่ดีมากขึ้น
ลูกไม่กินข้าว คุณแม่ไม่ควรให้ขนมหรือของเล่น
เมื่อลูกไม่ยอมกินข้าว บางบ้านหันมาใช้วิธีการหลอกล่อ ให้รางวัล ขนม ของเล่น เพื่อจูงใจลูกให้กินข้าวเยอะ ๆ รวมถึงให้ลูกกินเพิ่มเติมระหว่างมื้ออาหาร วิธีเหล่านี้ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ผิด นอกจากไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาลูกไม่กินข้าวได้แล้ว ยังทำให้ลูกไม่รู้สึกหิวเมื่อถึงมื้ออาหารอีกด้วย
ลูกเบื่ออาหาร คุณแม่สามารถลองตกแต่งจานอาหารให้มีสีสันมากขึ้น
อีกหนึ่งวิธีในการทำให้ลูกสนใจกินอาหารตามช่วงวัย มากขึ้น เมื่อลูกเบื่ออาหาร ลองให้ลูกได้มีส่วนร่วมในการเตรียมอาหาร เป็นลูกมือคุณแม่ในการทำอาหาร และชิมอาหารก่อนเสิร์ฟ รวมถึงช่วยคุณพ่อคุณแม่จัดจานอาหารให้มีสีสันน่ากิน หรือแปลงร่างอาหารแบบเดิม ๆ ให้มีรูปร่างหน้าตาแบบใหม่ จัดอาหารให้เป็นรูปตัวการ์ตูน มีธีมที่ชวนให้ลูกรู้สึกสนุกกับมื้ออาหารมากขึ้น เป็นต้น
คุณพ่อคุณแม่ได้เข้าใจถึงสาเหตุลูกไม่ยอมกินข้าว ลูกกินข้าวยาก ลูกเบื่ออาหาร รวมถึงวิธีแก้ปัญหาลูกไม่ยอมกินข้าว แบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อลูกไม่กินข้าว และแนวทางในการเปลี่ยนมื้ออาหารที่เคร่งเครียดให้กลายเป็นมื้อที่สนุกสนาน ชวนหิวแล้ว เพียงค่อย ๆ ปรับแนวทางให้เหมาะกับครอบครัวของเรา ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ก็จะทำให้ลูกกินข้าวได้เยอะขึ้น และมีความสุขมากขึ้น
บทความแนะนำอาหารเสริมตามวัยสำหรับลูกน้อย
- อาหารเด็ก 6 เดือน ตารางอาหารทารก 6 เดือน เหมาะสำหรับลูกน้อย
- อาหารเด็ก 7 เดือน เมนูอาหารเด็ก 7 เดือน เมนูไหนเหมาะกับลูกน้อย
- อาหารเด็ก 8 เดือน ตารางอาหารทารก 8 เดือน ลูกเริ่มกินอะไรได้บ้าง
- อาหารเด็ก 9 เดือน ไอเดียเมนูอาหารเด็ก 9 เดือน เสริมโภชนาการลูกน้อย
- อาหารเด็ก 10 เดือน เมนูอาหารเด็ก 10 เดือน เสริมพัฒนาการลูกน้อย
- อาหารเด็ก 11 เดือน เมนูอาหารเด็ก 11 เดือน บำรุงสมองลูกน้อย
- รวมเมนูอาหารเด็ก 1 ขวบ สำหรับลูกน้อย คุณแม่ทำตามง่ายและถูกหลักโภชนาการ
- อาหารมื้อแรกของลูก ข้าวมื้อแรกของลูกตามช่วงวัย เริ่มกินเมื่อไหร่ดี
- เด็กขาดธาตุเหล็ก เกิดจากอะไร อาการเด็กขาดธาตุเหล็ก ที่คุณแม่ป้องกันได้
- อาหารเสริมธาตุเหล็กทารก ช่วยป้องกันภาวะโลหิตจางในเด็ก
- จุลินทรีย์ LPR คืออะไร โพรไบโอติกสำหรับเด็กที่แม่ห้ามพลาด
อ้างอิง:
1. เมื่อลูกน้อยไม่กินข้าว, คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
2. 10 สัญญาณเตือน! ที่บอกว่าลูกคุณกำลัง “ขาดสารอาหาร”, โรงพยาบาลเปาโล
3. ลูกวัย 1 ขวบเบื่ออาหาร ทำอย่างไรดี, hellokhunmor
อ้างอิง ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง