ไหมละลายหลังคลอดกี่วันหาย แผลผ่าคลอดไหมละลายตอนไหน

ไหมละลายหลังคลอดกี่วันหาย แผลผ่าคลอดไหมละลายตอนไหน

22.08.2024

การผ่าคลอดส่วนใหญ่มักใช้ไหมละลายในการเย็บปิดแผลผ่าคลอด โดยไหมชนิดนี้จะละลายไปเองเมื่อถึงระยะเวลาและมักจะสลายลงในช่วงที่แผลผ่าคลอดของคุณแม่เริ่มหายสนิท มาถึงตรงนี้คุณแม่คงสงสัยใช่ไหมว่าไหมละลายคืออะไร ทำไมถึงหลุดเองได้ ต้องใช้เวลากี่วัน และมีวิธีการดูแลแผลผ่าคลอดไหมละลายอย่างไร เรามาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันเลย

headphones

PLAYING: ไหมละลายหลังคลอดกี่วันหาย แผลผ่าคลอดไหมละลายตอนไหน

อ่าน 6 นาที

 

สรุป

  • แผลผ่าคลอดไหมละลายเป็นไหมที่ละลายตามกลไกของร่างกายคุณแม่ เมื่อถึงเวลาไหมจะสลายไปเองโดยที่คุณแม่ไม่ต้องตัดไหม และใช้เวลานานกว่า 10-20 วัน กว่าไหมละลายจะสลายหลุดออกไปหมด
  • ไหมละลายทำจากวัสดุหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นใยธรรมชาติหรือใยสังเคราะห์ สาเหตุที่คุณหมอใช้ไหมละลายในการเย็บแผลผ่าคลอดนั้น เป็นเพราะเกิดจากการผ่าตัดที่บริเวณมดลูกทำให้การเข้าไปตัดไหมทำได้ไม่สะดวกและเสี่ยงต่อการติดเชื้อด้วย
  • การใช้ไหมละลายหลังคลอดนอกจากไม่ต้องไปตัดไหมแล้ว ยังทำให้แผลผ่าคลอดของคุณแม่แนบสนิทกัน โดยที่แผลผ่าคลอดจะเรียบสวยงาม ไม่ทิ้งรอยเย็บแผลให้คุณแม่กังวลใจ

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

แผลผ่าคลอดไหมละลาย คืออะไร

แผลผ่าคลอดไหมละลาย คือการที่คุณหมอเย็บแผลผ่าตัดของคุณแม่ผ่าคลอดด้วยไหมละลาย โดยไหมละลายนี้จะละลายหายไปเองโดยที่คุณแม่ผ่าคลอดไม่จำเป็นต้องกลับมาให้คุณหมอตัดไหมที่โรงพยาบาล และคุณแม่ไม่ต้องกังวลว่าไหมจะละลายก่อนที่แผลจะเริ่มสมาน เพราะปกติแล้วไหมละลายที่คุณหมอใช้เย็บแผลผ่าคลอดจะเป็นไหมที่ละลายตามกลไกระยะเวลาของการรักษานั่นเอง

 

แผลผ่าคลอดไหมละลาย ต่างจากแผลทั่วไปยังไงบ้าง

แผลผ่าคลอดไหมละลาย มักเป็นแผลที่มีลักษณะแผลผ่าตัดที่มีขอบเรียบที่เกิดขึ้นภายในห้องผ่าตัด เช่น แผลผ่าตัดคลอด แผลจากการคลอดลูกทางช่องคลอด เป็นต้น เมื่อคุณหมอเย็บแผลผ่าคลอดเข้าด้วยกันด้วยไหมละลายทำให้แผลชิดสนิทได้ง่าย ซึ่งต่างจากแผลทั่วไปที่เป็นการเย็บบาดแผลบริเวณผิวหนังทั่วไป ที่มักเป็นแผลจากอุบัติเหตุที่เสี่ยงต่อการเกิดการอักเสบจากการติดเชื้อได้ง่าย จึงจำเป็นต้องใช้ไหมไม่ละลายเพราะมีแรงดึงรั้งที่ดีกว่าไหมละลาย และยังลดความเสี่ยงจากไหมละลายที่อาจขาดหลุดก่อนได้

 

ไหมละลายผ่าคลอด มีลักษณะอย่างไร

อันดับแรกคุณแม่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “ไหมละลาย” เป็นไหมที่ละลายได้เมื่ออยู่ในร่างกายของมนุษย์เท่านั้น เมื่อไหมนี้ไปอยู่นอกร่างกายเส้นไหมจะไม่ละลาย เนื่องจากตัวไหมละลายจะค่อย ๆ สลายไปเมื่อเจอกลไกธรรมชาติของร่างกายจะละลายหมดไปตามระยะเวลาของไหมละลายแต่ละประเภท ไหมละลายผลิตจากวัสดุหลายชนิดที่มาจากทั้งใยธรรมชาติ และใยสังเคราะห์

 

ในกรณีที่คุณแม่ผ่าคลอด คุณแม่อาจเลือกใช้ไหมละลายที่เรียกว่า “Chromic catgut” เป็นไหมละลายที่เหมาะสำหรับเย็บมดลูกของคุณแม่ผ่าคลอด ซึ่งเป็นชั้นที่ลึกกว่าการเย็บแผลฝีเย็บที่ช่องคลอดที่มีความแข็งแรงเพียงพอ และต้องใช้ระยะเวลาอีกนานกว่าไหมละลายจะสลายตัวประมาณ 10-20 วัน เพื่อให้แผลผ่าคลอดแนบสนิท ไม่ละลายหลุดได้ง่ายจนทำให้เกิดแผลผ่าคลอดอักเสบขึ้นมาก่อน

 

ทำไมต้องใช้ไหมละลาย เย็บแผลผ่าคลอด

สาเหตุที่ใช้ไหมละลายในการเย็บมดลูกหรือเย็บแผลผ่าคลอดนั้น เป็นเพราะการผ่าคลอดเกิดจากการผ่าตัดที่อยู่ในชั้นลึกเข้าไปถึงบริเวณมดลูก ลักษณะของการเย็บ คุณหมอจะใช้ไหมละลายเย็บให้แผลแนบชิดกัน แล้วซ่อนปมไว้ใต้ผิวเพื่อป้องกันเชื้อโรค ทั้งยังทนต่อแรงดึง และมีระยะเวลาการย่อยสลายของไหมที่ใช้เวลานานกว่าแผลผิวหนังภายนอก คุณแม่ที่ผ่าคลอดจึงไม่จำเป็นต้องไปตัดไหม อีกทั้ง ไหมละลายที่ใช้ไม่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง เมื่อคุณหมอเย็บแผลผ่าคลอดจะเป็นแผลผ่าตัดขนาดเล็ก ไม่เป็นลายตะขาบเหมือนกับการเย็บไหมที่ไม่ละลาย คุณแม่จึงมีแผลผ่าคลอดที่เล็กสวยนั่นเอง

 

แผลผ่าคลอดไหมละลาย มีข้อดีอย่างไร

ข้อดีของแผลผ่าคลอดที่ใช้ไหมละลายได้ มีดังนี้

  1. คุณแม่ไม่ต้องไปตัดไหมออก เพราะแผลผ่าตัดอยู่ลึกเข้าไปข้างในถึงบริเวณมดลูก โดยไหมละลายที่คุณหมอเย็บติดกันไว้จะค่อย ๆ ละลายสลายหายไปเองเมื่อครบระยะเวลาของไหม
  2. ลักษณะของแผลผ่าคลอดจะเล็ก สวยงามไม่เป็นลายตะขาบเหมือนกับแผลจากไหมไม่ละลาย
  3. ตัวไหมจะมีแรงดึงมากพอทำให้แผลผ่าตัดแนบสนิทกัน แต่ไม่ถึงกับดึงรั้งแผลจนเกินไป ทำให้แผลไม่สวย

 

ไหมละลายหลังคลอดกี่วันหาย หากเปรียบเทียบกับไหมธรรมดา

ไหมละลายหลังคลอดหลัก ๆ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

  1. ไหมละลายที่ใช้เย็บแผลฝีเย็บ: ไหมละลายชนิดนี้จะใช้เวลาในการละลายที่รวดเร็วเพียง 5-10 วันเท่านั้น เพราะเป็นการเย็บปิดแผลบริเวณที่ไม่ลึกมาก และไม่ต้องการใช้แรงดึงที่มากเกินไป
  2. ไหมละลายที่ใช้เย็บแผลผ่าคลอด: ไหมที่ใช้เย็บปิดแผลผ่าคลอดจะเป็นไหมที่ต้องการแรงดึงรั้งแผลที่นานกว่า เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่อยู่ลึกเข้าไปอีกชั้น ทำให้การละลายของไหมช้ากว่า และกว่าไหมจะละลายอาจใช้เวลานานถึง 10-20 วันเลยทีเดียว กว่าที่ไหมจะละลายหมดไป

 

สำหรับไหมธรรมดาหรือไหมไม่ละลายคุณหมอจะเย็บที่ผิวหนังทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นแผลจากอุบัติเหตุต้องการแรงดึงรั้งที่ดี เพราะหากใช้ไหมละลายที่มีแรงดึงรั้งน้อยกว่า อาจเสี่ยงต่อแผลปริหรือหลุดไปก่อนที่แผลจะหาย และจำเป็นต้องใช้การตัดไหมหลังจากแผลสมานกันดีแล้ว ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 3 วัน ถึง 3 สัปดาห์ เพราะหากไม่ตัดไหมที่ไม่ละลายนี้อาจอยู่ได้นานถึง 1 ปี แล้วไหมจะเปราะหลุดไปเอง

 

ไหมละลายหลุด แผลอักเสบ สังเกตอาการได้อย่างไร

ปกติไหมละลายของแม่ผ่าคลอดจะหลุดเองภายใน 2 สัปดาห์ แต่คุณแม่ยังรู้สึกปวดที่แผลผ่าคลอดอยู่อาจเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากแผลผ่าคลอดยังหายไม่สนิท เพราะการผ่าคลอดคุณหมอจะกรีดเนื้อเยื่อหลายชั้นลงไปยังมดลูก ซึ่งกว่าแผลผ่าคลอดจะหายดีต้องใช้เวลานานถึง 3 เดือน ทำให้คุณแม่ผ่าคลอดหลายคนยังมีอาการปวดแผลผ่าคลอดอยู่บ้าง แม้ว่าไหมละลายจะหลุดไปแล้ว อย่างไรก็ตาม หากคุณแม่มีอาการอื่นร่วมด้วย อาจเป็นสัญญาณของแผลอักเสบ ได้แก่

  • แผลผ่าคลอดมีรอยแดง บวม คุณแม่รู้สึกเจ็บปวดบริเวณแผลผ่าคลอดมากขึ้นเรื่อย ๆ
  • แผลผ่าคลอดมีกลิ่นเหม็นแรง
  • แผลผ่าคลอดมีแผล มีหนอง หรือมีเลือดไหลซึมออกมา
  • รู้สึกถึงอาการชาที่บริเวณรอยแผลผ่าคลอด
  • มีไข้สูง หรือมีอาการหนาวสั่น
  • คุณแม่หายใจไม่สะดวก
  • เริ่มมีภาวะซึม
  • แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน เพราะไหมละลายหลุดก่อนที่แผลจะหายสนิท

 

ใช้เวลานานแค่ไหน กว่าแผลผ่าคลอดไหมละลายจะสมานตัว

แผลผ่าคลอดบริเวณชั้นในจะหายช้ากว่าแผลผ่าคลอดบริเวณชั้นนอก โดยที่แผลผ่าคลอดชั้นนอกจะใช้เวลาเพียง 1 สัปดาห์ แผลก็สมานเรียบร้อยและเร็วกว่าแผลชั้นใน ในขณะที่แผลผ่าคลอดชั้นในจะใช้เวลานานถึง 2-4 สัปดาห์กว่าที่แผลจะสมานตัว ซึ่งช่วงนี้คุณแม่จะสังเกตเห็นว่า ที่แผลผ่าคลอดจะค่อย ๆ เปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีแดงอมม่วงคล้ำขึ้นเรื่อย ๆ แล้วแผลผ่าคลอดจะเปลี่ยนเป็นสีขาวแล้วจะหายไปกลมกลืนกับสีผิวหนังของคุณแม่ในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน แผลผ่าคลอดจึงหายสนิท

 

วิธีดูแลแผลผ่าคลอดไหมละลายที่ถูกต้อง สำหรับแม่ผ่าคลอด

 

วิธีดูแลแผลผ่าคลอดไหมละลาย สำหรับแม่ผ่าคลอด

1. อย่าให้แผลโดนน้ำในช่วง 7 วันแรก

หลังผ่าคลอดคุณแม่ไม่ควรให้แผลโดนน้ำ เพราะอาจทำให้แผลเกิดการติดเชื้อและอักเสบขึ้นมาได้ หากคุณแม่พบว่าแผลผ่าคลอดถูกน้ำให้นำผ้ามาซับน้ำออกเบา ๆ แล้วเปลี่ยนพลาสเตอร์ปิดแผลใหม่ทันที อย่าปล่อยให้แผลเปียกน้ำเด็ดขาด

 

2. หลีกเลี่ยงการยกของหนัก

การยกของหนัก ๆ เป็นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดแรงกดทับบริเวณแผลผ่าคลอด ทำให้แผลผ่าคลอดของคุณแม่เสี่ยงต่อการอักเสบได้ เพราะในขณะที่คุณแม่ยืดตัว อาจทำให้เกิดการตึงของแผลจนทำให้แผลฉีกขาดและเกิดการอักเสบขึ้นได้

 

3. รักษาความสะอาดอย่างถูกวิธี

หลังจากที่แผลผ่าคลอดของคุณแม่เริ่มสมานแล้ว ไหมละลายก็จะเริ่มหลุดสลายไป คุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องปิดพลาสเตอร์กันน้ำแล้ว แต่ควรหมั่นทำความสะอาดแผลวันละ 2-3 ครั้ง และซับแผลให้แห้งเบา ๆ ทุกครั้ง

 

ตอนนี้คุณแม่ผ่าคลอดคงเข้าใจเกี่ยวกับไหมละลายของแผลผ่าคลอดมากขึ้นแล้ว หลังจากนี้คุณแม่ผ่าคลอดก็จะดูแลแผลผ่าคลอดได้ถูกวิธี ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อ ระมัดระวังไม่ให้แผลถูกน้ำ หลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ควรทำหลังผ่าคลอดและไม่ควรยกของที่หนักมากเกินไป เมื่อไหมละลายเริ่มหลุดควรหมั่นดูแลทำความสะอาดแผลผ่าคลอดจนแผลเริ่มหายสนิท หากคุณแม่พบว่าแผลมีรอยบวมแดง มีอาการปวดท้องรุนแรง มีเลือดไหลซึม แผลปริ ควรรีบเข้าพบแพทย์เพราะอาจเป็นสัญญาณของแผลผ่าคลอดอักเสบได้

 


บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด

 

 

อ้างอิง:

  1. การดูแลตัวเองหลังคลอดที่คุณแม่ต้องรู้, โรงพยาบาลเปาโล
  2. การดูแลฝีเย็บ, โรงพยาบาลพนมสารคาม
  3. วัสดุเย็บแผล: Suture Materials, ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  4. ไหมละลายกับไหมไม่ละลาย, คลินิกเวชกรรมแพทย์ธนานนท์ สุพรรณบุรี
  5. แผลผ่าตัด ดูแลอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ, Pobpad
  6. Caring for Yourself after Birth, BC Women's Hospital + Health Centre
  7. หนังสือเรื่องน่ารู้คู่มือแม่ท้อง, หมอโอ๋
  8. ภาวะแผลติดเชื้อ สัญญาณร้ายที่ไม่ควรละเลย!, โรงพยาบาลเปาโล
  9. 8 เคล็ดลับดูแลแผลผ่าคลอดให้แผลสวย หายไว ฟื้นตัวเร็ว, โรงพยาบาลวิมุต

อ้างอิง ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2567
 

บทความแนะนำ

สังเกตภูมิแพ้ในเด็ก อาการภูมิแพ้อากาศ พร้อมวิธีให้ลูกห่างจากอาการแพ้

สังเกตภูมิแพ้ในเด็ก อาการภูมิแพ้อากาศ พร้อมวิธีให้ลูกห่างจากอาการแพ้

ภูมิแพ้ในเด็กหรือเด็กแก้อากาศในวัยบอบบางเสี่ยงต่อโรคภูมิแพ้ได้ง่าย พ่อแม่สามารถรับมือและคัดกรองความเสี่ยงให้ลูกห่างจากอาการแพ้อากาศ พร้อมเสริมสร้างเกราะคุ้มกัน

อาการภูมิแพ้ในเด็ก คืออะไร เด็กเป็นภูมิแพ้ คุณแม่ป้องกันได้แค่ไหน

อาการภูมิแพ้ในเด็ก คืออะไร เด็กเป็นภูมิแพ้ คุณแม่ป้องกันได้แค่ไหน

ภูมิแพ้ในเด็ก คืออะไร เด็กเป็นภูมิแพ้ เกิดจากหลายปัจจัยอะไรบ้าง คุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการภูมิแพ้ในเด็กของลูกน้อย พร้อมวิธีป้องกันและหลีกเลี่ยงสารกระตุ้นภูมิแพ้

อาการภูมิแพ้ในเด็ก สาเหตุ อาการ พร้อมวิธีดูแลรักษาภูมิแพ้ในเด็ก

โรคภูมิแพ้ในเด็ก อาการ สาเหตุ พร้อมวิธีดูแลอาการภูมิแพ้ในเด็ก

ทำความรู้จักโรคภูมิแพ้ในเด็ก สาเหตุ อาการ และ 3 ข้อควรรู้เกี่ยวกับอาการภูมิแพ้ในเด็กที่เกิดขึ้นกับลูก ภูมิแพ้ในเด็กเกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลลูกน้อยเบื้องต้น

รู้ทันโรคภูมิแพ้ในเด็ก เด็กแพ้ฝุ่น ภูมิแพ้อาหาร ที่แม่ป้องกันได้

รู้ทันโรคภูมิแพ้ในเด็ก เด็กแพ้ฝุ่น ภูมิแพ้อาหาร ที่แม่ป้องกันได้

โรคภูมิแพ้ในเด็ก เกิดจากอะไร ลูกเป็นภูมิแพ้ฝุ่น ขนสัตว์หรือเด็กแพ้อาหาร คุณแม่ควรสังเกตสารก่อภูมิแพ้ในเด็ก พร้อมวิธีป้องกันอาการเด็กแพ้ฝุ่นและเด็กแพ้อาหาร

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก