เมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือน ช่วยบำรุงครรภ์ให้แข็งแรง
เมื่อเริ่มตั้งครรภ์เป็นสัญญาณว่าคุณแม่ต้องดูแลตัวเองเพิ่มมากขึ้น เพราะมีเจ้าตัวเล็กมาคอยเฝ้าติดตามคุณแม่อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าคุณแม่จะกิน จะดื่ม ลูกน้อยของคุณแม่จะได้รับอาหารเช่นเดียวกันกับคุณแม่ อีกทั้งทารกยังต้องการสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการทางระบบประสาทและสมอง คุณแม่จึงต้องให้ความใส่ใจกับอาหารในแต่ละมื้อเพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่ และพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยในท้อง
สรุป
- อาหารมีส่วนสำคัญต่อการเจริญเติบโตกับทารกในครรภ์เป็นอย่างมาก คุณแม่จึงต้องเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวัน เพื่อสุขภาพของตัวเองและพัฒนาการทางด้านต่าง ๆ ของลูกน้อยในท้อง
- คนท้องไตรมาสแรกต้องการสารอาหารจำพวกโปรตีน แคลเซียม วิตามิน ธาตุเหล็ก ไอโอดีน และโฟลิกอย่างเพียงพอและเหมาะสม เพราะสารอาหารเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้แข็งแรง ช่วยพัฒนาสมองให้กับลูกน้อย
- ในกรณีที่คุณแม่มีอาการแพ้ท้องสามารถดื่มชาขิง หรือน้ำขิงเพื่อบรรเทาอาการแพ้ท้อง หรือลองหันมาทานอาหารหรือ น้ำผลไม้สด ๆ ที่มีรสเปรี้ยวและไม่หวานจัด ทานสลัด หรือยำที่ย่อยง่ายแทน หากคุณแม่มีอาการแพ้ท้องที่รุนแรงจนไม่สามารถทานอาหารหรือดื่มน้ำได้ ร่วมกับอาการหน้ามืดและอ่อนเพลียให้รีบไปพบแพทย์ทันที
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ท้อง 1-3 เดือน สำคัญแค่ไหน ทำไมต้องเน้นอาหารที่มีประโยชน์
- เมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือน ควรเน้นสารอาหารอะไรบ้าง
- อาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทาน
- 7 เมนูอาหารสำหรับคนท้อง 1-3 เดือน ทำได้ง่าย ไม่มีเบื่อ
- เมนูเครื่องดื่มแนะนำสำหรับคนท้อง 1-3 เดือน
- เมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือน ที่ช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้
- แพ้ท้องจนกินอะไรไม่ได้ ทำยังไงดี
ท้อง 1-3 เดือน สำคัญแค่ไหน ทำไมต้องเน้นอาหารที่มีประโยชน์
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรก เป็นช่วงที่ทารกในครรภ์เริ่มมีการพัฒนาของระบบอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย พัฒนาการของระบบประสาทส่วนกลางและไขสันหลัง อาหารจึงเป็นส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของทารก คุณแม่จึงต้องเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละวัน เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่ และพัฒนาการที่ดีของลูกน้อย
เมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือน ควรเน้นสารอาหารอะไรบ้าง
คนท้องไตรมาสแรกต้องการสารอาหารเป็นพิเศษโดยเน้นสารอาหาร ดังต่อไปนี้
- โปรตีน: คนท้องต้องการโปรตีนไปใช้ในการเสริมสร้างมดลูก รก เนื้อเยื่อ ปริมาณเลือด และสมองของลูกน้อย ซึ่งพบมากในเนื้อสัตว์ นม เนย ไข่ และถั่ว
- แคลเซียม: มีส่วนสำคัญในการช่วยสร้างกระดูกและฟันของเด็ก รวมถึงป้องกันโรคกระดูกพรุนของคุณแม่ อาหารที่มีแคลเซียมมาก ได้แก่ นม โยเกิร์ต เนย ผักใบเขียว ธัญพืช และไข่แดง เป็นต้น
- วิตามินซี: สารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟัน ช่วยในการเผาผลาญอาหาร และซ่อมแซมเนื้อเยื่อ วิตามินซีพบมากในผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว มะเขือเทศ แตงโม สตรอเบอร์รี มันฝรั่ง และพริก
- โฟลิก: สารอาหารที่ช่วยลดความเสี่ยงความพิการทางสมองของทารก คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ควรได้รับสารอาหารจำพวกโฟลิกให้เพียงพอที่ได้จากผักใบเขียว ขนมปัง ธัญพืช ตับ ถั่ว และผลไม้รสเปรี้ยว
- ธาตุเหล็ก: คนท้องควรได้รับธาตุเหล็กเพื่อเพิ่มเม็ดเลือดแดงให้คุณแม่ และช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง โดยธาตุเหล็กพบได้มากในผักใบเขียว เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่ว และธัญพืช
- ไอโอดีน: คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในช่วง 3 เดือนแรกควรได้รับไอโอดีนจากอาหารทะเล เพื่อป้องกันการเป็นคอหอยพอก
อาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทาน
อาหารที่คุณแม่ตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทาน มีดังนี้
1. เนื้อสัตว์สุก ๆ ดิบ ๆ
รวมอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบทุกประเภท เพราะอาจทำให้คุณแม่ได้รับเชื้อโรคต่าง ๆ ปวดท้อง และส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
2. ของหมักดอง
ในอาหารหมักดองอาจมีสารพิษหรือสีผสมอาหารที่ไม่ปลอดภัยสำหรับคนท้อง และอาจเป็นอันตรายต่อลูกน้อยในท้อง โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เพราะอาจเป็นสาเหตุให้โรคกำเริบขึ้นมาได้
3. น้ำอัดลม
เป็นเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและน้ำตาลสูงเป็นส่วนผสม หากคุณแม่ดื่มเข้าไปอาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้
4. คาเฟอีน
คาเฟอีนที่มีอยู่ในกาแฟหากกินในช่วงที่คุณแม่ต้องการพักผ่อน อาจทำให้คุณแม่มีอาการนอนไม่หลับ ทั้งยังกระตุ้นปัสสาวะจนคุณแม่ต้องลุกขึ้นไปเข้าห้องน้ำบ่อย ๆ รวมถึงคาเฟอีนยังส่งผลเสียกับลูกในท้องได้
5. อาหารที่มีน้ำตาลสูง
คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง หวานจัด อาหารมัน และรสจัด เพราะอาจทำให้คุณแม่เสี่ยงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
6. แอลกอฮอล์
คนท้องควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์ที่ลูกน้อยได้รับผ่านทางสายสะดืออาจทำให้การพัฒนาสมองของลูกน้อยหยุดชะงักได้
7. สมุนไพรต่าง ๆ
สมุนไพร ยาจีน และยาดอง เป็นเครื่องดื่มที่คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงตั้งครรภ์ หากคุณแม่ต้องการกินสมุนไพรเพื่อบำรุงร่างกาย หรือบรรเทาอาการต่าง ๆ แนะนำให้คุณแม่ปรึกษาคุณหมอก่อนทานสมุนไพร และยาจีนก่อนทุกครั้ง
7 เมนูอาหารสำหรับคนท้อง 1-3 เดือน ทำได้ง่าย ไม่มีเบื่อ
เมนูที่ 1: ไก่ผัดขิง
วัตถุดิบ
- อกไก่หั่น 40 กรัม
- ขิงอ่อนซอย 20 กรัม
- หอมใหญ่ 10 กรัม
- ต้นหอม 10 กรัม
- น้ำมัน 1 ช้อนชา
- ซีอิ๊วขาว ½ ช้อนชา
วิธีทำ
- ตั้งกระทะใส่น้ำมันลงไป รอจนน้ำมันเดือด
- ใส่ขิง ตามด้วยเนื้อไก่ จากนั้นผัดจนสุก
- ใส่หอมใหญ่ผัดจนสุก แล้วปรุงรสด้วยซีอิ๊วขาว หรือเติมรสชาติอื่น ๆ ได้ตามใจชอบ
- โรยต้นหอม แล้วตักใส่จาน
เมนูที่ 2: บรอกโคลีผัดกุ้ง
วัตถุดิบ
- บรอกโคลี 400 กรัม
- กุ้งสด 7-8 ตัว
- กระเทียมสับ 4 กลีบ
- น้ำมันหอย ¼ ช้อนโต๊ะ
- ซอสปรุงรส 1 ช้อนชา
- น้ำตาลทราย ½ ช้อนชา
- น้ำมัน 1 ช้อนชา
วิธีทำ
- ตั้งไฟใส่น้ำมันจนร้อน จากนั้นใส่กระเทียมสับลงไป ผัดจนหอม
- ใส่กุ้งที่แกะแล้วผัดจนพอสุก
- ใส่บรอกโคลีลงไป เติมน้ำเล็กน้อย จากนั้นปรุงรสด้วยซอสต่าง ๆ และน้ำตาลทราย แล้วผัดให้เข้ากัน
- ตักเสิร์ฟใส่จาน
เมนูที่ 3: ปลากะพงนึ่งมะนาว
วัตถุดิบ
- ปลากะพง 1 ตัว
- ตะไคร้ 5 ก้าน
- น้ำสต็อก 1 ถ้วย
- น้ำตาลปี๊บ 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำมะนาว 8 ช้อนโต๊ะ
- น้ำปลา 6 ช้อนโต๊ะ
- กระเทียมสับ 2 หัว
- พริกขี้หนู
- ผักชี
- ขึ้นฉ่าย
วิธีทำ
- นำปลาที่ใช้มีดบากเป็นแนวทแยงทั้ง 2 ด้านมายัดใส่ด้วยตะไคร้ แล้วนำปลาไปนึ่งประมาณ 10-15 นาที
- ทำน้ำซอสราดตัวปลา โดยเริ่มจากนำน้ำสต็อกไปตั้งไฟจนเดือด ใส่น้ำตาลปี๊บลงไปเคี่ยวจนน้ำตาลละลาย
- จากนั้นใส่กระเทียม พริก ผักชี ใส่ลงไปในน้ำสต็อก แล้วปรุงรสด้วยน้ำมะนาว น้ำปลา
- นำปลาใส่จาน แล้วราดด้วยน้ำซอสที่ปรุงไว้
เมนูที่ 4: แกงจืดผักกาดขาว
วัตถุดิบ
- ผักกาดขาว 1 ทัพพี
- หมูไม่ติดมัน 2 ช้อนโต๊ะ
- ขึ้นฉ่าย
- กระเทียม
- พริกไทยขาว
- ซีอิ๊วขาว
- น้ำปลา
- เกลือป่น
วิธีทำ
- นำหมูไปหมักกับพริกไทย ซีอิ๊วขาว และน้ำปลา คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วพักทิ้งไว้
- ตั้งไฟ ใส่น้ำซุป กระเทียม ลงไป รอจนกว่าน้ำจะเดือด
- ปั้นหมูเป็นชิ้นกลม ๆ ลงไปในหม้อ รอจนหมูสุกเล็กน้อย แล้วใส่เกลือลงไป
- ปรุงรสด้วยซอสตามใจชอบ จากนั้นใส่ผักกาดขาวลงไป
- โรยหน้าด้วยผักชีแล้วตักเสิร์ฟ
เมนูที่ 5: ผัดฟักทองใส่ไข่
วัตถุดิบ
- ฟักทองหั่นชิ้น 1 ลูกเล็ก (ประมาณ 27 ออนซ์)
- ไข่ไก่ 1 ฟอง
- น้ำมันพืช ½ ช้อนชา
- กระเทียมสับ
- ซอสปรุงรส
- น้ำตาลทราย
- พริกไทยป่น
- ใบโหระพา
วิธีทำ
- นำฟักทองที่หั่นแล้วไปลวกในน้ำร้อนให้พอนิ่ม
- ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันแล้วใส่กระเทียมสับลงไปผัดให้พอเหลือง
- ใส่ฟักทองลงไปผัด เติมน้ำสะอาดแล้วปิดฝากระทะรอจนกว่าฟักทองจะสุก
- ใส่ไข่ไก่ลงไปผัดให้สุก จากนั้นปรุงรสตามใจชอบ ใส่ใบโหระพา ก่อนจะตักใส่จาน
เมนูที่ 6: ผัดผักกวางตุ้ง
วัตถุดิบ
- ผักกวางตุ้ง ½ ถ้วย
- น้ำมันพืช 1½ ช้อนชา
- กระเทียมสับ
- ซอสหอยนางรม
- ซีอิ๊วขาว
- น้ำตาลทราย
วิธีทำ
- ตั้งกระทะใช้ไฟปานกลาง แล้วใส่น้ำมันลงไปรอจนน้ำมันร้อน
- ใส่กระเทียมลงไปเจียวจนเหลือง
- ใส่ผักกวางตุ้งลงไป แล้วปรุงรสด้วยซอสตามใจชอบ ผัดให้เข้ากันเล็กน้อย แล้วตักใส่จาน
เมนูที่ 7: ต้มยำกุ้ง
วัตถุดิบ
- กุ้ง 12 ตัว
- เห็ดฟาง ½ ถ้วย
- ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด
- พริกขี้หนู
- น้ำพริกเผา
- นมสด
- น้ำตาล
- มะนาว
- หอมแดง
- ผักชี
วิธีทำ
- นำหม้อมาตั้งไฟ แล้วใส่น้ำซุปรอจนเดือด
- จากนั้นใส่ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง รอจนน้ำซุปเดือด
- ใส่เห็ด แล้วตามด้วยกุ้ง ต้มไปสักพักรอจนกว่ากุ้งเปลี่ยนสี
- ใส่น้ำพริกเผาลงไป ตามด้วยนมสด จากนั้นใส่พริก และปรุงรสตามใจชอบ
- แล้วตักใส่ชาม ปิดท้ายโรยผักชี
เมนูเครื่องดื่มแนะนำสำหรับคนท้อง 1-3 เดือน
เครื่องดื่มสำหรับคนท้องในช่วงนี้ควรเป็นน้ำเปล่า น้ำจากผัก และน้ำผลไม้ โดยควรดื่มให้ได้วันละประมาณ 8 แก้ว เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในแต่ละวัน เนื่องจากร่างกายของคุณแม่ต้องการน้ำไปใช้ในการสร้างน้ำในเซลล์ของลูกน้อย ช่วยในการขับของเสีย เพิ่มปริมาณเลือดที่ช่วยเป็นตัวนำพาสารอาหารไปสู่ลูกน้อย ช่วยลดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ และยังทำให้ผิวของคุณแม่เกิดความชุ่มชื้นอีกด้วย ในกรณีที่คุณแม่ยังคงมีอาการแพ้ท้องอยู่ แนะนำให้ก่อนนอนคุณแม่ลองดื่มนม หรือโยเกิร์ต เพื่อลดอาการแพ้ท้อง โดยเฉพาะช่วงตื่นนอนตอนเช้า
เมนูอาหารคนท้อง 1-3 เดือน ที่ช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้
เมื่อคุณแม่มีอาการแพ้ท้อง สามารถใช้เมนูเหล่านี้บรรเทาอาการแพ้ท้อง ได้แก่
1. สลัดผลไม้
ในระหว่างที่มีอาการแพ้ท้องคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มัน หรืออาหารที่มีรสจัดจ้าน แล้วเลือกอาหารที่ช่วยให้ย่อยง่ายอย่างพวกสลัดหรือยำที่รสชาติไม่จัดมากแทน
2. น้ำขิง
คุณแม่สามารถดื่มน้ำสมุนไพรจำพวกน้ำขิง หรือชาขิงเพื่อเพิ่มความสดชื่น และลดอาการคลื่นไส้ลงได้
3. สมูทตี้ผลไม้
เครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยว เช่น น้ำมะนาว น้ำส้มจะช่วยบรรเทาอาการแพ้ท้องได้ดี
4. ผลไม้สด
หากคุณแม่รู้สึกอยากของดอง แนะนำให้เลือกทานเป็นผลไม้สดที่มีรสเปรี้ยวจะดีกว่า
แพ้ท้องจนกินอะไรไม่ได้ ทำยังไงดี
คุณแม่หลายคนมีอาการแพ้ท้องที่รุนแรงทำให้ไม่สามารถทานอาหารได้เหมือนอย่างเคย หากปล่อยไว้นานอาจส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่และลูกในท้องได้ ดังนั้น หากคุณแม่เริ่มรู้สึกว่าทานอาหารได้ยากอาจดื่มน้ำหวานจากผลไม้ เพื่อให้ร่างกายสดชื่นขึ้น พยายามหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ไม่ควรปล่อยให้ท้องว่าง และพยายามแบ่งอาหารออกเป็นมื้อย่อย ๆ แทน สำหรับคนท้องที่มีอาการแพ้ท้องที่รุนแรงมาก กินอะไรไม่ได้ กินแล้วอาเจียนออกมาหมด แม้แต่น้ำก็ดื่มไม่ได้ รวมถึงมีอาการหน้ามืด อ่อนเพลียมาก แนะนำให้คุณแม่รีบไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาในการดูแลตัวเองในช่วงของการแพ้ท้อง
ช่วง 1-3 เดือนแรก เป็นช่วงที่สำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกายทารกและพัฒนาการของอวัยวะต่าง ๆ และสมอง ของลูกน้อย คุณแม่จึงต้องใส่ใจกับเรื่องของอาหารอยู่เสมอ พยายามเน้นทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับทารกในครรภ์อย่างครบถ้วน และต้องมีความหลากหลายเพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารในการเสริมสร้างร่างกายและเติบโตอย่างแข็งแรงมีสารอาหารที่จำเป็นสำหรับทารกในครรภ์อย่างครบถ้วน และต้องมีความหลากหลาย เพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารในการเสริมสร้างร่างกายและเติบโตอย่างแข็งแรง
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- น้ำคร่ำ คืออะไร น้ำคร่ำรั่ว อาการแบบไหน สัญญาณใกล้คลอดที่ต้องรับมือ
- อาการท้องแข็งบ่อย ลูกโก่งตัวบ่อย อันตรายหรือไม่ ทำไมคุณแม่ต้องรู้
- เลือดล้างหน้าเด็กสีอะไร เลือดล้างหน้าเด็กสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์
- ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง คืออะไร อันตรายไหม สำหรับแม่ตั้งครรภ์
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- อาหารคนท้องไตรมาสแรก โภชนาการที่สำคัญสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- การผ่าคลอดและคลอดธรรมชาติ ต่างกันยังไง พร้อมขั้นตอนเตรียมผ่าคลอด
- ผ่าคลอดใช้เวลากี่นาที พร้อมข้อดี-ข้อเสีย คลอดเองกับผ่าคลอด
- แผลผ่าคลอดกี่วันหาย พร้อมวิธีดูแลรอยแผลผ่าคลอดให้ฟื้นตัวไว
- แผลฝีเย็บหลังคลอด แผลคลอดธรรมชาติ ดูแลยังไงให้ปลอดภัย
- หลังผ่าคลอดกินอะไรได้บ้าง คนผ่าคลอดห้ามกินอะไรบ้างช่วยให้แผลหายเร็ว
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมืออาการซึมเศร้าหลังคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- คุณแม่ตั้งครรภ์กับความเสี่ยงในไตรมาสแรก, โรงพยาบาลสมิติเวช
- สุขใจ ได้เป็นแม่, กรมอนามัย
- 10 ข้อห้ามที่ “คนท้อง” ต้องรู้, โรงพยาบาลสมิติเวช
- คนท้องห้ามกินอะไรบ้าง ?, โรงพยาบาลเพชรเวช
- ไก่ผัดขิง, โรงพยาบาลพระจอมเกล้า
- เมนูอาหารแม่ท้อง, โรงพยาบาลสมิติเวช
- โภชนาการหญิงตั้งครรภ์, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- สูตรผัดบร็อคโคลี่กุ้งสด, Hellokhunmor
- สูตรปลากะพงนึ่งมะนาว เมนูเพื่อสุขภาพสำหรับคนรักปลา, Hellokhunmor
- สูตรไก่ผัดขิง ทำง่ายได้ประโยชน์ ช่วยเจริญอาหาร, trueid
- แกงจืดเต้าหู้หมูสับ, วงใน
- สูตรผัดฟักทองใส่ไข่ อร่อยง่ายได้ประโยชน์, Hellokhunmor
- ผัดผักกวางตุ้งไต้หวันน้ำมันหอย, วงใน
- ต้มยำกุ้งน้ำข้น, วงใน
- วิธีรับมืออาการแพ้ท้อง ที่คุณแม่มือใหม่ต้องรู้, โรงพยาบาลบางปะกอก
อ้างอิง ณ วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง