ท้องกี่เดือนรู้เพศ คุณแม่รู้เพศตอนกี่เดือน ต้องรอนานแค่ไหน
ลูกน้อยในครรภ์จะเริ่มมีอวัยวะเพศที่สมบูรณ์ตอนอายุครรภ์ประมาณ 4 เดือน และจะสามารถเห็นได้ชัดด้วยการอัลตราซาวด์เมื่ออายุครรภ์ 5 เดือน คุณพ่อคุณแม่อาจจะรู้สึกนานกว่าจะทราบเพศตอนอายุครรภ์ 5 เดือน ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีการมากมายที่สามารถทำให้คุณพ่อคุณแม่ทราบเพศของลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ได้เร็วมากขึ้น โดยสามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์เลยทีเดียว
สรุป
- ลูกน้อยในครรภ์อายุครบ 4 เดือน จะมีอวัยวะเพศพัฒนาอย่างสมบูรณ์ แต่อาจจะยังไม่สามารถดูเพศได้อย่างชัดเจนด้วยวิธีอัลตราซาวด์ แต่จะทราบได้ด้วยวิธีการตรวจ NIPT ซึ่งสามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ขึ้นไป
- การตรวจการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ รวมถึงการตรวจหาความผิดปกติของโครโมโซม เพื่อหากลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม หรือโรคทางพันธุกรรมต่างๆ มีมากมายหลากหลายวิธี ทั้งการอัลตราซาวนด์ดูความหนาของต้นคอทารก การเจาะน้ำคร่ำ การตรวจ NIPT หรือการตรวจชิ้นรก เป็นต้น
- การตรวจอัลตราซาวด์ แบบ 2 มิติ 3 มิติ และ 4 มิติ จะแตกต่างกันไปตามลักษณะของภาพ โดยภาพแบบ 3 มิติจะเพิ่มเติมความลึกจากภาพแบบ 2 มิติ และแบบ 4 มิติจะเป็นการนำภาพ 3 มิติมาเรียงต่อเนื่องกันจนเป็นภาพเคลื่อนไหว
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- พัฒนาการของลูกน้อย ตามอายุครรภ์
- อยากรู้เพศของลูกน้อย ทำวิธีไหนได้บ้าง
- ประโยชน์ของการทำอัลตราซาวด์ ดูเพศของลูกน้อย
- ความแตกต่างการทำอัลตราซาวด์ดูเพศลูกแต่ละแบบ
ลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่จะมีการพัฒนาอวัยวะต่าง ๆ ตามพัฒนาการในแต่ละเดือน ในส่วนของอวัยวะเพศจะพัฒนาอย่างสมบูรณ์เมื่ออายุครบ 4 เดือน โดยคุณแม่ที่มีการฝากครรภ์กับคุณหมอจะสามารถขอให้คุณหมอช่วยอัลตราซาวด์ เพื่อดูความสมบูรณ์แข็งแรงของลูกในครรภ์ และอาจขอให้คุณหมอช่วยดูเพศได้อย่างชัดเจน เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 12-16 สัปดาห์ขึ้นไป
พัฒนาการของลูกน้อย ตามอายุครรภ์
การสร้างอวัยวะ และการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ของลูกในแต่ละอายุครรภ์ มีรายละเอียดดังนี้
- เดือนที่ 1 ลูกจะเริ่มมีการพัฒนาสมอง ระบบประสาท และไขสันหลัง
- เดือนที่ 2 มีการเจริญเติบโตของอวัยวะแขนขา เสียงหัวใจเต้นดังชัดเจน ศีรษะมีขนาดใหญ่ยังไม่สมส่วนมากนัก
- เดือนที่ 3 เริ่มมีการเคลื่อนไหวแขนและขาได้ หัวใจมีการพัฒนาเต็มที่ ศีรษะยังมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกับช่วงตัว
- เดือนที่ 4 ลูกน้อยเริ่มเติบโตมากยิ่งขึ้น อวัยวะต่าง ๆ รวมถึงอวัยวะเพศพัฒนาเกือบสมบูรณ์
- เดือนที่ 5 ลูกเริ่มมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น จนอาจทำให้คุณแม่เริ่มรู้สึกรับรู้ได้ในช่วงอายุครรภ์นี้ เริ่มมีเส้นขน เส้นผม
- เดือนที่ 6 เริ่มมีการลืมตาได้ ปอดทำงานได้ดี ได้ยินเสียง คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นพูดคุยกับลูกในครรภ์
- เดือนที่ 7 มีการผลิตไขมันปกคลุมผิวหนังจากต่อมไขมัน ทำให้ผิวเริ่มมีความชุ่มชื้นมากขึ้น
- เดือนที่ 8 ปอดทำงานได้เกือบสมบูรณ์ ผิวหนังมีสีแดงระเรื่อ
- เดือนที่ 9 ลูกน้อยในครรภ์เติบโตอย่างสมบูรณ์ ปอดทำงานได้อย่างเต็มที่ ผิวหนังมีไขมันลดน้อยลง
อยากรู้เพศของลูกน้อย ทำวิธีไหนได้บ้าง
- ทำอัลตราซาวด์ คือ การตรวจครรภ์โดยใช้คลื่นเสียง ซึ่งความถี่ประมาณ 3.5 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ที่มีความปลอดภัยต่อลูกในครรภ์ รวมถึงตัวคุณแม่เอง
- การเจาะน้ำคร่ำ ใช้สำหรับการตรวจโครโมโซมเพื่อหาความผิดปกติ เพื่อหากลุ่มโรคทางพันธุกรรมต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม เหมาะสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งนับถึงวันกำหนดคลอด หรือมีประวัติทางครอบครัวเป็นดาวน์ซินโดรม ซึ่งมีความเสี่ยงในการถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ ถึง 20 สัปดาห์
- การตรวจ NIPT หรือการตรวจ Non-Invasive Prenatal Testing คือ การตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซม เพื่อหาความเสี่ยงกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม กลุ่มอาการเอ็ดเวิร์ด เป็นต้น ซึ่งสามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 10 สัปดาห์ขึ้นไป โดยการตรวจ NIPT มีความปลอดภัยต่อลูกน้อยในครรภ์ และลดความเสี่ยงของการเจาะน้ำคร่ำได้
- การเจาะชิ้นเนื้อรก เนื่องจากเซลล์จากรกในครรภ์ ถือเป็นเซลล์ต้นกำเนิดเดียวกันกับทารกในครรภ์ ดังนั้นจึงสามารถนำชิ้นรกมาตรวจเพื่อหาความผิดปกติทางโครโมโซม หรือความพิการแต่กำเนิดได้ โดยสามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 11-13 สัปดาห์
ประโยชน์ของการทำอัลตราซาวด์ ดูเพศของลูกน้อย
การตรวจครรภ์ด้วยวิธีอัลตราซาวด์ ไม่เพียงแต่ดูการเจริญเติบโต และดูเพศของลูกน้อยในครรภ์ แต่ยังสามารถวัดความยาวของทารกในครรภ์เพื่อยืนยันอายุครรภ์ที่แท้จริง และสามารถคำนวณวันคลอดได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังช่วยตรวจคัดกรองเบื้องต้นของกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม ซึ่งสามารถวัดจากความหนาของต้นคอทารก และตรวจตำแหน่งรกและปริมาณน้ำคร่ำ รวมถึงการเจริญเติบโตของกระดูกทารก ในช่วงที่ลูกน้อยมีการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ในการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3
ความแตกต่างการทำอัลตราซาวด์ดูเพศลูกแต่ละแบบ
- 2 มิติ ภาพที่ได้จะเป็นภาพขาวดำ ลักษณะเป็นภาพแนวตัดขวางทีละภาพ อาจมองไม่เห็นใบหน้าของลูกในครรภ์ได้อย่างชัดเจน
- 3 มิติ พัฒนาลักษณะของภาพจาก 2 มิติ โดยมีการประมวลผลด้วยระบบคอมพิวเตอร์ที่ซับซ้อน ทำให้ภาพมีความลึกมากขึ้น เห็นใบหน้าและอวัยวะของทารกในครรภ์ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
- 4 มิติ เป็นการนำภาพถ่ายแบบ 3 มิติมาเรียงต่อเนื่องกันจนทำให้เกิดภาพเคลื่อนไหว ซึ่งทำให้เห็นลักษณะการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ การแสดงอาการต่างๆ เช่น ยิ้ม หาว ดูดนิ้ว เป็นต้น
พัฒนาการลูกน้อยในแต่ละช่วงอายุครรภ์ คงเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่คอยเฝ้าติดตาม หมั่นสังเกต เพราะอยากให้ลูกน้อยเติบโตอย่างสมบูรณ์แข็งแรงที่สุด ทั้งการพัฒนาของอวัยวะแต่ละส่วน รวมถึงการทราบเพศของลูกล่วงหน้าก่อนกำหนดคลอด ทั้งนี้ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันมีหลากหลายวิธีการ แตกต่างกันตามความเหมาะสม ทั้งในส่วนของค่าใช้จ่าย อายุครรภ์ ผลลัพธ์ที่ได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรมีการฝากครรภ์โดยทันทีเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์และปรึกษาคุณหมออย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- น้ำคร่ำ คืออะไร น้ำคร่ำรั่ว อาการแบบไหน สัญญาณใกล้คลอดที่ต้องรับมือ
- อาการท้องแข็งบ่อย ลูกโก่งตัวบ่อย อันตรายหรือไม่ ทำไมคุณแม่ต้องรู้
- เลือดล้างหน้าเด็กสีอะไร เลือดล้างหน้าเด็กสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์
- ตั้งครรภ์ มีเลือดออก ไม่ปวดท้อง คืออะไร อันตรายไหม สำหรับแม่ตั้งครรภ์
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- อาหารคนท้องไตรมาสแรก โภชนาการที่สำคัญสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากอะไร พร้อมวิธีรับมืออาการซึมเศร้าหลังคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- อยากรู้เพศลูกตั้งแต่แรกเพื่อเตรียมความพร้อม, โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต
- พัฒนาการของทารกในครรภ์ตลอด 9 เดือน เป็นอย่างไรบ้างนะ, โรงพยาบาลพญาไท
- ตอบข้อสงสัยคุณแม่...เรื่องอัลตราซาวด์, โรงพยาบาลพญาไท
- การเจาะน้ำคร่ำ ค้นหาความพิการโรคดาวน์ซินโดรม, โรงพยาบาลวิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล อ้อมน้อย
- การตัดชิ้นเนื้อรก, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
- อัลตราซาวด์ และการตรวจความผิดปกติของทารกในครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
- ไขข้อสงสัย อัลตราซาวด์ทารกในครรภ์ แต่ละแบบต่างกันอย่างไร, โรงพยาบาลนครธน
อ้างอิง ณ วันที่ 3 มกราคม 2567