เสริมแคลเซียมคนท้องจำเป็นไหม แม่ท้องควรเริ่มกินเมื่อไหร่
โภชนาการสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ เป็นสิ่งสำคัญที่ควรให้ความเอาใจใส่ คุณแม่จึงควรทานอาหารที่มีประโยชน์ และได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน โดยเฉพาะแคลเซียม แร่ธาตุที่มีความจำเป็นมากกับร่างกายของคุณแม่และทารกในครรภ์ เพื่อช่วยให้โครงสร้างร่างกายแข็งแรงทั้งกระดูกและฟัน ช่วยในการหดและคลายตัวของหลอดเลือด ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อหัวใจและเส้นประสาท
สรุป
- แคลเซียม คือแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากกับร่างกาย ร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมจากอาหารที่กิน เพื่อช่วยสร้างร่างกาย กระดูก และฟันของเรานั้นให้แข็งแรง แคลเซียมช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ การหดและคลายตัวของหลอดเลือด ส่งสัญญาณภายในเซลล์ ช่วยควบคุมความดันโลหิต ป้องกันการเป็นตะคริว และช่วยการแข็งตัวของเลือด
- แคลเซียม 99 เปอร์เซ็นต์ จะอยู่ในกระดูกและฟัน ส่วนอีก 1 เปอร์เซ็นต์ แคลเซียมจะอยู่ในเลือดเพื่อทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะ เนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น การทำงานของระบบประสาท การเต้นของหัวใจ
- คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับแคลเซียมในปริมาณ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน เท่ากับนม 6-7 แก้ว ปริมาณแคลเซียมสูงสุดไม่ควรเกิน 2,500 มิลลิกรัมต่อวัน
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- แคลเซียมคนท้อง มีประโยชน์อย่างไร
- คนท้องควรได้รับแคลเซียมเท่าไหร่ต่อวัน
- แคลเซียมคนท้อง ควรเริ่มกินตอนไหน
- เสริมแคลเซียมคนท้อง ควรกินอาหารชนิดไหน
- คนท้องจำเป็นต้องกินวิตามินเสริมแคลเซียมไหม
- คนท้องกินวิตามินเสริมแคลเซียมตามแพทย์สั่ง ต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง
- คุณแม่อยากกินแคลเซียมคนท้อง ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
- นมเสริมแคลเซียมคนท้อง กินได้บ่อยแค่ไหน
แคลเซียมคนท้อง มีประโยชน์อย่างไร
แคลเซียมคือแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากกับร่างกายของมนุษย์ ซึ่งแคลเซียมมีความจำเป็นและควรได้รับอย่างเพียงพอ ร่างกายจะดูดซึมจากอาหารที่กิน เพื่อช่วยสร้างร่างกาย กระดูก และฟันของเรานั้นให้แข็งแรง นอกจากนั้นแล้วแคลเซียมมีส่วนช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ การหดและคลายตัวของหลอดเลือด ส่งสัญญาณภายในเซลล์ การหลั่งฮอร์โมน ช่วยควบคุมความดันโลหิต ป้องกันการเป็นตะคริว และช่วยการแข็งตัวของเลือด แคลเซียม 99 เปอร์เซ็นต์ จะอยู่ในกระดูกและฟัน ส่วนอีก 1 เปอร์เซ็นต์ แคลเซียมจะอยู่ในเลือดเพื่อทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะ เนื้อเยื่อต่าง ๆ เช่น การเต้นของหัวใจ การทำงานของระบบประสาท หน้าที่หลักของแคลเซียมคือรักษาความแข็งแรงของกระดูกและฟัน ส่งสัญญาณไปยังเซลล์และเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย เพื่อให้กล้ามเนื้อและหลอดเลือดหดและคลายตัว
ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับแคลเซียมจากอาหารให้เพียงพอในแต่ละวัน ซึ่งแคลเซียมจะดูดซึมได้ดีขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ แคลเซียมนั้นมีประโยชน์สำหรับคนท้องและทารกในครรภ์ ดังนี้
- ประโยชน์ต่อคุณแม่ ช่วยในการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ การหดและคลายตัวของหลอดเลือด ช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง ป้องกันการเกิดตะคริว ป้องกันการเกิดโรคกระดูกพรุน ควบคุมความดันโลหิต
- ประโยชน์ต่อลูก ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของทารกในครรภ์ ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อหัวใจและเส้นประสาททารก
คนท้องควรได้รับแคลเซียมเท่าไหร่ต่อวัน
คุณแม่ตั้งครรภ์ควรได้รับแคลเซียมในปริมาณ 1,200 มิลลิกรัมต่อวัน เท่ากับนม 6-7 แก้ว ปริมาณแคลเซียมสูงสุดไม่ควรเกิน 2,500 มิลลิกรัมต่อวัน การรับแคลเซียมมากเกินไป จะรบกวนการดูดซึมแร่ธาตุเหล็กและสังกะสี อาจส่งผลให้ปริมาณแคลเซียมสูงขึ้นในปัสสาวะคนท้อง เสี่ยงทำให้เกิดนิ่วในไต
แคลเซียมคนท้อง ควรเริ่มกินตอนไหน
แคลเซียม มีความจำเป็นและสำคัญมากกับร่างกายของคนท้อง คนท้องควรได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอเมื่อมีการตั้งครรภ์ และขณะตั้งครรภ์ ดังนั้น การทานอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมที่มากพอ ก็จะช่วยทำให้คนท้องได้รับแคลเซียมในปริมาณที่เพียงพอแล้วในแต่ละวัน
เสริมแคลเซียมคนท้อง ควรกินอาหารชนิดไหน
คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรรับแคลเซียมจากอาหารให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อช่วยในการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง ลดความเสี่ยงการเกิดโรคกระดูกพรุน ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อหัวใจและเส้นประสาทของทารก ช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันของทารกในครรภ์ให้แข็งแรง อาหารที่เป็นแหล่งแคลเซียม มีดังนี้
- นม เป็นแหล่งแคลเซียมที่ดีที่สุด เนื่องจากมีปริมาณแคลเซียมที่สูง และยังมีฟอสฟอรัสในปริมาณที่เหมาะสม
- ถั่วเหลือง เป็นอาหารที่ไม่ควรมองข้าม นอกจากมีแคลเซียมแล้ว ยังมีโฟเลต ซึ่งจำเป็นสำหรับคนท้อง
- งา เช่น งาขาว หรือ งาดำ เป็นเมล็ดพืชที่อุดมไปด้วยน้ำมัน เป็นแหล่งโปรตีนสารต้านอนุมูลอิสระ
- ไข่ เป็นแหล่งแคลเซียมที่หาง่าย มีประโยชน์มาก อุดมไปด้วยสารอาหารต่าง ๆ
- ปลาตัวเล็ก สัตว์น้ำที่กินได้ทั้งกระดูกและเปลือก เช่น กุ้งฝอย ปลาซิว ปลากะตัก ปลาไส้ตัน
- ชีส เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมสัตว์ มีอัตราส่วนของฟอสฟอรัสและแคลเซียมที่เหมาะสม ช่วยส่งเสริมให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดี
- เต้าหู้ เช่น เต้าหู้ขาว เต้าหู้เหลือง ช่วยลดไขมัน ส่งเสริมการทำงานของระบบประสาทเกี่ยวกับความทรงจำ
คนท้องจำเป็นต้องกินวิตามินเสริมแคลเซียมไหม
วิตามินเสริมแคลเซียมนั้นปลอดภัยสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่ควรคำนึงให้ดีว่าในแต่ละวันนั้นทานแคลเซียมมากเกินไปหรือไม่ เพราะการทานแคลเซียมมากเกินไป อาจส่งผลข้างเคียงได้ เช่น ท้องผูก ท้องอืด หากคุณแม่พิจารณาแล้วว่า ทานอาหารที่มีแคลเซียมไม่เพียงพอ แพ้แลคโตส แพ้นม หรือทานมังสวิรัติ ร่างกายรับแคลเซียมไม่เพียงพอ ก็สามารถรับวิตามินเสริมแคลเซียมได้ ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทานวิตามินเสริมแคลเซียม ไม่ควรซื้อวิตามินเสริมแคลเซียมมาทานเอง
คนท้องกินวิตามินเสริมแคลเซียมตามแพทย์สั่ง ต้องระวังเรื่องอะไรบ้าง
คนท้องกินวิตามินเสริมแคลเซียม ควรระมัดระวังในการกินวิตามินเสริมแคลเซียมร่วมกับยาบางชนิด เพราะยาจะทำให้เกิดการดูดซึมได้น้อยลง จึงไม่ควรซื้อวิตามินเสริมแคลเซียมทานเอง ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนกินวิตามินเสริมแคลเซียม ยาบางชนิดไม่ควรกินร่วมกับวิตามินเสริมแคลเซียม เช่น
- ยาลดความดันโลหิต เช่น Calcium Channel Blockers
- ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียกลุ่มฟลูออโรควิโนโลน เตตราไซคลีน เพราะยาจะทำให้ถูกดูดซึมน้อยลง ควรกินวิตามินเสริมแคลเซียมให้ห่างจากยาอื่น ๆ อย่างน้อย 2 ชั่วโมง
- ยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต
- ฮอร์โมนไทรอยด์สังเคราะห์
คุณแม่อยากกินแคลเซียมคนท้อง ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
คนท้องที่มีโรคประจำตัวที่ต้องกินยาเป็นประจำ หรือมีอาการเจ็บป่วยที่ต้องทานยา ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนกินวิตามินเสริมแคลเซียม ไม่ควรซื้อวิตามินเสริมแคลเซียมทานเอง เพราะการกินวิตามินเสริมแคลเซียมมักมีผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย คือ อาการคนท้องท้องผูก อึดอัดแน่นท้อง หรือแม้แต่การกินวิตามินเสริมแคลเซียมในปริมาณที่มากเกินไป อาจส่งผลเสียกับร่างกายได้ เช่น รบกวนการดูดซึม สังกะสีและธาตุเหล็ก มีปริมาณแคลเซียมสูงในปัสสาวะ เสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไต
นมเสริมแคลเซียมคนท้อง กินได้บ่อยแค่ไหน
“นมสำหรับคนท้อง ” สามารถทานได้ทุกวัน เพราะนมเป็นแหล่งแคลเซียมที่ดีที่สุด นอกจากมีจำนวนแคลเซียมที่สูงแล้ว ยังมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสในปริมาณที่เหมาะสม ช่วยส่งเสริมให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดี นมแต่ละชนิดจะมีคุณค่าโภชนาการและแคลเซียมที่แตกต่างกัน เช่น นมวัว 200 มิลลิลิตร จะมีแคลเซียม 204.67 มิลลิกรัม, นมถั่วเหลืองหวานน้อย 250 มิลลิลิตร มีแคลเซียม 187.31 มิลลิกรัม, นมถั่วเหลืองผสมงาดำ 250 มิลลิลิตร มีแคลเซียม 220.27 มิลลิกรัม ควรเลือกดื่มนมจืดมากกว่านมปรุงแต่ง เลือกชนิดหวานน้อย หรือไม่ใส่น้ำตาล
หากต้องการดื่มนมจากพืช ควรเลือกสูตรที่เสริมแคลเซียม และควรอ่านฉลากโภชนาการก่อนเลือกดื่มทุกครั้ง ว่าได้รับปริมาณแคลเซียมเท่าไหร่ แม้ว่าแคลเซียมจะดีสำหรับคนท้อง แต่หากทานแคลเซียมมากเกินไป อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ได้ เช่น ท้องผูก คุณแม่ท้องควรดื่มนมจืดวันละ 2 แก้ว และนอกจากดื่มนมแล้ว คุณแม่ท้องควรได้รับอาหารหลากหลายให้ครบตามหลักคุณค่าโภชนาการ
แคลเซียม เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นและสำคัญมากกับร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ แคลเซียมไม่ได้มีแต่เพียงแค่ในนมเท่านั้น ยังมีอาหารหลากหลายชนิดที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ที่มีปริมาณเพียงพอต่อร่างกายของคุณแม่ตั้งครรภ์ ฉะนั้น ควรคำนึงถึงปริมาณแคลเซียมในแต่ละวันที่ได้รับ ให้อยู่ในระดับที่พอดีไม่มากจนเกินไป เพราะการทานแคลเซียมมาก ๆ อาจส่งผลข้างเคียงได้
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- ไข่ตก คืออะไร นับวันไข่ตกยังไงให้แม่นยำ พร้อมอาการไข่ตกที่ควรรู้
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ ก่อนคุณแม่ครบกำหนดคลอด
- 10 อาการคนท้องระยะแรก อาการเตือนคนเริ่มท้องที่คุณแม่สังเกตได้
- ตั้งครรภ์มีเลือดออกไม่ปวดท้อง อันตรายไหม สำหรับแม่ตั้งครรภ์
- ท้อง 1 สัปดาห์ ตรวจเจอไหม อาการคนท้อง 1 สัปดาห์ ที่คุณแม่ต้องรู้
- อาการท้องไม่รู้ตัว คุณแม่สังเกตได้อย่างไร พร้อมวิธีตรวจครรภ์
- เลือดล้างหน้าเด็กสีอะไร เลือดล้างหน้าเด็กสัญญาณแรกของการตั้งครรภ์
- วิธีดูลักษณะท้องของคนท้อง พุงคนท้องระยะแรกมองออกเลยไหม
- มีเพศสัมพันธ์หลังเป็นประจำเดือน 1 วันจะท้องไหม หลังมีเมนกี่วันถึงท้อง
- หลังปฏิสนธิกี่วันถึงจะรู้ว่าท้อง วิธีตรวจตั้งครรภ์เร็วสุดกี่วัน
อ้างอิง:
- แคลเซียม กินอย่างไรให้ดีต่อร่างกาย?, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- แคลเซียมในเลือดผิดปกติ อันตรายกว่าที่คิด, โรงพยาบาลเปาโล
- โภชนาการแม่ท้องที่ต้องรู้, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- How Much Calcium Do Pregnant Woman Need?, what to expect
- แคลเซียม กินอย่างไร…ให้ได้ประโยชน์ ทำไมต้องทานแคลเซียม, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- อาหารบำรุงครรภ์ ที่คนท้องควรรับประทานมีอะไรบ้าง, HelloKhunmor
- งาดำ งาขาว กับประโยชน์ทางสุขภาพ, Pobpad
- "เต้าหู้...มากประโยชน์", โรงพยาบาลสำโรงการแพทย์
- ดื่มนมถูกวิธีมีประโยชน์ต่อร่างกาย, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
- ดื่มนมให้เหมาะสมตามวัย ดื่มเท่าไรจึงเพียงพอ, Pobpad
อ้างอิง ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2567