น้ำคร่ำน้อย เกิดจากอะไร น้ำคร่ำน้อยตอนใกล้คลอด อันตรายไหม

น้ำคร่ำน้อย เกิดจากอะไร น้ำคร่ำน้อยตอนใกล้คลอด อันตรายไหม

21.10.2024

น้ำคร่ำ มีหน้าที่สำคัญหลายอย่างต่อการเจริญเติบโตของทารก ทั้งยังช่วยป้องกันการกระทบกระเทือนที่อาจเป็นอันตรายให้ทารกในครรภ์ แต่หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ หรือที่เรียกว่า “ภาวะน้ำคร่ำน้อย” ก็อาจส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารกได้ ภาวะน้ำคร่ำน้อยคืออะไร มีสาเหตุ และอันตรายต่อทารกในครรภ์อย่างไรบ้าง มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะน้ำคร่ำน้อยอย่างละเอียด เพื่อเตรียมตัวรับมือกัน

headphones

PLAYING: น้ำคร่ำน้อย เกิดจากอะไร น้ำคร่ำน้อยตอนใกล้คลอด อันตรายไหม

อ่าน 5 นาที

 

สรุป

  • ภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios) คือการตั้งครรภ์ที่มีปริมาณน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติอยู่ที่ 100-300 ซีซี ส่วนน้ำคร่ำปกติจะต้องมีปริมาณไม่น้อยกว่า 500 ซีซี
  • ภาวะน้ำคร่ำน้อย ปริมาณน้ำคร่ำจะค่อย ๆ ลดลงจนครบกำหนดคลอด ทำให้โพรงมดลูกแคบลงกว่าปกติ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของทารก และอัตราการเต้นของหัวใจลดลง อาจต้องรีบผ่าคลอดในบางราย
  • ภาวะน้ำคร่ำน้อยเสี่ยงต่อการเกิดความพิการของทารกในครรภ์ ซึ่งอาจมีอวัยวะพิการ เช่น ใบหน้า แขน ขา มือ และเท้าผิดรูป และความพิการที่พบได้บ่อยในทารกหลังคลอด คือ ภาวะเท้าปุก

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ภาวะน้ำคร่ำน้อย คืออะไร

ภาวะน้ำคร่ำน้อย (Oligohydramnios) คือการตั้งครรภ์ที่มีปริมาณน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ ซึ่งน้ำคร่ำปกติจะต้องมีปริมาณไม่น้อยกว่า 500 ซีซี ในคุณแม่ท้องที่มีภาวะน้ำคร่ำน้อยจะมีปริมาณน้ำคร่ำอยู่ที่ 100-300 ซีซี ในบางรายอาจลดลงจนเหลือเพียง 2-3 ซีซี ซึ่งน้อยกว่าค่าปกติมาก น้ำคร่ำ โดยทั่วไปมีการสร้างเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40 ซีซี ต่อวันจนถึง 1000 ซีซี เมื่อครบกำหนดคลอด เมื่อปริมาณน้ำคร่ำลดลงเรื่อย ๆ จนครบกำหนดคลอด จะทำให้มดลูกจะแคบลง ส่งผลทำให้ทารกต้องเจริญเติบโตในมดลูกที่แคบกว่าปกติ อัตราการเต้นของหัวใจลดน้อยลง จึงมีผลต่อพัฒนาการของสมองของทารก

 

น้ำคร่ำน้อย เกิดได้จากหลายสาเหตุ

น้ำคร่ำ มีความสำคัญกับทารกในครรภ์เป็นอย่างมาก ทุกครั้งที่ทารกมีการกลืนน้ำคร่ำ จะช่วยพัฒนาระบบทางเดินอาหาร การหายใจของทารก และพัฒนาปอดให้แข็งแรง แต่ในคุณแม่ท้องบางรายที่มีปัญหาเรื่องน้ำคร่ำน้อย อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่

  • ถุงน้ำคร่ำเกิดการรั่วซึม
  • รกเสื่อมสภาพ
  • รกลอกตัวก่อนกำหนด
  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ทารกมีความผิดปกติของโครโมโซม
  • ระบบทางเดินปัสสาวะเกิดการอุดตัน
  • มีภาวะโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และโรคความดันโลหิตสูง
  • อายุครรภ์เกินกำหนดคลอด

 

คุณแม่จะรู้ได้ยังไงว่ากำลังมีภาวะน้ำคร่ำน้อย

 

คุณแม่จะรู้ได้ยังไงว่ากำลังมีภาวะน้ำคร่ำน้อย

น้ำคร่ำน้อย เป็นภาวะที่อันตรายทั้งกับคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ ภาวะน้ำคร่ำน้อยเบื้องต้นจะทราบได้จากการมาตรวจติดตามพัฒนาการทารกในครรภ์ทุกเดือนตามที่แพทย์นัด หากตรวจพบว่าคุณแม่มีภาวะน้ำคร่ำน้อยกว่าปกติ จะต้องได้รับการดูแลและเฝ้าระวังอาการอย่างใกล้ชิดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อลดโอกาสทารกในครรภ์เสียชีวิต นอกจากนี้คุณแม่ยังสามารถสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตัวเอง หากคุณแม่มีอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที

 

น้ำคร่ำน้อยตอนใกล้คลอด อันตรายแค่ไหน ส่งผลยังไงกับลูก

  1. ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ภาวะน้ำคร่ำน้อยเสี่ยงทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 90 ถ้าเกิดตอนอายุครรภ์น้อย ๆ
  2. เสี่ยงพิการ ภาวะน้ำคร่ำน้อยตอนใกล้คลอด เสี่ยงต่อการเกิดความพิการของอวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ เช่น ใบหน้า แขน ขา มือ และเท้าผิดรูป
  3. พัฒนาการผิดปกติ ภาวะน้ำคร่ำน้อย ที่เกิดจากความผิดปกติของทารก เช่น โครโมโซมผิดปกติ อวัยวะผิดปกติ เช่นการไม่พัฒนาของไต หรือการขาดออกซิเจน ขาดเลือด และสารอาหารเรื้อรังมาเป็นเวลานานขณะที่อยู่ในครรภ์ อาจส่งผลต่อพัฒนาการการเจริญเติบโตที่ช้าของทารกในครรภ์ได้
  4. หัวใจและปอดหยุดทำงาน หรือทำงานผิดปกติ ภาวะน้ำคร่ำน้อยส่งผลทำให้มดลูกมีพื้นที่แคบลง ทำให้ปอดแฟบ และมีอัตราการเต้นของหัวใจลดลง มีผลต่อพัฒนาการสมองของทารก เนื่องจากได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ

 

น้ำคร่ำน้อย เสี่ยงคลอดก่อนกำหนดจริงไหม

น้ำคร่ำน้อย ถือเป็นภาวะครรภ์เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ส่งผลกระทบต่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ ในคุณแม่ท้องที่มีปริมาณน้ำคร่ำน้อยกว่า 500 ซีซี ในอายุครรภ์ที่ 32-36 สัปดาห์ จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารก ทำให้ปอดแฟบ และหัวใจเต้นน้อยลง แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดก่อนกำหนดคลอด

 

การดูแลภาวะน้ำคร่ำน้อย

ภาวะน้ำคร่ำน้อย ทางการแพทย์จะรักษาด้วยวิธีการเติมน้ำคร่ำทางหน้าท้องเข้าไปในมดลูก ซึ่งการเติมน้ำคร่ำแพทย์จะพิจารณาให้ในช่วงอายุครรภ์ 24-34 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ การเติมน้ำคร่ำจะช่วยลดการกดทับของสายสะดือ ที่ไปกดทับหัวใจของทารกจนทำให้มีอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ และช่วยลดภาวการณ์ขาดออกซิเจนของทารกในช่วงแรกเกิด ทั้งนี้การรักษาจะต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

 

ภาวะน้ำคร่ำน้อย เป็นภาวะที่หญิงตั้งครรภ์ควรให้ความสำคัญ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้ หากคุณแม่ตั้งครรภ์สงสัยว่าตนเองมีภาวะน้ำคร่ำน้อย ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง การดูแลสุขภาพอย่างใกล้ชิดและการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสให้ทารกเติบโตอย่างแข็งแรง

 

ทั้งนี้เมื่อคลอดลูกแล้วคุณแม่สามารถช่วยให้ลูกน้อยมีพัฒนาการที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นด้วยการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะในนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด เช่น ดีเอชเอ วิตามิน แคลเซียม และสฟิงโกไมอีลิน ซึ่งช่วยในพัฒนาการสมอง สติปัญญา และการเจริญเติบโตของลูก

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ผ่าคลอด

 


อ้างอิง:

  1. 6 ภาวะครรภ์เสี่ยง!! ที่คุณแม่ต้องระวัง, โรงพยาบาลพญาไท
  2. น้ำคร่ำ (Amniotic fluid), คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  3. ความผิดปกติของน้ำคร่ำ, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  4. Polyhydramnios ภาวะน้ำคร่ำมาก, โรงพยาบาลสมิติเวช
  5. รู้จักกับภาวะน้ำคร่ำน้อย อันตรายสูงในหญิงตั้งครรภ์, โรงพยาบาลบางปะกอก
  6. ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับน้ำคร่ำ, POBPAD
  7. การเติมน้ำคร่ำทางหน้าท้อง, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

อ้างอิง ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2567

บทความแนะนำ

อยากได้ลูกสาวทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกสาว

อยากได้ลูกสาวทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกสาว

อยากได้ลูกสาว ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ทำยังไงได้บ้าง อยากมีลูกสาวด้วยวิธีธรรมชาติทำได้จริงไหม พร้อมวิธีคำนวณวันตกไข่ นับวันตกไข่ ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์

มดลูกหย่อนอันตรายไหม คุณแม่ควรรับมือยังไง เมื่อมดลูกหย่อน

มดลูกหย่อนอันตรายไหม คุณแม่ควรรับมือยังไง เมื่อมดลูกหย่อน

มดลูกหย่อน คืออะไร อาการมดลูกหย่อนเป็นแบบไหน มีทั้งหมดกี่ระยะ เกิดขึ้นกับช่วงวัยไหนบ้าง รักษาให้หายขาดได้ไหม พร้อมวิธีป้องกันมดลูกหย่อนในผู้หญิง

ฝังยาคุมดีไหม ได้ผลกี่เปอร์เซ็นต์ ฝังยาคุมมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

ฝังยาคุมดีไหม ได้ผลกี่เปอร์เซ็นต์ ฝังยาคุมมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

ฝังยาคุมเพื่อคุมกำเนิดได้ผลดีแค่ไหน การฝังยาคุมกำเนิด เหมาะกับใคร มีข้อดีข้อเสียยังไง ฝังยาคุมอยู่ได้นานกี่ปี ปลอดภัยไหม มีผลข้างเคียงหรือเปล่า

คนท้องเท้าบวมหลังคลอด คุณแม่มือเท้าบวม รับมือยังไงดี

คนท้องเท้าบวมหลังคลอด คุณแม่มือเท้าบวม รับมือยังไงดี

คนท้องเท้าบวมหลังคลอด อาการมือเท้าบวมหลังคลอด เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง คุณแม่เท้าบวมหายเองได้ไหม หากหายช้าจะเป็นอันตรายหรือเปล่า พร้อมวิธีรับมือ

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก