คุณแม่ท้อง 6 เดือน หัวลูกอยู่ตรงไหน ตั้งครรภ์ 6 เดือน ที่แม่ต้องรู้

คุณแม่ท้อง 6 เดือน ลูกอยู่ตรงไหน ตั้งครรภ์ 6 เดือน ที่แม่ต้องรู้

19.02.2024

เรื่องราวของคุณแม่ท้อง 6 เดือนหรือตั้งครรภ์ 24-27 สัปดาห์ เป็นช่วงที่สำคัญมาก เพราะกำลังจะเข้าสู่ช่วงไตรมาสที่ 3 และเป็นอีกช่วงที่สำคัญเพราะลูกน้อยในครรภ์จะเริ่มมีพัฒนาการทางการได้ยิน เจ้าตัวเล็กจะได้ยินเสียงของคุณแม่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีเรื่องที่ต้องน่าระวังเพราะคุณแม่จะเริ่มกินได้มากขึ้นเพราะอาการแพ้ท้องนั้นน้อยลงแล้ว ทำให้เป็นอีกช่วงเดือนที่สำคัญมากทีเดียว

headphones

PLAYING: คุณแม่ท้อง 6 เดือน ลูกอยู่ตรงไหน ตั้งครรภ์ 6 เดือน ที่แม่ต้องรู้

อ่าน 9 นาที

 

สรุป

  • อายุครรภ์ 6 เดือนคือช่วงปลายของไตรมาสที่ 2 เป็นสำคัญเพราะลูกน้อยในครรภ์จะสร้างอวัยวะภายใน ระบบต่าง ๆให้สมบูรณ์ เริ่มมีพัฒนาการทางการได้ยิน เจ้าตัวเล็กจะได้ยินเสียงของคุณแม่
  • ลูกจะมีความยาวประมาณ 30 -35 เซนติเมตรและน้ำหนักประมาณ 600 กรัม คุณแม่จะรู้สึกว่าลูกดิ้นมากขึ้น เพราะมีการขยับตัวมากขึ้น จากการได้ยินเสียงหัวใจของแม่และเสียงรอบข้าง
  • แม่ท้อง 6 เดือนจะทานได้เยอะขึ้น เพราะอาการแพ้ท้องก็จะเริ่มน้อยลง แต่ก็ไม่ควรตามใจปาก ควรทานอาหารที่มีประโยชน์ สารอาหารครบหมู่ และพลังงานเพียงพอเพื่อให้ลูกในท้องมีน้ำหนักที่พอดี รวมถึงออกกำลังกายเบา ๆ บ้าง น้ำหนักควรค่อย ๆ เพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 1-1.5 กิโลกรัม

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

อายุครรภ์ 6 เดือนคือช่วงปลายของไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงที่มีความสำคัญไม่แพ้การตั้งครรภ์ช่วงเดือนอื่น ๆ เราจึงรวบรวมเคล็ดลับในการดูแลตัวเองของคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ 6 เดือน มาไว้ในบทความนี้แล้ว รวมถึงข้อสงสัยต่าง ๆ ที่คุณแม่อาจจะยังไม่รู้ ให้ได้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง เพื่อทั้งคุณแม่และลูกน้อยที่จะมีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจไปด้วยกัน

 

อายุครรภ์ 6 เดือน ขนาดท้องจะใหญ่แค่ไหนกันนะ?

คุณแม่ตั้งครรภ์ 6 เดือนหรือ ท้อง 26 สัปดาห์ จะมีขนาดไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับรูปร่างของคุณแม่ก่อนจะตั้งครรภ์และปัจจัยของลูกในท้องด้วย เช่น ถ้าท้องแฝด ก็จะมีขนาดครรภ์ใหญ่กว่าปกติ หรือในคุณแม่ที่มีรูปร่างเล็ก ผอมบาง ชั้นใขมันหน้าท้องน้อยอยู่แล้ว ก็จะมีขนาดท้องที่ไม่ใหญ่มากตามไปด้วย เพราะฉะนั้นอย่ากังวลใจไป ส่วนขนาดของเจ้าตัวเล็กในท้องนั้นจะมีความยาวประมาณ 30-35 ซม. น้ำหนักทารกในครรภ์ 6 เดือน จะประมาณ 600 กรัม

 

ท้อง 6 เดือน ลูกจะดิ้นบ่อยมาก เพราะอะไร จะเป็นปัญหาไหม?

เป็นอีกหนึ่งข้อสงสัยของเมื่อคุณแม่ที่เข้าสู่ช่วงอายุครรภ์ 4-6 เดือน ช่วงนี้เจ้าตัวเล็กจะมีการขยับตัวมากขึ้น จนทำให้สามารถรับรู้ถึงการเคลื่อนไหวได้อย่างชัดเจนและบ่อยมากขึ้น หรือคุณแม่จะรู้สึกว่าลูกเริ่มดิ้นมากขึ้นนั่นเอง โดยส่วนใหญ่ลูกดิ้นมากนั้น จะไม่ถือว่าผิดปกติ เพราะลูกจะมีช่วงตื่นและช่วงหลับเช่นเดียวกับเรา ในช่วงที่ตื่นก็อาจจะรู้สึกว่าดิ้นมาก ซึ่งจะไม่เป็นอันตราย อันนี้คุณแม่ไม่ต้องกังวลไป

 

แต่หากคุณแม่กังวล ให้ลองนับจำนวนการดิ้นของลูกที่รู้สึกได้ ซึ่งไม่ควรต่ำกว่า 10 ครั้ง ต่อเวลา 2 ชั่วโมง หากน้อยกว่านี้ควรลองนับใหม่อีกครั้งหนึ่งในวันเดียวกัน และถ้ายังไม่ถึง 10 ครั้งอีกก็ควรปรึกษาแพทย์

 

อายุครรภ์ 6 เดือน พัฒนาการของลูกน้อยเป็นอย่างไรบ้าง?

มาดูเจ้าตัวเล็กกันดีกว่า ช่วงที่คุณแม่ท้อง 6 เดือนนี้ ลูกจะมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตรและน้ำหนักประมาณ 600 กรัม ปอดเริ่มทำงาน เปลือกตาเริ่มเปิดได้ มีลายนิ้วมือนิ้วเท้า คุณแม่ท้อง 6 เดือนนี้ ลูกจะโตช้ากว่าในช่วงไตรมาสแรกเพื่อให้อวัยวะภายในร่างกาย เช่น ปอด ระบบทางเดินอาหาร และระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายพัฒนามากขึ้น ภาพอัลตราซาวด์ลูกอาจจะดูผอมเพราะมีไขมันใต้ผิวหนังไม่มาก ลูกจะได้ยินเสียงหัวใจแม่ และเสียงอื่น ๆ รอบข้าง และอาจจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการกระทำของแม่ด้วย

 

คุณแม่รู้ไหม? ลูกน้อย อายุครรภ์ 6 เดือน สามารถได้ยินเสียงแล้วนะ

พัฒนาการที่สำคัญในช่วงอายุครรภ์ 6 เดือน คือ ลูกจะได้ยินเสียงหัวใจของคุณแม่ เสียงอื่น ๆ รอบตัว เช่น เสียงเพลง เสียงดนตรี เสียงพูดคุยที่ดัง และอาจจะมีการตอบสนองต่อการกระทำของแม่ เช่น ถ้าคุณแม่อยู่ในที่เสียงดัง ลูกก็อาจจะดิ้นมากขึ้น เป็นช่วงเวลาทองคุณพ่อและคุณแม่จะเริ่มพูดคุยกับลูกในท้องได้

 

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรส่งเสริมสิ่งแวดล้อมให้เป็นบวก เพิ่มเสียงเพลงให้มากขึ้น หรือพูดเรื่องดี ๆให้กันบ่อยขึ้น เล่านิทาน ร้องเพลง ฟังเพลงที่ผ่อนคลาย หรือคุยกับลูกบ่อย ๆ ได้ในช่วงนี้ หลีกเลี่ยงการทะเลาะ ด่าทอ พูดจาร้าย ๆ ใส่กัน หรืออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เสียงดัง เพราะเสียงเหล่านั้นส่งผลถึงทั้งสภาพจิตใจของทั้งคุณแม่เอง และพัฒนาการของลูกน้อยด้วย อย่าลืมว่าลูกได้ยินสิ่งที่เราได้ยินเช่นกัน

 

เคล็ดลับการดูแลตัวเอง ที่คุณแม่ท้อง 6 เดือนต้องรู้

  1. ทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นทานโปรตีน ผัก ผลไม้ กินผักผลไม้ที่มีใยอาหารมากขึ้น เลือกผักที่หลากหลาย ผลไม้รสไม่หวานจัด งดของหวาน และของที่มีไขมันสูง
  2. กินให้ช้าลง เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน และแบ่งทานหลายมื้อ เช่น อาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และ อาหารว่าง 2 มื้อ ลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อลง เพื่อป้องกันกรดไหลย้อน
  3. เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก แต่ปรุงรสน้อย และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด
  4. ดื่มน้ำให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงน้ำอัดลม เพราะน้ำตาลสูง หากต้องการดื่มน้ำผลไม้ แนะนำเป็นผลไม้ที่คั้นเองเพื่อความสะอาดและลดความเสี่ยงสารเคมีปนเปื้อน
  5. ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดินเร็ว เล่นเวทเบา ๆ การปั่นจักรยานอยู่กับที่ แต่ไม่ควรออกกำลังกายในท่านอนหงายเพราะอาจทำให้มดลูกไปกดทับเส้นเลือด จนทำให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกน้อยลง อาจทำให้เกิดอันตรายต่อลูกในท้องได้
  6. ควบคุมดูแลน้ำหนัก น้ำหนักที่เหมาะสมควรเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละประมาณครึ่งกิโลกรัม ไม่ควรเกินหนึ่งกิโลกรัม (วัดโดยให้ชั่งน้ำหนักด้วยเครื่องชั่งเดียวกัน เวลาใกล้เคียงกัน) แต่ห้ามใช้วิธีการอดอาหาร หรือลดน้ำหนัก

 

โภชนาการที่ดีเพื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ 6 เดือน

ช่วงนี้คุณแม่ท้อง 6 เดือน จะทานได้เยอะขึ้น เพราะอาการแพ้ท้องก็จะเริ่มน้อยลง แต่ก็ไม่ควรตามใจปาก หรือรับประทานเป็น 2 เท่าเผื่อลูกในท้อง แต่ควรเลือกอาหารจำพวกโปรตีน และรับประทานอาหารจำพวกแป้งและไขมันอย่างพอดี รวมทั้งต้องได้รับสารอาหารครบหมู่ และพลังงานเพียงพอเพื่อให้ลูกในท้องมีน้ำหนักที่พอดี มีพัฒนาการทั้งทางร่างกายและสมองสมบูรณ์แข็งแรง

 

ในช่วงตั้งครรภ์ 6 เดือน ซึ่งอยู่ในไตรมาส 2 ลูกในท้องจะเข้าสู่ช่วงของการขยายขนาดอวัยวะต่าง ๆ รวมไปถึงการพัฒนาสมองมากกว่าไตรมาสแรกถึง 4 เท่า คุณแม่จึงต้องการสารอาหารมากกว่าเดิมถึง 300 แคลอรีต่อวัน พร้อมกับเน้นธาตุเหล็กเพื่อช่วยบำรุงเลือด เพื่อส่งออกซิเจนและสารอาหารไปยังลูกในท้อง และสารอาหารที่มีธาตุไอโอดีน ที่ช่วยลดความเสี่ยงความผิดปกติทางสมอง ซึ่งไม่จำเป็นต้องทานอาหารเสริมเพิ่ม เลือกทานเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ตับ กุ้ง หอย ปลา ผักใบเขียว เช่น ผักโขม คะน้า ตำลึง ก็ได้รับไอโอดีนเช่นกัน

 

ช่วงนี้จำเป็นที่จะต้องคุมเรื่องของน้ำหนักด้วย โดยปกติในช่วงอายุครรภ์ 6 เดือน น้ำหนักควรค่อย ๆ เพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 1-1.5 กิโลกรัม รวมแล้วน้ำหนักควรเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 อีก 4-5 กิโลกรัม

 

ช่วงอายุครรภ์ 6 เดือน เป็นอีกช่วงหนึ่งที่สำคัญทั้งกับตัวคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์ เป็นก้าวแรกที่เจ้าตัวเล็กเริ่มเข้าถึงโลกภายนอก นอกจากพัฒนาการทางร่างกายที่ในช่วงนี้จะสร้างอวัยวะภายในหลาย ๆ ส่วนให้สมบูรณ์แล้ว ยังเป็นอีกช่วงทองของพัฒนาการทางสมองและภาษาที่สร้างได้ตั้งแต่ในครรภ์อีกด้วย คุณแม่จึงต้องดูแลตัวเองให้มากขึ้นทั้งทางด้านโภชนาการ ร่างกาย และจิตใจ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ไตรมาส 3 ที่เป็นไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ต่อไป

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. พัฒนาการของทารกในครรภ์ตลอด 9 เดือน เป็นอย่างไรบ้างนะ, โรงพยาบาลพญาไท
  2. 9 เดือน มหัศจรรย์พัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
  3. การดิ้นของทารกในครรภ์ สัญญาณที่คุณแม่ควรรู้, โรงพยาบาลบางปะกอก
  4. คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ในแต่ละไตรมาส, โรงพยาบาลนครธน
  5. เทคนิคการกินของคุณแม่ตั้งครรภ์...ที่จะได้สารอาหารให้ลูกน้อยเต็มๆ, โรงพยาบาลพญาไท
  6. การดูแลลูกน้อยตั้งแต่ในครรภ์, โรงพยาบาลแพทย์รังสิต
  7. คุณแม่ตั้งครรภ์คุมน้ำหนักอย่างไรให้พอดี, โรงพยาบาลบางปะกอก
  8. กินอาหารอย่างไร...เมื่อเป็นโรคกรดไหลย้อน, โรงพยาบาลเทพธารินทร์
  9. การออกกำลังกายในหญิงตั้งครรภ์, โรงพญาบาลคามิลเลียน

อ้างอิง ณ วันที่ 5 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

น้ำคาวปลายังไม่หมดกินน้ำเย็นได้มั้ย คุณแม่ผ่าคลอดกินน้ำเย็นได้ไหม

น้ำคาวปลายังไม่หมดกินน้ำเย็นได้มั้ย คุณแม่ผ่าคลอดกินน้ำเย็นได้ไหม

น้ำคาวปลายังไม่หมดกินน้ำเย็นได้มั้ย ผ่าคลอดกินน้ำเย็นได้ไหม คุณแม่กินน้ำเย็นแล้วน้ำนมจะหดจริงหรือเปล่า พร้อมเคล็ดลับดูแลตัวเองหลังคุณแม่ผ่าคลอด

คนท้องไปงานศพได้ไหม เพราะอะไร ทำไมคนท้องไปงานศพไม่ได้

คนท้องไปงานศพได้ไหม เพราะอะไร ทำไมคนท้องไปงานศพไม่ได้

คนท้องไปงานศพได้ไหม เพราะอะไรคนท้องถึงไปงานศพไม่ได้ หากคนท้องไปงานศพจะเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงมีความเชื่อว่าคนท้องไม่ควรไปงานศพ ไปทำความเข้าใจพร้อมกัน

อารมณ์คนท้องระยะแรกเป็นแบบไหน คนท้องอารมณ์ขึ้น ๆ ลงๆ รับมืออย่างไร

อารมณ์คนท้องระยะแรกเป็นแบบไหน คนท้องอารมณ์ขึ้น ๆ ลงๆ รับมืออย่างไร

อารมณ์คนท้องระยะแรกเป็นแบบไหน คุณแม่ท้องอารมณ์ขึ้นๆ ลง เกิดจากอะไรได้บ้าง คุณพ่อมือใหม่มีวิธีรับมือกับอารมณ์คนท้องระยะแรกของคุณแม่ได้อย่างไร ไปดูกัน

คลอดก่อนกําหนด 7 เดือน คลอดก่อนกำหนด 32 สัปดาห์ อันตรายไหม

คลอดก่อนกําหนด 7 เดือน คลอดก่อนกำหนด 32 สัปดาห์ อันตรายไหม

คลอดก่อนกําหนด 7 เดือน เกิดจากอะไร คุณแม่คลอดก่อนกำหนด 32 สัปดาห์ ลูกมีโอกาสรอดแค่ไหน อันตรายกับลูกในครรภ์หรือเปล่า พร้อมสัญญาณเตือนการคลอดก่อนกำหนด

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก