คลอดก่อนกําหนด 7 เดือน คลอดก่อนกำหนด 32 สัปดาห์ อันตรายไหม

คลอดก่อนกําหนด 7 เดือน คลอดก่อนกำหนด 32 สัปดาห์ อันตรายไหม

24.08.2024

คุณแม่ทุกคนย่อมอยากประคับประคองลูกน้อยให้อยู่ในครรภ์แม่จนครบกำหนดคลอด แต่หากลูกน้อยคลอดก่อนกำหนด 7 เดือน หรือคลอดก่อนกำหนด 32 สัปดาห์ ซึ่งระบบต่าง ๆ ในร่างกายยังไม่สมบูรณ์ ทำให้คุณแม่มีความกังวลว่า ลูกจะรอดไหม อันตรายหรือเปล่า สาเหตุมาจากอะไรบ้าง ป้องกันได้หรือไม่ และควรดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดอย่างไร บทความนี้มีคำตอบให้คุณแม่ได้ทราบกัน

headphones

PLAYING: คลอดก่อนกําหนด 7 เดือน คลอดก่อนกำหนด 32 สัปดาห์ อันตรายไหม

อ่าน 11 นาที

 

สรุป

  • ทารกคลอดก่อนกำหนดเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากสุขภาพของคุณแม่ ความผิดปกติในมดลูก และสาเหตุจากทารกในครรภ์
  • ทารกคลอดก่อนกำหนด 7 เดือน มีโอกาสรอดชีวิต แต่มักเผชิญกับปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากปอดที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ซึ่งส่งผลต่ออวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายไปด้วย
  • ทารกคลอดก่อนกำหนด 7 เดือน มักมีพัฒนาการล่าช้า เนื่องจากสมองยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ กระตุ้นพัฒนาการด้วยเสียงดนตรีเบา ๆ พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ ใช้สีและแสงสว่างอย่างเหมาะสม
  • การดูแลตัวเองให้ดีระหว่างตั้งครรภ์ จะช่วยลดความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ และพัฒนาการของทารก

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

คลอดก่อนกำหนด เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

สาเหตุที่ทำให้คลอดก่อนกำหนด อาจเกิดได้ทั้งจากสุขภาพของคุณแม่ ความผิดปกติในมดลูก และสาเหตุจากทารกในครรภ์ ดังนี้

1. สาเหตุจากสุขภาพของคุณแม่

  • โรคประจำตัว คุณแม่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไต ส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิต กระทบต่อการเจริญเติบโตของทารก และอาจทำให้มดลูกบีบตัวก่อนกำหนด
  • ความเครียด ส่งผลต่อฮอร์โมน ทำให้อารมณ์คุณแม่แปรปรวน และกระตุ้นให้มดลูกบีบตัว จนอาจเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้
  • ประวัติการคลอดก่อนกำหนด หากคุณแม่เคยคลอดก่อนกำหนด มักมีความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นซ้ำ แพทย์จะประเมินและวางแผนดูแลเป็นพิเศษ
  • การติดเชื้อและการอักเสบ แบคทีเรียจากช่องคลอดลุกลามสู่กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กระตุ้นให้มดลูกบีบตัวก่อนกำหนด
  • พฤติกรรมเสี่ยง การทำงานหนัก สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมของคุณแม่ เพิ่มความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดได้

 

2. สาเหตุจากความผิดปกติในมดลูก

  • ปากมดลูกสั้น ในกรณีที่คุณแม่มีปากมดลูกสั้นกว่า 2-2.5 เซนติเมตร กล้ามเนื้อปากมดลูกอ่อนแอ ไม่สามารถรั้งทารกไว้ได้ จึงมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้ง่าย
  • มีเนื้องอกที่มดลูก เนื้องอกขวางการขยายตัวของมดลูก กระตุ้นให้มดลูกบีบตัวก่อนกำหนด เป็นสาเหตุให้คลอดก่อนกำหนดได้
  • รูปร่างของมดลูกที่ผิดปกติ มดลูกมีรูปร่างผิดรูปแต่กำเนิด ส่งผลต่อการรองรับทารก เป็นสาเหตุหนึ่งของการคลอดก่อนกำหนด
  • การติดเชื้อในถุงน้ำคร่ำหรือภาวะถุงน้ำคร่ำอักเสบ ทำให้เชื้อโรคผ่านจากช่องคลอดไปสู่มดลูก ทารกอาจติดเชื้อได้

 

3. สาเหตุจากทารกในครรภ์

  • ทารกเสียชีวิตในครรภ์ ทารกตายก่อนคลอด อาจเกิดจากความผิดปกติของทารก ภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ หรือแม่ประสบอุบัติเหตุระหว่างตั้งครรภ์
  • ทารกมีความผิดปกติหรือพิการ ในระหว่างตั้งครรภ์ ทารกอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลต่อสุขภาพ หรือการเจริญเติบโตของทารก แพทย์จำเป็นที่จะต้องประเมินและวางแผนการรักษา อาจต้องผ่าคลอดก่อนกำหนดเพื่อช่วยชีวิตทารกเอาไว้
  • ครรภ์แฝด การตั้งครรภ์แฝดทำให้มดลูกขยายตัวเร็ว เพิ่มโอกาสคลอดก่อนกำหนด โดยกว่าร้อยละ 50 ของการตั้งครรภ์แฝดมักจะคลอดก่อนกำหนด แพทย์จะดูแลอย่างใกล้ชิด

 

คลอดก่อนกําหนด 7 เดือน ลูกมีโอกาสรอดไหม

ทารกที่คลอดก่อนกำหนด 7 เดือน หรือช่วงอายุครรภ์ 28-34 สัปดาห์ กลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ เนื่องจากอวัยวะต่าง ๆ ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ในอดีตสมาคมสูตินรีแพทย์เคยกำหนดไว้ว่า หากอายุครรภ์น้อยกว่า 28 สัปดาห์ การคลอดออกมานั้น ถือเป็นการแท้ง แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทารกคลอดก่อนกำหนดในกลุ่มนี้ มีโอกาสรอดชีวิตเพิ่มมากขึ้น

 

คลอดก่อนกำหนด 32 สัปดาห์ เป็นอันตรายกับลูกไหม

ทารกคลอดก่อนกำหนดในอายุครรภ์ต่ำกว่า 34 สัปดาห์ มักเผชิญกับปัญหาสุขภาพมากมาย โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ เนื่องจากปอดที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ซึ่งส่งผลต่ออวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายตามไปด้วย
อันตรายที่พบได้บ่อยในทารกคลอดก่อนกำหนด ได้แก่

  • ปอด ขาดสารลดแรงตึงผิว ทำให้ถุงลมปอดแฟบ ทารกหายใจลำบาก อาจต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
  • หัวใจ หลอดเลือดแดงใหญ่ที่เชื่อมต่อกับหลอดเลือดปอด มีเลือดไหลเวียนผิดปกติ ทำให้ทารกหายใจหอบ และหัวใจล้มเหลวได้
  • ระบบประสาท มีเลือดออกในสมอง ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดเปราะบาง มักพบในทารกน้ำหนักน้อยกว่า 1,500 กรัม
  • ระบบย่อยอาหาร ลำไส้เปราะบาง ย่อยและดูดซึมอาหารได้ไม่ดี ต้องให้นมทีละน้อย ๆ และอาจต้องให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำด้วย
  • ดวงตา จอประสาทตาพัฒนาไม่สมบูรณ์ อาจส่งผลต่อการมองเห็นของทารก
  • ระบบหู ทารกมีความเสี่ยงที่จะบกพร่องทางการได้ยิน พบได้บ่อยในทารกที่มีปัญหาหลายอย่าง
  • ระบบภูมิคุ้มกัน ติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากภูมิคุ้มกันทำงานได้ไม่เต็มที่

 

เด็กคลอดก่อนกําหนด 7 เดือน จะสมบูรณ์แค่ไหน

เด็กคลอดก่อนกำหนด 7 เดือน ต้องเผชิญกับการปรับตัวสู่โลกภายนอกมากกว่าทารกคลอดตามกำหนด ยิ่งในกรณีที่คลอดก่อนกำหนดมาก (อายุครรภ์ 32-33 สัปดาห์) หรือมีน้ำหนักตัวแรกคลอดน้อย (ต่ำกว่า 1.5 กิโลกรัม) ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการ และอาจมีปัญหาสุขภาพเพิ่มมากขึ้น ตามสัดส่วนของระยะการตั้งครรภ์ที่น้อยลง

 

ทารกคลอดก่อนกำหนดมักมีพัฒนาการล่าช้า เนื่องจากระบบสมองเจริญเติบโตเร็วที่สุด ในช่วง 6-7 สัปดาห์สุดท้ายของการตั้งครรภ์ การคลอดก่อนกำหนดส่งผลต่อการพัฒนาสมองที่ยังไม่สมบูรณ์

 

อย่างไรก็ตาม แพทย์จะคอยติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะด้านการได้ยิน และการมองเห็นของทารก รวมถึงส่งเสริมพัฒนาการ โดยแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ กระตุ้นพัฒนาการด้วยเสียงดนตรีเบา ๆ พูดคุยกับลูกบ่อย ๆ ใช้สีและแสงสว่างอย่างเหมาะสม

 

เด็กคลอดก่อนกําหนด 7 เดือน เสี่ยงมีโรคประจำตัวไหม

เด็กคลอดก่อนกำหนด 7 เดือน มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพเรื้อรัง และโรคประจำตัวมากกว่าทารกคลอดตามกำหนด จึงเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้ ดังนี้

  • การเจริญเติบโต ทารกคลอดก่อนกำหนดมักตัวเล็ก น้ำหนักตัวน้อย อวัยวะต่าง ๆ พัฒนาไม่สมบูรณ์ ส่งผลต่อการเจริญเติบโตในระยะยาว
  • โรคเรื้อรัง เมื่อโตขึ้น ทารกคลอดก่อนกำหนด มีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น เบาหวาน ไขมันสูง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง อัมพฤกษ์ มากกว่าเด็กทั่วไป ส่งผลต่อโอกาสการเสียชีวิต และความพิการ

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้แม่ท้องต้องคลอดก่อนกำหนด

 

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้แม่ท้องต้องคลอดก่อนกำหนด

การคลอดก่อนกำหนด เป็นภาวะที่น่ากังวลสำหรับคุณแม่และลูกน้อย เพราะอาจส่งผลต่อสุขภาพและพัฒนาการของทารกในระยะยาว คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรทราบถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด เพื่อที่คุณแม่จะได้เข้าใจและดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้อง โดยปัจจัยเสี่ยงที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • อายุ คุณแม่ที่อายุน้อยกว่า 18 ปี หรือมากกว่า 35 ปี มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดมากกว่า
  • โรคประจำตัว คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ล้วนเพิ่มความเสี่ยง
  • มีประวัติการคลอดก่อนกำหนด หากคุณแม่เคยคลอดก่อนกำหนดมาก่อน มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดในครรภ์ถัดไป
  • ภาวะมดลูกผิดปกติ มดลูกขยายตัวมากเกินไปจากการตั้งครรภ์แฝด หรือมีน้ำคร่ำมากกว่าปกติ ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยง
  • การติดเชื้อ การติดเชื้อในช่องคลอด ทางเดินปัสสาวะ หรืออวัยวะอื่น ๆ ทำให้กระเพาะปัสสาวะอักเสบ และมีโอกาสเจ็บท้องคลอดก่อนกำหนด
  • พฤติกรรมเสี่ยง คุณแม่ที่ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ใช้สารเสพติด ฟันผุ และมีโรคเหงือกขณะตั้งครรภ์
  • ความผิดปกติของทารกในครรภ์ หากลูกน้อยมีความผิดปกติของโครโมโซมหรือมีภาวะติดเชื้อ คุณแม่มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้

 

สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนด ที่คุณแม่ต้องรู้

คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรทราบสัญญาณเตือนที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนด เพื่อรีบมาพบแพทย์โดยด่วน ดังนี้

  • การบีบตัวของมดลูกที่ถี่ขึ้น แรงขึ้น โดยปกติหลัง 30 สัปดาห์ มดลูกจะมีการบีบตัวบ้าง แต่ไม่บ่อย ไม่ถี่ และไม่สม่ำเสมอ หากมีการบีบตัวมากกว่าปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
  • น้ำใส ๆ ไหลออกจากช่องคลอด หรือที่เรียกว่า น้ำเดิน เกิดจากถุงน้ำคร่ำแตกหรือรั่ว มีน้ำคร่ำไหลออกมา มักเกิดตอนใกล้คลอด แต่บางกรณีอาจนำไปสู่การคลอดก่อนกำหนด
  • มูกปนเลือดออกจากช่องคลอด มูกนี้เป็นมูกที่อุดปากช่องคลอด แสดงว่าปากมดลูกมีแนวโน้มที่จะเปิด เป็นสัญญาณว่าใกล้คลอดแล้ว
  • ลูกดิ้นน้อยลง อาจเกิดจากภาวะการขาดออกซิเจน กระตุ้นให้เกิดการเจ็บครรภ์ก่อนกำหนด
  • บวมและความดันโลหิตสูง พบได้ในคุณแม่ที่มีโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือตั้งครรภ์แฝด อาจเป็นสัญญาณของภาวะครรภ์เป็นพิษ
  • ปวดหลังช่วงล่างหรือบริเวณเอว อาจจะเป็น ๆ หาย ๆ หรือเป็นต่อเนื่อง แม้จะเปลี่ยนท่าทาง


ดูแลตัวเองให้ดี ช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้

การตั้งครรภ์ เป็นช่วงเวลาที่สำคัญทั้งคุณแม่และลูกน้อย การดูแลตัวเองให้ดีจะช่วยลดความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ และพัฒนาการของทารก

1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์

  • คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ให้ครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้ ธัญพืช โปรตีน และไขมันดี
  • หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารหมักดอง อาหารแปรรูป และอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง

 

2. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน
  • ปรับเวลานอนหลับให้สม่ำเสมอ เข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลา

 

3. ดื่มน้ำเยอะ ๆ

  • ดื่มน้ำเปล่าสะอาด อย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และน้ำหวาน

 

4. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์

  • คุณแม่ตั้งครรภ์ควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 10-15 กิโลกรัม หรือเฉลี่ยประมาณ 12.5 กิโลกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดัชนีมวลกายของคุณแม่ก่อนตั้งครรภ์ด้วย
  • หลีกเลี่ยงการเพิ่มน้ำหนักมากเกินไป หรือมีน้ำหนักน้อยเกินไป

 

5. หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก และยกของหนัก

  • หลีกเลี่ยงการทำงานที่หนักเกินไป หรือยกของหนัก
  • งดออกกำลังกายหนัก หรือกีฬาที่มีความเสี่ยง

 

6. หลีกเลี่ยงความเครียด

  • หาวิธีผ่อนคลายความเครียด เช่น การนั่งสมาธิ โยคะ ฟังเพลง หรือทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ
  • พูดคุยกับคนใกล้ชิด หรือปรึกษาแพทย์ หากรู้สึกเครียดมาก

 

7. ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ติดตามอาการ

  • ฝากครรภ์กับแพทย์ และไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจสุขภาพ ติดตามพัฒนาการของทารก และรับคำแนะนำ

 

วิธีดูแลเด็กคลอดก่อนกําหนด 7 เดือน ที่คุณแม่ควรรู้

การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด มีความสำคัญและท้าทายเป็นพิเศษ เนื่องจากระบบต่าง ๆ ของร่างกายยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน คุณแม่จึงควรใส่ใจ และดูแลอย่างใกล้ชิด

1. หลีกเลี่ยงการพาเด็กไปเจอผู้คนเยอะ ๆ

หลีกเลี่ยงการพาเด็กออกไปในที่สาธารณะ เช่น ห้างสรรพสินค้า เพราะภูมิคุ้มกันของเด็กยังไม่แข็งแรง เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

 

2. ให้ลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก

ให้ลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สะอาด อากาศถ่ายเทสะดวก ทำความสะอาดบ้าน เปลี่ยนผ้าปูที่นอน และดูแลความสะอาดของอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นประจำ

 

3. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลเด็กที่มีความอ่อนโยน

เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลเด็กแรกเกิดที่มีความอ่อนโยน ปราศจากน้ำหอมและสารเคมี เพื่อลดการระคายเคืองและการแพ้

 

4. ให้ลูกกินนมแม่ เพื่อรับสารอาหารเต็มที่

นมแม่ เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารกว่า 200 ชนิด และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน คุณแม่ควรเรียนรู้วิธีการให้นมลูก ทั้งการเข้าเต้าและการปั๊มนม เพื่อให้ลูกได้รับนมแม่อย่างเพียงพอ

 

5. หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของลูก

เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน คุณแม่ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น การหายใจลำบาก ตัวเขียว ซึม อาเจียน หรือถ่ายเหลว รวมทั้งจดบันทึกการกิน การนอน การขับถ่าย และพฤติกรรมของลูก เพื่อติดตามสุขภาพ และแจ้งแพทย์เมื่อพบสิ่งผิดปกติ

 

การคลอดก่อนกำหนด เป็นภาวะที่อาจป้องกันได้จากการหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ คุณแม่ควรดูแลตัวเองอย่างใกล้ชิด หมั่นสังเกตอาการผิดปกติ และปรึกษาแพทย์เมื่อมีข้อสงสัย สำหรับการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด 7 เดือน ต้องอาศัยความอดทน ความเอาใจใส่ และความร่วมมือจากทุกคนในครอบครัว แนะนำให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะในนมแม่มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด มีจุลินทรีย์สุขภาพหลายชนิด เช่น บีแล็กทิส (B. lactis) และพรีไบโอติกมากมาย เช่น 2’FL ซึ่งจุลินทรีย์สุขภาพ บีแล็กทิส (B. lactis) เป็นหนึ่งในจุลินทรีย์สุขภาพในกลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียม (Bifidobacterium) และ 2’FL ยังเป็นพรีไบโอติก ที่สามารถส่งต่อเพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่ลูกน้อย ลูกน้อยจะได้เติบโตอย่างแข็งแรงและปลอดภัย

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้! สัญญาณเตือนแบบไหน..ที่เสี่ยง ‘คลอดก่อนกำหนด’, โรงพยาบาลพญาไท
  2. การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด, โรงพยาบาลพญาไท
  3. ปัญหาของเด็กที่คลอดก่อนกำหนดจะตัวเหลือง หายใจลำบาก ต้องทำอย่างไร, โรงพยาบาลวิภาวดี
  4. เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการ คลอดก่อนกำหนด, โรงพยาบาลสมิติเวช
  5. คุณแม่ตั้งครรภ์ มีโอกาสเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด, โรงพยาบาลกรุงเทพ
  6. สัญญาณเตือนคลอดก่อนกำหนด ที่คุณแม่ต้องระวัง, โรงพยาบาลวิชัยเวช
  7. การดูแลตนเองเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด, โรงพยาบาลพญาไท
  8. คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ในแต่ละไตรมาส, โรงพยาบาลนครธน

อ้างอิง ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2567

บทความแนะนำ

ลูกแฝด เกิดจากอะไร ตั้งครรภ์แฝดเสี่ยงอันตรายจริงไหมต้องระวังอะไรบ้าง

ลูกแฝด เกิดจากอะไร ตั้งครรภ์แฝดเสี่ยงอันตรายจริงไหมต้องระวังอะไรบ้าง

ลูกแฝด เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่อยากมีลูกแฝดด้วยวิธีธรรมชาติ ต้องทำอย่างไร ตั้งครรภ์แฝดอันตรายไหม มีเรื่องอะไรบ้างที่คุณแม่ต้องระวังเป็นพิเศษ

ทำกิ๊ฟ คืออะไร การทำกิ๊ฟ GIFT ต่างจากการทำเด็กหลอดแก้วไหม

ทำกิ๊ฟ คืออะไร การทำกิ๊ฟ GIFT ต่างจากการทำเด็กหลอดแก้วไหม

การทำกิ๊ฟ คืออะไร คุณแม่มีลูกยากอยากทำกิ๊ฟ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง การทำกิ๊ฟมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ค่าใช้จ่ายแพงไหม ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมตัวอย่างไร

อยากได้ลูกชายทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกชาย

อยากได้ลูกชายทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกชาย

อยากได้ลูกชาย ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ทำยังไงได้บ้าง อยากมีลูกชายด้วยวิธีธรรมชาติทำได้จริงไหม พร้อมวิธีคำนวณวันตกไข่ นับวันตกไข่ ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์

หลังคลอด 1 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม เริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่

หลังคลอด 1 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม เริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่

หลังคลอด 1 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม คุณแม่หลังคลอดมีเพศสัมพันธ์เลยทันทีจะเป็นอันตรายหรือเปล่า มีเพศสัมพันธ์ตอนไหนปลอดภัยกับคุณแม่ที่สุด ไปดูกัน

อยากได้ลูกสาวทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกสาว

อยากได้ลูกสาวทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกสาว

อยากได้ลูกสาว ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ทำยังไงได้บ้าง อยากมีลูกสาวด้วยวิธีธรรมชาติทำได้จริงไหม พร้อมวิธีคำนวณวันตกไข่ นับวันตกไข่ ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์

มดลูกหย่อนอันตรายไหม คุณแม่ควรรับมือยังไง เมื่อมดลูกหย่อน

มดลูกหย่อนอันตรายไหม คุณแม่ควรรับมือยังไง เมื่อมดลูกหย่อน

มดลูกหย่อน คืออะไร อาการมดลูกหย่อนเป็นแบบไหน มีทั้งหมดกี่ระยะ เกิดขึ้นกับช่วงวัยไหนบ้าง รักษาให้หายขาดได้ไหม พร้อมวิธีป้องกันมดลูกหย่อนในผู้หญิง

ฝังยาคุมดีไหม ได้ผลกี่เปอร์เซ็นต์ ฝังยาคุมมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

ฝังยาคุมดีไหม ได้ผลกี่เปอร์เซ็นต์ ฝังยาคุมมีผลข้างเคียงอะไรบ้าง

ฝังยาคุมเพื่อคุมกำเนิดได้ผลดีแค่ไหน การฝังยาคุมกำเนิด เหมาะกับใคร มีข้อดีข้อเสียยังไง ฝังยาคุมอยู่ได้นานกี่ปี ปลอดภัยไหม มีผลข้างเคียงหรือเปล่า

เลือกระยะการตั้งครรภ์และพัฒนาการเด็ก