อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 31 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 31 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

05.03.2020

หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 31 สัปดาห์ เท่ากับว่าตอนนี้คุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 7 เดือน อีกไม่นานคุณแม่จะได้เจอลูกน้อย ตอนนี้คุณแม่รู้สึกอย่างไรบ้าง อึดอัดเพราะลูกน้อยมีตัวใหญ่ขึ้นใช่ไหม และรู้สึกถึงลูกดิ้นบ่อยแค่ไหน ยิ่งคุณแม่มีอายุครรภ์มากขึ้น คุณแม่จะยิ่งเผชิญกับอาการต่าง ๆ มากมาย แล้วในช่วงสัปดาห์ที่ 31 ของการตั้งครรภ์นี้คุณแม่ต้องรับมืออย่างไร เรามีคำแนะนำสำหรับคนท้องในไตรมาสสุดท้ายมาแนะนำกันค่ะ

headphones

PLAYING: อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 31 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง

อ่าน 7 นาที

 

สรุป

  • อวัยวะต่าง ๆ ของลูกน้อยในท้องเริ่มสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ อวัยวะหลัก ๆ เติบโตอย่างเต็มที่ ลูกน้อยเริ่มได้ยินเสียงที่แตกต่างกัน พัฒนาการทางสมองก็รวดเร็วขึ้น
  • ด้วยหน้าท้องที่ใหญ่ขึ้นทำให้คุณแม่อาจรู้สึกหายใจไม่สะดวก ทั้งยังมีอาการปัสสาวะเล็ดได้ง่าย และอาการท้องแข็งตึง ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปหลังจากคุณแม่คลอดลูกน้อย
  • คุณแม่สามารถออกกำลังกายขณะท้องได้แต่ควรเน้นการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน เล่นโยคะ และว่ายน้ำ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรขอคำแนะนำก่อนการออกกำลังกายจากคุณหมอเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อยในท้อง

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ตอนนี้ปอดของลูกน้อยยังเติบโตได้ไม่สมบูรณ์มากนัก แต่อวัยวะหลัก ๆ มีพัฒนาการที่สมบูรณ์แล้ว อีกทั้งลูกน้อยสามารถรับรู้ถึงเสียงที่แตกต่างกัน และยังมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกด้วย

 

คุณแม่อายุครรภ์ 31 สัปดาห์ น้ำหนักควรเพิ่มขึ้นเท่าไหร่

หากคุณแม่ตั้งครรภ์ได้ 31 สัปดาห์ หมายความว่าคุณแม่เข้าสู่การตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 แล้ว ช่วงนี้คุณแม่ควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเดือนละ 2 กิโลกรัม หรือควรมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นสัปดาห์ละ 0.2-0.5 กิโลกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ก่อนตั้งครรภ์ของคุณแม่

 

อาการคนท้อง 31 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป

1. ท้องตึงแข็ง

อาการท้องแข็งหรือรู้สึกแข็งตึงที่หน้าท้องของคุณแม่ในช่วงนี้ เกิดจากการหดรัดตัวของมดลูกระยะสั้น ๆ แล้วคลายลง บางครั้งอาจกินเวลาประมาณ 10 นาที บางครั้งเป็น ๆ หาย ๆ ต่อเนื่องกันเป็นชุด อาการท้องแข็งตึงสามารถพบได้บ่อยเวลาที่คุณแม่พลิกตัว หรือลูกดิ้นบ่อย ๆ ซึ่งสาเหตุเกิดจาก

  • ทารกโก่งตัวหรือลูกดิ้น ทำให้คุณแม่รู้สึกว่าบางทีท้องแข็งบางทีท้องนิ่ม เพราะลูกน้อยดิ้นแล้วทำให้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ของลูกน้อย เช่น ไหล่ ศอก เข่า ไปชนเข้ากับมดลูก จนบางครั้งคุณแม่อาจเห็นรอยนูนขึ้นมาบนหน้าท้องของคุณแม่ได้ หากคุณแม่มีอาการท้องแข็งตึงจากสาเหตุนี้ ไม่ต้องกังวลเพราะเป็นอาการดิ้นปกติของลูกน้อยในท้อง
  • ทานอาหารมากเกินไป ทำให้อาหารไม่ย่อย เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารขึ้นมา เมื่อกระเพาะอาหารขยายใหญ่ไปเบียดกับมดลูก มดลูกจึงเกิดการหดตัวทำให้หน้าท้องของคุณแม่เกิดอาการตึงขึ้นมาได้ ดังนั้น ในระหว่างกินข้าวคุณแม่ควรเคี้ยวให้ละเอียด และพยายามแบ่งทานอาหารออกเป็นหลาย ๆ มื้อ เพื่อป้องกันไม่ให้คุณแม่ทานอาหารเยอะเกินไปในแต่ละมื้อ
  • การบีบรัดตัวของมดลูก หรืออาจเกิดจากการที่คุณแม่กินยาบางประเภท

 

หากคุณแม่มีอาการท้องตึงแข็งแนะนำให้นอนพักให้มาก ในกรณีที่คุณแม่พบอาการท้องแข็งบ่อย นอนพักแล้วยังมีอาการท้องแข็งตึงทุกครึ่งชั่วโมงติดกันนานถึง 3 ชั่วโมง คุณแม่อย่านิ่งนอนใจให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะหากทิ้งไว้นานอาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้

 

2. ปัสสาวะเล็ด

อาการนี้พบได้บ่อยในคนท้องไตรมาสสุดท้าย สาเหตุมาจาก

  • ฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้น จนส่งผลให้กล้ามเนื้อปัสสาวะและหูรูดท่อปัสสาวะคลายได้ง่าย คุณแม่จึงควบคุมการปัสสาวะได้ยาก
  • อาจเกิดจากทารกในครรภ์มีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้นจนไปกดทับบริเวณปัสสาวะทำให้คุณแม่ปัสสาวะเล็ดได้ง่าย โดยเฉพาะเวลาที่คุณแม่ไอ จาม หรือหัวเราะ
  • เกิดจากไตที่ทำงานอย่างหนักจนทำให้ร่างกายของคุณแม่ผลิตปัสสาวะมากกว่าปกติ คุณแม่ที่เคยผ่านการคลอดธรรมชาติมาก่อน หรือเคยผ่านการผ่าตัดกระดูกเชิงกราน หรือภาวะน้ำหนักตัวมากเกินไปอาจทำให้เกิดปัสสาวะเล็ดบ่อย ๆ ได้ ซึ่งอาการปัสสาวะเล็ดจะหายได้เองหลังจากที่คุณแม่คลอดลูกน้อย

 

3. น้ำนมไหล

คุณแม่บางคนอาจพบอาการน้ำนมไหลในระหว่างตั้งครรภ์ได้ ซึ่งอาการนี้สามารถพบได้ในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 โดยน้ำนมที่ไหลออกมาคือ ‘น้ำนมเหลือง’ ที่เรียกว่า “โคลอสทรัม (Colostrum)” ที่มีภูมิคุ้มกันสูง

 

ท้อง 31 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน

 

ท้อง 31 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน

ตอนนี้คุณแม่มีขนาดหน้าท้องที่ใหญ่ขึ้นมากจนสามารถเห็นรอยแตกลายได้ชัดเจน ทำให้คุณแม่รู้สึกอึดอัดและหายใจเร็วขึ้น เนื่องจากมดลูกมีขนาดใหญ่จนไปเบียดกับปอดและกะบังลมทำให้คุณแม่หายใจไม่สะดวก หากคุณแม่รู้สึกหายใจไม่ออกแนะนำให้คุณแม่พยายามนั่งตัวยืดตรง เวลาทานอาหารให้แบ่งทานเป็นมื้อเล็ก ๆ และพยายามนอนตะแคงซ้ายเพื่อเพิ่มพื้นที่ปอดก็จะทำให้คุณแม่หายใจได้สะดวกมากขึ้น

 

ท้อง 31 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน

ทารกในครรภ์อายุ 31 สัปดาห์ ลูกน้อยมีขนาดตัวที่ยาวขึ้นประมาณ 419 มิลลิเมตร ในช่วงนี้ทารกในครรภ์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงพัฒนาการด้านต่าง ๆ

 

พัฒนาการของทารกในครรภ์อายุ 31 สัปดาห์

  • สมองของลูกน้อยมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากเซลล์ประสาทของทารกในครรภ์กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว
  • สมองของทารกในครรภ์สามารถรับข้อมูลและประมวลผลข้อมูลจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แล้ว
  • ทารกในครรภ์นอนหลับได้นานมากขึ้น คุณแม่อาจสังเกตได้จากรูปแบบการนอน การตื่นตัว และการเคลื่อนไหวได้ชัดเจนมากขึ้น

 

การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 31 สัปดาห์

1. หลีกเลี่ยงความเครียด

คนท้องควรพยายามทำให้ตัวเองไม่เครียด เพราะเมื่อคุณแม่เครียดร่างกายจะผลิตสารแห่งความเครียดออกมาที่เรียกว่า “คอร์ติซอล (Cortisol) หรือ อะดรีนาลีน (Adrenalin)” ที่อาจส่งผลต่ออารมณ์ของลูกน้อย ทำให้ลูกน้อยเสี่ยงต่อการเป็นเด็กที่มีอารมณ์ก้าวร้าวรุนแรงได้ หากคุณแม่อารมณ์ดีร่างกายจะผลิตฮอร์โมนแห่งความสุขที่เรียกว่า “เอ็นดอร์ฟิน (Endorphin)” ออกมาส่งผลให้ลูกน้อยเมื่อคลอดออกมาเป็นเด็กที่เลี้ยงง่ายกว่า

 

2. ใส่รองเท้าสำหรับคนท้อง

คนท้องไม่ควรสวมรองเท้าส้นสูงเพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ โดยรองเท้าที่เหมาะสมกับคนท้องคือ รองเท้าที่สามารถรับกับเท้าของคุณแม่ได้ดี มีขนาดพอดีไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป สวมใส่สบายไม่อึดอัดจะดีกับคนท้องมากที่สุด อีกทั้งในช่วงนี้คุณแม่ไม่ควรเดินหรือยืนนานจนเกินไปเพราะว่าอาจทำให้คุณแม่มีอาการท้องแข็งได้

 

3. รับประทานธัญพืชให้มากขึ้น

คุณแม่ควรทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในช่วงนี้คุณแม่ควรทานอาหารที่เป็นธัญพืชเพิ่มมากขึ้น เพราะมีใยอาหาร ธาตุเหล็ก และวิตามินต่าง ๆ ที่คนท้องต้องการ โดยเฉพาะธัญพืชที่ไม่ขัดสี เช่น ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง และควรทานอาหารที่มีสารอาหารสำคัญอย่างไอโอดีน และธาตุเหล็ก เพราะอาหารเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างสมองและไอคิวให้กับลูกน้อยในท้องได้เป็นอย่างดี

 

4. ออกกำลังกายด้วยการเดินเบา ๆ หรือโยคะ

ในคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายเบา ๆ ที่ไม่ใช้เวลานานมากเกินไป หรือเหนื่อยเกินไป และควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในท่านอนเพราะอาจทำให้มดลูกกดทับเส้นเลือดจนส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกได้ไม่ดีนัก หากคุณแม่ต้องการออกกำลังกายควรเน้นการออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน การยืดเส้น เต้นแอโรบิคในน้ำ เล่นโยคะ หรือว่ายน้ำ หากต้องการออกกำลังกายเฉพาะส่วนหรือท่าอื่น ๆ ควรขอคำปรึกษาจากคุณหมอก่อนทุกครั้ง เพื่อที่คุณหมอจะได้แนะนำท่าออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับคุณแม่

 

ตอนนี้คุณแม่เข้าใกล้กำหนดคลอดเข้าไปทุกที ลูกในท้องก็มีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้นทำให้หน้าท้องของคุณขยายแม่ใหญ่ขึ้นตาม อาการปัสสาวะเล็ด หายใจลำบาก รวมถึงอาการหน้าท้องแข็งตึงจึงเกิดถี่ขึ้น อย่างไรก็ตาม คุณแม่ควรพบแพทย์รวมทั้งทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ งดของหมักดอง และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ทานวิตามินตามคำแนะนำของคุณหมออย่างต่อเนื่อง เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยในท้อง

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์

 

 

อ้างอิง:

  1. Your Pregnancy Week by Week: Weeks 31-34, WebMD
  2. คำแนะนำ คุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 3 (อายุครรภ์ 7-9 เดือน), โรงพยาบาลเปาโล
  3. คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ในแต่ละไตรมาส, โรงพยาบาลนครธน
  4. ท้องแข็งขณะตั้งครรภ์ เสี่ยงอันตรายแค่ไหน, โรงพยาบาลพญาไท
  5. สุขใจ ได้เป็นแม่, กรมอนามัย และ UNFPA
  6. ปัสสาวะเล็ดขณะตั้งครรภ์ รับมืออย่างไรดี, pobpad
  7. 8 ลักษณะการเปลี่ยนแปลงของเต้านมในขณะตั้งครรภ์, pobpad
  8. 31 Weeks Pregnant, what to expect
  9. การเสริมสร้างพัฒนาการลูกน้อยในครรภ์, โรงพยาบาลพญาไท
  10. คุณแม่ตั้งครรภ์ยืนนานๆ ส่งผลต่อทารกในครรภ์อย่างไรบ้าง, โรงพยาบาลพญาไท
  11. 8 อาหารคนท้อง เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณแม่และลูกน้อยในครรภ์, pobpad
  12. การเสริมสร้างพัฒนาการลูกน้อยในครรภ์, โรงพยาบาลพญาไท
  13. คุณแม่กำลังท้อง…ออกกำลังกายได้แค่ไหน?, โรงพยาบาลเปาโล

อ้างอิง ณ วันที่ 14 มกราคม 2567

บทความแนะนำ

ทำกิ๊ฟ คืออะไร การทำกิ๊ฟ GIFT ต่างจากการทำเด็กหลอดแก้วไหม

ทำกิ๊ฟ คืออะไร การทำกิ๊ฟ GIFT ต่างจากการทำเด็กหลอดแก้วไหม

การทำกิ๊ฟ คืออะไร คุณแม่มีลูกยากอยากทำกิ๊ฟ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง การทำกิ๊ฟมีข้อดีข้อเสียอย่างไร ค่าใช้จ่ายแพงไหม ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเตรียมตัวอย่างไร

อยากได้ลูกชายทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกชาย

อยากได้ลูกชายทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกชาย

อยากได้ลูกชาย ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ทำยังไงได้บ้าง อยากมีลูกชายด้วยวิธีธรรมชาติทำได้จริงไหม พร้อมวิธีคำนวณวันตกไข่ นับวันตกไข่ ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์

หลังคลอด 1 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม เริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่

หลังคลอด 1 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม เริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไหร่

หลังคลอด 1 เดือน มีเพศสัมพันธ์ได้ไหม คุณแม่หลังคลอดมีเพศสัมพันธ์เลยทันทีจะเป็นอันตรายหรือเปล่า มีเพศสัมพันธ์ตอนไหนปลอดภัยกับคุณแม่ที่สุด ไปดูกัน

อยากได้ลูกสาวทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกสาว

อยากได้ลูกสาวทำไงดี พร้อมเคล็ดลับสำหรับคนอยากมีลูกสาว

อยากได้ลูกสาว ว่าที่คุณพ่อคุณแม่ทำยังไงได้บ้าง อยากมีลูกสาวด้วยวิธีธรรมชาติทำได้จริงไหม พร้อมวิธีคำนวณวันตกไข่ นับวันตกไข่ ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์