อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 38 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
คุณแม่ท้อง 38 สัปดาห์อยู่ในช่วงอายุครรภ์ 9 เดือน ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ หากคุณแม่มีการคลอดในสัปดาห์นี้ถือเป็นครรภ์ครบกำหนด และถ้าแข็งแรงไม่ได้มีปัญหาสุขภาพแทรกซ้อนขึ้นมา แพทย์อาจแนะนำให้คุณแม่คลอดธรรมชาติได้ สำหรับอายุครรภ์ในเดือนที่ 9 นี้ แพทย์จะนัดตรวจสุขภาพครรภ์และพัฒนาการทารกในครรภ์ทุกสัปดาห์
PLAYING: อายุครรภ์ 38 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 38 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
สรุป
- ท้อง 38 สัปดาห์ ครรภ์ของคุณแม่จะลดต่ำลง เนื่องจากทารกมีการขยับร่างกายให้ส่วนของศีรษะมาอยู่ตรงช่องเชิงกราน คุณแม่จะรู้สึกว่าหายใจได้สะดวกมากขึ้น
- ท้อง 38 สัปดาห์ ทารกในครรภ์จะเคลื่อนไหว ดิ้นช้าลง เนื่องจากขนาดตัวที่ใหญ่มากขึ้นกว่าขนาดพื้นที่ในมดลูก
- ท้อง 38 สัปดาห์ ขนาดตัวของทารกในครรภ์จะเทียบได้กับลูกขนุน ลำตัวทารกจะมีความยาว 45-50 เซนติเมตร และมีน้ำหนัก 2,800-3,000 กรัม
- ท้อง 38 สัปดาห์ หากบีบที่หัวนมจะเริ่มมีน้ำขุ่น ๆ ไหลออกมา
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ท้อง 38 สัปดาห์ คุณแม่จะรู้สึกหายใจสะดวกขึ้น เพราะอะไร
- ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์ ลูกจะเคลื่อนไหวช้าลง เพราะอะไร
- อาการคนท้อง 38 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
- ท้อง 38 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
- ท้อง 38 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
- การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 38 สัปดาห์
ท้อง 38 สัปดาห์ คุณแม่จะรู้สึกหายใจสะดวกขึ้น เพราะอะไร
- การตั้งครรภ์ในช่วงเดือนที่ 9 นี้ แพทย์จะมีการนัดคุณแม่ เพื่อมาตรวจสุขภาพครรภ์ทุกสัปดาห์ ซึ่งจะมีการชั่งน้ำหนักตัว วัดระดับความดันโลหิต และคุณแม่จะได้รับการตรวจภายในเพื่อวัดดูขนาดมดลูก แพทย์จะดูว่ามดลูกมีความสูงอยู่ที่เท่าไหร่แล้ว รวมทั้งเช็กปากมดลูกคุณแม่เพื่อให้ทราบว่าเริ่มเปิดแล้วหรือยังไม่เปิด
- คุณแม่ท้อง 38 สัปดาห์ จะเริ่มรู้ว่าหายใจได้สะดวก หายใจได้อิ่มขึ้น นั่นก็เพราะว่าท้องของคุณแม่ได้ลดระดับต่ำลง ซึ่งเกิดจากทารกในครรภ์ขยับร่างกาย เพื่อให้ศีรษะได้เข้ามาอยู่ในช่องเชิงกรานของคุณแม่ ซึ่งนอกจากคุณแม่จะหายใจได้สะดวกมากขึ้นแล้ว ก็ยังรู้สึกสบายท้องไม่แน่นอึดอัดหลังจากรับประทานอาหารอิ่ม
ตั้งครรภ์ 38 สัปดาห์ ลูกจะเคลื่อนไหวช้าลง เพราะอะไร
ทารกในครรภ์ดิ้นก็คือการเคลื่อนไหวขยับร่างกายอยู่ในมดลูกของคุณแม่ ซึ่งในช่วงอายุครรภ์ตั้งแต่ 32 สัปดาห์เป็นต้นไป คุณแม่จะเริ่มรู้สึกว่าลูกในท้องเคลื่อนไหวช้าลง นั่นเป็นเพราะว่าทารกมีขนาดลำตัวที่ใหญ่มากขึ้นกว่าขนาดพื้นที่ในมดลูก จึงทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่วเหมือนกับช่วงอายุครรภ์ไตรมาสแรก
อาการคนท้อง 38 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
1. เจ็บท้องหลอกบ่อย ๆ
มดลูกจะมีการบีบตัวหดรัดเกร็ง เจ็บท้องหลอกหรือเจ็บท้องเตือน จะเริ่มมีอาการตั้งแต่อายุครรภ์เดือนที่ 8 จนมาถึงอายุครรภ์เดือนที่ 9 ของการตั้งครรภ์ คุณแม่สามารถสังเกตอาการเจ็บท้องหลอกได้ดังนี้
- เป็นก้อนแข็ง ๆ ที่หน้าท้องขึ้นมา
- มดลูกบีบตัวไม่สม่ำเสมอ
- ปวดท้องตรงช่วงบริเวณท้องน้อย
- ช่องคลอดไม่มีน้ำเดินออกมา
- ปากมดลูกยังไม่เปิด
- อาการปวดท้องจะดีขึ้นและหายไป เมื่อได้ปรับเปลี่ยนอิริยาบถของร่างกาย
2. ปวดหลัง
คุณแม่จะมีอาการปวดหลัง เนื่องจากศีรษะของทารกในครรภ์ไปสัมผัสถูกตรงบริเวณกระดูกสันหลัง จึงทำให้คุณแม่มีอาการปวดหลังมาก
3. เมือกที่ช่องคลอด
Mucus plug เป็นเมือกที่ทำหน้าที่ในการปกป้องไม่ให้เชื้อโรคเข้ามาที่ปากมดลูก ในคุณแม่ที่อายุครรภ์ใกล้คลอด ปากมดลูกจะค่อย ๆ เปิดและมีความบาง ทำให้มีเมือกไหลออกมา บางครั้งจะมีเลือดปนมากับเมือกด้วย
4. ท้องลด
อาการท้องลด สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ไม่กี่สัปดาห์ก่อนคลอด หรือก่อนคลอดเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ได้เช่นกัน อาการท้องลดที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ มาจากทารกในครรภ์ได้มีการขยับร่างกายให้ศีรษะมาอยู่ตรงบริเวณอุ้งเชิงกรานคุณแม่
5. ความเครียด
ฮอร์โมนจากการตั้งครรภ์ ส่งผลให้คุณแม่เกิดความเครียด และอารมณ์มีความอ่อนไหวมากเป็นพิเศษ
6. น้ำนมไหล
อายุครรภ์ตั้งแต่ 6 เดือนเป็นต้นไป จะมีเลือดที่มาเลี้ยงตรงบริเวณต่อมน้ำนมในเต้านมเพิ่มขึ้น ทำให้เส้นเลือดดำที่อยู่ใต้ผิวหนังมีการขยาย เซลล์กล้ามเนื้อที่อยู่รอบเต้านม ท่อน้ำนมจะเริ่มหนาตัวขึ้นมาเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับให้นมลูกหลังคลอด ทำให้น้ำนมเหลืองคอลอสตรัมมีปริมาณเยอะขึ้น หากบีบที่หัวนมจะมีน้ำลักษณะขุ่นไหลออกมา และเมื่อครบกำหนดคลอดขนาดหน้าอกของคุณแม่จะขยายใหญ่ขึ้นมา 1-2 เท่า
ท้อง 38 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
ในช่วงเดือนที่ 9 ของการตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3 คุณแม่ท้อง 38 สัปดาห์ขนาดท้องจะมีการลดต่ำลง จนทำให้คุณแม่หายใจได้สะดวกมากขึ้น (4) และศีรษะของทารกในครรภ์จะอยู่ใกล้ปากมดลูก คุณแม่มีความพร้อมที่จะคลอดได้ตลอดเวลา
ท้อง 38 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
ทารกในครรภ์อายุ 38 สัปดาห์มีขนาดตัวใหญ่มาก เปรียบเสมือนลูกขนุน หรือประมาณ 45-50 เซนติเมตร และมีน้ำหนักอยู่ที่ 2,800-3,000 กรัม
ในช่วงนี้ทารกในครรภ์จะมีร่างกายที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ผิวหนังของทารกจะเรียบขึ้น ไขสีขาวที่หุ้มผิวหนังเอาไว้จะมีปริมาณลดน้อยลง
พัฒนาการของทารกในครรภ์อายุ 38 สัปดาห์
- ปอดทำงานได้สมบูรณ์
- ทารกมีความสูงประมาณ 45 เซนติเมตร
- ทารกมีกล้ามเนื้อเพื่อใช้ในการดูดและกลืนน้ำคร่ำ
การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 38 สัปดาห์
- ดื่มน้ำให้มากขึ้น คุณแม่ควรดื่มน้ำทุกวันให้ได้ 8-12 แก้ว การดื่มน้ำจะช่วยให้ระบบเลือดในร่างกายไหลเวียนได้ดี ช่วยให้สารอาหารจากคุณแม่ถูกส่งต่อไปให้ยังทารกได้ดีมากขึ้น
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้คุณแม่นอนหลับได้ง่าย นอนหลับได้สบายขึ้น การทำสมาธิก่อนนอนจะช่วยให้จิตใจสงบและผ่อนคลายขึ้นคุณแม่จะนอนหลับได้ง่าย และการนอนในท่าตะแคง ให้คุณแม่นำหมอนใบเล็กมาหนุนตรงบริเวณช่วงใต้ท้อง และวางหมอนหนุนตรงช่วงใต้เข่า ใต้ขา จะช่วยให้คุณแม่หลับสบายมากขึ้น
- ผ่อนคลายความกังวล แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนว่าสามารถนวด เล่นโยคะ หรือว่ายน้ำได้หรือไม่ในระหว่างตั้งครรภ์ของคุณแม่
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นเพิ่มอาหารกลุ่มโปรตีน เช่น เนื้อปลา อาหารที่อุดมด้วยแคลเซียม เช่น นมจืดพร่องมันเนย ปลาตัวเล็กตัวน้อยที่กินได้ทั้งตัว และผักใบเขียวทุกชนิด
- ทำความสะอาดเต้านม เต้านมของคุณแม่ 2-3 เดือนก่อนคลอด ร่างกายจะมีการผลิตไขมันมาปกคลุมหัวนมและลานนม ซึ่งการอาบน้ำในทุกวัน เพื่อป้องกันไม่ให้ไขมันตรงบริเวณหัวนมหลุดออกไป จนทำให้หัวนมแห้งแตกได้ง่าย คุณแม่ไม่ควรฟอกสบู่เน้นตรงหัวนมเป็นเวลานาน
คุณแม่ท้อง 38 สัปดาห์อาจมีการคลอดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา คุณแม่จึงควรสังเกตความเปลี่ยนแปลงร่างกายตัวเองอย่างใกล้ชิด และหากคุณแม่มี อาการท้องแข็งแล้วมีการเจ็บท้องในทุก 5-10 นาที ช่องคลอดมีมูกเลือดสีสดออกมา มีน้ำเดิน แนะนำให้รีบไปโรงพยาบาลทันที นอกจากนี้คุณแม่ควรเตรียมของใช้เตรียมคลอดให้พร้อม เพื่อเตรียมต้อนรับลูกน้อย
น้ำนมแม่คืออาหารที่ดีที่สุดสำหรับลูกน้อยตั้งแต่แรกเกิด ในนมแม่มีสารอาหารกว่า 200 ชนิด มีสารอาหารสำคัญอย่างสฟิงโกไมอีลินและดีเอชเอ ที่เป็นสารอาหารเพื่อพัฒนาสมองให้มีการเรียนรู้ได้เร็ว และมีจุลินทรีย์สุขภาพหลายสายพันธุ์ เช่น บีแล็กทิส (B. lactis) ที่ช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในลำไส้
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- อายุครรภ์ 39 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 39 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 40 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 40 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- ท้องไตรมาสแรก ภาวะเสี่ยงที่คุณแม่ต้องระวัง, โรงพยาบาลเปาโล
- การดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด, โรงพยาบาลพญาไท
- การดูแลครรภ์คุณแม่ตั้งครรภ์และพัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
- เตรียมความพร้อมก่อนคลอดเจ้าตัวเล็ก, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- การดิ้นของทารกในครรภ์ สัญญาณที่คุณแม่ควรรู้, โรงพยาบาลบางปะกอก
- เตรียมพร้อม... คุณแม่ใกล้คลอดแบบธรรมชาติ, โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
- 6สัญญาณเตือนการใกล้คลอด ที่คุณแม่ควรรู้, โรงพยาบาลบางปะกอก 3
- ความเครียดของคุณแม่ตั้งครรภ์..สามารถส่งต่อจากแม่สู่ลูกได้นะ!, โรงพยาบาลพญาไท
- เต้านมในระหว่างตั้งครรภ์ (ตอนที่ 1), คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- 9 เดือน มหัศจรรย์พัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
- พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 38 ของการตั้งครรภ์, helloคุณหมอ
- พัฒนาการของทารกในครรภ์ตลอด 9 เดือน เป็นอย่างไรบ้างนะ, โรงพยาบาลพญาไท
- คุณแม่ตั้งครรภ์ รับประทานอะไรดี, โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ
- เคล็ดลับการนอนสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลพญาไท
- คำแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1-3, โรงพยาบาลบางปะกอก
- พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 38 ของการตั้งครรภ์, helloคุณหมอ
อ้างอิง ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567