
ท้องนอกมดลูก สาเหตุ อาการ และวิธีจัดการเพื่อความปลอดภัย
ท้องนอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) เป็นภาวะตัวอ่อนฝังตัวอยู่นอกมดลูกที่เกิดขึ้นบริเวณท่อนำไข่ถึง 90% ภาวะนี้เป็นอันตรายต่อคุณแม่ และจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับภาวะท้องนอกมดลูก ว่าเกิดจากสาเหตุใด มีอาการอย่างไร และวิธีการดูแลอย่างปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง
สรุป
- ท้องนอกมดลูก คือการที่ตัวอ่อนฝังตัวในตำแหน่งที่ผิดปกตินอกโพรงมดลูก เช่น ท่อนำไข่ ช่องท้อง ปากมดลูก เป็นต้น
- ท้องนอกมดลูกเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คุณแม่ต้องยุติการตั้งครรภ์
- หลังจากท้องนอกมดลูก คุณแม่สามารถตั้งครรภ์ใหม่ได้ ภายใต้การดูแลและให้คำปรึกษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ท้องนอกมดลูก คืออะไร
- ท้องนอกมดลูก อันตรายแค่ไหน
- ปัจจัยที่ทำให้คุณแม่เสี่ยงท้องนอกมดลูก
- สัญญาณเตือน ท้องนอกมดลูก ที่คุณแม่ควรระวัง
- ท้องนอกมดลูก ตรวจเจอกี่สัปดาห์?
- เลือดออกทางช่องคลอด คือท้องนอกมดลูกจริงไหม
- ท้องนอกมดลูก พบได้บ่อยขนาดไหน
- ท้องนอกมดลูก ท้องโตไหม?
- เคล็ดลับการป้องกันท้องนอกมดลูกในอนาคต
- วิธีดูแลตัวเอง หลังรักษาอาการท้องนอกมดลูก
- คุณแม่เคยท้องนอกมดลูก จะสามารถตั้งครรภ์ได้ไหม
ท้องนอกมดลูก คืออะไร
การตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือ ท้องนอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) คือภาวะตั้งครรภ์ผิดปกติ โดยตัวอ่อนจะฝังตัวในตำแหน่งที่ผิดปกติ บริเวณอื่นที่ไม่ใช่โพรงมดลูก เช่น ท่อนำไข่ ปีกมดลูก ช่องท้อง เป็นต้น จนทำให้ตัวอ่อนพัฒนาและเติบโตไปเป็นทารกไม่ได้ ซึ่งมักจะพบอาการผิดปกติหลังจากเริ่มตั้งครรภ์ไปแล้ว สัปดาห์ที่ 7 ถึง สัปดาห์ที่ 8 อาการผิดปกติที่คุณแม่สามารถสังเกตได้ ได้แก่ อาการปวดท้องเฉียบพลัน วิงเวียนศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ มีเลือดออกที่อวัยวะเพศ เป็นต้น
ท้องนอกมดลูก อันตรายแค่ไหน
รังไข่ของคุณแม่จะทำหน้าที่ผลิตไข่ ส่งออกมาผ่านท่อนำไข่เพื่อปฏิสนธิกับอสุจิ ก่อนที่จะเคลื่อนตัวมาฝังที่มดลูก ในกรณีที่เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก หรือ ท้องนอกมดลูก คือการที่ไข่ปฏิสนธิกับอสุจิแล้ว ไม่เคลื่อนมาฝังตัวที่มดลูก แต่ไปฝังตัวที่บริเวณอื่นแทน จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวอ่อนในครรภ์ไม่สามารถพัฒนาและเติบโตไปเป็นทารกได้ ท้องนอกมดลูก เก็บไว้ได้ไหม หากปล่อยเอาไว้ จนตัวอ่อนเจริญเติบโตภายในท่อนำไข่ จนท่อนำไข่แตก อาจทำให้คุณแม่มีอาการตกเลือด จนเสี่ยงเสียชีวิตได้ หากคุณแม่สังเกตเห็นความผิดปกติ และได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญว่าท้องนอกมดลูก คุณแม่จึงควรได้รับการรักษาทันที ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยา หรือการผ่าตัด
ปัจจัยที่ทำให้คุณแม่เสี่ยงท้องนอกมดลูก
1. อายุ
คุณแม่ที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะเกิดการท้องนอกมดลูก เนื่องจากระบบสืบพันธุ์ของคุณแม่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัย จนมีประสิทธิภาพลดลง จนเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการผิดปกติได้
2. ประวัติการตั้งครรภ์
คุณแม่ที่มีประวัติการตั้งครรภ์แบบท้องนอกมดลูกมาก่อน หรือเป็นผู้ที่มีบุตรยากมีประวัติของการใช้ยาคุมฉุกเฉิน หรือมีการคุมกำเนิดด้วยห่วงอนามัย มีความเสี่ยงที่จะเกิดท้องนอกมดลูกได้
3. ความผิดปกติของท่อนำไข่
ท้องนอกมดลูกที่พบส่วนใหญ่ ตัวอ่อนมักจะไปฝังตัวที่บริเวณท่อนำไข่ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการท้องนอกมดลูกเช่นนี้ อาจเกิดมาจากความผิดปกติของท่อนำไข่ ที่อาจมีลักษณะผิดรูป จนทำให้ตัวอ่อนเคลื่อนไปที่โพรงมดลูกไม่ได้ ตัวอ่อนจึงฝังตัวที่บริเวณท่อนำไข่แทน ซึ่งท่อน้ำไข่ที่ผิดปกตินี้เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ทำให้อุ้งเชิงกรานอักเสบ และเกิดพังผืดบริเวณท่อนำไข่ คุณแม่มีพังผืดหรือรอยแผลที่เกิดจากการผ่าตัด คุณแม่มีประวัติการทำหมัน หรือการแก้หมัน เป็นต้น
4. เคยผ่าตัดทางนรีเวช
คุณแม่ที่เคยผ่าตัดช่องท้อง ท่อนำไข่ หรืออุ้งเชิงกรานมาก่อน มีโอกาสที่จะเกิดรอยแผล หรือพังผืด ซึ่งทำให้ท่อนำไข่ผิดรูปจากปกติ ขัดขวางการเคลื่อนตัวของตัวอ่อน จนทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถฝังตัวที่โพรงมดลูกได้ และกลายเป็นท้องนอกมดลูก
5. มีประวัติติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน
คุณแม่ที่มีประวัติการติดเชื้อที่อุ้งเชิงกราน ไม่ว่าจะจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือโรคอื่น ๆ อาจทำให้ท่อนำไข่ของคุณแม่ผิดรูป หรือเกิดพังผืด จนทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเคลื่อนตัวผ่านท่อนำไข่ไปฝังตัวที่โพรงมดลูกตามปกติ

สัญญาณเตือน ท้องนอกมดลูก ที่คุณแม่ควรระวัง
ในคุณแม่ตั้งครรภ์ ท้องนอกมดลูก อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะหากท่อนำไข่ฉีกขาด เพราะจะทำให้มีเลือดออกมากในช่องท้อง ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์ นี่คือสัญญาณเตือนที่สำคัญเบื้องต้นที่คุณแม่ควรทราบ ดังนี้
- อาการปวด: คุณแม่จะรู้สึกปวดท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่ง หรือปวดตรงช่วงอุ้งเชิงกราน ปวดร้าวไปบริเวณไหล่ หรือทวารหนัก
- เลือดออกทางช่องคลอด: ทางช่องคลอดของคุณแม่จะมีเลือดออกมาลักษณะกะปริบกะปรอย
- รู้สึกอ่อนแรง: คุณแม่จะรู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรง เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม หรือมีภาวะช็อก
สัญญาณเตือนท้องนอกมดลูกที่สำคัญ ได้แก่ อาการปวดท้องน้อย อุ้งเชิงกราน หรือหลังส่วนล่าง ร่วมกับเลือดออกทางช่องคลอด หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีอาการเหล่านี้ร่วมกับอาการหน้ามืด เป็นลม หรือมีภาวะช็อก ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที เนื่องจากภาวะท้องนอกมดลูกเป็นภาวะอันตรายที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
ท้องนอกมดลูก ตรวจเจอกี่สัปดาห์?
การฝากครรภ์และไปพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลสุขภาพของคุณแม่และทารกในครรภ์ หากมีภาวะท้องนอกมดลูก แพทย์จะสามารถตรวจพบได้ในช่วง 7-8 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ที่อยู่ในช่วง ท้องไตรมาสแรก สำหรับการวินิจฉัยภาวะท้องนอกมดลูกมีหลายขั้นตอน โดยแพทย์จะทำการตรวจและประเมินอย่างละเอียดเพื่อยืนยันการวินิจฉัยและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมให้กับคุณแม่ ดังนี้
- การซักประวัติ: แพทย์จะสอบถามประวัติประจำเดือน อาการผิดปกติ เช่น ปวดท้องน้อย เลือดออกทางช่องคลอด และอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- การตรวจปัสสาวะ: เพื่อยืนยันการตั้งครรภ์เบื้องต้น
- การตรวจเลือด: เพื่อวัดระดับฮอร์โมน hCG (Human Chorionic Gonadotropin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่เพิ่มขึ้นเมื่อตั้งครรภ์
- การตรวจภายใน: แพทย์จะตรวจบริเวณอุ้งเชิงกรานเพื่อหาความผิดปกติ และมีความเจ็บปวดหรือไม่
- การตรวจอัลตราซาวด์: โดยแพทย์จะใช้คลื่นเสียงความถี่สูงตรวจบริเวณหน้าท้องและช่องคลอด เพื่อดูตำแหน่งของทารกในครรภ์
เลือดออกทางช่องคลอด คือท้องนอกมดลูกจริงไหม
คุณแม่สามารถสังเกตอาการผิดปกติที่บ่งบอกถึงภาวะท้องนอกมดลูกได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดศีรษะ คอ ไหล่ อุ้งเชิงกราน และบริเวณทวารหนัก เจ็บท้อง หรือท้องน้อย รู้สึกบีบรัดภายในช่องท้องข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง เป็น ๆ หาย ๆ สลับไปมาตลอดเวลา มีอาการวิงเวียน หน้ามืด เป็นลม มีเลือดออกจากช่องคลอดปริมาณมาก ไปจนถึงการเกิดภาวะช็อก ซึ่งอาจเกิดจากมีเลือดออกในช่องท้อง จนกระบังลมระคายเคือง หรือบางคนอาจรุนแรงจนถึงขั้นที่ท่อนำไข่แตก จนเสียเลือดจำนวนมาก
ท้องนอกมดลูก พบได้บ่อยขนาดไหน
ท้องนอกมดลูกพบได้ไม่บ่อย โดยประมาณร้อยละ 1-2 ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด อย่างไรก็ตาม คุณแม่สามารถดูแลสุขภาพของตัวเองและลดความเสี่ยงในการเกิดท้องนอกมดลูกได้ โดยการตรวจเช็กสุขภาพสม่ำเสมอ และปรึกษาแพทย์หากมีอาการผิดปกติที่อาจเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์นอกมดลูก เช่น ปวดท้องรุนแรงหรือมีเลือดออกผิดปกติ
ท้องนอกมดลูก ท้องโตไหม?
ท้องนอกมดลูกส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ซึ่งคุณแม่อาจยังไม่ทราบว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ ดังนั้นท้องนอกมดลูกมักไม่ทำให้ท้องโตเหมือนการตั้งครรภ์ปกติ เนื่องจากตัวอ่อนไม่ได้ฝังตัวอยู่ในโพรงมดลูก แต่จะไปฝังตัวนอกโพรงมดลูก เช่น ท่อนำไข่ เมื่อตัวอ่อนมีการเจริญเติบโต อวัยวะจะไม่สามารถขยายตัวรองรับขนาดของตัวอ่อนที่ใหญ่ขึ้นได้ โดยสัปดาห์ที่ 7-8 คุณแม่จะเริ่มมีอาการผิดปกติที่สังเกตได้ เช่น
- ปวดท้องเฉียบพลัน
- มีเลือดออกที่ช่องคลอด
- เวียนศีรษะ
- ความดันต่ำ
เคล็ดลับการป้องกันท้องนอกมดลูกในอนาคต
การตั้งครรภ์นอกมดลูกเป็นภาวะที่อันตรายและไม่สามารถป้องกันได้โดยตรง แต่สามารถลดความเสี่ยงได้โดยการดูแลสุขภาพและหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ดังนี้
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย: หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจนำไปสู่การอักเสบในอุ้งเชิงกราน
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง: งดสูบบุหรี่ เนื่องจากการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการตั้งครรภ์นอกมดลูก
- สังเกตอาการขณะตั้งครรภ์: หากคุณแม่มีอาการปวดท้อง เลือดออกผิดปกติ หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างทันท่วงที
วิธีดูแลตัวเอง หลังรักษาอาการท้องนอกมดลูก
ภาวะท้องนอกมดลูกสามารถรักษาได้หลายวิธี หากคุณแม่หมั่นสังเกตอาการของตนเอง และรีบปรึกษาแพทย์เมื่อพบอาการผิดปกติ แพทย์ก็จะสามารถดูแลรักษาได้อย่างทันท่วงที โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด คุณแม่ไม่ควรละเลยอาการผิดปกติต่าง ๆ และไม่ควรรอให้อาการผิดปกติเหล่านั้นมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น หรือรอให้อายุครรภ์เพิ่มมากขึ้นจนยากที่จะรักษา เพราะเสี่ยงที่อวัยวะภายในจะฉีกขาด และเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต หลังจากได้รับการรักษาแล้ว คุณแม่ควรให้เวลาตัวเองในการพักผ่อนร่างกายและจิตใจ ลดความเครียด วิตกกังวล และความเศร้าจากการสูญเสีย หลีกเลี่ยงการโทษตัวเอง หรือมองว่าตัวเองเป็นคนผิด เพราะภาวะท้องนอกมดลูกนั้นเป็นภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ
คุณแม่เคยท้องนอกมดลูก จะสามารถตั้งครรภ์ได้ไหม
คุณแม่ที่เคยมีประวัติของภาวะท้องนอกมดลูกมาก่อน สามารถตั้งครรภ์ใหม่ได้ โดยการเว้นช่วงเวลาก่อนตั้งครรภ์ครั้งใหม่ประมาณ 3-6 เดือน คุณแม่สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะท้องนอกมดลูกได้ด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีควันบุหรี่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย และไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งอาจทำให้ท่อนำไข่ผิดรูปได้
แม้ว่าภาวะท้องนอกมดลูกจะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นโดยที่ไม่มีใครตั้งตัว และไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้น แต่โอกาสในการเกิดท้องนอกมดลูกมีต่ำมาก และคุณแม่ยังสามารถดูแลตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะนี้ได้อีกด้วย หมั่นสังเกตอาการของตนเอง ไม่นิ่งนอนใจเมื่อพบอาการผิดปกติ และหมั่นปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที เพียงเท่านี้คุณแม่ก็สามารถตั้งครรภ์ให้มีสุขภาพที่แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจได้แล้วค่ะ
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- อาการคนแพ้ท้องครั้งแรก พร้อมวิธีรับมืออาการแพ้ท้อง
- อาการมโนว่าท้อง กังวลไปเองว่าท้อง พร้อมวิธีเช็กอาการตัวเอง
- คนท้องฉี่สีอะไร สีปัสสาวะคนท้องบอกอะไรคุณแม่ได้บ้าง
- อาการคันของคนท้อง เกิดจากอะไร พร้อมวิธีแก้คันท้องคนท้อง
- ท้องกระตุกเหมือนลูกดิ้น อาการท้องกระตุก บอกอะไรคุณแม่ได้บ้าง
- อารมณ์คนท้องขึ้น ๆ ลงๆ รับมืออารมณ์คนท้องระยะแรกยังไงดี
- คนท้องไอบ่อย ไอขณะตั้งครรภ์ อันตรายกับลูกในท้องหรือเปล่า
- การทำหมันหญิงอันตรายไหม ทำหมันหลังคลอดทันทีได้หรือเปล่า
- ทําหมันเจ็บไหม ผู้หญิงผ่าคลอดทำหมันกี่วันหาย เตรียมตัวแบบไหนดี
- อาการหมันหลุดเป็นอย่างไร ทำหมันแต่ยังท้อง เป็นไปได้แค่ไหน
- ผ่าคลอดประกันสังคมจ่ายเท่าไหร่ คุณพ่อคุณแม่มีสิทธิเบิกอะไรบ้าง
อ้างอิง:
- ท้องนอกมดลูก หนึ่งในสาเหตุที่คุณแม่ต้องยุติการตั้งครรภ์, โรงพยาบาลศิครินทร์
- ท้องนอกมดลูก, โรงพยาบาลเปาโล
- คุณแม่ควรระวัง การตั้งครรภ์นอกมดลูก, โรงพยาบาลพญาไท
- ตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic Pregnancy), โรงพยาบาล MedPark
- สัญญาณเตือน ของการตั้งครรภ์นอกมดลูก, โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9
- ท้องนอกมดลูก ภาวะที่คุณแม่มือใหม่ไม่ควรเพิกเฉย, โรงพยาบาลเพชรเวช
- ท้องนอกมดลูก ภัยร้ายอันตรายต่อคุณแม่และทารก, โรงพยาบาลเปาโล
- ท้องนอกมดลูก, โรงพยาบาลพญาไท
อ้างอิง ณ วันที่ 23 มกราคม 2567