โครโมโซม คืออะไร การคัดกรองโครโมโซมทารกในครรภ์ บอกอะไรบ้าง
การทำความเข้าใจเรื่องโครโมโซม และความผิดปกติของโครโมโซมเป็นหนึ่งในเรื่องสำคัญก่อนคลอดของคุณแม่ เพราะโครโมโซมคือสาเหตุหนึ่งของความผิดปกติที่จะเกิดกับลูกน้อยของคุณแม่ได้ อีกทั้งอาจเป็นสาเหตุของอาการแท้งคุกคามด้วย คุณแม่ควรพบคุณหมอเพื่อรับคำปรึกษาและการตรวจหาความเสี่ยงทางพันธุกรรมตั้งแต่ในช่วงแรก ๆ เพราะว่าผลการตรวจอาจเป็นประโยชน์ในการให้ความมั่นใจ หรือเตรียมความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจก่อนลูกน้อยจะเกิดมาค่ะ
สรุป
- โครโมโซม คือ รหัสทางพันธุกรรมอยู่ภายในนิวเคลียสของเซลล์ ที่เป็นส่วนที่เล็กของเนื้อเยื่อของมนุษย์ โครโมโซมจะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของเซลล์ในร่างกาย ลักษณะทางพันธุกรรมของมนุษย์กำหนดโดยยีนของแต่ละบุคคล ยีนแต่ละส่วนนั้นทำหน้าที่ควบคุมการสร้างการทำงานของเซลล์ และกำหนดความแตกต่างให้กับมนุษย์
- ความผิดปกติเรื่องจำนวนโครโมโซม และการเพี้ยนไปของโครงสร้าง จะนำไปสู่ลักษณะผิดปกติต่าง ๆ ในด้านพัฒนาการ ทั้งทางร่างกายและสติปัญญาของลูกน้อย
- การตรวจคัดกรองหาความผิดปกติทางพันธุกรรม มี 2 วิธี คือตรวจเลือด และตรวจแบบ NIPT ซึ่งแบบหลังสามารถระบุเพศของลูกน้อย และความผิดปกติทางพันธุกรรมในขอบเขตที่กว้างกว่าแบบแรก แต่การตรวจคัดกรองนี้ไม่ใช่การตรวจวินิจฉัยใช้ระบุความเสี่ยง ไม่ใช่การฟันธงว่าลูกน้อยของคุณแม่จะออกมาพร้อมกับมีลักษณะเป็นดาวน์ซินโดรม
- คุณแม่สามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองดาวน์ซินโดรม หรือการตรวจประเมินความเสี่ยงภาวะโครโมโซมผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ เมื่อช่วงไตรมาสแรกอายุครรภ์ 11 ถึง 13 สัปดาห์ ซึ่งเป็นผลดีต่อการเตรียมตัวก่อนล่วงหน้าเพื่อรับมือกับความผิดปกติของลูกน้อยที่อาจเกิดขึ้นภายหลังคลอด
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- โครโมโซม คืออะไร
- โครโมโซม มีกี่คู่
- เมื่อโครโมโซมผิดปกติ บ่งบอกความเสี่ยงถึงตัวลูก
- การตรวจคัดกรองโครโมโซม มี 2 วิธี
- ตรวจคัดกรองโครโมโซม ทำได้ตอนไหน
- โครโมโซม บอกเพศของลูกน้อย
- ข้อเสียที่คาดไม่ถึงของการไม่ตรวจคัดกรองโครโมโซม
โครโมโซม คืออะไร
โครโมโซม (Chromosome) คือ รหัสทางพันธุกรรมอยู่ภายในนิวเคลียสของเซลล์ ที่เป็นส่วนที่เล็กของเนื้อเยื่อของมนุษย์ โครโมโซมจะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของเซลล์ในร่างกาย ส่วนเซลล์จะทำหน้าที่ควบคุมการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย โครโมโซมอยู่กันเป็นคู่ ๆ ลักษณะคล้ายปาท่องโก๋
ลักษณะทางพันธุกรรมของมนุษย์กำหนดโดยยีนของแต่ละบุคคล ยีนเป็นส่วนของรหัสทางพันธุกรรมเล็ก ๆ บนโครโมโซมแต่ละคู่ ยีนแต่ละส่วนนั้นทำหน้าที่ควบคุมการสร้างการทำงานของเซลล์ และกำหนดความแตกต่างให้กับมนุษย์
อสุจิและไข่ เป็นส่วนประกอบของโครโมโซม อสุจิ และเซลล์ไข่ จะมีส่วนของโครโมโซมขาเดียว เมื่ออสุจิของพ่อรวมเข้ากับไข่ของแม่ เป็นพันธุกรรมตัวอ่อนนั้น ทำให้เกิดโครโมโซมจากพ่อแม่รวมกันเป็นปาท่องโก๋ในตัวของลูก พันธุกรรมจะพัฒนาเป็นพันธุกรรมของแต่ละคน จึงเป็นที่มาว่าคนเราแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน แตกต่างกัน
โครโมโซม มีกี่คู่
- มนุษย์มีโครโมโซม 23 คู่ รวม 46 โครโมโซม ได้จากแม่ 23 โครโมโซม ได้จากพ่อ 23 โครโมโซม ตั้งอยู่ในนิวเคลียสของเซลล์ โดย 1 คู่จะเป็นตัวกำหนดเพศและลักษณะทางเพศ และอีก 22 คู่ กำหนดลักษณะอื่น ๆ ของร่างกาย เป็นฐานข้อมูลที่กำหนดรูปลักษณ์และการทำงานของร่างกาย
เมื่อโครโมโซมผิดปกติ บ่งบอกความเสี่ยงถึงตัวลูก
ความผิดปกติต่อไปนี้ไม่ได้ครอบคลุมความผิดปกติที่เกิดได้ทั้งหมด เป็นเพียงตัวอย่างความผิดปกติที่มีโอกาสเกิดขึ้น
1. ดาวน์ซินโดรม (โครโมโซม 21 ผิดปกติ)
เกิดจากสำเนาโครโมโซม 21 ที่เกินมา ลักษณะโดยทั่วไปที่เป็นผลจากความผิดปกตินี้ คือ กลุ่มอาการดาวน์หรือพัฒนาการล่าช้า รูปร่างจะเล็ก ตาเข กล้ามเนื้อยึดต่ำ และฝ่ามือมีเส้นลายมือที่เฉียงพาดลึกตรงกลาง นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความเชื่อมโยงระหว่างอายุคุณแม่ที่มากว่า เพิ่มความเสี่ยงขึ้นแก่ลูกน้อย จาก 1 คนใน 1,500 คน เมื่ออายุ 20 ปี กลายมาเป็น 1 ใน 50 คน เมื่ออายุ 43 ปี
2. เทิร์นเนอร์ซินโดรม (หรือเรียกอีกชื่อว่า Gonadal Dysgenesis)
พบในเพศหญิงเท่านั้น เกิดขึ้นเมื่อโครโมโซม X หายไปบางส่วน จะทำให้มีบุตรยาก ร่วมกับมีลักษณะภายนอกอย่างอาการบวมที่เท้า มือ มีผิวหนังบริเวณส่วนเกินที่คอ และมักมีปัญหาที่ระบบการทำงานของไตและหัวใจ เกิดผิดปกติที่กระดูก รวมถึงอาจมีส่วนส่งผลกับคุณแม่ให้แท้งคุกคามได้
3. ไคลน์เฟลเตอร์ซินโดรม (หรือเรียกอีกชื่อว่า XXY ซินโดรม)
พบในเพศชาย มีความเกี่ยวข้องกับการเป็นหมันและความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ โดยลักษณะปัญหาทางพันธุกรรมนี้จะไม่มีคนสังเกตเห็น จนกระทั่งลูกน้อยเติบโตเข้าสู่วัยแรกรุ่น จะมีกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีขนตามร่างกายน้อย และอวัยวะเพศเล็ก
4. ไตรโซมี 13 (หรือเรียกอีกชื่อว่า Patau)
เกิดจากสำเนาโครโมโซม 13 ที่เกินมา ทำให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญาอย่างรุนแรง การทำงานของหัวใจมีปัญหา ดวงตาพัฒนาไม่ได้เต็มที่ นิ้วมือหรือนิ้วเท้าเกิน ปากแหว่ง และมีความผิดปกติที่ไขสันหลัง เป็นความผิดปกติที่ทำให้ลูกน้อยเสียชีวิตได้ภายในวันแรกหรือสัปดาห์แรกของการคลอด
5. ไตรโซมี 18 (หรือเรียกอีกชื่อว่า Edwards Syndrome)
เกิดจากสำเนาโครโมโซม 18 ที่เกินมา กลุ่มอาการนี้เกิดขึ้นกับเด็กหนึ่งในทุก ๆ 5,000 คน กลุ่มอาการนี้มีลักษณะเฉพาะคือน้ำหนักแรกเกิดน้อย ศีรษะเล็ก รูปร่างผิดปกติ และอวัยวะอื่น ๆ ทำงานบกพร่อง ไม่มีวิธีการรักษา และมักทำให้เสียชีวิตก่อนเกิดหรือภายในปีแรกของชีวิต
6. ทริปเปิลเอ็กซ์ซินโดรม (หรือเรียกอีกชื่อว่า Trisomy X)
มีโครโมโซม X ถึงสามชุด พบในเพศหญิงเท่านั้น จะมีลักษณะของกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีปัญหาในการพูด หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวจัดท่า
7. เอ็กซ์วายวายซินโดรม
ส่งผลกระทบต่อผู้ชาย ลักษณะผิดปกตินี้พบใน 1 คน จากทุก ๆ 1,000 คน เกิดจากการมีโครโมโซม Y เกินมา ผู้ชายที่มีความผิดปกตินี้อาจมีความสูงมากกว่าค่าเฉลี่ย พบว่ามีความผิดปกติในการประมวลผลเวลาคุย นอกจากนี้ยังอาจพบปัญหาด้านพฤติกรรม มีอาการมือสั่น และกล้ามเนื้ออ่อนแรง
8. เอ็กซ์ซินโดรมเปราะบาง (หรือเรียกอีกชื่อว่า Martin-Bell Syndrome)
เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของยีนโครโมโซม X อาจทำให้เกิดความบกพร่องทางสติปัญญาและการเรียนรู้ ปัญหาทางสังคม พฤติกรรม และพัฒนาการล่าช้าได้
9. คริ ดู ชาต ซินโดรม
ความผิดปกติเมื่อขาดโครโมโซมคู่ที่ 5 ไป ทารกอาจมีเสียงร้องเลียนแบบแมว ขนาดศีรษะเล็ก กล้ามเนื้ออ่อนแรง น้ำหนักแรกเกิดน้อย พัฒนาการล่าช้า หัวใจบกพร่อง หรือมีความพิการทางสติปัญญาร่วมด้วย
การตรวจคัดกรองโครโมโซม มี 2 วิธี
1. การตรวจเลือดมารดา
ใช้ตัวอย่างเลือดของคุณแม่ในการทดสอบ เพื่อวิเคราะห์ตรวจสอบระดับของสารเคมี 3 ชนิดว่าสูงหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงโอกาสที่จะเกิดดาวน์ซินโดรม ไตรโซมี 13 หรือ ไตรโซมี 18
- ฮอร์โมนเอชซีจี (hCG)
- ไกลโคโปรตีนซึ่งสร้างมาจากรก (PAPP-A)
- สารโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีในเลือด (AFP)
2. การตรวจวิธี NIPT (Non-invasive Prenatal Testing)
NIPT เป็นการใช้ DNA ชิ้นเล็ก ๆ ในกระแสเลือดของคุณแม่เพื่อวิเคราะห์ว่ามีความเสี่ยงที่โครโมโซมของลูกน้อย หาเบาะแสของความผิดปกติต่าง ๆ เช่น เทิร์นเนอร์ซินโดรม ไคลน์เฟลเตอร์ซินโดรม และทริปเปิลเอ็กซ์ซินโดรม นอกเหนือจากความผิดปกติ ไตรโซมี 13 หรือ ไตรโซมี 18 และประโยชน์อีกประการของวิธีการตรวจนี้คือสามารถทำนายเพศของทารกในครรภ์ได้ด้วยค่ะ
การตรวจคัดกรองไม่ใช่การตรวจวินิจฉัย หมายความว่าไม่ได้ฟันธงว่าลูกน้อยของคุณแม่จะมีอาการผิดปกติทางพันธุกรรมแน่ ๆ ระหว่างอยู่ในครรภ์หรือคลอดออกมาแล้ว การคัดกรองเพียงช่วยชี้ความเป็นไปได้ว่าลูกน้อยอาจมีหนึ่งในเงื่อนไขของความผิดปกติทางพันธุกรรมที่จะแสดงผลเป็นลักษณะผิดปกติหลังคลอด
ตรวจคัดกรองโครโมโซม ทำได้ตอนไหน
คุณแม่เข้ารับการตรวจคัดกรองหาความผิดปกติของโครโมโซมได้ ในสัปดาห์ที่ 11 ถึง สัปดาห์ที่ 13 ของการตั้งท้อง
โครโมโซม บอกเพศของลูกน้อย
เซลล์ไข่และเซลล์สเปิร์ม มีโครโมโซม 23 แต่ไม่ได้มีเป็นคู่เหมือนเซลล์อื่น ๆ ในร่างกาย แต่เมื่อเซลล์สเปิร์มผสมกับไข่ โครโมโซม 23 มาอยู่กันเป็นคู่ รวมกันได้ทั้งหมด 46 โครโมโซม คือมีคู่ที่ 23 ขึ้นมา ไข่มีโครโมโซมเพศ X เป็นโครโมโซม 23 เสมอ สเปิร์มจะมีโครโมโซม X หรือ Y โอกาสที่จะมีลูกชายหรือลูกสาวขึ้นอยู่กับว่าสเปิร์มที่ผสมกับไข่มีโครโมโซม X หรือ Y
1. โครโมโซมเพศหญิง
หากสเปิร์มที่มีโครโมโซม X ผสมกับไข่ จะทำให้เกิดเซลล์เพศหญิง (XX)
2. โครโมโซมเพศชาย
หากสเปิร์มที่มีโครโมโซม Y ผสมกับไข่ จะทำให้เกิดเซลล์เพศชาย (XY)
ข้อเสียที่คาดไม่ถึงของการไม่ตรวจคัดกรองโครโมโซม
การเลือกที่จะไม่รับการตรวจคัดกรองหาโครโมโซมผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์ อาจนำไปสู่ผลเสียที่ไม่คาดคิดหลายประการ
ไม่รู้ก่อน ไม่ได้เตรียมความพร้อม
ถ้าไม่มีการตรวจคัดกรองโครโมโซม ความผิดปกติทางพันธุกรรมที่อาจเกิดขึ้นหรือความผิดปกติของโครโมโซมอาจไม่ถูกระบุไว้ก่อนจนถึงตอนลูกน้อยเกิดมา การวินิจฉัยโรคตั้งแต่เนิ่น ๆ สามารถช่วยให้คุณแม่และทุกคนเตรียมความพร้อมสำหรับสิ่งที่อาจเกิดขึ้น คุณแม่ได้รับการดูแลและการสนับสนุนทั้งทางการแพทย์และทางใจอย่างเหมาะสมจากคนรอบข้าง
เสริมสร้างสุขภาวะทางอารมณ์
การวินิจฉัยความผิดปกติของโครโมโซม การรอตรวจหลังคลอดอาจเป็นความทรมานใจ หากคุณแม่เข้ารับการตรวจก่อนคลอด รีบเข้ารับการตรวจให้เร็ว จะช่วยให้เกิดความชัดเจน ความสบายใจ ลดภาระทางอารมณ์ได้
ขาดความรู้ที่เหมาะสมในการรับมือ
ทำให้ไม่เข้าใจความต้องการพิเศษของเด็ก ๆ ที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม นำไปสู่ปัญหาในการดูแลเลี้ยงดู
ลดโอกาสได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทันท่วงที
เพราะถ้าไม่มีการตรวจพบแต่แรก การแทรกแซงทางการแพทย์ที่จะช่วยเหลือลูกน้อยที่คลอดออกมาและมีอาการผิดปกติอาจไม่ทันกาลหรือล่าช้า ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของลูกน้อยที่มีความผิดปกติได้
โครโมโซมคือสาเหตุของปัญหาการพัฒนาการลูกน้อยที่ต้องตรวจคัดกรองจึงจะรู้ได้ คุณแม่หลายท่านอาจจะกังวลหรือกลัวที่จะต้องเผชิญกับผลการคัดกรองที่ทำให้เป็นกังวล แต่ที่ต้องคัดกรองก็เพื่อเตรียมความพร้อม หากลูกน้อยปลอดภัยไม่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมก็เบาใจไปเปราะหนึ่ง แต่ถ้าผลการตรวจคัดกรองบอกความเสี่ยง คุณแม่และคนในครอบครัวรวมถึงคุณหมอจะได้เตรียมตัวด้วยกันให้พร้อมเพื่อให้คุณแม่ปลอดภัย และดูแลลูกน้อยในท้องตลอดจนดูแลหลังคลอดได้อย่างเหมาะสม
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- พัฒนาการทารกในครรภ์ 1-40 สัปดาห์ ที่แม่มือใหม่ห้ามพลาด
- อาการแพ้ท้องของคุณแม่ แพ้ท้องพะอืดพะอม แก้ยังไง พร้อมวิธีรับมือ
- อาการคนท้องระยะแรก สัญญาณการตั้งครรภ์เป็นแบบนี้
- เมนูคนท้อง อาหารคนท้องบำรุงคุณแม่ท้อง ดีต่อลูกในครรภ์
- คนท้องห้ามกินอะไร อาหารที่ส่งผลเสียต่อคุณแม่ตั้งครรภ์
- อาหารคนท้องไตรมาสแรก โภชนาการที่สำคัญสำหรับคุณแม่และทารกในครรภ์
- วิธีนับอายุครรภ์ คำนวณอายุครรภ์ด้วยตัวเอง ก่อนคลอด
- สัญญาณอาการใกล้คลอด เจ็บท้องคลอด อาการก่อนคลอดของคุณแม่
- บล็อกหลังผ่าคลอด คืออะไร เรื่องที่คุณแม่ต้องรู้ เกี่ยวกับการบล็อกหลัง
- ผ่าคลอด กี่สัปดาห์ ท้องกี่สัปดาห์คลอด ถึงปลอดภัยสำหรับลูกน้อย
- ของใช้เตรียมคลอด ที่คุณแม่มือใหม่ควรเตรียมของไปคลอด
- คุณแม่ผ่าคลอดได้กี่ครั้ง ผ่าคลอดมีลูกได้กี่คน ผ่าคลอดบ่อยอันตรายไหม
- ออกกําลังกายหลังคลอด สำหรับคุณแม่หลังผ่าคลอด
- ฤกษ์คลอด ฤกษ์ผ่าคลอด วันมงคล เวลาดี สำหรับลูกรัก
อ้างอิง:
- Chromosomes Fact Sheet, National Human Genome Research Institute
- Chromosomal Abnormalities in Pregnancy, Verywell Family
- First Trimester Screening, Nuchal Translucency and NIPT, Johns Hopkins Medicine
- Boy or girl? It’s in the father's genes, Newcastle University
- Pros and Cons of Genetic Screening During Pregnancy, Brattleboro Memorial Hospital
- โครโมโซมคืออะไร ส่งผลอย่างไรกับร่างกายมนุษย์, POBPAD
- NIPT ตรวจคัดกรองโครโมโซมทารกในครรภ์ เพื่ออนาคตที่สมบูรณ์ของลูกน้อย, โรงพยาบาลบำรุงราษฏร์
- การตรวจโครโมโซมและวินิจฉัยความผิดปกติทางพันธุกรรมของตัวอ่อน , โรงพยาบาลพญาไท
- ฝากครรภ์แต่ละครั้ง ตรวจอะไรบ้าง?, โรงพยาบาลเปาโล
อ้างอิง ณ วันที่ 22 มีนาคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง