ภาวะครรภ์เป็นพิษ อาการครรภ์เป็นพิษเริ่มแรก อันตรายไหม
การตั้งท้องอาจไม่ราบรื่นจนถึงตอนคลอดเสมอไป บางครั้งก็เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นให้ต้องอกสั่นขวัญหาย หนึ่งในเรื่องเหล่านั้นก็คือ อาการครรภ์เป็นพิษ เป็นอาการสืบเนื่องมาจากการมีความดันโลหิตสูง ซึ่งมีอาการอื่น ๆ มากมายจนคุณหมออาจจะทำคลอดให้คุณแม่ก่อนกำหนดเพื่อรักษาอาการนี้ก็ได้ การดูแลสุขภาพเริ่มต้นเพื่อลดความเสี่ยงของอาการนี้คือการฝากครรภ์และไปพบคุณหมอตามนัด
สรุป
- อาการครรภ์เป็นพิษเริ่มแรก คือ ความดันโลหิตสูง มีอาการบวมที่ขา-เท้าและมือ
- ภาวะครรภ์เป็นพิษมักเริ่มหลังจากตั้งครรภ์ได้ 20 สัปดาห์ หากไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ทั้งแม่และลูก
- หากพบว่าคุณแม่ท้องมีภาวะครรภ์เป็นพิษ สูตินรีแพทย์ที่ดูแลมักจะแนะนำให้ทำการคลอด ซึ่งระยะเวลาที่สูตินรีแพทย์จะให้คลอดนั้น ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของคุณแม่และความรุนแรงที่มีภาวะครรภ์เป็นพิษ
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- รู้จักอาการครรภ์เป็นพิษ คืออะไร
- อาการครรภ์เป็นพิษของคุณแม่ท้อง
- คุณแม่เสี่ยงครรภ์เป็นพิษ จะมีอาการแบบไหน
- คุณแม่ครรภ์เป็นพิษ เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
- สัญญาณเตือนของครรภ์เป็นพิษในคนท้อง
- ภาวะแทรกซ้อนจากครรภ์เป็นพิษ
- คุณแม่ครรภ์เป็นพิษ ต้องยุติการตั้งครรภ์ไหม
- วิธีการป้องกันและดูแลคุณแม่ครรภ์เป็นพิษ
รู้จักอาการครรภ์เป็นพิษ คืออะไร
อาการครรภ์เป็นพิษ (เดิมเรียกว่า ภาวะเป็นพิษในเลือด) เกิดขึ้นเมื่อมีความดันโลหิตสูงขณะที่คุณแม่ตั้งครรภ์ โดยพบว่ามีปริมาณโปรตีนมากเกินไปในปัสสาวะ และมีอาการคนท้องเท้าบวม และมือร่วมด้วย อาจจะมีอาการตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงเลย อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนคลอดและหลังคลอด ในช่วงก่อนคลอดสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงแรกของอายุครรภ์ที่ 20 สัปดาห์ และโดยทั่วไปพบในอายุครรภ์ 34 สัปดาห์เป็นต้นไป
อาการครรภ์เป็นพิษของคุณแม่ท้อง
นอกเหนือจากอาการบวม (บวมน้ำ) ปริมาณโปรตีนส่วนเกินในปัสสาวะ และความดันโลหิตที่วัดได้มากกว่า 140/90 อาการครรภ์เป็นพิษยังปรากฏว่ามีอาการอื่น ๆ ต่อไปนี้ด้วย
น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
น้ำหนักตัวอาจเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติในช่วง 1-2 วัน เนื่องจากมีการสะสมของเหลวในร่างกายมากเกินไป ซึ่งอาจนำไปสู่อาการบวมที่รุนแรงขึ้น
ปวดไหล่
อาการปวดบริเวณไหล่หรือหลังส่วนบน อาจสัมพันธ์กับความดันที่เพิ่มขึ้นและการไหลเวียนโลหิตที่ผิดปกติ
ปวดท้อง โดยเฉพาะบริเวณด้านขวาบน
มักเกิดจากความดันในตับที่เพิ่มสูงขึ้น อาจเป็นสัญญาณเตือนของการทำงานผิดปกติของอวัยวะภายใน
ปวดศีรษะรุนแรง
อาการปวดหัวที่ไม่ตอบสนองต่อยาหรือการพักผ่อน อาจเกิดจากความดันโลหิตที่สูงขึ้น
การตอบสนองหรือสภาพจิตใจเปลี่ยนแปลง
อาจรู้สึกมึนงง สับสน หรือมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากปกติ ซึ่งบ่งบอกถึงการทำงานผิดปกติของสมอง
ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่มีเลย
เป็นสัญญาณของไตที่ทำงานผิดปกติ ซึ่งมักพบในภาวะครรภ์เป็นพิษที่รุนแรง
เวียนศีรษะ
รู้สึกโคลงเคลงหรือเสียสมดุล ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการไหลเวียนของเลือดที่ผิดปกติ
หายใจติดขัดหรือหายใจลำบาก
อาจเกิดจากการสะสมของของเหลวในปอด หรือการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ
คลื่นไส้และอาเจียนรุนแรง
แม้ว่าจะเป็นอาการที่พบได้ในช่วงตั้งครรภ์ แต่หากเกิดอย่างรุนแรงร่วมกับอาการอื่น ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์
การมองเห็นผิดปกติ
เช่น เห็นแสงกะพริบ, ภาพเบลอ, หรือภาพซ้อน อาจเป็นผลจากความดันในสมองที่เพิ่มขึ้น
ในคุณแม่หลายท่านเป็นไปได้ว่าจะไม่มีอาการดังที่กล่าวไปแล้วแต่ว่าป่วยอยู่ เพื่อความปลอดภัยควรไปพบคุณหมอเพื่อตรวจความดันโลหิตและปัสสาวะเป็นประจำ
คุณแม่เสี่ยงครรภ์เป็นพิษ จะมีอาการแบบไหน
อาการครรภ์เป็นพิษเริ่มแรก คือ ความดันโลหิตสูง และอาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณซึ่งจะได้รับทราบจากคุณหมอหลังเข้ารับการตรวจ คือ
- มีโปรตีนมากเกินไปในปัสสาวะของคุณแม่
- เกล็ดเลือดในเลือดไม่พอที่ร่างกายจะทำงานได้เป็นปกติ
- สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับไตในเลือดอยู่ในระดับสูง
- สารเคมีที่เกี่ยวข้องกับตับในเลือดอยู่ในระดับสูง
- มีของเหลวในปอด
- อาการปวดหัวไม่ยอมหายไปเมื่อรับประทานยา
เพื่อยืนยันการวินิจฉัยหลังแจ้งให้คุณแม่รับทราบว่ากำลังเสี่ยงกับครรภ์เป็นพิษ คุณหมอจะทำการทดสอบให้กับคุณแม่ ดังนี้
- ตรวจเลือดเพื่อหาสารเคมีในไตหรือตับ
- ทดสอบปัสสาวะเพื่อวัดระดับโปรตีน
- อัลตราซาวด์ เพื่อจะดูว่าลูกน้อยของคุณแม่เติบโตดีอยู่หรือไม่
คุณแม่ครรภ์เป็นพิษ เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
ปัจจัยทางกายภาพอาจทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษ คุณแม่ควรพิจารณาปัจจัยเสี่ยงเพื่อดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม
1. ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงขั้นสูง
- มีประวัติการป่วยด้วยภาวะครรภ์เป็นพิษมาก่อน
- อุ้มท้องเตรียมคลอดลูกน้อยมากกว่าหนึ่งคน (กำลังมีลูกแฝด)
- อาการความดันโลหิตสูงเรื้อรัง
- โรคไต
- โรคเบาหวาน
- ภาวะภูมิต้านตนเอง เช่น โรคลูปัส
2. มีปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงระดับปานกลางอยู่หลายรายการ
- ตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก
- ระยะที่เริ่มตั้งครรภ์ปัจจุบันห่างจากการตั้งครรภ์ครั้งสุดท้ายมากกว่า 10 ปี
- ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30
- มีประวัติสมาชิกในครอบครัวมีอาการครรภ์เป็นพิษ (แม่หรือพี่น้องผู้หญิงมีอาการนี้มาก่อน)
- อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
- มีภาวะแทรกซ้อนในการตั้งครรภ์ที่ผ่านมา (เช่น มีลูกที่มีน้ำหนักแรกเกิดน้อย)
- มีภาวะปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF)
- เป็นคนชายขอบ (เพราะความไม่เท่าเทียมกันในสังคมจะเพิ่มความเสี่ยงให้เจ็บป่วย)
- กลุ่มผู้มีรายได้น้อย (เพิ่มความเสี่ยงที่พบกับความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และทำให้เสี่ยงที่จะเจ็บป่วยได้มากกว่า)
สัญญาณเตือนของครรภ์เป็นพิษในคนท้อง
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บางรายน้ำหนักอาจเพิ่มขึ้นถึง 4 กิโลกรัมภายใน 1 สัปดาห์
- บวม มีอาการบวมน้ำ เช่น ขาบวม
- ปวดศีรษะ อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นบ่อยหรือรุนแรง
- ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตมากกว่าหรือเท่ากับ 140/90 มิลลิเมตรปรอท หากสูงเกิน 160/110 มิลลิเมตรปรอท ถือว่ารุนแรงมาก
- จุกแน่นใต้ชายโครง รู้สึกแน่นหรือปวดบริเวณใต้ชายโครง
- ลูกตัวเล็กและเคลื่อนไหวน้อยลง ทารกโตช้าหรือตัวเล็ก ไม่ดิ้น หรือท้องไม่โตตามอายุครรภ์
ภาวะแทรกซ้อนจากครรภ์เป็นพิษ
1. เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่และลูกน้อย แพทย์อาจตัดสินใจให้คลอดก่อนกำหนด ซึ่งอาจส่งผลต่อสุขภาพของทารก
2. รกลอกตัวก่อนกำหนด
ภาวะนี้อาจทำให้เกิดการตกเลือดอย่างรุนแรงและเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
3. ทารกน้ำหนักน้อย
เนื่องจากการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ทารกอาจไม่เติบโตตามเกณฑ์
4. คุณแม่ชัก
หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณายุติการตั้งครรภ์เพื่อรักษาชีวิตคุณแม่
5. อวัยวะเสียหายรุนแรง
ภาวะนี้อาจทำให้อวัยวะสำคัญเสียหายและนำไปสู่การเสียชีวิต โดยอาจเกิดขึ้นอย่างกะทันหันโดยไม่มีสัญญาณเตือน
คุณแม่ครรภ์เป็นพิษ ต้องยุติการตั้งครรภ์ไหม
ยุติการตั้งครรภ์ คำพูดที่ฟังแล้วน่ากลัว แต่ที่จริงแล้วไม่ได้น่ากลัวเสมอไป เพราะยังหมายถึงการทำคลอด การให้คลอดทางช่องคลอดจะเป็นวิธีการที่ปลอดภัยในการรักษาอาการครรภ์เป็นพิษ การผ่าตัดคลอดหน้าท้องจะพิจารณาเป็นกรณีไป โดยมักจะเกิดขึ้นกรณีที่อาการครรภ์เป็นพิษรุนแรงมาก การทำคลอดทางช่องคลอด มีการนำคีมช่วยคลอดมาใช้ เพื่อไม่ให้คุณแม่ตั้งท้องเจ็บครรภ์มากหรือต้องออกแรงเบ่งมากเกินไป ซึ่งจะเป็นผลเสียทำให้ความดันเลือดสูงขึ้นอีกได้
วิธีการป้องกันและดูแลคุณแม่ครรภ์เป็นพิษ
การป้องกัน คือการทำให้ความเสี่ยงลดต่ำลง ไม่มีวิธีการป้องกันที่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์
- ดื่มน้ำวันละ 6 แก้ว หรือมากกว่า
- นอนหลับให้เต็มอิ่ม เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- ออกกำลังกายตามคำแนะนำของคุณหมอ
- หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ฝากครรภ์และพบคุณหมอเพื่อตรวจสุขภาพตามกำหนดการดูแล
- การดูแลเกิดขึ้นหลังการรักษาด้วยการผ่าคลอด
- ภายใน 24 ชั่วโมง ทีมของคุณหมอต้องเฝ้าระวังกัน เพราะมีโอกาสที่จะกลับมาความดันสูงและชักได้
- ภายใน 2 สัปดาห์ ร่างกายคุณแม่ที่ได้รับการพักฟื้นจะกลับมาเป็นปกติ
การพบคุณหมอตามนัด เข้ารับการตรวจสุขภาพ และการเฝ้าระวังสุขภาพตั้งแต่ระยะต้นของการตั้งครรภ์ เป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงของอาการครรภ์เป็นพิษได้ นอกจากนี้ยังเป็นการมอบโอกาสดี ๆ แสดงความรักให้กับทั้งตัวคุณแม่เองและลูกน้อยในครรภ์ด้วย เพราะความรักยกกำลังสองนี้จะช่วยให้ลูกน้อยได้เติบโตและมีพัฒนาการอย่างปลอดภัยภายใต้การดูแลของคุณแม่ที่แข็งแรงดีและมีความสุขไปด้วยกัน
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน คุณแม่เจ็บแผลผ่าตัดข้างใน อันตรายไหม
- สักทับรอยผ่าคลอดอันตรายไหม พร้อมวิธีดูแลรอยสักทับแผลผ่าคลอด
- ผ่าคลอดเจ็บไหม ผ่าคลอดดีไหม แม่ผ่าคลอดดูแลแผลผ่าคลอดยังไงดี
- คันแผลผ่าคลอด คุณแม่ทำยังไงดี พร้อมวิธีแก้อาการคันแผลผ่าคลอด
- ผ่าคลอดกินข้าวเหนียวได้ไหม คนท้องกินข้าวเหนียวได้ไหม
- ผ่าคลอดกินไข่ได้ไหม แม่หลังผ่าคลอดกินไข่ได้ไหม ห้ามกินอะไรบ้าง
- ท่านอนหลังผ่าคลอด ท่านอนคนผ่าคลอด คุณแม่นอนแบบไหนถึงดีที่สุด
- ผ่าคลอดเบ่งอุจจาระได้ไหม ท้องผูกหลังผ่าคลอด คุณแม่ทำยังไงดี
- คุณแม่ผ่าคลอดห้ามยกของหนักกี่เดือน ผ่าคลอดยกของหนักได้ตอนไหน
- ไหมละลายหลังคลอดกี่วันหาย แผลผ่าคลอดไหมละลายตอนไหน
อ้างอิง:
- Preeclampsia, WebMD
- ?รู้ทัน.. ครรภ์เป็นพิษ แม่ท้องต้องระวัง, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ภาวะครรภ์เป็นพิษ, โรงพยาบาลสินแพทย์
- ครรภ์เป็นพิษ ภาวะที่คุณแม่ต้องระวัง, โรงพยาบาลเพชรเวช
- ครรภ์เป็นพิษและโรคพิษแห่งครรภ์ระยะชัก, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ครรภ์เป็นพิษ ภาวะอันตรายของคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลสมิติเวช
อ้างอิง ณ วันที่ 26 มกราคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง