ลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน อันตรายไหม พ่อแม่รับมืออย่างไรดี
ทำเอาคุณพ่อคุณแม่ตกอกตกใจกันมากเลยค่ะ เพราะอยู่ ๆ ลูกก็มีเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน จริง ๆ แล้วสาเหตุของเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืนมีอยู่หลายปัจจัยค่ะ ที่เป็นเหตุทำให้ลูกมีเลือดกำเดาไหลออกมาจากจมูก สำหรับอาการเลือดกำเดาไหลเป็นอาการที่สามารถพบได้ในเด็กทั้งที่ไม่เป็นอันตราย แต่ในบางครั้งที่มีเลือดกำเดาไหลอาจสื่อถึงสัญญาณความผิดปกติบางอย่าง ได้เช่นกันค่ะ
PLAYING: ลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน อันตรายไหม พ่อแม่รับมืออย่างไรดี
สรุป
- ลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน ส่วนหนึ่งอาจมาจากอุณหภูมิอากาศภายในห้องนอนมีความร้อนและแห้ง ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ ส่งผลให้เส้นเลือดตรงบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกแห้ง จนจับตัวเป็นเกร็ด และแตกออกเมื่อถูกสัมผัสแรง ๆ
- ลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน อาจมีอาการของโรคเกี่ยวกับจมูกบางโรคจนทำให้เกิดการระคายเคืองและคัดจมูก เช่น ไข้หวัด ภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเกิดเลือดกำเดาไหลได้ถ้าหากมีการสั่งน้ำมูกบ่อย ๆ
- ลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน แนะนำให้รับประทานอาหารที่ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับหลอดเลือดฝอย ด้วยการรับประทานผัก ผลไม้ หรือวิตามินซี (ตามที่แพทย์แนะนำในเด็ก) เพื่อกระตุ้นเสริมให้หลอดเลือดฝอยในจมูกมีความแข็งแรง ช่วยทำให้เลือดกำเดาไหลออกน้อยลง
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- เลือดกำเดาไหลตอนกลางคืนในเด็ก เป็นเรื่องปกติไหม
- ลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน เป็นเพราะอะไร
- วิธีดูแลลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน
- ลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืนบ่อย ๆ เป็นสัญญาณของโรคร้ายหรือเปล่า
- ลูกน้อยเลือดกำเดาไหล ป้องกันอย่างไรได้บ้าง
- ลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืนบ่อย ๆ ให้กินอะไรดี
- ลูกเลือดกำเดาไหลแบบไหน เป็นอันตราย
อาการเลือดกำเดาไหล (Epistaxis/Nosebleeds) เป็นภาวะที่มีเลือดไหลออกทางโพรงจมูกอาจจะไหลข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้เช่นกัน เลือดกำเดาไหลที่ไหลออกมาจากจมูกจะมีอยู่ 2 ตำแหน่ง ได้แก่ ตำแหน่งโพรงจมูกส่วนหน้า ที่เกิดขึ้นได้บ่อยในเด็ก เนื่องจากเป็นตำแหน่งของหลอดเลือดฝอยตรงบริเวณที่เกิดการแตกได้ง่าย และอีกตำแหน่งที่ทำให้เกิดเลือดกำเดาไหลออกมาแต่เกิดขึ้นไม่บ่อย คือตำแหน่งโพรงจมูกส่วนหลัง เนื่องจากหลอดเลือดมีขนาดที่ใหญ่กว่าบริเวณด้านหลังโพรงจมูก
เลือดกำเดาไหลตอนกลางคืนในเด็ก เป็นเรื่องปกติไหม
เลือดกำเดาไหลส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตราย เนื่องจากเส้นเลือดภายในโพรงจมูกมีความเปราะบางและแตกหักได้ง่าย ในเด็กที่มีเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน ส่วนหนึ่งอาจมาจากอุณหภูมิอากาศภายในห้องนอนมีความร้อนและแห้ง ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ ส่งผลให้เส้นเลือดตรงบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกแห้ง จนจับตัวเป็นเกร็ด และแตกออกเมื่อถูกสัมผัสแรง ๆ เช่น มีการจามบ่อย ๆ ล้วงหรือมีการแคะจมูก
ลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน เป็นเพราะอะไร
เลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน หรือตอนที่กำลังนอนหลับอยู่ อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยที่เป็นเหตุทำให้เลือดกำเดาไหลออกจากจมูก ได้แก่
- อุณหภูมิอากาศภายในห้องนอนมีความร้อนและแห้ง ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำ ส่งผลให้เส้นเลือดตรงบริเวณเยื่อบุโพรงจมูกแห้ง จนจับตัวเป็นเกร็ด และแตกออกเมื่อถูกสัมผัสแรง ๆ
- เกิดอุบัติเหตุ เช่น ขณะลุกขึ้นไปเข้าห้องน้ำแล้วเกิดสะดุดจนทำให้ลื่นล้มลงไปแล้วบริเวณจมูก ศีรษะ หรือใบหน้ามีการได้รับแรงกระแทกที่รุนแรง
- ไม่สบายแล้วมีการใช้ยาบางชนิด ที่ทำให้โพรงจมูกแห้งมากส่งผลให้เลือดกำเดาไหล
- มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในจมูก
- มีอาการของโรคเกี่ยวกับจมูกบางโรคจนทำให้เกิดการระคายเคืองและคัดจมูก เช่น ไข้หวัด ภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบ ซึ่งจะทำให้เด็ก ๆ มีโอกาสเกิดเลือดกำเดาไหลได้ถ้าหากมีการสั่งน้ำมูกบ่อย ๆ
วิธีดูแลลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน
หากลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืน คุณพ่อคุณแม่สามารถปฐมพยาบาลให้ลูกเบื้องต้นได้ดังนี้ค่ะ
- คุณแม่อุ้มหรือจับตัวลูก โดยให้ลูกนั่งตัวเอียงไปข้างหน้า แล้วให้ศีรษะก้มลงมาเล็กน้อย เพื่อทำให้เลือดไหลออกทางจมูกป้องกันไม่ให้เลือดไหลลงคอ การที่เลือดไหลลงคอจะทำให้อาเจียนเป็นเลือดออกมาได้
- จากนั้นให้ใช้มือบีบบริเวณปีกจมูกลูกเบา ๆ ให้ได้อย่างน้อย 10 นาที ทั้งนี้หากเลือดกำเดายังไหลออกมาไม่หยุดนานเกิน 30 นาที ให้รีบไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันที
ลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืนบ่อย ๆ เป็นสัญญาณของโรคร้ายหรือเปล่า
หากลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืนบ่อยครั้งเกินไป ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคต่าง ๆ ได้เช่นกัน ได้แก่
- โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
- มีภาวะเลือดออกผิดปกติ
- มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน (Immune thrombocytopenia: ITP)
- โรคเลือดออกทางพันธุกรรม หรือ ภาวะเส้นเลือดฝอยขยายตัว
- โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
- โรคริดสีดวงจมูก
- โรคมะเร็งในโพรงจมูก
- โรคมะเร็งหลังโพรงจมูก
- มีเนื้องอกขึ้นในจมูก
ลูกน้อยเลือดกำเดาไหล ป้องกันอย่างไรได้บ้าง
หากคุณแม่รู้ว่าลูกมักจะมีอาการเลือดกำเดาไหลบ่อย ๆ สามารถที่จะดูแลและป้องกันเบื้องต้นให้กับลูกได้ค่ะ แต่ทั้งนี้ในทุกครั้งที่ลูกมีอาการเลือดกำเดาไหลที่ออกมามากและไหลไม่หยุด แนะนำว่าต้องไปพบแพทย์ทันที
- ก่อนพาลูกเข้านอน ควรป้องกันไม่ให้บริเวณเยื่อบุจมูกแห้ง โดยปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการที่ถูกต้อง เพื่อช่วยลดการเกิดอาการคัน ช่วยลดการแคะแกะจมูก
- ปรับสภาพอากาศภายในห้องนอนให้มีอุณหภูมิที่พอดี ไม่ร้อนและอากาศไม่แห้งจนเกินไป
ลูกเลือดกำเดาไหลตอนกลางคืนบ่อย ๆ ให้กินอะไรดี
หากคุณแม่ดูแลให้ลูก ๆ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง สามารถช่วยป้องกันเลือดกำเดาไหลได้ค่ะ ซึ่งการดูแลอย่างง่ายเบื้องต้นคือการรับประทานอาหารที่ช่วยสร้างความแข็งแรงให้กับหลอดเลือดฝอย ด้วยการให้ลูกรับประทานผัก ผลไม้ หรือวิตามินซี (ตามที่แพทย์แนะนำในเด็ก) เพื่อกระตุ้นเสริมให้หลอดเลือดฝอยในจมูกมีความแข็งแรง ช่วยทำให้เลือดกำเดาไหลออกน้อยลงค่ะ
ผักที่มีวิตามินซีสูง
- พริกหวาน มีวิตามินซี 80.4 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม
- บรอกโคลี มีวิตามินซี 89.2 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม
- ผักคะน้า มีวิตามินซี 147 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม
- ใบมะรุม มีวิตามินซี 141 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม
ผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง
- ส้ม มีวิตามินซี 53.2 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม
- มะขามป้อม มีวิตามินซี 276 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม
- สตรอเบอร์รี มีวิตามินซี 58.8 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม
- ฝรั่ง มีวิตามินซี 160 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม
- ลิ้นจี่ มีวิตามินซี 71.5 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม
ลูกเลือดกำเดาไหลแบบไหน เป็นอันตราย
หากพบว่าลูกมีเลือดกำเดาไหล และมีอาการร่วมเหล่านี้เกิดขึ้นด้วย แนะนำให้รีบพาไปโรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์ทันทีค่ะ
- เลือดกำเดาไหลไม่หยุด เกินกว่า 5 นาที
- เลือดกำเดาไหลเป็นลิ่มเลือด
- หายใจลำบาก
- ชีพจรเต้นเร็ว กว่าปกติ
- ตัวซีด ริมฝีปากซีด
- หน้ามืด เวียนศีรษะ จะเป็นลม
- เลือดกำเดาไหลซ้ำรูจมูกข้างเดิมข้างเดียว
- เลือดกำเดาไหลออกมามากผิดปกติ
สำหรับเลือดกำเดาที่ไหลออกจมูกทั้งหมด ร้อยละ 90 มักพบในเด็ก ซึ่งเป็นเลือดออกมาจากด้านหน้าของโพรงจมูก โดยมากเลือดจะไหลออกไม่มาก และสามารถหยุดได้เอง แต่ทั้งนี้หากคุณแม่ได้มีการปฐมพยาบาลเพื่อหยุดเลือดกำเดาให้ลูกแล้วไม่ดีขึ้นภายใน 5 นาที เลือดยังคงไหลออกมาอยู่อย่างต่อเนื่อง แนะนำให้พาลูกไปโรงพยาบาลทันทีค่ะ และที่สำคัญเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เลือดกำเดาไหล หรือไหลออกมาน้อยที่สุด การดูแลให้ลูกมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากค่ะ แนะนำให้พาลูกออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และให้รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เพิ่มการกินผัก ผลไม้ที่มีวิตามินซี เพื่อช่วยให้หลอดเลือดฝอยในจมูกมีความแข็งแรง ช่วยให้ไม่เกิดการแตกหักได้ง่ายค่ะ
บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย
- พัฒนาการเด็ก 1 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 2 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 3 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 4 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 5 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 6 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 7 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 8 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 9 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 10 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 11 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
อ้างอิง:
- เมื่อลูกน้อยเลือดกำเดาไหลบ่อย ทำความเข้าใจสาเหตุและข้อควรปฏิบัติ, POBPAD
- เลือดกำเดาไหล, MedPark Hospital
- เลือดกำเดาไหลตอนที่กำลังนอนหลับอยู่ เกิดจากอะไร อันตรายไหม, POBPAD
- เลือดกำเดาไหลในเด็ก, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- 10 ผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงที่สุด, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปราจีนบุรี กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
- เลือดกำเดาไหล สัญญาณเตือนภัยโรคร้าย อันตรายกว่าคิด, โรงพยาบาลพญาไท
- เลือดกำเดาไหล (Epistaxis) ตอนที่ 1, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
อ้างอิง ณ วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567