เด็กก้าวร้าว ลูกอารมณ์ร้าย ทำตัวไม่น่ารัก พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร
เด็กก้าวร้าว มักจะแสดงพฤติกรรมไม่น่ารักออกมาให้คนรอบตัวเห็น พฤติกรรมโมโหร้าย ขว้างปาสิ่งของ หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย อาละวาดเก่ง หากไม่ได้รับการดูแลที่ถูกต้อง อาจกลายเป็นอุปนิสัยติดตัวไปจนโต ทำให้เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตทั้งการเรียน การทำงาน และชีวิตครอบครัวที่ไม่สำเร็จราบรื่นได้ เด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวควรเข้ารับคำปรึกษาและแก้ไขจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
สรุป
- เด็กก้าวร้าวจะมีพฤติกรรมที่เรียกว่า Conduct Behavior คือพฤติกรรมเกเร เป็นพฤติกรรมของเด็กที่ชอบใช้ความรุนแรง ตั้งแต่ระดับความรุนแรงไม่มากไปจนถึงความรุนแรงขั้นสุด
- เด็กก้าวร้าว เป็นปัญหาที่มักเกิดขึ้นได้กับเด็กอายุตั้งแต่ 2-5 ปี เนื่องจากเป็นวัยที่ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ ของตัวเองได้ดีเท่าผู้ใหญ่
- พฤติกรรมก้าวร้าวในเด็ก สาเหตุมาจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ สภาพจิตใจ สภาพแวดล้อม และความเจ็บป่วยทางร่างกาย
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ปัญหาเด็กก้าวร้าว มักเกิดขึ้นในช่วงวัยไหน
- เด็กก้าวร้าว มีพฤติกรรมอย่างไร
- พฤติกรรมก้าวร้าวของลูก เกิดจากอะไรได้บ้าง
- พฤติกรรมก้าวร้าวแบบไหนที่พ่อแม่ไม่ควรปล่อยผ่าน
- เด็กก้าวร้าวมากแค่ไหน ต้องรีบไปปรึกษาแพทย์
- ไม่อยากให้เด็กก้าวร้าว ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญ
- ลูกอารมณ์ร้าย เป็นโรคทางจิตเวชหรือไม่
- เด็กก้าวร้าว รับมือยังไงให้ดีที่สุด
- เคล็ดลับสอนให้ลูกจัดการกับความโกรธได้ดีขึ้น
ทำไมลูกถึงชอบโกรธง่าย? ก้าวร้าวใส่ทุกคนรอบข้าง? เด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวเกิดจากปัจจัยหลายอย่างที่ซับซ้อน ทั้งปัจจัยภายในตัวเด็กเองและปัจจัยภายนอกที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมนี้ ปัญหา “เด็กก้าวร้าว” กลายเป็นเรื่องที่พ่อแม่หลายคนกังวลใจและไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร บทความนี้จะมาไขข้อข้องใจและเรียนรู้วิธีรับมือกับพฤติกรรมเด็กก้าวร้าวของลูกน้อยไปพร้อมกัน
ปัญหาเด็กก้าวร้าว มักเกิดขึ้นในช่วงวัยไหน
ปัญหาเด็กก้าวร้าว มักเกิดขึ้นได้กับเด็กอายุตั้งแต่ 2-5 ปี เนื่องจากเป็นวัยที่ยังไม่สามารถควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ ของตัวเองได้ดีเท่าผู้ใหญ่ เด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเด็กมีภูมิหลังของอารมณ์มาจากเด็กเลี้ยงยาก ปรับตัวได้ยากกว่าปกติ จึงทำให้เกิดความไม่พอใจและจะแสดงออกด้วยการอาละวาด
เด็กก้าวร้าว มีพฤติกรรมอย่างไร
เด็กก้าวร้าวจะมีพฤติกรรมที่เรียกว่า Conduct Behavior คือพฤติกรรมเกเร เป็นพฤติกรรมของเด็กที่ชอบใช้ความรุนแรง มักมีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎเกณฑ์หรือระเบียบต่าง ๆ เด็กก้าวร้าวจะมีพฤติกรรมเกเรได้ตั้งแต่ระดับความรุนแรงไม่มากไปจนถึงความรุนแรงขั้นสุด ได้แก่
- ชอบรังแก คุกคาม พาลเกเร ทำร้ายคน ทำร้ายสัตว์
- ชอบทะเลาะวิวาท ชกต่อย มีการใช้อาวุธ และไม่ใช้อาวุธ
- ชอบทำลายข้าวของทรัพย์สินของคนอื่น
- ชอบหนีเรียน โดดเรียน ตอนกลางคืนชอบหายออกจากบ้าน
- ชอบขโมย พูดโกหก ปล้น จี้ ข่มขืน
พฤติกรรมก้าวร้าวของลูก เกิดจากอะไรได้บ้าง
เด็กก้าวร้าว สาเหตุของพฤติกรรมก้าวร้าวของลูก เกิดขึ้นได้จาก 3 ปัจจัย ได้แก่
- สภาพจิตใจ: เกิดจากพื้นฐานทางบุคลิกภาพของเด็กที่ได้รับมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ที่อาจตามใจมากจนเกินไป ทำให้เด็กมีความรู้สึกทางอารมณ์ที่มากกว่าปกติ คือเป็นคนเจ้าอารมณ์ ขี้โมโห ไม่มีความอดทน ไม่สามารถรอคอยอะไรได้นาน เป็นต้น
- สภาพแวดล้อม: เกิดจากพื้นฐานทางครอบครัว เด็กมาจากครอบครัวที่แก้ปัญหาด้วยการใช้ความรุนแรง เป็นต้น
- ความเจ็บป่วยทางร่างกาย: เกิดจากระดับสารเคมีในสมองมีความผิดปกติ หรือเป็นโรคออทิสติก ไบโพลาร์ สมาธิสั้น เป็นต้น
พฤติกรรมก้าวร้าวแบบไหนที่พ่อแม่ไม่ควรปล่อยผ่าน
หากลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก้าวร้าวใส่คนรอบข้าง เช่น ลูกมีการใช้กำลังทำร้ายเพื่อน หรือเด็กคนอื่นที่เล่นอยู่ด้วยกัน คุณพ่อคุณแม่ควรแยกลูกออกและบอกเขาว่า เขาจะอดเล่นกับคนอื่น หากทำร้ายเพื่อน เพื่อให้ลูกรู้ถึงผลจากพฤติกรรมที่ก้าวร้าว
เด็กก้าวร้าวมากแค่ไหน ต้องรีบไปปรึกษาแพทย์
เด็กก้าวร้าวที่มีพฤติกรรมทางอารมณ์ที่รุนแรง เช่น มีการทำร้าย หรือขว้างปาสิ่งของใส่คนรอบข้าง เพื่อนหรือคนในครอบครัว เด็กแสดงความก้าวร้าวต่อเนื่อง 2-3 สัปดาห์ ทำให้เด็กคนอื่น ๆ หวาดกลัว ควรรีบพาลูกไปปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการรักษาทันที
ไม่อยากให้เด็กก้าวร้าว ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญ
ครอบครัวคือรากฐานสำคัญที่มีอิทธิพลกับลูก หากไม่อยากให้ลูกเป็นเด็กก้าวร้าว ต้องการให้ลูกเติบโตขึ้นเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนโยน นิสัยดี พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ในการหล่อหลอมให้ลูกเป็นคนนิสัยดี เพื่อจะได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับคนอื่นได้อย่างเป็นปกติสุข ไม่สร้างความเดือนร้อนให้กับคนรอบข้าง
ลูกอารมณ์ร้าย เป็นโรคทางจิตเวชหรือไม่
ลูกอารมณ์ร้ายมีความก้าวร้าว ไม่ว่าจะเป็น การด่าเสียดสี ทำร้ายร่างกาย เป็นต้น อาจจะไม่ใช่อาการทางจิตเวชเสมอไปก็ได้ ซึ่งจะต้องขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงในพฤติกรรมของเด็กแต่ละคน แต่จะมีความรุนแรงของพฤติกรรมบางประเภทที่มีสาเหตุมาจากอาการทางจิตเวช เช่น โรคสมาธิสั้น
เด็กก้าวร้าว รับมือยังไงให้ดีที่สุด
พฤติกรรมก้าวร้าวในเด็ก เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยและส่งผลกระทบต่อทั้งตัวเด็กเองและคนรอบข้าง การรับมือกับเด็กก้าวร้าว คุณพ่อคุณแม่สามารถทำได้ดังนี้
- ไม่เพิกเฉยเมื่อเห็นเด็กก้าวร้าว เมื่อเห็นว่าลูกแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวใส่เพื่อน คนในครอบครัว หรือคนอื่น ให้ห้ามลูกและพาออกมาทันที เพื่อให้รู้ถึงผลของการกระทำที่ตัวเองได้ทำ และต้องสัญญาว่าจะไม่ทำอีก ถ้าอยากกลับไปเล่นกับกลุ่มเพื่อน
- ไม่ตอบโต้ด้วยความรุนแรง ไม่ดุด่าด้วยถ้อยคำรุนแรง หรือตะโกน ตะคอกกลับใส่ลูก เพราะพฤติกรรมดังกล่าวของคุณพ่อคุณแม่ อาจทำให้ลูกเข้าใจไปว่า การใช้อารมณ์หรือกำลังเมื่อมีความไม่พอใจเป็นสิ่งที่ถูกต้อง สามารถทำได้
- ตักเตือนอยู่เสมอ ทุกครั้งที่เห็นว่าลูกแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวไม่ว่าจะที่บ้านหรือนอกบ้าน พ่อแม่ต้องตักเตือนลูกอย่างเข้มงวด
- มีข้อตกลงและบทลงโทษ ให้พูดคุยกับลูก ทำการตกลงกันว่า ถ้าลูกมีพฤติกรรมก้าวร้าวกับเพื่อน หรือคนอื่น จะไม่สามารถเล่น หรือให้ทำกิจกรรมที่ลูกชอบได้กี่วัน หรือกี่สัปดาห์ เป็นต้น
- สอนให้ลูกยอมรับผิดและขอโทษ เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวไม่ดีใส่เพื่อน หรือคนอื่น ลูกควรต้องยอมรับผิดในเรื่องที่ได้กระทำไป และต้องรู้สึกสำนึกผิดจริง ๆ พร้อมกับขอโทษจากใจ
เคล็ดลับสอนให้ลูกจัดการกับความโกรธได้ดีขึ้น
เพื่อให้ลูกสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้ทั้งปัจจุบัน และในอนาคต หน้าที่สำคัญอยู่ที่คุณพ่อคุณแม่ในการสอนลูกให้สามารถจัดการกับอารมณ์โกรธของตัวเองให้ได้
- พ่อแม่เป็นต้นแบบที่ดีให้ลูก พ่อแม่มีบทบาทสำคัญมากในการปลูกฝังทักษะการจัดการความโกรธให้ลูก เพราะเด็กมักจะเรียนรู้โดยการเลียนแบบพฤติกรรมพ่อแม่ ดังนั้น การที่พ่อแม่แสดงให้เห็นถึงวิธีการจัดการความโกรธอย่างเหมาะสม จึงเป็นการสอนลูกโดยปริยาย
- ปล่อยให้ลูกอยู่กับตัวเองเมื่อมีอารมณ์โกรธ ในกรณีที่ลูกมีอารมณ์โกรธที่ไม่รุนแรง ควรปล่อยให้ลูกอยู่กับตัวเองสักพักจนอารมณ์เย็นลง คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยพูดคุยกับลูกถึงเรื่องที่เกิดขึ้น รับฟังลูก ไม่ควรตำหนิ แต่ให้เปลี่ยนเป็นการชี้ให้ลูกเห็นว่าผลของการกระทำไปเมื่อสักครู่จะมีผลอะไรที่ตามมาได้บ้าง
พฤติกรรมเด็กก้าวร้าว หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวกับเพื่อน หรือคนรอบข้าง อย่าลังเลที่จะหยุดพฤติกรรมไม่น่ารักนั้นของลูก รวมถึงสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำในการแก้ไขปัญหา การให้ความสำคัญกับพฤติกรรมของลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามและส่งผลกระทบในระยะยาวได้ การสร้างสภาพแวดล้อมที่อบอุ่น ปลอดภัย และเอื้อต่อการเรียนรู้ จะช่วยให้ลูกสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่
บทความแนะนำสำหรับพัฒนาการลูกน้อย
- โปรแกรม Baby Development เข้าใจพัฒนาการลูกน้อยแต่ละช่วงวัยเพื่อการเตรียมพร้อมของคุณแม่
- โปรแกรม PlayBrain ยิ่งเล่น สมองยิ่งแล่น โปรแกรมพัฒนาทักษะสมองลูกน้อยให้ตรงตามช่วงวัย ออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญสมองระดับโลก
- พัฒนาการเด็ก 1 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 2 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 3 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 4 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 5 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 6 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 7 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 8 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 9 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 10 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 11 เดือน พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
- พัฒนาการเด็ก 1 ขวบ พร้อมวิธีเสริมพัฒนาการลูก
อ้างอิง:
- อย่าปล่อยให้เด็กโมโหร้ายคุมความโกรธไม่ได้, โรงพยาบาลกรุงเทพ
- ลูกก้าวร้าว รับมืออย่างไร, โรงพยาบาลมานารมย์
- "เด็กก้าวร้าว" พฤติกรรมตามวัยจริงหรือ?, สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
- “ดื้อ เกเร ต่อต้าน ก้าวร้าว” นิสัยไม่ดีหรือโรคจิตเวช, โรงพยาบาลมานารมย์
- เด็กก้าวร้าว พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร ?, Pobpad
- อิทธิพลครอบครัว ที่ส่งผลต่อตัวเด็กโดยตรง, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- พฤติกรรมความรุนแรง เป็นอาการทางจิตเวชหรือไม่?, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
อ้างอิง ณ วันที่ 13 สิงหาคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง