เด็กตาแฉะ มีขี้ตาเยอะ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลตาแฉะในทารก
ทารกเป็นช่วงวัยที่ร่างกายและอวัยวะต่าง ๆ อาจเติบโตยังไม่เต็มที่ คุณแม่จึงต้องคอยดูแลลูกน้อยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพดวงตาที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม หากคุณแม่เห็นว่าลูกน้อยมีอาการน้ำตาไหลตลอดเวลาอาจเป็นสัญญาณของเด็กตาแฉะ หรือที่เรียกว่า “ภาวะท่อน้ำตาอุดตัน” อาการเด็กตาแฉะมีอาการอย่างไร จะอันตรายกับลูกน้อยไหม? และมีวิธีดูแลลูกน้อยอย่างไร? วันนี้เรามาทำความรู้จักกับภาวะเด็กตาแฉะในทารกกัน
สรุป
- อาการเด็กตาแฉะ เป็นอาการที่เด็กมีน้ำตาไหลออกมามากจนทำให้ลูกน้อยตาแฉะ ขี้ตาแฉะ หรือมีน้ำตาคลออยู่ตลอดเวลาทั้งที่เด็กไม่ได้ร้องไห้ พบมากในเด็กทารก โดยมักเกิดขึ้นกับเด็กทารกอายุ 1-2 เดือนหลังคลอด
- อาการเด็กตาแฉะ เกิดจากภาวะท่อน้ำตาอุดตันเนื่องจากน้ำตาไม่สามารถระบายทางท่อน้ำตาได้ จึงเกิดอาการสะสมในถุงน้ำตาจำนวนมากทำให้ลูกน้อยตาแฉะขึ้นมา
- เมื่อพบว่าลูกน้อยมีอาการของเด็กตาแฉะ ให้คุณแม่ดูแลลูกน้อยเบื้องต้นด้วยวิธีการทำความสะอาดบริเวณเปลือกตาด้วยน้ำต้มสุกสะอาด เพื่อไม่ให้มีขี้ตามาเกาะบริเวณดวงตา เพราะอาจเกิดการหมักหมมจนนำไปสู่การติดเชื้อหรือมีการอักเสบขึ้นได้
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- เด็กตาแฉะ เกิดจากอะไรได้บ้าง
- เด็กตาแฉะ อาการเป็นแบบไหน
- ทำความรู้จัก ภาวะท่อน้ำตาอุดตันในเด็ก
- เด็กตาแฉะ หายเองได้ไหม
- วิธีดูแลตาแฉะในทารกในเบื้องต้น ที่พ่อแม่ทำเองได้
- เคล็ดลับนวดตาให้ลูก บรรเทาอาการตาแฉะ
- เด็กตาแฉะและมีอาการร่วมแบบนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์
เด็กตาแฉะ เกิดจากอะไรได้บ้าง
อาการเด็กตาแฉะที่พบมากในเด็กทารก อาจเกิดจากพังผืดบริเวณท่อน้ำตาไม่เปิด ซึ่งเราเรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะท่อน้ำตาอุดตัน” อาการตาแฉะมักเกิดขึ้นกับเด็กทารกอายุ 1-2 เดือนหลังคลอด เนื่องจากช่วง 1-2 เดือนแรกต่อมน้ำตาของทารกยังไม่สามารถสร้างน้ำตาได้ โดยอาจเกิดจากท่อน้ำตาที่ต่อเข้ากับบริเวณจมูกเกิดภาวะผิดปกติ ทำให้ไม่สามารถเปิดเข้าสู่โพรงจมูกได้ เมื่อต่อมน้ำตาที่สร้างออกมาเพื่อหล่อลื่นดวงตาไม่สามารถระบายได้ จึงเกิดการสะสมของน้ำตาในถุงน้ำตาจำนวนมากจนตาลูกน้อยแฉะ
เด็กตาแฉะ อาการเป็นแบบไหน
อาการเด็กตาแฉะ เป็นอาการที่เด็กมีน้ำตาไหลออกมามาก จนทำให้ลูกน้อยตาแฉะ ขี้ตาแฉะ หรือมีน้ำตาคลออยู่ตลอดเวลา ทั้งที่เด็กไม่ได้ร้องไห้ ในเด็กบางรายอาจมีอาการตาบวมแดงด้วย โดยอาจพบอาการตาแฉะที่เป็นข้างเดียวหรือสองข้างเลยก็ได้ ซึ่งอาการนี้พบได้บ่อยในเด็กทารก โดยอาการจะเป็น ๆ หาย ๆ จนถึงช่วงระยะเวลาหนึ่งอาการตาแฉะจะดีขึ้น แต่ในเด็กบางรายอาการตาแฉะอาจรุนแรงมากขึ้นหรือมีปัญหาเรื้อรัง หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจเกิดการอักเสบและลุกลามเข้าไปในดวงตาถึงขึ้นติดเชื้อได้
ทำความรู้จัก ภาวะท่อน้ำตาอุดตันในเด็ก
ท่อน้ำตาอุดตัน เป็นอาการที่เด็กมีน้ำตาไหลมากจนทำให้ตาแฉะโดยที่ลูกน้อยไม่ได้ร้องไห้ สาเหตุมาจากพังผืดในท่อน้ำตาไม่เปิด หรือท่อน้ำตาอุดตัน เนื่องจากท่อน้ำตาที่ต่ออยู่กับบริเวณจมูกผิดปกติไม่สามารถเปิดออกได้ ทำให้น้ำตาที่สร้างขึ้นมาเพื่อหล่อลื่นตาล้นออกมา จึงเกิดอาการน้ำตาไหลบ่อย ๆ ขี้ตาแฉะ หรือมีอาการตาบวมแดง เมื่อปล่อยไว้นาน ๆ อาจทำให้เกิดการสะสมของขี้ตาจนทำให้เกิดการติดเชื้อและสามารถ ทำให้ลูกน้อยมีอาการอักเสบบริเวณถุงน้ำตาได้
- เด็กตาแฉะ: ลูกน้อยจะมีน้ำตาไหลคลอหรือเป็นหยดน้ำใสตลอดทั้งวัน
- ขี้ตาเป็นสีเขียว: เมื่อน้ำตาไหลออกมามาก อาจเกิดการอักเสบติดเชื้อทำให้ลูกน้อยมีขี้ตาเป็นสีเขียว
- ก้อนที่หัวตา: เมื่อลูกน้อยมีภาวะท่อน้ำอุดตัน คุณแม่อาจจะคลำเจอก้อนที่บริเวณหัวตา พอกดบริเวณก้อนจะทำให้น้ำตาทะลักออกมาจำนวนมาก
- มีอาการบวมแดง: เมื่อน้ำตาที่สะสมอยู่จำนวนมากทำให้เกิดการระคายเคือง คุณแม่อาจเห็นว่าบริเวณดวงตาของลูกน้อยมีอาการอักเสบ บวมแดงร่วมด้วย
เด็กตาแฉะ หายเองได้ไหม
อาการเด็กตาแฉะที่เกิดจากภาวะท่อน้ำตาอุดตันโดยมากสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องทำการรักษาเมื่อลูกน้อยมีอายุ 3-6 เดือน ในกรณีที่ลูกน้อยมีอาการตาแฉะมากสามารถดูแลได้ด้วยวิธีการนวดท่อน้ำตา เพื่อเปิดรูท่อน้ำตา โดยทั่วไปแล้วเด็กทารกกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์ จะหายเป็นปกติ แต่ถ้ายังไม่หายแนะนำให้คุณแม่พาลูกน้อยไปหาหมอเพื่อที่คุณหมอจะได้ให้แนวทางในการรักษาภาวะท่อน้ำตาอุดตันในเด็กเช่นวิธีการแยงท่อน้ำตา หรือการใส่ท่อซิลิโคนระบายน้ำตา หากลูกน้อยมีอาการมาก เกิดการอักเสบจนเป็นหนองคุณหมออาจใช้วิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดท่อน้ำตา หรือแยงท่อน้ำตา เพื่อรักษาอาการท่อน้ำตาอุดตันในทารก
วิธีดูแลตาแฉะในทารกเบื้องต้น ที่พ่อแม่ทำเองได้
หากคุณแม่พบว่าเด็กตาแฉะ สามารถดูแลลูกน้อยเบื้องต้นด้วยวิธีการทำความสะอาดบริเวณเปลือกตาด้วยน้ำเกลือ หรือน้ำอุ่น ดังนี้
- เช็ดด้วยน้ำเกลือ: คุณแม่สามารถใช้น้ำเกลือทางการแพทย์ชุบกับสำลี มาเช็ดทำความสะอาดบริเวณเปลือกตาที่มีคราบน้ำตาของลูกน้อยออกได้
- เช็ดด้วยน้ำอุ่น: คุณแม่สามารถใช้น้ำสะอาดต้มสุก มาเช็ดทำความสะอาดบริเวณเปลือกตา และขนตาให้ลูกน้อยเพื่อไม่ให้มีขี้ตามาเกาะบริเวณดวงตา เพราะอาจเกิดการหมักหมมจนนำไปสู่การติดเชื้อหรือมีการอักเสบขึ้นมาได้
เคล็ดลับนวดตาให้ลูก บรรเทาอาการตาแฉะ
เมื่อลูกน้อยมีอาการตาแฉะ คุณหมออาจแนะนำให้คุณแม่นวดบรรเทาอาการเบื้องต้นเพื่อระบายน้ำตาที่ค้างอยู่ในถุงน้ำตา และยังเป็นการช่วยเปิดรูท่อน้ำตาให้ขยายใหญ่ขึ้นได้ โดยมีวิธีการ คือ ให้คุณแม่นวดที่บริเวณหัวตาของลูกน้อยประมาณ 20-30 ครั้ง ทั้งเช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน หากคุณแม่นวดถุงน้ำตาให้ลูกแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือนวดแล้วน้ำตาไม่ไหลแถมยังมีการอักเสบขึ้นมาอีก แนะนำให้คุณแม่ปรึกษาคุณหมอเพื่อขอรับคำแนะนำดูแลหรือการรักษาในขั้นต่อไป
คุณแม่สามารถทำได้ด้วยการนำสำลีไปชุบกับน้ำอุ่นหรือน้ำสะอาดต้มสุก จากนั้นเช็ดทำความสะอาดที่บริเวณเปลือกตาและขนตาไม่ให้มีขี้ตาเกาะ โดยไม่จำเป็นต้องประคบที่ตาของลูกน้อย
เด็กตาแฉะและมีอาการร่วมแบบนี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์
- ดูแลเบื้องต้นแล้วอาการไม่เบาลง: หลังจากคุณแม่ได้เช็ดทำความสะอาดเปลือกตาและนวดถุงน้ำตาแล้วแต่อาการยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้คุณแม่ปรึกษาคุณหมอทันทีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบลุกลามรุนแรงไปมากกว่าเดิม
- มีหนองที่หัวตา: หากคุณแม่ปล่อยให้อาการตาแฉะของลูกน้อยแย่ลง จนเกิดการหมักหมมของน้ำตา อาจทำให้เกิดการอักเสบจนเป็นหนอง คุณแม่ควรปรึกษาคุณหมอเพื่อที่คุณหมอจะได้แนะนำวิธีการดูแลในขั้นตอนต่อไป
- ตาอักเสบ ตาแดง: อาการตาอักเสบ ตาแดง ขี้ตาเยอะ เกิดจากการที่ลูกตาแฉะมาก ๆ เพราะน้ำตาไหลไม่หยุด หากไม่ได้ดูแล เช็ดทำความสะอาดขี้ตาหรือเปลือกตาที่ดีพอ อาจทำให้เด็กเกิดการระคายเคืองจนเกิดการอักเสบและติดเชื้อขึ้นมาได้ คุณแม่ควรรีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที
อาการเด็กตาแฉะ เป็นอาการที่พบได้บ่อยของทารกช่วงแรกเกิด หากพบว่าลูกมีน้ำตาไหลมาก ตาแฉะ มีขี้ตาเกาะเยอะ อาจลองใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกสะอาด เช็ดทำความสะอาดบริเวณเปลือกตาและขนตาให้กับลูกน้อยในเบื้องต้นก่อน และอาจขอคำปรึกษา วิธีดูแลลูกน้อยด้วยการนวดจากคุณหมอ หากอาการยังไม่ดีขึ้น เป็นมากและเรื้อรัง อักเสบบวมแดงถึงขั้นเป็นหนอง แนะนำให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเป็นสัญญาณของการอักเสบและติดเชื้อได้
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- 11 วิธีการเลี้ยงทารกแรกเกิด - 1 เดือน ที่พ่อแม่มือใหม่ต้องรู้
- ตารางการนอนของทารก 0-1 ปี ทารกควรนอนวันละกี่ชั่วโมง
- วิธีจับลูกเรอ ท่าอุ้มเรอเมื่อลูกไม่เรอ ช่วยให้ลูกสบายท้องหลังอิ่มนม
- ทารกไม่ยอมนอน ลูกร้องไห้งอแง นอนหลับยาก พร้อมวิธีรับมือ
- เด็กทารกสะอึก เกิดจากอะไร วิธีไหนที่ช่วยบรรเทาอาการลูกสะอึก
- ทารกตัวเหลือง เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกตัวเหลือง
- วิธีห่อตัวทารกที่ถูกต้อง ให้ลูกน้อยสบายตัว เหมือนอยู่ในท้องแม่
- สายสะดือทารก สะดือใกล้หลุดเป็นแบบไหน พร้อมวิธีทำความสะอาด
- ทารกเป็นหวัดหายใจครืดคราด ลูกเป็นหวัดหายใจไม่สะดวกทําไงดี
- ลูกหายใจครืดคราดแต่ไม่มีน้ำมูก เกิดจากอะไร อันตรายกับลูกน้อยไหม
อ้างอิง:
- ท่อน้ำตาอุดตัน, โรงพยาบาลบางปะกอก 9
- ท่อน้ำตาอุดตัน… คุณแม่มือใหม่ต้องระวัง!, โรงพยาบาลเปาโล
- ท่อน้ำตาตันในเด็ก คุณพ่อคุณแม่ควรสักเกตตรวจเช็กให้ดี, โรงพยาบาลพญาไท
- ภาวะท่อน้ำตาตันในเด็กเล็ก (Congenital NLDO), โรงพยาบาลตา หู คอ จมูก
- การพยาบาลผู้ป่วยท่อน้ำตาอุดตันแต่กำเนิด, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- เด็ก 10 เดือน ตาแฉะ มีน้ำตาและขี้ตาข้างเดียว เป็นประมาณ 2 สัปดาห์ เกิดจากอะไร และมีวิธีรักษาอย่างไร, Pobpad
อ้างอิง ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง