ทารกอุจจาระมีมูก ลูกท้องเสียถ่ายมีมูกเลือด แบบไหนที่ต้องระวัง
อีกหนึ่งความกังวลของคุณพ่อคุณแม่มือใหม่เกี่ยวกับอุจจาระทารก นอกจากการสังเกตสีอุจจาระ และนับจำนวนครั้งที่ลูกขับถ่ายแล้ว ลักษณะอุจจาระของทารกก็เป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่กังวล ทารกอุจจาระมีมูก เกิดจากอะไร ลูกท้องเสียหรือเปล่า หรือหากลูกท้องเสียถ่ายมีมูกเลือด ยังถือว่าปกติไหม บทความนี้มีคำตอบ
สรุป
- ทารกอุจจาระมีมูกปนเล็กน้อยถือเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากมูกจะช่วยเคลือบลำไส้ ย่อยอาหาร และช่วยให้ถ่ายอุจจาระออกมาได้สะดวก
- เมื่อเริ่มอาหารตามวัย หรือเมื่อเปลี่ยนอาหาร ทารกอาจอุจจาระมีมูกปนมากขึ้น แสดงว่า ระบบลำไส้ของทารกอาจเกิดการระคายเคือง ให้งดอาหารชนิดนั้น ๆ ก่อน
- หากลูกท้องเสียถ่ายมีมูกเลือด อาจเกิดการติดเชื้อในลำไส้ ควรพาลูกไปพบแพทย์
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ทารกที่กินแต่นมแม่ อุจจาระควรเป็นแบบไหน
- ทารกอุจจาระมีมูกมากขึ้นได้เพราะเริ่มกินอาหาร
- ลูกท้องเสียถ่ายมีมูกเลือด บ่งบอกอะไร
- ลูกอุจจาระมีมูก อาจเป็นอะไรได้บ้าง และมีอาการอย่างไร
- อาการร่วมรุนแรง ที่ไม่ควรมองข้าม
ทารกอุจจาระมีมูก น่ากังวลหรือเปล่า การที่พบมูกลักษณะเหนียวใสปริมาณเล็กน้อยในอุจจาระทารก เป็นเรื่องปกติ เว้นแต่จะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เนื่องจากลำไส้จะหลั่งมูกตามธรรมชาติที่ช่วยเคลือบลำไส้ ย่อยอาหาร และช่วยให้ถ่ายอุจจาระออกมาได้สะดวก บางครั้งมูกบางส่วนก็กลายเป็นอุจจาระ หากพบปริมาณมูกเล็กน้อยในผ้าอ้อม 1-2 ผืน โดยที่ไม่มีอาการอื่น ๆ มักจะไม่ใช่สัญญาณของการเจ็บป่วย แต่หากทารกอุจจาระมีมูกจำนวนมาก มีมูกในอุจจาระหลาย ๆ ครั้งติดต่อกัน หรือมีมูกร่วมกับอาการท้องเสีย อาจบ่งบอกถึงอาการแพ้ การติดเชื้อ หรือปัญหาอื่น ๆ
ทารกที่กินแต่นมแม่ อุจจาระควรเป็นแบบไหน
อุจจาระของทารกที่กินนมแม่ ปกติจะเป็นสีเหลืองมัสตาร์ด สีเขียว หรืออาจเป็นสีน้ำตาล โดยทั่วไปจะมีลักษณะเหนียว และอาจมีมูกเหลว ๆ ดูเหมือนอาการท้องเสีย แต่อุจจาระของทารกกินนมแม่ที่สุขภาพดีโดยทั่วไปจะมีกลิ่นหอม ต่างจากกลิ่นของอุจจาระทารกที่ท้องเสีย
ทารกบางคนที่ใช้เวลากินนมแม่แต่ละข้างน้อย อาจมีอุจจาระสีเขียว เป็นฟองได้ และหากทารกที่กินนมแม่อุจจาระมีมูกปน อาจเป็นเพราะทารกได้รับน้ำนมส่วนหน้ามากกว่าน้ำนมส่วนหลัง จึงควรให้ลูกใช้เวลาดูดนมแต่ละข้างให้นานขึ้น
ทารกอุจจาระมีมูกมากขึ้นได้เพราะเริ่มกินอาหาร
คุณแม่อาจสังเกตว่า อุจจาระของลูกมีลักษณะเปลี่ยนไปเมื่อเริ่มกินอาหารตามวัย อุจจาระของทารกอาจแข็งขึ้น อาจมีกลิ่นเปลี่ยนไปและมีกลิ่นแรงกว่าเดิม รวมถึงอาจพบกากอาหารที่ย่อยไม่หมดปนในอุจจาระทารกด้วย
หากทารกอุจจาระเหลว มีน้ำหรือมีมูกมากขึ้น แสดงว่า ระบบลำไส้ของทารกอาจเกิดการระคายเคืองเล็กน้อย ลองงดอาหารชนิดใหม่สักระยะหนึ่ง แต่คุณแม่อย่าเพิ่งกังวลใจ อาการแบบนี้อาจยังไม่ได้หมายความว่าลูกน้อยแพ้อาหาร แต่หากมีอาการมากขึ้นควรปรึกษาแพทย์
ลูกท้องเสียถ่ายมีมูกเลือด บ่งบอกอะไร
เมื่อลูกท้องเสีย นอกจากถ่ายเหลวแล้ว ปริมาณมูกในอุจจาระที่มากขึ้นอาจเกิดจากการติดเชื้อในลำไส้บางชนิด หากพบว่า ลูกท้องเสียถ่ายมีมูกเลือด อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความผิดปกติของลำไส้ ซึ่งมีการอักเสบด้วยสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคลำไส้อักเสบ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง หรือแม้แต่โรคมะเร็ง
ลูกอุจจาระมีมูก อาจเป็นอะไรได้บ้าง และมีอาการอย่างไร
ในบางกรณี ลูกอุจจาระมีมูก ก็เป็นสัญญาณที่บอกความผิดปกติได้ เช่น ท้องเสีย แพ้อาหาร ลูกท้องผูก หรือเกิดการติดเชื้อ เป็นต้น
- ท้องเสีย หากทารกถ่ายอุจจาระมีมูกปน ร่วมกับอาการถ่ายบ่อยกว่าปกติ และมีอาการเจ็บปวด เช่น ร้องไห้ เกร็งร่างกาย หรือการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ ปัสสาวะน้อยลง ซึ่งอาจส่งสัญญาณถึงภาวะขาดน้ำ ควรให้ลูกกินน้ำและนมเยอะ ๆ เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากทารกกินนมแม่เพียงอย่างเดียว ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าทารกกินบ่อยเพียงพอ อาการท้องเสียจะค่อย ๆ หายไปเอง
ในทารกอายุต่ำกว่า 3 เดือน หากท้องเสียเป็นเวลานานหรือรุนแรงอาจทำให้ร่างกายขาดน้ำอย่างรวดเร็ว อาจถึงแก่ ชีวิตได้ หากลูกแสดงอาการขาดน้ำ หรือท้องเสียนานกว่า 1-2 วัน หรือท้องเสียรุนแรง ให้รีบไปพบแพทย์ - แพ้อาหาร การแพ้อาหารและความไวต่ออาหารบางชนิดอาจทำให้ทารกถ่ายเหลวและมีมูกได้ ในทารกที่กินนมแม่ การเปลี่ยนแปลงการรับประทานอาหารของแม่กะทันหันอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้แพ้สารอาหารผ่านนมแม่ได้เช่นกัน สำหรับเด็กที่เริ่มกินอาหารตามวัยแล้วมีอาการถ่ายเหลว อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าลูกแพ้อาหารชนิดใหม่ได้
บางครั้งการเปลี่ยนแปลงอาหารของทารกอย่างกะทันหัน เช่น การเปลี่ยนสูตรใหม่ อาจทำให้เกิดอาการถ่ายเหลวได้ เป็นเวลา 2-3 วัน ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการเปลี่ยนอาหารของลูกน้อย เพื่อลดความเสี่ยงจาก การท้องเสียและปวดท้อง - ท้องผูก ภาวะขาดน้ำและท้องผูกอาจทำให้มูกจากลำไส้ใหญ่ออกจากร่างกาย ลูกอาจถ่ายอุจจาระมีมูกมากขึ้น หากอุจจาระแข็งมาก อาจมีเลือดปนออกมาด้วย ซึ่งเกิดจากการฉีกขาดเล็ก ๆ บริเวณทวารหนัก การดูแลให้ลูกดื่มน้ำหรือนมเยอะ ๆ เพื่อให้อุจจาระนิ่มลง หรือกินโพรไบโอติกที่ช่วยปรับสมดุลลำไส้ให้การขับถ่ายเป็นปกติ
- การติดเชื้อ การติดเชื้อมักเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ หากทารกติดเชื้อมักจะมีอาการท้องเสีย ตะคริว อาเจียน คลื่นไส้ มีไข้ ในบางกรณีอาจค่อนข้างร้ายแรง ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
อาการร่วมรุนแรง ที่ไม่ควรมองข้าม
แม้ว่าทารกอุจจาระมีมูกปน ถือเป็นอาการปกติ แต่หากอุจจาระมีมูก พร้อมกับมีอาการร่วมรุนแรงต่อไปนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที
- ถ่ายอุจจาระมากกว่า 10 ครั้งต่อวัน
- ถ่ายมีมูกเลือดปนออกมา
- มีไข้สูง และชัก
- อาเจียน อ่อนเพลีย ซึม
- ร้องไห้งอแง เป็นเวลานาน และไม่ยอมหยุด
- อุจจาระเป็นสีขาวซีด
- ท้องผูก หรือถ่ายไม่ออกหลายวัน
ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่า ทารกอุจจาระมีมูกเล็กน้อย ยังไม่ต้องกังวลใจไป หากยังไม่มีอาการร่วมอื่น ๆ ที่บ่งบอกถึงความผิดปกติ แต่ขอให้คุณพ่อคุณแม่หมั่นสังเกตอุจจาระและอาการของลูกน้อยอยู่เสมอ หากลูกท้องเสียถ่ายมีมูกเลือด หรือมีอาการร่วมรุนแรงตามที่กล่าวมา ให้รีบพาลูกน้อยไปพบแพทย์ทันที
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
- สฟิงโกไมอีลิน คืออะไร สำคัญต่ออย่างไรต่อสมองของลูกน้อย
- DHA สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย
- 2’-FL คืออะไร ? รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- ลูกอ้วก ไม่มีไข้ ท้องเสีย เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ รับมืออย่างไรดี
- อาการทารกท้องอืด พร้อมวิธีป้องกันและวิธีดูแลทารกท้องอืด
- สีอุจจาระทารก สีแบบไหนปกติ สีแบบไหนที่คุณแม่ต้องระวัง
- ลูกอุจจาระสีเขียวอันตรายไหม อึทารกสีเขียวบ่งบอกอะไรได้บ้าง
- ลูกท้องเสียให้กินอะไรดี ลูกท้องเสียกี่วันหาย อาการแบบไหนเรียกรุนแรง
- ทารกไม่ถ่ายกี่วันผิดปกติ ทารกตดบ่อย ลูกน้อยควรกินอะไรให้ขับถ่ายง่าย
- ทารกอุจจาระเป็นเม็ดมะเขือ อุจจาระเป็นเม็ด พร้อมวิธีป้องกันเบื้องต้น
- วิธีนวดท้องให้ทารกถ่าย สำหรับลูกน้อยที่ท้องผูก ไม่ยอมถ่ายหลายวัน
- ลูกปวดท้องตรงสะดือเป็น ๆ หาย ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกปวดท้อง
อ้างอิง:
- Causes of mucus in a baby's poop, Medical News Today
- 12 Types of Baby Poop & What They Mean, Unity Point Health
- Introducing Your Baby to Solid Foods FAQs, UCSF Benioff Children’s Hospitals
- มีไข้ ปวดศีรษะ ถ่ายมูกเลือด! 7 อาการสำคัญที่พ่อแม่ต้องรีบพาลูกไปพบแพทย์, โรงพยาบาลพญาไท
- Mucus in stool: A concern?, Mayo Clinic
- What causes mucus in stools?, Medical News Today
- 4 อาการสำคัญของโรคท้องเสียในเด็กที่ต้องรีบมาพบแพทย์
- ลูกชอบอั้น แม่ชอบสวน, โรงพยาบาลสมิติเวช
อ้างอิง ณ วันที่ 28 ธันวาคม 2566
บทความที่เกี่ยวข้อง