ลูกท้องผูก ลูกถ่ายไม่ออกร้องไห้ ทำไงดี พร้อมวิธีดูแล
ภาวะท้องผูกในเด็กเป็นสิ่งที่พบได้บ่อย เมื่อลูกท้องผูก ลูกถ่ายยาก อาจทำให้คุณแม่รู้สึกกังวลใจได้ โดยเฉพาะในวัยทารกที่ระบบย่อยอาหารยังไม่สมบูรณ์ ทารกจึงจำเป็นต้องได้รับนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน ทารกที่ทานนมแม่จะถ่ายบ่อยเป็นปกติอยู่แล้ว คือ อาจถ่ายทุกครั้งหลังจากทานนมแม่ หลังอายุ 6 สัปดาห์จะถ่ายน้อยลงเป็นวันละ 3-5 ครั้ง
สรุป
- ลูกท้องผูก ลูกถ่ายไม่ออก ลูกถ่ายยาก มักจะเป็นอาการที่เราพบกันบ่อย ๆ ในเด็ก ซึ่งการดูแลที่ไม่ถูกต้องหรือรู้ไม่เท่าทันโรคนั้นจะทำให้เกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
- ควรฝึกนิสัยในการขับถ่ายให้ลูกน้อย หากลูกมีอาการท้องผูกเรื้องรัง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ลูกท้องผูกเรื้อรัง ลูกไม่ถ่าย ลูกถ่ายยาก บ่งบอกถึงอะไร
- อาการแบบนี้อาจเรียกว่า ลูกท้องผูก
- เด็กท้องผูก ถ่ายยาก เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง
- อาการท้องผูกของเด็ก พ่อแม่จะสังเกตอย่างไร
- วิธีดูแลลูกท้องผูกและการรับมือลูกท้องผูก
- วิธีป้องกันไม่ให้ลูกน้อยมีอาการท้องผูก ถ่ายไม่ออก
- เมื่อไหร่ที่คุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์
ลูกท้องผูกเรื้อรัง ลูกไม่ถ่าย ลูกถ่ายยาก บ่งบอกถึงอะไร
สาเหตุที่ทำให้ลูกท้องผูก ขับถ่ายไม่ปกติ เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยภาวะท้องผูกส่วนใหญ่เกิดจากสิ่งแวดล้อมและปัจจัยต่าง ๆ หนึ่งในสาเหตุสำคัญ คือ การให้กินอาหารไม่เหมาะกับวัย ในช่วง 6 เดือนแรก จึงไม่ควรให้ทารกกินอาหารชนิดอื่นนอกจากนมแม่ นอกจากนี้ อาการท้องผูกยังสัมพันธ์กับโรคทางกายได้ด้วย เช่น
- เกิดจากสรีรวิทยาของร่างกาย เช่น ความผิดปกติบริเวณทวารหนัก รูก้นแคบหรือไม่มีรูก้น
- ต่อมไร้ท่อผิดปกติ
- ประสาทที่ควบคุมการขับถ่ายอุจจาระเกิดความผิดปกติ เช่น ความผิดปกติของประสาทไขสันหลังส่วนปลาย ซึ่งควบคุมการถ่ายอุจจาระ
- ลูกท้องผูก เพราะได้รับยาบางอย่างที่ทำให้ลำไส้ทำงานน้อยลง เช่น ยาบำรุงเลือด ยาลดกรดในกระเพาะอาหารที่มีเกลืออลูมิเนียม ยาธาตุเหล็ก ยาระงับประสาท และยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด
- โรคต่อมไธรอยด์ทำงานน้อยกว่าปกติ
- เด็กเกิดความเครียดหรือมีความผิดปกติทางจิตใจ เช่น ฝึกขับถ่ายด้วยการนั่งกระโถนเร็วเกินไป
- เด็กที่กินอาหารตามวัย ได้รับอาหารที่มีกากใยอาหารน้อยเกินไป
อาการแบบนี้อาจเรียกว่า ลูกท้องผูก
การสังเกตลูกท้องผูก ไม่จำเป็นต้องนับจำนวนครั้ง แต่ควรสังเกตลักษณะของอุจจาระ เช่น
- อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ทารกถ่ายแข็งหรืออุจจาระมีลักษณะเป็นลูกกระสุน
- หากลูกท้องผูกมานาน อาจพบเลือดปนเล็กน้อย เพราะอุจจาระมีลักษณะแข็งจนทำให้เกิดแผลบริเวณรูก้นได้
- ลูกร้องไห้ งอแงขณะเบ่งถ่าย
- เด็กบางคนมีพฤติกรรมกลั้นอุจจาระได้ เนื่องจากมีประสบการณ์เจ็บขณะเบ่งถ่าย
เด็กท้องผูก ถ่ายยาก เกิดจากสาเหตุอะไรบ้าง
นอกจากโรคทางกายแล้ว เด็กท้องผูก ถ่ายยาก อาจเกิดได้จากสาเหตุอื่น เช่น
1. ท้องผูกเพราะนมผง
เด็กที่กินนมผงสำหรับเด็กบางคน อาจมีแนวโน้มการถ่ายอุจจาระแข็งกว่า จำนวนวันห่างกว่าทารกที่กินนมแม่อย่างเดียว ให้สังเกตลักษณะอุจจาระของทารก หากเป็นก้อนแข็งหรือเป็นเม็ดคล้ายลูกกระสุน จึงจะเรียกได้ว่า เด็กท้องผูก
2. ชงนมผิดสัดส่วน
การชงนมผิดสัดส่วนอาจส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร จึงทำให้ลูกท้องผูก ขับถ่ายยากได้ จึงควรชงนมให้ถูกวิธีตามสัดส่วนที่แนะนำไว้ข้างกล่อง
3. การคลอดก่อนกำหนด
ทารกที่คลอดก่อนกำหนดสุขภาพร่างกายอาจไม่แข็งแรง ระบบย่อยอาหารยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ จึงอาจมีโอกาสเกิดอาการท้องผูกได้ง่าย
4. อาการขาดน้ำ
ในเด็กเล็กที่เริ่มให้ดื่มน้ำได้ ควรได้รับน้ำในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสมกับวัย ช่วงวัย 1-3 ปี ควรได้รับปริมาณน้ำ 1.3 ลิตรต่อวัน เพื่อให้ขับถ่ายได้ตามปกติ
5. ให้อาหารประเภทอื่นเร็วเกินไป
ก่อน 6 เดือน ทารกไม่ควรได้รับอาหารเสริมอื่น นอกจากนมแม่ หากได้รับอาหารเสริมเร็วเกินไป จะส่งผลให้ลูกท้องผูกได้ เพราะร่างกายของทารกยังไม่พร้อมย่อย
อาการท้องผูกของเด็ก พ่อแม่จะสังเกตอย่างไร
- ลูกถ่ายอุจจาระน้อยกว่าปกติ: หากลูกถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป เป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่า ลูกท้องผูก
- ลูกถ่ายไม่ออก: เมื่อลูกถ่ายอุจจาระลำบาก ใช้เวลานานในการเบ่ง ก็เป็นหนึ่งในอาการท้องผูกในเด็ก
- ลูกอุจจาระแข็ง: ลักษณะอุจจาระแข็งเป็นก้อน หรืออุจจาระเป็นลูกกระสุน ก้อนเล็กก้อนน้อยเหมือนขี้แพะ เป็นลักษณะของอุจจาระที่บ่งบอกว่า ลูกกำลังท้องผูก
- ลูกทรมานเวลาถ่าย: เมื่ออุจจาระแข็ง ลูกจะรู้สึกทรมาน เบ่งออกมาได้ยาก และอาจเกิดบาดแผลบริเวณรูทวารได้ด้วย
- ลูกไม่ถ่ายเลย 5-10 วัน: การที่เด็กถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้ง/สัปดาห์ หรือก้อนอุจจาระแข็งมีเลือดปน ทำให้ต้องเบ่งอุจจาระมากขึ้น เป็นอาการสำคัญที่บ่งบอกว่า ลูกท้องผูก
- ลูกเบื่ออาหาร: ภาวะท้องผูกในเด็ก จะทำให้เด็กรู้สึกเบื่ออาหาร หรือรู้สึกอิ่มเร็ว ไม่อยากอาหาร แต่ถ้าอาการท้องผูกดีขึ้น ความรู้สึกอยากอาหารจะค่อย ๆ กลับมา
วิธีดูแลลูกท้องผูกและการรับมือลูกท้องผูก
หากลูกท้องผูก ลูกถ่ายยาก ถ้าเป็นเด็กที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป คุณแม่สามารถเพิ่มอาหารที่มีกากใยสูง ได้แก่
- ผลไม้ที่มีกากใยสูง เช่น มะละกอ กล้วย ส้ม
- เพิ่มผักสับตุ๋นในข้าวแล้วบดละเอียดตามวัยของทารก
- ให้ลูกกินน้ำผลไม้คั้นสด หรือใช้น้ำลูกพรุนสกัดเจือจางด้วยน้ำต้มสุกอย่างละเท่า ๆ กัน แล้วค่อย ๆ ป้อนให้ลูกกิน
ส่วนเด็กที่มีอายุ 3-6 ปี ขึ้นไป ควรลดอาหารที่ทำมาจากนมเนยที่มีไขมันสูง เพราะจะส่งผลให้ท้องผูกได้ และควรให้ลูกดื่มน้ำเป็นประจำในปริมาณที่เหมาะสมตามวัย
นอกจากนี้ ควรฝึกนิสัยการขับถ่ายให้เป็นเวลาทุกวัน โดยฝึกหลังรับประทานอาหาร เมื่ออิ่มท้องแล้ว ร่างกายจะกระตุ้นลำไส้ให้อยากถ่ายอุจจาระ แต่ไม่ควรกดดันหรือทำให้เด็กรู้สึกเครียด ควรให้เด็กค่อย ๆ ฝึกการขับถ่ายให้เหมาะสมตามวัย และคอยชมเชยเมื่อลูกทำได้ดี
วิธีป้องกันไม่ให้ลูกน้อยมีอาการท้องผูก ถ่ายไม่ออก
ลูกในวัยแรกเกิดถึง 6 เดือน ควรได้รับนมแม่ย่อยง่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง มีภูมิคุ้มกัน และมีพัฒนาการอย่างสมวัย เพราะนมแม่ย่อยง่าย ดีต่อระบบย่อยอาหารของทารก แต่ถ้ากินนมผสมควรให้ลูกกินนมสูตรเดิม หากต้องการเปลี่ยนสูตร ควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์ และ ควรค่อย ๆ เปลี่ยน เริ่มจากผสมนมสูตรเดิมปริมาณมากกว่าสูตรใหม่ก่อน จากนั้นลดปริมาณนมสูตรเดิมลงแล้วเพิ่มปริมาณนมสูตรใหม่ ให้ลูกได้ปรับตัว และค่อย ๆ คุ้นเคยกับนมสูตรใหม่
เมื่อไหร่ที่คุณแม่ควรพาลูกน้อยไปพบแพทย์
หากลูกท้องผูก มีอาการนานเกิน 2 สัปดาห์ หรือลูกขับถ่ายยากมีเลือดปน ควรปรึกษากุมารแพทย์ โรคทางเดินอาหาร ไม่ควรปล่อยให้ลูกท้องผูกนาน เพราะอาจกลายเป็นลูกท้องผูกเรื้อรังได้
สมองและพัฒนาการของลูกน้อยจะพัฒนาได้อย่างเต็มที่อยู่ที่การมีสุขภาพร่างกายที่ดีอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้คุณแม่จึงควรหมั่นสังเกตสุขภาพและพัฒนาการเด็กเล็กเป็นประจำ ว่ามีความผิดปกติอย่างไรหรือไม่ ลูกทานอาหารนี้แล้วเป็นอย่างไร เพื่อสุขภาพที่ดีของลูกน้อย
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่
- สฟิงโกไมอีลิน คืออะไร สำคัญต่ออย่างไรต่อสมองของลูกน้อย
- DHA สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองของลูกน้อย
- 2’-FL คืออะไร รู้จัก 2’-FL โอลิโกแซคคาไรด์ในนมแม่ (HMOs)
- น้ำนมเหลือง ที่มีสฟิงโกไมอีลิน สารอาหารสำคัญ ช่วยพัฒนาสมองจากแม่สู่ลูก
- ลูกเป็นโรคภูมิแพ้ คุณแม่รับมือภูมิแพ้ในเด็กได้อย่างไร
- ลูกอ้วก ไม่มีไข้ ท้องเสีย เกิดจากอะไร คุณพ่อคุณแม่ รับมืออย่างไรดี
- อาการทารกท้องอืด พร้อมวิธีป้องกันและวิธีดูแลทารกท้องอืด
- สีอุจจาระทารก สีแบบไหนปกติ สีแบบไหนที่คุณแม่ต้องระวัง
- ลูกอุจจาระสีเขียวอันตรายไหม อึทารกสีเขียวบ่งบอกอะไรได้บ้าง
- ลูกท้องเสียให้กินอะไรดี ลูกท้องเสียกี่วันหาย อาการแบบไหนเรียกรุนแรง
- ทารกไม่ถ่ายกี่วันผิดปกติ ทารกตดบ่อย ลูกน้อยควรกินอะไรให้ขับถ่ายง่าย
- ทารกอุจจาระเป็นเม็ดมะเขือ อุจจาระเป็นเม็ด พร้อมวิธีป้องกันเบื้องต้น
- ทารกอุจจาระมีมูก ลูกท้องเสียถ่ายมีมูกเลือด แบบไหนที่ต้องระวัง
- วิธีนวดท้องให้ทารกถ่าย สำหรับลูกน้อยที่ท้องผูก ไม่ยอมถ่ายหลายวัน
- ลูกปวดท้องตรงสะดือเป็น ๆ หาย ๆ เกิดจากอะไร พร้อมวิธีดูแลทารกปวดท้อง
อ้างอิง
- ท้องผูกในเด็กทารก” ควรแก้ไขอย่างถูกวิธี, รามา แชนแนล
- ‘ท้องผูกในเด็ก’ ปัญหาเรื้อรัง…ที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม, รพ.ไทยนครินทร์
- สังเกตยังไง...ว่าลูกกำลังมีภาวะท้องผูก, โรงพยาบาลพญาไท
อ้างอิง ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2566
บทความที่เกี่ยวข้อง