ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์อันตรายไหม ภาวะที่คุณแม่ควรระวัง

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์อันตรายไหม ภาวะที่คุณแม่ควรระวัง

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์อันตรายไหม ภาวะที่คุณแม่ควรระวัง

คุณแม่ตั้งครรภ์
บทความ
ก.พ. 17, 2025
5นาที

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้เมื่ออายุครรภ์ 20 สัปดาห์ขึ้นไป โดยเมื่อวัดความดันได้สูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่ามีระดับความดันโลหิตสูง หรือหากวัดความดันต่ำกว่า 100/60 มิลลิเมตรปรอท จะถือว่ามีระดับความดันโลหิตต่ำ หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีภาวะความดันโลหิตสูงไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตขณะตั้งครรภ์ได้

สรุป

  • ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ คือ เมื่อวัดความดันได้สูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท โดยเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตขณะตั้งครรภ์ได้
  • หากคุณแม่ท้องมีอาการลักษณะมือบวม เท้าบวม หรือหน้าบวม ปวดศีรษะรุนแรง ตาพร่ามัว แน่นลิ้นปี่ ปวดท้องเกร็งหรืออาจมีเลือดออกจากช่องคลอด และทารกมีการดิ้นน้อยลง ควรรีบพบแพทย์โดยทันทีเพราะถือเป็นสัญญาณอาการที่รุนแรงขึ้น
  • คุณแม่ตั้งครรภ์จึงควรหมั่นสังเกตร่างกายและสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารรสเค็ม จะช่วยป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์

 

เลือกอ่านตามหัวข้อ

 

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ คืออะไร

หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีความดันโลหิต 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป จะถือว่ามีภาวะความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจแบ่งลักษณะอาการออกเป็น 4 แบบ ดังนี้

  1. ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ซึ่งมีอาการเพียงความดันสูงมากกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท และเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์ตั้งแต่ 20 สัปดาห์ขึ้นไป จนถึงหลังคลอด
  2. ลักษณะครรภ์เป็นพิษ จะมีความดันสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งคุณแม่ก่อนตั้งครรภ์ไม่พบประวัติความดันสูงมาก่อน และตรวจพบโปรตีนในปัสสาวะมากกว่า 300 มิลลิกรัม ภายใน 24 ชั่วโมง
  3. คุณแม่มีความดันโลหิตสูงเรื้อรัง โดยมีอาการความดันโลหิตสูงมาก่อนตั้งครรภ์ หรือก่อนอายุครรภ์ 20 สัปดาห์
  4. อาการทับซ้อน มีอาการทับซ้อนทั้งความดันโลหิตสูงกับความดันโลหิตสูงเรื้อรัง

 

ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ เกิดจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้คนท้องมีความดันโลหิตสูง อาจเกิดได้จากการหดรัดตัวของหลอดเลือดแดง จนทำให้เกิดความดันสูงขึ้นได้ ซึ่งหากมีอาการรุนแรงมากขึ้น จะทำให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับ ไต หรือสมอง อีกทั้งยังทำให้เลือดที่ส่งผ่านรกไปยังทารกในครรภ์ลดลง จนทำให้ทารกได้รับออกซิเจนและอาหารไปเลี้ยงไม่เพียงพอจนเกิดอันตรายได้

 

อาการของคุณแม่ท้องความดันโลหิตสูง

คุณแม่ท้องควรหมั่นสังเกตร่างกายและสุขภาพว่าอยู่ในภาวะปกติหรือไม่ เพราะบางครั้งจะพบลักษณะมือบวม คนท้องเท้าบวม หรือหน้าบวมนำมาก่อนความดันโลหิตสูง รวมถึงหากมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีอาการที่บ่งชี้ได้ว่าลักษณะของโรคมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ตาพร่ามัว แน่นลิ้นปี่ ปวดท้องเกร็งหรืออาจมีเลือดออกจากช่องคลอด และทารกมีการดิ้นน้อยลง หากมีอาการเหล่านี้คุณแม่ท้องควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะอาจส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์และคุณแม่เอง

 

ความดันคนท้องควรอยู่ที่เท่าไร

ในคนปกติทั่วไปความดันโลหิตควรอยู่ที่ 120/80 -139/89 มิลลิเมตรปรอท แต่สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ในขณะตั้งครรภ์ช่วงแรก อาจมีอาการความดันโลหิตต่ำได้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเพื่อช่วยส่งเลือดไปเลี้ยงทารกให้ดีขึ้น รวมถึงคุณแม่ตั้งครรภ์ช่วงแรกจะมีอาการแพ้ท้องค่อนข้างมาก อาจทำให้อ่อนเพลีย รับประทานอาหารได้ไม่มากนัก แต่เมื่ออายุครรภ์เพิ่มขึ้น ความดันโลหิตจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

 

คุณแม่ตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงต่อภาวะความดันสูงแค่ไหน

 

คุณแม่ตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงต่อภาวะความดันสูงแค่ไหน

จากสถิติในประเทศไทย พบว่าคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงมีประมาณ 1-3% ของหญิงตั้งครรภ์ทั้งหมด ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุหลากหลาย เช่น คุณแม่มีน้ำหนักเยอะหรือภาวะอ้วน มีอายุมากกว่า 35 ปี มีโรคประจำตัว เช่น โรคไต เบาหวาน รวมถึงการตั้งครรภ์แฝด โดยภาวะความดันสูงในคุณแม่ตั้งครรภ์อาจทำให้เกิดภาวะครรภ์เป็นพิษได้ ซึ่งจะส่งผลอันตรายต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์

 

คุณแม่ท้องความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ มีผลกระทบยังไงบ้าง

ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์อาจพบได้ในคุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน โดยมีอาการแตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรง รวมถึงส่งผลอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ ดังนี้

1. ผลกระทบต่อมารดา

  • เกิดอาการชัก
  • พบเลือดออกในสมอง
  • มีการลอกของรกก่อนกำหนด
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว หรือไตวาย
  • หากอาการรุนแรงมากอาจส่งผลให้เสียชีวิต

 

2. ผลกระทบต่อทารกในครรภ์

  • ส่งผลต่อปริมาณเลือดที่ส่งผ่านรกมายังทารกในครรภ์ลดลง
  • ทารกได้รับอาหารไม่เพียงพอจนโตช้าผิดปกติ
  • อาจทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด
  • หากอาการรุนแรงมากอาจส่งผลให้ทารกเสียชีวิตในครรภ์

 

คุณแม่ท้องที่ 2 เป็นความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ได้ไหม

หากคุณแม่มีภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ในการตั้งครรภ์ครั้งแรกแล้ว เมื่อมีการตั้งครรภ์ที่สอง อาจทำให้เกิดโรคนี้ซ้ำอีกได้ และอาจมีแนวโน้มจะมีอาการที่รุนแรงมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นเมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ที่สอง หากเคยมีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงมาก่อนหน้านี้แล้ว ควรรีบปรึกษาคุณหมอที่ฝากครรภ์และแจ้งประวัติดังกล่าวให้ทราบโดยทันที

 

วิธีดูแลตัวเองสำหรับแม่ท้องความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ควรรีบปรึกษาคุณหมอเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสมและถูกวิธี รวมถึงมีวิธีปฏิบัติตัวสำหรับคุณแม่ท้องเบื้องต้น ดังนี้

  1. หมั่นสังเกตอาการและความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เช่น มือบวม เท้าบวม หรือหน้าบวม ปวดศีรษะ ตาพร่ามัว ปวดบริเวณลิ้นปี่ ซึ่งอาจเป็นอาการที่บ่งชี้ว่าโรคมีความรุนแรงมากขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที
  2. การดิ้นของทารกในครรภ์ หากน้อยกว่า 10 ครั้งในระยะเวลา 4 ชั่วโมง ควรไปโรงพยาบาลทันที
  3. ชั่งน้ำหนักทุกวัน เพื่อดูว่าน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือไม่
  4. ลดอาหารเค็ม เน้นอาหารที่มีโปรตีนและแคลเซียมสูง
  5. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ
  6. พักผ่อนให้เพียงพอ และพยายามลดความเครียด
  7. ตรวจครรภ์กับคุณหมอที่ฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอตามเวลานัดหมาย

 

การป้องกันความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์

หากมีการวางแผนตั้งครรภ์ คุณแม่ควรพยายามควบคุมความดันให้เป็นปกติตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ตามคำแนะนำของแพทย์ โดยหากมีประวัติความดันสูงอยู่เดิมแล้ว ควรแจ้งรายละเอียดแก่คุณหมออย่างชัดเจนว่ามีโรคประจำตัวอะไร และรับประทานยาอะไรอยู่บ้าง เพื่อรับคำแนะนำจากการฝากครรภ์ที่เหมาะสมกับคุณแม่ รวมถึงการรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียม และแมกนีเซียมอย่างเหมาะสมจะสามารถช่วยป้องกันโรคความดันได้

 

 

คุณแม่หลังคลอด ต้องติดตามภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ไหม

ความดันของคุณแม่หลังคลอดลูก อาจจะยังไม่ได้ลดลงจนเป็นปกติทันทีภายหลังคลอด แต่จะค่อยเป็นค่อยไปจนกลับเข้าสู่ความดันปกติภายใน 12 สัปดาห์ หากหลังจากนั้นยังคงมีภาวะความดันสูงอยู่ คุณแม่ควรได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี เพราะอาจถือว่าเป็นภาวะโรคความดันสูงเรื้อรัง
 

คุณแม่หลังคลอด ต้องติดตามภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ไหม

 

การฝากครรภ์ถือว่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะในผู้หญิงที่มีประวัติภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์มาก่อน เพื่อให้คุณหมอประเมินสุขภาพและความเสี่ยงต่าง ๆ ของการตั้งครรภ์ในแต่ละครั้ง รวมถึงแนวทางการดูแลสุขภาพและการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ เพื่อให้คุณแม่และทารกในครรภ์มีสุขภาพที่แข็งแรงและปลอดภัยมากที่สุด

 

บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่

 

อ้างอิง:

  1. ความดันโลหิตของคุณแม่ตั้งครรภ์, โรงพยาบาลพญาไท
  2. ความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์, โรงพยาบาลนนทเวช
  3. ความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์ ภาวะสำคัญที่คุณแม่ท้องต้องใส่ใจ, โรงพยาบาลสมิติเวช
  4. ภาวะความดันโลหิตสูงขณะตั้งครรภ์, ศูนย์ศรีพัฒน์ฯ

อ้างอิง ณ วันที่ 28 ตุลาคม 2567