![กําหนดคลอดกี่สัปดาห์ ถึงกําหนดคลอดแล้วยังไม่คลอดปกติไหม กําหนดคลอดกี่สัปดาห์ ถึงกําหนดคลอดแล้วยังไม่คลอดปกติไหม](/sites/default/files/styles/header_image_desktop/public/header_image/overdue-pregnancy01.jpg?itok=M30w2429)
กําหนดคลอดกี่สัปดาห์ ถึงกําหนดคลอดแล้วยังไม่คลอดปกติไหม
คุณแม่มือใหม่อยากเห็นหน้าลูกน้อยไว ๆ กันใช่ไหม? บทความนี้เราจะมาคุยกันเรื่องกำหนดคลอด หรือวันที่จะได้เห็นหน้าเจ้าตัวเล็กกัน รู้ไหมว่ากำหนดคลอดนั้นคุณแม่สามารถประมาณการเบื้องต้นได้ด้วยนะ หรือถ้าจะให้แม่นขึ้นก็อย่าลืมถามคุณหมอตอนฝากครรภ์ด้วย เมื่อรู้กำหนดคลอดแล้ว เราก็จะวางแผนอะไร ๆ ได้ง่ายขึ้นเยอะ เรามาดูกันดีกว่าว่ากำหนดคลอดนั้นคำนวณอย่างไร รวมถึงชวนมาทำความเข้าใจเรื่องการคลอดก่อนกำหนด และสัญญาณที่บอกว่าคุณแม่ใกล้คลอดแล้วมีอะไรบ้าง เรามาดูกันเลย
สรุป
- ปกติแล้วกำหนดคลอดจะอยู่ที่ประมาณ 40 สัปดาห์ หรือประมาณ 280 วัน การคลอดก่อนกำหนดคือก่อนที่อายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์
- กำหนดวันคลอดอาจคลาดเคลื่อนได้ เกิดจากหลายปัจจัย เช่น คุณแม่จำวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายไม่ได้ การที่มีคุณแม่สุขภาพไม่ดีมีโรคประจำตัว หรือท้องแฝด
- คุณแม่นับวันกำหนดคลอดได้เองจากการคำนวณวันที่ประจำเดือนมาล่าสุด และการคำนวณจากการอัลตราซาวด์โดยแพทย์
- ปัจจัยเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด คือ สุขภาพกายคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัว และสุขภาพใจอย่าง “ภาวะเครียด”
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- คุณแม่ต้องรู้ กำหนดคลอดกี่สัปดาห์
- การกำหนดวันคลอด คืออะไร
- คุณแม่ตั้งครรภ์ กำหนดคลอดกี่สัปดาห์
- วันครบกำหนดคลอด ต้องนับอย่างไร
- คลอดก่อนกำหนดคืออะไร ปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง
- ถึงกำหนดคลอดแล้วยังไม่คลอด เกิดจากอะไร
- คุณแม่ท้องแฝด มีผลต่อกำหนดคลอดหรือไม่
- สัญญาณอะไรบ้างที่เตือนว่าคุณแม่กำลังใกล้คลอด
คุณแม่ต้องรู้ กำหนดคลอดกี่สัปดาห์
ปกติแล้วระยะเวลาตั้งครรภ์จะมีระยะเวลาประมาณ 38-42 สัปดาห์ ส่วนกำหนดคลอดจะอยู่ที่ประมาณ 40 สัปดาห์ หรือประมาณ 280 วัน โดยนับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย คุณแม่ที่ไปฝากครรภ์อย่างสม่ำเสมอ คุณหมอคงแจ้งกำหนดคลอดจากการคำนวณมาแล้ว ระหว่างนี้คุณแม่ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ไม่ใช่เฉพาะข้าวของสำหรับเตรียมรับเจ้าตัวเล็กเท่านั้น แต่ต้องเตรียมร่างกาย หมั่นสังเกตตัวเองถึงสัญญาณใกล้คลอด และเตรียมใจให้ไม่เครียดอีกด้วย เพราะความเครียดนั้นอาจจะส่งผลต่อการคลอดก่อนกำหนดได้นะ
การกำหนดวันคลอด คืออะไร
วันกำหนดคลอด คือการคำนวณช่วงเวลาคลอด โดยมีวิธีคำนวณหลายแบบ เช่น การนับจากวันที่ประจำเดือนมาครั้งล่าสุด หรือใช้อัลตราซาวด์ช่องท้อง ที่จะคำนวณกำหนดคลอดได้แม่นยำกว่า อย่างไรก็ตามกำหนดวันคลอดอาจจะไม่ได้แม่นยำเสมอไป ซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย เช่น คุณแม่จำวันที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้ายผิด หรือจำไม่ได้ การที่มีคุณแม่สุขภาพไม่ดี ที่อาจมีโรคประจำตัว หรือภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ หรือท้องแฝด
คุณแม่ตั้งครรภ์ กำหนดคลอดกี่สัปดาห์
โดยปกติแล้วอายุการตั้งครรภ์จนถึงวันคลอดจะอยู่ที่ราว 40 สัปดาห์ หรือประมาณ 280 วัน ซึ่งจะเริ่มนับจากวันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย
![วันครบกำหนดคลอด ต้องนับอย่างไร](/sites/default/files/inline-images/overdue-pregnancy02.jpg)
วันครบกำหนดคลอด ต้องนับอย่างไร
มาดูกันดีกว่าว่าเราจะนับวันกำหนดคลอดอย่างไร และนับได้ด้วยวิธีไหนกันบ้าง
การนับวันที่มีประจำเดือนล่าสุด
วิธีนี้คุณแม่สามารถทำได้ด้วยตัวเองเลย ถ้าจำวันได้ โดยคำนวณได้ 2 วิธี
- ให้เริ่มจากนับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย แล้วบวกไปอีก 9 เดือน และนับบวกต่อไปอีก 7 วัน
- นับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย แล้วย้อนหลังไป 3 เดือน และนับบวกต่อไปอีก 7 วัน
การฝากครรภ์ และอัลตราซาวด์
ในการฝากครรภ์ คุณหมอจะอัลตราซาวด์ช่องท้อง ซึ่งนอกจากจะดูความสมบูรณ์ของเจ้าตัวเล็กแล้ว ยังใช้คำนวณกำหนดคลอดได้ด้วย โดยวัดความยาวลำตัวของทารกและขนาดของถุงน้ำที่หุ้มทารก วิธีนี้แม่นยำกว่าการนับวัน
คลอดก่อนกำหนดคืออะไร ปัจจัยเสี่ยงมีอะไรบ้าง
หลายคนคงได้ยินเรื่องของการคลอดก่อนกำหนดมาบ้าง คุณแม่หลายคนกลัวจะคลอดก่อนกำหนดมาก ต้องเข้าใจก่อนว่าโดยปกติ การคลอดก่อนกำหนดคือก่อนที่อายุครรภ์จะครบ 37 สัปดาห์ ซึ่งสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพลูกน้อย ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้คลอดก่อนกำหนดมีอะไรบ้าง เรามาดูกันดีกว่า
1. สุขภาพกายและใจของคุณแม่
ในด้านสุขภาพกายคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันสูง เบาหวาน โรคหัวใจ โรคปอด จะส่งผลกระทบกับการตั้งครรภ์โดยตรง รวมถึงในด้านสุขภาพใจอย่าง “ภาวะเครียด” โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ที่จะกระตุ้นให้มีการบีบตัวของมดลูกมากขึ้นจนเกิดภาวะคลอดก่อนกำหนดได้ และหากมีประวัติการคลอดก่อนกำหนดในการตั้งครรภ์ครั้งก่อน ครั้งนี้ก็อาจจะเสี่ยงต่อการคลองก่อนกำหนดเช่นกัน
2. ความผิดปกติของมดลูก
มีหลายความผิดปกติที่ส่งผลต่อการคลอดก่อนกำหนด เช่น การพบเนื้องอกที่มดลูก ที่ทำให้มดลูกขยายตัวไม่ดีเท่าที่ควร เกิดการบีบรัดตัวผิดปกติ หรือปากมดลูกสั้น ส่งผลให้เกิดการรัดหูรูดน้อยกว่าปกติ ทำให้มีโอกาสคลอดก่อนกำหนดได้ง่าย เป็นต้น
3. ความผิดปกติของลูกน้อยในครรภ์
บางครั้งการคลอดก่อนกำหนดก็มาจากลูกน้อยมีความผิดปกติหรือพิการ ที่อาจจะส่งผลต่อสุขภาพหรือการเจริญเติบโต ทำให้แพทย์ต้องผ่าคลอดก่อนกำหนด และครรภ์แฝดที่กว่าร้อยละ 60 มักจะคลอดก่อนกำหนด รวมถึงสิ่งที่แย่ที่สุดคือลูกน้อยเสียชีวิตในครรภ์ซี่งอาจจะเกิดจากปัญหาสุขภาพของคุณแม่ หรือประสบอุบัติเหตุ
ถึงกำหนดคลอดแล้วยังไม่คลอด เกิดจากอะไร
แล้วถ้าเลยกำหนดคลอดมาแล้วล่ะ เจ้าตัวเล็กยังดื้อไม่ยอมออกมาสักที แบบนี้เกิดจากอะไรได้บ้าง
1. คำนวณกำหนดคลอดคลาดเคลื่อน
คุณแม่บางคนไม่แน่ใจว่าเริ่มตั้งครรภ์เมื่อไหร่ จำไม่ได้ ทำให้การคำนวณกำหนดคลอดคลาดเคลื่อนตามไปด้วย เพราะต้องคำนวณจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย
2. ตั้งครรภ์ครั้งแรก
มีการศึกษาพบว่า คุณแม่ท้องแรกอาจมีปัญหาคลอดเกินกำหนดมากกว่าคุณแม่ท้องสอง หรือท้องสาม รวมถึงคุณแม่ที่มีภาวะของโรคอ้วนด้วย
3. เคยตั้งครรภ์เกินกำหนดคลอดมาก่อน
หากเคยคลอดเกินกำหนดมาก่อนในท้องแรก ก็มีโอกาสที่จะคลอดเกินกำหนดมากถึง 27% ในท้องที่สอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับยีนของคุณแม่
4. ลูกน้อยในท้องมีความผิดปกติ
มีการศึกษาพบว่าทารกในครรภ์ที่ผิดปกติ มีภาวะกะโหลกศีรษะไม่ปิด (Anencephaly) ,ไม่มีต่อมใต้สมอง, มีภาวะต่อมหมวกไตฝ่อ มีส่วนทำให้เกิดการคลอดเกินกำหนดได้
คุณแม่ท้องแฝด มีผลต่อกำหนดคลอดหรือไม่
การท้องแฝด มีผลต่อการคลอดก่อนกำหนด โดยมีการศึกษาพบว่าอัตราการคลอดก่อนกำหนดของแฝดอยู่ที่ 60% และในแฝดสามจะเพิ่มเป็น 98% โดยคุณหมออาจจะพิจารณาการให้ยายับยั้งการหดตัวของมดลูก รวมถึงการใช้ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน และการเย็บผูกปากมดลูก เพื่อลดความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดในท้องแฝด
สัญญาณอะไรบ้างที่เตือนว่าคุณแม่กำลังใกล้คลอด
เจ้าตัวเล็กพร้อมแล้ว! ถ้ามีสัญญาณเหล่านี้ คุณแม่เตรียมเก็บกระเป๋าไปพบคุณหมอได้เลย
1. มดลูกหดตัวถี่และสม่ำเสมอ
ปกติหลัง 30 สัปดาห์ขึ้นไป มดลูกจะมีการบีบตัวเป็นระยะ ๆ อยู่แล้ว ให้คุณแม่ลองสังเกตว่ามีการบีบถี่และแรงขึ้นหรือไม่ อาจจะเป็นสัญญาณใกล้คลอด
2. เจ็บท้องจริงต่อเนื่องและถี่
เจ็บท้องคลอด เจ็บเป็นระยะอย่างต่อเนื่องและเริ่มถี่ขึ้น คล้ายเจ็บท้องมีประจำเดือน แต่จะเป็นจังหวะ จากการเจ็บท้องจริง รวมถึงมีอาการน้ำเดิน โดยจะใช้เวลาประมาณ 8-12 ชั่วโมง ปากมดลูกจึงจะเปิด ถ้าจะเป็นแบบนี้คือเตรียมตัวไปโรงพยาบาลได้เลย
3. เยื่อเมือกปากมดลูกหลุดออกมา
เมื่อใกล้คลอด ปากมดลูกจะเริ่มเปิดและบาง เมือก mucus plug มีหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคเข้าไปในมดลูกจะหลุดออกมา และบางครั้งอาจมีเลือดปนออกมาด้วย
4. ปวดหลังส่วนล่างต่อเนื่อง
เป็นอาการปวดที่ไม่ปกติ และรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะหัวของเจ้าตัวเล็กไปโดนกระดูกสันหลังของแม่ จึงส่งผลให้ปวดมากกว่าปกติ
5. ท้องเสีย
เป็นการท้องเสียที่เกิดจากการที่ร่างกายหลั่งสารโพรสตาแกลนดิน ทำให้มดลูกหดตัว ซึ่งส่งผลให้คุณแม่ท้องเสียได้ด้วย
6. เจ้าตัวเล็กเปลี่ยนท่ามาพร้อมคลอด
หรือที่เรียกว่าอาการ "ท้องลด" คือเจ้าตัวเล็กเริ่มเปลี่ยนท่า เป็นท่าเอาหัวลดสู่อุ้งเชิงกราน เตรียมพร้อมจะคลอดแล้ว ซึ่งอาการนี้อาจจะเกิดขึ้นเป็นสัปดาห์ หรือไม่กี่ชั่วโมงก่อนคลอดก็ได้
7. น้ำคร่ำแตก
หรือที่เรียกอาการนี้ว่า ‘น้ำเดิน’ หรือ อาการถุงน้ำคร่ำแตก โดยจะมีน้ำใส ๆ คล้ายน้ำปัสสาวะ ไหลออกมา บางคนอาจจะไหลออกมามากหรือน้อยก็ได้ อาจจะไม่มากแบบในละคร หากเกิดอาการนี้แล้วว่า กว่า 80% จะคลอดใน 12 ชั่วโมง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
8. ปากมดลูกเริ่มเปิดและบางลง
นี่เป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนคลอดระยะเริ่มต้น คุณแม่จะรู้สึกหน่วง ๆ หรือรู้สึกได้ถึงการหดตัว ช่วงนี้ปากมดลูกจะมีความนิ่มลง บางลง และเริ่มเปิดขยายช้า ๆ ร่วมกับอาการมดลูกบีบรัดตัว ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง จนถึง 2 – 3 วัน
กำหนดคลอดเป็นการคำนวณช่วงเวลา เพื่อให้คุณแม่ได้เตรียมตัว และเตรียมใจ รวมถึงเตรียมข้าวของให้พร้อม เพื่อรับเจ้าตัวเล็กที่จะลืมตามาดูโลก กำหนดคลอดอาจจะไม่ได้แม่นยำมากนักจากหลายปัจจัย คุณแม่บางคนอาจจะคลอดตรงกำหนด ก่อนกำหนด หรือเกินกำหนด ก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญคุณแม่ต้องคอยสังเกตตัวเองให้ดี เพราะหากมีสัญญาณจากเจ้าตัวเล็กว่าพร้อมออกมาหาคุณแม่แล้ว ให้รีบไปโรงพยาบาลก่อน ย่อมปลอดภัยกว่าแน่นอน
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่มือใหม่
- Health check แบบประเมินสุขภาพของคุณแม่และพัฒนาการของลูกน้อย
- แผลผ่าคลอดอักเสบข้างใน คุณแม่เจ็บแผลผ่าตัดข้างใน อันตรายไหม
- เจ็บแผลผ่าตัดจี๊ด ๆ ปวดแผลผ่าคลอดหลังผ่าตัดคลอด อันตรายไหม
- ผ่าคลอดเจ็บไหม ผ่าคลอดดีไหม แม่ผ่าคลอดดูแลแผลผ่าคลอดยังไงดี
- คันแผลผ่าคลอด คุณแม่ทำยังไงดี พร้อมวิธีแก้อาการคันแผลผ่าคลอด
- ผ่าคลอดกินข้าวเหนียวได้ไหม คนท้องกินข้าวเหนียวได้ไหม
- คุณแม่ปวดหลังหลังคลอด อาการปวดหลังหลังผ่าคลอด อันตรายไหม
- วิธีดูแลรอยแผลผ่าคลอดสวย ให้รอยแผลผ่าคลอดเรียบเนียน ไม่นูนแดง
- ผ่าคลอดกินไข่ได้ไหม แม่หลังผ่าคลอดกินไข่ได้ไหม ห้ามกินอะไรบ้าง
- ท่านอนหลังผ่าคลอด ท่านอนคนผ่าคลอด คุณแม่นอนแบบไหนถึงดีที่สุด
- คุณแม่ผ่าคลอดห้ามยกของหนักกี่เดือน ผ่าคลอดยกของหนักได้ตอนไหน
อ้างอิง:
- นับอายุครรภ์อย่างไรให้แม่น!, โรงพยาบาลเปาโล
- กำหนดคลอด เรื่องสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพครรภ์ที่ต้องรู้, POPPAD
- คุณแม่ตั้งครรภ์ควรรู้! สัญญาณเตือนแบบไหน..ที่เสี่ยง ‘คลอดก่อนกำหนด’, โรงพยาบาลพญาไท
- การตั้งครรภ์เกินกำหนด (Postterm Pregnancy), ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- การตั้งครรภ์แฝด Multifetal Pregnancy, ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- 6สัญญาณเตือนการใกล้คลอด ที่คุณแม่ควรรู้, โรงพยาบาลบางปะกอก3
- เตรียมพร้อม... คุณแม่ใกล้คลอดแบบธรรมชาติ, โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
อ้างอิงเมื่อ 20 ตุลาคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง