อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 13 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
ในช่วงการตั้งครรภ์แต่ละไตรมาสคุณแม่ต้องพบเจอกับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและทางด้านอารมณ์ ไปพร้อม ๆ กับพัฒนาการของทารกในครรภ์ สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 13 สัปดาห์ เป็นช่วงเวลาที่คุณแม่หลายคนผ่านพ้นช่วงอาการแพ้ท้อง และเริ่มมีความรู้สึกสบายกาย สบายใจมากขึ้นรวมถึงทารกในครรภ์นั้นก็มีพัฒนาการที่แข็งแรงและอวัยวะต่าง ๆ ทำงานได้ดีขึ้นอีกด้วย
PLAYING: อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 13 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
สรุป
- พัฒนาการทารก อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ ความยาวของทารกในครรภ์จะมีขนาดประมาณ 16-18 เซนติเมตร ใบหน้าเริ่มเห็นได้ชัดขึ้น มีการพัฒนาของผิวหนังและเล็บ นิ้วมือและนิ้วเท้าเห็นชัดเจน อวัยวะเพศของทารกพัฒนาสามารถแยกเพศหญิงชายผ่านการอัลตราซาวด์โดยแพทย์ ทารกเริ่มขยับตัวเคลื่อนไหวเองได้แล้ว สามารถฟังเสียงเต้นของหัวใจทารกได้ด้วยเครื่องฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการแพทย์เรียกว่า Doptone ที่ใช้ฟังจังหวะและอัตราการเต้นหัวใจของทารกและการได้ยินเสียงหัวใจของลูกน้อย เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สามารถช่วยเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างแม่และทารกในครรภ์
- อาการต่าง ๆ ที่มักพบในช่วงอายุครรภ์ 13 สัปดาห์ ขนาดของหน้าท้องของคุณแม่จะขยายใหญ่ขึ้นส่งผลให้คุณแม่อาจมีอาการปวดหลัง ปวดท้องที่เกิดจากระบบย่อยอาหารเปลี่ยนแปลง อาจมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก และเป็นตะคริวได้
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายและด้านอารมณ์ แม่ตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์ ก้าวเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ ในไตรมาสนี้คุณแม่หลาย ๆ คนจะรู้สึกสบายกาย สบายใจมากขึ้นเพราะอาการแพ้ท้องที่บรรเทาเบาบางลง ร่างกายของแม่ท้องเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนขึ้น ไปพร้อมกับน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1-2 กิโลกรัม
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ท่านอนคนท้อง หลับสบาย หายใจสะดวก
- อาการคนท้อง 13 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
- ท้อง 13 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
- ท้อง 13 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
- การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 13 สัปดาห์
การตรวจอัลตราซาวด์ทารกทางหน้าท้องสำหรับคุณแม่ที่มีอายุครรภ์ 13 สัปดาห์ เป็นการตรวจดูความสมบูรณ์ของร่างกาย ทารกในครรภ์จะเริ่มมีดวงตา เริ่มมีเปลือกตา ที่เด่นชัดขึ้น แต่ยังคงปิดสนิทเพื่อปกป้องดวงตาในระหว่างที่ร่างกายยังพัฒนาไม่เต็มที่ มีใบหูที่เด่นชัด รวมถึงโครงสร้างของอวัยวะ กระดูกตามส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะกะโหลกศีรษะและกระดูกแขนขาของทารก ซึ่งจะมีความแข็งแรงมากขึ้น ทารกในครรภ์จะมีขนาดประมาณ 16-18 เซนติเมตร และน้ำหนักตัว ประมาณ 200 กรัม รวมถึงรังไข่และอัณฑะพัฒนาได้สมบูรณ์มากขึ้น ทารกเริ่มเคลื่อนไหวได้มากขึ้น แต่คุณแม่จะยังไม่รับรู้ความรู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของทารกในระหว่างนี้ เพราะการดิ้นของทารกจะยังไม่กระทบกับผนังมดลูก หรือกระทบผนังมดลูกแต่ความแรงยังไม่มากพอ
ท่านอนคนท้อง หลับสบาย หายใจสะดวก
คุณแม่ตั้งครรภ์ทุกคน ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ตามอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้น แม่ตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์ หน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้น อาจกระทบต่ออาการปวดเมื่อยหลัง รวมถึงอาการนอนไม่หลับ ซึ่งอาการนอนไม่หลับไม่ควรปล่อยไว้นานเพราะส่งผลต่อสภาพจิตใจได้ ท่านอนที่ดีช่วยให้แม่ท้องนอนหลับได้ดีขึ้น ท่านอนที่เหมาะสมและปลอดภัยกับคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ คือ ท่านอนตะแคงซ้าย โดยนำหมอนสอดไว้ใต้บริเวณท้อง และสอดไว้ระหว่างเข่าทั้งสองข้าง ช่วยป้องกันหลอดเลือดจากการถูกมดลูกกดทับ ทำให้เลือดไหลเวียนผ่านสายรกไปเลี้ยงทารกน้อยได้สะดวกยิ่งขึ้น
อาการคนท้อง 13 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
อาการของคนท้องในแต่ละเดือนเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพร่างกาย มดลูกที่ขยายขนาดใหญ่ขึ้นส่งผลให้เกิดอาการต่าง ๆ ในช่วงตั้งครรภ์ สำหรับคนท้อง 13 สัปดาห์ อาการที่พบได้บ่อย ๆ ได้แก่
1. ปัสสาวะบ่อยขึ้น
ในช่วงตั้งครรภ์เป็นเรื่องปกติที่คุณแม่ท้องจะปัสสาวะบ่อย เพราะทารกเติบโตขึ้นกินพื้นที่ในท้องและเบียดกดทับกระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะบ่อย คุณแม่ท้องปัสสาวะบ่อยมักจะเกิดในช่วงไตรมาสแรกและไตรมาสที่ 3 มากกว่าไตรมาสที่ 2 ที่มดลูกเคลื่อนตัวสูงขึ้นจึงไม่กดทับกระเพาะปัสสาวะ อาการปัสสาวะบ่อยจะเกิดระหว่างตั้งครรภ์ถือเป็นอาการปกติซึ่งจะหายได้เองหลังคลอด ซึ่งคุณหมอจะแนะนำให้ออกกำลังกายกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน (Kegel) เพื่อป้องกันการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
2. ความดันลดลง
โดยปกติแล้ว ความดันโลหิตปกติของคนทั่วไปที่มีสุขภาพดีจะอยู่ที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท สำหรับผู้ที่มีค่าระดับความดันโลหิต ที่วัดได้เท่ากับหรือต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท หมายความว่า กำลังมีความดันโลหิตต่ำ สำหรับคนท้องความดันต่ำเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้โดยคนท้อง 13 สัปดาห์ หรือในช่วงไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) จะทำหน้าที่ผ่อนคลายและขยายผนังหลอดเลือดทำให้ความดันโลหิตลดลง และในช่วงไตรมาสสุดท้ายความดันโลหิตของแม่ตั้งครรภ์มักจะสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 3 และกลับมามีระดับความดันปกติหลังการตั้งครรภ์
3. เหนื่อยง่าย
อาการเหนื่อยง่าย เป็นอาการปกติที่แม่ตั้งครรภ์ทุกคนต้องเจอ สาเหตุหลักเกิดจากฮอร์โมนเพศในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หน้าท้องที่ขยายขนาดเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ที่นับวันจะขยายขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้แม่ท้องรู้สึกเหนื่อยง่ายและง่วงนอนบ่อยกว่าปกติ ดังนั้น แม่ท้องควรหาเวลาพักผ่อนให้มากขึ้น หรือหาเวลาว่างงีบหลับเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนและผ่อนคลาย
4. คัดจมูก คล้ายเป็นหวัด
แม่ท้องมักมีอาการคัดจมูก จามบ่อย คล้ายเป็นหวัด ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะในช่วงตั้งครรภ์ อาจมีอาการเยื่อจมูกอักเสบ อาการภูมิแพ้ รวมถึงอาการไม่สบายต่าง ๆ ได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรปล่อยไว้นานเพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ซึ่งอาการจาม คัดจมูก คล้ายเป็นหวัด มักจะหายได้เองในช่วง 2-3 สัปดาห์หลังคลอด
ท้อง 13 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
คุณแม่อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ ความเปลี่ยนแปลงของรูปร่างของแม่ท้องที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน คือ เต้านมขยายใหญ่ขึ้น ต้องปรับเปลี่ยนขนาดเสื้อชั้นในให้เหมาะสม หากสังเกตที่หน้าท้องหรือบริเวณรอบเอวจะมีการขยายขนาดจากเดิมเพียงเล็กน้อย ซึ่งคุณแม่บางคนในช่วงไตรมาสแรกอาจไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของหน้าท้องเลย
ท้อง 13 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
ทารกในครรภ์อายุ 13 สัปดาห์ ยังมีขนาดเล็กมาก มีขนาดประมาณ 16-18 เซนติเมตร และมีน้ำหนักราว 200 กรัม ทารกเริ่มมีข้อต่อและกล้ามเนื้อที่แข็งแรงมากขึ้น
พัฒนาการทางรกในครรภ์
ทารกในครรภ์อายุครรภ์ 13 สัปดาห์ มีพัฒนาการ ดังนี้
- สายสะดือของทารกเคลื่อนตัวเข้าหากระเพาะอาหารของทารก สายสะดือจะติดอยู่กับรกเพื่อทำหน้าที่ลำเลียงสารอาหาร
- รกแต่เดิมมีน้ำหนัก ประมาณ 30 กรัม แต่ในตอนนี้รกมีน้ำหนักมากขึ้น
- เส้นเสียงของทารกเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้น แต่ยังไม่ได้ยินเสียงใด ๆ ในช่วงนี้
- เส้นเสียงจะทำงานได้เมื่อทารกน้อยคลอดออกมาแล้ว
- ทารกในครรภ์สามารถแหย่นิ้วหัวแม่มือเข้าไปอมในปากได้
การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 13 สัปดาห์
ในช่วงตั้งครรภ์การดูแลตนเองของแม่ท้องเท่ากับการดูแลทารกน้อยในครรภ์ตามไปด้วย สามารถทำได้ ดังนี้
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม
- เน้นรับประทานอาหารช่วยเสริมแคลเซียม โฟเลต และเหล็ก สารอาหารเหล่านี้มีมากใน ผัก ผลไม้ ธัญพืชเต็มเมล็ด เนื้อแดง และผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ อาหารเหล่านี้ยังช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโต เพิ่มการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงทารก และป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดความบกพร่องของระบบประสาทได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- ออกกำลังกายเบา ๆ อย่างเหมาะสม
- ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายเพื่อป้องกันอาการท้องผูก และร่างกายขาดน้ำ
- ไปพบคุณหมอตามนัดทุกครั้ง เพื่อตรวจดูพัฒนาการของทารกในครรภ์จนถึงคลอด
แม่ตั้งครรภ์ 13 สัปดาห์ การตั้งครรภ์กำลังก้าวเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 แล้ว ในระหว่างนี้แม่ท้องจะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ เพื่อเตรียมความพร้อมในวันคลอด ซึ่งการรับประทานอาหารคนท้องที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณแม่มีสุขภาพดีส่งผลและเพิ่มโอกาสให้แม่ท้องคลอดตามธรรมชาติได้ ซึ่งการคลอดตามธรรมชาติส่งผลดีต่อคุณแม่และทารกน้อยอีกด้วย เพราะทารกจะได้รับจุลินทรีย์สุขภาพจากคุณแม่ในระหว่างคลอด เช่น จุลินทรีย์สุขภาพหลายสายพันธุ์ เช่น บีแล็กทิส (B. lactis) เป็นจุลินทรีย์ในกลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียมสามารถช่วยเสริมสร้างและสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรง
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- อายุครรภ์ 14 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 14 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 15 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 15 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 16 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 16 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 17 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 17 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 18 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 18 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
อ้างอิง:
- พัฒนาการทารกในครรภ์ ตลอด 9 เดือนในท้องแม่, pobpad
- 9 เดือน กับพัฒนาการของทารกในครรภ์, paolohospital
- ท่านอนคนท้อง เรื่องสำคัญที่คุณแม่ควรรู้, pobpad
- ปัสสาวะบ่อย, medparkhospital
- ความดันโลหิตต่ำขณะตั้งครรภ์ เรื่องควรรู้เพื่อความปลอดภัย, pobpad
- อาการไม่สบายตอนท้อง…..เป็นอันตรายไหม?, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- คุณแม่ตั้งท้องจามบ่อย จะอันตรายกับลูกน้อยหรือไม่,hellokhunmor
- การเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งท้อง และการดูแลตัวเอง, hellokhunmor
- ขนาดทารกในครรภ์ ในช่วงสัปดาห์ต่าง ๆ เปรียบเทียบกับขนาดผักและผลไม้, hellokhunmor
- การเปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งท้อง และการดูแลตัวเอง, hellokhunmor
- เคล็ดลับดูแลอาหารขณะตั้งครรภ์, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- Nutrition in pregnancy, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- เครื่องฟังเสียงหัวใจทารก มีประโยชน์อย่างไร, hellokhunmor
- อายุครรภ์ คืออะไร สำคัญอย่างไรต่อพัฒนาการทารก, hellokhunmor
- ความดันโลหิตสูง(Hypertension), medparkhospital
- พัฒนาการทารกนครรภ์ สัปดาห์ที่ 13 ของการตั้งครรภ์, hellokhunmor
- การประเมินภาวะสุขภาพทารกในครรภ์, วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยลัยบูรพา
อ้างอิง ณ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567