อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 22 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
แม่ท้องอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ อยู่ในช่วงปลายไตรมาสสองของการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์อายุครรภ์ 22 สัปดาห์มีพัฒนาการด้านร่างกายค่อนข้างสมบูรณ์ขึ้นมาก สำหรับคุณแม่นั้นมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจด้วยเช่นกัน สิ่งสำคัญสำหรับแม่ท้องในช่วงนี้คือ ต้องบำรุงร่างกายเพื่อให้ได้รับสารอาหารที่หลากหลายและครบถ้วน และทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส เพื่อสุขภาพกายและใจที่ดีของทั้งแม่และทารกน้อย
สรุป
- พัฒนาการทารก อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ อวัยวะต่าง ๆ ของทารกในครรภ์ ทั้งอวัยวะภายในและภายนอกร่างกายทำงานได้ค่อนข้างสมบูรณ์มากขึ้น เริ่มมีการเคลื่อนไหวเองได้ คุณแม่อาจสังเกตได้จากการดิ้นแต่ยังไม่ชัดเจน เพราะความแรงยังไม่มากพอ แต่เป็นสัญญาณที่ดีว่า ทารกน้อยมีสุขภาพแข็งแรงจนสามารถเคลื่อนไหวได้แล้ว
- แม่ท้อง 22 สัปดาห์ ต้องบำรุงครรภ์ด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจสำคัญสำหรับแม่ท้องทุก ๆ ไตรมาส โดยเฉพาะการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ได้รับสารอาหารครบถ้วนในปริมาณที่เพียงพอต่อร่างกายของแม่และส่งต่อไปยังทารก เพื่อนำไปใช้เสริมสร้างร่างกายให้เติบโตแข็งแรงตั้งแต่ในครรภ์ อาหารและสารอาหารที่จำเป็นนอกจากอาหารหลัก 5 หมู่แล้ว ยังมีวิตามิน แร่ธาตุต่าง ๆ เช่น แคลเซียม ธาตุเหล็ก ไอโอดีน มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับแม่ท้องเช่นกัน
- การเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของทารกอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ ความยาวของทารกในครรภ์จะมีความยาวตั้งแต่ศีรษะถึงก้น ประมาณ 8-10 เซนติเมตร ในช่วงนี้ใบหน้าของทารกเริ่มมีเส้นผมและคิ้วขึ้นมา ปาก เปลือกตา ชัดเจนขึ้น
เลือกอ่านตามหัวข้อ
- ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์ รูปร่างของทารกเป็นอย่างไรบ้าง
- อาหารที่คุณแม่อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ ควรรับประทาน
- อาการคนท้อง 22 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
- ท้อง 22 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
- ท้อง 22 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
- การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 22 สัปดาห์
ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์ รูปร่างของทารกเป็นอย่างไรบ้าง
1. ใบหน้า
ทารกในครรภ์อายุ 22 สัปดาห์ ร่างกายของทารกเจริญเติบโตขึ้นมาก ใบหน้าของทารก ริมฝีปาก เปลือกตา คิ้ว เป็นโครงชัดเจน
2. ผิวหนัง
ผิวหนังของทารกในช่วงอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ เริ่มมีเส้นขนบาง ๆ ขึ้นปกคลุมตามลำตัว ขนมีคุณสมบัติในการช่วยให้ไขทารกเกาะติดอยู่บนผิวหนังเพื่อปกป้องผิวหนังของทารก ร่างกายของทารกเริ่มผลิตไขมันสีน้ำตาล ไขมันนี้ทำหน้าที่เผาผลาญพลังงานให้เกิดความร้อน เพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิที่พอเหมาะและสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายของทารกในครรภ์
3. ระบบสืบพันธุ์
ระบบสืบพันธุ์ของทารกอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ สามารถแยกเพศชายหญิงได้แล้ว อวัยวะเพศของทารกเพศชาย ลูกอัณฑะจะเริ่มเคลื่อนตัวจากท้องลงมาที่ถุงอัณฑะ สำหรับอวัยวะทารกเพศหญิง มดลูก รังไข่ และช่องคลอดพัฒนามากขึ้น และลงมาอยู่ในตำแหน่งช่องท้อง
4. ฟัน
ทารกอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว กล้ามเนื้อแข็งแรงมากขึ้น อวัยวะภายในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ตับเริ่มสร้างเม็ดเลือดแดง ถุงน้ำดีเริ่มสร้างน้ำดี ฟันน้ำนมของทารกเริ่มโตมีลักษณะเป็นตุ่มเล็ก ๆ อยู่ใต้เหงือก และทารกเริ่มดูดนิ้วมือเป็นแล้ว
อาหารที่คุณแม่อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ ควรรับประทาน
1. เนื้อปลาทะเลน้ำลึก
ปลาเป็นอาหารประเภทโปรตีนชั้นดี เหมาะสำหรับแม่ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะปลาทะเลน้ำลึก เช่น ปลาแซลมอน ปลาทูน่า ให้สารอาหารที่มีประโยชน์แก่ร่างกาย ได้แก่ โอเมก้า 3 ช่วยบำรุงสมองของแม่ท้องและทารกในครรภ์ วิตามินดี เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย วิตามินบี 12 ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง
2. ธัญพืช
แม่ท้องรับประทานธัญพืช โดยเฉพาะธัญพืชไม่ขัดสี มีประโยชน์ต่อร่างกายแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ ธัญพืชมีสารต้านอนุมูลอิสระ อุดมไปด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ สังกะสี ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน
3. ผักและผลไม้
ผักและผลไม้ ช่วยให้แม่ท้องขับถ่ายได้ง่ายขึ้น ในช่วงตั้งครรภ์ขนาดท้องที่ขยายใหญ่กดเบียดกระเพาะอาหารและลำไส้ ส่งผลทำให้ระบบการย่อยอาหาร และระบบขับถ่ายทำงานไม่ปกติ อาหารย่อยยาก ทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ขับถ่ายยากขึ้น ดังนั้น การรับประทานผักผลไม้จะช่วยเพิ่มกากใย แก้ปัญหาระบบขับถ่าย เพิ่มสารอาหารประเภทวิตามินและเกลือแร่แก่ร่างกาย ดีต่อสุขภาพแม่ท้องและทารกในครรภ์
4. ข้าวไม่ขัดสี
ข้าวไม่ขัดสี คือ ข้าวที่มีการกระเทาะเปลือกออก ได้แก่ ข้าวกล้อง ข้าวหอมนิล ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวมันปู ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ประเภทวิตามิน แร่ธาตุ โดยเฉพาะแม่ตั้งครรภ์ที่มีอาการเหน็บชา วิตามินบี 1 ในข้าวไม่ขัดสี ช่วยป้องกันและยับยั้งการเกิดอาการเหน็บชา และยังช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดด้วย
5. นม และโยเกิร์ต
- นม นมมีแคลเซียมสูง เหมาะสำหรับแม่ตั้งครรภ์ เพราะแคลเซียมในนมมีส่วนช่วยเสริมสร้างกระดูกและฟันให้ทารกในครรภ์ด้วย หากแม่ท้องไม่สามารถดื่มนมสดได้ อาจรับประทานเป็นปลาเล็กปลาน้อย หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนมแทนได้ เพื่อให้ร่างกายแม่ท้องและทารกได้รับปริมาณแคลเซียมอย่างเพียงพอ
- โยเกิร์ต มีประโยชน์สำหรับแม่ตั้งครรภ์ ในโยเกิร์ตมีโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่อยู่หลายชนิด แม่ท้องควรเลือกรับประทานโยเกิร์ตรสธรรมชาติ
6. ไข่แดง
คนท้อง 22 สัปดาห์ ควรรับประทานไข่ เพราะไข่อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามินบี และธาตุเหล็กที่จำเป็นสำหรับแม่ท้องและทารกในครรภ์ การรับประทานไข่แดง แต่เดิมมีความเชื่อว่า จะเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือด มีงานวิจัยภายหลังพบว่า ไข่แดงมีผลต่อปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น สำหรับแม่ตั้งครรภ์ควรเลือกรับประทานอาหารคนท้องหรือไข่แบบปรุงสุก เช่น ไข่ดาว ไข่เจียว ไข่ต้ม ไข่ตุ๋น หลีกเลี่ยงรับประทานไข่ดิบหรือปรุงสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ไข่ดองน้ำปลา ไข่ดองซีอิ๊ว ไอศกรีมไข่แข็ง เพราะใช้ไข่ดิบในการปรุง อาจทำให้คุณแม่เกิดอาการท้องเสีย หรืออาหารเป็นพิษได้
7. อะโวคาโด
ผลไม้ที่ให้ประโยชน์มากอีกชนิดหนึ่งที่แม่ตั้งครรภ์ควรรับประทาน โดยเฉพาะแม่ตั้งครรภ์ที่มีปัญหาน้ำหนักไม่เพิ่มตามเกณฑ์ อะโวคาโดช่วยเพิ่มน้ำหนักและเพิ่มพลังงานได้ อะโวคาโดมีสารอาหารจำพวกวิตามินที่จำเป็นสำหรับแม่ตั้งครรภ์ ได้แก่ วิตามินซี ช่วยในเรื่องเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน วิตามินอี ลดอาการอักเสบในร่างกาย ต่อต้านอนุมูลอิสระ วิตามินเค เสริมสร้างและป้องกันการแข็งตัวของเลือด โฟเลต มีส่วนช่วยในการป้องกันภาวะโลหิตจาง และโพแทสเซียม ช่วยควบคุมความดันโลหิต
อาการคนท้อง 22 สัปดาห์ ที่พบได้ทั่วไป
สำหรับแม่ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์ ช่วงนี้อัตราการเผาผลาญพลังงานในร่างกายของคุณแม่จะมากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้คุณแม่กลายเป็นคนขี้ร้อน บางคนเป็นทั้งช่วงเวลากลางวันและกลางคืน ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี ไม่สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไปโดยเฉพาะบริเวณหน้าอกและหน้าท้อง และดื่มน้ำช่วยคลายความร้อน
มดลูกที่ขยายใหญ่ขึ้นจากการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ทำให้แม่ท้องเกิดอาการปวดหลัง เพราะหน้าท้องที่ยืดขยายออก แผ่นหลัง ขาและเท้าแบกน้ำหนักเพิ่มขึ้น ทำให้มีอาการขาบวม เท้าบวมได้ การขับถ่ายอุจจาระยากขึ้น มีอาการท้องผูกและแม่ท้องบางคนเกิดอาการริดสีดวงทวารได้ การดื่มน้ำที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย รับประทานอาหารที่มีกากใย ขับถ่ายเป็นเวลา ไม่นั่งห้องน้ำเป็นเวลานาน ช่วยลดอาการริดสีดวงทวารได้ หากมีอาการมากควรปรึกษาแพทย์
ท้อง 22 สัปดาห์ ท้องจะใหญ่ขึ้นแค่ไหน
แม่ท้องอายุครรภ์ 22 สัปดาห์ ความเปลี่ยนแปลงของรูปร่างของแม่ท้องที่สังเกตเห็นได้ชัดเจน คือ หน้าท้องที่ขยายใหญ่ขึ้นจนสังเกตได้ว่าตั้งครรภ์ รอบเอวหนาขึ้น เต้านมขยายใหญ่ขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับให้นมแม่ ช่วงนี้น้ำหนักตัวจะเริ่มเพิ่มขึ้น ควรดูแลไม่ให้เพิ่มมากจนเกินไป ปกติแล้วตลอดการตั้งครรภ์น้ำหนักปกติควรเพิ่มอยู่ที่ 10-15 กิโลกรัม น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วส่งผลให้เกิดผิวหน้าท้องลายได้
ท้อง 22 สัปดาห์ ลูกในครรภ์จะตัวใหญ่แค่ไหน
ทารกในครรภ์อายุ 22 สัปดาห์ ร่างกายยังมีขนาดเล็ก หรือมีขนาดเท่ากับลูกมะพร้าว ลูกน้อยจะมีขนาดประมาณ 7.5 - 8 นิ้ว ตั้งแต่ศีรษะจรดสะโพก หรือเท่ากับหัวกะหล่ำปลีและมีน้ำหนักประมาณ 1 ปอนด์
ในช่วงนี้ทารกจะเริ่มมีเส้นผมและขนคิ้วขึ้นมาอย่างชัดเจน ร่างกายของทารกอายุครรภ์ 22 สัปดาห์จะเริ่มผลิตไขมันสีน้ำตาลขึ้นมา ไขมันนี้ทำหน้าที่เผาผลาญพลังงานให้เกิดเป็นความร้อน ช่วยให้ร่างกายเกิดความอบอุ่นในยามที่อุณหภูมิลดต่ำลง
พัฒนาการของทารกในครรภ์อายุ 22 สัปดาห์
พัฒนาการทารกในครรภ์อายุ 22 สัปดาห์ ร่างกายของทารกเติบโตขึ้นทุกวัน มีพัฒนาการด้านร่างกาย ดังนี้
- ร่างกายสร้างปุ่มรับรสขึ้นในลิ้นแล้ว
- ทารกในครรภ์เริ่มแสดงอารมณ์ในขณะที่เคลื่อนไหว
- อวัยวะสืบพันธุ์ยังเจริญเติบโตต่อไป
- ทารกเพศชาย ลูกอัณฑะจะเริ่มเลื่อนต่ำลงมาจากท้อง
- ทารกเพศหญิง มดลูกและรังไข่เริ่มเข้าที่เข้าทาง ช่องคลอดก็เริ่มพัฒนาขึ้น
การดูแลตัวเอง สำหรับคุณแม่ท้อง 22 สัปดาห์
อายุครรภ์ที่เพิ่มมากขึ้น น้ำหนักตัวยิ่งเพิ่มขึ้นตามไปด้วยพร้อม ๆ กับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ขนาดครรภ์ที่ขยายใหญ่ขึ้นส่งผลให้
- ร่างกายเกิดการปวดเมื่อยได้ง่าย
- นอนหลับยากขึ้น เพราะไม่สะดวกสบายเวลาพลิกตัว
- แม้ขนาดครรภ์จะขยายใหญ่ขึ้น แต่แม่ท้องไม่ควรละเลยการออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายจะช่วยผ่อนคลายเส้นที่ยึดตึงบริเวณหลังและขา เช่น การโยคะเบา ๆ ว่ายน้ำ และเพื่อความปลอดภัยควรมีผู้ดูแลใกล้ชิดขณะออกกำลังกาย
- การพักผ่อนของแม่ท้อง อาจหาเวลาว่างงีบหลับในช่วงกลางวันสัก 10-15 นาที ทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
- การมีเพศสัมพันธ์สำหรับแม่ท้อง ควรระมัดระวังเรื่องท่าในการมีเพศสัมพันธ์ ไม่ควรใช้ท่าที่รุนแรง กระทบกระเทือนหรือกดทับมดลูก
แม่ตั้งครรภ์ 22 สัปดาห์ เข้าสู่ปลายไตรมาสที่ 2 แล้ว ในระหว่างนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายอย่างเห็นได้ชัด เพื่อเตรียมความพร้อมในวันคลอด อาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ เช่น เริ่มมีปวดท้องหน่วง ๆ ในบางครั้ง หรือมีของเหลวสีเหลืองไหลออกมาจากเต้านม สัญญาณเหล่านี้บ่งบอกถึงการเตรียมความพร้อมในการคลอดลูก ดังนั้น การดูแลร่างกายให้แข็งแรงพร้อมสำหรับการคลอดธรรมชาติย่อมส่งผลดีต่อแม่ท้องและทารกน้อย การคลอดเองตามธรรมชาติทารกจะได้รับจุลินทรีย์สุขภาพหลายสายพันธุ์จากแม่ตั้งแต่แรกคลอด เช่น B.Lactis ที่เป็นจุลินทรีย์ในกลุ่มบิฟิโดแบคทีเรียที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อยมีสุขภาพแข็งแรง
บทความแนะนำสำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์
- อายุครรภ์ 23 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 23 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 24 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 24 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 25 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 25 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 26 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 26 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
- อายุครรภ์ 27 สัปดาห์ คุณแม่ท้อง 27 สัปดาห์ เกิดอะไรขึ้นบ้าง
อ้างอิง:
- Embryogenesis and Fetal Development (พัฒนาการของทารกในครรภ์), คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- คำแนะนำของแม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1-3, โรงพยาบาลบางปะกอก
- การดูแลคุณแม่ตั้งครรภ์และพัฒนาการทารกในครรภ์, โรงพยาบาลแมคคอร์มิค
- รู้หรือไม่? ป.ปลา ไม่ใช่แค่ตากลม แต่อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
- สารอาหารสำคัญ เพิ่มพัฒนาการทางสมองให้ลูกรัก, โรงพยาบาลศิครินทร์
- โภชนาการหญิงตั้งครรภ์, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- ข้าวขัดสี - ข้าวไม่ขัดสี ข้าวชนิดไหนดีกว่ากัน, โรงพยาบาลเทพธารินทร์
- ดื่มนมถูกวิธีมีประโยชน์ต่อร่างกาย, โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์
- กินโยเกิร์ตก่อนนอน, สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
- คุณค่าทางโภชนาการของไข่แดง, โรงพยาบาลรามาธิบดี
- อะโวคาโด ผลไม้มากประโยชน์, โรงพยาบาลเทพธารินทร์
- การออกกำลังกายในหญิงตั้งครรภ์, โรงพยาบาลคามิลเลียน
- การเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในสตรีตั้งครรภ์, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- การคาดคะเนน้ำหนักทารกในครรภ์ (Estimate fetal weight), คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ 14 - 28 สัปดาห์ ), โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
- พัฒนาการทารกในครรภ์ ตลอด 9 เดือนในท้องแม่, pobpad
- คุณแม่ตั้งครรภ์ ควรมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ในแต่ละไตรมาส, โรงพยาบาลนครธน
- พัฒนาการทารกในครรภ์ สัปดาห์ที่ 22 ของการตั้งครรภ์, hellokhunmor
อ้างอิง ณ วันที่ 12 มกราคม 2567
บทความที่เกี่ยวข้อง